- คำนำ
- ๗๑. ประกาศว่าด้วยตราประจำหมายประกาศ
- ๗๒. ประกาศว่าด้วยผู้ที่จะรับทำภาษีอากรต่างๆ ให้ทำเรื่องราวยื่นตามกรม
- ๗๓. ประกาศว่าด้วยเขตรที่ซึ่งฝรั่งจะเช่าฤๅซื้อได้
- ๗๔ ประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศสอังกฤษและอเมริกัน ที่มาอยู่ในเมืองไทย
- ๗๕ ประกาศเตือนให้ราษฎรซื้อข้าว เพราะจะเปิดให้จำหน่ายออกนอกประเทศ
- ๗๖ ประกาศเรียกอากรมะพร้าว ๓ ต้นสลึง
- ๗๗ ประกาศอนุญาตให้ชาวกรุงฯ รับจ้างฝรั่ง
- ๗๘ ประกาศห้ามไม่ให้คนตื่นข่าวเรื่องเรือรบไปมา
- ๗๙ ประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำและลดค่านาคู่โค
- ๘๐ ประกาศพิกัดอากรค่าน้ำ
- ๘๑. ประกาศเตือนสติผู้ซื้อข้าวขายข้าว
- ๘๒. ประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ ๑)
- ๘๓ ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ และให้ทอดเตาไฟอย่าให้เปนเชื้อเพลิง และให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน
- ๘๔ ประกาศเรื่องให้หนังสือคุ้มภาษีอากรโดยพลการ
- ๘๕ ประกาศกำหนดเวลาถวายฎีกา
- ๘๖ พระบรมราโชวาทพระราชทานรางวัลเพิ่มเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
- ๘๗ พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอฯ
- ๘๘ ประกาศห้ามไม่ให้ใช้คำบางคำกราบบังคมทูล ฯ
- ๘๙ ประกาศสงกรานต์ปีมะเสงนพศก
- ๙๐ ประกาศตักเตือนเรื่องซื้อข้าวขายข้าวในปีมะเสง
- ๙๑ ประกาศอนุญาตให้คนในบังคับสยามรับทำงานของกงสุลอังกฤษได้
- ๙๒ ประกาศกำหนดอำนาจเจ้าบ้าน และเจ้าพนักงานในการจับกุม
- ๙๓ ประกาศห้ามไม่ให้เอาทองเหรียญเงินเหรียญแต่งตัวให้เด็กและอนุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๔ ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๙๕ ประกาศเรื่องความทาสลูกหนี้และภรรยาหนีไปอยู่วังเจ้าบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์สูง
- ๙๖ ประกาศให้ใช้เงินเหรียญครั้งที่ ๒
- ๙๗ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน
- ๙๘ ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้เงินเหรียญนอก
- ๙๙ ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์สามเณรเที่ยวแตร่ในทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๑๐๐ ประกาศการรักษาพระนคร คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทเลตวันออก
- ๑๐๑ ประกาศให้ผู้ที่ไปราชการหัวเมืองและต่างประเทศทำหนังสือกราบบังคมทูลโดยตรง
๗๘ ประกาศห้ามไม่ให้คนตื่นข่าวเรื่องเรือรบไปมา
(ณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก)
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ราษฎร คือ ไทย จีน ญวน มอญ ลาว เขมร พม่า มลายู แขกเทศ แขกจาม ฝรั่งเดิม ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า ครั้งนี้พระเจ้ากรุงอังกฤษ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส แลเปรสิเดนต์เจ้าเมืองอเมริกา แต่งให้ทูตคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ขอทำหนังสือสัญญาค้าขายให้มีผลประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย จึงได้ทรงปฤกษากับท่านเสนาบดี เห็นพร้อมกันยอมทำหนังสือสัญญา เพราะทรงพระราชดำริห์เห็นว่า บ้านเมืองฝ่ายประเทศสยามนี้ ไม่มีที่เกิดแร่เงินจะร่อนถลุงใช้ได้เอง ต้องอาศรัยใช้เงินมาแต่ประเทศอื่นแต่เดิมมา และบัดนี้เมื่อได้ทำหนังสือสัญญากับประเทศใหญ่ที่มีลูกค้ามากแล้ว เรือลูกค้าต่างประเทศก็มีเข้ามามาก ถึงจะบรรทุกสินค้าเข้ามาขายก็ขายได้บ้างไม่มากนัก เห็นจะต้องเอาเงินนอกประเทศเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศสยามนี้ ราษฎรก็จะได้มั่งมีบริบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะจะได้สินค้าต่างๆ มาขาย และจะได้รับจ้างทำการงารทั้งปวง บัดนี้เรือลูกค้าคนขาวชาวประเทศนอก ที่เรียกว่าฝรั่งเข้ามาค้าขายก็มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เอาเงินมาซื้อสินค้าในกรุงเทพมหานครบ้าง ลางลำก็มีสินค้าเข้ามาขายบ้าง แต่ที่เอาเงินมาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ นั้นก็มาก ได้ใช้เงินมาแต่นอกประเทศอยู่ไม่ได้ขาด และจ้างคนในประเทศนี้เปนลูกจ้างทำการงานต่างๆ ก็มาก
บัดนี้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ราษฎรทั้งปวง มีความเพียรอุส่าห์หาสิ่งของสินค้าต่างๆ ไปขายกับคนชาวนอกประเทศ ให้มีผลประโยชน์ตามชอบใจ ฤๅจะรับทำการจ้างสิ่งใดๆ ในที่บ้านเรือนคนนอกประเทศก็ดี ก็ให้รับจ้างทำโดยสดวกสบายไม่ห้ามปราม แต่เมื่อแรกจะไปรับจ้างนั้น ให้พูดจาว่ากล่าวกับมูลนายให้ตกลงกันด้วยราชการและการของนายให้รู้กันไว้แต่เดิม ภายหลังอย่าให้มีเกี่ยวข้องต้องทุ่มเถียงกันให้เสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย.
