ปเกียรณการมภ์

เราได้ยินทางวิทยุ ๒ หน ในสองสามเดือนนี้ว่า สันนิบาตชาติกำลังนัดประชุมปรึกษาเรื่องฝิ่น

สยามของเรามีชื่อดีในเรื่องฝิ่น จนถึงสันนิบาตชาติได้เคยประชุมในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเกียรติ์แก่ประเทศ

๏ ๏ ๏

๒ คืนมาแล้วเราฟังแฮร์ฮิตเลอร์พูดในรัฐสภาว่าด้วยทางการของเยอรมันที่เกี่ยวกับต่างประเทศ ได้ยินเสียงสมาชิกในรัฐสภาชโยโห่ร้องตามภาษาของเขา สำเนียงแฮร์ฮิตเลอร์พูดกระฉับกระเฉงน่าฟังนัก เรานั่งเพลินอยู่เป็นเวลานาน ทั้งที่ไม่เข้าใจสักคำเดียว

๏ ๏ ๏

ตอนต้นเดือนนี้ เราได้ฟังพระราชดำรัสพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีผลอย่างเดียวกัน พระราชดำรัสนั้น เป็นพระราชดำรัสในงานฉลองวันเสวยราชสมบัติมาครบ ๒๕ ปี ที่เรียกว่า ยูบิลีเงิน พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษตรัสในลอนดอน เวลาทุ่มหนึ่งซึ่งตรงกับ ๘ ทุ่มที่นี่ คืนนั้นเราไม่ได้อยู่ดึก พอไปนอนก็ผเอิญนอนหลับเร็ว หลับไปตื่นใหญ่จึงได้ยินพระสุรเสียงกิงยอช์ดังจนปลุกให้เราตื่น เราตกใจนึกว่าลืมปิดวิทยุ ลุกออกจากมุ้งจะไปปิด พอไปถึงหน้าต่างก็ได้ยินเสียงมาจากนอกบ้าน ยืนฟังจึงทราบว่า พระสุรเสียงแจ้ว ๆ มาจากเรือนคนอื่นนอกบ้านเรา แต่หากเป็นเวลาดึกสงัด จึงได้ยินดังจนปลุกให้เราตื่น เราฟังอยู่ครู่หนึ่งก็ไม่เข้าใจว่าตรัสว่ากระไร ฟังพระสุรเสียงกิงยอช์มาจากเรือนคนอื่น เข้าใจเท่ากับฟังฮิตเลอร์ในเรือนของเราเอง

๏ ๏ ๏

คำว่า ยูบิลีที่เราใช้เมื่อตะก็เป็นคำอังกฤษใช้ แต่อังกฤษก็ได้คำเดิมมาจากภาษาอื่น ในเมืองเรานี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติครบปีที่ ๒๕ ก็ได้มีงานเรียกว่า รัชดาภิเษก แต่งานของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษครั้งนี้จะเรียกรัชดาภิเษกก็ไม่ถนัด เพราะไม่มีสรงน้ำในพิธี (อภิเษกแปลว่ารดน้ำ)

คำยูบิลีนั้นอันที่จริงแปลว่า เป่าแตร เป็นพิธีใช้มาแต่พวกยิวโบราณ ในสมัยโน้นมีประเพณีกำหนดยูบิลี ๕๐ ปีต่อครั้งเรียกว่า ปียูบิลี เป็นปีปล่อยทาส และคืนที่ดินให้แก่เจ้าของเดิม ในปีนั้นหยุดการทำนา ใครมีทาสก็ปล่อยให้เป็นไทยหมด ที่ดินและเรือนนอกกำแพงเมืองที่จำนำ จำจองกันไว้ ก็คืนให้เจ้าของเดิมหรือผู้รับมรดก ปีนั้นมีเป่าแตรเป็นสัญญาให้รู้ ปียูบิลีจึงแปลว่าปีเป่าแตร แต่พวกยิวโบราณใช้เขาแกะเป่าแทนแตร คำยูบิลีจึงมาจากคำที่แปลว่าแกะตัวผู้ อนึ่งมีคำละตินซึ่งรูปคล้ายกัน แปลว่าโห่ร้องยินดี ซึ่งรวมเข้ากับเป่าแตร เลยเป็นความหมายของศัพท์ยูบิลี

๏ ๏ ๏

กิงยอช์เป็นมหากษัตริย์มีบุญพิเศษ พระองค์ก็เป็นสูญกลางแห่งความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของบ้านเมืองทั้งหลายที่อยู่ในเครือประเทศเดียวกัน เรียกว่าบริติชเอ็มไปร์ อันกระจายอยู่ทั่วโลก แต่รวมอยู่เป็นเครือเดียวกันได้

ครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นตรัสว่า “ข้าพเจ้าทราบความยากแห่งการเป็นเจ้าแผ่นดินใต้รัฐธรรมนูญ จึงขอบใจสวรรค์นักหนาที่ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจบงการเด็ดขาด”

แต่เรานึกว่า การเป็นเจ้าแผ่นดินใต้รัฐธรรมนูญนั้น ถ้าสักแต่ว่าเป็น ก็คงจะไม่ยากนัก ข้อยากอยู่ที่ทำพระองค์ให้คนนับถือ และเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองจริง ๆ

๏ ๏ ๏

“ส่วนแห่งปาลิเม็นต์อันสำคัญยิ่ง คือพระเจ้าแผ่นดินนั้น ทรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐสภา และทรงไว้พระองค์เดียว ซึ่งอำนาจปฏิบัติการปกครองบ้านเมืองตามกฎหมาย” (ปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยาลงกรณว่าด้วยปาลิเม็นต์อังกฤษ ตรัสใน พ.ศ. ๒๔๗๑)

เมื่อควีนวิกตอเรียขึ้นเสวยราชสมบัติอังกฤษต่อจากคิงวิลเลียมที่ ๔ นั้น ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นยังเป็นเหมือนลูกตุ้มถ่วงคอเมืองแม่ (คืออังกฤษ) เมืองแม่ต้องจัดให้ ทำให้ และรับผิดชอบไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง จนคนในประเทศอังกฤษสั่นหัวถามกันว่า เมื่อไรเมืองขึ้นจะหายเป็นน้ำหนักถ่วงคอเสียสักที

การที่เมืองขึ้นรุมมะตุ้มกันอยู่เช่นนั้น ความรวบรวมของภูมิประเทศทั้งหลายในอาณาจักรก็เป็นไปเอง

๏ ๏ ๏

แต่แม้ในรัชกาลของควีนวิกตอเรียเอง รูปการก็เริ่มเปลี่ยนเสียแล้ว เมื่อคิงยอช์ที่ ๕ (องค์ปัจจุบัน) รับราชสมบัติต่อจากคิงเอ็ดวาดที่ ๗ พระราชบิดา รูปการก็เป็นคนละอย่างกับเมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว คำว่า โปลิติกซ์ ซึ่งแต่ก่อนอยู่ในวงชมรมการเมืองในประเทศอังกฤษนั้น เดี๋ยวนี้กินความไปในท้องที่กว้างใหญ่ซึ่ง “ตะวันตกไม่ทั่ว” เพราะว่าบ้านเมืองต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นนั้น เดียวนี้เป็นบ้าน เมืองในเครือประเทศเดียวกัน ต่างคนต่างมีโปลิติกซ์และมีติดต่อกันตลอด

ที่ว่าแต่ก่อนโปลิติกซ์มีอยู่แต่ในชมรมการเมืองอังกฤษ คือมีอยู่แต่ในปาลิเม็นต์ในลอนดอนนั้น เพราะพวกเมืองขึ้น ไม่มีเสียงของตัวเอง ใครจะว่ากระไรก็ต้องไปว่ากันในปาลิเม็นต์ลอนดอน ปาลิเม็นต์ลอนดอนจึงเป็นสูญกลางของอาณาเขตทั่วไป แต่บัดนี้ประเทศในเครืออังกฤษมีปาลิเม็นต์ ของตัวเองทั้งนั้น การที่เคยต้องห้อยโหยอยู่กับปาลิเม็นต์อังกฤษ ก็เป็นอันน้อยไป นัยหนึ่งว่า ปาลิเม็นต์อังกฤษ มิใช่สูญกลางของประเทศที่อยู่ในเครือเดียวกันตั้งแต่ก่อน

เมื่อเป็นดังนี้สูญกลางก็จำต้องรวมเข้าไปในพระองค์ พระเจ้าแผ่นดิน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นนิติกุศล ไม่วาง พระองค์ให้เหมาะที่จะเป็นสูญกลางไซร้ เครือประเทศก็จะ รวมกันไม่อยู่ เหตุดังนี้เขาจึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษว่า “ลูกโซ่ทองคำ” ซึ่งร้อยอาณาจักรใหญ่โตไว้ด้วยกันได้

๏ ๏ ๏

พระเจ้าอัคบาร์ จักรพรรดิ์ราชองค์สำคัญของอินเดีย เคยเสด็จออกให้ขุนนางและราษฎรเฝ้าที่ลานด้านหนึ่งแห่งพระราชวังมิได้ขาด แม้เมื่อประชวรแล้ว ก็โปรดให้หามไปเสด็จออก เคยตรัสว่า พระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ใดไม่ให้คนเห็นพระองค์ถึง ๑๐ วัน ก็เป็นเจ้าแผ่นดินไปไม่ได้

ข้อที่ว่าราษฎรต้องเห็นพระองค์พระเจ้าแผ่นดินนี้ เป็นคติของพระราชาไม่ว่าในประเทศตะวันออกหรือตะวันตก

กิงยอช์เสด็จไปให้คนเห็นพระองค์ทั่วๆ ไปในอาณาจักรไม่ได้ เพราะอาณาจักรแผ่ไปในภาคต่าง ๆ ทั่วโลก แต่มีราชโอรสซึ่งแต่ละองค์แทนพระราชบิดาได้ในการเที่ยวเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเครืออังกฤษ การเที่ยวไปเช่นนั้น ก็มีประโยชน์แก่ราชกุมาร ที่ได้เห็นความเป็นไปในท้องที่ต่าง ๆ แต่เนื้อประโยชน์แท้นั้น คือปฏิบัติตามคติที่ว่า ให้ราษฎรได้พบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน (หรือราชบุตรผู้แทนพระองค์)

๏ ๏ ๏

งานยูบิลีคราวนี้เป็นงานกระจายทั่วโลก พระเจ้าแผ่นดินทรงติดต่อกับราษฎรของพระองค์ทั่วไป โดยพระราชดำรัสทางวิทยุ ซึ่งเป็นการได้เปรียบพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน และแพ้เราผู้เป็นไทยนอนหลับแล้ว ก็ตื่นขึ้นเยี่ยมฟังทางหน้าต่าง

๏ ๏ ๏

เมื่อละคร “ปรีดาลัย” เล่นคราวที่แล้วมานี้ เราดูคนดูเห็นสิ่งหนึ่งที่เคยเห็นมาก่อนแล้ว แต่ไปเห็นคราวนี้อีกก็นำมาเขียน เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างเล็กน้อย ถ้าพวกหนังสือพิมพ์ด้วยกันเห็นจริงตามที่เรากล่าวนี้ และช่วยนำไปกล่าวบ้าง (จะอ้างเราหรือไม่อ้างนั้นไม่สำคัญ) ก็อาจทำให้คนดูละครได้สติมากขึ้น

ธรรมดาละครพูด พอเปิดฉากก็มีตัวละครออกมาเจรจา เพื่อให้คนดูรู้เค้าเรื่องที่จะเล่น ถ้าผู้แต่งบทต้องการจะขยายเรื่องให้คนดูรู้มากหน่อย ตัวละครก็พูดกันอยู่นาน ถ้าเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ต้องขยายให้คนดูรู้มากเสียแต่แรก ตัวละครก็พูดกันน้อย แล้วเดินเรื่องต่อไป

เวลาจะเปิดฉาก มักจะมีผู้กระทุ้งเซ่าอยู่หลังฉากให้ดังก้องไปทั่วโรง เป็นสัญญาให้เปิดฉาก แต่การกระทุ้งเซ่านี้ ไม่ใช่เพื่อจะบอกให้ผู้เปิดฉากรู้ เป็นการบอกคนดูให้รู้ เพื่อให้นิ่งดูและฟัง อย่างเดียวกับผู้สปีชที่โต๊ะกินข้าวย่อมจะเคาะโต๊ะเสียก่อน

แต่คนดูของเราโดยมากนั้น จะกระทุ้งเซ่าก็มิใยจะกระทุ้ง จะเปิดฉากก็มิใยจะเปิด ตัวละครจะพูดกันว่ากะไรก็มิใยจะพูด คนดูยังคุยจ๊อกแจ๊กไปอีกนาน จนในที่สุดนิ่งฟัง ก็จับเค้าเรื่องไม่ได้ ละครก็จืดไปหมด จนกว่าคนดูจับเค้าเรื่องได้เมื่อไร ละครจึงจะเริ่มสนุก การดูละครพูดไม่เหมือนดูอิเหนา รามเกียรติ์ ซึ่งรู้เรื่องกันอยู่หมดแล้ว จะจ๊อกแจ๊กกันสักเท่าไหร่ ก็จับเค้าเรื่องกันได้เสมอ

ในเรื่องแรกที่ละครปรีดาลัยเล่นคราวนี้ มีผู้เล่าให้เราฟังว่า เมื่อเปิดฉาก และลคร ๒ ตัวได้ออกมาเจรจากันอยู่กว่า ๑๕ นาทีแล้ว คนช่างคุยที่ข้างขวาของผู้เล่าจึงหยุดพูดถึงเรื่องรถเจ๊กชนกับรถแขกบรรทุกหญ้า ผู้เล่าได้โอกาสก็กระซิบถามคนดูอยู่ข้างซ้ายว่า ละครพูดว่ากระไรเข้าใจบ้างหรือยัง คนนั้นสั่นหัวกระซิบตอบว่า ยังจับเค้าว่ากระไรไม่ได้เลย

เรานึกว่าทั่ว ๆ ไปในละครคงจะเป็นเช่นว่านี้ และใน ๑๕ นาทีแรก คงจะไม่มีใครจับเค้าได้เลยว่า ละครตั้งรูปเรื่องอย่างไร ที่เป็นดังนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นช่างคุยแข่งละคร ที่แท้พวกที่ตั้งใจฟังแต่แรกก็มี แต่พวกนั่นก็ฟังไม่ได้ยิน เพราะเสียงคุยเสียงเกือกกุบกับ เสียงลากกระโถน ฯลฯ กลบเสียงละครหมด ปัญหาเรื่องนี้ก็คือ มารยาทของผู้ดูละคร เมื่อได้รู้สึกกันหมดว่า การไปดูละครนั้นเพื่อจะดูและฟัง ถ้าจะมีเสียงดังก็ต้องละครหรือดนตรีเป็นผู้ทำ ไม่ใช่คนดูเป็นผู้ทำ และคนดูจำเป็นต้องเกรงใจคนดูด้วยกัน ฉะนี้จะดีนักหนา คนดูทุกคนตั้งใจดี แต่บางคนลืมนึกเรื่องมารยาท ถ้าได้ยินเตือนด้วยความตั้งใจดีก็คงจะไม่โกรธ

๏ ๏ ๏

อีกข้อหนึ่งที่เราสังเกตในการเล่นละครูปรีดาลัยคราวนั้น ก็คือจำนวนคนดู คืนซ้อมใหญ่เมื่อยังไม่เก็บเงินนั้นไม่นับ คืนเล่นจริงวันแรกมีคนดูราวครึ่งโรง ถ้าคิดว่าละครได้เล่นซ้ำ ๆ กันถึง ๓ คืน จำนวนคนดูทั้งหมดก็พอไปได้ เราได้ยินว่านอกจากละครอนามิศที่เล่นเก็บเงินช่วยราชการ เป็นต้นว่าเรื่อง “ปัญญาพาไป” ที่กระทรวงกลาโหมจัดการขายตั๋วเองแล้ว ก็มีละครน้อยรายที่จะมีคนดูมากเท่านั้น

ถ้าจะดูว่าละครเมืองเรานี้ได้ “อุปถัมภ์จากดิน” เทียบผิดกับละครเมืองฝรั่งอย่างไร และยกละครเรื่องที่เรียกว่า The Green Pastures ในอเมริกาขึ้นเป็นตัวอย่าง จะกล่าวได้ว่า ลครเรื่องนั้น เมื่อได้แต่งบทขึ้นแล้ว เจ้าของบทได้นำไปยื่นขายต่อบริษัทถึง ๓ แห่ง ก็ไม่มีใครรับนำออกเล่น แต่ในที่สุดมีเศรษฐีคนหนึ่งอุดหนุน ละครเรื่องนั้นก็ได้นำออกเล่น ปรากฏว่าพวกที่คิดว่า คนดูจะไม่ชอบนั้น คิดผิดหมด เพราะมีคนแน่นโรงทุกคืน และเล่นอยู่ในกรุงนิวยอร์คแห่งเดียวซ้ำๆอยู่ถึงปีครึ่ง แล้วออกเที่ยวเล่นตามหัวเมืองอีก ๒๐๓ แห่ง จำนวนครั้งที่เล่น ๑,๖๕๒ ครั้ง ได้เงิน ๓ ล้านเหรียญเศษ ประมาณว่ามีคนดูละครเรื่องนั้น ๒ ล้านคน

เรานำเรื่องละครเรื่องนี้มาเล่า เพื่อให้เห็นคำที่เราเคยกล่าวในประมวญมารคว่า บทละครดีที่ได้แต่งและฝึกซ้อมกันขึ้นนั้น เมื่อทำขึ้นแล้วถ้าได้เล่นนาน ๆ ก็น่าทำ เมื่อใดเป็นเช่นนั้น ชาวเราจะได้ดูละครดี ๆ เสมอ ๆ

๏ ๏ ๏

ข้างบนนี้เราใช้คำว่า “อนามิศ” และ “อุปถัมภ์จากดิน” ซึ่งผู้อ่านบางคนอาจไม่เข้าใจ ถ้าเช่นนั้นโปรดย้อนไปเปิดดูปเกียรณการมภ์ ฉบับที่ ๒๗ (อนามิศ) และ ฉบับที่ ๓๐ (อุปถัมภ์จากดิน)

๏ ๏ ๏

เมื่อคืนวานนี้ เราได้ยินคนพูดทางวิทยุจากลอนดอน เราเปิดฟังช้าไปไม่ได้ยินชื่อผู้พูด แต่คงจะเป็นผู้มีชื่อและมีความรู้ดี บริษัทวิทยุที่ลอนดอนจึงเชิญมาพูดในเรื่องรัฐนิติ (หรือโปลิคซิ) ระหว่างประเทศ ผู้นั้นพูดถึงรัฐนิติในยุโรปเวลานี้ว่า ในเรื่องที่จะกันมิให้เกิดสงครามนั้น อังกฤษมีความหวังอยู่ในวิธีการที่อังกฤษเรียกว่า คอเล็กตีฟ เซคคิวริตี คือร่วมมือกันรักษาความสงบไว้ให้แน่นแฟ้น ไม่ให้เกิดสงครามขึ้นได้

คำอังกฤษ ๒ คำนั้น เรารู้มาแต่ไหน ๆ และถ้าแยกคำกัน คนรู้อังกฤษแม้ที่รู้พองูๆ ปลาๆ ก็มักจะรู้ แต่เมื่อเอามารวมใช้ด้วยกันอย่างที่ใช้เดี๋ยวนี้ ก็เป็นการให้ความใหม่ เสมอกับตั้งศัพท์ใหม่ เราเข้าใจเพียงราง ๆ เท่านั้น ครั้นได้ยินผู้พูดในลอนดอนเขาเอ่ยอธิบายขึ้น เราก็เงี่ยหูฟัง แต่จับไม่ได้ละเอียด เพราะเวลานั้นยังหัวค่ำในกรุงเทพ คลื่นในฟ้ายุ่งด้วยเสียงโทรเลข นั่งพูดวิทยุมาจากประเทศไกล ยังได้ยินไม่สู้ชัด แต่ก็พอจับเค้าความได้บ้าง

เรานึกว่า การที่เขาอธิบายว่า คอเล็กตีฟ เซคคิวริตี หมายความว่ากระไรแน่นั้น เพราะคนโดยมากไม่เหมือนกัน มิฉนั้นเขาจะต้องอธิบายให้เสียเวลาอันแพงทำไม เราเคยได้ยินว่า คนมีชื่อเสียงชั้นสูงที่บริษัทวิทยุอังกฤษเชิญไปพูดกระจายเสียงนั้น เขาสมนาคุณถึงนาทีละปอนด์ เขาคงไม่เอาเวลานาทีละปอนด์มาชี้แจง ก ข นโม เป็นแน่

ใจความที่เขากล่าวในคืนนั้นก็ถือว่า ประเทศต่างๆ จะเข้าชื่อกันว่า ถ้าประเทศใดก่อสงครามกับประเทศอื่น ประเทศทั้งหลายจะเข้าหนุนหลังประเทศที่มิได้เป็นผู้ก่อ พูดให้สั้นก็คือว่าจะไม่มีใครเป็นกลางในสงครามเลย ทุกประเทศจะต้องช่วยฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการศึก ที่ว่าทุกประเทศจะต้องเข้าในสงครามนั้น ไม่หมายความว่าจะต้องส่งทัพไปรบ อาจเป็นเพียงช่วยกันตีวงล้อมผู้ก่อสงครามไว้ ไมให้ได้กำลังจากใคร (กำลังคือเสบียงอาหาร เครื่องใช้ในการสงคราม และทางเดินเป็นต้น) และอุดหนุนประเทศที่จำเป็นต้องทำศึก เพราะความเข้ารุกรบของฝ่ายทำผิดด้วย ข้อที่ประเทศไหนจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น แล้วแต่ประเทศและพฤติการรอบๆ จะกล่าวตีตะปูลงไปทีเดียวไม่ได้ ต้องมีข้อไขกว้างขวางซึ่งเขาหาได้นำมาชี้แจงละเอียดไม่ เนื้อถอยกระทงความแท้ ๆ ก็คือว่าตามวิธีที่เรียกคอเล็กตีฟ เซคคิวริตินั้น ไม่มีประเทศไหนที่เข้าชื่อด้วย จะเป็นกลางในสงครามเลย ถ้าเกิดสงครามขึ้น ก็ต้องเข้าหมด

ผู้พูดในลอนดอนกล่าวต่อไปถึงคำพูดของแฮร์ฮิตเลอร์ ที่พูดในรัฐสภาเยอรมันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าเยอร์มันไม่เห็นด้วยในเรื่องคอเล็กตีฟเซคคิวริติ เพราะไม่เห็นท่าทางจะสำเร็จได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความต้องการของเยอรมันก็คือตรงกันข้ามกับคอเล็กตีฟ เซคคิวริติ กล่าวนัยหนึ่งคือว่า ตรงกันข้ามกับต้องการให้ ไม่มีประเทศกลาง ในสงคราม ก็คือต้องการให้ประเทศทั้งหลายเป็นกลางหมด เว้นแต่คู่ศึก ใครจะมีเรื่องวิวาทกัน ก็ให้รบกันตัวต่อตัว ผู้อื่นต้องเป็นกลางทั้งนั้น ผู้พูดในลอนดอนกล่าวต่อไปว่า เยอรมันกำลังจะเป็นประเทศแข็งแรงในสงคราม ทั้งทัพฟ้า ทัพบกและทัพเรือ ก็จัดให้เติบโตขึ้นรวดเร็ว จึงเป็นที่หวาดหวั่นแก่ประเทศอื่นว่า ถ้ารบกันตัวต่อตัวแล้ว เยอรมันก็จะได้เปรียบตะพัดไป ประเทศอื่น ๆ จึงพากันไม่ไว้ใจเลย

ข้างบนนี้กล่าวย่อๆ ตามคำที่เราได้ยินเขาพูดวิทยุจากลอนดอนเมื่อคืนวานนี้เอง ไม่ใช่คำของเรา เราเองไม่รู้รัฐนิติในยุโรปกว้างขวางพอที่จะพูดเองได้ ส่วนคำที่ฮิตเลอร์กล่าวในรัฐสภาเยอรมัน ซึ่งผู้พูดในลอนดอนเขานำมาอ้างนั้น เราอ่านย่อในโทรเลขก็ดูเป็นคำน่าฟังอยู่ แฮร์ฮิตเลอร์กล่าวข้อหนึ่งว่า ประเทศเยอรมันจะไม่ยอมเข้าชื่อในสัญญาสายใด ซึ่งเห็นว่าจะทำไปไม่ได้ ซึ่งนั่งดูก็น่าจะเห็นถูก แต่ที่จะเจาะจงหมายถึงความเป็นกลางและไม่เป็นกลางของประเทศทั้งหลายหรือไม่นั้น เราไม่อยู่ใกล้สังเวียนพอที่จะรู้ได้เอง ได้แต่นั่งคนอื่นพูด

๏ ๏ ๏

พูดถึงข้อความที่ได้ฟังจากประเทศอังกฤษแล้ว ลองพูดถึงที่ได้อ่านจากอเมริกาบ้าง คำที่กล่าวจากหนังสือพิมพ์อเมริกันนี้ สอนใจความไม่กระไร เพราะรู้กันแล้ว ที่แปลกก็คือโวหาร ซึ่งไม่เกรงใจใคร และถ้าจะแต้มเติมเอาเองบ้างเพื่อให้สำนวนโลดโผน ก็ไม่รู้สึกเป็นบาป เราคัดมาแปลย่อ ๆ ลวก ๆ ดังนี้

วันหนึ่งในสัปดาห์ก่อน เบนิโตมุสโสลินี กำลังออกคำสั่งฟาซิสต์ประจำวันอยู่ก็หยุดชะงักแล้วว่า “อุม สเตรซา จงจัดสเตรซา สำหรับประชุมวันที่ ๑๑ เมษายน หุ้มเปลือกสถานีรถไฟใหม่ด้วยหินอ่อน ปูถนนใหญ่ ๆ ใหม่หมด ล้างให้สะอาดทั่วเมือง และให้จัดการระแวดระวังตามเคยอย่าให้เกิดเหตุ อย่าจ่ายเงินเกิน ๒ ล้านเรียร์ (๑๖๕,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน)”

รุ่งขึ้นเมืองสเตรซาซึ่งหลับมานานก็ตื่นขึ้น คนงานเกลื่อนกล่นช่วยกันทำงาน เพื่อใช้เมืองเป็นที่ประชุม

ในลอนดอนเมื่อกุมภาพันธ์ก่อน ผู้แทนรัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว (อังกฤษ) กับอรรคเสนาบดีฝรั่งเศสปรึกษากันตกลงส่งตราสารไปให้อาดอล์ฟฮิตเลอร์ว่า ที่พูดดังก้องว่ารักสงบนั้น ถ้าจะทำลงไป ๔ อย่าง ประเทศทั้ง ๒ ก็จะยอมให้แลกเปลี่ยนให้พอควรกัน ๔ อย่างที่ขอให้เยอรมันทำ นั้นคือ

(๑) ขอให้คืนเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ

(๒) ขอให้เลิกความใคร่ที่จะรวมประเทศออสเตรีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประเทศเยอรมัน นัยหนึ่งว่า เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เข้าชื่อกันรับประกันอิสระภาพของประเทศออสเตรีย

(๓) ขอให้เยอรมันเข้าชื่อกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในตะวันออกแห่งแม่น้ำไรน์ ต่างประเทศต่างรับรองว่า จะไม่บุกรุกดินแดนกัน และร่วมกันรับประกันว่า จะไม่ยอมให้ประเทศใดประเทศหนึ่งบุกรุกซึ่งกันและกัน การรับรองและประกันเช่นนี้เรียกว่า “สัญญาโลคาร์โน” ส่วนตะวันออก (คือตะวันออกแห่งแม่น้ำไรน์และประเทศที่อยู่ในตะวันออกแห่งแม่น้ำนั้น ก็คือเยอรมัน รัสเซีย โปแลนด์ เชกโคสโลวาเกีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโทเนีย)

(๔) ขอให้เยอรมันเข้าร่วมกับ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเบ็ลเยี่ยมช่วยกันต้านทานชาติ ที่ส่งทหารฟ้าเข้าทำร้ายประเทศอื่น โดยที่เขามิได้ทำก่อน

ถ้าเยอรมันยอมทำตาม ๔ ข้อข้างบนนี้ ชาติอื่นจะยอมให้ตอบแทน คือปลดเยอรมันให้พ้นจากความผูกพันตามสัญญาแวร์ไซร์ (คือสัญญาหย่าสงคราม) คือยอมให้เยอรมันมีกองทัพได้พอเทียมกับชาติอื่นภายในกำหนดวันจะได้ตกลงกันต่อไป

เมื่อชาติใหญ่ๆ เข้าชื่อกันชวนแลกดังนี้แล้ว แฮร์ฮิตเลอร์ก็โต้และโต้ โดยความรู้ที่เดาใจชาติใหญ่ๆว่า ไม่มีใครกล้ารบ จึงรวมเอาสิทธิซึ่งจะให้เป็นของแลกนั้น โดยที่ไม่ต้องแลก และถือเอายิ่งกว่าที่บอกให้ คือว่าที่จะให้มีทัพได้ภายในขีดนั้น เยอรมันประกาศว่าจะจัดทัพไม่มีขีด คือจะจัดให้เต็มกำลังที่จะจัดได้ และได้กลับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารอย่างที่เคยใช้เมื่อตอนมหาสงครามนั้นเอง เมื่อได้ประกาศเช่นนี้แล้ว แฮร์ฮิตเลอร์ก็ยืนยันเรื่องตั้งใจรักษาความสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อนี้รัฐบาลอังกฤษส่งเสนาบดีต่างประเทศกับเสนาบดีมุรธาธรไปเจรจากับแฮร์ฮิตเลอร์ที่เบอร์ลิน แต่เมื่อเสนาบดีต่างประเทศกลับไปลอนดอนแล้ว ก็เกิดมีเรื่องขึ้นกับสถานทูตเยอรมันในประเทศอังกฤษ คือว่า เมื่อเจ้าพนักงานในกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวเป็นทางราชการย่อ ๆ ว่า ท่านเสนาบดีได้พูดกับแฮร์ฮิตเลอร์ว่ากระไรบ้างแล้ว ก็มีคำกล่าวประกาศออกมาจากสถานทูตเยอรมันในลอนดอนว่า “ที่ว่าแฮร์ฮิตเลอร์ได้บอกแก่เซอรยอนไซมอนว่า กำลังทัพฟ้าเยอรมันในเวลานี้ ถ้าไม่ยิ่งก็ไม่หย่อนกว่ากำลังทัพฟ้าอังกฤษนั้น ไม่จริง”

ท่านเสนาบดีอังกฤษได้ทราบคำกล่าว จากสถานทูตเยอรมันดังนี้ ก็มีสีหน้า “เป็นสีม่วงและเผาสายไปเบอร์ลิน” (นี้เป็นคำในหนังสืออเมริกัน แปลว่าโกรธและโทรเลขด่วนไปเบอร์ลิน) ราชทูตอังกฤษที่เบอร์ลิน ก็ต่อว่าเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเยอรมัน ท่านผู้นั้นก็ “เผาสาย” กลับไปลอนดอนอีกในที่สุดปริ๊นซ์บิสมาร์ก (หลานปู่ของท่านบิสมาร์กเฒ่า) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสถานทูตต้องไปขอโทษต่อกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ คืนเดียวกันนั้น บริษัทวิทยุอังกฤษกล่าวว่า “มีเหตุอันควรเชื่อว่า ทัพฟ้าเยอรมันเวลานี้ มีกำลังพอเทียมทัพฟ้าของเรา (อังกฤษ)”

ต่อไปนี้ถึงการประชุมของอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ที่สเตรซา และต่อนั้นก็ถึงการประชุมกรรมการสันนิบาตชาติ ดังทราบกันอยู่แล้ว

๏ ๏ ๏

เรานำเรื่องข้างบนนี้มาลง จะว่าเป็นข่าวก็ไม่ได้ เพราะ “เซ็ง” แล้ว แต่หากเป็นความรู้ที่เป็นเนื้อถอยกระทงความของรัฐนิติในยุโรป ซึ่งผู้อ่านของเราอาจต้องการทราบละเอียดกว่าที่จะทราบได้เปรย ๆ ตามข่าวโทรเลข ซึ่งเขาย่อมพูดสั้น ๆ เพราะสมมติว่าผู้อ่านอาจทราบเรื่องอยู่แล้ว

๏ ๏ ๏

เราใช้คำว่า “นักเขียน ในที่นี้ แปลว่าผู้แต่งหนังสือ ไม่ใช่ช่างเขียนซึ่งเขียนรูป และไม่ใช่ผู้เขียนหนังสืออย่างเสมียน ซึ่งไม่ใช่ผู้แต่ง เราใช้คำเช่นนี้ เพื่อจะให้กระทัดรัด สำเร็จอยู่ใน ๒ พยางค์ เมื่อบอกความหมายให้เข้าใจกันแล้วก็สะดวกดี

๏ ๏ ๏

เราเสียดาย “ไทยเขษม” (รายเดือน) ซึ่งต่อไปนี้จะเลิก (หรืออย่างน้อยกระงับ) น่าพิศวงจริงๆ ที่หนังสือซึ่งเคยมีผู้ลงชื่อรับซื้อประมาณแปดหมื่นคน (๘๐,๐๐๐ คน) จะต้องเลิก (ดไทยเขษมฉบับท้ายปกเงิน)

นักเขียนที่เคยเขียนให้ไทยเขษมนั้น มีเป็นอันมาก ที่เป็นนักเขียนชั้นเยี่ยม เลียงลำดับกิตติคุณตั้งแต่ครูเทพ นาคะประทีป เสฐียรโกเศศ อายัณโฆษ มรกต ต่ำลงไปจนถึง น.ม.ส. น่าจะเห็นว่าจะหา “ชาวคณะ” ให้ดีไปกว่านั้นมีน้อย แต่นักเขียนที่ไทยเขษมและเราว่าดีนั้น อาจไม่ใช่พวกที่คนอ่าน “รุ่นใหม่” (New Literate) เห็นว่าดีก็เป็นได้

พูดถึงหนังสือรุ่นเก่าเช่น ลักวิทยา และทวีปัญญา ข้อที่ว่าต้องเลิกเพราะนักเขียนเป็นข้าราชการ มีตำแหน่งสูงขึ้นไป งานในหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นก็ต้องเลิก “เล่น” นั้นเป็นความจริง แต่ยังมีจริงอีกข้อหนึ่ง คือว่านักเขียนแต่ก่อนมีจำนวนน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ ถ้าไทยเขษมลดตัวลงไปรับเอาหนังสือสำหรับ “รุ่นใหม่” มาพิมพ์ ก็คงจะได้นักเขียนเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ที่ไม่ลดตัวลงไปนั้น เราอนุโมทนา

๏ ๏ ๏

พูดข้อที่ว่า นักเขียนไม่ได้ประโยชน์อะไรในทางทรัพย์ ถ้าจะมัวเขียนเพื่อจะหาเงินก็ “ท้องแห้ง” นั้น ก็เป็นความจริงอีก แต่จริงเพียงพวกที่ไทยเขษมระบุชื่อว่าดี ส่วนพวกที่เขียนให้ “รุ่นใหม่” อ่านนั้น มีหลายคนที่ “ท้องเปียก” ด้วยการเป็นนักเขียน นัยหนึ่งใช้การแต่งหนังสือเป็นอาชีพ ถ้าจะแปลกกันหน่อยก็ที่พวกหลังนี้ ท้องเปียกง่าย ไม่ต้องมีน้ำมากนักก็ลูบท้องให้โชกได้ พูดสั้น ๆ ไม่ต้องการหนวดเต่าเขากระต่าย หาได้ไม่สู้มากนักก็อิ่มหมีพีมัน

๏ ๏ ๏

เราเคยไปดูโรงทอสักหลาดแห่งหนึ่งในเมืองต่างประเทศ พบกำลังทอผ้าห่มอย่างเลวเป็นพเนินเทินทึก เราถามว่าทอผ้าอย่างดีไม่ได้หรือ เขาตอบว่า ทออย่างดีที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจะเอารวยต้องทำของเลวขายคนจน ทอผ้าห่มอย่างดีขาย ๑๐ ผืน สู้ทอผ้าห่มอย่างเลวขาย ๑๐,๐๐๐ ผืนไม่ได้

การทำหนังสือก็คงจะเทียบได้กับการทอผ้าห่ม คนอ่านที่มั่งมี ความรู้มีน้อยกว่าคนอ่านที่จนความรู้ น้อยจนเทียบใกล้กันไม่ได้

พวกที่เคยร่ำรวยเพราะหนังสือนั้น ในกรุงเทพเคยมี มิใช่ไม่เคยมีเลย เป็นต้นว่า หมอบรัดเลแลหมอสมิทเคยขายหนังสือได้เงินมาก ๆ หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือเรื่องจีนออกมาทั้งชุด ก็ขายได้หมด หมอสมิทพิมพ์พระอภัยมณีและหนังสือพวกนั้นก็ขายดีที่สุด แต่ไม่เคยได้ยินว่า นักเขียนหนังสือเหล่านั้นได้เงินเป็นล่ำเป็นสันเลย แม้สุนทรภู่ก็กล่าวกันว่า เมื่อแต่งพระอภัยมณีได้สมุดไทยหนึ่ง ก็ส่งเข้าไปถวายเจ้านายข้างใน ประทานรางวัลเล่มละ ๔ บาท พอซื้อเหล้ากิน

หนังสือวชิรญาณรายเดือน เคยจ่ายเงินซื้อหนังสือจากนักเขียน กำหนดราคาหน้าละบาท สำหรับหนังสือที่แปลมาจากภาษาอื่นหน้าละ ๒ บาท สำหรับหนังสือที่นักเขียนแต่งเอง (วชิรญาณพิมพ์ยก ๘ หน้า) ดูเหมือนกรรมสัมปาทิก เวลานั้นจะไม่รู้ว่า การแปลหนังสือนั้น ถ้าแปลให้ถูกตามภาษาเดิม ก็ยากกว่าแต่งเองเป็นกอง เพราะหนังสือที่แต่งนั้นแต่งเรื่องอะไรก็ได้ พอแต่ไม่ให้แพ้คนอื่นที่ส่งไปแย่งขายก็แล้วกัน ถ้าผู้อ่านไปที่หอพระสมุดวชิราวุธเดี๋ยวนี้ จะเห็นตู้หนังสือใหญ่ ๆ สลักตราเจ้านาย และมีพระนามว่า เป็นผู้ประทานตู้แก่หอพระสมุด เงินที่ทรงจ่ายเป็นค่าตู้นั้น คือเงินค่าทรงเขียนหนังสือทั้งนั้น เราเองเคยเขียนหนังสือให้วชิรญาณอยู่พักหนึ่ง ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ บาทก็มี ๑๖๐ บาทก็มี แต่ดูเหมือนจะเขียนอยู่ไม่ถึงปี เพราะย้ายไปเล่นลักวิทยาซึ่งไม่ได้เงินเลย

เราคิดว่า ราคาที่วชิรญาณให้หน้าละ ๒ บาทนั้น ไม่เคยมีอีก

๏ ๏ ๏

แต่ข้อที่นักเขียนในเมืองเรามีน้อย ที่จะได้เงินเป็นพักเป็นผลนั้น ท่านอย่าคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้นในเมืองฝรั่ง หนังสือในเมืองเขาขายได้มากกว่าเราจนเทียบกันไม่ได้ (แม้ ๘๐,๐๐๐ ฉบับของไทยเขษมก็ยังน้อย) แต่นักเขียนกลิ้งเกลือกไปไม่ไหวก็มีนับไม่ถ้วน ความกระหายจะเป็นนักเขียนนั้น เขาว่าในเมืองฝรั่งเป็นของน่าพิศวงนัก เพราะมีในหมู่คนทุก ๆ สองสามคน แต่ก็มีเปล่า ๆ หาผลไม่ได้ เพราะอาชีพของนักเขียนนั้นกินแรง กินเวลา ไม่มีความแน่ที่ไหน และต้องมีความสามารถจริง ๆ เป็นพื้น ต้องโชคดีด้วย ไม่มีอาชีพอย่างไหน จะมีแย่งกันและเบียดกัน เหมือนอาชีพอย่างนี้ และคนที่จะขึ้นไปถึงแถวหน้าได้นั้นน้อยนัก ในพวกหนังสือพิมพ์ที่ออก ๗ วันครั้ง พิมพ์หนังสือตลอดปีก็น้อยกว่าที่มีผู้ส่งไปให้ภายใน ๒ วัน เป็นต้นว่า หนังสือชื่อ “คอลลิเอร์” ได้รับเรื่องวันละ ๓๐๐ เรื่อง เป็นเรื่องอ่านเล่นประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หนังสือพิมพ์ที่ออกเดือนละครั้งก็เช่นเดียวกัน

ในพวกสมุดก็อย่างเดียวกันอีก บริษัทพิมพ์หนังสือขายบริษัทหนึ่ง ได้รับหนังสือส่งไปบอกขายต้นฉบับปีหนึ่งระหว่าง ๑,๕๐๐ กับ ๒๐๐๐ เล่ม พิมพ์จริง ๆ ประมาณ ๑๐๐ เล่ม โดยมากเป็นหนังสือซึ่งมอบให้ผู้มีชื่อเสียงแล้วรับไปแต่งมาให้ ส่วนบทลครนั้น บริษัทละครนำออกเล่นประมาณ ๑ ใน ๙๐ ของจำนวนเรื่องที่คนแต่งส่งไปบอกขาย และถ้าจะพูดถึงเรื่องหนัง และเรื่องที่กระจายทางวิทยุ บริษัทใหญ่ก็จ้างนักเขียนตัวยงประจำไว้พร้อม คนภายนอกมีโอกาสสัก ๑ ใน ๑,๐๐๐ เท่านั้น

ต่างว่านักเขียนใหม่เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วมีผู้รับไปพิมพ์ขาย ก็จะได้เซ็นชื่อสัญญาว่า ขายได้ ๕๐๐๐ ฉบับแรกจะได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อไปอีก ๒๕๐๐ ฉบับได้ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ครึ่ง ต่อนั้นไปได้ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ (ต่อเป็นคนเก่งแล้วจึงจะได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์) แต่หนังสือของนักเขียนใหม่โดยมากขายไปได้ ๕๐๐๐ ฉบับ และเคยคำนวณกันว่า หนังสืออ่านเล่นเล่มแรกของนักเขียนใหม่นั้น เจ้าของได้เงินคิดถัวเล่มละ ๑๘๐ เหรียญ (อเมริกัน) เท่านั้น สมุดชนิดที่ขายได้ดีเลิศเคยได้เงินแก่เจ้าของ ๓๗๕๐ เหรียญก็เคยมี ๑๘,๗๕๐ ก็เคยมี และสมุดดีเลิศลอยเล่มหนึ่งเคยได้ ๑๕๐,๐๐๐ เหรียญ เป็นส่วนค่าขายสมุด (กรรมสิทธิอื่น ๆ ต่างหาก) แต่ในปีหนึ่งที่มีสมุดออกกว่า ๘๐๐๐ เล่มนั้น มีขายดีเลิศประมาณ ๑๒ ราย ดีเลิศลอยสักรายเดียวเท่านั้น ส่วนที่เจ้าของแต่งขึ้นแล้วไม่ได้พิมพ์นั้นนับไม่ถ้วน

ในประเทศอังกฤษ เราได้อ่านเมื่อเร็ว ๆ นี้ในหนังสืออะไรก็จำไม่ได้ว่านักเขียนในประเทศนั้น ได้ประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของราคาหนังสือที่ขายได้ นอกนั้นเป็นรายได้แก่เอเยนต์ แก่ผู้พิมพ์โฆษณา แก่ร้านขาย ฯลฯ หมด เพื่อนอังกฤษของเราคนหนึ่งบอกเราว่า หนังสือของเขาเล่มหนึ่งพิมพ์ไม่ช้าก็ขายหมดเกลี้ยง เขาได้เงินเป็นกำไร คือว่าเขียนและค่าลำบากอื่น ๆ เพียง ๕๐ ปอนด์

๏ ๏ ๏

ส่วนหนังสือไทยของเราเองที่เคยพิมพ์จำหน่าย นอกจากพิมพ์แจกนั้น เราเองแต่ก่อนไม่เคยขาดทุน (เคยแต่ถูกโกง) แต่ก็ไม่ได้เงินเป็นพกเป็นห่อ ถ้าถามว่าเขียนทำไม ก็ต้องว่าเขียนเล่นสนุก ๆ แต่ก่อนเคยเขียนเพื่อจะเอาชื่อบ้าง เช่นฉันท์และกลอนเรื่องใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องการชื่อ ยังเหลือแต่เล่นอย่างเดียว ต่อไปถ้าเกิดเป็นเงินเป็นทองขึ้นได้ ก็อาจเป็นเหตุให้เขียนอีกอย่างหนึ่ง

๏ ๏ ๏

กล่าวเฉพาะประมวญมารค ถ้าถามว่า ทำทำไม ก็ต้องตอบว่าทำเล่นเหมือนกัน แต่การเล่นอย่างนี้ ต้องลงทุนเครื่องมือและจ้างคนงาน ถ้าขาดทุนก็เล่นไม่ได้นาน เพราะไม่มีทุนจะขาดมาก

๏ ๏ ๏

เราคิดว่า ถ้าเก็บเอาเนื้อแท้ของความเป็นไปในเมืองจีนมาเล่าย่อ ๆ ผู้อ่านของเราโดยมาก ที่เคยเข้าใจราง ๆ และเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น การเล่าละเอียดนั้นพ้นสามารถที่จะทำได้ในหน้ากระดาษของเรา และที่กล่าวสั้น ๆ ต่อไปนี้ เขียนจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศอังกฤษ

ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ กักมินต๋องแตกกับพวกที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์จีน และตั้งแต่นั้นมา เจียงไคเช็กก็ต้องปราบพวกที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์บ้าง เรียกว่าโจรคอมมิวนิสต์บ้าง เรียกว่าพวกแดงบ้าง เป็นการที่ต้องทำแข็งแรง เปลืองทั้งเวลาทั้งชีวิตคนและทรัพย์มาจนบัดนี้ก็ยังไม่หมด พวกที่ต้องปราบนั้น บางพวกก็เคยอยู่ในทัพที่ส่งไปกวางตุ้งเมื่อปีก่อน เพื่อตั้งรัฐบาลราชยปริวรรตน์ (เราเอาศัพท์นี้มาจากมอเนียร์ วิลเลี่ยม อังกฤษเรียกว่า เรโวลูชั่น แปลว่าหมุนความปกครอง) เริ่มที่เมืองฮั่นเค้าก่อน แล้วย้ายไปนานกิง (นำเกี๋ยคือเมืองหลวงของซุ่นกวนในสมัยสามก๊ก) ในตอนนั้น มีคอมมิวนิสต์รัสเซียชื่อโบโรดินเป็นที่ปรึกษา และมีคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ช่วยด้วย ที่ปรึกษาเหล่านั้นได้เป็นกำลังปัญญาให้ได้เปรียบพวกจีนฝ่ายเหนือ ซึ่งเดินการไปทางแบบเก่า แต่พวกที่ปรึกษาเพาะความคิดคอมมิวนิสต์ลงไว้ในพวกจีนมาก ต่อมาเจียงไกเช็กได้อำนาจคลุมอยู่ทางเซี่ยงไฮ้ และดินแดนใกล้เคียง ก็ปลดพวกที่ปรึกษาที่มาจากรัสเซียเสียแล้วปราบคอมมิวนิสต์ ทำให้คอมมิวนิสต์ต้องมุดใต้ดินไป แต่ก็ยังอยู่ ฝ่ายนายทัพนายกองบางคน ซึ่งไม่ชอบวิธีของเจียงไกเช็กนั้น ก็แตกออกไป มีทหารหมู่ละมากบ้างน้อยบ้าง แล้วเพียรตั้งเป็นปึกแผ่นอยู่ในภาคใต้กลางของประเทศจีน ใช้ที่นั้นเป็นฐานทัพต่อสู้รัฐบาลที่นานกิง ต่อมามีคนพากันไปเข้าพวกอีก จนคอมมิวนิสต์เกิดมีกำลังแผ่ซ่านไปถึง ๔ มณฑล จับเจ้าพนักงานและผู้มีทรัพย์ฆ่าเสียมาก ทำลายโฉนดที่ดินเสียแล้ว เอาที่ดินแบ่งในพวกที่เข้าด้วย ได้ตั้งโซเวียตขึ้นหลายแห่ง และในเมืองที่ตั้งเป็นแหล่งกลางนั้น เมื่อเจียงไกเช็กตีได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนก่อนนี้ ก็ได้เห็นว่า จัดเป็นฐานทัพอันมีกำลัง มีโรงงานทำอาวุธ ฐานเรือเหาะ และที่เก็บน้ำมันไว้เป็นอันมาก ในที่นั้นจัดเป็นกระทรวงต่าง ๆ แบบโซเวียต มีคอมมิวนิสต์จีนเป็นหัวหน้าทั้งนั้น

แต่รัฐบาลนานกิงก็มีความยุ่งยากภายใน จะทำแก่พวกคอมมิวนิสต์จริงจังก็ยังไม่ได้ จน พ.ศ. ๒๔๗๔ ระหว่างที่นานกิงยังทำอะไรไม่ได้นั้น ทัพคอมมิวนิสต์รวมกำลังได้มากขึ้น จนมีทหารถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน มีปืนเล็กประมาณครึ่งจำนวนทหาร ทัพคอมมิวนิสต์เหล่านั้นเดินทางคล่อง จึงใช้วิธีรบอย่างที่ถูกกับพื้นที่ซึ่งเป็นเขา ถ้ารบไม่ได้เปรียบก็หลีกเลี่ยงไป ตามตียาก

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เจียงไกเช็กออกคุมทัพออกปราบพวกคอมมิวนิสต์เอง และมีกล่าวว่ากำลังจะล้อมที่มั่นของฝ่ายศัตรูอยู่แล้ว ก็พอเกิดรบกันขึ้นในพวกเดียวกันเอง และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ญี่ปุ่นเข้าถือเอาแม่งจูก๊ก รัฐบาลนานกิงก็ต้องถอนทหารจากการปราบคอมมิวนิสต์มาระวังการทางอื่นเป็นอันมาก พวกคอมมิวนิสต์ได้โอกาส ก็ดำเนินการก้าวหน้าไปอีก จนมีท่าทางว่า จะรุกล้ำเข้าไปได้ในแดนรถไฟที่เดินจากปักกิ่งไปฮั่นเค้า แต่ใน พ.ศ. ๒๔๗๕, ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ รัฐบาลกลาง (นานกิง) กลับปราบคอมมิวนิสต์อีก ใช้ทั้งกองทัพและวิธีปิดทางไม่ให้ค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับใครได้ มิหนำซ้ำเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ ในภูมิประเทศที่พวกคอมมิวนิสต์อยู่ ครั้นเสบียงอาหารน้อยลง พวกนั้นก็ต้องออกที่มั่นไป รวมทหารประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน ยกกันเดินทางไปในมณฑลหลายมณฑล จนเกือบจะเอื้อมมือถึงกับพวกคอมมิวนิสต์ในเสฉวน และอาจกลับติดต่อกับ พวกคอมมิวนิสต์รัสเซียได้อีก แต่ข่าวในบัดนี้มีมาว่า ทัพของรัฐบาลกลางกับทัพหัวเมืองได้ช่วยกันตีพวกคอมมิวนิสต์กระจายเป็นกองเล็กกองน้อยคุมกันไม่ติด เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดกันในทางทัพศึก ก็ดูไม่น่าจะมีภัยเกิดแก่รัฐบาลกลางจากพวกคอมมิวนิสต์ในเวลานี้ หากจะมีการลอบโจมต่อสู้ที่โน่นบ้างที่นี่บ้างเป็นครั้งคราว ก็คงจะไม่เป็นเหตุใหญ่

นั่นพูดส่วนการทัพศึก แต่ในส่วนอีคอนอมิกซ์นั้นคนละอย่าง มีคนต่างประเทศคนหนึ่ง เที่ยวดูความเป็นไปในเมืองจีน ในลุ่มแม่น้ำแยงซีพาข่าวกลับมาว่า ปีกลายฝนแล้งอยู่นานทำนาไม่ได้ จนทำให้คนในภูมิประเทศเหล่านั้นไม่ค่อยมีอาหารกิน และจวนจะอดตายเป็นจำนวนประมาณ ๑๒ ล้านคน ถ้าพูดตามที่เคยสังเกตกันมา คนจวนอดข้าวตาย ๑๒ ล้านคนนั้น ก็คือคนที่จวนเป็นคอมมิวนิสต์ ๑๒ ล้านคน เพราะความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์ในพวกคนจนในเมืองจีนนั้น ไม่เกี่ยวกับรัฐนิติกี่มากน้อย เป็นไปเพียงว่า จะพยายามหาวิธีอย่างอุกอาจที่จะแก้ทุกข์อย่างร้ายกาจเท่านั้น ข้อที่ว่า คนจนเป็นอันมากอยู่ในความจวนจะอดตายนั้น หมายความว่าอดจริง ๆ ตายจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่าอดแล้วขอทานกินได้ หรือขะโมยกินได้ หรือโกงกินได้ ที่อยก็เพราะไม่มีอาหารในท้องที่ทีเดียว การที่คนจวนอดตายมากเช่นนั้น ถ้าปล่อยทิ้งให้เป็นไปเอง ก็อาจเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตไปข้างหน้า เพราะคนเช่นนั้นเป็นเหยื่อของคอมมิวนิสต์ คือปั่นหัวได้ง่าย เหตุดังนั้น จึงเห็นกันว่า ความสำเร็จของเจียงไกเช็กที่ทำไปแล้วนั้น ถ้าไม่ทำต่อก็น่ากลัวว่า ภัยคอมมิวนิสต์จะระงับไปชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้ยินว่าเวลานี้ รัฐบาลต้องจ่ายเงินมากกว่ารายได้ถึงเดือนละล้านปอนด์ การที่จะจัดปลดทุกข์ของพวกทำไร่ไถนาให้สิ้นไปอย่างไรนั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญนัก

ข้างบนนี้เรากล่าวตามหนังสือพิมพ์อังกฤษ เป็นเนื้อข้อกระทงความแท้ ๆ ที่เราคิดว่าถูก และเราคิดว่า เขาว่าเป็นกลาง ๆ มิใช่แสร้งกล่าวติเตียนหรือให้ร้ายประเทศจีนเลย

