ไปดูลครโรงดึกดำบรรพ์

เมื่อข้าพเจ้าว่าหน้าเรื่องว่า “ไปดูลคร” ดังนี้ ท่านผู้อ่านผู้ไหนไม่ฟังอีร้าค่าอีรม เชื่อเอาว่าข้าพเจ้าไม่ได้ไปลครไซร้ ท่านผู้นั้นก็เชื่อผิดไปนับโยชน์ เพราะข้าพเจ้าได้ตั้งใจจะไปจริง แลได้ไปจริง หาได้เป็นแต่ตั้งใจจะไปแล้วไปเหลวภายหลังดังไปดูแข่งม้าคราวก่อนไม่

ข้าพเจ้าได้ตั้งใจมากี่ครั้งแล้ว ก็จำไม่ได้ว่า จะไปดูลครให้จริงจัง (คือไม่ไปนั่งหลับตาแลฝันถึงอะไรทั่วโลกนอกจากลคร) เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ไปดูลครมาตั้งแต่ราว ๆ โกนจุก แลถึงเวลานั้น ก็รู้สึกสนุกน้อยเสียแล้ว เมื่อข้าพเจ้าพูดดังนี้ หน่อยผู้อ่านจะเข้าใจเอาว่า เมื่อข้าพเจ้าโกนจุกนั้น มีลครสมโภช เปล่าไม่มีมิได้ เป็นแต่ข้าพเจ้ากับเด็กโกนจุกด้วยกันหลายคนแต่งตัวคล้าย ๆ ลครเท่านั้น

เพื่อนข้าพเจ้ามีคนหนึ่ง พวกเราตั้งชื่อกันว่า “เด็กอ่อน” แต่การที่ตั้งชื่อดังนี้ จะเป็นด้วยเขาเคยเป็นเด็กอ่อนเมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว หรือจะเป็นด้วยต่อไปเขาคงจะมีภรรยามีบุตรเป็นเด็กอ่อน ข้าพเจ้าก็หาทราบแน่ไม่ เมื่อวันพฤหัสเวลาบ่าย ๔ โมงเด็กอ่อนมาที่ออฟฟิศ ข้าพเจ้าถามว่าจะไปดูลครหรือไม่

ข้าพเจ้า “เดี๋ยวนี้ยังไปไม่ได้”

เด็กอ่อน “ใครว่าเดี๋ยวนี้ล่ะ”

ข้าพเจ้า “ก็ทำไม่บอกว่าเมื่อไร แลลครอะไร มีที่ไหน”

เด็กอ่อนชี้แจงว่า ลครจะมีวันเสาร์ที่โรงลครดึกดำบรรพ์ (ซึ่งโปรแกรมอธิบายว่า “อยู่ริมถนนอัษฎางค์ ตรงสวนเจ้าเชตุข้าม)” เขาคิดว่าจะไปดู จึงเลยมาชวนข้าพเจ้า เพราะเคยได้ยินข้าพเจ้าว่าจะไป

ข้าพเจ้าตอบว่า “ฮอระโฉ” แล้วนัดพบกันที่ออฟฟิศ “ลักวิทยา” วันเสาร์เวลา ๒ ทุ่ม

คำว่า “ฮอระโฉ” นั้น เป็นภาษารัสเซียน แปลว่า “ถูกทั้งสิ้น” เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ายังทราบภาษารัสเซียคำเดียว หวังใจว่าอีกสองสามเดือน คงจะจำได้อีกสักคำหนึ่ง ภาษารัสเซียดูอาการเห็นจะจำยากกว่าภาษาเยอรมัน เพราะภาษาเยอรมันนั้น แต่เพียงดื่มน้ำให้แรงๆ ดัง อ้ก อ้ก ก็แปลว่า แปดเสียแล้ว

วันเสาร์เวลา ๒ ทุ่ม เด็กอ่อนกับข้าพเจ้าก็ไปพบกันที่ออฟฟิศลักวิทยาตามนัด (เด็กอ่อนเป็นเด็กดีมากในการที่ไม่ทำให้ใครคอย) สักครู่หนึ่งก็พากันไปถึงโรงลคร เป็นเวลาที่ประตูโรงเปิดแล้ว แต่ยังหาได้โหมโรงไม่ ‘โหมโรง’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ตีกลองตูม ๆ ต้อม ๆ อยู่ครึ่งชั่วโมง เพราะวิธีโหมโรงเช่นนั้นเลิกเสียแล้ว เป็นที่ยินดีแก่คนดูมาก แต่ยังคงเป็นที่ยินดีแก่พวกพิณพาทย์มากกว่านั้น

