คำอธิบาย

พระนลคำฉันท์นี้คงจะมีตำหนิหลายทาง ทางหนึ่งที่เห็นได้ถนัด คือใช้คำที่แปลกหูเกินไป และใช้ในอัตถที่ท่านไม่ใคร่ใช้กันก็มีบ้าง ตำหนินี้มีข้อแก้ตัวว่าคำฉันท์นี้ยืดยาว แลแต่งรักษาคณะตลอดไป ถ้าจำกัดใช้แต่ศัพท์ที่ง่ายๆ ก็เหลือปัญญาผู้แต่ง จึงต้องยอมให้มีตำหนิในทางนี้เพิ่มตำหนิอื่นๆ ซึ่งคงจะมีอีกหลายอย่าง แต่จะคิดให้บันเทาลงด้วยวิธีแปลศัพท์บางศัพท์ไว้ในที่นี้ แลอ้างหลักอภิธานต่างๆ ซึ่งจะเรียกชื่อย่อดังนี้

อภิธาน ช คืออภิธานัป์ปทีปิกาฉบับกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

อภิธาน สิ คืออภิธานัป์ปทีปิกาฉบับพระสุภูติเมืองลังกา

อภิธาน ห คืออภิธานรัตนมาลาของหลายุธ

อภิธานบาฬีของ Childer แลอภิธานสํสกฤตของ Apte แล Sir Monier Monier-Williams แลอาจารย์อื่นๆ จะกล่าวชื่ออาจารย์เหล่านั้น

อภิธานในท้ายหนังสือ นโลปาข๎ยาน ฉบับ M.W. จะเรียกย่อว่า Voc. Nal. อภิธานเขมรของ Bernard แล Tandart จะกล่าวชื่อเจ้าของ

ภาษาสํสกฤต จะเรียกย่อว่า
ภาษาบาฬี จะเรียกย่อว่า

อธิบายคำในสดุดี

๑ สดุดี

(ส. ส๎ตุติ. ม. ถุติ) แปลว่า ชม, สรรเสริญ (อภิธาน ช ๑๑๘) (1) Praise; eulogy (2) A hymn of praise; panegyric (Apte)
๒ นรเทพ แปลว่า เทวดาในหมู่คน
๓ รามราฆพ แปลว่า พระรามผู้เปนวงศ์พระระฆุ พระระฆุเปนกษัตริย์ในสูรยวงศ์
๔ อวนิ (ส. แล ม) แปลว่า ภูมิ (อภิธาน ช, ๑๘๒) แปลว่า แผ่นดิน The Earth (Apte)
๕ ศิศิร ส (ม. สิสิร) แปลว่า เย็น (อภิธาน ช. ๕๖ แล ๙๒๔) แปลว่า เย็น ว่าหนาว (อภิธาน ห. ตอนที่ ๓ คาถา ๒๘)
๖ ศศิ (ส. ศศิน, ศศี. ม. สสี) ทรงไว้ซึ่งกระต่าง คือพระจันทร์
๗ อรินทม แปลว่า ทรมานศัตรู
๘ มฆ ส แปลว่าความสำราญ ในพระเวทแปลว่าอำนาจ, ว่าทรัพย์ (Apte)
๙ บุณยโศลก ส. Cerebrated in Sacred Songs ศัพท์นี้แปลว่าบุทคลผู้ซึ่งกวีได้แต่งกลอนบุญสรรเสริญแล้ว เปนชื่อเรียกพระราชาที่ทรงพระนามเลื่องลือ ในโบราณกาลคือ พระยุธิษฐิรแลพระนลเปนต้น
๑๐ กีรติ ส. (ม. กิต์ติ) คือ เกียรติ
๑๑ ไนษธ แปลว่า ชาวเมืองนิษัธ เปนชื่อพระนก

อธิบายคำในสรรคที่ ๑

๑ นิษธราษฎร์ นิษธ หรือ นิษัธ นี้เปนชื่อแว่นแคว้นซึ่งพระนลครอบครองอยู่ในภาคตวันออกเฉียงใต้แห่งอินเดีย. หนังสือบางแห่งกล่าวว่าเมืองหลวงชื่อกรุงอละกา ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำอลกนันทา ราษฎร์ นั้นแปลว่าแว่นแคว้น แลว่า ประชาชนก็ได้
๒ นล พระนลเปนโอรสท้าววีรเสน ท้าววีรเสนต่อไปจะกล่าวนามในฉันท์นี้ กษัตริย์ในอินเดียมีวงศ์ใหญ่อยู่ ๒ วงศ์ คือวงศ์เกิดจากพระอาทิตย์ เรียกว่า สูรยวงศ์พวกหนึ่ง เกิดจากพระจันทร์เรียกว่า จันทรวงศ์
๓ มหารถ แปลว่า ผู้ชำนาญรบในรถ อาจสู้ทหารรถอื่นได้ตั้งหมื่น
๔ จตุรเวท พระเวททั้งสี่
๕ พนัน ข้อที่กล่าวว่า พระนลชอบพนันนี้ หมายความว่าชอบสกา (อัก๎ษป๎รียะ) แต่การชอบเล่นสกาจะเปนความดีอย่างไรหรือ จึงนำมากล่าวในเวลาแสดงคุณพระนลเช่นนี้ ในกาพย์กลอนของชาวฮินดู กล่าวถึงกษัตริย์เล่นสกาบ่อยๆ แต่ถือกันว่าเปนของไม่ดี ก็เมื่อฉนั้นเหตุใดจึงเอามากล่าวในเวลาแสดงพระคุณพระนลเล่า มอเนียวิลเลียมซ์กล่าวว่าถ้าอังกป๎รียะ คือชอบนับจำนวน หรือวิชาเลขจะเหมาะกว่า แลความเข้ากันดีกับสรรคที่ ๒๐ แต่ฉบับสํสกฤตเปนอัก๎ษป๎รียะ ทุกฉบับ ก็ต้องแปลว่าชอบเล่นสกา
๖ อุทาร ส (ม. อุฬาร) แปลว่าใหญ่ Great, สูง Lofty (Childer) Noble; generous (Voc. Nal.)
๗ ทานพ (ส. ทานว) อสูรเปนเหล่ากอนางทนุ
๘ แทตย์ (ส. ไทต๎ย) อสูรเปนเหล่ากอนางทิติ
๙ ศักร (ส. ศก๎ร ม.สัถ์โถ) พระอินทร์
๑๐ วิทรรภ์ (วิทร๎ภ) เมืองนี้อยู่ในตวันตกเฉียงใต้แห่งแว่นแคว้นซึ่งอังกฤษเรียกเบ็งคอล เมืองวิทรรภ์เดี๋ยวนี้เรียกว่า Berar หรือ นาคปุระ ในโบราณมีเขตตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำกฤษณา ถึงราวๆ ฝั่งแม่น้ำนร๎มทา บางทีเรียกมหาราษฎร์เพราะเขตใหญ่ เมืองหลวงโบราณเรียกกุณฑินปุระบ้าง เรียกวิทรรภาบ้าง เมืองที่อังกฤษเรียกว่า Bedar ในปัจจุบันบางคนเข้าใจว่าคือกรุงกุณฑินเก่า อนึ่งมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งชื่อวรทาแบ่งวิทรรภ์ออกเปน ๒ ภาค คือภาคเหนือแลภาคใต้ มีเมืองหลวงทั้ง ๒ ภาค
๑๑ ห่อน คำนี้แปลว่าเคย แต่ในกาพย์กลอนของเราใช้แทน “ไม่” โดยมากเช่น “เบื้องนั้นนฤนารถผู้ สยามินทร์ เบี่ยงพระมาลาผิน ห่อนพลั้ง” ในพระนลคำฉันท์ห่อน แปลว่าไม่เกือบเสมอ นับว่าผิดความเดิม แต่คำที่เลือนเช่นนี้ยังมีอีกหลายคำ
๑๒ มุนี ฤษี องค์นี้ชื่อ ทมนะ
๑๓ วนัสถะ นักบวชอยู่ป่า, ฤษี
๑๔ สวาดิ์ คำนี้น่ากลัวเปนสํสกฤต แต่จะต้องสกด ท กระมัง
๑๕ สาม พระโอรสทั้ง ๓ นั้น ทรงนาม ทมะองค์หนึ่ง ทานตะองค์หนึ่ง ทมนะองค์หนึ่ง
๑๖ ทัมะยันตี (ทมยน๎ตี) แปลว่านางผู้ทรมานชาย เปนชื่อนางเอกในเรื่องนี้
๑๗ ประพาศ คำนี้ในที่สกดด้วย ศ หมายความอย่างที่ใช้กันโดยมากในกาพย์กลอน คือแปลว่าไปเที่ยว ไม่จำเพาะอยู่แรม, ถึงไปป่าเช้าชั่วบ่าย หรือเที่ยวสวนครู่หนึ่งก็ใช้ศัพท์ประพาศเหมือนกัน บางทีถึงกับว่าชม, เช่น “นางเสด็จลดเลี้ยวเที่ยวประพาศ รุกขชาติช่อชามงามไสว” เปนต้น ในพระนลคำฉันท์นี้ ถ้าถึงที่สกด ส หมายความว่าไปจากบ้านของตน
๑๘ หิรญ (ส หิรัณ๎ย ม. หิรัญ์ญํ) แปลว่าทอง ว่าเงิน (อภิธาน ช.) Gold, bullion; treasure (Childer) ศัพท์หิรัญนี้ แปลว่าทองบ่อยกว่าแปลว่าเงิน ในพระนลคำฉันท์ ศัพท์นี้แปลว่าทองเสมอ
๑๙ นเรสูร คำนี้ใช้อย่างที่เคยเห็นใช้กันมา แลเคยได้ยินแปลว่า กล้าในคน คือ นร กับ สุร แต่จะเปน นเรสูร ได้อย่างไรหาทราบไม่
๒๐ อร คำนี้ใช้มากในกาพย์กลอน แปลกันว่า งาม ใช้เปน อร นั่น อรนี่ก็ได้ เรียกผู้หญิงว่าอรก็ได้ ในพระนลคำฉันท์ก็ใช้อรอย่างที่กล่าวนี้ อันที่จริงศัพท์นี้มีในอภิธานเขมรแปลว่า เปนที่ยินดี เปนที่พอใจ Joyeux, content se réjouir (Bernard แล Tandart)
๒๑ สมร คำสมรนี้มี ๒ คำ คือสมร แปลว่า การรบคำหนึ่ง อีกคำหนึ่งคือ ส๎มร แปลว่าความรำลึก ความรัก แลเปนชื่อกามเทพด้วย ไทยเราใช้เรียกนางสมรดังที่ใช้ในที่หมายเลข ๑๙ นี้ น่าจะเห็นว่าไม่สู้จะตรงความเดิม เพราะส๎มรเปนชื่อเทวดาผู้ชาย