อนึ่งธรรมเนียมเมืองใหญ่ในประเทศที่เรียกว่า เมืองฝรั่งฤๅวิลาศนั้น ถ้ามีลูกค้าเมืองนั้นๆ แต่งเรือไปมาค้าขายมากหลายลำ ฤๅบางพวกไปตั้งอาศรัยอยู่ค้าขายมากณเขตรแดนอื่นใดๆ ก็ย่อมมีเรือรบลำหนึ่งบ้าง หลายลำบ้าง มาเยี่ยมเยียนประเทศนั้นเนืองๆ แต่เมืองเดิมของลูกค้านั้นๆ เพื่อจะช่วยระวังรักษาเปนเพื่อนลูกค้ากันศัตรูในท้องทะเลมิให้ย่ำยีลูกค้าตามเมืองนั้นๆ ซึ่งมาค้าขาย ฤๅอย่างหนึ่งเมื่อมีหนังสือสัญญาว่าผูกพันมั่นคงในทางไมตรีแล้ว เรือรบเมื่อขัดสนเสบียงอาหารและสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็แวะเข้ามา บางทีเข้ามาขออาศรัยซ่อมแซมเรือชำรุดก็มี เพราะฉนั้นแต่นี้ไป ถ้าจะมีเรือรบลำเดียวฤๅหลายลำเข้ามาถึงเมืองสมุทปราการก็ดี ฤๅทอดนอกสันดอนก็ดี เมื่อได้ยินข่าวเรือรบมาแล้วก็ดี ฤๅธรรมเนียมเรือรบมาถึงแล้วย่อมยิงปืนคำนับเมือง ฝ่ายเมืองก็ต้องยิงรับคำนับกัน และเมื่อเรือรบมาจะได้ยินเสียงปืนก็ดี อย่าให้ตื่นเล่าฦๅถือตามคเน และเชื่อข่าวคำคนเล่าฦๅซุบซิบต่างๆ แล้วสดุ้งตกใจวุ่นวาย เลิกการค้าขายกับคนนอกที่เช่าที่ฤๅไปมาหาตัวและทำกระดากต่างๆ ให้เสียประโยชน์ไป จงซื้อขายกันคงอยู่ตามปรกติเถิด อย่าให้ตื่นกันวุ่นวายเหมือนครั้งก่อนๆ นั้นเลย ด้วยได้ทำสัญญาไว้แน่นอนแล้ว เมื่อจะมีการสิ่งใดขึ้น ขุนนางทั้งสองฝ่ายจะปฤกษาว่ากล่าวกันตามหนังสือสัญญาแต่โดยดี จะไม่ให้มีความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั้งปวง จะทรงพระราชดำริห์ระงับผ่อนปรนให้มีผลประโยชน์กับราษฎรในประเทศสยามอยู่เย็นเปนสุขทั่วกัน
อนึ่งบัดนี้สำเภาจีนสลัดในท้องทเลก็มีมากขึ้น เพราะเมืองจีนเกิดวุ่นวายมาหลายปี แลในทเลจีนเรือรบต่างประเทศมาตระเวนระวังมาก พวกจีนผู้ร้ายจึงแล่นเรือมาเที่ยวปล้นลูกค้าหากินข้างทเลฝ่ายไทยทั้งตวันตกตวันออก ในปีเถาะสัปตศก (พ.ศ. ๒๓๙๘) ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำปั่นหลวงออกลาดตระเวนก็จับมาได้หลายลำหลายคน แต่จีนสลัดยังมากอยู่ จึงทรงพระราชดำริห์จะสร้างเรือรบเรือกลไฟเรือค่ายใช้ปืนใหญ่ขึ้นอิกหลายลำอยู่ เพื่อจะใช้ออกแล่นไล่เรือสลัด และจะป้องกันเรือตระเวนฝ่ายญวนมิให้ล่วงเกินมาทำร้ายแก่เขตรแดนนี้ได้ เพราะได้ข่าวว่าที่แดนเมืองญวนก็มีสลัดมาก พวกเมืองญวนก็จัดเรือออกลาดตระเวนอยู่ เกลือกเรือตระเวนญวนจะไล่สลัดเกินเขตรแดนญวนเข้ามา ซึ่งได้ยินข่าวว่าญวนจะคิดอย่างไรไม่ทราบถนัด ได้จัดทหารลงมารักษาปากน้ำอยู่ทุกหัวเมือง ที่กรุงฯ จึงจะต้องตระเตรียมการระวังไว้บ้าง อย่าให้ญวนคิดเกินเลยเข้ามา เมื่อราษฎรเห็นการจัดแจงเรือรบเรือไล่สลัดดังนี้ ก็อย่าได้ถือเอาเล่าฦๅว่าจะมีทัพศึกรบพุ่งกับเมืองใดๆ แล้วและคิดหลบหลีกกลัวผิดไม่ค้าไม่ขายด้วยคนต่างประเทศและไม่รับจ้างคนต่างประเทศ และไม่ให้เช่าที่ซื้อดินการอะไรแปลกๆ ไป ให้เปนเหตุให้เสียประโยชน์ตามประสงค์เลย จงทำมาหากินอยู่โดยปรกติเถิด จงทำให้เต็มสัญญากับลูกค้าต่างประเทศ ที่ได้ทำสัญญานั้นทุกประการเถิด
ประกาศมาณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก