๘๒. ประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ ๑)

(ณวันพุธ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก)

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ และบรรดาราษฎรไทย จีน ญวน ลาว เขมร พม่า มลายู และคนเชื้อฝรั่งโปรตุเกตเดิม และคนเชื้อแขกเทศ แขกจาม ทุกชาติทุกภาษาทั้งปวง ซึ่งเปนพลเมืองอยู่กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา และแขวงหัวเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานครให้รู้จงทั่ว

ด้วยตั้งแต่เซอยอนโบวริงเข้ามาทำหนังสือสัญญาแล้ว มาจนถึงเดือนอ้ายปีมะโรง นักษัตรอัฐศก มีเรือลูกค้าต่างประเทศเข้ามาค้าขายณกรุงเทพฯ ถึง ๑๐๓ ลำ เรือลูกค้ากรุงเทพมหานครตกแต่งออกไปค้าขายต่างประเทศถึง ๓๗ ลำ แต่เงินเหรียญเข้ามาซื้อสินค้าลำละสองหมื่นบ้างหมื่นหนึ่งบ้าง ห้าพันบ้าง เงินเหรียญจะใช้ซื้อสินค้ากับลูกค้าที่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่มีผู้ใดจะรับเอาเงินเหรียญไว้ ด้วยการไม่เคยใช้มาแต่เดิม นายห้างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน ซึ่งเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ณกรุงเทพมหานคร ต้องเอาเงินเหรียญเข้าไปวานช่างในคลังมหาสมบัติทำเงินตรา ก็ได้โปรดฯ ให้เจ้าพนักงารช่วยทำให้ ได้ทรงพระกรุณากับลูกค้าพานิชทั้งปวง มิได้คิดที่จะเอาเศษกำไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เงินที่ลูกค้าเข้าไปวานทำหักไว้ชั่งละตำลึงสลึงนั้น เปนค่าถ่านเสียสลึงหนึ่ง ไล่เอาเนื้อทองแดงออกเสียสามบาท สูญเพลิงไปเสียบาทหนึ่ง แต่เนื้อทองแดงที่ไล่ออกไว้แต่สามบาทนั้น ก็พอคุ้มกันกับที่ลงทุนดีบุกชินเอาเลี้ยงเงินให้น้ำเงินใสบริสุทธิ์ ไม่มีเศษกำไรเลย และลูกค้าเอาเงินเข้าไปวานทำก็ได้ทำไปแล้วถึง ๒๖๘,๘๒๗ เหรียญ เงินยังคั่งค้างอยู่ข้างนอกอิกก็หลายหมื่นเหรียญ ลูกค้าเอาเงินไปวานทำแล้วจะเร่งเอาเงินตราออกมาซื้อสินค้าโดยเร็ว เจ้าของเงินหลายรายต่างคนก็รบกวนจะเอาเงินก่อน ช่างทำเงินก็มีน้อยตัวตามเคยใช้ เตาหนึ่งทำได้แต่วันละสามชั่ง มีนายเตาอยู่สิบนาย ทำได้แต่วันละสามสิบชั่งเศษ การทำเงินพดด้วงมีตรานั้นทำด้วยเครื่องมือไทย ไม่ได้ทำสำเร็จด้วยเครื่องมือเหมือนอย่างชาวประเทศยุโรป การจึงช้าไม่ทันใจลูกค้าทั้งปวง ครั้นจะหาคนช่างทำให้มาก คนที่เคยทำเงินสันทัดก็มีน้อย จะให้ได้การเร็วๆ ก็ไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนทำใช้แต่การในหลวงไม่ได้ทำการเหมือนครั้งนี้ จึงมิศแบลผู้ว่าการแทนกงสุลอังกฤษ ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายว่า ลูกค้าพานิชทั้งปวงเอาเงินเข้าไปให้ทำแล้ว ไม่ใคร่จะได้เงินตราออกมา ป่วยการในทางค้าทางขาย ขอให้ประกาศให้ใช้เงินเหรียญเสียในบ้านในเมือง จะไม่ได้ลำบากยากแก่ลูกค้าทั้งปวง และเงินซึ่งจะใช้นั้น ถ้ามากกว่าสิบชั่งขึ้นไปจะขอให้เงินเหรียญ ถ้าต่ำกว่าสิบชั่งลงมาผู้รับเปนราษฎรลูกค้าบ้านนอกไม่รู้จักเงินเหรียญ จะให้เปนเงินตราบาท และแต่ก่อนผู้ที่มีเงินเหรียญมาแลกเอาเงินบาทไปแลกกันข้างนอกคิดเหรียญละหกสลึงเจ็ดทศางค์ ที่จีนเรียกว่าหุน เงินร้อยเหรียญได้เงินบาทสองชั่งตำลึงสามบาทสองสลึง เข้าไปทำในพระคลังเงินร้อยเหรียญได้เงินบาทแต่สองชั่งตำลึงสามบาท มิศแบลขอให้แลกใช้กันครั้งนี้ เงินร้อยเหรียญจะขอเงินแต่สองชั่งตำลึงกึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เงินเข้ามาในบ้านในเมือง ก็มีคุณกับแผ่นดินเปนอันมาก ด้วยราษฎรจะได้มั่งมีทรัพย์สินเงินทองบริบูรณ์ขึ้น และแผ่นดินเมืองจีน เมืองพราหมณ์ เมืองแขกเทศ แขกมลายู เมืองพม่า เมืองญวน ที่ลูกค้าชาวยุโรปได้ไปค้าขายถึง ก็ได้ใช้เงินเหรียญกันทั่วไปแล้ว และเมืองสงขลา เมืองถลาง เมืองพงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ที่ค้าขายถึงกันกับประเทศที่ขึ้นแก่อังกฤษ ก็ใช้เงินเหรียญอยู่บ้างนานมาแล้ว และที่กรุงเทพมหานครทุกวันนี้ ลูกค้าพานิชเข้ามาค้าขายเจริญมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่า ควรที่จะขอให้ใช้เงินเหรียญกันได้แล้ว ถ้าลูกค้าพานิชและราษฎรรักจะใช้เงินเหรียญกันก็ตามใจเถิด อย่ากลัวเลยว่าจะมีโทษเพราะใช้เงินเหรียญ แต่ให้เจ้าพนักงารพระคลังมหาสมบัติ คิดอ่านกันดูให้ตกลงจะใช้กันอย่างใด จะรับเงินภาษีอากรที่ส่งอย่างไรจึงจะสมควรกับการ เจ้าพนักงารพระคลังมหาสมบัติได้ประชุมปฤกษากัน มีพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรเปนประธาน พระยาราชภักดี พระยาพิพิธโภไค พระยาไชยยศสมบัติ พระศรีไกรลาศ พร้อมกันเห็นว่า ซึ่งมิศแบลว่าการกงสุลอังกฤษ ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ขอให้ประกาศให้ใช้เงินเหรียญซื้อสินค้าได้ เงินเหรียญร้อยหนึ่งจะแลกเงินตราบาทสองชั่งตำลึงกึ่งนั้นชอบอยู่แล้ว ลูกค้าจะไม่ได้ป่วยการซื้อขาย เพราะการที่จะแลกเงินบาทไม่ทันการ แต่เงินเหรียญทุกวันนี้เปนสามอย่างสี่อย่าง ๆ หนึ่งเงินที่ใหม่ยังหนักคงเต็มเหรียญละเจ็ดสลึงสองทศางค์อยู่ก็มี อย่างหนึ่งเงินที่เก่าแล้วเบาหย่อนตาชั่งไป เหรียญละทศางค์บ้างครึ่งทศางค์ก็มี อย่างหนึ่งเงินที่เข้าไปในแผ่นดินจีนแล้ว นายห้างตีตรายี่ห้อยับเยินไป ลางทีแตกหักเปนย่อยก็มี การเปนดังนี้ จะนับเหรียญร้อยหนึ่งเปนเงินสองชั่งตำลึงกึ่ง ก็จะเกิดแก่งแย่งทุ่มเถียงไม่ตกลงกัน ถ้าเจ้าภาษีนายอากรลูกค้าพานิชราษฎรทั้งปวงที่ซื้อขายได้เงินเหรียญไว้ จะเอาเงินเหรียญเข้าไปส่งเปนเงินหลวงแทนเงินภาษีอากร ฤๅจะแลกเปลี่ยนเอาเงินตรามาใช้สอยบ้าง ชาวพระคลังมหาสมบัติจะขอเผาเงินชั่งเงิน แล้วจะหักเอาเปนค่าสูญเพลิงค่าถ่านชั่งละตำลึงสลึง คงให้เงินตราสิบแปดตำลึงสามบาทสามสลึง เหมือนอย่างเคยทำมาแต่ก่อน ถ้าเจ้าพนักงารพระคลังมหาสมบัติ จะจ่ายเงินเหรียญให้ก็จะคิดค่าสูญเพลิงค่าถ่านให้ชั่งละตำลึงสลึงเหมือนกับคนที่รับไว้ ซึ่งลูกค้าพานิชและราษฎรทั้งปวงจะซื้อขายใช้เงินเหรียญกันข้างนอกก็ตามใจ แต่ให้คิดสามเหรียญเปนเงินตราตำลึงบาท ชั่งหนึ่งเปนเงินเหรียญสี่สิบแปดเหรียญ เงินตราสิบชั่งเปนเงินสี่ร้อยแปดสิบเหรียญ เห็นว่าไม่สู้เสียรัดเสียเปรียบกันนักทั้งเจ้าของเงินเหรียญเจ้าของเงินบาท ถ้าเงินเบาตาชั่งและเงินย่อยจะนับเปนเหรียญไม่ได้ ก็ให้ชั่งตามพิกัดคลัง เงินชั่งหนึ่งหักค่าสูญเพลิงค่าถ่านแล้ว คงให้เงินตราสิบแปดตำลึงสามบาทสามสลึงดังนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งว่า ซึ่งปฤกษาพร้อมกันเห็นดังนี้ชอบอยู่แล้ว ให้ประกาศลูกค้าพานิชราษฎรรู้จงทั่ว ว่าตามใจจะใช้เงินเหรียญกันเทอญ เมื่อเจ้าภาษีนายอากรเรียกภาษีกับราษฎรได้เปนเงินเหรียญ จะเอาเงินเหรียญเข้าไปส่งพระคลังมหาสมบัติ เจ้าพนักงารจะขอเผาเงินชั่งเงินตามอย่างเคยแลกเปลี่ยนกันแต่ก่อนแล้วก็จะรับ

ประกาศมาณวันพุธ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