- คำนำ
- ๗๑. ประกาศว่าด้วยตราประจำหมายประกาศ
- ๗๒. ประกาศว่าด้วยผู้ที่จะรับทำภาษีอากรต่างๆ ให้ทำเรื่องราวยื่นตามกรม
- ๗๓. ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้
- ๗๔ ประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศสอังกฤษและอเมริกัน ที่มาอยู่ในเมืองไทย
- ๗๕ ประกาศเตือนให้ราษฎรซื้อข้าว เพราะจะเปิดให้จำหน่ายออกนอกประเทศ
- ๗๖ ประกาศเรียกอากรมะพร้าว ๓ ต้นสลึง
- ๗๗ ประกาศอนุญาตให้ชาวกรุงฯ รับจ้างฝรั่ง
- ๗๘ ประกาศห้ามไม่ให้คนตื่นข่าวเรื่องเรือรบไปมา
- ๗๙ ประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำและลดค่านาคู่โค
- ๘๐ ประกาศพิกัดอากรค่าน้ำ
- ๘๑. ประกาศเตือนสติผู้ซื้อข้าวขายข้าว
- ๘๒. ประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ ๑)
- ๘๓ ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เปนเชื้อเพลิง และให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน
- ๘๔ ประกาศเรื่องให้หนังสือคุ้มภาษีอากรโดยพลการ
- ๘๕ ประกาศกำหนดเวลาถวายฎีกา
- ๘๖ พระบรมราโชวาทพระราชทานรางวัลเพิ่มเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
- ๘๗ พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอฯ
- ๘๘ ประกาศห้ามไม่ให้ใช้คำบางคำกราบบังคมทูล ฯ
- ๘๙ ประกาศสงกรานต์ปีมะเสงนพศก
- ๙๐ ประกาศตักเตือนเรื่องซื้อข้าวขายข้าวในปีมะเสง
- ๙๑ ประกาศอนุญาตให้คนในบังคับสยามรับทำงานของกงสุลอังกฤษได้
- ๙๒ ประกาศกำหนดอำนาจเจ้าบ้าน และเจ้าพนักงานในการจับกุม
- ๙๓ ประกาศห้ามไม่ให้เอาทองเหรียญเงินเหรียญแต่งตัวให้เด็กและอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๔ ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๙๕ ประกาศเรื่องความทาสลูกหนี้และภรรยาหนีไปอยู่วังเจ้าบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์สูง
- ๙๖ ประกาศให้ใช้เงินเหรียญครั้งที่ ๒
- ๙๗ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน
- ๙๘ ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๙ ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์สามเณรเที่ยวแตร่ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๑๐๐ ประกาศการรักษาพระนคร คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทเลตวันออก
- ๑๐๑ ประกาศให้ผู้ที่ไปราชการหัวเมืองและต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลโดยตรง
๙๐ ประกาศตักเตือนเรื่องซื้อข้าวขายข้าวในปีมะเสง
ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเสง ยังเปนอัฐศก
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ราษฎรให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๙๙) นั้นฝนต้นปีมีมากผิดปรกติ จึงได้เกรงว่าฝนกลางปีจะแล้ง ราษฎรจะตื่นกันซื้อข้าว ราคาข้าวจะแพงขึ้น ราษฎรที่ยากจนจะได้ความลำบาก จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปิดข้าวเสียแต่ต้นมือ มิให้คนนอกประเทศซื้อข้าวบรรทุกออกไปนอกพระราชอาณาเขตร ตั้งแต่เดือน ๕ มาจนถึงเดือน ๙ ครั้นเห็นว่าฝนกลางปีตกมากบริบูรณ์ดี ข้าวงามทั่วกันทุกตำบลแล้ว จึงให้เปิดข้าวจำหน่ายขายไปนอกประเทศ เพื่อจะให้ชาวนาไม่เกียจคร้านทิ้งการทำนาเสีย แลจะได้มีน้ำใจทำนาให้มาก และให้เปนประโยชน์แก่ลูกค้าวานิชต่างประเทศ เพราะเปนมนุษย์เหมือนกัน ความนั้นเล่าฦๅไปถึงต่างประเทศๆ จึงได้จัดเรือเข้ามาซื้อข้าวในกรุงเทพมหานคร บรรทุกออกไปมากหลายลำ แต่เลือกซื้อข้าวที่งามเปนข้าวนาสวน ข้าวนาเมืองเพ็ชรบุรี ข้าวหางม้า ด้วยเห็นว่าเปนข้าวอย่างดี และข้าวนาทุ่งนั้นได้ซื้อขายกันอยู่แต่ในประเทศนี้โดยมาก
ครั้นปลายปีมะโรงอัฐศกตั้งแต่เดือน ๓ มาจนถึงเดือน ๕ (ปีมะเสง) ต้นเดือน ฝนตกชุกมากนักผิดปรกติ ควรจะเกรงว่ากลางปีฝนจะแล้ง ครั้นจะประกาศให้ปิดข้าวเสียแต่บัดนี้ ลูกค้าต่างประเทศก็ยังนิยมยินดีจะซื้อข้าว คนที่ขายข้าวก็ยังกำลังที่จะยินดีได้ช่องขายไม่วายลง ราคาข้าวก็ยังไม่ขึ้นไม่แพงนัก ยังไม่มีเหตุที่ควรจะห้าม จึงยอมให้ได้ซื้อขายกันอยู่ยังไม่ห้าม ถ้าใครกลัวว่าข้าวจะแพงในกลางปีเพราะเห็นว่าฝนจะน้อย ก็ให้รีบซื้อข้าวไว้ให้พอแต่เมื่อข้าวยังถูกอยู่ ฝ่ายชาวนาเล่าก็อย่าประมาท ที่ใดๆ เปนที่ลุ่มที่เลนมีน้ำในฝนต้นมือพอจะทำนาได้ ให้รีบจัดแจงลงมือทำนาข้าวหางม้าข้าวไร่ลงไว้ให้จงมากแต่ในต้นฤดูฝนนี้ เมื่อกลางปีฝนไม่แล้งเหมือนปีหลังข้าวนาสวนนาทุ่งก็จะได้ผลบริบูรณ์ดี ข้าวหางม้าที่ทำไว้จะได้เปนสินค้าแก่คนนอกประเทศได้ราคากว่าข้าวนาทุ่ง ถ้าเมื่อปลายปีฝนน้อยไปจึงจะได้ปิดข้าว ห้ามมิให้จำหน่ายออกไปนอกประเทศ เพื่อจะให้ราษฎรทั้งปวงไม่ได้ความเดือดร้อนขัดสน จะได้เปนสุขทั่วกัน
ประกาศมาณวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเสงยังเปนอัฐศก