- คำนำ
- ๗๑. ประกาศว่าด้วยตราประจำหมายประกาศ
- ๗๒. ประกาศว่าด้วยผู้ที่จะรับทำภาษีอากรต่างๆ ให้ทำเรื่องราวยื่นตามกรม
- ๗๓. ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้
- ๗๔ ประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศสอังกฤษและอเมริกัน ที่มาอยู่ในเมืองไทย
- ๗๕ ประกาศเตือนให้ราษฎรซื้อข้าว เพราะจะเปิดให้จำหน่ายออกนอกประเทศ
- ๗๖ ประกาศเรียกอากรมะพร้าว ๓ ต้นสลึง
- ๗๗ ประกาศอนุญาตให้ชาวกรุงฯ รับจ้างฝรั่ง
- ๗๘ ประกาศห้ามไม่ให้คนตื่นข่าวเรื่องเรือรบไปมา
- ๗๙ ประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำและลดค่านาคู่โค
- ๘๐ ประกาศพิกัดอากรค่าน้ำ
- ๘๑. ประกาศเตือนสติผู้ซื้อข้าวขายข้าว
- ๘๒. ประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ ๑)
- ๘๓ ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เปนเชื้อเพลิง และให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน
- ๘๔ ประกาศเรื่องให้หนังสือคุ้มภาษีอากรโดยพลการ
- ๘๕ ประกาศกำหนดเวลาถวายฎีกา
- ๘๖ พระบรมราโชวาทพระราชทานรางวัลเพิ่มเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
- ๘๗ พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอฯ
- ๘๘ ประกาศห้ามไม่ให้ใช้คำบางคำกราบบังคมทูล ฯ
- ๘๙ ประกาศสงกรานต์ปีมะเสงนพศก
- ๙๐ ประกาศตักเตือนเรื่องซื้อข้าวขายข้าวในปีมะเสง
- ๙๑ ประกาศอนุญาตให้คนในบังคับสยามรับทำงานของกงสุลอังกฤษได้
- ๙๒ ประกาศกำหนดอำนาจเจ้าบ้าน และเจ้าพนักงานในการจับกุม
- ๙๓ ประกาศห้ามไม่ให้เอาทองเหรียญเงินเหรียญแต่งตัวให้เด็กและอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๔ ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๙๕ ประกาศเรื่องความทาสลูกหนี้และภรรยาหนีไปอยู่วังเจ้าบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์สูง
- ๙๖ ประกาศให้ใช้เงินเหรียญครั้งที่ ๒
- ๙๗ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน
- ๙๘ ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๙ ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์สามเณรเที่ยวแตร่ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๑๐๐ ประกาศการรักษาพระนคร คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทเลตวันออก
- ๑๐๑ ประกาศให้ผู้ที่ไปราชการหัวเมืองและต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลโดยตรง
๗๔ ประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศสอังกฤษและอเมริกัน ที่มาอยู่ในเมืองไทย
(ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ปีมะโรงอัฐศก)