โรงลครนี้ทำตามแบบโรงลครฝรั่ง แต่วิธีจัดที่นั่งสำหรับคนดูหาเหมือนกับที่ยุโรปไม่ เพราะมีบอกซ์แทนที่ เรียก “เคร็สเซอต็ลส์” เสียหมด แลที่เป็นดังนั้น ก็ควรแล้ว เพราะคนดูของเราชอบอยู่กันเป็นพวก ๆ รังเกียจที่จะเที่ยวนั่งปะปนกับพวกอื่น ๆ โรงลครโรงนี้ถึงไม่ดีเหมือนโรงลครที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นมาในยุโรปก็จริง แต่ก็หาที่ติยาก เพราะต้องคิดว่า เป็นความพยายามครั้งแรกที่จะทำโรงลครในกรุงเทพ ฯ ให้เหมือนโรงลครตามประเทศทิศตะวันตก

เอติเก็ตต์ คือ ความรักษากิริยานั้น ยังไม่รู้เรียบร้อยทีเดียว แต่นั่นเป็นหน้าที่ของคนดูที่จะต้องรักษา ยากที่เจ้าของโรงจะจัดได้ ธรรมเนียมที่ยุโรปเขาไม่สูบบุหรี่ในโรงลคร (นี่ไม่ได้พูดถึงพวกคนดูที่เสียเงินน้อย) ถ้าจะพูดก็ต้องกระซิบเพื่อไม่ให้กลบเสียงลคร แลอื่น ๆ อีกหลายข้อ เรื่องสูบบุหรี่นั้น ถ้าเจ้าของโรงเห็นควรห้าม ก็คงพอห้ามได้ (ในข้อนี้ความเห็นก็ย่อมต่างกัน) แต่ข้ออื่น ๆ นั้น ข้าพเจ้าเองก็ยังแลไม่เห็นว่า เจ้าของโรงจะจัดการอย่างไรได้ เพราะฉนั้นก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปดังที่เป็นอยู่ จนกว่าผู้ดูลครจะเรียนรักษากิริยาให้ดีขึ้นโดยตัวเขาเอง

ลครคืนนี้เล่นเรื่องคาวี ซึ่งข้าพเจ้ารับเป็นสัตย์ว่า ไม่ทราบว่าเรื่องราวไปทางไหน แต่เผอิญเคราะห์ดีไปพบกับนักเรียนยุโรป ซึ่งออกไปพร้อมกันเข้าคนหนึ่ง เขาเคยไปดูครั้งหนึ่งแล้ว มีความรู้นับว่าเป็นนักปราชญ์คาวีได้เลย เลยถกเรื่องให้ข้าพเจ้าฟัง ตั้งแต่ยายเฒ่าทัศประศาสเข้าเฝ้านาง จันทรสุดาแต่งอุบายให้คาวีสระสนาน (เข้าใจว่าลงสระสนานในแม่น้ำ หรือไม่อย่างนั้นก็ทะเลสาป เพราะมีเรือม่านทองเข้าไปอยู่ได้) หลวิชัยหลอกเผาท้าวสันนุราชเสียทั้งเป็น ลงท้ายคาวีออกท้องพระโรง

เราเข้าไปนั่งได้ครู่หนึ่ง ก็ได้เสียงยินกระดิ่งหรือนกหวีดอะไรอันหนึ่ง ก็จำไม่ได้เป็นเครื่องหมายให้พิณพาทย์หยุด สักสองสามอึดใจ ก็เปิดม่านฉากที่ ๑ ในโปรแกรมบอกว่า “เฒ่าทัศประศาสเข้าเฝ้านางจันทรสุดาแล้ว แต่งอุบายลวงพระคาวีให้ลงสระสนาน” มีลคร ๒ ตัว (หมายความว่า ๒ คนแต่ภาษาลครเรียกว่า ‘ตัว’) คือ นายโรงตัวหนึ่ง นางเอกตัวหนึ่งนั่งอยู่บนแท่นทองหน้าประตู มีลับแลกั้นอยู่อันหนึ่งตามธรรมเนียม ที่ ๆ นั่งอยู่นั้น ถ้าจะดูตามรูปหลังคาแล้ว ก็เป็นกลางหาว เพราะฉะนั้นคงเป็นเวลาบ่ายจวนเย็น หรือเวลาเช้าก่อนแดดขึ้น “ฉาก” หรือที่อังกฤษเรียกว่า “ซีน” นี้เก่งมาก แต่ข้าพเจ้ายังชอบฉากหลัง ๆ มากกว่า