อธิบายคำในสรรคที่ ๒

๑ ไภมี แปลว่า นางผู้เปนบุตรีพระภีมะ คือนางทัมะยันตี ในพระนลคำฉันท์ เรียกนางทัมะยันตีว่านางไภมีเกือบทั้งนั้น
๒ พิศวาส คำนี้ในกาพย์กลอนเราใช้ในความว่ารักเกือบจะเสมอ ดังซึ่งใช้ในพระนลคำฉันท์ที่หมายเลข ๒ ในสรรคนี้ อันที่จริงศัพท์พิศวาสนี้เห็นจะเปนคำสํสกฤต วิศ๎วาส (ภาษาบาฬี เปน วิส์สาโส) แปลว่าความคุ้นเคย ว่าความไว้ใจกัน
๓ วามะ แปลว่า งาม
๔ พี่เลี้ยง ที่ว่าพี่เลี้ยงใช้อย่างที่ใช้ในเรื่องไทยๆ คือเปนน่าที่ของพี่เลี้ยงจะไปเสนออาการแห่งพระราชธิดา ในฉบับสํสกฤตเขาเรียกนางที่ไปทูลพระภีมะว่า สชี แปลว่าหญิงสหาย ฝรั่งแปลว่าแฮนด์เมด คือสาวใช้ หรือว่าข้าหลวงก็ได้
๕ ณรงค์ คำนี้เปนคำไพเราะอยู่คำหนึ่ง ภาษาไทยใช้ในความว่ารบ จะเปนคำแผลงมาจากรณรงค์ ตัว ร หลุดไปตัวหนึ่ง หรืออย่างไรจะถูกเชิญผู้รู้ชี้แจง
๖ นารท ท่านองค์นี้เปนฤษีผู้ใหญ่ หนังสือบางคำภีร์นับเข้าในจำพวกประชาบดี คือฤษีที่เกิดจากพระพรหมา แต่หนังสือวิษณุปุราณะหาได้นับฤษีนารทเข้าในพวกประชาบดีไม่ ในเรื่องลครมักจะใช้พระนารทเปนทูตของเทวดา เช่นในเรื่อง วิก๎รโมร๎วศี แลเรื่องศกุนตลา เปนต้น ฤษีองค์นี้เปนผู้ทำให้เกิดความร้าวฉานบ่อยๆ จนได้ชื่อว่า กลิการก
๗ บรรพต ฤษีองค์นี้เปนสหายของฤษีนารท ขึ้นชื่อด้วยกันบ่อยๆ
๘ อมราวดี ชื่อกรุงในสวรรค์ คือเมืองพระอินทร์
๙ ไวชยันต์ ชื่อวังในกรุงอมราวดี เปนที่พระอินทร์อยู่
๑๐ วาสพ (วาสว) ชื่อพระอินทร์ แปลว่ามีหมู่ วสุ ไปด้วย Accompanied by the Vasus (M.W.) วสุคือเทวดาหมู่หนึ่ง
๑๑ วฤตระหัน ชื่อพระอินทร์ แปลว่าผู้สังหารวฤตระอสูร
๑๒ ทิวัสบดี ชื่อพระอินทร์
๑๓ โลกบาล เรื่องโลกบาล ดูอภิธานสังเขปในพระราชนิพนธ์เรื่องศกุนตลา แต่ในหนังสือพระนลนี้มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือโลกบาลทิศใหญ่ขาดท้าวกุเวรไป มีพระอัคนีมาแทน แลกล่าวว่า “โลกบาลกับอัคนี” (โศลกที่ ๒๔ สรรคที่ ๒) เหมือนหนึ่งพระอัคนีมิได้เปนโลกบาลด้วย อันที่จริง ลัทธิพราหมณ์ถือว่าพระอัคนีเปนโลกบาลประจำทิศอาคเนย์ ดังแจ้งในหนังสือพระราชนิพนธ์ที่อ้างนั้นแล้ว ที่เพี้ยนไปเช่นนี้ก็น่าจะมีคำชี้แจง แต่ไม่มีหลักแน่นอน จึงไม่กล้านำมากล่าว