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ และบรรดาราษฎรทั้งไทย จีน ญวน มอญ ลาว เขมร พม่า มลายูและคนเชื้อฝรั่งโปรตุเกตเดิม และคนเชื้อแขกเทศ แขกจามทุกชาติทุกภาษาทั้งปวง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาที่เรียกว่าบางกอก และอยู่แขวงหัวเมืองชั้นในใกล้ๆ คือเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่เรียกว่าปากลัด เมืองสมุทปราการที่เรียกว่าปากน้ำ เมืองสาครบุรีที่เรียกว่าท่าจีน เมืองนครไชยศรีที่เรียกว่าลครไชยศรี เมืองนนทบุรีที่เรียกว่าตลาดขวัญ เมืองปทุมธานีที่เรียกว่าสามโคก และกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาที่เรียกว่ากรุงเก่า ว่าเมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหมบุรีที่เรียกว่าบ้านแป้งบางพุทรา เมืองลพบุรีที่บุราณเรียกว่าละโว้ และคนชาววัดบางพวกอุตริเรียกว่าเมืองนพบุรี และเมืองสระบุรีที่เรียกว่าเมืองใหม่บ้าง บ้านทนบ้านม่วงบ้าง และเมืองนครนายกที่เรียกว่าคอระยก เมืองปราจิณบุรีที่เรียกว่าบางคาง เมืองฉะเชิงเทราที่เรียกว่าแปดริ้ว เมืองพนัศนิคมที่เรียกว่าบ้านวัดโบถวัดหลวง เมืองชลบุรีที่เรียกว่าบางปลาสร้อยฤๅบางปาส้อย เมืองบางละมุงและเกาะในหมู่เกาะสีชัง และเมืองเพ็ชร์บุรีที่เรียกว่าพริบพรี และเมืองสมุทสงครามที่เรียกว่าแม่กลอง และเมืองราชบุรีที่เรียกว่าราชพรี ราษฎรอยู่ในแขวงเมืองเหล่านี้และอื่นๆ ให้ทราบจงทั่ว
ด้วยเมื่อปีเถาะสัปตศก (พ.ศ. ๒๓๙๘) เปนปีที่ ๕ ในแผ่นดินประจุบันนี้ สมเด็จพระเจ้านโปเลยอนที่ ๓ เปนพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเปนเจ้าทวีปปริเตนใหญ่ และไอแลนด์ และเปรสิเดนต์ผู้ครองยูไนติดสเตตอเมริกา ได้บังคับให้ขุนนางเข้ามาขอทำสัญญาผูกพันทางพระราชไมตรี และการที่ลูกค้าฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกันจะเข้ามาค้าขายให้สดวกสบายดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ในข้อสัญญาข้อ ๑ เปนที่ ๔ ในลำดับนั้นมีว่า จะขอให้คนฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกันและชาติอื่นๆ ซึ่งอยู่ในบังคับฝรั่งเศสอังกฤษ อเมริกัน ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีพระเดชพระคุณ อาศรัยตั้งบ้านเรือนอยู่ทำมาหากินในแผ่นดินซึ่งเปนพระราชอาณาจักร์กรุงสยามให้สมควรแก่การที่บ้านเมืองเปนไมตรีกัน จะยอมให้เสียภาษีอากรในที่เพาะปลูก และค่าน้ำค่าตลาด และภาษีสินค้าขาเข้าขาออกทั้งปวงทุกอย่าง เสมอกันกับคนชาติอื่นภาษาอื่นซึ่งเข้ามาอาศรัยพึ่งพระบารมีทำมาหากินอยู่แต่ก่อน จึงได้ทรงพระราชดำริห์พร้อมกับความคิดท่านเสนาบดี ว่าคนชาติฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกันและคนซึ่งขึ้นกับฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกัน บัดนี้ก็เปนข้าแผ่นดินเมืองที่เปนพระราชไมตรีกันแล้วทั้งสามเมือง และคนชาติฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกันก็มีวิชาฉลาดในการงารต่างๆ เมื่อได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระราชอาณาเขตร เห็นจะมาประกอบการช่างทำสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ ปลาดๆ ดีกว่าสิ่งของที่เคยทำได้ในกรุงซึ่งมีมาแต่ก่อนบ้าง แล้วจะเอาออกจำหนายซื้อขายแก่ราษฎร ราคาของที่ทำเมืองนี้ก็จะถูกกว่าของที่ลูกค้านำมาขายแต่เมืองอื่น ช่างชาวพระนครนี้เมื่อเห็นดีก็จะร่ำเรียนเลียนทำตามอย่าง การช่างทั้งปวงก็จะจำเริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อน อนึ่งการเพาะการปลูกสิ่งของที่มีประโยชน์ในแผ่นดิน คนฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันมักเข้าใจวิธีเพาะปลูกมีตำหรับตำรา ถ้าเข้ามามีอุสาหะมีเพียรพยายามทำไร่นาเรือกสวนได้มากในที่เปนป่าและท้องทุ่งที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็จะให้จำเริญสมพักสรอากรภาษีมีมากขึ้นแก่แผ่นดินโดยลำดับเวลาไปภายหน้า เมื่อพวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เอาเงินทองมาแต่นอกประเทศลงทุนซื้อที่เช่าที่และจ้างลูกจ้างใช้ เงินทองเมืองอื่นก็จะได้ตกอยู่ในแผ่นดินจำเริญแก่ราษฎรพระนครนี้ ราษฎรที่ยากจนจะได้รับจ้างเลี้ยงชีวิตดีกว่าขายตัวเปนทาสให้ท่านผู้อื่นใช้ ด้วยเปนประโยชน์อย่างว่ามานี้และอย่างอื่นๆ ก็ควรจะยอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เข้ามาอาศรัยอยู่ในพระราชอาณาจักรตามสบาย แต่ยังเห็นเหตุอยู่อิกอย่างหนึ่งว่า คนชาติฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันรูปร่างเพศภาษาแปลกต่างจริตกิริยา อย่างธรรมเนียมก็ผิดกันกับชาวประเทศนี้นัก ครั้นจะยอมให้ไปอยู่ไกลห่างพระนครไปนัก กลัวคนที่ไกลๆ ไม่เคยพบเห็นฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะสำคัญคิดว่าเปนคนแปลกมาจะพากันข่มเหงต่างๆ เมื่อเดินทางไกลหรืออยู่ในที่เปลี่ยว คนใจร้ายใจพาลเมื่อเห็นเปนคนต่างเมืองต่างภาษา ก็จะเข้าปล้นชิงตีรันฟันฆ่า เมื่อความเช่นนี้มีขึ้นจะไถ่ถามหาพยานสืบอาการเปนจริงก็จะยากไป เพราะพวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ไม่รู้จักใครในที่ไกลที่เปลี่ยวจะได้ความลำบากนัก อนึ่งจะให้พวกฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซื้อที่ขาดเปนของฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน อยู่ในภายใน ฤๅใกล้พระเนตรแต่แรกมาใหม่ๆ ยังไม่กว้างขวางรู้จักใครมาก เมื่อบ้านเรือนเบียดเสียดแทรกแซงกันจะมีความฉะเลาะวิวาท ชาวพระนครนี้เห็นว่าไม่รู้จักใคร ก็จะกลุ้มรุมข่มเหงต่างๆ ด้วยยังไม่คุ้นเคย จึงได้ทรงพระราชดำริห์พร้อมกับความคิดท่านเสนาบดี จะยอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันและคนซึ่งขึ้นกับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ในทาง ๒๔ ชั่วโมง ที่จะไปด้วยเรือเปนปรกติของประเทศนี้ แต่ในที่รอบพระนครสองร้อยเส้นนั้นห้ามมิให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่มาใหม่อยู่ในประเทศนี้ยังไม่ถึง ๑๐ ปีซื้อที่ขาดเปนของตัว เปนแต่จะเช่าอยู่นั้นได้ ที่ห่างกรุงเทพมหานครกว่าสองร้อยเส้นออกไป ภายใน ๒๔ ชั่วโมงเข้ามานั้นแห่งใดแห่งหนึ่ง ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะเช่าก็ได้ จะซื้อที่นาที่สวนที่บ้านที่เรือนขาดเปนของตัวก็ได้ ท่านเสนาบดีจึงได้เชิญพระราชดำริห์ ไปพูดปฤกษากับทูตฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งเข้ามาขอทำสัญญา ก็ได้ยอมพร้อมใจกันใส่ความอันนี้ไว้ในข้อสัญญาข้อเปนที่ ๔ ด้วยลำดับว่าดังนี้ “คนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะมาค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานครก็ค้าขายได้โดยสดวก แต่จะอาศรัยอยู่ที่เดียวก็แต่ในกรุงเทพมหานคร ตามในจังหวัดซึ่งกำหนดไว้ในหนังสือสัญญา ประการหนึ่งคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะมาเช่าที่ปลูกโรงปลูกเรือนปลูกตึก แลจะซื้อเรือนซื้อโรงซื้อตึกพ้นกำแพงออกไปกำหนด ๒๐๐ เส้นคือ ๔ ไมล์เช่าได้ แต่จะซื้อที่ซื้อไม่ได้ ถ้าอยู่ถึง ๑๐ ปีแล้วจึงจะซื้อได้ ถ้าอยู่ยังไม่ถึง ๑๐ ปีท่านเสนาบดีจะโปรดให้ซื้อก็ซื้อได้ ที่นอกกำหนด ๒๐๐ เส้นนั้น คนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน จะซื้อจะเช่าที่เรือนที่สวนที่ไร่ที่นาตั้งแต่กำแพงเมืองออกไปเดินกำลังแจวเรือพายทาง ๒๔ ชั่วโมง จะซื้อจะเช่าเมื่อไรก็ซื้อได้เช่าได้ แต่เมื่อคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศสอังกฤษ อเมริกัน จะซื้อที่ซื้อเรือนจะต้องบอกกงสุลผรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ตามที่ตามตำแหน่งผู้จะซื้อ กงสุลจะได้บอกเจ้าพนักงารฝ่ายไทย เจ้าพนักงารกับกงสุลเห็นว่าคนจะซื้อที่นั้นเปนคนจะทำมาหากินโดยจริง เจ้าพนักงารกับกงสุลจะได้ช่วยว่ากล่าวให้ซื้อตามราคาสมควร แล้วจะได้ดูแลปักที่วัดที่ทำหนังสือปิดตราเจ้าพนักงารให้ไว้เปนสำคัญ แล้วจะได้ฝากฝังเจ้าเมืองกรมการให้ช่วยดูแลทำนุบำรุงด้วย และให้ผู้ที่ไปอยู่นั้นฟังบังคับบัญชาเจ้าเมืองกรมการตามยุติธรรม ค่าธรรมเนียมที่ทำไร่ทำสวน ราษฎรบ้านนั้นเมืองนั้นต้องเสียอย่างไร ก็ให้เสียตามชาวบ้านนั้นชาวเมืองนั้น ถ้าในกำหนด ๓ ปีแล้วผู้ซื้อที่ไม่มีทุนรอนฤๅแชเชือนเสียมิได้ตั้งการปลูกสร้าง เสนาบดีจะคืนเงินค่าที่ให้ จะตัดสินคืนเอาที่นั้นเสีย” หนังสือสัญญาทั้งสามเมืองความเหมือนกันนี้ได้ทำแล้ว แลขุนนางฝรั่งเศสขุนนางอเมริกันรับเอาไปว่าจะเอาไปลงตรามาส่งเปลี่ยนต่อภายหลัง หนังสือสัญญาเมืองอังกฤษที่ทำเสร็จแล้วก่อนนั้น ทูตอังกฤษก็ได้นำไปถวายสมเด็จพระนางเจ้ากรุงลอนดอนเมืองอังกฤษ ก็ทรงเห็นชอบด้วยลงตราสันนิฐานมาเปนอันเสร็จแล้ว ว่าให้สัญญาคงอยู่อย่างนั้นทุกประการ