๏ ๏ ๏

เราได้เคยพูดถึงเรื่องชาวเกาะฟิลิปปินส์ร่างรัฐธรรมนูญส่งผ่านรัฐสภาของตนแล้ว เสนอไปยังสหรัฐอเมริกา เปรซิเด็นต์ลงชื่อว่าเห็นชอบแล้ว และส่งคืนมายังฟิลิปปินส์ ให้ราษฎรลงความเห็นทั่วกันหมดว่า จะตกลงใช้รัฐธรรมนูญแบบนั้นหรือไม่ ความในรัฐธรรมนูญนั้นก็คือว่า ฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศอิสระอยู่ในเครือของสหรัฐอเมริกาไปก่อน ถ้าได้ปกครองกันใต้ตาของสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยไปถึง ค.ศ. ๑๙๔๖ (๑๐ ปี) ก็จะต้องเป็นริปัปลิกออกจากเครือของสหรัฐอเมริกา เป็นไทยแก่ตนแท้ ๆ มีอิสระเต็มที่เหมือนประเทศอิสระอื่น ๆ

ความเป็นอิสระของฟิลิปปินส์นั้น ย่อมจะเป็นพฤติการณ์สำคัญในประเทศต่าง ๆ แถบเรานี้ เพราะจะมีประเทศใหม่ขึ้นในทิศใต้แห่งจีน เป็นเกาะอยู่ระหว่างพื้นดินส่วนใหญ่แห่งทวีปเอเซีย กับหม่เกาะอีสท์อินดีสของฮอลันดา อันเป็นพื้นที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์ใต้ดินและบนดิน และมีเมืองมากด้วย

หมู่เกาะฟิลิปปินส์มีคนประมาณ ๑๔ ล้านคน มีทรัพย์ใต้ดินและบนดินหาประมาณมิได้ รวมทั้งแร่เหล็ก (ซึ่งเป็นของสำคัญของประเทศที่ต้องมีอาวุธ) ด้วย การที่สหรัฐอเมริกายอมปล่อยฟิลิปปินส์ให้เป็นประเทศอิสระนั้น ก็เป็นการแสดงโอบอ้อมอารีเป็นที่สุด แต่มีความที่กล่าวกันเปิดเผยในหมู่ชนบางพวกว่า ความอารีครั้งนี้เกิดเพราะพ่อค้าน้ำตาลในอเมริกาจัดให้เป็นไป โดยวิธีพูดจาแนะนำความคิดของตน และที่ทำดังนั้น ก็เพื่อจะปลดน้ำตาลฟิลิปปินส์ให้พ้นไปจากความแข่งขัน เพราะถ้าฟิลิปปินส์เป็นประเทศอิสระเสียแล้ว ก็จะส่งน้ำตาลเป็นสินค้าไปแข่งขันน้ำตาลอเมริกันในอเมริกาไม่ได้ รูปการเป็นเช่นนี้ จึงทำให้พวกที่รู้จักการค้าขายในประเทศฟิลิปปินส์เองเกิดวิตกขึ้นว่า อิสระซึ่งจะได้มานั้น เป็นเกียรติยศซึ่งกินไม่ได้ แต่กำไรการค้าขายนั้นกินได้ มีเกียรติ์มากแต่หิว กับมีเกียรติ์น้อยแต่อิ่ม ไหนจะดีกว่ากัน

วันที่เปรซิเด็นต์รูสเว็ลต์เซ็นให้อนุมัติอยู่ทางอเมริกานั้น ทางเกาะฟิลิปปินส์ควรจะเป็นวันยินดีปรีดา (เพราะย่อมจะรู้ถึงกัน) แต่ชาวต่างประเทศคนหนึ่งเขียนบอกไปยังหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษว่า เมื่อคนจับกลุ่มกันพูด ถ้าเป็นพวกที่รู้ทางการ ก็มักจะแสดงวิตกในการที่จะได้อิสระภาพ อันเป็นสิ่งซึ่งดิ้นรนอยากได้มาช้านาน

ข้อวิตกของชาวเกาะในเรื่องที่จะได้อิสระภาพนี้ รวมลงเป็น ๔ ข้อคือ (๑) วิตกเรื่องความติดต่อกับต่างประเทศ (๒) วิตกเรื่องการค้าขาย (๓) วิตกเรื่องศาสนา (๔) วิตกเรื่องกิจการภายในบ้านเมือง

ในเรื่องประเทศ พวกฟิลิปปินส์ (ชาวเกาะฟิลิปปินส์) ก็ดี ชาวยุโรปและอเมริกาที่อยู่ในเกาะ หรือมีเกี่ยวข้องในเกาะนั้น ๆ ก็ดี เกรงว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาปล่อยมือเต็มที่ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ แล้ว ญี่ปุ่นจะเข้าครอบงำในทางค้าขาย แล้วเกรงจะเลยเอื้อมเข้าไปทางอื่นด้วย เพราะว่าถ้าญี่ปุ่นเอาทุนเข้าไปจมไว้มาก และการปกครองไม่เรียบร้อยไซร้ กเป็นธรรมดาที่ญี่ปุ่นจะต้องระวังทรัพย์ของตน นี่เป็นข้อวิตกข้อที่หนึ่ง

ในเรื่องการค้าขายนั้น การเอาตนออกห่างจากอเมริกา ก็ย่อมจะมีทางเสีย เพราะตั้งแต่อเมริกาปล่อยให้สินค้าฟิลิปปินส์เข้าอเมริกาได้โดยไม่เสียภาษี การขายสินค้าของฟิลิปปินส์ ก็เป็นการขายให้อเมริกาเกือบทั้งสิ้น เป็นต้นว่า ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ นี้เอง สินค้าที่ออกจากฟิลิปปินส์นั้น ส่งไปอเมริกาถึง ๘๗ เปอร์เซ็นต์ น้ำตาลที่ส่งออกนอกประเทศ ส่งไปอเมริกาถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ มะพร้าวแห้งไปอเมริกา ๖๖ เปอร์เซ็นต์ ยาสูบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำมันมะพร้าว และเครื่องเย็บปักถักร้อย ไปอเมริกาเกือบทั้งหมด

เมื่อฟิลิปปินส์เป็นอิสระเต็มที่แล้ว อเมริกาจะเริ่มเก็บภาษีขาเข้าขึ้นอัตราไปเป็นอันดับ จนเก็บเท่าประเทศอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในเครือของสหรัฐอเมริกา เมื่อถึงเวลาเช่นนั้น เขาว่าสินค้าฟิลิปปินส์จะไปอเมริกาแทบไม่ได้ เพราะทนภาษีไม่ไหว พูดเฉพาะน้ำตาลกับยาสูบ ก็แทบจะถึงล่มจม จะต้องหาตลาดใหม่ เพราะการที่น้ำตาลกับยาสูบฟิลิปปินส์เข้าไปแย่งตลาดในอเมริกาได้เวลานี้ ก็เพราะไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

เฉพาะเราในเมืองไทยนี้ น่าคิดว่า ถ้าน้ำตาลฟิลิปปินส์เลิกส่งไปขายอมริกา น้ำตาลที่ขายกันในเมืองเรานี้ ก็คงจะมีมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือน้ำตาลฟิลิปปินส์จะมาแย่งตลาดในประเทศเรานี้ด้วย

อนึ่ง เมื่อการค้าขายของฟิลิปปินส์ตกต่ำลงไป ราษฎรก็ย่อมจะจนลง และการอยู่กินของคน ก็จะต่ำลง ความพอใจของพลมือง คงจะลดน้อยลงไปเพราะเหตุนั้น เขาว่าถ้าเช่นนั้น จะมีผลเป็นภัยแก่ศาสนา (คือศาสนาคริสเตียนนิกายคาโธลิค) แต่เราขอไม่อธิบายข้อนี้

ดังนี้เขาจึงว่า ชาวเกาะฟิลิปปินส์มีจำนวนไม่น้อย มีข้อวิตกในการที่จะได้อิสรภาพ แต่ก็ยังอีกนานจึงจะเห็นได้ว่า วิตกมีมูลหรือไม่

๏ ๏ ๏

นายห้างปั่นฝ้ายชาวออสเตรียคนหนึ่งเขียนรายงานว่า ด้วยฝ้ายและการทอผ้าในโลก กล่าวแห่งหนึ่งว่า “ญี่ปุ่นได้ออกหน้าแล้ว มิใช่แต่อังกฤษเท่านั้น ถึงแม้ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปรวมกันทุกประเทศ ก็ยังล้าหลังญี่ปุ่น เพราะใน ๒ ปี เท่านั้นเอง ญี่ปุ่นได้ส่งผ้าออกไปขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปกว่าแต่ก่อนถึง ๕๔๐ ล้านหลาตารางเหลี่ยม แต่ประเทศทั้งหมดในยุโรป รวมกันส่งผ้าออกไปเป็นสินค้าขายนอกประเทศ ลดลงกว่าแต่ก่อนถึง ๔๕๐ ล้านหลาตารางเหลี่ยม”

จำนวนที่ขึ้นไป ๕๔๐ ล้าน กับจำนวนลดลง ๔๕๐ ล้านนั้นผิดกันมาก ญี่ปุ่นต้องการปุยฝ้ายมากล้นคณนา ผู้เขียนอยากพูดอะไรซึ่งเคยพูดที่อื่นกว่า ๑๕ ปีมาแล้ว ในเรื่องการปลูกฝ่าย แต่ไม่อยากเปลืองหน้ากระดาษ

๏ ๏ ๏

ปเกียร ณ การมภ์เป็นแผนกสำหรับทำหน้าที่เบ็ดเตล็ดของประมวญมารค คือกล่าวถึงหนังสือที่นำลง และกิจการของเราที่ทำหรือที่เปลี่ยนแปลง อันควรนำออกแจ้งให้ผู้อ่านทราบ แต่ในฉบับที่แล้ว ๆ มาในหมู่นี้ ปเกียร ณ การมภ์เขียนไปไหนต่อไหนในโลก ผู้อ่านบางคนแจ้งให้เราทราบว่า เขียนอย่างนั้นก็ชอบ เราจึงกำหนดใจจะทำต่อไปอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งส่วนที่กล่าวถึงการงานของประมวญมารคเสียทีเดียว

ในคราวนี้เราจะกล่าวถึงหนังสือบางเรื่องที่ลง และจะถึงในประมวญมารค แล้วจึงจะเขียนเรื่อยไปถึงเรื่องอื่น ๆ

๏ ๏ ๏

ในฉบับ ๓๓ มีเรื่องของ “อาตี๋” คือเรื่อง “โอละเห่” อาตี๋เป็นนักเขียน ซึ่งเมื่อผู้อ่านประมวญมารคเป็นอันมากเห็นชื่อเข้าก็ยินดีพลิกหา เป็นผู้เขียนเรื่องซึ่งเจ้าของเองเรียกว่าเรื่องเหลว ๆ อันอาจเป็นความจริง แต่ของเหลวมีตั้งแต่แชมเปญไปจนน้ำที่ตักขึ้นมาจากคลอง เรื่องเหลว ๆ บางชนิดอาจทำผู้อ่านให้เพลินอารมณ์ไปในความเหลว และประมวญมารคยินดีในความเหลว (ถ้าเหลว) ชนิดนี้

๏ ๏ ๏

เราอ่านเรื่องเครื่องร่อนของ “ทัศนาลัย” เมื่อก่อนนำลงพิมพ์ ได้ความรู้ ซึ่งทำให้คิดต่อไปจนเพลิน นึกว่าการเดินเครื่องร่อน (Gliding) อย่างที่เล่านั้น เห็นจะสนุกนักหนา น่าจะสนุกกว่าเล่นว่าว หรือเล่นเรือยนต์ชนิดที่แล่นๆ หรือขี่ม้า ที่ว่าดังนี้ไม่ได้หมายความว่า การเล่นเหล่านั้นไม่สนุก หมายความเพียงว่าเล่นเครื่องร่อนน่าจะสนุกกว่า ซ้ำมีประโยชน์ลึกซึ้งด้วย ดังที่เยอรมันทำให้เห็นอยู่แล้ว

เรานึกต่อไปว่า ถ้าในประเทศเรามีสโมสรนักร่อนในพื้นที่ซึ่งมีลานกว้างพอควร และมีเนินลาด ก็น่าจะมีคนชอบเล่นกันมาก เครื่องร่อนเครื่องหนึ่ง ราคาก็ไม่สู้แพง ดูเหมือนว่าราคาสักเท่าม้าดี ๆ ตัวหนึ่ง อันตรายก็น้อยที่สุด เพราะปรากฏว่าในจำนวนคนมิรู้กี่หมื่นคน ซึ่งได้ขึ้นร่อน มิรู้กี่แสนเที่ยวนั้น เคยมีตายคนเดียวเท่านั้น อย่าว่าแต่จะเทียบกับรถยนต์ ซึ่งคนตายปีละหลายหมื่นคนเลย แม้จะเทียบกับคนตกม้าตาย หรือตกน้ำตาย ก็ยังน้อยกว่ากันมาก ทั้งนี้เป็นเพราะเครื่องร่อนตกลงมาเบา ๆ บางทีอาจปีกหัก และนาน ๆ คนอาจหัวแตกได้ แต่ไม่ตาย

๏ ๏ ๏

ถ้ามีนักกีฬามั่งมีล้นเหลือในเมืองเรา เราก็อยากอาราธนาให้ออกทรัพย์ เริ่มตั้งสโมสรนักร่อนขึ้น บุพกิจที่จะต้องทำคือหาสนาม (ซึ่งไม่น่าจะหายาก) สั่งเครื่องร่อนมาโหลหนึ่ง และสั่งครูมาสอน ไม่ช้าจะมีทั้งหญิงและชายเข้าเป็นสมาชิกกันจนสโมสรไม่มีที่จะรับ ถ้าท่านเศรษฐีนักกีฬาจะจัดเรื่องนี้ แม้เราไม่สามารถช่วยอย่างอื่น เราก็เอาใจช่วย แต่เห็นจะต้องเอาใจช่วยให้นักกีฬาเป็นเศรษฐีเสียก่อน เพราะยังไม่ปรากฏว่า มีนักกีฬาเป็นเศรษฐี หรือ เศรษฐีเป็นนักกีฬา

๏ ๏ ๏

โดยมากคงจะทราบแล้วว่า แต่ก่อนเยอรมันมีทัพฟ้า ซึ่งไม่ขึ้นหน้าขึ้นตาเลย เพราะกักไว้ไม่ให้สะสมกำลังให้มาก ครั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อเยอรมันถือเอาอิสระที่จะสร้างกำลังสงครามขึ้นตามอำเภอใจแล้ว ก็ปรากฏว่าจะมีทัพฟ้าเป็นกำลังสำคัญเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เกิดโดยประการที่น้อยคนคิดว่าจะทำได้ การสร้างทัพฟ้านั้น ต้องมีเรือให้มากก็จริง แต่เมื่อโรงงานพร้อมอยู่แล้ว จะเร่งกันทำเรือเหาะให้ได้เร็ว ๆ ก็ย่อมทำได้ แต่นักเหาะนั้นทำในโรงงานไม่ได้ ต้องใช้เวลาฝึกหัดคนหนึ่ง ๆ เป็นเวลานาน ได้ยินกล่าวกันว่า ในประเทศอังกฤษประมาณค่าฝึกทหารฟ้าคนหนึ่ง เป็นเงินถึง ๑๐๐๐ ปอนด์ กินเวลาถึง ๕ ปี ในประเทศเยอรมัน ถ้าฝึกสอนกันตามธรรมดา ก็คงเปลืองเวลาและเงินประมาณใกล้ ๆ กัน แต่เยอรมันมีนักร่อนมาก นักร่อนเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นนักเหาะแล้วเลยเป็นทหารฟ้า ก็เป็นได้เร็ว เพราะรู้ท่วงทีอยู่มากแล้ว เหตุฉะนี้ทัพฟ้าเยอรมันจึงสร้างได้เร็วนัก

๏ ๏ ๏

เราลงเรื่องนะโปเลียนตอนแพ้ศึกครั้งสุดท้ายที่วอเตอร์ลู เล่าสั้น ๆ ที่สุด เพราะย่อจากสมุด “ร้อยวัน” ซึ่งเป็นพงศาวดาร ตั้งแต่นะโปเลียนหนีจากเนรเทศครั้งแรก คืนไปเป็นเจ้าแผ่นดินครองประเทศฝรั่งเศส แล้วแพ้สงครามครั้งสุดท้ายต้องออกจากราชสมบัติอีก รวมอยู่ในร้อยวันเท่านั้น แต่เป็นร้อยวันซึ่งมีตื่นตกใจกันในยุโรปเป็นอันมาก นะโปเลียนเป็นผู้ซึ่งใครดูถูกไม่ได้จนวันสุดท้าย

หนังสือเรื่องราวของนะโปเลียนนั้น เราเคยได้ยินคำนวณว่า ถ้าท่านอ่านวันละเล่ม ตั้งแต่วันที่ท่านจากครรภ์มารดา อ่านตลอดไปจนวันตายในวัยแก่ หนังสือที่ท่านยังไม่ได้อ่าน เหลืออยู่ในวันตายนั้นจะยังมีอีกมาก

ประเทศฝรั่งเศสกับประเทศรัสเซีย คร้านความตระเตรียมคึกคักของเยอรมัน จึงทำสัญญากันว่า ถ้าเกิดศึกจะช่วยกัน เมื่อกลางเดือนก่อน ม. ลาวัล ซึ่งเวลานั้นเป็นเสนาบดีต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้ไปรัสเซีย แต่ไปตามทางได้แวะที่กรุงวอซอ เมืองหลวงประเทศโปแลนด์ เพื่อจะเจรจากับจอมพล ปิลซุดสกี้เสียก่อน ฝรั่งเศสต้องการจะรักษาไมตรีกับโปแลนด์ไว้ให้ดี แต่จอมพลพลฟิลซุดสกี้ไม่ชอบรัสเซียด้วยเหตุต่าง ๆ ซึ่งยาวเกินที่เราจะนำมาเล่าในที่นี้ เสนาบดีต่างประเทศฝรั่งเศส (ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นอรรคเสนาบดี) ย่อมทราบความไม่ถูกอารมณ์ของโปแลนด์ที่ฝรั่งเศสกับรัสเซียทำสัญญาว่า จะช่วยกันในคราวศึก เพราะเหตุว่า ถ้าเยอรมันยกเข้าตีฝรั่งเศส รัสเซียก็จะต้องยกทัพไปช่วยตามสัญญา และทัพที่จะไปช่วยนั้น ถ้าไม่ผ่านอาณาเขตโปแลนด์ก็ไปไม่ได้ อนึ่งกล่าวกันว่า โปแลนด์ไม่ไว้ใจสัญญาฝรั่งเศสกับรัสเซีย เพราะกลัวจะมีมาตราลับ ซึ่งไม่เปิดเผยให้ใครทราบ

๏ ๏ ๏

เมื่อ ม. ลาวัลไปถึงสถานีใหญ่ของเมืองหลวงโปแลนด์นั้น ความรับรองดีกว่าเมื่อเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสคนก่อนไปเมื่อปีกลาย แต่ก็มีข้อที่ทำให้ระแวงว่า รัฐบาลโปแลนด์รังเกียจสัญญาฝรั่งเศสกับรัสเซียเอามาก ๆ เพราะเสนาบดีต่างประเทศของโปแลนด์ ซึ่งไปรับที่สถานีนั้น บอกว่าจอมพลปิลซุสกี้ป่วยรับแขกไม่ได้ พวกหนังสือพิมพ์ในโปแลนด์ไม่เขียนรับรอง ม. ลาวัลเป็นอันดี เลยทำให้คนภายนอกคิดไปว่า จอมพลปิลซุคสกี้จะไม่ยอมรับแขกเมืองฝรั่งเศส เพราะไม่ถูกใจเรื่องทำสัญญาเป็นไมตรีสนิทกับรัสเซียก็เป็นได้

ม. ลาวัลได้อยู่ในโปแลนด์ ๒ วัน (วันที่ ๑๐ วันที่ ๑๑) แล้วเลยไปรัสเซีย วันรุ่งขึ้นมีข่าวประกาศว่า จอมพลปิลซุคสกี้ตาย

๏ ๏ ๏

จอมพลปิลซุคสกี้เป็นผู้สร้างโปแลนด์ปัจจุบัน ได้ “ทิ้งไพ่” ดีจนเกิดมีประเทศโปแลนด์ขึ้นใหม่ ประกอบขึ้นด้วยดินแดนซึ่งเดิมเคยเป็นของรัสเซียบ้าง ของเยอรมันบ้าง ของออสเตรียบ้าง ท่านผู้นี้เดิมเป็นโซเชียลิสต์ แต่กลายเป็นดิกเตเตอร์ในที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ปิลซุคสกี้ได้รับเลือกเป็นเปรซิเด็นต์ แต่ไม่รับเป็น ขอให้ตัวรองเป็น ตัวปิลซุคสกี้เอง รับบัญชาการกลาโหม แล้วเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่พวกบริหารมากขึ้น และให้การทหารขึ้นต่อทหาร ไม่ให้ต้องฟังคำพวกโปลิติกพลเรือน ปิคซุคสกี้ไม่ได้เป็นเปรซิเด็นต์ เป็นเพียงเสนาบดีกลาโหมก็จริง แต่เป็นผู้อยู่หลังฉากบัญชาการบ้านเมือง เมื่อตายไปฉะนี้ ก็หาตัวแทนยาก ประเทศโปแลนด์มีดินแดนเกือบเท่าประเทศเยอรมัน อยู่ระหว่างเยอรมันกับรัสเซีย (๒ ประเทศนั้นไม่มีอาณาเขตติดต่อกัน) โปแลนด์จึงเป็นประเทศสำคัญมากในภูมิศาสตร์ยุโรปปัจจุบัน

๏ ๏ ๏

คืนที่เราเขียนนี้มีข่าวทางวิทยุโทรเลขมาจากลอนดอนว่า ราชทูตอังกฤษประจำกรุงดิสอะมาบา เมืองหลวงของประเทศอบิสซิเนีย ถึงเวลาจะได้ลาพักราชการ แต่รัฐบาลอังกฤษขออย่าเพิ่งให้พักเลย ขอให้เลื่อนการลาพักไปไม่มีกำหนด เพราะรัฐบาลต้องการให้ราชทูตอยู่ประจำตำแหน่งในขณะซึ่งเป็นเวลาสำคัญ อาจเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ได้ (คำอังกฤษใช้ว่า in the present serious situation)

ที่ว่าเวลานี้เป็นเวลาสำคัญจนอาจเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ นั้น ก็ต้องหมายความว่า อาจเกิดเรื่องกับอิตาลี แต่เรื่องอิตาลีกับอบิสซีเนีย เมื่อประมาณเดือนหนึ่งมาแล้ว เราได้อ่านโทรเลขว่า อังกฤษเข้าเป็นตัวตั้งตัวตีในสันนิบาตชาติ ทำให้ตกลงว่าจะปรึกษาประนีประนอมกัน เราก็โล่งใจ เพราะว่าในสมัยนี้ใครจะทำสงครามกับใครก็ตามที ถ้าเป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ ๆ เข้าเกี่ยวข้อง ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้แล้ว ก็อาจเป็นควันพิษตระหลบไปทั่วโลก

ดังนี้เมื่อเราได้อ่านโทรเลขในเดือนก่อน ก็โล่งใจไปพักหนึ่ง แต่บัดนี้ได้ยินข่าววิทยุดังข้างบน เราจึงย้อนไปอ่านหนังสือพิมพ์จากประเทศอังกฤษที่มาถึงเมล์นี้ ก็ชักจะไม่วางใจไปอีก กล่าวตามหนังสือพิมพ์อังกฤษมีความว่า ความสำเร็จของมิสเตอร์อีเด็น (ผู้แทนอังกฤษ) ซึ่งไปเต้นแร้งเต้นกาในสันนิบาตชาตินั้น เป็นความสำเร็จเพียงให้เวลาหายใจไปพักหนึ่ง มิสเตอร์อีเด็นได้ร่างสัญญาเสนอ และอิตาลีตกลงรับจะใช้สัญญานั้น สันนิบาตชาติดีใจก็ประชุมกันเวลา ๒ ยาม รับรู้สัญญานั้นทันที และโล่งใจไปพักหนึ่ง สัญญานั้นมีความว่า อิตาลีกับอบิสซิเนียตกลงจะตั้งกรรมการพิจารณาข้อพิพาท จะตั้งบุคคลเป็นกรรมการประเทศละ ๒ นาย และจะร่วมกันตั้งคนที่ ๔ อีกนายหนึ่ง การตั้งกรรมการคนที่ ๕ นี้ จะต้องตั้งภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม มิฉนั้นกรรมการสันนิบาตชาติจะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง (แต่ไม่กล่าวให้ชัดออกมาว่า สันนิบาตชาติจะตั้งคนที่ ๕ เองหรือประการใด) เมื่อได้ตั้งกรรมการพร้อมทั้ง ๕ คนแล้ว ถ้าไม่ตัดสินตกลงกันภายในวันที่ ๒๕ สิงหาคมไซร้ กรรมการสันนิบาตชาติจะประชุมกันพิจารณาเรื่องราวต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

สัญญาที่จะตกลงกันดังนี้ ถ้าจะพูดเอาแต่ทางได้ ก็คือว่า การที่กำหนดเวลาลงไปเสียนั้น เป็นทางดีทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งคือข้อที่สันนิบาตชาติรวมเอาการพิจารณาข้อพิพาทไปเป็นงานของสันนิบาตชาติได้ เมื่อประเทศที่เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ ๒ ประเทศมีเรื่องแก่กัน ถ้าสันนิบาตชาติเข้าเอาเป็นธุระไม่ได้ ก็เก้อเอามาก ๆ ความสำเร็จ ๒ ข้อนี้ ถ้าจะเอาภาษาบัญชีมาพูด ก็ว่าเป็นฝ่ายเครดิต

แต่ฝ่ายเดบิตของบัญชีก็มีเหมือนกัน คือว่าการตั้งกรรมการ อนุญาโตตุลาการ เช่นที่ตกลงกันนี้ ได้กำหนดไว้แล้วในหนังสือสัญญาระหว่าง ๒ ประเทศที่เป็นคู่คดี คือสัญญาซึ่งทำกันไว้แต่ ค.ศ. ๑๙๒๘ มีความในข้อ ๕ ว่า ถ้ามีเหตุแก่งแย่งกัน รัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายจะใช้วิธีประนีประนอม หรือตั้งอนุญาโตตุลาการ “มิให้ต้องใช้อาวุธ” ถ้อยคำในสัญญาเดิมที่ว่ามิให้ต้องใช้อาวุธนั้น สันนิบาตชาติไม่สู้ไว้ใจ ในคราวนี้จึงขอให้อิตาลี กล่าวยืนยันข้อนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่อิตาลีไม่ยอมกล่าว จึงทำให้แสงของความสำเร็จหลัวลงไปเป็นอันมาก เพราะอิตาลีไม่ได้สัญญา และไม่มีใครขอให้สัญญา ว่าอิตาลีจะไม่ส่งทหารไปแอฟริกาเรื่อย ๆ ถึงแม้จะส่งไปอยู่ในแดนของอิตาลีเอง ก็ทำให้สดุ้งอยู่นั่นเอง