อธิบายคำในสรรคที่ ๓

๑ ไร คำนี้แปลว่า ทอง อุไร แปลว่า ทองเนื้อสูง
๒ วาริโลม แปลว่ามีน้ำเปนขน เปนชื่อพระวรุณ
๓ พระเจ็ดกร เปนชื่อพระเพลิง ท่านองค์นี้เจ็ดแขน เจ็ดลิ้น สามขา เปนเทวดาที่มีลักษณะแปลกมาก ในพระนลคำฉันท์นี้ต่อไปเรียกพระเพลิงว่าพระเจ็ดลิ้น แล พระสามชงฆ์
๔ พระพันตา เปนชื่อพระอินทร์ ท่านองค์นี้มีเรื่องว่าไปเปนชู้กับเมียฤษี ฤษีจับได้สาปให้พระอินทร์เปนรอยไปทั้งตัว พระอินทร์อ้อนวอนจนฤษีใจอ่อน ก็บันเทาคำสาปเปลี่ยนให้เปนมีตาเต็มตัว พระอินทร์จึงได้ชื่อว่าสหัสนัยน์ คือ พระพันตา รูปพระอินทร์มักจะเขียนเปนรอยจุดไปทั้งตัว
๕ วามะ คำนี้แปลว่างาม ในอภิธานัป์ปทีปิกาคาถา ๖๙๔ ศัพท์นี้มาในหมู่ศัพท์ที่แปลว่างาม ว่าดีนัก ว่าเปนที่ชอบใจ
๖ กมุทบดี แปลว่า ฝัวแห่งดอกบัว เปนชื่อพระจันทร์ ดอกบัวกล่าวว่าเปนเมียพระจันทร์ เมื่อบานกลางคืนก็แปลว่า บานให้พระจันทร์ชม
๗ อนงค์ คำนี้แปลว่าไม่มีตัว เปนชื่อกามเทพ เทวดาองค์นี้ถือธนูแลศรทำด้วยดอกไม้ เมื่อแผลงถูกใครก็ทำให้เกิดกำหนัดในทางกาม ครั้งหนึ่งแผลงศรไปถูกพระอิศวรเมื่อทรงทำตบะอยู่ พระอิศวรกริ้วจึงเผากามเทพด้วยตาไฟ กามเทพไหม้เปนจุณไป จึงได้ชื่อว่าอนังคะ คือไม่มีตัว กามเทพนี้เปนเทวดาผู้ชายซึ่งงามนัก จึงถูกเอามาเปรียบอยู่เสมอ ถ้าจะชมผู้ชายว่าสวยมักว่างามเหมือนกามเทพ ดังซึ่งเอาอย่างมาใช้ในคำฉันท์นี้ว่าพระนลงามเหมือน อนงค์ หมายความว่างามเหมือนกามเทพ
๘ แล ๙ พายุพา คำว่า พายุพา ซึ่งหมายเลข ๘ แล ๙ ไว้สองแห่งนี้ ด้วยความสทกสท้านเกรงผู้อ่านบางท่านจะไม่ทันเฃ้าใจดังที่ผู้แต่งประสงค์ ถ้าเฃ้าใจแล้วจงให้อภัยเถิด แต่ถ้ายังสงไสยขอจงทราบคำชี้แจงว่า พายุพา ที่หมายเลข ๘ นั้น พา ยุพา คือพานางไป พายุพา ที่หมายเลข ๙ นั้น พายุ พา คือ ลมพา หรือ ลมหอบ
๑๐ นิรชร ปราศจากความแก่ คือ เทวดา

อธิบายศัพท์ในสรรคที่ ๔

๑ พระกาล พระกาลคือพระยม
๒ สุรี คือนางฟ้า
๓ ทุฃากร คำว่าทุกข เขียนทิ้งตัว ก เสียตัวหนึ่ง เหลือเปน ทุข เพื่อจะให้ได้คณะฉันท์นั้น ภาษาบาฬีใช้บ่อยๆ ดังซึ่งชิลเดอร์นำมาอ้างไว้เปนอันมาก ฃ้าพเจ้าคิดไม่เห็นว่าภาษาไทยจะไม่ควรเขียนดังนั้น เพราะรักษาคณะฉันท์ด้วยเหตุไร
๔ โสมะ พระจันทร์
๕ พระกฤตานตะ พระยม

อธิบายคำในสรรคที่ ๕

๑ นรพยัคฆ์ คำว่า เสือคน หรือผู้มีอำนาจในหมู่คน ประหนึ่งเสือมีอำนาจในหมู่สัตว์ เปนคำยกย่องชายผู้กล้าหาญมีกิริยาองอาจ ศัพท์ นร๎วยาฆ๎ร แล นรศาร๎ทูล คือเสือในหมู่คนนี้พบบ่อยๆ แลจะได้ใช้บ่อยๆ ในคำฉันท์นี้
๒ ปริฆ ตระบองเหล็ก
๓ โภควดี ชื่อกรุงในเมืองนาค
๔ ศัสตร ส. สัตถํ ม. แปลว่าอาวุธ ว่าดาบ แลบางแห่งแปลว่าศรก็มี ดังจะได้ใช้ในพระนลคำฉันท์นี้
๕ สุรานิมิษ เทวดาผู้ไม่กระพริบตา การไม่กระพริบตาเปนลักษณะหนึ่งของเทวดา ลักษณะอื่นๆ คือตีนไม่ถึงดินหนึ่ง เหื่อไม่มีหนึ่ง ไม่มีเงาหนึ่ง ทรงมาไลยปราศธุรีหนึ่ง ดังจะกล่าวต่อไปในสรรคที่ ๕ นี้
๖ อนุราค ศัพท์นี้ใช้ในพระนลฉบับสํสกฤตในที่ตรงนี้แปลว่า รักมั่น รักจริง Affection; love; ardent attachment (Voc. Nal.)
๗ สุรภิ แปลว่าหอม แลแปลว่าเปนที่พึงใจ ว่าดี ว่ามีชื่อเสียงดีก็ได้ ทั้งเปนชื่อต้นไม้ดอกไม้ก็ได้
๘ ประสิทธิ์พร พรซึ่งพระอินทร์ประทานแก่พระนล ๒ พรนั้น ในคำฉันท์นี้แปลไว้ว่าพรที่ ๑ ให้เห็นเทวดาในขณะที่เทวดามาในที่กระทำพิธียัญ พรที่ ๒ ว่าให้เดิรงาม, แต่ผู้แปลบางคนหาแปลพรที่ ๒ เช่นนั้นไม่ แปลไปเสียในความว่าให้ไปสวรรค์เมื่อสิ้นอายุในโลกนี้ ตามที่แปลว่าให้เดิรงามนั้น เปนคำแปลของ มอเนียร์ วิลเลียมซ์ ซึ่งน่าจะเห็นว่าถูก เพราะสมกับความในสรรคที่ ๒๓ ซึ่งกล่าวว่าเมื่อพระนลเดิรไปถึงประตูเตี้ยซึ่งคนธรรมดาจะต้องก้มลงมุด พระนลไม่ต้องก้ม ประตูยืดขึ้นให้เดิรไปสบายๆ ครั้นพ้นไปแล้วประตูจึ่งหดลงตามเดิม
๙ หุตาศะ แปลว่า ผู้กินเครื่องเส้นอันไหม้แล้ว เปนชื่อพระเพลิง
๑๐ สุขุมธรรม เพราะพระกาลเปนธรรมราชา จึ่งให้พรเช่นนั้น
๑๑ ศักระ พระอินทร์
๑๒ ศจิบดี แปลว่าผัวนางศจิ นางศจิคือมเหษีพระอินทร์
๑๓ พระนาหุษ แปลว่า เผ่าพระนหุษ ในที่นี้คือพระยยาติ พระราชาองค์ที่ ๕ ในจันทรวงศ์
๑๔ อินทรเสนา แล อินทรเสน ๒ องค์นี้เปนลูกแฝดจึ่งได้ชื่อเหมือนกัน ผู้แปลบางคนแปลคำมิถุนว่าลูกแฝด บางคนว่าเปนพรเทวดาให้องค์ละ ๒ พร

อธิบายคำในสรรค์ที่ ๖

๑ กลิ คำนี้เปนชื่อเทวดาประจำยุคที่ ๔ คือกลียุค ในพระนลคำฉันท์เรียกท่านผู้นี้ว่า กลิ ตามเสียงเดิมบ้าง เรียกกลีตามเสียงไทยบ้าง แล้วแต่สดวกแก่คณะฉันท์
๒ ทวาปร คำนี้เปนชื่อเทวดาประจำยุคที่ ๓ คือ ทวาปรยุค
๓ ไวทรรภี แปลว่า นางแห่งเมืองวิทรรภ์ คือ นางทัมะยันตี
๔ ริศยา คำนี้แปลว่า อิดฉา เห็นจะเปนคำไทยแผลงจากสํนกฤต อีร๎ษ๎ยา
๕ ภัสดา คำภัสดาที่ใช้ในที่นี้แลในที่อื่นๆ ในพระนลคำฉันท์นั้น น่าจะเห็นว่าเปนศัพท์ไทยแผลงแปลว่าผัว ดังซึ่งใช้กันเปนอันมากในหนังสือไทย ส่วนภาษาบาฬีนั้น ภัตตากับภัสตาเปนคำต่างความกัน (ดู ภัสตา ในอภิธาน ช. ๕๒๖ แล ชิลเดอร์.)
๖ ภูปะ ผู้รักษาแผ่นดิน คือพระราชา
๗ อาข๎ยานะ คำนี้แปลว่านิทาน ในที่นี้หมายความว่าคำภีร์ปุราณะต่างๆ ในฉบับเดิมเรื่องพระนลใช้ศัพท์ว่า อาข๎ยานปัญ๎จมาน (มีนิทานเปนที่ห้า) หมายความว่ารู้พระเวททั้ง ๔ แล ปุราณะ อีก ๑ รวมเปน ๕
๘ อักขะ ม. อักษะ ส. แปลว่า สกา

อธิบายคำในสรรคที่ ๗

๑ มีวร คำนี้มีความว่า มีปกติส่อเสียด หรือยังการก้าวร้าวให้บังเกิด หรือก่อการวิวาทระหว่างผู้อื่น ซึ่งคำอังกฤษใช้ว่า Mischievous แลทั้งแปลว่าเปนภัย ว่ามักทำร้ายก็ได้
๒ สันธยา สันธยานี้ คือการไหว้พระสวดมนต์ในเวลาเย็น หรือเวลาที่วันกับคืนต่อกัน ผู้จะกระทำกิจนี้ต้องชำระตัวให้สอาด มิฉนั้นเกิดโทษ. ในวันที่จะเกิดเหตุนั้น พระนลถ่ายมูตรแล้วมิได้ล้างบาทเสียก่อนตรงไปเฃ้าที่สนธยาทีเดียว จึงเปนโอกาสให้กลีเฃ้าสิงได้
๓ เทวนา สกา
๔ ศฤงคาร คำนี้ไม่ใช่แปลว่าไอสูรย์สมบัติของพระราชา เว้นแต่จะขีดคั่นเพียงว่า เปนความมั่งคั่งในทางบำรุงกามของพระมหากษัตริย์ ศัพท์นี้ แปลว่าความรักในเชิงกาม, แปลว่าความกำหนัด; แปลว่า “เฃ้าห้อง,” ว่าร่วมรส, ว่า “อัศจรรย์,” แลแปลว่าเครื่องแต่งกายควรแก่การร่วมรสก็ได้. คำอธิบายสํสกฤตมีเปนคาถาว่า
ปุํสะ ส๎ต๎ริยำ ส๎ต๎ริยาะ ปุํสิ สํโภคํ ป๎รติ ยา ส๎ปฤหา ส ศ๎ฤํคาร อิติ ข๎ยาตะ ก๎รีฑารัต๎ยาทิการกะ
ศฤงคารนี้มี ๒ ประเภท เรียกว่า สํโภค ศ๎ฤํคาร คือกามในขณะที่หญิงกับชายอยู่ด้วยกันประเภทหนั่ง วิป๎รลํภศ๎ฤํคาร คือความใคร่ในเวลาที่หญิงกับชายอยู่ห่างกันประเภทหนึ่ง
ส่วนภาษาบาฬีนั้น สิงคาโร แปลตามอภิธาน ช. ว่าความรักประเภทแห่งสิงคารนั้น เรียกกว่า สัมโภคสิงคาร แลวิโยคสิงคาร ความเหมือนที่กล่าวมาแล้ว (ดู อภิธาน ช. ๑๐๒ แล ๑๐๔)
ตัวอย่างความที่ใช้ศัพท์ศฤงคารมีคือ ศฤงคารเจษฎา แปลว่ากิริยาที่เกี้ยวแลชักชวนในเชิงกาม ศฤงคารภาษิตแปลว่าพูดเรื่องรัก. ศฤงคารโยนิ ชื่อกามเทพ. ศฤงคารรส รสแห่งกามคุณ. ศฤงคารวิธิ เครื่องแต่งกายควรแก่การร่วมรส เปนต้น.
๕ อักขะเทวี ชายผู้เล่นสกา นักเลงพนัน
๖ ทีนาระ แปลว่าเงินตรา ว่าเหรียญทองคำ เครื่องประดับทำด้วยทองคำ
๗ สูตะ แปลว่าสารถี เปนตำแหน่งสำคัญในราชการ เพราะเปนคนสนิทของพระราชา เมื่อพระราชาเสด็จออกรบก็เสมอไว้พระชนม์ในมือสารถี เพราะถ้าสารถีขับรถไม่ดีก็มักเสียทีแก่ฃ้าศึก อนึ่งในเวลาพระราชาทรงรถไปรบนั้น สารถีเปนที่ปฤกษาในทางยุทธ จึงเปนคนสนิทมาก
๘ รามา แล วามา สองศัพท์นี้แปลว่านางงาม (อภิธานรัตนมาลาของหลายุธ ตอนที่ ๒ คาถาที่ ๓๒๖)
๙ เทวศ คำนี้หน้าตาเหมือน สํสกฤต. จะเปนศัพท์ เท๎วษ ซึ่งแปลว่าเปนอริ ว่าเกลียด ว่าเคืองแค้น เสียดอกกระมัง. คำของเราซึ่งสกด ศ นั้นใช้มาแต่โบราณแปลว่าคร่ำครวญ ว่ารำพันถึง. มีที่ใช้มาก ถ้าเอาไปเปนสํสกฤตเสียก็น่าเสียดาย.

อธิบายคำในสรรคที่ ๘

๑ นรี แปลว่า หญิง
๒ ธาตรี แปลว่า นางนม
๓ วาร์ษเณย์ นี้เปนชื่อสารถีของพระนล ตัวเดิมเปน วาร๎ษ๎เณ๎ย แต่อ่านยากนักจึงการันต์ตัว ร แล ย ให้อ่านว่า วาษะเณในที่นี้. บางแห่งต่อไปฃ้างน่า จะต้องขอปลดการันต์บ้าง พอสดวกแก่คณะฉันท์
๔ ภูภฤต แปลว่าผู้เลี้ยงแผ่นดิน คือพระราชา
๕ กุณฑิน ชื่อกรุงแห่งเมืองวิทรรภ์ เปนที่อยู่ของพระภีมะ พระบิดานางทัมะยันตี

อธิบายคำในสรรคที่ ๙

๑ ไอสูรย์ คำนี้เปนคำไพเราะของเราอีกคำหนึ่ง ได้ยินว่าแผลงมาจาก อิสสริยํ หรือ ไอศวรรย์ สํสกฤตเขียน ไอศ๎วร๎ย ท่วงทีไทยเราจะแผลงเอา ว มาเปน อุ ดอกกระมัง วิธีเอา ว เปน อุ แลเอา อุ เปน ว นี้ เรารักนัก บางทีเพลินไปเลยเอาทั้ง อุ ทั้ง ก็มี เช่น สุวคนธ์ ใช้แทนสุคนธ์ เปนต้น, ถ้าจะเอา ว เปน อุ หรือ อู เช่นนี้ ไอสูรย์ควรจะเขียนไอศูรย์กระมัง.
๒ อัมพร ในที่นี้แปลว่าเสื้อผ้า ศัพท์นี้คำเดียวกับที่แปลว่าฟ้า ใช้ปะปนกันไปดังตัวอย่าง อัม๎พรค แปลว่าเหาะ อัม๎พรท แปลว่า ฟ่าย อัม๎พรยุค แปลว่า ผ้าคู่ (อันเปนเครื่องแต่งตัวหญิง) อัม๎พรไศละ แปลว่า เขาสูงถึงฟ้า อัม๎พรสถลี แปลว่า แผ่นดิน อัม๎พรานตะ แปลว่า ชายผ้าก็ได้ แปลว่าขอบฟ้าก็ได้
๓ เกาศิก แปลว่า ไหม
๔ สุพรตา (สุว๎รตา) แปลว่านางผู้ทรงพรตอันงาม อธิบายว่าภรรยาผู้ถือสัตย์ซื่อตรงต่อสามี
๕ ปตัตรี แปลว่า นก
๖ ทวิช แปลว่าเกิด ๒ ครั้ง ในที่นี้แปลว่านก ซึ่งเกิดเมื่อคลอดเปนไข่ครั้งหนึ่ง เมื่อออกจากไข่ครั้งหนึ่ง
๗ พาชี แปลว่า สัตว์มีปีกคือนก ถ้าจะดูศัพท์วาชะแปลว่าปีก จงดูอภิธานรัตนมาลาของหลายุธตอนที่ ๒ คาถาที่ ๘๔ หรืออภิธานสํสกฤตเล่มไหนๆ ก็ได้ อนึ่งพาชีแปลว่าม้าก็ได้เหมือนกัน
๘ วสน ส. วสนํ ม แปลว่าผ้า ว่าเสื้อผ้า (อภิธาน ช ๒๙๐)
๙ ทิคัมพร แปลว่า นุ่งทิศ หรือ นุ่งฟ้า คือเปลือยกาย ถ้าจะสอบภาษาบาฬี ดู ชิลเดอร์ แล อภิธานนัปปทีปิกาฉบับสิงหลคาถาที่ ๔๔๐ ภาษาสํสกฤตดูอภิธานของอาจารย์มอเนียวิลเลียมซ์ ใต้ศัพท์ “ทิศ” หมายเลข ๒
๑๐ ศกุนต แปลว่านก ศัพท์นกนี้พึงสังเกตุที่เสียงคล้ายกัน แต่สกดตัวต่างกัน คือ ศกุนต, สกุน ศกุนิ ใช้ในฉันท์นี้ทั้ง ๓ อย่าง ตามสดวกแก่การแต่งฉันท์ แลเพื่อไม่ให้ซ้ำกันในที่ใกล้ ๆ
๑๑ ไวทรภี คำเดียวกับไวทรรภี แปลว่านางแห่งเมืองวิทรรภ์ ในที่นี้ทิ้ง ร. เสียตัวหนึ่งเพื่อจะให้ได้ลหุ แลใกล้เสียงเดิมมากกว่าเขียนสอง ร เพราะเสียงเดิมเปน ไวทร๎ภี
๑๒ มหีธร คำนี้แปลว่าภูเขา ภูธรก็เหมือนกัน แต่ไทยเราใช้แปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน เห็นจะเปนด้วยมหิธรเปนชื่อพระนารายน์ แลสมมตว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนนารายน์อวตารกระมัง ในพระนลคำฉันท์ใช้ศัพท์นี้ทั้งสองความ คือบางแห่งใช้ในที่แปลว่าภูเขา บางแห่งใช้ในที่แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินดังซึ่งผู้อ่านอาจสังเกตุได้
๑๓ นทีรยะ แปลว่ากระแสน้ำ
๑๔ วรยิตา แปลว่า ผัว
๑๕ มหีกษิต แปลว่าพระเจ้าแผ่นดิน
๑๖ วิวัสตร ไม่มีผ้านุ่งห่ม เปลือยกาย
๑๗ ยาจนก คำเดียวกับ ยาจก
๑๘ วนัช ศัพท์นี้แปลว่าช้างก็ได้ แปลว่าสัตว์ป่าอื่นๆ ก็ได้
๑๙ ไภษช แปลว่า ยา
๒๐ ภิษช แปลว่า หมอ (แต่แปลว่ายาก็ได้เหมือนกัน)
๒๑ สุมัธยมา แปลว่า นางผู้มีส่วนกลางอันงาม คือนางเอวบาง
๒๒ สหจรี แปลว่าเมีย (อภิธาน ห. ๒. ๓๓๙)
๒๓ หฤทเยศ แปลว่าผัว

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๐

๑ ปุร ศัพท์ ปุร ที่หมายเลข ๑ สองแห่งนี้แปลว่าเมือง
๒ ปุร ศัพท์ ปุร ที่หมายเลย ๒ แปลว่ากายว่าตัว (อภิธาน ห. ๒. ๓๕๕) เพราะกายเปนเมืองหรือที่มั่นของบุรุษ Considered as the Stronghold of the Purusha (M. W.)
๓ สภา ศัพท์นี้ในที่นี้แปลว่าทับหรือกระท่อม หรือที่พักคนเดิรทาง ในเรื่องพระนลฉบับเดิมก็ใช้ศัพท์สภาในที่นี้
๔ สตี แปลว่าหญิงผู้มีสัตย์ต่อผัว (ศัพท์นี้ในเวลาปรัตยุบัน มักใช้เรียกหญิงหม้ายที่เผาตัวในกองไฟที่เผาศพผัว)
๕ กวจี ห่มเกราะ
๖ มีวร ดูคำแปลศัพท์นี้ ในคำอธิบายสรรคที่ ๗
๗ กษุรี มีด
๘ ฉุริกา มีด
๙ ศยนีย์ ที่นอน
๑๐ อศวิน เทวดาแฝด ขึ้นชื่อมาแต่ในฤคเวท ไม่ใช่เทวดาที่เกิดในหนังสือรุ่นหลังๆ ในฤคเวทนั้นนอกจากพระอินทร์พระอคนี แล พระโสมะแล้ว เทวดาที่ขึ้นชื่อบ่อยกว่าพระอัศวินเปนไม่มี เธอเปนหมอ เปนเทวดาที่นำมาซึ่งแสงสว่าง แลเปนที่นับถือมาก ในฤคเวทคำภีร์เดียว ออกชื่อพระอัศวินถึง ๔๐๐ ครั้ง
๑๑ รุท๎ระ ท่านองค์นี้ก็เทวดาในฤคเวทอีกองค์หนึ่ง หนังสือรุ่นหลังๆ มอบชื่อรุทระ ถวายพระอิศวร กล่าวว่ารุทระนั้น คือพระอิศวร ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะฤคเวทไม่ออกนามพระอิศวรเลย
๑๒ วสุ เทวาอีกเหล่าหนึ่งซึ่งออกนามในพระเวทเหมือนกัน

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๑

๑ มันยุ ความเศร้า ความเสียใจ
๒ อนลกูณฑ์ อนลคือไฟ กูณฑ์ (กุณ๎ฑ) แปลว่าหลุม รวมกันแปลว่าหลุมไฟ
๓ หา หา คำนี้เปนนิบาตบอกอัตถะคือทุกข์ อย่างที่ภาษาไทยเราใช้คำว่าโอ้, โอ้ โอ๋ แลคำเช่นนี้ ในฉบับเดิมเรื่องพระนลก็ใช้คำนี้เปนคำที่นางทัมะยันตีร่ำร้องในเวลาที่พระนลไปจาก
๔ กุรรี แปลว่านางนกกรุระ ซึ่งมอเนียร์วิลเลียมซ์แลสุภูติ แลชิลเดอร์แปลเปนอังกฤษว่า Osprey ชื่อลาติน Pandion Haliaëtus หนังสือ ชื่อ The Fauna of British India (Published under the authority of the Secretary of State for India in Council) กล่าวว่านก Osprey นี้ ตัวเมียยาว ๒๒ นิ้วหางยาว ๙ นิ้ว ปีก ๒๐ นิ้ว ตัวผู้เล็กกว่าไม่มาก เปนนกกินปลา คนมักจะได้เห็นเกาะอยู่บนต้นไม้ บางทีบนก้อนหิน มิฉนั้นบินวนเวียนอยู่เหนือน้ำ เมื่อเห็นปลาขึ้นมาใกล้หลังน้ำก็เฉี่ยวเอาไปเปนอาหาร ปลาตัวเขื่องๆ ก็เฉี่ยวไปเช่นนี้ได้ แต่บางทีปลาโตเกินกำลังนก ๆ ปลดเล็บไม่ได้ปลาพาจมน้ำตายก็มี ตามที่อธิบายนี้ถ้านกกุรระคือ Osprey, นกกุรระก็เปนเหยี่ยวชนิดหนึ่ง
๕ อชคร งูใหญ่ซึ่งอาจกลืนแพะได้ คืองูเหลือม
๖ ศานติ ส. สันติ ม แปลว่าระงับ (อภิธาน ช. ๗๕๗) จงสังเกตุว่าศัพท์นี้ความไม่เหมือน “ศรานติ” อันจะแปลไว้ข้างน่าในสรรคนี้
๗ คราหะ งู
๘ ประวาสิน (๑) ไปจากบ้านของตน (หิโตปเทศ. ๑. ๑๓๘) (๒) ผู้เดิรทาง (ฤตุสัม๎หาร ๖. ๒๘)
๙ กษุธา ความหิว
๑๐ ศรานติ์ (ส. ศ๎รานติ ม. สันโต) แปลว่าอ่อนเปลี้ย ว่าลำบาก ว่าเหน็ดเหนื่อย (อภิธาน ช ๘๔๑)
๑๑ วยาธ พราน
๑๒ ศัสตร ศัพท์นี้ในที่นี้แปลว่าศร ตามคำแปลของมอเนียร์วิลเลี่ยมซ์ ในคำแปลเรื่องพระนลจากฉบับสํสกฤต
๑๓ ภาวินี คำนี้ฝรั่งแปลว่าเลดี้ ภาษาไทยจะต้องแปลว่านางมีเกียรติ์ดอกกระมัง
๑๔ เทมอ ภาษาเขมรแปลว่าพรานป่า แลป่าจริงๆ คือไม่เคยเห็นบ้านเห็นเมืองเลย
๑๕ สานล แปลว่ามีไฟ (อยู่ภายใน)
๑๖ สบถ สาป

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๒

๑ วิชนวัน ป่าไม่มีคน ป่าเปลี่ยว
๒ วาฬมิคค์ เนื้อร้าย คือเสือโคร่งเปนต้น
๓ มฤคาริ สัตว์เปนอริแก่เนื้อ คือเสือ
(หมายเหตุ: ชื่อสัตว์แลชื่อต้นไม้ในตอนต้นแห่งสรรคนี้ หาได้แปลไว้ไม่ เพราะรู้ไม่ใคร่แน่)
๔ วนจร แปลว่า ชาวป่า สัตว์ป่า
๕ ดัสกร คำนี้สํสกฤติเปน ตัส๎กร บาฬีเปนตัก์กโร แปลว่าโจร ว่าโขมย (อภิธาน ช ๕๒๒)
๖ อนิล แปลว่า ลม ว่าพระพาย อนิลโบยแปลว่าพระพายเฆี่ยน บุร แปลว่ากายดังได้แปลไว้ครั้งหนึ่งแล้ว
๗ ไศล คำนี้เปนคำสํสกฤตอ่านว่า ไศละ ไม่ใช่ ศะไหล
๘ อังคะ อังคะ หรือ เวทางคะ นั้นคือ
ศิก๎ษา กัล๎โป ว๎ยากรณํ
นิรุก๎ตํ ฉัน๎โท โช๎ยติษํ
คือ ศึกษา ซึ่งในที่นี้แปลว่าสำเนียงอ่านแลพูด ๑ กัลปะ คือวิธีการทำบูชายัญ ๑ ไวยากรณ์ ๑ นิรุกตะ สำแดงคำแปลศัพท์ต่างๆ คือศัพท์ในพระเวทเปนต้น ๑ โชติคือตำราดาว ๑
๙ อุปางค์ อุปางคะมีสี่. “ปุราณน๎ยายมีมำสาธร๎มศาสต๎ราณิ” คือปุราณะเรื่องโบราณ ๑ นยายะ คือวิธีกล่าวข้อความให้เห็นชัด ๑ ธรรมศาสตร คือกฎหมาย ๑ มีมำสา ๑
มีมำสานั้นมี ๒ คัมภีร์ คำภีร์หนึ่งชื่อ ปูร๎วมีมำสา หรือ กร๎มมีมำสา กล่าววิธีทำบุญตามที่บัญญัติไว้ในพระเวท แลแสดงว่าเมื่อทำแล้วจะได้บุญอย่างไร อีกคำภีร์หนึ่งชื่ออุต๎ตรมีมำสา หรือ พ๎รห๎มมีมำสา กล่าวเรื่องพระพรหม
๑๐ ศัตรุฆน ชายผู้ทำลายศัตรู
๑๑ อรัณยช สัตว์เกิดในป่า
๑๒ วนราช เจ้าป่า คือเสือ
๑๓ ประติภาษ (ป๎รติภาษ) ตรัสตอบ
๑๔ วิวรรณ แปลว่า ไม่มีวรรณ ว่าเผือด
๑๕ จิตรกาย แปลว่า เสือ ซึ่งเปนสัตว์มีลายงาม
๑๖ มฤคาท ผู้กัดกินสัตว์ คือเสือ
๑๗ ศวาบท สัตว์กินสัตว์อื่นเปนอาหาร
๑๘ อริกรรษณ์ ชายผู้ทำศัตรูให้เดือดร้อน ให้เชื่อง
๑๙ อุบล ศัพท์นี้แปลว่าหิน
๒๐ ธรณิธร แปลว่าภูเขา ดังได้กล่าวครั้งหนึ่งแล้ว
๒๑ วีระเสนะสุนิสา ลูกสะไภ้ท้าววีรเสน ท้าววีรเสนคือบิดาพระนล
๒๒ จาตุรวรรณ ชนสี่เหล่า คือ พราหมณ์; กษัตริย์; ไวศยะ; สูทร
๒๓ สสุร พ่อผัว หรือ พ่อตา
๒๔ ศตรุหัน แปลว่า ผู้ทำลายศัตรู
๒๕ ศยามนล พระนลนี้กล่าวว่าเปนคนสีเนื้อดำแดง
๒๖ อจล แปลว่า เฃา
๒๗ พรหมฤษิ พระพรหมฤษี (พ๎รห๎มร๎ษิ) นี้เปนพวกฤษีทั้งเจ็ด หรือประชาบดีอันเกิดแต่พระพรหมา พระวศิษฐ์ (วศิษ๎ฐ) แลพระอะตริ (อต๎ริ) นั้น คำภีร์ทั้งหลายกล่าวเหมือนกันหมดว่าเปนพวกฤษี ๗ องค์นี้. ส่วนพระภฤคุ (ภ๎ฤคุ) นั้นหนังสือวายุปุราณะกล่าวว่าเปนพรหมฤษีประชาบดีเหมือนกัน แลระบุชื่อฤษี ๘ องค์แต่กล่าวว่ามีเจ็ด ส่วน วิษณุปุราณะกล่าวว่าพรหมฤษีมี ๙ รวมทั้งพระภฤคุ แลเติมพระทักษะอีกองค์หนึ่ง
๒๘ ตปัสวิน แปลว่าผู้ทำตบะอย่างเรี่ยวแรง
๒๙ ศาฃามฤค ศัพท์นี้แปลว่าลิง
๓๐ สวาคต แปลว่า มาดี เปนคำเชื้อเชิญแขกที่มาเยือน
๓๑ นาทยะสุรี นางฟ้า(สุรี) ผู้เปนเจ้าแห่งแม่น้ำ (นที)
๓๒ สัตยสันธ แปลว่ามั่นในคำสัญญา
๓๓ อริหัน ผู้ฆ่าศัตรู
๓๔ ปรปุรัญชยะ ผู้ชำนะตีได้เมืองของศัตรู
๓๕ วีตะโศก ต้นอโศกบางทีก็เรียกชื่ออย่างนี้
๓๖ คณิ ระมั่ง หรือ กวาง (อภิธาน ช ๖๑๒)
๓๗ เกราญ๎จ ส โกญ์โจ ม. นกกระเรียน
๓๘ จักรวาก ส จัก์กวาโก ม นกจากพราก เปนห่านหรือเป็ดชนิดหนึ่ง อังกฤษเรียก Brahminy duck บ้างเรียก Ruddy goose บ้าง ชื่อลาติน Anas Casarea.
๓๙ สาร๎ถ ส. สัต์โถ ม หมู่เกวียน
๔๐ ศรัณ๎ยะ สิ่งหรือคนผู้คุ้มภัย
๔๑ ศรายะ ความคุ้มครอง
๔๒ สาร๎ถวาหะ ผู้นำหมู่เกวียน
๔๓ มณิภัทร์ ท่านผู้นี้เปนนายยักษ์ รองท้าวกุเวร เปนยักษ์ใจดี แลเปนที่พึ่งของคนเดิรทาง

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๓

๑ สารถิก (ส สาร๎ถิก) แปลว่า พ่อค้า ว่าผู้ค้าขาย
๒ กลืน คำที่เราใช้ว่าดื่มในเวลานี้ ภาษาไทยเก่าคือภาษาอาหมใช้ว่ากลืน. ดื่มน้ำใช้ว่ากลืนน้ำ กินเฃ้าใช้ว่ากินเฃ้าเหมือนกับเราเดี๋ยวนี้
๓ ชเลชาต บัว
๔ บรรดาคำที่หมายเลย ๔ ในสรรคนี้ เปนชื่อพลอย ๙ อย่าง (นพรัตน) ในเรื่องพระนลฉบับสํสกฤตไม่มีพลอยเก้าอย่างตรงนี้หรือตรงไหน ผู้แต่งพระนลคำฉันท์กล่าวถึงพลอยขึ้นแล้วก็แต่งเพลินไป จนได้ออกชื่อพลอยหลายอย่างแล้วจึงเลยเติมเสียให้ครบ ๙ พลอยเก้าอย่างนั้นมีคาถาดังนี้
มุก๎ตา มาณิก๎ย ไวทูร๎ย โคเมทา วัช๎รวิท๎รุเมา
ปัท๎มราโค มรกตํ นีลัศ๎เจติ ยถาก๎รมํ
ซึ่งสอบค้นในที่ต่าง ๆ ได้ความดังนี้
มุกตา แก้วมุกดา หรือไข่มุก (ซึ่งบางคนเขียนว่า ไข่มุกด์)
มาณิกย คำนี้มักจะแปลว่า ทับทิม แต่ในที่นี้จะเห็นจะเปนพลอยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีเรียก ปิตาศ๎มา หรือ บุษ๎ปราค ฝรั่งเรียก Topaz ไทยเรียก บุษราคัม
ไวทูร๎ย หรือวิทูรช์ ไทยเรียกว่าไพทูรช์อังกฤษเรียก Lapiz Lazuli
โคเมท พลอยอย่างนี้ฝรั่งไม่รู้จัก ไม่มีชื่ออังกฤษ แต่กล่าวว่ามี ๔ อย่างคือสีขาว; เหลืองอ่อน; แดง; แลสีน้ำเงินแก่ พลอยชนิดนี้ไทยเราเรียกโกเมน ถามช่างทองได้ความว่าใช้พลอยที่อังกฤษเรียก Garnet หรือ Almandite Garnet
วัช๎ร คือเพ็ชร์
วิท๎รุม หรือ ป๎รพาล เราเรียกประพาล อังกฤษเรียก Coral
ปัท๎มราค แปลว่า สี (แดง) เหมือนดอกบัว คือทับทิม
มรกต มรกต
นีล นิล
พลอย ๙ อย่างสอบได้ความดังนี้ จึงนำมากล่าวไว้พอเปนเค้า ท่านที่สอบสวนได้ถ่องแท้กว่านี้ก็ควรกล่าวแก้ไขต่อไป เพราะพลอย ๙ อย่างนี้เราถือว่าเปนของมีมงคลแลเปนของสำคัญอยู่
การที่นับถือพลอย ๙ อย่างนั้น ได้เคยพบในหนังสือแห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า พลอยทั้ง ๙ นี้สมมตว่าเกี่ยวเนื่องกับดาว ๙ ดวง คือเทวดานพเคราะห์ เหตุเดิมที่นับถือคงจะเปนเช่นนั้น
๕ โชติ คำนี้ตั้งใจให้อ่านว่า โชดติ
๖ วิปปะ แปลว่า พราหมณ์ (ผู้สวดกลอนยอ)
๗ กามวาสิน มีความว่าอยากจะอยู่ไหนก็อยู่ตามใจตน
๘ กระลัมภร คำนี้ได้เห็นคำแปลในหนังสือ ๓ แห่ง คือ
(๑) เห็นในสมุดไทยตัวดินสอฃาวเขียนไว้ว่ากระลัมภรแปลว่า “โกหก” ไม่ชี้แจงอะไรอีก เปนอันไม่ทราบว่าแปลอย่างนั้นเพราะเหตุไร
(๒) หนังสือพจนานุกรม (พิมพ์ครั้งที่ ๑ ศึกษาพิมพการ ร.ศ. ๑๑๐) กล่าวว่าเปนคำมคธแผล แปลว่าโทษใหญ่ ว่าความฉิบหายใหญ ไม่กล่าวว่าแผลงมาจากคำมคธคำไหน
(๓) หนังสือยวนพ่าย ความเรียง ของพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์ (ปาน เปรียญ) กล่าวไว้ว่า
“ข้าอภิวาทพระรัตนไตรแล้ว จะกล่าวความอาทิยุคขุกเร็วเข็ญ
“ยืดยาว คือความวินาศสมบัติพัสถาน ต้องรบร้าฆ่าฟันกันวุ่นวาย
“เรียกว่า กระลีอย่างน้อยหายเร็ว อนึ่งความวิวาศสมบัติพัสถาน
“ต้องรบร้าฆ่าฟันกันวุ่นวาย มากยืดยาวใหญ่เช่นอากาศ เกิดอยู่นาน
“ถึงกาลช้าสิ้นห้าอัพภุท เรียกว่ากระลัมพร วินาศยืดยาวอธิบาย
“ขยายความให้พิศดารว่า ขุกนั้นคือกระลี ความวินาศฉิบหายเร็ว
“เข็ญนั้นคือกระลัมพร ความวินาศหายช้า ยืดยาวใหญ่เช่นอากาศ
“กระลี ท่านลบอีเสีย ยังแต่ ละ นำละ ไปสู่อัมพร บุพพะ ตัวละ
“สระโลปะ นำไปสู่อำ เปนลำพร เปนกระลัมพร บางอาจารย์ว่า
“กระลีความฉิบหายน้อย กระลัมพรความฉิบหายใหญ่เช่นอากาศ
“มีขึ้นในภาคแผ่นปถพี”
ข้าพเจ้าได้ถามผู้ที่มักจะรู้ความแลที่มาแห่งศัพท์ชนิดนี้หลายนายก็ไม่มีใครแสดงความรู้แน่นอน บางท่านเห็นว่าชรอยจะเปน กลีภโร หรือ กล๎ยัม์ภโร แปลว่าบรรทุกเอากลีเฃ้าไว้ ดูความดีกว่าแปลอย่างอื่น แต่รูปศัพท์เลือนนัก แลกัล๎ยนั้นอภิธานสํสกฤตมีความไปอีกอย่างหนึ่ง มิใช่โทษเลย.
รวมความว่าศัพท์นี้เปนศัพท์ที่อัดอั้นตันใจอยู่ศัพท์หนึ่ง ไม่รู้ว่าอะไรแน่ ส่วนตัวอย่างที่เคยเห็นใช้ในหนังสือไทยนั้น มีความดังซึ่งแปลไว้ในพจนานุกรม.
๙ วัตตา ผู้กล่าว ผู้พูด (อภิธาน ช. ๗๓๕)

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๕

๑ พนาธวา คำนี้เขียนด้วย ธ ตั้งใจจะให้แปลว่า ทางในป่า (วน+อธ๎วัน) แต่ในหนังสืออื่นๆ มักเขียนด้วย ท แปลกันว่า วังเวง จะมีที่มาอย่างไรหาทราบไม่ แต่เห็นในอิเหนาคำฉันท์ใช้ว่า “รีบรถทุรัศทาง จรร่วมวนาทนา” น่าจะหมายความว่าไปร่วมทางคือใกล้จะถึง ยิ่งกว่าพูดถึงความวังเวงในป่า อย่างไรก็ตาม ในพระนลคำฉันท์นี้ พนาธวา แปลว่าทางในป่า
๒ อันนสังสการ (อ๎นนส์สการ) การแต่งอาหาร

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๖

๑ วันบุญ ส. ปุณ๎ยาห; ปุณ๎ยทิน. A holy day (holiday)
๒ พระศรี คือพระลักษมี ผู้เปนเจ้าแห่งความงาม
๓ พระรตี นางรตีเปนชายาแห่งกามเทพ
๔ ปัทมี หนองบัว สระบัว
๕ โรหิณี นางโรหิณีเปนเมียพระจันทร์. โรหิณีเปนดาวนักฃัตต์ดวงหนึ่ง

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๗

๑ มารศรี ศัพท์นี้จะแปลว่านางเปนสิริแห่งกามเทพ หรือสิริแห่งความรักจะได้กระมัง เพราะมารเปนชื่อกามเทพ แลแปลว่าความรักก็ได้

อธิบายคำในสรรคที่ ๑๘

๑ ภางคาสุริ นามพระฤตุบรรณ์ แปลว่าเผ่าพงศ์พระภังคาสุระ

อธิบายคำในสรรคที่ ๒๐

๑ เขจร แปลว่านก
๒ จาตุริก สารถี
๓ วิภีตก สมอพิเภก
๔ ตรุอยู่ณะกลางดง กลีเมื่อออกจากกายพระนล แล้วเฃ้าพักอยู่ในต้นสมอพิเภก เหตุนั้นกระมังต้นสมอพิเภกจึงได้ชื่อว่ากลีพฤกษ์ (กลิว๎ฤก๎ษ) อยู่จนบัดนี้
๕ รัศมี บังเหียน

อธิบายคำในสรรคที่ ๒๑

๑ เขจร แปลว่านก (ไปในฟ้า)
๒ อภิคมนะ จวนถึง
๓ ศิขิน นกยูง
๔ พลวาน ทรงกำลัง
๕ วารณะ ช้าง

อธิบายคำในสรรคที่ ๒๒

๑ โกศล กรุงอโยธยาเปนเมืองหลวงในแว่นแคว้นชื่อโกศล

อธิบายคำในสรรคที่ ๒๖

๑ อลิ ผึ้ง
๒ กุว บัว
๓ ศุก นกแก้ว; นกแขกเต้า
๔ เกตก์ Pandanus odoratissimus (M.W.) การเกด; ลำเจียก (อภิธาน ช. ๖๐๔)
๕ เกศร์ หรือ เกสร์ พิกุล (อภิธาน ช ๕๗๒) ศัพท์นี้เปนชื่อต้นไม้อีกหลายอย่าง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