ตรงนี้นักปราชญ์คาวี คือ นักเรียนยุโรปที่กล่าวมาแล้วนั้น เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เดิมในเมืองนี้มีนกอินทรีมาแสนหนึ่ง อะไรที่จะพึงกินได้ก็กินเสียหมด แต่นางจันทรสุดานั้นรอดได้โดยลงไปขดอยู่ในกลอง ซึ่งพระคาวมานั่งทับภายหลัง แล้วรู้สึกว่ามีของมีชีวิตอยู่ในนั้นด้วย เข็มที่นางจันทร์สุดาใช้ปรุหน้ากลองขึ้นไป จนกระทบตัวพระคาวีเข้า เวลาที่คนทั้ง ๒ นั่งอยู่ด้วยกันบนแท่นทองกลางหาวนี้ เป็นเวลาที่ได้เป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว แต่อยู่ในเมืองนั้นกัน ๒ คนเท่านั้น ดูท่าจะเก่งมาก แลเป็นตามแบบชาวยุโรป เพราะเวลาที่อังกฤษเรียก “น้ำผึ้งพระจันทร์” เช่นนั้น ใคร ๆ ก็ชอบอยู่ที่ ๆ ไม่มีคนอื่นมาใกล้กลาย ยิ่งเมืองร้างด้วยแล้ว ยิ่งเหมาะหนักขึ้น เขาว่ากันว่า คนที่ได้กันใหม่ ๆ เช่นนั้น ไม่เอาธุระสักเท่ากิ่งก้อยว่า ในโลกจะมีมนุษย์อื่นอีกหรือไม่

ลครที่ไม่ต้องมีคนช่วยร้อง ตัวลครต้องร้องของตัวเองอย่างลครโรงดึกดำบรรพ์นี้ เป็นความคิดดีมาก แลตามที่ข้าพเจ้าทราบได้แล้ว ก็เป็นความคิดใหม่ถอดด้ามทีเดียว เพราะถึงลครในยุโรปหรือลครเจ้ากรับ ลครนายเนตรที่ตัวต้องร้องเองนั้น ก็คงมีลูกคู่ด้วยอยู่นั่นเอง แต่ถครโรงดึกดำบรรพ์หามีลูกคู่ไม่ ใครจะเห็นอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเองชอบไม่มีลูกคู่มากกว่า แต่วิธีที่ตัวลครต้องร้องเองเช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่ลครจะต้องร้องดีทุกคน (หมายความว่าทุกตัว) ใช่จะแต่เท่านั้น ยังจะต้องร้องให้ดัง พอจะได้ยินด้วยกันทุก ๆ คนด้วย ลครคืนวันนั้นก็ร้องดังมากอยู่แล้ว แต่คนข้างหลัง ๆ นั้น เชื่อว่าไม่ได้ยินกันหมด หรือจะได้ยินก็คงกระท่อนกระแท่น ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ว่าที่จริง คนดูคงรู้เรื่องอยู่ด้วยกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถึงไม่ได้ยินร้อง ก็ไม่ประหลาดอันใดกระมัง

คาวีแลนางจันทรสุดา ทอาการอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “สปูน” คือ พูดจาหยอกเอินกันอยู่สักครู่หนึ่ง ยายเฒ่าทัศประศาสก็เข้าไปหา กระทำกระแอมนอกฉากเสียก่อนตามเคย

ยายเฒ่าทัศประศาสนี้ แต่แรกข้าพเจ้าตกใจนึกว่ายักษ์ เพราะเห็นมีเขม่าหรือดินหม้อหรืออะไรดำๆ เหนือปาก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า หมายความว่าหนวด แต่นักปราชญ์คาวีเขาบอกว่าไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้มีแต่นกอินทรี จะได้มียักษ์ด้วยนั้นหามิได้ เมื่อเป็นดังนี้ ข้าพเจ้าก็ออกประหลาดใจว่า นี่ไม่ใช่นางยักษ์ทำไมจึงมีหนวด ต่อคิดถึงตัวอย่างผู้หญิงมีหนวด (ซึ่งเราท่านรู้จักกันโดยมาก) ขึ้นได้จึงเป็นอันวางใจ