ข้อที่จะต้องลงฝ่ายเดบิตของบัญชีอีกข้อหนึ่งนั้นคือว่า กรรมการ ๕ คน ที่จะตั้งขึ้นนั้นมีหน้าที่จะทำอะไรบ้าง ก็ไม่สู้ปรากฏนัก ที่ทราบกันก็เพียงว่าให้พิจารณาเรื่องแดนต่อแดนที่เกี่ยวกับการรบที่ตำบลอุวัลอุวัลที่แล้วมาแล้ว แต่เรื่องแดนต่อแดนตอนอื่นจะว่ากระไรกันหาปรากฏไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นว่ากรรมการจะประชุมกันที่ไหน จะต้องเริ่มเมื่อไร ดังนี้เป็นต้น ข้อเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น เป็นเครื่องทำให้ชักยืดไปได้ เหมือนเช่นที่อิตาลีไม่รับรองกรรมการ ๒ นายที่อบิสซีเนียตั้งนั้น ก็เป็นข้อชักยืดมาหนหนึ่งแถว เพราะฉนั้น ข้อที่ว่าจะตกลงกันก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคมนั้น อาจมีผลเพียงว่า ทั้ง ๒ ฝ่าย สัญญาจะไม่ลงมือทำอะไรแก่กันก่อนวันนั้น แต่ถ้าเพียงเท่านั้น จะสัญญาหรือไม่สัญญาก็เท่ากัน เพราะระหว่างมิถุนายนกับกันยายนเป็นฤดูฝนในอบิสซีเนีย และฤดูฝนในอบิสซีเนียนั้น อย่าว่าแต่จะเดินทัพ จะเดินอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ในเจนีวา ตอนที่ประชุมกรรมการสันนิบาตชาตินั้น มีคำกล่าวให้รู้กัน (reports were circulated) ว่าท่านมุสโสลินีจะยอมตามใจท่านฮิตเลอร์ในเรื่องประเทศออสเตรีย ยิ่งกว่าจะยอมถูกขัดขวางในเรื่องอบิสซิเนีย อนึ่งมีข่าวรอยเตอร์ (พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประเทศอังกฤษ ฉบับที่เราอ้างอยู่ในบัดนี้) ว่าอิตาลีเรียกทหารเข้าประจำการ ถอยหลังไปถึงกองหนุน ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔) รวมทั้งหมด ๙ แสนคน และกำลังเรียกใหม่อีก ๒ แสนคน รวมทั้งทหารประจำการ ล้านกับแสนคน

นี่แหละ เมื่อเราได้ยินทางวิทยุคืนที่เขียนว่า รัฐบาลอังกฤษไม่ให้ราชทูตลาหยุด เราก็ชักจะตื่นเอามาก ๆ

๏ ๏ ๏

ประเทศอบิสซีเนียเป็นประเทศมีตำนานถอยหลังไปหลายพันปี ได้เริ่มกระทบกับอิตาลีหลายสิบปีมาแล้ว เราจะเล่าย้อนหลังไป และกล่าวถึงเนื้อแท้ของเรื่อง ก็ยาวเกินปเกียร ณ การมภ์ ไป จึงจะคิดไปปล่อยเรื่องให้บ่าไปในประมวญสารอีก ถ้าท่านใส่ใจจะทราบ เชิญท่านคอยดูหนังสือนั้นที่จะออกคราวหน้า เราจะปล่อยเรื่องให้ปาไปในประมวญสารอีกพอควร แต่จะมากนักก็เห็นจะไม่ดี เพราะได้ยินว่าคนอ่าน “รุ่นใหม่” ไม่ชอบอ่านหนังสือชนิดนี้ ท่านคงจะเข้าใจแล้วในบัดนี้ว่า ที่ว่ารุ่นใหม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอายุ เด็ก ๆ อาจเป็นรุ่นเก่าก็ได้

เราเขียนมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็หวนนึกไปข้างต้นอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าประเทศใหญ่ในยุโรป เกิดวิวาทกับประเทศเล็กในแอฟริกาถึงใช้อาวุธกัน จำเพาะประเทศต่อประเทศไซร้ เหตุไฉนควันพิษจะระบาดทั่ว ๆ ไปเล่า คำตอบความข้อนี้ ที่พูดได้ตรง ๆ มีเพียงว่า ถ้าสันนิบาตชาติ “เอาไว้ไม่อยู่” ปล่อยให้สมาชิกฆ่าฟันกันตาย สันนิบาตชาติก็ต้องเสื่อมความหวัง เป็นของไม่ดี แต่นอกจากนั้นจะมีอะไรอีกเราก็ไม่รู้ ได้แต่เพียงเดา และเราได้เคยอ่านคำพูดของท่านมุสโสลินีว่า การที่อบิสซิเนียทำอาการคึกคักได้คราวนี้ ก็เพราะได้อาวุธจากประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรป มิฉนั้นก็ฮึกเหิมไปไม่ได้ ประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรปมีดินแดน ซึ่งอาวุธจะผ่านเข้าไปถึงอบิสซิเนียได้นั้น ท่านจะเห็นในแผนที่ซึ่งจะลงในประมวญสารว่า นอกจากอิตาลีเอง ก็มีอังกฤษ ๑ ฝรั่งเศส ๑ ที่คั่นอบิสซิเนียไม่ให้ลงทะเลได้ การค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งปวง (รวมทั้งอาวุธ) ที่จะต้องเดินทางทะเล ก็ต้องผ่านดินแดนของพวกยุโรป ๓ ประเทศนั้นทั้งสิ้น อีกข้อหนึ่งเราได้เคยอ่านโทรเลขเยอรมันพูดเปรย ๆ ว่า บนเขาใหญ่ในประเทศอบิสซีเนียนั้น มีลำน้ำหลายสายซึ่งไหลไปป้อนแม่น้ำไนล์ในอิยิปต์ ถ้าผู้มีอำนาจในอบิสซีเนียปิดทางน้ำเหล่านั้นเสีย การชลประทานใหญ่โต ซึ่งเลี้ยงอิยิปต์อยู่นั้น จะแห้งไปโดยเร็ว และความมั่งคั่งของประเทศนั้น ก็จะเหือดไปตามกัน ข้อที่โทรเลขเยอรมันกล่าวนี้ อันที่จริงปรากฏในพงศาวดารทีเดียว อังกฤษได้เคยขอคำมั่นสัญญาจากอบิสซีเนียว่า อย่าให้เล่นแกล้งเรื่องนั้นเลย

๏ ๏ ๏

เราอ่านหนังสือของ “ทัศนาลัย” ในประมวญมารคฉบับนี้แล้ว ก็นึกต่อไปถึงเรื่องทองคำ ซึ่งเป็นปัญหาไม่รู้จักแล้วจักรอด ที่เรียกว่าทองคำก็คือโลหะชนิดที่ใช้ทำพานและกระโถนและแหวนกำไรเครื่องประดับกายต่าง ๆ นั้นเอง แต่ในที่นี้หมายความเฉพาะส่วนที่ใช้เป็นทองตราเงินตราหรือ เครื่องหนุนทองตราเงินตราหรือธนบัตร ซึ่งที่จริงก็โลหะชนิดเดียวกัน แต่เมื่อเอาไปทำกระโถน และกำไลเสียแล้ว ก็แตกคอกออกไปอยู่ส่วนหนึ่งต่างหากจากทองที่ใช้เป็นทองตราเงินหรือธนบัตร และแตกคอกอยู่ตลอดเวลาที่ยังเป็นภาชนะและวัตถุเหล่านั้น เป็นต้นว่าเมื่อเราพูดว่าทองในอเมริกามีอยู่เท่านั้น ทองในฝรั่งเศสมีอยู่เท่านี้ เราก็หมายความถึงทองที่เก็บไว้เป็นลิ่ม ๆ (หรือเป็นทองตรา) และหมายความถึงเนื้อทองแท้ที่มีในลิ่มไม่คำนึงถึงทองแดงที่มีผสมอยู่ในลิ่มนั้นด้วย ส่วนแหวนกำไล และจานทองหรือภาชนะหรือวัตถุอื่น ๆ ก็ดี เราไม่เอามารวมในปริมาณแห่งทอง ที่พูดว่ามีในประเทศนั้น ๆ ข้อความเหล่านี้ มีอุปเท่ห์ท่วมหลังช้าง จะอธิบายให้ละเอียดก็ยาวเกินหน้ากระดาษที่มีในหนังสือนี้

อนึ่ง มีศัพท์ว่า “เลิกทอง” ซึ่งเพิ่งจะใช้กันขึ้นใน ๔-๕ ปีนี้เอง อาจอธิบายยกตัวอย่างว่า แต่ก่อนนี้เงินบาทของเรามีทองหนุนหลัง คือรัฐบาลสยามสัญญาว่า ใครนำเงินบาทไปขอแลกเอาทอง รัฐบาลก็จะจ่ายทองให้ เมื่อ ๓-๔ ปีนี้ รัฐบาลถอนคำ คือประกาศว่าไม่รับแลกหละ ที่เรียกว่าเลิกทอง ตามภาษาใหม่ (off gold)

เราเขียนเรื่องนี้ต้องสมมติว่า ผู้อ่านของเรารู้วิธีการอยู่บ้าง เราจะกล่าว ก ข นโมของเคอเร็นซีก็ไม่ได้ เพราะเป็นตำราเล่มเขื่อง ๆ ที่ท่านจะต้องเรียนที่มหาวิทยาลัย (ถ้าเขาสอนที่นั่น) แต่ถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่ได้สวน เราก็เห็นอก เพราะแต่เพียงคำว่า มันนีย์ หรือเคอเร็นซี ก็ไม่รู้จะเรียกเป็นไทยว่ากระไรเสียแล้ว จะเรียกว่าเงินตราก็ทั้งใช่และไม่ใช่ จะเรียกว่าธนบัตรก็ทั้งใช่และไม่ใช่ ถ้าจะเรียกว่ามะพร้าวห้าวก็เกือบจะได้ความเสมอกัน เพราะมะพร้าวห้าว เคยใช้เป็นกลางสำหรับวัดราคาซื้อขายสินค้ากันที่เกาะบางแห่งในทะเลใต้ เช่นหมวกใบหนึ่งราคา ๕๐๐ มะพร้าวห้าวเป็นต้น แม้ปลาร้าก็อาจเป็นมันนีย์หรือเคอเร็นซีในบางภาคแห่งสยามเรานี้เอง เช่นในภูมิประเทศที่เป็นป่าเถื่อน ไม่มีติดต่อกับประชุมชนอื่น และไม่มีที่ใช้เงินตราหรือธนบัตรหรือสตางค์เลย การที่จะตั้งศัพท์ขึ้นสำหรับเรียกมันนีย์หรือเคอเร็นซีนั้นไม่ยาก ข้อยากอยู่ที่ว่า ถ้าตั้งศัพท์ขึ้นใหม่ศัพท์หนึ่ง ให้มีความหมายอย่างคำอังกฤษแล้ว ใครจะเข้าใจศัพท์ใหม่นั้น ก็จะต้องเข้าใจคำอังกฤษเสียก่อน เราพูดดังนี้เพราะเคยเห็นศัพท์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ๆ เป็นต้นว่า “อิทธิพล” เป็นศัพท์แปลคำอังกฤษว่า อินฟลวนซ์ คนที่ไม่รู้จักคำว่า อินฟลวนซ์ เห็นศัพท์อิทธิพลเข้า ก็ไปถามท่านมหาที่วัด ท่านมหานึกถึงทศพลคือกำลัง ๑๐ อย่าง ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ชักจะฉงน แต่แปลให้ฟังตามศัพท์ว่า อิทธิคือฤทธิ์ พละแปลว่ากำลัง อิทธิแปลว่ากำลังคือฤทธิ์ ผู้ฟังได้ยินชอบใจ เห็นเป็นคำเก๋ดีก็จำไปใช้ เราเคยได้ยินข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นสูงคนหนึ่ง ใช้คำอิทธิพล เมื่อต้องการจะว่าอำนาจวาสนา เลยทำให้เรารำพึงถึงความยากแห่งการตั้งศัพท์ให้ไทยใช้แทนคำอังกฤษ ผู้ใช้จะต้องรู้คำอังกฤษและรู้วิธีใช้เสียก่อน จึงจะใช้ศัพท์ไทยที่ตั้งใหม่ให้ถูกได้ มีคำว่า “เฉพาะอย่างยิ่ง” อีกคำหนึ่งซึ่งได้ยินใช้ผิดความหมายของผู้บัญญัติศัพท์มาหนักกว่าหนัก คำนั้นจะให้เป็นคำแปลอังกฤษว่า เอ็ซเป็ซเชียลลี แต่คนจะต้องรู้ภาษาอังกฤษดีพอใช้ จึงจะใช้ศัพท์นั้นถูก เมื่อเอ็ซเป็ซเชียลลีไม่เป็น ก็ใช้ “เฉพาะอย่างยิ่ง” ไม่เป็น เหมือนเราได้พบหนังสือขึ้นต้นว่า “เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้ามีสภาพ...” ทั้งหมดนั้นมีคำไม่ผิดอยู่แต่ “ข้าพเจ้ามี” ๒ คำเท่านั้น

๏ ๏ ๏

ศัพทใหม่ แต่เรากำลังเขียนว่าด้วยทองคำ ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาเคอเร็นซีหรือมันนีย์ จะใช้คำอังกฤษเรื่อยไปก็เป็นคำไม่คุ้นหู จะว่า “ทองตราเงินตราธนบัตร” ก็เท่ากับใช้ว่า “ชายหญิงกระเทย” แทนที่จะใช้ว่า คน คำเดียว เราจึงเห็นว่า ถ้าจะตั้งศัพท์สำหรับเราใช้เองในที่นี้ ก็จะสะดวกแก่ผู้อ่าน (และถ้าจะพูดตามจริงก็สะดวกแก่ผู้เขียนด้วย)

แต่ก่อนเราใช้เบี้ยสำหรับซื้อขายกัน บาทหนึ่ง ๖๔ อัฐ อัฐหนึ่ง ๑๐๐ เบี้ย เบี้ยเป็นคะแนนสำหรับนับ และใช้เป็นคะแนนเงินตรา แล้วเลยแปลว่าเงินตราในที่ใช้บางแห่ง ยังใช้ติดอยู่เดี๋ยวนี้ เช่นคำว่า เบี้ยเลี้ยง เบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญ เบี้ยปรับ เบี้ยทำขวัญ เป็นต้น

ในที่นี้เราจะใช้ เบี้ยตรา ตามความหมายที่อังกฤษใช้ว่ามันนีย์ ถ้าท่านอ่านต่อไปพบคำว่า “เบี้ยตรา” โปรดเข้าใจว่าเป็นคำรวมทองตราเงินตรา สตางค์ขาว สตางค์แดง ธนบัตร ซึ่งแต่ละอย่างเป็นเบี้ยตราทั้งนั้น แม้มะพร้าวห้าวที่เกาะทะเลใต้ก็เป็นเบี้ยตรา และอาจรวมปลาร้าที่ไหนด้วยก็ได้ อนึ่ง เคอเร็นซี คือ เบี้ยตราซึ่งกำลังใช้กันอยู่ ไม่ใช่ที่เลิกใช้แล้ว (เช่นอัฐเป็นเบี้ยตราอย่างเก่าซึ่งเลิกแล้วไม่เป็นเคอเร็นซี)

๏ ๏ ๏

เราตั้งต้นจะพูดถึงเรื่องทองคำ แต่เลี้ยวไปตามทุ่งจนผักบุ้งโหรงเหรง จะกลับไปเรื่องทองคำใหม่ เราปรารภเรื่องนั้นขึ้น เนื่องแต่เรื่องของทัศนาลัย และเพราะได้พบปัญหา ๒ ข้อ ข้อหนึ่งว่า ในเวลานี้ประเทศที่ “เลิกทอง” มีหลายประเทศขึ้นทุกที แต่เหตุไฉนราคาทองจึงสูงขึ้น สิ่งที่คนต้องการน้อยลง ก็ควรจะลดราคาไม่ใช่หรือ อีกข้อหนึ่งว่า ในเวลานี้เหตุไรคนจึงยังอุตส่าห์ขุดแร่ทองขึ้นมาจากใต้ดิน เมื่อได้มาแล้วก็เอามาเก็บเข้าห้องมั่นในธนาคารเท่านั้นเอง ไปขุดให้เหนื่อยและต้องเปลืองที่เก็บทำไมกัน

เมื่อมีคำถามก็น่ามีคำตอบ ถ้าเป็นคำถามที่พอตอบได้ ปัญหาที่เรื่องเลิกทอง และราคาทองนั้นน่าจะตอบให้เข้าใจได้ง่าย (เว้นแต่ถ้าท่านไม่รู้ ก ข นโมในเรื่องเหล่านี้เสียเลย ซึ่งไม่เป็นการประหลาด เพราะคนโดยมากมอบให้รัฐบาล นายธนาคารและนักเศรษฐการเป็นผู้มีหน้าที่เข้าใจ คือเริ่มว่า ตนเองถึงจะไม่เข้าใจ ก็คงจะยังกินได้นอนหลับอยู่นั่นเอง เว้นแต่จะกินไม่ได้นอนไม่หลับด้วยเหตุอื่น)

ขึ้นต้นอาจกล่าวได้ว่า ถึงประเทศที่สำคัญ ๆ จะได้เลิกทองไปแล้วหลายประเทศก็จริง แต่ประเทศสำคัญ ๆ ที่ยังไม่เลิกก็มี ตราบใดยังมีประเทศที่ยังไม่เลิกทอง แม้ประเทศเดียว ตราบนั้นยังมีผู้ต้องการทองไม่จำกัดปริมาณ เพราะประเทศที่ยังไม่เลิกนั้น ยังคงสัญญาอยู่ว่า จะขายและซื้อทองไม่ว่าเท่าไร ๆ ตามราคาที่กำหนดไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ใครจะเอาเบี้ยตราของประเทศนั้นมาแลกทองเท่าไร ก็จะจ่ายทองให้ หรือจะเอาทองมาขอแลกเบี้ยตราเท่าไร ๆ ก็จะให้แลกเหมือนกัน การเป็นดังนี้ก็คือว่า ทองคำยังมีตลาด คือมีที่ขายได้อยู่ เหตุฉนั้นราคาทองคำจึงไม่ตก เหมือนสินค้าที่ไม่มีใครต้องการ ที่ว่าราคาทองคำนั้น คือราคาคิดตามเบี้ยตราที่ไม่ใช่ทอง (เราจวนจะพูด ก ข นโมเต็มทีแล้ว จะเดินความต่อไปเสียที)

ข้อที่ว่าเพราะประเทศที่ไม่เลิกทองยังมีอยู่ ทองจึงมีที่ขายไม่จำกัดปริมาณอยู่นั้น ก็เป็นข้อสำคัญอยู่แล้ว แต่ยังมีสำคัญกว่านั้น คือว่าประเทศที่เลิกทองไปแล้วนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะเลิกเด็ดขาด ยังคิดอยู่ว่า จะกลับไปใช้เบี้ยตราทองคำ หรือใช้ทองคำเป็นเครื่องหนุนเบี้ยตราในวันข้างหน้าต่อไป จะใช้เมื่อไรก็ยังไม่รู้ แต่คิดจะใช้สักวันหนึ่ง

ประเทศอังกฤษเลิกทองเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ. ๒๔๗๔) แต่ไม่หมายความว่า จะไม่ใช้ทองอีกเลย เวลานั้นอังกฤษต้องจ่ายทองออกจากบ้านเมืองจนมีเหลือน้อยลง จึงเลิกทอง เพราะจะสงวนทองไว้ เมื่ออังกฤษขึ้นต้นแล้ว ประเทศอื่น ๆ ก็ตามหลายประเทศ รวมทั้งสยามด้วย ในที่สุดอเมริกาซึ่งมีทองมากกว่าใคร ๆ ก็เลิก และฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็จวนต้องเลิก เกิดเกรียวกราวกันใหญ่ จนต้องเปลี่ยนรัฐบาลอย่างล้มลุกคลุกคลาน เราอ่านในหนังสือพิมพ์ลอนดอนที่มาถึงเมื่อวานนี้ว่า ในตอนนั้นมีคนบางพวก นึกว่าจะต้องเกิดมีผู้บงการเด็ดขาด (ดิกเตเตอร์) ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และออกชื่อคน ๒ คน ที่อาจต้องเข้ารับเป็น ผู้บงการประเทศ แต่ในที่สุดก็ปัดเป่ากันไปได้ ดังทราบกันทางโทรเลขแล้ว

๏ ๏ ๏

การเลิกทองนี้ เป็นวิธีการภายหลังสงคราม แต่ก่อนสงครามมักใช้วิธี “ปล่อยลม” (ดีเฟลชั่น) อันเป็นวิธีทำให้สินค้าทุกอย่างลดราคาลงไป เมื่อเทียบกับทอง สมัยนี้ใช้วิธี “เลิกทอง” ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือขึ้นราคาทองเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ ส่วนอเมริกานั้น เมื่อเลิกทองแล้ว ก็ยังเดินต่อไปอีกก้าวหนึ่ง คือตั้งหน้าตั้งตาลดราคาเบี้ยตรา (ธนบัตรเหรียญ) ของตนเอง และลดโดยวิธีเอาธนบัตรเหรียญซื้อทองคำ ซึ่งตีราคาซื้อสูงขึ้นไปร่ำไป นี้แหละเป็นตัวอย่างแห่งเหตุที่คนขุดทองในดิน และการขุดทองเวลานี้เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งจำเริญมั่นคงนัก

๏ ๏ ๏

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะรัฐบาลโดยมาก ไม่ตกลงใจว่าจะใช้ทองหรือไม่ คิดกันว่าใครมีทองเก็บไว้ ถ้าเกิดสงครามขึ้น ก็คงจะเป็นประโยชน์ ส่วนในเวลาสงบนั้นเล่า ถึงจะเอาทองเก็บลั่นกุญแจไว้เฉย ๆ สมมุติว่าไม่เกี่ยวข้องกับเบี้ยตราเลยก็ตาม แต่นั่นก็เป็นแต่สมมุตินั้นเอง ตามความจริงเมื่อมีประเทศใดมีทองนอนอยู่ก้นกำปั่นแล้ว คนที่ใช้เบี้ยตราของประเทศนั้น ก็นอนใจ ดัง นี้ จึงควรกล่าวได้ว่า ความยากทั้งหลายในเรื่องทองนี้ เป็น เพราะรัฐบาลโดยมากไม่ทำใจลงไปว่าจะเอาอย่างไรกันแน่

การที่เป็นดังนี้ ก็ย่อมจะมีทางเสียมาก เป็นต้นว่า ต้องเปลืองแรงและทนขุดเอาทองขึ้นมาแล้ว ก็เป็นแต่เอาเก็บไว้เท่านั้นเอง ในสมัยก่อนจึงกลบ เมื่อประเทศโดยมากยังใช้ทองคำทำเบี้ยตรา หรือใช้ทองคำสำรองเบี้ยตรานั้น การค้าขายแก่กันก็สะดวก เพราะอาจว่าราคากันง่าย ในสมัยนี้เมื่อเบี้ยตราของประเทศหลายประเทศ “อยู่ในอากาศ” (in the air) หรือใช้สำรองด้วยลม ก็ทำให้ไว้ใจกันยาก

สิ่งที่น่าเห็นว่าจะต้องจัดก็คือ ป้องกันความคลอนแคลนในเรื่องราคาสินค้าระหว่างประเทศ ต้องร่วมใจกันทำ และอเมริกากำลังเริ่มชักชวนประเทศอื่นอยู่แล้ว แต่เพียงเวลาที่เขียนนี้ ยังไม่เห็นท่าทางที่จะลุล่วงไปได้

เราน่าจะเห็นความ ๒ ข้อ ข้อ ๑ ว่าถ้าจะเลิกทองคำเสียเลย ไม่ใช้ทองคำเป็นหลัก ก็จะได้อะไรมาแทน เหตุที่เกิดความยุ่งยากกันมาแล้วในโลกนั้น ไม่ใช่ความผิดของทองคำ เป็นความผิดของเครดิตต่างหาก ข้อ ๒ ประเทศเดียวจะคิดการเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ต้องร่วมมือกันทำให้พร้อมเพรียง จึงจะลุล่วงไปได้ และทุกประเทศต้องเต็มใจคิดกู้การค้าขายของโลกทั่วไป

๏ ๏ ๏

ฉากเก่า เมื่อเดือนหนึ่งมาแล้ว เป็นฉากเยอรมันฮิตเลอร์นายโรงเอก ข้อที่ฮิตเลอร์ประกาศว่า จะไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาแวร์ไซล์บางข้อต่อไปอีกนั้น ยังเป็นข้อที่พูดกันยังไม่หยุดในตอนต้นเดือนมิถุนายน ยังเดากันอยู่ว่า การจะดำเนินต่อไปอย่างไรได้บ้าง

สัญญาแวร์ไซล์เป็นสัญญาเลิกสงคราม เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ถูกบังคับต่าง ๆ และถ้าจะนับสิ่งที่เสียไปในคราวนั้น ที่เป็นส่วนใหญ่ก็นับได้ ๗ อย่าง นอกจากการเสียชีวิตและทรัพย์ในการรบ ๗ อย่างนั้นคือ

(๑) อาณาเขตในยุโรป ๒๕,๐๐๐ ไมล์ (ตารางเหลี่ยม) มีพลเมืองประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน ใต้ดินคือแร่ต่าง ๆ เป็นอันมาก

(๒) เมืองขึ้นทั้งหมดประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไมล์ พลเมืองประมาณ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ คน กับทรัพย์ต่าง ๆ ในเมืองขึ้นนั้น ๆ คำนวณว่าประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์แห่งทรัพย์ทั้งหมดของเยอรมันที่มีก่อนสงคราม

(๓) ต้องรับจะเสียค่าทำขวัญ ซึ่งฝ่ายชนะกำหนดให้เสีย

(๔) เรือกำปั่นค้าขายซึ่งเคยมี ๕,๕๐๐,๐๐๐ ตัน นั้นเหลือเพียง ๔๐๐,๐๐๐ ตัน

(๕) ทัพเรือถูกลดลงไป ให้มีได้เพียงเรือแบตเตอลชิป ๖ ลำ เรือครูเซอร์ ๖ ลำ ห้ามไม่ให้มีเรือใต้น้ำเลย

(๖) ทัพบกต้องลดลงไปเหลือ ๑ ใน ๘ ของกองทัพที่เคยมีก่อนสงคราม ให้มีได้ ๑ ใน ๗ ของกองทัพฝรั่งเศส

(๗) ความยุ่งยากในการค้าขายทั่วไป

๏ ๏ ๏

๗ อย่างที่เยอรมันต้องเสียไปตามสัญญาเลิกสงครามนั้น ในเวลานี้ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๒ ก็ยังเป็นไปตามเดิม นอกจากแคว้นซาร์ ซึ่งย้ายไปอยู่กับเยอรมันตั้งแต่ก่อน และย้ายด้วยโหวตของพลเมืองเอง

ข้อ ๓ เรื่องทำขวัญนั้นเลิกกันแล้ว เพราะทราบกันแน่ว่าปูไม่มีเลือด

ข้อ ๔ นั้นเรือกำปั่นค้าขายของเยอรมัน สร้างขึ้นใหม่ ๆ มาก เพราะไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้สร้าง เวลานี้คงจะมีพอแก่การค้าขาย และเมืองขึ้นที่จะต้องติดต่อทางทะเลก็ไม่มีแล้ว

ส่วนข้อ ๕ เรื่องเรือใต้น้ำ เยอรมันกลับสร้างใหม่ โดยที่ไม่ปรึกษา หรือขออนุญาตใคร และเรือรบก็ทำความเข้าใจกับอังกฤษว่า จะมีเท่ากับ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของทัพเรืออังกฤษ ข้อที่อังกฤษไปตกลงกับเยอรมัน ๒ ต่อ ๒ ในเรื่องทัพเรือนั้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้บ่นกันในประเทศอื่นบ้าง แต่เสนาบดีอังกฤษ (มิสเตอร์อีเด็น) ได้เที่ยวอธิบายทั้งในฝรั่งเศสและอิตาลี จึงไม่มีเสียงคัดค้านกันนัก กระนั้น ยังมีผู้วิตกในเมืองอังกฤษเองว่า ที่เยอรมันจะมีทัพเรือ ๓๕ เปอร์เซ็นนั้น ทัพเรือ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของเยอรมันคงจะรวมกันอยู่แห่งเดียว แต่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของอังกฤษจะต้องกระจายกันอยู่ทั่วโลก และทัพเรืออังกฤษที่ประจำอยู่ใกล้ ๆ ประเทศอังกฤษเองนั้นหาถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของกำลังทัพเรืออังกฤษทั้งหมดไม่ อนึ่งเยอรมันกำลังบอกล่วงหน้าจะขอสร้างเรือรบใหม่ ๆ ใน ๕ ปี ข้างหน้า ซึ่งเมื่ออังกฤษยอม ก็แปลว่าอังกฤษจะต้องสร้างเติมอีก เพื่อรักษาส่วนไว้

๏ ๏ ๏

เมื่อเยอรมันกลับฟื้นกำลังขึ้นอีกดังนี้ ก็เดากันขึ้นว่าจะทำอะไรต่อไป ในเวลานี้เยอรมันกับโปแลนด์มีสัญญาไมตรีกันว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายจะไม่บุกรุกกันภายใน ๑๐ ปี ก็เป็นอันว่านอนใจด้านนั้นได้ รัสเซียไม่มีแดนต่อแดนกับเยอรมัน เดินถึงกันไม่ได้ นอกจากจะผ่านโปแลนด์ ด้านอิตาลีมีออสเตรียลั่นอยู่ อิตาลีกับเยอรมันไม่มีแดนต่อแดน กัน เดินถึงกันไม่ได้ นอกจากจะผ่านออสเตรีย ฮิตเลอร์กล่าวว่า ไม่ต้องการดินแดนอีก แต่เราเข้าใจว่า ถ้าออสเตรียสมัครเข้าร่วมกับเยอรมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเช่นนั้น อิตาลีจะไม่ชอบเลย เพราะไม่อยากมีแดนต่อแดนกับเยอรมัน

ยังมีอีกข้อหนึ่งในสัญญาแวร์ไซล์ ซึ่งทำให้เยอรมันไม่มั่นใจ คือเยอรมันถูกห้ามไม่ให้มีกองทหาร หรือตั้งที่มั่นในที่ใกล้แดนต่อแดน ถ้าเกิดศึกขึ้นก็จะถูกรุกง่าย สัญญาแวร์ไซล์ข้อสำคัญ ๆ เยอรมันได้เลิกปฏิบัติหลายข้อแล้ว จึงคิดเดากันว่า เมื่อถึงเวลาเหมาะเมื่อไร ก็คงจะรีบเข้าทำที่มั่นตามแนวแกนต่อแดนคือตั้งกองทหาร และทำป้อมค่าย เป็นต้น การทำเช่นนั้นต้องเลือกเวลาให้เหมาะ ถ้าเลือกเวลาไม่เหมาะจะเกิดสงครามทันที เพราะเป็นการส่งทหารเข้าตั้งประชิดเขตแดน ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งจะนิ่งไม่ได้ เวลาที่เหมาะของเยอรมัน ก็คือเมื่อประเทศอื่น ๆ เกิดสงครามขึ้น หรือมีจลาจลภายใน ผู้ติดสงครามหรือกังวลปราบจลา จลภายใน ก็ไม่มีมือว่างที่จะคัดค้านเยอรมันหรือทำอะไรได้

๏ ๏ ๏

ฉากใหม่ ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นฉากเก่า เวลานี้ลครเปลี่ยนฉากกลายไปเป็นเรื่องอิตาลีกับอบิสซูเนีย ซึ่งน่ากลัวอยู่มาก อบิสซิเนียตระเตรียมอะไรบ้าง ไม่มีข่าวที่เป็นหลักฐาน แต่การส่งทหารของอิตาลีนั้น เมื่อเพิ่มไปลำเรือหนึ่ง ก็ย่นทางไปสู่ศึกเข้าอีกหน่วยหนึ่งทุกลำเรือ เราอ่านในหมู่นี้ว่าหนังสือพิมพ์ในประเทศต่าง ๆ กล่าวสาดน้ำรดกันมาก

๏ ๏ ๏

ในสองสามปีที่แล้วมานี้ โหรทำนายว่า จะเกิดสงครามร่ำไป แต่ก็ยังไม่เกิด เวลานี้ก็มีทำนาย แต่โหรจะผิดตามเคยหรือกระไรนั้น ก็ต้องคอยดูไป ถ้าโหรทายถูก ก็น่ากลัวไฟประลัยกัลป์ เราจึงควรบลบานให้โหรผิด

๏ ๏ ๏

ในตอนนี้เรานำเรื่องราชาธิราช ของประเทศเม็กซิโกมาเล่า ประเทศนั้นอยู่ในทวีปอเมริกาตอนเหนือ แต่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐอเมริกา เวลานี้เป็นประเทศรีปับลิกอยู่ต่างหาก และถ้าจะดูตามตำนานของประเทศ ก็ดูชอบเล่นขบถกันราวกับเล่นแข่งม้า เช่นได้มีขบถ ๒๖๐ ครั้ง ภายใน ๑๐๐ ปีเป็นต้น

ประเทศเม็กซิโกนี้ ฝรั่งไปพบเข้าครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ราว ๑๕๐๐ ปี (เราเขียนจากความจำ ไม่ได้เปิดหนังสือสอบศักราช) ก่อนที่ฝรั่งรู้ว่ามีเม็กซิโกและมีอเมริกาทั้งทวีปนั้น เม็กซิโกเป็นประเทศมหากษัตริย์เป็นหัวหน้า มีวิธีปกครอง และมีศิลปะวิชาการพื้นเมืองเป็นปึกแผ่น ครั้นฝรั่งคือชาวประเทศสเปญไปพบ และเข้าไปตั้งหากินได้แล้ว ก็เลยรุกรานตีเอาบ้านเมือง จนตั้งชื่อประเทศนั้นว่า “สเปญใหม่” ชาวสเปญไปอยู่ที่นั่นก็ร่ำรวยตามกัน และส่งทรัพย์เลี้ยงเมืองแม่ คือสเปญในยุโรป ส่วนสเปญใน ยุโรปนั้น ก่อนเวลาที่กล่าวนี้ได้เป็นประเทศ ซึ่งแขกมัวร์ปกครองเต็มทั้งประเทศ เพราะพวกแขกได้ข้ามจากแอฟริกาเข้าไปแย่งพื้นที่บ้านเมืองได้จากฝรั่งชาวยุโรป ในตอนนั้นสเปญได้แยกเป็นแคว้นต่าง ๆ หลายแคว้น มีเจ้าแผ่นดินแขกปกครองทุกแคว้น ฝรั่งชาวสเปญโบราณก่อนที่แขกไปเป็นนาย ไม่คิดที่จะใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ พวกเจ้าแผ่นดินแขกได้จัดให้บำรุงพื้นที่ เช่นทำถนนและรดน้ำ และเพาะปลูกเป็นต้น จนเกิดทรัพย์มั่งคั่งในบ้านเมือง อย่างที่ฝรั่งเจ้าของเมืองเดิมไม่เคยนึกว่าจะเป็นไปได้ ต่อสมัยนั้นมา เมื่ออำนาจเจ้าแผ่นดินแขกมัวร์ในสเปญทรุดโทรมลง จนฝรั่งแย่งบ้านเมืองคืนได้ ก็ใกล้ ๆ กับเวลาที่ชาวสเปญไปพบทวีปอเมริกาเข้าใหม่ จึงตื่นเต้นที่จะได้แผ่ศาสนาและหาผลประโยชน์ในบ้านเมืองที่ได้ใหม่ ละเลยกิจการในประเทศสเปญเอง จนไม่ลืมความจำเริญออกไปได้อีก ส่วนพวกที่ไปอยู่ในอเมริกานั้น ชั้นต้นก็มีเชือกผูกบั้นเอวติดกับเมืองแม่ แต่ภายหลังก็ตัดเชือกนั้นเสีย ตั้งตนเป็นอิสระ และมีการแย่งชิงปกครองกันบ่อย ๆ

๏ ๏ ๏

กระทรวงทหารฟ้าอังกฤษเผยความรู้ออกมาว่า เดี๋ยวนี้ได้ทำเรือเหาะซึ่งไม่ต้องมีคนขับสำเร็จแล้ว ชักได้เหมือนชักว่าว แต่ไม่ต้องมีสายป่าน สายป่านคือไฟฟ้าวิทยุ เรือเหาะหุ่นยนต์ชนิดที่ว่านี้ กองทหารพาอังกฤษได้ทดลองใช้มานานแล้ว แต่ปิดเป็นความลับ เพิ่งจะเปิดให้คนทราบเมื่อกลางเดือนมิถุนายนนี้เอง เรือเหาะหุ่นยนต์นี้ บังคับได้จากดิน จะให้ขึ้นลงหรือไปทางซ้ายทางขวาก็ได้ เหมือนกับมีคนขับไปด้วย เครื่องบังคับหุ่นยนต์ฟ้านั้น ตั้งอยู่บนบกก็ได้ ในเรือก็ได้ ในเวลานี้กล่าวกันว่าบังคับได้ไกลเพียง ๑๐ ไมล์ และหุ่นยนต์ฟ้าแล่นได้ชั่วโมงละ ๑๐๐ ไมล์ ขึ้นสูงได้ ๑๐,๐๐๐ ฟุต รัฐบาลอังกฤษกล่าวว่า ในเวลานี้ใช้หุ่นยนต์ฟ้าเป็นเป้าทดลองปืน แต่ดูท่วงทีคงจะใช้อย่างอื่น ๆ ได้อีกมาก

๏ ๏ ๏

หนังสือพิมพ์ “ไทมส์” (ลอนดอน) ที่มาถึงวันที่เขียนนี้ กล่าวถึงสมาคมพ่อค้าประเทศต่าง ๆ ไปรวมกันประชุมในปารีส ที่ประชุมได้พิจารณารายงานพิเศษ ซึ่งมอบให้ศาสตราจารย์ ที.อี. เกรคอรีเรียบเรียงขึ้น กล่าวกว้าง ๆ ก็ว่า ถ้าจะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ บุพกิจอันหนึ่งก็คือจัดเบี้ยตราให้ยั่งยืน ไม่ให้ราคาแลกเปลี่ยนขึ้น ๆ ลด ๆ อยู่อย่างเดียวนี้ ในการจัดเช่นนั้น จำจะต้องยึดทองคำเป็นหลักอย่างแต่ก่อน ถ้าไม่ยึดทองคำเป็นหลัก ก็จะต้องยึดปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ ซึ่งอาจเป็นที่รังเกียจในบางประเทศ ในที่ประชุมนั้น ผู้แทนประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอเมริกา แสดงคำรับรองเช่นที่ว่า อนึ่ง ผู้แทนประเทศฝรั่งเศสกับผู้แทนประเทศเยอรมัน กล่าวต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า วิธีที่รัฐบาลเข้าครอบงำอุตสาหกรรมเกินไปนั้น ไม่เป็นเครื่องให้ผลดีเลย ข้อหลังนี้เราพึงสังเกตว่า ประเทศรีปับลิกประเทศหนึ่ง ประเทศดิกเตเตอร์ประเทศหนึ่งเห็นตรงกัน

ในเรื่องทองคำ ผู้แทนบางประเทศกล่าวว่า อยากให้อังกฤษกลับใช้มาตราทองคำอีก คือว่า ให้เลิก “เลิกทอง” เสียที ผู้แทนอังกฤษตอบว่า ตราบใดยังไม่แน่ว่า การจะไม่เป็นไปได้อย่างใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ตราบนั้นอังกฤษจะอยู่อย่างเดี๋ยวนี้

๏ ๏ ๏

ประมวญมารคฉบับนี้มีเรื่องค้าทาสในปัจจุบัน เราอ่านในเวลานี้ ก็น่าเห็นว่า เป็นความร้ายกาจของมนุษย์บางจำพวก แต่การค้าทาสและการใช้ทาสนี้เป็นของเคยมีทั่วไปในโลก กล่าวได้ว่ามีบ้างแล้วแต่สมัยที่มนุษย์ยังหากินด้วยการจับสัตว์ป่า ในสมัยนั้น ถ้าหมู่คนต่อสู้กับหมู่คน ฝ่ายชนะย่อมจะไม่ไว้ชีวิตชายฝ่ายแพ้ก็จริง แต่บางทีก็จับเอาหญิงไปรับใช้การงานในถ้ำที่อยู่ ก็คือลักษณะทาสนั่นเอง ต่อมาในสมัยเมื่อมนุษย์พ้นจากกินเนื้อสัตว์ล้วน เลื่อนขึ้นไปถึงยุคที่มีการเพาะปลูกขึ้นบ้างแล้ว ถ้ารบชนะก็มักจะจับชายที่เป็นพวกแพ้ไปใช้ในการเพาะปลูก นั่นก็คือการใช้ทาสมาแต่ในสมัยซึ่งมนุษย์เกือบจะยังเป็นคนป่า

ในสมัยกรีกโบราณ กล่าวตามหนังสือของโฮเมอร์ การใช้ทาสก็เป็นของธรรมดาเสียแล้ว เชลยสงครามมักจะถูกเอาไปเป็นทาสของผู้ชนะ มิฉะนั้นก็ขาย หรือขังไว้เอาค่าถ่าย แต่บางทีชายชาวเมืองที่แพ้ถูกฆ่าทั้งหมด ผู้ชนะจับแต่หญิงไปเป็นทาสก็มี หรือคนถูกโจรพาตัวไปขายเป็นทาสก็มี ยังลูกทาสย่อมจะเป็นทาสอีกเล่า ประการที่คนจะตกเป็นทาสได้มีถึง ๘ ประการในสมัยนั้น ทุกประการมีคำชี้แจงหรือข้อไขซึ่งยาวเกินจะนำมากล่าวในที่นี้

ในสมัยกรุงโรมโบราณปรากฏว่า เมื่อทำศึกกันชนะแล้ว ฝ่ายชนะจับทาสไปขายคราวเดียวถึงแสนห้าหมื่นคนก็มี การพาทาสจากแอฟริกา เอเชียและสเปญ กอล (ฝรั่งเศส) เข้าไปเป็นสินค้าในกรุงโรมในสมัยนั้น เป็นการค้าแผนกหนึ่ง ซึ่งทำกันเหมือนค้าขายสินค้าสัตว์ และของที่ไม่มีชีวิต และมีการเก็บภาษีด้วย

๏ ๏ ๏

แต่ที่เรียกว่าทาสนั้น ย่อมจะมีหลายอย่าง ในชั้นบรมโบราณทีเดียวก็คงจะเหมือนกันทั้งนั้น แต่ประชุมชนใดที่จำเริญขึ้นไป ก็เห็นทาสเป็นมนุษย์มากขึ้น แทนที่เคยเห็นเป็นดิรัจฉานอย่างแต่ก่อน เป็นต้นว่าทาสในสยาม ซึ่งออกกฎหมายเลิกในปีต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น ผิดกับทาสที่ถูกจับมาขายตามอ่าวในทะเลแดงในเวลานี้ และทาสที่ขายกันในอเมริกาสำหรับเป็นกรรมกรการเพาะปลูก (เลิกในคราวสงครามภายใน Civil War) ก็ผิดกับทาสซึ่งตีกันเชียงเรือรบในสมัยกรุงโรมโบราณเป็นอันมาก

๏ ๏ ๏

การเลิกทาสในรัชกาลที่ ๕ นั้น ค่าตัวทาสทั่วบ้านทั่วเมืองมากมายนัก จะออกกฎหมายตัดเสียในทันทีก็ไม่ได้ ผู้ใหญ่เคยเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ใคร่ทรงจ่ายเบี้ยตราในท้องพระคลัง ออกไปช่วยทาสปล่อยให้หมด แต่ท้องพระคลังไม่มีเบี้ยตราพอจะทำเช่นนั้นได้ จึงโปรดให้ออกกฎหมายว่า เด็กเกิดในรัชกาลที่ ๕ บิดามารดาจะขายเป็นทาสไม่ได้ เด็กพวกนี้เรียกว่าในเกษียณอายุ ส่วนพวกที่เป็นทาสมาเดิมเรียกว่า นอกเกษียณอายุนั้น ปล่อยไว้จนล้มตายหมดไปเอง คนที่เป็นทาสนอกเกษียณอายุ ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ก็คงจะยังมี แต่เห็นจะไม่มีนายเงินคนไหนถือสิทธิตามสารกรมธรรม์ คือหนังสือสำคัญแสดงความเป็นทาส

๏ ๏ ๏

ส่วนที่การจับคนไปเป็นทาสอย่างที่ยังทำกันในภูมิประเทศบางแห่งในเวลานี้ เราอ่านกันในเมืองไทย บางทีจะนึกว่าไม่เคยทำกันในประเทศเรา แต่ถ้าอ่านหนังสือถอยหลังไปถึงเวลาราวร้อยปีนี้เอง ก็จะเห็นได้ว่าการ “กวาดต้อนครอบครัว” ที่เราเคยทำนั้น ก็ทำนองเดียวกับจับคนไปเป็นทาสนี้เอง ผิดกันแต่คงจะไม่ใช้วิธีทารุณอย่างที่เล่าในเรื่องของเราที่ลงในประมวญมารคฉบับนี้ การยกทัพไปตีบ้านเมืองในประเทศอื่น เช่นตีเวียงจันทน์ต่อจากเหตุการณ์ที่ขึ้นชื่อท่านผู้หญิงโม้ที่โคราชนั้น เมื่อตีได้แล้ว ก็กวาดต้อนครอบครัวลงมามาก มียายแก่อายุยืนคนหนึ่งอยู่ที่วังกรมพระนราธิปฯ เพิ่งตายเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แกอยู่ในพวกครอบครัวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาคราวนั้น แกยังเป็นเด็ก แต่จำความยากแค้นในเวลาเดินทางได้ การกวาดต้อนครอบครัวมาเสียนั้น เป็นวิธีที่จะทำให้ไม่กลับฟื้นกำลังเป็นศัตรูได้ง่าย และทั้งจะได้คนมาใช้ด้วย

แต่การกวาดต้อนครอบครัว เพราะทำศึกกันนั้น ผิดกับการกวาดต้อนครอบครัวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมิใช่เวลาสงคราม ถ้าท่านจำพงศาวดารตอนแผ่นดินพระนเรศวรได้ ท่านย่อมจะทราบว่า ในคราวที่กรุงศรีอยุธยาติดราชการศึกด้านอื่น คือด้านพม่าเป็นต้นนั้น พระยาละแวกแอบยกทัพเข้ามากวาดผู้คนในเมืองไทยไป ๒-๓ ครั้ง จนในที่สุดพระนเรศวรทรงยกทัพไปแก้แค้นจับตัวพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรมเสียจนได้

การยกทัพจู่เข้าไปกวาดต้อนพลเมืองของประเทศอื่นมาเป็นพลเมืองของประเทศเรานั้น แต่ก่อนเราทำเสมอ ๆ เป็นต้นว่าเมื่อมีงานโยธาจะทำ แต่มีคนไม่พอใช้ ก็แต่งกองทัพจู่เข้าไปในแดน (ต่างว่า) พม่า กวาดต้อนครอบครัวในประเทศนั้นมาเป็นเชลยใช้การงาน แบ่งแจกกันไปตามนายหมู่นายกอง และบางทีจัดที่ให้อยู่เป็นหมู่บ้าน ส่วนเมืองพม่าเมื่อได้ทีก็ทำแก่เรา ดังที่เราทำแก่เขา เป็นของธรรมดา ซึ่งใครได้ช่องก็ทำใช้วิธีเดียวกันทั้งนั้น การทำเช่นนี้ก็คือปล้นเอาดื้อ ๆ แต่เป็นการปล้นอย่างใหญ่ ๆ และปล้นทางราชการ นอกจากปล้นเอาทรัพย์สิ่งของและสัตว์พาหนะ ยังปล้นเอาคนด้วย ในประเทศพม่า แม้เมื่ออังกฤษได้ปกครองบางส่วนแล้ว ไทยเรายังเข้าไปต้อนครอบครัวของเขามา ปรากฏในรายงานทางรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจค้นอ่านได้ เป็นต้นว่าเชลยที่เราต้อนมาจากประเทศพม่าที่เป็นแดนอังกฤษ และต้อนมาเมื่ออังกฤษปกครองแล้วนั้น เมื่ออังกฤษมาต่อว่า เราก็ปล่อยกลับไป ๖๔๓ คนใน พ.ศ. ๒๓๙๖ (ปลายรัชกาลที่ ๓) เป็นต้น

๏ ๏ ๏

เรื่องอีกเรื่องหนึ่งในประมวญมารคฉบับนี้ เป็นนิทานมาจากเรื่องเทวดาของฝรั่งสมัยกรีกและโรมันโบราณ เรื่องเทวดาโบราณสมัยกรีกและโรมันนั้น พอเทียบกันได้กับเทวดาอินเดีย แต่มีภาษีกว่า วรรณคดีไทยคุ้นกับเทวดาอินเดีย นำเอาเรื่องมาเล่ากันไว้มาก และชื่อเทวดาก็จำได้คล่องกว่ากัน เพราะคุ้นหู เช่นกามเทพจำง่ายกว่าคิวปิด เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะภาษาโบราณในยุโรปนั้น เราเอื้อมไปไม่ค่อยถึง เรื่องชื่อนี้สำคัญมาก นับประสาแต่อะไร แม้สามก๊กนี่เอง เราชื่อขงเบ้งและโจโฉในหนังสือไทยซึมซาบดี แต่ครั้นอ่านภาษาอังกฤษชักตะกุกตะกัก เพราะชื่อเปลี่ยนไปหมด

ส่วนเรื่องราวของเทวดายุโรปโบราณนั้น เราเห็นว่า เนื้อเรื่องและวิธีผูกเรื่องของเขาเป็นศิลปะประณีตกว่าเรื่องเทวดาอินเดีย เพราะว่าในวรรณคดีโบราณของอินเดียนั้น พราหมณ์ผู้เรียบเรียงมัวแต่พะวงจะให้พวกตนได้รับประ โยชน์จากความนับถือเทวดาของตน เรื่องราวที่ผูกขึ้น จึงฟังเก้งก้างบ่อย ๆ

๏ ๏ ๏

เมื่อเราใช้คำว่า “มีภาษีกว่า” ครั้นใช้แล้วก็เกิดพิศวงว่า “ภาษี” เป็นคำว่ากระไรแน่ เหตุใดเราจึงใช้คำว่า “มีภาษี” แปลว่าได้เปรียบหรือดีกว่า และสิ่งที่เรียกว่า ภาษีอากรนั้น ภาษี เพราะเหตุใด เข้าใจว่าไม่เกี่ยว ภาษา เลย แต่ถ้าพูดตามรูปคำที่เขียนก็น่าจะเห็นว่า เป็นคำเดียวกัน แต่ภาษีดูไม่เกี่ยวกับ คำพูด สักนิดเดียว

ส่วนคำว่า “อากร” เช่น อากรที่ดิน นั้น เราเคยเห็นเขายังใช้ในบางภาคแห่งอินเดียอยู่จนทุกวันนี้ แต่ อาการ แปลว่าภาษีที่ดิน เราเคยเห็นคำนี้ในบัญชีผลประโยชน์ของรัฐบาลแคว้นบอมเบ แต่เห็นในออฟฟิศเล็ก ๆ ซึ่งเขียนเป็นหนังสือแขก

๏ ๏ ๏

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีซึ่งได้ทำใหม่กับประเทศต่าง ๆ ในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ และสำเร็จบริบูรณ์ในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ นั้น บัดนี้ก็สิ้นอายุ (๑๐ ปี) ไปแล้วบ้างใกล้จะสิ้นบ้าง เมื่อสิ้นอายุแล้ว สัญญานั้น ๆ ก็ยังใช้ต่อไปไม่มีกำหนด แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกให้ล่วงหน้าปีหนึ่ง เมื่อครบปีแล้ว ประเทศทั้ง ๒ ก็ไม่มีสัญญาแก่กัน เพราะกล่าวไว้ชัดว่า สัญญาเก่า ๆ ที่ทำกันไว้นั้น ถ้าเลิกสัญญาใหม่ ก็ไม่หมายความว่า ฟื้นสัญญาเก่ากลับมาใช้ตามเดิม เมื่อเลิกแล้วก็เป็นอันเลิกเลย เว้นแต่จะทำกันใหม่

๏ ๏ ๏

พระยากัลยาณไมตรี (ดอกเตอร์ เอฟ. บี. แซเยอร์ ได้เขียนหนังสือพิมพ์ชื่อ The American Journal of International Law ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๘ ว่าด้วยเรื่อง สยามเปลี่ยนสัญญาทางพระราชไมตรีครั้งหลัง (เริ่มใน ค.ศ. ๑๙๒๐) เราอาศัยเก็บความบางข้อมากล่าวบ้าง เพราะช่วยไม่ให้เราต้องย้อนไปสอบเอง แต่ความทั้งหมดที่เรากล่าวนี้ ไม่ใช่แปลมาจากหนังสือของพระยากัลยาณไมตรีล้วน ดังผู้อ่านจะเห็นได้ในตอนที่กล่าวถึงพระยากัลยาณไมตรี เป็นต้น

๏ ๏ ๏

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศที่ได้ทำไว้ทั้งชุด และแก้ไขเป็นตอน ๆ มาจนบัดนี้ ขึ้นต้นในรัชกาลที่ ๕ แผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ ฉบับแรกที่ทำ คือ สัญญากับอังกฤษ เซอร์ ยอน เบาริง เชิญพระราชสารจากควีนวิกตอเรียเป็นราชทูตมาทำที่กรุงเทพฯ เราเคยได้ยินคนรุ่นหลังพูดกว่าคนหนึ่งเป็นใจความว่า พระจอมเกล้าทรงรู้เท่าไม่ถึงการ หลงทรงทำสัญญาผูกรัดสยามเสมอกับถูกจองจำมิให้เงยหน้าขึ้นได้ กว่าจะแก้ไขให้พ้นจองจำได้ก็เกือบ ๗๐ ปี

ถ้าพระจอมเกล้าทรงเบาปัญญาไซร้ ปัญญาในคำกล่าวเช่นข้างบนนี้ ยังเบายิ่งไปกว่าผู้เคยรู้พงศาวดารยุโรปในร้อยปีที่ ๑๙ แม้เพียงเล็กน้อย ได้รู้ความเป็นไปที่เรียกว่า อินดัสเตรียล เรโวลูชั่น และรู้ถึงผลแห่งการอันนั้น ซึ่งแผ่มาในภาคตะวันออกแห่งโลกก็ย่อมจะเห็นว่า เมฆหมอกครั้งนั้นมืดมนอนธการทีเดียว พระยากัลยา ณ ไมตรีกล่าวว่า “Siam did not escape the play of these world forces” เราใคร่กล่าวเปรียบว่า ถ้าน้ำป่าไหลท่วมมาแรง ใครมีปัญญาอย่างไร จึงจะกั้นไม่ให้ท่วมได้ ถ้าเพียงแต่ป้องกันไม่ให้ท่วมจมูกท่วมปากก็ดีนักหนาอยู่แล้ว

ผู้อ่านของเราในเวลานี้คงจะมีไม่มากคนนัก ที่ทราบว่า เซอร์เยมส์บรุกส์ ราชทูตอังกฤษคนที่จะมาทำสัญญากับสยามก่อนคราว เซอร์ ยอน เบาริงนั้น เมื่อทำไม่สำเร็จแล้ว ก่อนจะออกจากกรุงเทพฯ ไป (ราว ค.ศ. ๑๘๒๔) ได้แจ้งแก่พวกฝรั่งว่า เมื่อเขากลับไปแล้ว ไม่ช้าก็จะเกิดสงครามสยามกับอังกฤษ พวกฝรั่งในกรุงเทพ ฯ ถ้าใครจะอาศัยเรือออกนอกสยามไปเสียก่อนเกิดสงคราม เขาจะให้อาศัยไปในเรือที่เขาไปเอง ข้อนี้มีในรายงานที่ราชทูตคนนั้น มีไปยังรัฐบาลของเขา หรือถ้าจะสอบอีกทางหนึ่งก็ค้นได้ในสมุดรายวันของหมอบรัดเล ราว ๆ ค.ศ. ๑๘๒๔ (เราเขียนจากความจำ บอกศักราชตรงไม่ได้) หมอบรัดเลอยู่ในพวกฝรั่งกรุงเทพฯ ที่เซอร์ เยมส์บรุกส์ บอกให้อาศัยเรือในคราวนั้น

สัญญาสยามกับอังกฤษฉบับก่อนพระจอมเกล้า ได้ทำใน ค.ศ. ๑๘๒๖ (ปีที่ ๒ ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า) สัญญาครั้งนั้นกัปตันเฮนรีเบอร์นีมาทำในกรุงเทพฯ ตามกฎหมายเดิม “ชาวต่างประเทศจะเป็นเจ้าของที่ดินหรือตั้งภูมิลำเนาในสยามไม่ได้ และสัญญา ค.ศ. ๑๘๒๖ ได้กล่าวเจาะจงไว้ว่า ข้าราชการสยามอาจไม่ยอมอนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษอยู่ในสยามก็ได้” (พระยากัลยาณไมตรี)

ข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่อังกฤษจะขอแก้ คราวเซอร์เยมส์บรุกส์มา ถ้าจะพูดสั้น ๆ ก็คือขอให้เปิดประตูให้ค้าขาย เวลานั้นไทยเราไม่ยอม จนน่ากลัวจะเกิดสงคราม ผู้เขียนปเกียรณการมภ์ นี้เคยใจหาย เมื่ออ่านสำเนารายงานทางราชการอังกฤษที่เขาเขียนไว้ในตอนนั้น

พระจอมเกล้าเสวยราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๒) ได้ทรงทำสัญญากับอังกฤษ (เซอร์ ยอน เบาริง ราชทูต) พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๕) สัญญาฉบับนี้ไทยยอมให้พ่อค้าอังกฤษมาค้าขายในสยามได้ทุกท่าทะเล และให้มาตั้งที่อยู่ได้ในกรุงเทพฯ หรือบริเวณที่กำหนดไว้

สัญญา ค.ศ. ๑๘๕๕ นี้ เปิดทางการใหม่ ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑. เรื่องศาล ข้อ ๒. เรื่องเก็บภาษี ดังที่คงจะทราบกันอยู่แล้ว

ในเวลาที่สัญญานั้น ไม่มีใครคิดว่า ข้อสัญญา ๒ ข้อ คือเรื่องศาลกับเรื่องภาษีนี้ จะเป็นเครื่องกีดขวางความจำเริญของสยามในภายหน้า แม้ประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกนี้ก็เช่นกัน พ่อค้าอังกฤษสองสามคนที่มาอยู่เมืองไทยในสมัยนั้น ถ้าเกิดคดีขึ้น จะพิจารณาและตัดสินกันตามกฎหมายอังกฤษก็ดูเป็นความสะดวกทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา ฝ่ายเขาไม่รู้กฎหมาย และขนบธรรมเนียมของเรา ถ้าจะเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามก็ยาก ฝ่ายเราถ้าจะเอากฎหมายของเราไปบังคับเขา ก็จะเกิดเป็นปากเสียงกันร่ำไป การที่ตัดปัญหาลงไป โดยที่ต่างพวกต่างประพฤติตามกฎหมายบ้านเมืองของตนนั้น ก็ดูเป็นการสะดวก เราต้องไม่ลืมว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่นึกว่า การค้าขายไทยกับฝรั่งจะทวีขึ้นมากมายนัก และไม่นึกว่าจำนวนฝรั่งที่มาอยู่ที่นี่จะเพิ่มขึ้นเหมือนที่ได้เพิ่มภายหลัง ถ้าฝ่ายเราไม่รู้ล่วงหน้าข้อนี้ ฝ่ายฝรั่งก็ไม่รู้เหมือนกัน เรากะได้แต่ว่าคงจะมากขึ้น แต่จะมากเพียงไหนนั้นประมาณไม่ถูก

ส่วนการเก็บภาษีนั้น กำหนดที่เก็บภาษีศุลกากรเพียง ๓ เปอร์เซ็น ก็ดีแล้วในเวลานั้น ที่เก็บเพียงเท่านั้น ก็พอสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาล ไม่ใช่พอแต่ใน พ.ศ. ๒๓๙๗ แม้ต่อมาอีก ๕๐-๖๐ ปี ก็ยังพอ ถ้าสินค้าเข้ามาในบ้านเมืองถูกเก็บภาษีสูง ราคาของที่ราษฎรของเราซื้อก็จะต้องแพงขึ้น เพราะฉนั้นเมื่อเงินพอใช้อยู่แล้ว ก็หาอันไม่ที่จะเก็บภาษีให้สูงขึ้น

แต่มีข้อร้ายอยู่อย่างหนึ่งในสัญญาฉบับนั้น คือว่าเป็นสัญญาทำทีเดียวแล้ว ไม่มีกำหนดสิ้นอายุ เมื่อได้วางพิกัดภาษีไว้ ๓ เปอร์เซ็นต์ ก็ ๓ เปอร์เซ็นต์อยู่ชั่วกัลปาวสานต์ เว้นแต่ทั้ง ๒ ฝ่าย จะยินยอมพร้อมกับกำหนดใหม่

ที่ว่าทั้ง ๒ ฝ่าย ยินยอมพร้อมกัน นี้แหละ เป็นสิ่งที่สยามต้องเพียรอยู่ราว ๗๐ ปี ญี่ปุ่นทำสำเร็จก่อน จีนยังไม่สำเร็จอยู่จนบัดนี้ นอกจาก ๓ ประเทศนี้แล้วก็ไม่มีประเทศใดในแถบนี้รักษาอิสรภาพไว้ได้ ที่ว่าสยามต้องทำอยู่ราว ๗๐ ปีนั้น คือบำเพ็ญตนให้ดีจนคู่สัญญาฝ่ายโน้นเชื่อ และยอมเปลี่ยนสัญญา

๏ ๏ ๏

ในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) สหรัฐอเมริกา ยอมเปลี่ยนสัญญากับสยาม ยกเลิกการใช้กฎหมายอเมริกันในประเทศนี้ แต่ถ้าศาลไทยชำระความไม่เป็นที่พอใจ อเมริกาจะเรียกเอาคดีไปชำระเองก็ได้ ส่วนการภาษีนั้น อเมริกายอมให้เก็บภาษีสินค้าอเมริกันได้ตามใจ แต่ต้องรอให้ประเทศอื่น ๆ ยอมเสียก่อน ข้อไขในสัญญานี้มีหลายข้อ ยาวเกินที่ควรนำมาจาระไนในที่นี้ การที่สหรัฐอเมริกายอมเปลี่ยนสัญญาครั้งนั้น มิได้เรียกร้องเอาอะไรเป็นเครื่องตอบแทนเลย พระยาประภากรวงศ์เป็นราชทูตสยามเซ็นสัญญารายนี้

เมื่อได้อเมริกาเป็นตัวอย่างประเทศที่ยอมเปลี่ยนสัญญาแล้ว เราก็เจรจากับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อังกฤษตอบว่า สัญญาใหม่ซึ่งอังกฤษได้ทำกับสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๙ นั้น ยอมให้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ยอมแล้ว จึงขอให้เราพูดกับประเทศอื่น ๆ เสียก่อน ประเทศฝรั่งเศสตอบเหมือนจะยอมเปลี่ยน แต่ยังโอ้เอ้ไว้ก่อน จนในเวลานั้นน่ากลัวจะไม่สำเร็จ การที่จะต่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปถึง ๑๐ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ฮอลันดา เบ็ลเยียม เด็นมารค นอรเว สวีเด็น สเปญ โปรตุเกศ ให้ยอมทีละประเทศนั้น ดูเป็นการยากนักหนา นอกนั้นยังมีเยอรมันอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจะต้องทำสัญญาใหม่เหมือนกัน ส่วนในตะวันออกมีญี่ปุ่นประเทศหนึ่ง ซึ่งเวลาต้องชวนเปลี่ยนสัญญาเหมือนประเทศในยุโรป

ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ญี่ปุ่นตกลงเปลี่ยนสัญญา (๓ ปีจากเมื่ออเมริกาเปลี่ยน) รูปสัญญาก็คล้ายอเมริกันนั้นเอง ต่อมาอีก ๒ ปี ฝรั่งเศสยอมเปลี่ยนอีกประเทศหนึ่ง แต่มีข้อไขมาก เพราะฝรั่งเศสมีเมืองขึ้นติดต่อกับเรา ซึ่งต้องพิจารณาพิเศษ การเจรจาเปลี่ยนสัญญาตอนนี้ ไปเจรจาในยุโรป พระยากัลยาณไมตรีไปช่วยราชทูตซึ่งประจำอยู่ในประเทศโน้น

เมื่อเปลี่ยนสัญญากับฝรั่งเศสแล้ว ก็ไปเจรจากับรัฐบาลฮอลันดา ซึ่งมีข้อพิจารณาพิเศษ เพราะฮอลันดามีแขกชวาร่วมธงอยู่ในสยามมาก สัญญาฮอลันดาได้เปลี่ยนในปีเดียวกับฝรั่งเศส

ในตอนนั้น เริ่มเจรจากับรัฐบาลอังกฤษในลอนดอน เซอร์ออสเด็นเชมเบอร์เลน เป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ พระยาประภากรวงศ์ เป็นราชทูตสยาม (ย้ายจากอเมริกามาประจำอยู่ลอนดอน) มีพระยากัลยาณไมตรีไปช่วยด้วย ในชั้นต้นเสนาบดีต่างประเทศอังกฤษกล่าวอิดออด แต่ในที่สุดก็เห็นว่า ควรจะยอมเปลี่ยน แต่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รอบรู้ทางตะวันออกในกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงอินเดีย กระทรวงหัวเมือง และกระทรวงพาณิชย์ในลอนดอนเห็นชอบพร้อมกันเสียก่อน สัญญาอังกฤษได้เซ็นกันใน พ.ศ. ๒๔๖๘ เหมือนกัน

ต่อมาอีกศกหนึ่ง คือ พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เซ็นสัญญาใหม่กับสเปญ (วันที่ ๘ สิงหาคม) และกับโปตุเกศ (วันที่ ๑๔ สิงหาคม) ในเดือนกันยายนได้เซ็นกับเด็นมาร์ก เดือนธันวาคมเซ็นกับสวีเด็น เดือนพฤษภาคม ๒๔๗๐ เซ็นกับอิตาลี กรกฎาคม เซ็นกับเบ็ลเยียม และในเดือนเดียวกันนั้นเซ็นกับนอรเวอีกรายหนึ่ง

ส่วนสัญญาสยามกับเยอรมันนั้นเซ็นในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ (ค.ศ. ๑๙๒๘)

๏ ๏ ๏

ในการทำสัญญาชุดใหม่ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ นี้ เราสังเกตว่าในเวลานี้มีความเข้าใจผิดกันอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งเราจะใคร่กล่าวให้ทราบในพวกที่ยังไม่ทราบ หรือทราบผิด เราได้ยินคนหลายคนพด และได้ยินว่าเคยลงในหนังสือพิมพ์ว่า การที่เปลี่ยนสัญญาชุดใหม่สำเร็จนั้นเป็นเพราะได้พระยากัลยาณไมตรี (ดอกเตอร์ แซยอร์) มาเป็นข้าราชการไทย พระยากัลยาณไมตรี เป็นบุตรเขยของมิสเตอร์ วูดโดรว์ วิลสัน เปรซิเด็นต์สหรัฐอเมริกา จึงจัดการให้อเมริกายอมทำหนังสือสัญญาใหม่ เป็นบุญคุณแก่สยามยิ่งนัก เพราะสัญญานั้นนำทางให้ประเทศอื่น ๆ ยอมภายหลัง

ที่เข้าใจเช่นนั้น เข้าใจกันมากคน เราลองถามคนในสำนักงานประมวญมารคเอง ก็ว่าเคยรู้มาเช่นนั้น แต่อันที่จริงผิดมาก และผิดอย่างน่าเกลียด เป็นการดูแคลนเปรซิเด็นต์และรัฐบาลอเมริกา และหยามประเทศของเราเอง ว่าต้องจ้างลูกเขยมาทำสัญญา พ่อตาเขาจึงยอมให้ หาได้สำเร็จด้วยความดีของเราเองไม่

ที่เรากล่าวว่าเข้าใจผิด ก็เพราะดอกเตอร์แซเยอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเจรจากับอเมริกาเลย สัญญาฉบับนั้นได้เซ็นกันก่อนดอกเตอร์แซเยอร์เข้ารับตำแหน่งเป็นข้าราชการไทยหลายปี

๏ ๏ ๏

ถ้าจะสอบวันที่เซ็นสัญญาอเมริกันจะได้ความว่า สัญญานั้นเซ็นวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ถ้าจะสอบว่า ดอกเตอร์ แซเยอร์ เข้ารับราชการเมื่อไร จะพบว่าได้เซ็นหนังสือสัญญาเข้ารับราชการ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ. ๑๙๒๓) อนึ่ง ถ้าผู้ใคร่สอบไม่มีโอกาสจะตรวจวันในสัญญารับราชการของดอกเตอร์แซเยอร์ได้ จะถามพระยาประภากรวงศ์ อรรคราชทูตประจำอยู่ในอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งเป็นผู้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรี ก็ย่อมจะได้เหมือนกัน

เราใคร่ตัดความเข้าใจผิดให้หมดไปเสียที ไม่อยากให้ใครหลงคิดว่า เพราะเราจ้างลูกเขยเปรซีเด็นต์มารับราชการ จึงแก้สัญญากับอเมริกาได้ ความคิดเช่นที่ว่านี้น่ารังเกียจนัก ไม่เป็นยุติธรรมแก่ใครเลย

ส่วนพระยากัลยาณไมตรีนั้น เราย่อมทราบดีว่า ได้รับราชการเป็นประโยชน์แก่เราหลายหลายทาง เป็นคนที่เราควรสรรเสริญและยกยอคุณ แต่หาได้เกี่ยวข้องในการทำสัญญากับอเมริกาครั้งนั้นไม่

๏ ๏ ๏

ในบัดนี้สัญญาที่ทำไว้ชุดนั้น ก็สิ้นอายุไปแล้ว ใกล้จะสิ้นบ้าง แต่เราได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ถึงหมดอายุก็ยังไม่ได้ตายทันที ยังใช้ต่อไปได้จนกว่าฝ่ายใดจะบอกเลิก หรือทำกันใหม่ ความข้อนี้ปรากฏในข้อ ๑๑ แห่งสัญญากับอังกฤษ ซึ่งเราคัดมาให้เห็นเป็นตัวอย่างดังนี้

“หนังสือสัญญาฉบับนี้ จะต้องมีผลเป็นอันใช้ได้ ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันต่อกัน และจะต้องเป็นอันใช้ได้อยู่ชั่วกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันนั้นสืบไป”

“ถ้าอัครภาคีแห่งสัญญานี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้แจ้งเจตนาที่จะเลิกสัญญานี้ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าสิบสองเดือนก่อนสิ้นกำหนดสิบปีที่ว่ามาแล้วนั้น สัญญานี้จะเป็นอันคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดปีหนึ่ง นับแต่วันที่อัครภาคีแห่งสัญญานี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญานี้”

“แต่ทว่าเป็นที่เข้าใจกันโดยแน่ชัดว่า การบอกเลิกสัญญาเช่นว่านี้ จะมีผลในหนังสือสัญญาหรืออนุสัญญา หรือความตกลงหรือความยินยอมอย่างใด ๆ ที่ได้ยกเลิกเสียแล้ว โดยหนังสือสัญญา หรือความตกลงแต่ก่อน หรือข้อ ๕ แห่งหนังสือสัญญาฉบับนี้ให้เป็นอันกลับใช้ได้อีกนั้นไม่ได้เลย”

“ส่วนประเทศอินเดีย ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ”

ข้อสัญญาที่นำมากล่าวเป็นตัวอย่างนี้ ทำนองเดียวกันทุกราย ในเวลานี้เมื่อสัญญาบางรายหมดอายุไปแล้ว ก็ยังใช้ได้อยู่ และคงจะใช้ต่อไป เว้นแต่จะมีเหตุบอกเลิกกันขึ้นหรือเจรจาทำกันใหม่

๑๐ เราเคยได้ยินคนพูดการเมือง ใช้คำอังกฤษว่า รอยัลลิสต์ Royalist บ่อย ๆ และใช้ผิดทุกทีที่เราได้ยิน เพราะคนที่รู้ศัพท์และใช้ถูก ก็ไม่ค่อยมีเหตุที่จะใช้ในเมืองเรานี้ ในที่นี้เราไม่ได้ตั้งใจจะแสดงความเห็นในเรื่องการเมือง แต่จะใคร่ชี้แจงเรื่องศัพท์ เพราะได้ฟังความเข้าใจผิดมามาก คำว่ารอยัลลิสต์นั้น แปลว่า ผู้มีความเป็นว่าประเทศของตนควรมีเจ้าแผ่นดิน จะเห็นว่าควรมีเจ้าแผ่นดินปกครองโดยอำนาจสิทธิ์ขาดอย่างสยามเมื่อสามสี่ปีมาแล้ว หรือมีเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเดี๋ยวนี้ ก็เป็นรอยัลลิสต์เหมือนกัน ส่วนคำว่าดีมอคระซีนั้น ไม่ขัดกับรอยัลลิสต์ ระบอบปกครองอาจเป็นทั้งรอยัลลิสต์ดีมอคระซีด้วยก็ได้ ประเทศอังกฤษเป็นประเทศรอยัลลิสต์อย่างมั่นคง ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างดีที่สุด แต่อังกฤษก็เป็นตัวอย่างดีมอคระซีชนิดที่มั่นคงที่สุดอยู่ในเวลานี้เหมือนกัน สยามก็เป็นเช่นอังกฤษนั้นเอง เพราะฉนั้นชาวสยามทั้งหลายที่ภักดีต่อรัฐธรรมนูญของเราก็เป็นรอยลลิสต์ด้วยกันทั้งนั้น

เพื่อจะแสดงอีกทางหนึ่งให้ข้อความที่กล่าวนี้แจ่มแจ้ง ขออ้างพฤติการที่เป็นไปในประเทศกรีซในเวลานี้ ประเทศนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นประเทศมีเจ้าแผ่นดินปกครอง แต่เกิดปั่นป่วนกันขึ้น จนต้องเลิกเจ้าแผ่นดิน เปลี่ยนเป็นประเทศรีปับลิก มาบัดนี้คนบางพวกเห็นว่ารีปับลิกสู้มีเจ้าแผ่นดินไม่ได้ แต่คนบางพวกยังคงเห็นอยู่ว่า เป็นรีปับลิกดีกว่า ความเห็น ๒ พวกนี้ คือรอยัลลิสต์พวกหนึ่ง รีปับลิกพวกหนึ่ง ไม่แน่ว่าชนชาวประเทศกรีซมีพวกไหนมาก จึงตกลงจะมี “เปลบิซิค” คือให้ประชาชนทั่วประเทศลงมติแสดงความต้องการว่า จะเป็นรีปับลิกต่อไปหรือคืนไปมีเจ้าแผ่นดินดังแต่ก่อน ถ้าปรากฏว่าพวกรอยัลลิสต์ทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่าพวกรีปับลิก ก็จะคืนมีเจ้าแผ่นดินใต้รัฐธรรมนูญ คือเจ้าแผ่นดินแบบดีมอคระซีทำนองอังกฤษและเรานี้

๏ ในพวกหนังสือชี้แจงเรื่องประเทศอังกฤษ คนโดยมากถือว่าที่ดีที่สุดเป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์อเมริกันแต่ง ในพวกหนังสือชี้แจงเรื่องประเทศอเมริกา คนโดยมากถือว่าที่ดีที่สุด เป็นหนังสือ ซึ่งนักปราชญ์อังกฤษแต่ง ฯ

๏ นักปราชญ์อังกฤษคนนั้น เป็นขุนนางชื่อหลอดไบรซ์ หนังสือที่แต่งเรียกว่า The American Commonwealth ในสมุดเล่มนั้นกล่าวในตอนหนึ่งว่า “สิ่งซึ่งเป็นเครื่องขายหน้าของประเทศนี้ (อเมริกา) ก็คือเทศบาล” ที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะเทศบาลต่าง ๆ ในประเทศนั้น เต็มไปด้วยทุจริตภายใน เหตุว่าเจ้าหน้าที่ในเทศบาลต้องฟังคำสั่งของพวกทุจริต เพราะเป็นที่พวกทุจริต “เลี้ยง” และจัดให้ได้รับเลือกเข้าประจำตำแหน่ง ฯ

๏ ท่านประธานเทศบาลของกรุงนิวยอร์คเวลานี้ ชื่อลาการ์เดีย เป็นผู้แสดงทั้งกิริยาและวาจาว่าจะปราบทุจริตให้จงได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ อรรคเสนาบดีประเทศออสเตรเลียไปช่วยงานจูบิลีในลอนดอนแล้ว เมื่อจะกลับประเทศของตน ก็ได้เดินทางอ้อมทางอเมริกา เพื่อจะได้เยี่ยมและดูการงานในประเทศนั้น อรรคเสนาบดีออสเตรเลียไปเป็นแขกของประธานเทศบาลนิวยอร์ค และท่านผู้นั้นกล่าวในสนทนาว่า ที่หลอดไบรัซเขียนไว้ในสมุดว่าเทศบาลเป็นเครื่องอับอายขายหน้าของอเมริกานั้น เป็นคำที่กล่าวถูก และประธานเทศบาลจะคิดแก้ให้ได้ภายในกำหนดปีที่อยู่ในตำแหน่ง ฯ

๏ วันหนึ่งมีพิธีสาบาลผู้พิพากษาศาลโปรีสภาเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๔ คน อรรคเสนาบดีออสเตรเลียไปในที่นั้น พร้อมกับประธานเทศบาล ผู้ไปอำนวยพิธี ประธานเทศบาลบอกแก่อรรคเสนาบดีว่า ถ้าเป็นแต่ก่อน ห้องประชุมจะแน่นไปด้วยพวกหัวหน้าซ่องทุจริต พวกนั้นจะลูบหลังผู้จะเป็นผู้พิพากษาใหม่บอกว่า “ฉันเองเป็นผู้ทำให้ท่านได้ตำแหน่งนี้”

๏ ประธานเทศบาลกล่าวแก่อรรคเสนาบดีต่อไปว่า “ในวันนี้ท่านเห็นตัวอย่างการกระทำของฉัน ที่จะให้มีพนักงานพลเรือนจริง ๆ ในเทศบาลของเรา ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่ง โดยความดีความชอบเท่านั้น”

๏ การเลือกคนเข้ารับตำแหน่งคราวนั้น กล่าวว่าเป็นบุพกิจอันหนึ่ง ที่จะปราบการค้าความชั่วโดยเลมิดกฎหมาย ก่อนนั้นได้มีการตั้งหัวหน้าอัยการใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำงานตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่สินบลหรือความย้อมใจอย่างอื่น หัวหน้าอัยการใหม่นี้เคยเป็นผู้ช่วยอัยการของรัฐบาลกลางประจำอยู่ในแคว้นนิวยอร์ค เคยรับมอบให้เป็นผู้รูปคดีฟ้องหัวโจกเบียร์ (ชื่อฉายาว่า ดัตซ์ชูลซ์) ว่าหลีกเลี่ยงกฎหมายภาษีเงินได้ หัวโจกเบียร์นั้นเป็นผู้มีอำนาจมืดอย่างใหญ่หลวง เมื่อคดีไปถึงศาลก็ยกฟ้อง เพราะพวกยูรีไม่ลงความเห็นกัน การครั้งนั้นทำให้ทอมัสคิวเวย์ (คือผู้ช่วยอัยการ) ได้ชื่อว่าเฉลียวฉลาด ทำงานแข็งแรงซื่อตรง จึงได้รับตั้งเป็นหัวหน้าอัยการคนใหม่ในบัดนี้เป็นตำแหน่งพิเศษเหนืออัยการคนเก่า ซึ่งยังอยู่ไปตามเดิม แต่อยู่ในบังคับคนใหม่ คิวเวย์ (คนใหม่) ได้อนุญาตเงิน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญให้ใช้ตามใจ เพื่อปราบการค้าความชั่ว เป็นงานซึ่งหวังว่า จะทำให้สำเร็จได้ใน ๒ ปี

๏ ส่วนท่านประธานเทศบาลนั้น ก็จัดการทุกทางที่จะช่วยให้อัยการกวาดให้สะอาด เช่นจัดกองสืบใหม่ และตั้งผู้พิพากษาที่เชื่อว่า จะทำการโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ตามความจริงในเวลานี้ ถึงแม้จะเลิกกฎหมายห้ามเหล้าแล้ว นิวยอร์คก็ยังมากไปด้วยซ่องทุจริต เมื่อยังมีกฎหมายห้ามเหล้าอยู่นั้น ซ่องเหล่านี้หากินด้วยการค้าเหล้า ซึ่งเป็นเงินเป็นทองมากเป็นจำนวนหลายสิบล้าน แต่บัดนี้เมื่อกฎหมายเลิกห้ามเหล้าแล้ว พวกนั้นก็หันไปหากินทางทุจริตอย่างอื่น เช่นทำลอตตารีเถื่อนเป็นต้น ในเวลานี้ซ่องเหล่านั้นไม่มีทรัพย์สินมากเหมือนแต่ก่อน จะติดสินบลเอาตัวรอดไม่ได้ดังครั้งกระโน้น แต่ก็ยังอยู่และมีอำนาจอยู่มาก เพราะยังเข้าเจ้าพนักงานได้อยู่ การที่กวาดการค้าความชั่วให้สิ้นไป นี้ ทั้งยากและกอบด้วยอันตราย ประธานเทศบาลบางคน ก็ได้เพียรจะทำมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เหตุสำคัญเป็นเพราะหาพยานไม่ได้ พวกที่รู้เหตุการณ์ไม่กล้าให้การตามจริง เพราะเกรงพวกทุจริตจะทำร้าย และบางทีพวกทุจริตก็เข้าผู้พิพากษาได้ เมื่อผู้พิพากษาไม่รับพิจารณาแล้ว ผู้ต้องหาคดีก็หลุดไป