และขุนนางอังกฤษซึ่งเปนทูตจำทูลพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และวางหนังสือสัญญากันทั้งสองฝ่ายเปนสำเร็จในครั้งนั้น ได้ปฤกษากับเสนาบดีว่าคำในข้อสัญญาว่า คำที่ว่าห่างพระนครโดยรอบสองร้อยเส้นนี้ก็ดี คำว่าห่างไกลเพียงที่เรือไปมาได้ใน ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ถึงจะประกาศไปใครไม่ได้วัดและทดลองก็จะไม่รู้ว่าเพียงไหน จะเปนเหตุให้สงสัยต้องเถียงกัน จึงได้ให้เจ้าพนักงารกรมเมืองไปกับขุนนางอังกฤษ วัดทางสองร้อยเส้นรอบพระนครปักเสาศิลาไว้ ๔ ทิศ เปนที่หมายของวงเวียนรอบพระนคร และในที่บรรทัดวงเวียนของพระนครจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ได้มีเสาศิลาเปนสำคัญทั้งสองฟากด้วย ตั้งแต่วงเวียนที่มีเสาศิลาเปนสำคัญ เข้ามาจนถึงพระนครนั้นห้ามมิให้ผู้ใดขายที่บ้านที่สวนแก่คนนอกประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงยังไม่ถึง ๑๐ ปี เปนแต่ให้เช่ามีกำหนดเปนระยะนั้นได้ไม่ห้าม เมื่อจะให้เช่านั้น ให้มาทำหนังสือสัญญาว่ากล่าวกันต่อหน้ารั้วแขวงอำเภอและเจ้าพนักงารให้รู้เห็นเปนพยานไว้ อย่าให้ลอบขายด้วยโวหารว่าให้เช่า คือเอาเงินล่วงหน้ามากกว่ากำหนดเช่าตามเดือนตามปีสมควรแก่เยี่ยงอย่างควรจะยอมกัน ถ้าร้อนรนจะใคร่ได้เงินมากจะขายที่กับคนนอกทีเดียวด้วยอยากจะได้เงินเร็วๆ ก็ให้กราบเรียนท่านเสนาบดีก่อน เมื่อท่านเสนาบดียอมให้ขายจึงขายได้ ฤๅจะใคร่จำนำทำสัญญาว่าขาดดอกเบี้ยเปนหลุด ก็ให้มาบอกจำนำแก่คนมีทรัพย์ในฝ่ายไทยก่อน ถ้าไม่รับให้เงินแรงกว่าอังกฤษรับแล้ว ให้เอาความมาเรียนท่านเสนาบดีกรมพระนครบาล จะคิดอ่านให้ได้สมประสงค์
ก็และในทาง ๒๔ ชั่วโมง แต่กำแพงกรุงเทพมหานครนอก ๒๐๐ เส้นโดยรอบนั้น ท่านเสนาบดีกับทูตอังกฤษปฤกษาว่ากำหนดลงเปนตำบลแล้ว คือทิศเหนือกำหนดถึงปากน้ำบางพุทราที่ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไปจนถึงกำแพงเมืองลพบุรี เลยไปถึงท่าพระงามเมืองสระบุรี ทิศตวันออกแต่ท่าพระงามถึงบางกนากปลายคลองขุดที่ออกแม่น้ำบางปกง ตรงต่อไปถึงปากน้ำบางปกงไปจนเกาะศรีมหาราชา ทิศใต้ตั้งแต่เกาะศรีมหาราชาไปจนถึงกำแพงเมืองเพ็ชร์บุรี ทิศตวันตกตั้งแต่ฝั่งอ่าวทเลเมืองเพ็ชร์บุรีไปถึงปากน้ำเมืองสมุทสงคราม เลยไปตามลำแม่น้ำจนถึงกำแพงเมืองราชบุรี ต่อไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่สุพรรณบุรีไปถึงปากน้ำบางพุทราประจวบที่เก่า ในภายในที่เท่านี้ ถ้าราษฏรที่เปนเจ้าของที่อยู่แต่ก่อนจะให้คนอังกฤษและคนซึ่งขึ้นกับอังกฤษฤๅฝรั่งเศสอเมริกันเปนชาวเมืองฤๅขึ้นแก่เมืองฝรั่งเศสอเมริกา ซึ่งมาทำสัญญาแล้วนั้นเช่าอยู่ก็ได้ทำการเพาะปลูกก็ได้ จะขายให้ขาดทั้งที่บ้านที่เรือนที่สวนที่นาก็ได้ไม่ห้าม แต่เมื่อจะให้เช่าฤๅจะขายให้นั้น ให้ทำหนังสือสัญญากำหนดที่กำหนดราคา มีวันคืนเดือนปีให้แน่นอนต่อหน้ารั้วแขวงอำเภอพนักงารให้รู้เปนพยาน ฤๅเมื่อจะให้เงินรับเงินแลผัดผ่อนกันอย่างไร ก็ให้มีสักขีพยานและใบรับใบให้เปนหลักสำคัญ อย่าให้มีการวิวาททุ่มเถียงกันไปในภายหน้าได้
เมื่ออังกฤษและชาวยุโรปอื่นและชาวอเมริกันไปซื้อที่เช่าที่อยู่ในที่ใดๆ ไทยและจีนและคนอื่นๆ จะเข้าไปรับจ้างให้ทำการงารเอาสินจ้างเลี้ยงชีวิตก็ได้ไม่ห้าม อย่าให้คนที่มีความผิดต่อกฎหมายแผ่นดิน คือเปนโจรและผู้ร้ายและความชั่วอื่นๆ หลบหนีสุภาตระลาการรั้วแขวงอำเภอและกองจับ ฤๅทาสและลูกหนี้ที่คิดจะหนีเจ้าขุนมูลนายและเจ้าหนี้ หลบลี้เข้าไปอยู่ในที่ของอังกฤษและฝรั่งเศสอเมริกันก่อความให้สุภาตระลาการเจ้าหมู่มูลนายต้องมาฟ้องร้องวิวาทเปนความกับคนต่างประเทศ คนที่เปนต้นเหตุหลบหลีกเข้าไปอยู่ก่อเหตุให้เกิดความต้องว่ากับคนต่างประเทศนั้น คงจะต้องชำระเอาตัวคืนมาให้จงได้ เมื่อได้ตัวมาแล้วจะต้องให้มีโทษเพิ่มให้มากกว่าความผิดของคนผู้ทำผิดโดยปรกตินั้น ถึงทาสและลูกหนี้ที่หนีเจ้าเบี้ยนายเงิน ทำให้เจ้าเบี้ยนายเงินต้องเปนความกับคนต่างประเทศ ก็จะให้มีโทษอิกตามโทษานุโทษ เพราะท่านเสนาบดีได้ใส่หนังสือสัญญาไว้แล้วกับฝรั่งเศสอังกฤษอเมริกันว่าดังนี้ “ข้อ ๓ ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับไทยจะไปเปนลูกจ้างอยู่กับคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันก็ดี คนอยู่ในบังคับไทยมิได้เปนลูกจ้างก็ดี ทำผิดกฎหมายเมืองไทยจะหนีไปอาศรัยอยู่กับคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ถ้ามีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน กงสุลทั้ง ๓ ตามที่จะจับตัวส่งให้กับเจ้าพนักงารฝ่ายไทย ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้ามาอาศรัยค้าขายอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำผิดหนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไทย ถ้ามีพยานว่าทำผิดหนีไปอยู่กับคนในใต้บังคับไทยจริง กงสุลทั้ง ๓ ตามที่จะขอเอาตัว เจ้าพนักงารฝ่ายไทยจะจับตัวส่งให้ ถ้าพวกจีนคนใดจะว่าเปนคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ไม่มีสำคัญสิ่งไรเปนพยานว่าเปนคนบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน กงสุลทั้ง ๓ เมืองก็ไม่เอาเปนธุระ ข้อ ๕ ว่าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ที่เข้ามาจะอาศรัยอยู่ณกรุงเทพมหานครต้องไปบอกกับกงสุลตามที่ให้จดชื่อไว้ ถ้าคนเหล่านี้จะออกไปทเลฤๅจะไปเที่ยวเกินกำหนดทาง๒๔ ชั่วโมง ตามสัญญาไว้ที่จะให้คนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันอยู่นั้น กงสุลตามที่จะไปขอหนังสือเบิกล่องเจ้าพนักงารฝ่ายไทยให้ไป ถ้าคนในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันจะกลับออกไปจากกรุงเทพมหานคร ถ้าขุนนางเจ้าพนักงารฝ่ายไทยบอกกับกงสุลตามที่ว่ามีเหตุควรจะห้ามมิให้ออกไป กงสุลตามที่ก็จะมิให้ออกไป ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศสอังกฤษ อเมริกันไปเที่ยวในระหว่างทาง ๒๔ ชั่วโมง กงสุลตามที่จะเขียนเปนหนังสือไทยให้ไปว่าคนนั้นชื่ออย่างนั้น รูปร่างอย่างนั้น มีธุระอย่างนั้น แล้วจะต้องให้เจ้าพนักงารฝ่ายไทยปิดตราหนังสือให้ไปเปนสำคัญด้วย ชาวด่านทางฝ่ายไทยดูหนังสือแล้วให้คืนหนังสือให้ปล่อยตัวไปโดยเร็ว ถ้าไม่มีหนังสือกงสุลตามที่ปิดตราเจ้าพนักงารฝ่ายไทยไปสำหรับตัว ต้องสงสัยว่าเปนคนหนีก็ให้ยึดเอาตัวไว้แล้วให้มาบอกความกับกงสุลตามที่ให้รู้ฯ ข้อ ๖ ว่าคนซึ่งอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกันจะเข้ามาเที่ยว และจะให้เข้ามาอาศรัยอยู่ณกรุงเทพมหานคร จะถือสาสนากฤสตันไทยก็ไม่ห้ามปราม เมื่อจะสร้างวัดขึ้นจะทำได้ก็แต่ในที่เสนาบดีโปรดให้ ถ้าคนอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ซึ่งจะเข้ามาอยู่ณกรุงเทพมหานครจะจ้างคนซึ่งอยู่ในใต้บังคับไทยมาเปนลูกจ้าง เสนาบดีฝ่ายไทยจะไม่ห้ามปราม ถ้าคนที่มีมูลนายจะมารับจ้างอยู่ในบังคับฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน มูลนายไม่รู้มูลนายจะมาเอาตัวไปก็เอาไปได้ ถ้าคนในบังคับอังกฤษไปจ้างคนในใต้บังคับไทยเปนลูกจ้างไม่ได้ทำสัญญากับมูลนายให้รู้ก่อน ภายหลังถ้าเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสนาบดีฝ่ายไทยจะไม่ชำระให้”
อนึ่งคนซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงแลข้างบ้านก็ดี ห้ามอย่าให้รุกที่รุกแดนและลอบเข้าไปถอนต้นไม้สิ่งใดที่ปลูกเพาะของคนต่างประเทศ และก่อเหตุวิวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง อนึ่งอังกฤษและชาวยุโรอื่นและอเมริกัน เข้ามาเช่าที่ซื้อที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ใดๆ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปล้อเลียนเย้ากวนก่อความวิวาทอย่างไรอย่างหนึ่งในบ้านของพวกอังกฤษและชาวยุโรปอื่นและอเมริกันซึ่งจะเข้ามาอยู่นั้น ถ้าใครเข้าไปทำล่วงเกินก่อวิวาทในบ้านของคนต่างประเทศก็จะให้มีโทษแก่ผู้นั้นฝ่ายเดียวจะไม่ว่าความให้ เมื่อผู้ใดจะซื้อจะขายกับพวกอังกฤษและชาวยุโรปอื่นและอเมริกัน ซึ่งจะเข้ามาตั้งอยู่ก็ดี จะเที่ยวไปในทางน้ำทางบกค้าขายอยู่ก็ดี ก็ให้ซื้อให้ขายสิ่งของทุกอย่าง เว้นแต่สุราและยาฝิ่นนอกภาษี แต่เมื่อจะให้รับสิ่งของและเงินทอง