ยายเฒ่าทัศประศาสแต่งตัวเกือบคล้ายธรรมดาของผู้หญิงในเวลานี้ คือ ใส่เสื้อนุ่งผ้าตามที่ใช้กันทุก ๆ วัน แต่ผ้านุ่งนั้นนุ่งจีบใช้สมปัก ขัดเป็นมัน ค่อนข้างจะแข็งไปเล็กน้อย เด็กอ่อนออกความเห็นว่า ถ้าอ่อนลงอีกสักหน่อยเห็นจะดีกว่า นักปราชญ์คาวีก็ดูเหมือนเห็นด้วย

เวลาที่คาวีกับนางจันทรสุดาลุกเข้าโรงไปครู่หนึ่งนั้น ยายเฒ่าทัศประศาสยกกะบะหมากออกมานั่งเจียนหมากอยู่นาทีหนึ่งพอดิบพอดี (ข้าพเจ้าได้ตั้งนาฬิกา) แลเมื่อข้าพเจ้าถามนักปราชญ์ นั่นมานั่งเจียนหมากอยู่ทำไม นักปราชญ์คาวีก็ตอบไม่ได้ เมื่อยายเฒ่านั่งเจียนหมากอยู่ได้นาทีหนึ่งแล้ว นางจันทรสุดาก็ออกมาบอกความลับให้ยายเฒ่า (ตามเรื่องคาวีซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะเล่า) แล้วก็ปิดฉากที่หนึ่ง

ฉากที่ ๒ เป็นรูปตำหนักแพมีท่าน้ำแลทางเดินที่เรียก “แอวินิว” เก่งมาก ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า จะทำอย่างอื่นให้ดีกว่านั้นได้มากนัก เพราะก็เหมือนจริงหนักหนาอยู่แล้ว เวลาเปิดม่าน นายโรงกับนางเอกออกมารำคล้ายเต้นรำอย่างที่เรียกว่า “ลานเชอร์” แปลกแต่ไม่มีโอบตัวกัน แลไม่ใคร่ใช้เท้ามากนัก ในระหว่างฉากที่ ๒ นี้ คาวีเปลื้องเครื่องอาบน้ำ คาวีตาย คาวีเป็น คาวีฟังที่ออกความคิดไป จนคาวีกับพี่ชายพากันไปตามเมียคาวี

เมื่อคาวีเปลื้องเครื่องสำหรับลงสระสนานนั้นเปลื้อง 3 อย่าง คือ ถอดพระขรรค์อย่างหนึ่ง ถอดชฎา (สำหรับลงนอนกลางโรงเวลาตาย) อย่างหนึ่ง ถอดอินธนูอย่างหนึ่ง แลเวลาถอดชฎานั้น นางจันทรสุดาช่วยถอดด้วย ทำให้ข้าพเจ้าพิศวงว่า นี่ถ้าเป็นผู้ชายบางจำพวกจะมิรังเกียจหรือ ที่จะให้เมียช่วยถอดหมวกดังนี้ ตัวข้าพเจ้าเองยังบอกไม่ได้ว่าจะรังเกียจหรือไม่ แลเมื่อถามเด็กอ่อน ๆ ก็บอกไม่ได้เหมือนกัน

สักครู่หนึ่ง ยายเฒ่าทัศประศาสก็เผาพระขรรภ์ คาวีวิ่งมาตายกลางโรง (แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นหน้าคาวีเวลาตายว่าทำดีหรือไม่ เพราะบังไฟฟ้าซึ่งค่อนข้างสูงไปสักหน่อย) นางจันทรสุดาก็วิ่งมาสลบข้างคาวี ยายเฒ่าทัศประศาสนมาจับขาแล้วบอกว่าคาวีตาย ไปจับขานางจันทรสุดาแล้วบอกว่า นางจันทรสุดายังไม่ตาย จะทราบได้ด้วยจับชีพจรหรืออย่างไร ข้าพเจ้าถามนักปราชญ์คาวีก็หาทราบไม่ เมื่อยายเฒ่าทราบว่าใครตายและยังไม่ตายดังนี้แล้ว ก็เรียกเถ้าแก่แป้นขึ้นมาจากเรือ (ผ้านุ่งเถ้าแก่แป้นค่อยยังชั่วหน่อย ไม่แข็งเหมือนผ้านุ่งยายเฒ่าทัศประศาส) ช่วยกันหามนางจันทรสุดาลงเรือ แล้วออกเรือไป วิธีเห่เรือนั้น แรก ๆ เห่ให้ดังแล้วเบาลงไปทุกที ถูกต้องตามธรรมดา แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าฟังหาใคร่ถนัดไม่ว่าเห่ว่ากระไร จะจำมาบ้างก็ไม่สำเร็จ เข้าใจว่าไพเราะเท่านั้น

ไม่สู้ช้านักหลวิชัยก็มาถึง มาพบพระขรรค์ก็บ่นอะไรบ้างเล็กน้อย พอพบศพคาวีเข้าก็บ่นมากขึ้นแล้วร้องไห้ วิธีร้องไห้เช่นนี้อยู่ข้างจะยาก ถ้าลครฝรั่งก็ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดตาเอาง่าย ๆ นั่นเอง หลวิชัยร้องไห้ดีพอใช้ และข้าพเจ้าเห็นมีเลดีที่คอยช่วยร้องไห้ด้วยสองสามคน แต่จะร้องไห้สงสารใคร หรือร้องไห้ทำไมนั้น ข้าพเจ้าถามนักปราชญ์คาวีก็หาทราบไม่ การที่หลวิชัยร้องไห้นั้น ข้าพเจ้าค่อนข้างไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นข้าพเจ้าก็ชุบน้องชายเสียปับเดียว จะไปร้องไห้ให้เสียเวลาทำไม ว่าอีกทางหนึ่งถ้าตัวลครที่เป็นหลวิชัย จะร้องไห้ให้เหมือนจริงได้แล้ว จะร้องไห้ให้เราดูก็ควร เพราะการที่แกล้งร้องได้เหมือนร้องไห้จริงนั้น เป็นของควรอวด ใช่แต่เท่านั้น ยังเป็นการลองใจคนดูด้วยว่า คนไหนจะใจอ่อนบ้าง ถ้าจะคิดให้รอบคอบแล้ว บางทีพวกคนดูที่ร้องไห้นั้น ก็จะเป็นแต่แกล้งร้องไห้ เพื่ออวดให้เราทราบว่า เขาเองก็แกล้งร้องไห้ได้ดีเหมือนลครหรือดีกว่าลคร

ฉากที่ ๓ เป็นฉากถนนหรือท้องตลาดเมืองพัทธวิสัย และถนนหรือท้องตลาดนี้ไม่ใช่ที่อื่นที่ไกล คือที่สถานข้ามคลองวัดอรุณเรานี้เอง ในท้องตลาดนี้ มีคนขายข้าวโพดขั้วคนหนึ่ง ขายอะไรห่อ ๆ คนหนึ่ง มีเจ๊กเป็นเจ้ามือไม้ ๓ อัน เจ๊กขายแตงเมหลอดและสรรรพเจ๊กต่าง ๆ ไม้ ๓ อันนั้นตั้งเป็นบ่อน มีผู้หญิงห่อผ้าสีเขียวมาเล่น ๒ คน เป็นผู้หญิงที่พูดเสียงดัง และกล่าวคำที่เป็นผรุสวาจต่างๆ อย่างที่ตลาดเรียกกันว่า “แม่แปรด” สักครู่หนึ่ง มีผู้ชายสมมติว่าเป็นผัวออกมาช่วยเล่นไม้ ๓ อันเสียทีแก่เจ้ามือ ผัวเมียเลยวิวาทถึงกับเตะต่อยกันขึ้น (เมียเตะผัวไม่ใช่ผัวเตะเมีย) ตกลงใคร ๆ ก็พูดเสียงดังพร้อมกันหมด และเป็นพวกที่ “เขียวหวาน” เรียกว่ารู้จักตะเบ็งเสียงด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉนี้พวกเราที่นั่งแถวหน้า ๆ ก็ไม่มีอารมณ์ที่จะฟังว่าพูดกันว่ากระไร มีธุระแต่จะรักษาแก้วหูไว้อย่างเดียว ต่อพลตระเวนออกมา ๒ คน จึงเลิกการตะเบ็งเสียง ต่างคนต่างวิ่งหนีเข้าโรง เตะกระจาดข้าวโพดขั้วและอื่น ๆ หกเรี่ยราดไป

เมื่อพลตระเวน ๒ คนมาเป็นเหตุวิบัติขึ้นแก่การตะเบ็งเสียงที่สพานข้ามคลองวัดอรุณดังนี้แล้ว ก็มีเสนา ๒ ตัว ออกมาป่าวร้องหาคนชุบตัวท้าวสันนุราช มีตาร่วมตลกเป็นคนตีฆ้องนำหน้า และเวลาที่ป่าวร้องอยู่นี้ มีเด็กโผล่ออกมาเก็บข้าวโพดขั้วที่หกอยู่ตามพื้นนั้นหลายคน จะเกี่ยวในเรื่องด้วยหรือไม่ ถามนักปราชญ์คาวีก็หาตอบเด็ดขาดประการใดไม่

สักครู่หนึ่งหลวิชัยแต่งตัวแปลงเป็นฤๅษีออกมานั่งไขว่ห้างอยู่บนม้า ทำให้ข้าพเจ้าพิศวงว่าทำไมผู้หญิงจึงนั่งไขว่ห้างไม่เป็นหนอ ข้าพเจ้าก็ได้เคยเห็นมาตั้งหมื่นตั้งพันคนแล้ว แต่ยังไม่เห็นเลยที่นั่งไขว่ห้างได้สนิทเรียบร้อยอย่างผู้ชาย จะเป็นด้วยผู้หญิงไม่ได้เกิดมานั่งไขว่ห้างกระมัง เมื่อคิดต่อไปในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็มานึกได้ว่า คงมีอะไรหลายอย่างที่ผู้ชายทำไม่ได้เรียบร้อยเหมือนผู้หญิง เช่นผัดหน้า หรือว่า “คุณค๊ะ” เป็นต้น เมื่อข้าพเจ้าอยู่ยุโรป เลยพยายามสอนผู้หญิงให้ว่า “โอลด์แชป” ให้สนิทเหมือนผู้ชาย แต่ก็ไม่มีใครว่าได้ แต่เมื่อเขาให้ข้าพเจ้าลองว่า “ในไมเดีย” ให้สนิทข้าพเจ้าก็ว่าไม่ได้เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นจริงฉันใด ผู้หญิงก็นั่งไขว่ห้างให้สนิทไม่เป็นฉันนั้น

เวลาที่ฤๅษีนั่งไขว่ห้างอยู่บนม้านี้ มีคนไปมาหยุดนั่งกราบไหว้หลายคน และเมื่อใครหยุดทำอาการเคารพเช่นนั้น ฤๅษีก็ให้พรว่า “สุขิโต โหตุ” ดูเก๋ดีพอใช้ ข้าพเจ้าจะต้องจำไว้เที่ยวให้พรบ้าง เช่นว่า “สุขิโต โหตุ” แก่ท่านผู้อ่านเรื่องนี้อยู่เป็นต้น

ฉากที่ ๔ เป็นที่ท้าวสันนุราชออกขุนนาง และที่ออกขุนนางนี้ ก็กลางหาวเหมือนกัน ในระหว่างปิดม่านเปลี่ยนฉากนั้น เกิดการขลุกขลักขึ้นที่โรงไฟฟ้าหรือที่ไหนแห่งหนึ่ง ไฟฟ้าดับพึ่บลง โรงลครมืดเป็นเข้าถ้ำ ดูอาการไม่ค่อยดี อาจเกิดความเช่นวันบุษบาไปไหว้พระปฏิมากรวันนั้นได้ ตกลงต้องช่วยกันขีดไม้ขีดไฟชูไว้ ต่อเมื่อมีไฟมา ๒ ดวง จึงเลิกอุดหนุนการทำไม้ขีดไฟของประเทศญี่ปุ่นและประเทศสวีเด็น

ฉากนี้ต้องใช้โคม โคมรถและเทียนเป็นเครื่องสว่าง ไฟฟ้าดับๆ ติด ๆ เล่นกลอยู่นานจึงกลับติดดีอย่างเดิม แต่ส่วนท่านท้าวสันนุราชนั้น ไฟฟ้าจะดับหรือติดก็ไม่เป็นไร เสด็จออกเรื่อย และเมื่อเสด็จออกได้สองสามนาที ฤๅษีก็มาถึง ท้าวสันนุราชลงจากแท่นทองแล้ว รับรองฤๅษีขึ้นนั่งบนแท่นแทนตัวเดียวกัน น้ำชาหมากบุรี่มีเลี้ยงพร้อม ต้องนับว่าท้าวสันนุราชเอาใจใส่ในการรับแขกพอใช้ได้ เวลาที่ฤๅษีขึ้นนั่งอยู่บนแท่นนั้น เป็นเวลาไฟฟ้าดับ แสงโคมลานและโคมรถก็ไม่สว่างพอ ข้าพเจ้าจะเพ่งดูเท่าใด ก็เห็นไม่ได้ว่า ฤๅษีนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ ถามนักปราชญ์คาวีก็ไม่ทราบทำให้ข้าพเจ้าพิศวงอยู่นาน ต่อไฟฟ้ากลับติดจึงเห็นได้ว่า อ้อ นั่งพับเพียบเรานี่เองดอกหรือ

ท้าวสันนุราชเป็นคนค่อนข้างใจเร็ว พอฤๅษีบอกว่าชุบคนแก่ให้เป็นหนุ่มได้ ก็สั่งให้จัดการจะชุบกันเอาเดี๋ยวนั้นเอง เห็นจะเป็นด้วยแกอยากเป็นหนุ่มมาหลายวันแล้ว พูดถึงการชุบตัว ข้าพเจ้ามารำพึงว่า ถ้ามีฤๅษีหรือตาขรัวคลุมโปงอะไรแกมารับอาสาชุบเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว พวกเราหนุ่ม ๆ คงชุบตัวกันหลายคน เพราะเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นนั้น เราจะดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่คนคงถือว่า เราดีมากกว่าเวลาที่เป็นหนุ่ม ตำราของโลกไม่ว่าชาติใดย่อมถือว่า “ความเคยเป็นผู้สอน” และไม่ว่าอะไรหมด ผู้ใหญ่จะเคยหรือไม่เคย ก็คงถือกันว่าเคยมามากกว่าเด็กทั้งนั้น

ฉากที่ ๕ เป็นรูปโรงพิธีชุบตัว ที่ก็ที่กลางหาวเก่านั้นเอง แต่ใช้ม่านผ้าขาวกั้นกองไฟไว้หลังผ้าขาวทำให้วูบๆ ได้ (ซึ่งได้ข่าวว่ามีคนดูเป็นลม) และเมื่อตัวลครยืนสวดสรภัญญะและรำอยู่ระหว่างกองไฟกับม่าน ก็เห็นเงาอย่างเชิดนั่งนั้นเอง ความคิดตรงนี้เป็นของควรชม

ฉากที่ ๖ ค่อนข้างสนุก คือเป็นฉากห้องนั่งเล่นของนางจันทรสุดาในเมืองพัทธวิสัย เวลาเปิดม่านมีนางจันทรสุดานั่งอยู่บนเตียงนอกห้องนอน มีเด็กสาวใช้หมอบอยู่ ๒ “ตัว” ข้างหลังเตียงมีรูปฝาเฟี้ยมสูงพอได้ขนาด หลังเฟี้ยมมีรูปหลังคาเตียงมีผ้าแหวกเป็น ๒ ไข เราสันนิษฐานเอาว่าเตียงนอน แต่ถ้าเป็นเตียงนอนจริงแล้ว “เด็กอ่อน” ก็ติว่าสูงเกินไปหน่อย และข้าพเจ้าก็ค่อนข้างเห็นด้วย เมื่อเปิดม่านแล้ว นางจันทรสุดานั่งรำพรรณความเขลาของตัวเองอยู่สักครู่หนึ่ง ก็มีเสนา ๒ ตัวมาเชิญไปเฝ้าท้าวสันนุราช โดยอ้างเหตุว่า ท้าวสันนุราชกลับหนุ่มขึ้นแล้ว เดี๋ยวนี้กำลัง “ออนโชว์” คล้ายเครื่องพิพิธภัณฑ์อยู่ในปราสาท นางจันทรสุดาตอบว่าช่างเถอะและสักครู่หนึ่ง คาวีซึ่งเข้าใจกันว่า ท้าวสันนุราชหนุ่ม ก็เข้ากับหลวิชัย คาวีขึ้นนั่งแท่นเดียวกับนางจันทรสุดา แต่ฤๅษีนั้นนั่งเก้าอี้ไขว่ห้างตามท่าเดิม ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงโจทก์ผู้หญิงไขว่ห้างซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

คาวีปลอบ และพูดจาเกี้ยวพานนางจันทรสุดาในนามของท้าวสันนุราชอยู่สักครู่หนึ่ง แต่นางจันทรสุดาก็ไม่ใยดี ข้าพเจ้ากำลังนึกอยู่ว่า นี่นางจันทรสุดาหูตึงหรืออย่างไร จึงจำผัวตัวเองไม่ได้ พอฤๅษีหลวิชัยเตือนขึ้นว่า “เสียงท้าวคราวแก่กับเสียงนี้มารศรีฟังเห็นเป็นไฉน” นางจันทรสุดาจึงกลับจำคาวีได้ เลยปลื้มไม่มีที่สิ้นสุด