ก็ให้มีหนังสือรับเปนสำคัญและพยานรู้เห็น ถึงจะผัดผ่อนให้ปันกันก็ให้มีหนังสือไว้เปนสลักสำคัญและพยานรู้เห็น อย่าทำให้เกี่ยวข้องรุงรังนักมีความจะชำระยากไป เมื่อจะสมคบกับลูกค้าคนอังกฤษและชาวยุโรปอื่นและอเมริกันก็ให้พบปะพูดจากันที่หน้าบ้านหน้าโรงมีผู้รู้ผู้เห็น อย่าให้คนต่างประเทศรุกรานเข้าไปทวงถามทุ่มเถียง ยื้อแย่งจนเกิดวิวาทในบ้านในเรือนของตัวได้ ให้ออกรับพูดจาเสียหน้าบ้านหน้าโรงมีผู้รู้ผู้เห็น
ในสุราและยาฝิ่นสองสิ่งนั้น ถ้าคนอังกฤษและชาวยุโรปอื่นและคนอเมริกันมารับเอาน้ำสุราแต่นายอากรไปขาย น้ำสุรานั้นคนทั้งปวงซื้อกินซื้อใช้ก็ได้ไม่มีโทษ ต้มสุราขึ้นไม่ได้ ผูกไปแต่นายอากรก็ดี เอาสุราเมืองนอกมาขายก็ดี ห้ามมิให้ใครไปซื้อเอาออกมา และไปซื้อกินในบ้านคนนอกประเทศนั้น คนที่ไปซื้อออกมาก็ดี คนที่ไปกินในบ้านนั้นเมาออกมาก็ดี ให้นายอากรจับปรับไหมเหมือนคนทำสุราตามโทษานุโทษ แต่ฝิ่นนั้นถ้าคนนอกประเทศมารับไปจากเจ้าภาษีจะไปสูบด้วยกันเองก็ดี ไปขายแก่จีนก็ดี ไม่มีโทษ ถ้าคนที่พระราชบัญญัติห้ามมิให้สูบฝิ่น ไปรับมาสูบมาขายก็ดี เข้าไปอาศรัยสูบในบ้านนั้นก็ดี ก็จะมีโทษตามโทษสูบฝิ่น แต่ฝิ่นนอกประเทศที่คนนอกประเทศจะลอบเอามาซื้อขายนั้น ได้ห้ามไว้ในหนังสือสัญญาแล้ว เมื่อมีเหตุขึ้นก็ปรับปรุงกันตามหนังสือสัญญา
อนึ่งอย่าให้สมคบคนอังกฤษและชาวยุโรปอื่นและอเมริกัน ที่มีความผิดหนีกงสุลตามที่เมืองนั้นๆ แลกับปิตันนายเรือและคนหลบเจ้าหนี้ ให้หลบลี้อยู่ในบ้านในเรือน ถ้าหลบเข้าไปก็ให้จับตัวมาส่งกับรั้วแขวงนายอำเภอ จะได้พาตัวไปส่งกับกงสุลตามที่ตามข้อสัญญาที่ว่าแล้วนั้น ถ้าคนอังกฤษและชาวยุโรปและอเมริกัน มาทำข่มเหงแก่ผู้ใดๆ นอกบ้านของผู้นั้นก็ดี ฤๅเกี่ยวข้องขัดขวางอย่างไรก็ดี ถ้าอยู่หัวเมืองก็ให้ทำเรื่องราวไปยื่นต่อผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ พอที่ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการจะว่ากล่าวให้แล้วไปได้โดยยุติธรรมเห็นชอบด้วยกัน ก็ให้ว่าให้เปนแล้วต่อกัน ถ้าขัดขวางอยู่จะไปมิได้ ก็อย่าให้ผู้สำเร็จราชการเมืองและกรมการเกาะคล้องกดขี่ข่มเหงจำเลยวุ่นวายไป ก็ให้บอกส่งเรื่องราวกับโจทย์ลงมายังกรุงเทพมหานคร ถ้าคนที่เปนความกับคนต่างประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร จะฟ้องคนต่างประเทศ ก็ให้ทำเรื่องราวไปยื่นต่อเจ้าพนักงารกรมท่ากลางที่ศาลาเวรกรมท่า จะได้พาตัวโจทย์กับเรื่องราวไปหากงสุลของคนต่างประเทศนั้น ให้หาตัวจำเลยมาชำระให้ ฤๅจะไปฟ้องกับกงสุลได้ทีเดียวก็ตาม เมื่อกงสุลบังคับอย่างไรให้ฟังและทำตาม ถ้ามิชอบด้วยก็อย่าทุ่มเถียงเทลาะวิวาท ให้เอาความมาเรียนเจ้าพนักงาร กรมท่ากลางให้ฟังช่วยไต่ถามต่อว่าให้โดยสมควร
ประกาศมาณวันพฤหัสบดี เดือนเจ็ดแรมค่ำ ๑ ปีมะโรงนักษัตร อัฐศก