คาวีกับนางจันทรสุดาทึ่งซึ่งกันและกันอยู่ได้ครู่หนึ่ง นางคันธมาลีก็ตามขึ้นไปหึง และข้าพเจ้าต้องชมว่า นางคันธมาลีหึงเก่งพอใช้ทีเดียว ไม่ใช่แต่ทำท่าหึงดีอย่างเดียว ทำท่าตลกก็พอใช้ จะเสียอยู่หน่อยก็แต่สีหน้าค่อนจะยิ้ม หรือหัวเราะมากไป ว่าที่จริง ข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นใครหึงใคร เพราะฉนั้นการที่ออกความเห็นออกไป ว่าสีหน้าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น จะดูกระไรอยู่กระมัง

ในเวลาที่คันธมาลีกำลังหึงอยู่นั้น ข้าพเจ้าตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเองว่า นี่ถ้าเราเป็นคาวีเองจะทำอย่างไร แต่เมื่อตั้งปัญหาแล้ว ก็ค่อนอักอ่วนเห็นว่าตอบยากมิใช่เล่น ลงท้ายตกลงว่า เห็นจะต้องวิ่งหนี ปล่อยให้หลวิชัยอยู่จัดการ ถ้าหลวิชัยจัดการไม่ดี ก็กล่าวโทษหลวิชัยภายหลัง สุภาษิตมีอยู่คำหนึ่งว่า “กันดีกว่าแก้” เพราะฉนี้ถ้าระวังอย่าให้เกิดความอย่างคาวีขึ้นได้นั่นแหละเป็นดี แต่วิธีที่จะระวังอย่างไรนั้น ถ้าใครอยากจะทราบก็เชิญไปตามคนที่มีความรู้สูงกว่าข้าพเจ้า

นางคันธมาลีต้องหึงเต้นเร่าๆ พูดเสียงดัง ฯลฯ เสียจนเหนื่อย จึงหมดเวลาฉากที่ ๖ ฉากที่ ๗ นั้นในโปรแกรมอธิบายว่า “พระคาวีออกท้องพระโรง เสนาถวายชัยมงคล” แต่เด็กอ่อนกับข้าพเจ้าหาได้ช่วยเสนาถวายชัยมงคลด้วยไม่ เพราะถือกันว่าศึกพออยู่แล้ว ที่ๆ พระคาวีออกท้องพระโรงนั้นดูเหมือนไม่ใช่กลางหาว แต่จำไม่ใคร่ถนัด เพราะหาได้หยุดพิจารณาให้แน่ไม่ พวกเสนาหมอบหรือนั่งอยู่กับพื้น พระคาวีนั่งอยู่บนบัลลังก์สูงภายหน้าเศวตรฉัตรกี่ชั้นก็ลืมดู ทราบแต่ว่าเศวตรฉัตรเท่านั้น การที่ข้าพเจ้าภายหน้าไม่ว่าภายใต้เศวตรฉัตรนั้น เพราะเศวตรฉัตรเป็นรูปที่เขียนไว้บนม่านหลังคาวี หาได้เป็นวัตถุจริงจังไม่ เมื่อคาวีนั่งอยู่หน้าม่าน ก็ต้องนั่งอยู่หน้าเสวตรฉัตร แต่ก็ไม่ประหลาดอะไร เพราะดูคล้ายจริงพอความต้องการอยู่แล้ว

ในที่สุดข้าพเจ้า ขอชมลครโรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ความคิดและวิธีที่ทำการตามความคิดนั้นเรียบร้อยดีทุกอย่าง แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า ดีที่สุดที่จะดีได้ไปทุกอย่างแล้ว ข้าพเจ้าก็คงเป็นอันไม่กล่าวตามใจจริง เพราะฉนั้นถึงข้าพเจ้าจะชมลครโรงนี้มากเท่าใดก็ดี แต่ข้าพเจ้าจะยังไม่กล่าวก่อนว่าจะหาเสียมิได้ โลกตั้งก็นานมากแล้ว แต่ยังไม่มีสิ่งใดที่ดีเต็มที่ได้ ในครั้งแรกที่คิดทำขึ้น และโรงลครก็อยู่ในกฎธรรมชาตินี้เหมือนกัน

----------------------------

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๙ หน้า ๒๒ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ลครเจ้าพระยาเทเวศร์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