๏ ส่วนกองตำรวจของกรุงนิวยอร์คนั้น ที่จะว่าไม่มีมลทินตั้งแต่ยอดลงไปจนโคนก็ว่าไม่ได้ แต่ได้ลงมือแล้วที่จะล้างมลทินที่มีอยู่ คือตั้งหัวหน้าใหม่ซึ่งทั้งซื่อและดื้อ และได้ตั้งคนตรงๆเข้ารับตำแหน่งสำคัญต่างๆในกองตำรวจ พวกซ่องทุจริตนั้นโชคก็เปลี่ยนจากดีไปร้าย เพราะแต่ก่อนชาวกรุงเอาใจช่วยพวกทุจริตไม่น้อย เห็นได้ที่ชอบดูหนังซึ่งโจรเป็นนายโรงเอกเป็นต้น ครั้นเมื่อซ่องหนึ่งขโมยเด็กลินเมอคไปซ่อน เพื่อจะเอาค่าถ่ายแล้วฆ่าเด็กตาย คนก็เกิดเกรียวกราวกัน จะให้ปราบทุจริตให้จนได้ กรรมการแคว้นต้องยอมให้รัฐบาลกลางเข้ามีอำนาจในการปกครองตำรวจ และเป็นคราวแรกที่ให้ตำรวจถืออาวุธพอสู้คนร้ายได้ และตำรวจก็ทำการอย่างที่คนบางพวกเห็นโหดร้ายเกินไป แต่ก็เป็นผลให้พวกหัวหน้าซ่องต้องไปลงหลุม หรือไปเข้าคุกทีละคน ๒ คน และปรากฏในบัดนี้เหมือนว่า การโจรผู้ร้ายจะเบาบางลงได้ ในเทศบาลนั้น

๏ ในเทศบาลอีกแห่งหนึ่งชื่อกรุงเซนต์ปอล มีตำนานประหลาดในเรื่องโจรผู้ร้าย กรุงนั้นมีหัวหน้าชื่อ โอคอนเนอร์ เป็นคนรู้ใจผู้ร้ายดี จึงป่าวให้รู้กันไปในพวกผู้ร้ายแคว้นต่างๆ ว่า ผู้ร้ายคนไหนถูกเขาตามจับในแคว้นต่าง ๆ จนอยู่ไม่ได้ ถ้าไปอยู่เซนต์ปอล จะให้อาศัยโดยสวัสดี แต่ต้องอย่าทำโจรกรรมหรือทำผิดกฎหมายอาญาทางอื่นในเขตกรุงนั้นเป็นอันขาด เมื่อหัวหน้าตำรวจรับรองดังนั้น พวกผู้ร้ายใหญ่ ๆ ที่เขาตามจับในแคว้นอื่น ๆ ก็หลบเข้าไปพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทรในกรุงเซนต์ปอล ไม่กล้าทำร้ายใครในที่นั้น และผู้ร้ายกุ้งเล็กปลาน้อยก็สงบไป ชรอยจะเป็นด้วยเกรงพวกผู้ร้ายนักเลงโตนั่นเอง ดังนี้การก็เรียบร้อยไปได้ชั่วอายุคน จนโอคอนเนอร์ตายเมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้

๏ เมื่อโอคอนเนอร์ตายแล้ว กรุงเซนต์ปอลก็ยังเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้ร้ายอยู่อีก แต่การตอบแทนคือไม่โจรกรรมในเขตกรุงเลิกไป จนเมื่อปีกลายนี้ ท่านอัยการใหญ่ของประเทศกล่าวว่า กรุงเซนต์ปอล เป็นขุมพิษของประเทศในเรื่องโจรผู้ร้าย จะหาที่ไหนร้ายเสมอไม่มี

๏ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ แผ่นเสียง ๓๘๕ แผ่น ทำให้การโจรผู้ร้ายในกรุงเซนต์ปอลสงบลงได้

๏ คือในปีก่อน ได้มีการเลือกหัวหน้าเทศบาลใหม่ เลือกได้ผู้ตั้งใจจริง ๆ ที่จะล้างมลทินให้สิ้นไป ท่านผู้นั้นคิดจะชวนนายตำรวจสันติบาลในแคว้นอื่น มารับตำแหน่งหัวหน้าตำรวจกรุงเซนต์ปอล ผู้นั้นมีชื่อเสียงมาก แต่พวกเซนต์ปอลไม่ยอม เห็นควรใช้คนชาวกรุงเดียวกัน การที่หัวหน้าเทศบาลคิดก็เป็นอันไม่สำเร็จ แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนหนึ่งได้เพียรมาหลายปีแล้ว ที่จะทำโจรผู้ร้ายให้หมดไป ครั้นเห็นหัวหน้าเทศบาลใหม่ตั้งใจจริงจังก็เข้าช่วยและจัดการเอาลูกชายของผู้ชำนาญคนที่กล่าวเมื่อกี้นั้นไปได้ เด็กหนุ่มคนนั้นสำเร็จการศึกษาวิชาตำรวจในมหาวิทยาลัยชิกาโก้ และได้ทำการกับบิดาบ้างแล้ว

๏ หัวหน้าเทศบาล หัวหน้าตำรวจ และเด็กหนุ่มผู้ชำนาญได้จัดการต่อสายจากโทรศัพท์ทุกแห่งในสถานีตำรวจ รวมกันเข้าไปในห้องหนึ่ง ซึ่งไม่ให้ใครรู้ว่าห้องอะไร ใครจะพูดโทรศัพท์จากสถานีตำรวจ ก็ทำแผ่นเสียงไว้ ได้ทำอย่างนี้อยู่ ๔ เดือน เขียนเป็นหนังสือกว่า ๓,๐๐๐ หน้า ทำแผ่นเสียงไว้ ๓๘๕ แผ่น ได้ความว่าพวกทุจริตที่ตำรวจจะไปจับนั้น รู้ตัวล่วงหน้าโดยมาก เพราะเมื่อตำรวจเตรียมจะไปค้นหรือไปจับ ก็โทรศัพท์บอกให้รู้ตัวเสียก่อน

การที่ทำนั้นมีผล คือนักสืบถูกไล่ ๓ คนคือ ตำรวจเดินยามคนหนึ่ง นายตำรวจกับนายตำรวจใหญ่ ตำรวจหลายคนถูกไต่สวน และสำนักงานที่มีงานธรรมดาบังหน้า แต่ซ่อนหากินอยู่เบื้องใต้นั้นก็ถูกไต่สวนหลายแห่ง ใคร ๆ ที่เคย “ย้อมใจ” ตำรวจก็อาศน์แข็งไปตามกัน

๏ ๏ ๏

๑๑พวกเรามีไม่น้อยคนที่เข้าใจว่า อิตาลีเลิกทอง แต่อันที่จริงเปล่า จะว่าเลิกยังไม่ได้ (คำว่า “เลิกทอง” เป็นคำเราใช้เอง และเคยชี้แจงแล้วในประมวญมารคว่าหมายความว่ากระไร)

มีอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ดัคคลัซเย กล่าวกระจายเสียงจากลอนดอนว่า เรื่องลำบากของอิตาลี ในเรื่องเบี้ยตราที่เป็นอยู่เวลานี้ ขึ้นต้นใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ในปีนั้นรัฐบาลได้กำหนดราคาลีระ (เบี้ยตราของอิตาลี) เป็นราคาทองคำแต่กำหนดสูงเกินไป สินค้าขาเข้าก็เข้ามาก สินค้าขาออกก็ลด ทองคำก็ไหลออกจากประเทศ อัตราค่าจ้างและรายได้ของคนก็ลดไปตาม ๆ กัน การเป็นดังนี้ในอิตาลีมาก บ้างน้อยบ้างอยู่หลายปี จนเมื่อหน้าหนาว ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๔ จึงดูท่าทางดีขึ้น การค้าขายค่อยเงยหน้าและจำนวนคนไม่มีงานทำก็ลดลง แต่ในราว ๆ เดือนธันวาคมที่แล้วมานี้ เกิดคับขันขึ้นอีก รัฐบาลสั่งให้คนมีพันธบัตรต่างประเทศนำพันธบัตรนั้น ๆ ไปสั่งต่อแบงก์ของประเทศ รับเบี้ยตราอิตาเลียนไปแทน ต่อนั้นมาของก็แพงขึ้น การทำสินค้าก็มากขึ้น ทองคำก็ออกจากประเทศไป และคนไม่มีงานทำก็มีจำนวนน้อยลง ถ้า (โปรดสังเกตคำว่า “ถ้า”) รัฐบาลอิตาเลียนได้ยืมเงินมาก และจ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่ยับยั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมมา รูปการณ์เช่นที่กล่าวแล้วก็ย่อมจะเกิดเรื่องพิพาทกับอนิซซีเนี่ยเกิดในเดือนธันวาคม คนภายนอกจึงเข้าใจกันว่า รัฐบาลอิตาเลียนคงจะได้ยืมเงิน และจ่ายทั้งในและนอกประเทศดังที่สันนิษฐานนั้นจริง ในหมู่นี้ทราบกันว่า ทองคำในแบงก์ของประเทศลดลงไปมาก

กฎหมายธนบัตรของอิตาลีมีว่า ต้องมีทองสำรองธนบัตรไว้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์เสมอ บัดนี้เมื่อทองคำในประเทศมีเหลือน้อยลงไป ถ้าจะให้มีสำรองอยู่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ให้จนได้ ก็จะต้องถอนธนบัตรเสียบ้าง แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็จะเกิดขลุกขลักในการค้าขาย เหตุฉนั้น จึงต้องเลิกข้อบัญญัติที่ว่า ต้องมีทองคำสำรองธนบัตร ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ใช่เลิกทองคำแท้ เป็นแต่เลิกบัญญัติเรื่องทองคำที่มีไว้สำรองธนบัตรเท่านั้น

ข้อพึงสังเกตตามความที่กล่าวนี้ ก็คือว่าการเตรียมรบกับอบิซซีเนียนั้น ให้ความลำบากแก่อิตาลีเป็นอันมากในเรื่องเงิน เราได้กล่าวเป็นทางสันนิษฐานในประมวญมารคมาแล้วในเรื่องนี้ แต่เพิ่งจะได้ยินคนอื่นเขาอธิบายเหตุผล

๏ ๏ ๏

ในราชบัณฑิตยสถานมีวิชาแผนกหนึ่ง เรียกว่า “ปรัชญา” แปลว่าฟิลอซอฟี philosophy แต่เราจะแปลคำแปลก็เกรงผู้อ่านจะท่องกลอนจาก ดอนยวน ว่า

“Explaining Metaphysics to the nation

I wish he would explain his explanation”

เราทราบว่า ท่านภาคีสมาชิกของราชบัณฑิตยสถาน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่วิชาแผนกนี้เป็นผู้เล่นกอฟ แต่เราไม่ทราบว่า ท่านทราบหรือยังว่า กอฟนั้นเข้าวิชา “ปรัชญา” ได้ เราเองก็เล่นกอฟ และทราบว่า ผู้เล่นกอฟบางทีก็ต้องฟิลอซอฟิค แต่ที่กอฟเป็นฟิลอซอฟีนั้น เราเพิ่งทราบ

ชายคนหนึ่งในอเมริกา ชื่อเฮ็นรีเดร็ซเซอร์ เป็นชาวกรุงนิวยอร์ก เป็นคนเล่นกอฟเก่งและเป็นคนสอนพลศึกษาด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้เดร็ซเซอร์ ต้องการจะรับปริญญาชั้นดอกเตอร์แผนกวิชาปรัชญา (Ph.D.) ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค จะต้องแต่งหนังสือแสดงความรู้ให้สมกับที่จะได้ปริญญาชั้นนั้น จึงถามมหาวิทยาลัยว่า จะแต่งหนังสือว่าด้วยเรื่องกอฟได้หรือไม่ กรรมการคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยประชุมกันตกตลึง แล้วตัดสินว่า ถ้าแต่งดีพอก็ให้ปริญญาได้ แต่ท่านคนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าหนังสือนั้นแต่งดี ก็อาจทำให้การสอนเล่นกอฟดีขึ้น

๏ ๏ ๏

๑๒พงศาวดารอบิซซีเนียที่เป็นส่วนมากก็ว่าด้วยการปล้ำปลุกกับประเทศอื่น ๆ การข้ามทะเลไปเยี่ยมเยือนประเทศอื่นเป็นครั้งแรกคือ ควีนออฟซีบา (นางพญาแห่งซีบา) ยกแสนยากรไปเฝ้าพระเจ้าโซโลมอน เจ้ากรุงเยรูซะเล็ม จนเกิดโอรสคือพระเจ้าเมเนลิกที่ ๑ ซึ่งครองประเทศของมารดา ๙๘๐ ก่อนตั้งคริสตศักราช นับมาถึงเดี๋ยวนี้ก็เกือบ ๓๐๐๐ ปี เมื่อเมเนลิกโอรสนางพญาแห่งซีมายังหนุ่ม ชนมายุเพียง ๑๖ ปีนั้น กล่าวตามตำนานว่า ได้ไปเฝ้าพระโซโลมอนราชบิดา ณ กรุงเยรูซะเล็ม เพราะนางพญาผู้มารดาให้ไป เมื่อไปอยู่กรุงเยรูซะเล็ม ก็ไปเกิดขัดใจขึ้นกับพระเจ้าโซโลมอนผู้บิดา หนังสืออบิซซีเนียกล่าวว่า เหตุวิวาทก็คือ เมเนลิกต้องการจะทำโทษบิดาที่ข่มขืนเอามารดาเป็นเมีย ผลของการขุ่นมัวกันนั้น ก็คือเมเนลิกเกลี้ยกล่อมนักพรตยิวผู้เป็นที่นับถือของคนเป็นอันมากให้เป็นใจด้วย แล้วลักเอาหีบคัมภีร์อันเป็นที่นับถือที่สุด จากโบสถ์ซึ่งเป็นที่รักษา เอาหีบปลอมวางแทนไว้ แล้วพาหีบจริงหนีไป พระเจ้าโซโลมอนทราบ ก็ให้กองทัพตามจะเอาหีบคืน แต่เมเนลิกหนีข้ามทะเลไปได้จนถึงตำบลชื่ออักซุม ซึ่งอยู่ในตะวันตกเฉียงเหนือของเอรีเตรีย (ซึ่งเป็นดินแดนของอิตาลีเดี๋ยวนี้) เมื่อหนีไปถึงนั่นแล้ว ก็มีการสมโภชกันอยู่หลายสัปดาห์ และกล่าวกันว่าหีบก็ยังอยู่ที่นั่นจนบัดนี้ (หีบนั้นเรียกว่า The Sacred Art of the Covenant เป็นหีบไม้ ถ้าอยู่ได้ ๓๐๐๐ ปีก็ทนมาก)

ต่อเวลานั้นมาประมาณ ๑๔๐๐ ปี พวกอบิซซีเนียข้ามทะเลแดงมาตั้งเมืองขึ้นในอาเรเบีย ในสมัยนั้น อิบิซซีเนียมีอำนาจเข้มแข็งมาก จนแม้พระเจ้ายัชติเนียนเจ้ากรุงโรมก็ต้องขอให้ช่วยในการที่กรุงโรมวิวาทกับชาวเปอร์เซีย เจ้าแผ่นดินอบิซซีเนียส่งกองทัพทหารคริชเตียน ๑๒๐,๐๐๐ คน กับเรือ ๔๐๐ ลำ ให้ยกไปช่วยกรุงโรม เลยตีดินแดนในอาเรเบียได้เป็นเมืองขึ้นของอบิซซีเนีย แต่การตั้งเมืองขึ้นอยู่ในอาเรเบียนนั้นก็คืออำนาจคริสเตียน (คือพวกอบิซซีเนีย) ต่อสู้กับพวกมหหมัด พวกอบิซซีเนียอยู่ที่นั่นได้ราว ๆ ๑๐๐ ปี ก็ถอนตัวกลับ และตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้คิดจะข้ามทะเลจากแอฟริกามามีอำนาจหรือหาผลประโยชน์ในเอเชียอีกเลย

ส่วนการวิวาทกับประเทศในยุโรปนั้น ที่เป็นเหตุใหญ่ครั้งแรกก็เมื่อ ๖๗ ปีนี้เอง ในครั้งนั้นเจ้าแผ่นดินอบิซซิเนียจับคนอังกฤษไปจำคุกไว้ที่เมือง แมคคาละ อังกฤษส่งทัพไปตี ทัพอังกฤษทหาร ๓๐,๐๐๐ คน ชนะอย่างเด็ดขาด จนเจ้าแผ่นดินต้องอพยพหนี เจ้าแผ่นดินอบิซซีเนียองค์นี้ว่ากันว่าบ้า ๆ และดุร้ายนัก พวก “ราส” (เจ้าประเทศราช) ในอบิซซีเนียไม่นับถือและไม่เข้าช่วยรบ กลับเข้าข้างอังกฤษก็มี พวกราสเหล่านั้นสำคัญนัก แต่ละคนเป็นกษัตริย์ มีกองทัพของตนเอง ปกครองเขตแดนส่วนหนึ่งในอบิซซีเนีย ขึ้นต่อพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นสูญกลาง กำลังของพระเจ้าแผ่นดินจะยิ่งหรือหย่อนในคราวใด ก็เพราะความรวบรวมหรือร้าวฉานของพวกนั้น

ต่อมาอีกประมาณ ๑๐ ปี มีทัพจากอิยิปต์ (นายทหารเป็นอังกฤษ) ยกเข้าไปรุกรานในอบิซซีเนียอีกครั้งหนึ่ง ทัพอิยิปต์ครั้งนั้นจำนวนทหารไม่มาก แต่ฝึกหัดดีมีอาวุธดี ฝ่ายอบิซซีเนียเจ้าแผ่นดินทรงนามกิงยอนคุมทัพออกรบ วิธียุทธใช้ถอยหนีร่ำไป เมื่อถึงที่เหมาะ ก็เอาทหารม้าล้อมไล่ฆ่าทหารอิยิปต์ตายเกือบหมด เหลือ “กำมือเดียว” ที่พาข่าวกลับไป

เจ้าแผ่นดินอบิซซีเนียองค์ที่ทรงนามเมเนลิกที่ ๒ เป็นผู้ทำให้อบิซซีเนียสมัยนี้ทรงอำนาจและสิทธิไว้ได้ เมเนลิกที่ ๒ เป็นแม่ทัพผู้ชำนาญการศึก และเป็นนักการเมืองอย่างดีด้วย ในเวลาที่เป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ ๒๔ ปี (ค.ศ. ๑๘๘๙ ถึง ๑๙๑๓) นั้น เมเนลิกที่ ๒ ได้ทำความมั่นคงให้เกิดแก่ประเทศ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำ ก็คือตีทัพอิตาเลียนแตกยับย่อยที่อาโควา ใน ศ.ศ. ๑๘๙๖ ทัพอิตาเลียนแพ้ครั้งนั้น เสียทหารถึง ๑๐,๐๐๐ คน

เมเนลิกที่ ๒ ทรงให้อนุญาตให้ฝรั่งเศสทำรถไฟตั้งแต่เมืองยิบุตีริมทะเลแดงไปจนถึงแอดดิสอาบะบา (เมืองหลวง) เป็นรถไฟสายเดียวที่มีในประเทศ ส่วนกับอังกฤษนั้น เมเนลิกที่ ๒ ได้ทำหนังสือสัญญาใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ว่าถ้าจะทำอะไรที่ “ทะเลสาบบุญ” หรือแม่น้ำโซมัต หรือแม่น้ำบลูไนล์ ก็จะต้องได้รับความยินยอมของอังกฤษเสียก่อน จึงจะทำได้ ทะเลสาบและแม่น้ำ ๒ แม่น้ำนั้น ช่วยเลี้ยงแม่น้ำไนล์ในอิยิปต์และซูดาน ถ้าอิยิปต์และซูดานไม่มีน้ำอย่างฟุ่มเฟือย ก็เพาะปลูกไม่ได้ อังกฤษจึงได้แจ้งให้มุสโสลินีทราบ ในเรื่องที่อิตาลีวิวาทกับอบิซซีเนียคราวนี้ว่า เรื่องนี้อังกฤษถือว่าสำคัญแก่อังกฤษที่สุด เป็นของละเลยไม่ได้

ถ้าจะพูดส่วนอาณาเขต ซึ่งอบิซซีเนียติดต่อดินแดนของประเทศอื่น ก็กล่าวตามบันทึกของราชสมาคมกิจการระหว่างชาติว่า อังกฤษมีแดนต่อแดนกับอบิซซีเนีย ๒ ใน ๓ ส่วน และการทรัพย์สินของอังกฤษในดินแดนที่ติดต่ออบิซซีเนียนั้น มากกว่าอิตาลีกับฝรั่งเศสมาก ในเวลานี้ ทรัพย์ที่เกิดในดินแดนอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นสินค้าคล้าย ๆ กัน คือ หนังสัตว์ งาช้าง กาแฟและเครื่องเทศบางอย่าง แต่อบิซซิเนียยังมีทรัพย์ใต้ดินอีกมากที่ยังไม่ได้ค้น และถึงเดี๋ยวนี้ ก็ขุดได้ทองคำขาวประมาณปีละ ๒ แสนกรัม เท่ากับ ๓ เปอร์เซ็นต์ของทองคำขาวที่ขุดได้ทั่วโลก การขุดแร่ทองคำขาวเวลายังไม่ได้ทำจริงจัง ถ้าทำจริงเข้าจะได้เท่าไร ยังประมาณไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีแร่ทองคำและแร่อื่น ๆ อีกไม่รู้ว่าเท่าไร รู้กันแต่ว่ามีมาก ยังน้ำมันอีกเล่า

แต่สิ่งที่อิตาเลียนต้องการนั้น ทำให้ดินแดนของตนเป็นที่เกิดทรัพย์อันงอกจากดิน คือปลูกฝ่ายเป็นต้น ในเวลานี้ ซูดานและอูกันดา (ของอังกฤษ) ปลูกฝ้ายได้เป็นราคาปีละ ๒ ล้านปอนด์ และดินแดนของอิตาลีก็ควรจะปลูกได้เหมือนกัน (ถ้ามีน้ำก็เห็นจะได้จริง แต่คำว่า “ถ้า” นั้นเป็นคำโตนัก)

ผู้อ่านของเรา คงจะจำได้ว่า เมื่อประมาณเดือนหนึ่งมาแล้ว ได้เกิดโกลาหลแทบถึงจลาจลพร้อมกันหลายแห่ง ในเมืองที่มีอู่เรือรบและเครื่องทำอาวุธ และเป็นท่าเรือของประเทศฝรั่งเศส ทั้งในภาคเหนือและในภาคใต้ แม้ในปารีสก็รวน ๆ กัน จวนจะเกิดเหตุด้วย แต่รัฐบาลจัดการระงับเสียทัน และบัดนี้ก็ไม่ได้ข่าวว่ามีเหตุอะไรอีก ดูเป็นการเรียบร้อยตลอดมา แต่เราคิดว่าน่าจะเล่าเหตุที่ก่อให้เกิดการโกลาหลนั้น ให้ทราบกันบ้าง

ผู้อ่านของเราพึงจะจำได้ว่า เมื่อ ๒-๓ เดือนมาแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ล้มลุกคลุกคลานกันถึง ๒ ชุด ๓ ชุด เหตุที่เกิดก็เพราะงบประมาณรายจ่ายสูงกว่างบประมาณรายได้มากมาย และเป็นเช่นนั้นมาหลายปี ทั้งความขาดแคลนของพลเมืองทำให้คนมีใจป่วนปั่นอีกเล่า ในตอนนั้น มีคำกล่าวกันถึงว่า ประเทศฝรั่งเศสอาจจะเลิกรีปับลิก และตั้งผู้บงการประเทศ (ดิกเตเตอร์) มีโจทก์กันจนถึงชี้ตัวหัวหน้าสมาคม “กางเขนไฟ” ว่าอาจเป็นผู้บงการประเทศคนแรก ใช้แบบฟาซิสม์ (อย่างหรือคล้ายอิตาลี) เราได้เคยอ่านหนังสือหลายแห่งว่าด้วยเรื่องฟาซิสม์ในประเทศฝรั่งเศส แต่เป็นข้อความยาวเกินที่จะนำมาเล่าในครั้งนี้ อนึ่ง เราควรอธิบายว่า ที่เรียกว่า “กางเขนไฟ” นั้น เป็นสมาคมของทหารฝรั่งเศส ที่เคยเข้ารบถึงหน้าศึกในคราวมหาสงคราม เป็นพวกที่เคยถูกยิงมาแล้ว ตามหนังสือที่เราได้อ่าน ปรากฏว่าพวกนี้มีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกที

บัดนี้จะย้อนไปกล่าวว่า ความยุ่งยากในเรื่องเงินนั้น ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เพราะถูกติเตียนและไม่มีทางแก้ ครั้นรัฐบาลชุดใหม่เข้าไป ก็ขอต่อรัฐสภาว่า ให้มอบอำนาจให้รัฐบาลออกกฎหมายได้ตามใจในเรื่องเงิน จึงจะจัดการแก้ยุ่งยากได้ พูดสั้น ๆ ก็ว่า ขอให้มอบอำนาจบงการสิทธิขาดในทางการเงิน เมื่อให้อำนาจแล้ว รัฐบาลจะใช้อำนาจนั้นระหว่างปิดสภา ต่อไปอีกกี่เดือนเราจำไม่ได้ (และในคราวนี้ไม่ได้ย้อนไปสอบ) เมื่อกลับเปิดรัฐสภาแล้ว ถ้ารัฐสภาเห็นชอบกฎหมายรายไหนที่รัฐบาลออกไประหว่างที่มีอำนาจเต็มนี้ กฎหมายนั้นก็เป็นอันใช้ได้ตลอดไป ถ้าไม่ชอบรายไหน รายนั้นก็เป็นอันเลิก แต่ก่อนที่เลิกนั้น ต้องเป็นกฎหมายบังคับได้อย่างกฎหมายสำหรับบ้านเมือง

อำนาจที่รัฐบาลชุดใหม่ขอเช่นนี้ รัฐสภาลงมติไม่ยอมให้ รัฐบาลนั้นก็ต้องลาออก เลยเป็นอันไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรกัน เพราะจะหาใครรับหน้าที่เป็นรัฐบาลก็ไม่มีใครรับ และในตอนนั้นเป็นตอนที่พูดกันว่า ผู้บงการประเทศอาจเกิดมีขึ้น แต่ในที่สุดท่านเปรซิเด็นต์ ขอให้เมอร์ซเออร์ ลาวัล เป็นผู้จัดคณะรัฐบาล เมอร์ซิเออร์ ลาวัล อิดออดอยู่ ๒-๓ วัน การอิดออดนั้นเป็นอุบายอันดี เพราะทำให้ประชาชนเห็นถนัดว่า ถ้าไม่ยอมให้อำนาจบงการแก่รัฐบาล ก็จะหาตัวผู้เป็นรัฐบาลไม่ได้ ถ้าเกิดต้องมีผู้บงการประเทศขึ้นไซร้ อำนาจบงการมีขีดคั่นซึ่งไม่ยอมให้นั้น ก็จะเป็นอันต้องให้โดยไม่มีขีดคั่นเลย

เหตุนี้เมื่อเมอร์ซิเออร์ ลาวัล จัดคณะรัฐบาลขึ้นใหม่แล้ว ขออำนาจบงการเรื่องเงินชั่วคราว รัฐสภาก็ลงมติยอมให้

ในตอนนี้เราจะนำความในหนังสือพิมพ์กรุงชิกาโกยาเล่า และเลียนโวหารของหนังสือพิมพ์นั้นว่า

แม้ชนฝรั่งเศสผู้รักอิสระภาพจะเกลียด และกลัวผู้บงการประเทศเพียงไรก็ตาม แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐสภาฝรั่งเศสได้ให้แปร์ลาวัว ผู้ผิวคล้ำ มีอำนาจบงการประเทศในทางเงินได้ แต่ในขณะที่รัฐสภายังไม่สิ้นสมัยประชุม ลาวัวผู้เฉลียวก็นิ่งเงียบอยู่ จนถูกติเตียนว่า เมื่อได้อำนาจแล้วก็ไม่ใช้ แต่สิ้นสมัยประชุม และสมาชิกรัฐสภากระจายไปแล้วสิ อรรคเสนาบดีเมื่อสัปดาห์ก่อนได้เรียกประชุมคณะเสนาบดี ณ นาฬิกาในศาลากระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส วันหนึ่งเวลา ๙ นาฬิกา ๓๐ นาที เมื่อพร้อมกันแล้ว ก็ควรกล่าวเป็นคำเปรียบได้ว่า ลั่นกุญแจเลย เพราะนอกจากหยุดกินข้าวกลางวัน และข้าวเย็นแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้ท่านเสนาบดีทำ เว้นแต่งานเท่านั้น ท่านเหล่านั้นไปจนอีก ๑๐ นาทีจะ ๒ ยาม จึงเลิกประประชุม และได้ร่างกฎหมายด่วนเสร็จไปในวันนี้ ๒๘ ราย

อย่างเดียวกับที่มุสโสลินีไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอิตาลี ยื่นกฎหมายถวายให้ทรงเซ็น แปร์ลาวัลกับคณะเสนาบดีออกจากประชุมก็เลยไปหาท่านเปรซิเด็นต์เลอบรุน ท่านเปร์ซิเด็นต์ต้องทำงานอยู่จน ๒ นาฬิกา ๓๐ นาที จึงเซ็นกฎหมาย ๒๘ ฉบับนั้นเสร็จ

กฎหมายเหล่านี้ ล้วนแต่ช่วยให้การกินอยู่ของราษฎรค่อยถูกลง และประหยัดรายจ่ายของรัฐบาล และเก็บภาษีใหม่ ๆ เพื่อจะจัดงบประมาณให้สู่ดุลย์

รุ่งขึ้นเมอร์ซิเออร์ ลาวัล ไปพูดวิทยุกระจายเสียงชี้แจงแก่ประชาชนว่า “รัฐสภาได้ตกลงกันมอบหน้าที่ให้แก่เราคือรัฐบาล ให้ป้องกันมรดกแห่งชาติ มีฝรั่งเศสบางคนที่พูดถึงการลดราคาเบี้ยตรา การจัดให้คืนจำนวนและการตั้งราคาใหม่ คนพวกนั้นลืมว่า ราคาเบี้ยตรา (Currency) ฝรั่งเศสได้ลดไปแล้วถึง ๔ ใน ๕ ส่วน รัฐบาลชุดอื่นอาจชอบพิมพ์ธนบัตรเหลวๆ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมทำเช่นนั้น ในวันนี้การรักษาราคาแฟรงค์ย่อมบังคับให้ฝรั่งเศสทุกคนเสียสละต่าง ๆ ประเทศของเรามีหนี้ขึ้นไปจาก ๒,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ แฟรงค์ จนถึง ๓,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ แฟรงค์ เราทั้งหลายไม่ว่ามั่งมีหรือจน ไม่ว่าต่ำหรือสูง ต้องยอมเสียสละทุกท่าน เพื่อจะทำให้งบประมาณรายจ่ายเสมอดุลย์กับรายได้ รัฐบาลชุดของข้าพเจ้ามั่นคงในความประสงค์ที่จะให้ชนทั้งหลายเสมอหน้ากัน ในความเสียสละ และที่จะให้เบี้ยตราของเรามั่นคง และเพื่อจะได้ดำรงความสงบในบ้านเมือง”

กฎหมายใหม่ที่เปรซิเด็นต์เลอบรุนลงนามนั้น มีเป็นต้นดังนี้

ลดเบี้ยบำนาญทหารเก่าที่ได้รับในสงคราม

บังคับให้ลดราคาขนมปัง

บังคับให้ลดราคาแก๊สและไฟฟ้า

ให้ลดราคาเงินเดือนคนทำงานในรถไฟของรัฐ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และลดเงินเดือนผู้ทำงานของรัฐทั้งหลายตามลำดับเงินเดือนมากไปหาน้อย

บังคับให้ลดค่าเช่าบ้าน ซึ่งต่ำกว่าปีละหมื่นแฟรงค์ ลด ๑๐ เปอร์เซ็นต์

ลดดอกเบี้ยซึ่งรัฐต้องเสีย ๑๐ เปอร์เซ็นต์

ขึ้นภาษีดอกเบี้ยกำไรการทำเครื่องอาวุธเป็น ๒๕ เปอรเซ็นต์

ขึ้นภาษีเงินได้มีอัตราต่าง ๆ กัน

แต่ที่หนังสือพิมพ์อเมริกันให้ข่าวว่า เมอร์ซิเออร์ลาวัล ออกกฎหมาย ๒๘ ฉบับนั้น เป็นข่าวเก่าไป เพราะหนังสือพิมพ์อเมริกันกว่าจะมาถึงเราก็ช้า อันที่จริงกฎหมายที่ได้ออกใหม่ ๆ นั้นถึง ๘๓ ราย ที่ใหม่ ๆ มีเป็นต้นว่า ขึ้นค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย เปลี่ยนกฎหมายล้มละลายใหม่ และกฎหมายควบคุมเนื้อสัตว์ที่ขายเป็นอาหาร ตั้งโรงฆ่าสัตว์ขึ้นทั่วไปทุกหนทุกแห่ง และให้ฆ่าวัวที่เป็นฝีในท้อง ๑๕๐,๐๐๐ ตัวเป็นต้น

การลดราคาเงินเดือนลูกจ้างของรัฐบาลนั้น มีผลที่เห็นจะโจ๋งออกมาในทางที่ไม่สงบ ก็คือสไตรกของพวกอู่เรือรบ พวกโรงทำเครื่องอาวุธ และคนงานตามท่าเรือ และทั้งกลาสีในเรือบางลำด้วย ดังที่ได้กล่วามาเบื้องต้นนั้นแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดนั้น รัฐบาลแก้ไขให้สงบได้เป็นอย่างเร็ว และได้มีคำสั่งทั่วไปว่า ถ้ามีท่าทางว่าชนหมู่ใดจะทำการก้าวร้าว ก็ต้องรีบปราบให้สงบ การที่รัฐบาลชุดเมอร์ซิเออร์ ลาวัลจัดครั้งนี้ เห็นความสามารถเป็นอันมาก แต่ว่าความรู้สึกของคนนั้น ถ้ากระทบกระเป๋าก็รู้สึกมาก ถ้าเรียบร้อยไปได้ ก็เป็นการน่าชม แต่ในเวลานี้ ความเอะอะเรื่องอิตาลีกับอบิซซีเนีย มากลบข่าวอื่นหมด และน่าจะนึกว่า เมฆหมอกของสงครามทำให้คนสงบใจในเรื่องเหตุการณ์ในประเทศของตนเองได้มาก

๏ ๏ ๏

๑๓เราจวน ๆ จะเขียนว่าด้วยการแต่งหนังสือไทย เพราะเข้าใจว่าผู้หัดแต่งหลายคนอยากให้เขียน เมื่อเราอยู่โรงเรียน ครูเคยสอนแผนกนี้ ก็เป็นอันว่าได้ความรู้เลา ๆ พอเป็นพื้นไว้ชั้นหนึ่งก่อน ต่อมาก็มีแบบก่อสำนวนโวหารของบุคคลตามปัญญาซึ่งเกิดขึ้นเพราะความรู้ที่ได้ เมื่อพ้นโรงเรียนมาแล้ว แต่ก็เหมือนก่อตึกบนรากเดิม ตึกของเราอาจวิจิตรบรรจงเท่าไรก็ได้ หรือขัดตาก็ได้ แล้วแต่ความคิดประติดประต่อของเราเอง แต่การที่มีพื้นเดิมรองรับอยู่นั้น ย่อมเป็นประโยชน์

ในคราวนี้ เรายังไม่มีเวลาจะเขียนชี้แจงยาว ๆ แต่จะใคร่กล่าวหัวข้อ ๒ ข้อ ทำนองที่จางวางหร่ำ กล่าวในเรื่องการพูด หัวข้อ ๒ ข้อของเรานี้เป็นคำห้ามว่า “อย่า” เป็นคติสำหรับผู้หัดแต่งหนังสือไทย

(๑) อย่าพยายามเขียนร้อยแก้วให้ไพเราะ

(๒) อย่าใช้ศัพท์ที่ไม่รู้ว่าแปลว่ากระไรแน่

๏ ๏ ๏

ถ้าปล่อยหัวข้อไว้ลุ่น ๆ ดังข้างบนนี้ ก็น่ากลัวว่า นักเรียนผู้หัดแต่ง จะไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง เพราะฉนั้น ถึงเราไม่ตั้งใจชี้แจงยืดยาว ก็เห็นจะต้องมีอธิบายบ้าง เราต้องระวังแต่เพียงว่า อย่าให้ปากกาพาไปไกลนัก เพราะข้อความชนิดนี้ ถ้าจับชี้แจงก็ชักจะยืด และถ้าพูดยาวออกไป ก็อาจทำให้เกิดระแวงไปว่า เยาะเย้ยผู้นั้นผู้นี้ การเยาะนั้น อันที่จริงเราเยาะบ่อย แต่เยาะ ความบกพร่อง ซึ่งไม่มีตัวไม่มีตน (นักเรียนไวยากรณ์ภาษาบาลี เรียกว่า ศัพท์ผี อังกฤษเรียกว่า abstract noun) ไม่ใช่เยาะบุคคลผู้บกพร่อง การนึกถึงบุคคลนั้นเราไม่นึก แต่ผู้กินปูนอาจร้อนท้องได้เสมอ แม้ไม่มีใครรู้ว่าได้กินเข้าไปก็อาจร้อนอยู่นั่นเอง

วิธีสอนที่จะให้ได้ผลทันที่มีวิธีหนึ่งคือ สอนด้วยวิธีเยาะ ผู้ถูกเยาะอาจโกรธก็ได้ แต่ความเจ็บใจทำให้จำความรู้ได้ทันทีและจำไม่ลืม เปรียบเหมือนหลุม ถึงจะเดินเฉียดไป ถ้าไม่ตกก็ไม่สังเกตว่ามีหลุมอยู่ที่นั่น แม้จะตกถ้าไม่เจ็บก็ลืมง่าย แต่ถ้าตกเจ็บ ก็จำหลุมนั้นไว้ไม่ตกอีกเลย

๏ ๏ ๏

“อย่า” ข้อที่ ๑ ของเราที่ว่าอย่าเพียรเขียนร้อยแก้วให้ไพเราะนั้น พึงสังเกตคำว่า “พยายาม” และคำว่า “ไพเราะ” แต่เราจะชี้แจงความหมายคำหลังเสียก่อน

ที่ว่าไพเราะนั้น เป็นคำแกล้งว่า ร้อยแก้วไม่ใช่กลอน ไม่ควรใช้ว่าไพเราะ แต่ผู้หัดแต่งหนังสือบางคนอยากใช้สำนวนหรูหรา อุตส่าห์เขียนให้ยืดออกไปยาว ๆ อย่างที่ตัวเห็น “เก๋” แต่อันที่จริงเก้งก้างพอที่จะเขียนเรียบ ๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจทันทีได้ก็ไม่ทำ อุส่าห์จะเขียนให้เก๋ให้จนได้ การอุส่าห์ทำสิ่งที่ยังไม่สันทัดนั้น ย่อมจะกระอักกระอ่วน และเมื่อกระอักกระอ่วน ก็เหมือนเครื่องจักร ซึ่งเดินไม่ เรียบ จะเอาดีไม่ได้

ที่ว่าอย่าพยายามนั้น คือว่า ถ้ายังเป็นผู้หัดใหม่ ๆ ก็ควรจะเขียนไปสำนวนธรรมดาของตน ปล่อยให้มันดีไปเอง ไม่ต้องพยายามในขณะที่เขียน พึงทราบแต่ว่า ผู้ที่เขานึกว่าเขียนดีนั้น เขาดีโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกระอักกระอ่วนพอืดพะอม มัน “ไหล” ออกมาเอง ดังกระแสน้ำใสในลำธาร ถ้าไปกวนมันให้มันไหล น้ำคงจะขุ่น

๏ ๏ ๏

“อย่า” ข้อที่ ๒ ที่ว่าอย่าใช้ศัพท์ที่ยังไม่รู้ว่าแปล ว่ากระไรแน่นั้น ไม่ต้องอธิบายว่ากระไร ก็คงจะเข้าใจกันทั้งนั้น และทุกคนคงจะรับรองว่าถูก แต่เราไม่หวังว่าคำเตือนคำนี้จะมีผลอะไร เว้นแต่ครูสอนศิษย์ในโรงเรียน ถ้าไม่จำไว้ก็ตัดคะแนน การเตือนกันเปรยๆ ไม่มีประโยชน์

๏ ๏ ๏

ต่อไปนี้เราคัดจาก “ประมวลสาร”

“๏ ในประเทศเยอรมันเวลานี้มีการบีบคั้นชนชาติยิวอย่างแข็งขัน ดังที่ผู้อ่านของเราคงจะทราบอยู่แล้ว ชนชาติยิวเป็นอนารยะชน คือไม่ใช่อารยะชน และในเวลานี้ รัฐบาลเยอรมันห้ามไม่ให้อารยะชน (Aryans) กับอนารยะชน (non Aryans) แต่งงานกัน ได้ประกาศคำสั่งว่า รัฐบาลได้กำหนดแล้วว่า จะออกกฎหมายให้เด็ดขาด เรื่องปัญหาการแต่งงานระหว่างอารยะชนกับอนารยะชน เพราะฉนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนแต่งงาน ระงับการจดทะเบียนแต่งงาน ระหว่างอารยะชนกับผู้เป็นยิวทั้งฝ่ายบิดามารดาไว้จนกว่าจะสั่งต่อไป”

๏ ชนชาติยิวเป็นพวกที่นับถือกันว่า ซิวิไลซ์แต่โบราณ จนบัดนี้ก็นับถือกันเช่นนั้นทั่ว ๆ ไปในไลก ชนชาวอียิปต์โบราณ และจีนโบราณ ก็นับถือกันว่า ซิวิไลซ์อย่างสูง และในสมัยนี้ ย่อมถือกันว่าญี่ปุ่นก็ซิวิไลซ์มาก แต่ชนชาติญี่ปุ่น ยิว อิยิปต์ จีน เหล่านี้ ไม่ใช่อารชน (Aryans) เป็นอนารยะชน (non Aryans) ทั้งนั้น จะเป็นอารยะชนไม่ได้ เพราะเกิดมาดังนั้นเสียแล้ว

๏ พระเยซู ผู้ตั้งศาสนาคริสเตียนเป็นยิว ไม่ใช่อารยะชน แต่อารยะชนรับเอาคำสอนของพระเยซูไปเป็นศาสนาของตนโดยมากฯ พระพุทธเจ้าเป็นอารยะชน ฯ ไทย ญี่ปุ่น จีน ไม่มีเวลาเป็นอารยะชนได้เป็นอันขาด เพราะเปลี่ยนสายโลหิตที่เกิดมาแล้วไม่ได้ แขกฮินดูในอินเดียจะซิวิไลซ์ หรือตรงกันข้ามกับซิวิไลซ์สักเพียงไรก็ตาม จะเปลี่ยนเป็นอื่น นอกจากเป็นอารยะชนนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าเป็นแขกฮินดูก่อนตั้งพุทธศาสนา เพราะท่านเป็นเผ่าพันธุ์ของชาวต่างประเทศ (ไม่ใช่ฝรั่ง) ที่เข้ามาอยู่อินเดียครั้งโบราณ ฯ ลัทธิฮินดูรวมตั้งแต่บูชาวัวและฆ่าแพะเอาเลือดสด ๆ บูชานางกาลีไปจนเผาเมียเป็น ๆ ให้ตายตามตัว (ซึ่งเดี๋ยวนี้กฎหมายห้าม) ย่อมเป็นอารยะธรรมของอารยะชนบางพวกทั้งนั้น ศาสนาคริสเตียนเสียอีก ถ้าคิดถึงพระเยซูผู้เป็นต้นศาสนา ก็ไม่ใช่อารยะธรรม

๏ เรานึกว่า เราเห็นจะทำให้ผู้อ่านหลายคนฉงนศัพท์ว่า “อารยะชน” และ “อารยะธรรม” เราใช้ศัพท์ ถูกแท้ตามตำรา แต่เราจะอธิบายการแยกประเภทแห่งมนุษย์ในหน้ากระดาษเท่านี้ก็ไม่ได้”

๏ ๏ ๏

ผู้อ่านอ่านข้างบนนี้แล้วคงจะเห็นได้ว่า ทวีปเอเชียเป็นบ่อเกิดของศาสนา ศาสนาที่นับถือกันว่า เป็นศาสนาใหญ่ในโลกเวลานี้ คือ พุทธศาสนา คริสต์ศาสนา และศาสนามหหมัดเป็นต้น เกิดในเอเซียทั้งนั้น

๏ ๏ ๏

๑๔เราได้อ่านหนังสือฝรั่งว่า คนทุกคนมีธรรมดาอยากเป็นผู้อื่น และข้อนี้เองเป็นเหตุแห่งความขุ่นและคันใจในหมู่มนุษย์มิใช่น้อย

ความที่เขาว่านี้จะมีจริงสักกี่มากน้อย มาเราจะลองอธิบายกันเล่นบ้าง เขาว่าความอยากเป็นผู้อื่นนี้แหละ ทำให้เกิดความไม่อยู่สุขในประชุมชน มิฉนั้นคนทั้งหลายก็จะพอใจในฐานะหรือตำแหน่งของตน และรักษาฐานะและตำแหน่งนั้นโดยสวัสดี คนแทบจะทุกคนมีความสามารถและความเหมาะสำหรับสิ่งโน้นสิ่งนี้บ้าง แต่แทบจะทุกคนเชื่อตนว่าสามารถเกินงานที่ทำ และเหมาะแก่งานที่ใหญ่ขึ้นไป หรืองานชนิดอื่น

จะยกตัวอย่างที่ไม่เกี่ยวกับการงาน แต่เป็นตัวอย่างที่พอยกเป็นข้อเปรียบได้ ต่างว่าท่านไว้ใจตัวเองเป็นผู้รู้จักสังเกตบุคคล เห็นใครเข้าก็สังเกตทันที่ว่าแก่หรือเด็ก เดาอายุก็ได้ เดาปัญญาอันมีตามวัยก็ได้ ถ้าท่านแสดงกิริยาวาจาตามความสังเกตของท่าน เป็นต้นเข้าว่าช่วยพยุงคุณหญิง ศิลปานนท์ (อายุ ๔๘) ไม่ให้ตกกระได หรือพูดกับนายการุณย์ (อายุ ๒๐) อย่างคนไม่มีความรู้ชนิดที่เกิดจากความเคยฉนี้ คุณหญิงศิลปานนท์ก็ไม่ถูกใจ เพราะชอบให้คนเห็นว่ามีอาการอย่างคนมีอายุ ๓๕ นายการุณย์ก็โกรธ เพราะหนุ่มที่มีความเคยมา ๒๐ ปี ชอบเชื่อว่ามีความเคยเสมอคนอายุ ๔๐ ปี

อนึ่ง บางคนพูดถึงการงานอยู่เสมอ ๆ ถ้าท่านเข้าใจว่า เขาพูดเช่นนั้นเพราะชอบพูดก็อาจผิด เขาพูดถึงการงานเพราะพูดง่าย ไม่พูดเรื่องอื่น เพราะพูดเรื่องอื่นไม่เป็น ก็เป็นได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น และถ้าท่านไปพูดกับเขาถึงการงาน เขาก็อาจไม่ชอบ เพราะเป็นการเตือนให้รู้ตัวว่าไม่ถนัดพูดเรื่องอื่น

อาชีพหรืองานที่คนทำประจำตัวอยู่นั้น ไม่จำเป็นจะเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุดแก่บุคคลนั้น ๆ เขาอาจทำอย่างอื่นได้ดีกว่าสิ่งที่ทำอยู่เสมอ ๆ ก็ได้ เป็นต้นว่า ผู้พิพากษาบางคนอาจเหมาะที่จะเป็นนักการเมือง ยิ่งกว่าเหมาะที่จะตัดสินความ และนักพูด (หรือเขียน) อาจถนัดสีซอมากกว่า ถนัดพูด (หรือเขียน) ก็ได้

ถ้าท่านมหาเทศน์ แสดงธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่เอ่ยถึงความเป็นไปในบ้านในเมือง เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านจงลองเข้าไปสรรเสริญว่า “ท่านมหาชี้แจงธรรมะแจ่มแจ้งนัก” ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งสรรเสริญว่า “ท่านมหาชี้แจงความเป็นไปในประชุมให้เห็นทางเศรษฐกิจแจ่มแจ้งนัก” แล้วสังเกตดูว่า ท่านมหาจะชอบสรรเสริญอย่างไหนมากกว่า พูดที่จริงท่านมหาอาจไม่ยินดีในคำยอเลยทีเดียว แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็น่าเดาว่าท่านจะยินดีบ้าง

พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชแห่งปรัซเซีย (เยอรมัน) เป็นเจ้าแผ่นดินบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีสติปัญญาสามารถในเชิงศึก พระองค์เป็นแม่ทัพเยอรมันอย่างดี แต่อยากมีชื่อเสียงเป็นนักปราชญ์ฝรั่งเศส เพราะฉนั้นถ้าใครทูลสรรเสริญกลศึกและความมีชัยของพระองค์ในสงคราม ก็คงจะเป็นแต่ทรงยิ้ม ๆ แต่พูดสรรเสริญว่า ความเป็นปราชญ์ของพระองค์เทียบทันกับ วอลแตร์ ก็คงจะโปรดมาก

ถ้าท่านนึกถึงใคร ๆ ที่ท่านรู้จัก ทั้งในรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ท่านคงจะนึกได้หลายคน ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ ก็น่าจะพอใจในฐานะหรือตำแหน่งของคน แต่อันที่จริงอยากจะเป็นคนอื่น หรือเป็นอย่างคนอื่น ถึงตัวท่านเอง ก็ออกจะเป็นเช่นนั้น จริงหรือไม่ คำเก่าท่านว่า คนกวาดเฉลียงอยากเลี้ยงชมด คนเลี้ยงชมดอยากรดต้นไม้ ฯลฯ ฯลฯ

๏ ๏ ๏

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอช. จี. เว็ลส์ ได้เขียนหนังสือว่าด้วยเรื่องความเป็นไปในอเมริกา เป็นหนังสือซึ่งคนใส่ใจอ่านกันแทบจะทั่วโลก

ผู้นั้นกล่าวแห่งหนึ่งว่า ของสำคัญที่ไม่มีในอเมริกาเวลานี้ แต่ต้องการอย่างที่สุดในการเมืองของประเทศ ก็คือฝ่ายค้านรัฐบาล ซึ่งรวมกันเป็นชุมนุมกอบด้วยคนซื่อ ฉลาด และรู้จักคิดรอบคอบ และมีบุรุษผู้สามารถเป็นผู้นำชมรมค้านเช่นว่านี้ ต้องมีความคิดในทาง “สร้าง” เป็นแก่นสารมั่นคงไม่น้อยกว่าความคิดสร้างของท่านเปรซิเด็นต์เอง จะสักแต่ว่าคิดค้านเพื่อทำลายเท่านั้นไม่ได้ ชมรมค้านต้องคอยสอดส่าย เพื่อจะช่วยให้การบ้านเมืองเป็นไปด้วยดี และถ้าเปรซิเด็นต์พลาดพลั้งจะทำไปไม่ตลอดด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ชมรมค้านต้องพร้อมที่เข้ารับทำแทน และจะต้องทำให้เป็นงานสร้างต่อไป

นี่แหละเป็นสิ่งซึ่ง เอช. จี. เวลส์ กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าควรต้องมี แต่ไม่มีในอเมริกา

๏ ๏ ๏

เซอร์ยอน ชี้แจงถึงคำว่า แซงชั่น ตามกฎหมายทั่วไปก่อน แซงชั่นคือวิธีสำหรับบังคับให้คนทำตามกฎหมาย พูดตามธรรมดา แซงชั่นก็คือการลงโทษผู้ทำผิด เป็นต้นว่า ใครโกงคนอื่น ท่านให้ปรับหรือจำคุก ฉนี้ ปรับหรือจำคุกเป็นแซงชั่นจนถึงกฎหมายของเรามักเรียกบทแซงชั่นว่า “บทกำหนดโทษ” ที่ใช้คำเช่นนี้ ถ้าพูดเพียงกฎหมายที่มีอยู่เวลานี้ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าพูดตามริโอรีแห่งวิชากฎหมาย แซงชั่นอาจเป็นรางวัลพิเศษที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายก็ได้ เซอร์ยอนกล่าวว่า แซงชั่นทำนองนี้ยังไม่ได้ใช้มากในกฎหมายประจำประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อาจใช้มากขึ้นในเวลาต่อไป

แซงชั้นเป็นของต้องมีในกฎหมาย กฎหมายกับจรรยาผิดกันที่จรรยาไม่มีแซงชั่น ผู้ประพฤติผิดในจรรยาอาจเป็นที่รังเกียจ แต่ไม่มีอะไรบังคับว่าใครต้องทำอะไร

สันนิบาตชาติมีกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงจรรยา และกฎหมายของสันนิบาตชาติ ก็คือหนังสือสัญญา ซึ่งประเทศทั้งหลายที่เป็นสมาชิกลงชื่อเป็นปฏิญญานี้เรียกว่า คัฟเวแนนต์ คัฟเวแนนต์วางแซงชั่นไว้ในมาตรา ๑๖ ซึ่งกำหนดไว้ว่า ให้ใช้เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิกทำสงคราม ขืนบัญญัติบางข้อ ที่กล่าวในมาตราอื่น สักแต่ว่าทำสงครามนั้น อาจไม่ขืนบัญญัติก็ได้ ถ้าต้องทำสงครามด้วยเหตุบางประการ ก็ไม่ขืนบัญญัติตามคัฟเวแนนต์ของสันนิบาตชาติ (แต่มีปฏิญญาอีกรายหนึ่ง ซึ่งห้ามสงครามเป็นอันขาด ปฏิญญานี้ต่างหากจากสันนิบาตชาติ เรียกว่า ปริยวงศ์เก็ลลอค แปกต์ ทำที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๒๘ และประเทศต่าง ๆ ทั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในสันนิบาตชาติได้เซ็นทั้งนั้น จะมีเว้นบ้าง ก็แต่ประเทศที่ไม่สำคัญเลย)

มาตรา ๑๖ ของคัฟเวแนนต์นั้นมีความว่าสมาชิกของสันนิบาตชาติที่ทำสงครามขืนบัญญัติในคัฟเวแนนต์นั้น “ท่านให้ถือว่ากอบการสงครามแก่ประเทศทั้งหมดที่เป็นสมาชิกด้วยกัน และประเทศทั้งหมดรับสัญญาว่า จะตัดสัมพันธ์กับประเทศนั้นในทางค้าขาย และในทางเงินโดยทันที ทั้งจะห้ามมิให้ประชาชนของตนติดต่อกับชนชาวประเทศที่ทำสงครามโดยอาการอันขืนบัญญัติ และทั้งกีดกันมิให้ชนชาวประเทศนั้น ติดต่อในทางเงินทางค้าขาย และส่วนตัวบุคคลกับชนชาวประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งที่เป็นสมาชิกและมิใช่สมาชิกของสันนิบาตชาติ (มาตราเดียวกันนี้ กล่าวต่อไปถึงการใช้กำลังทหาร เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคัฟเวแนนต์ แต่กล่าวย่อ ๆ ไม่แจ่มแจ้งนักว่า จะทำอย่างไร)

แซงชั่นมีอยู่เช่นนี้ ถ้าสันนิบาตชาติตัดสินว่า ประเทศใดได้ทำผิด จะใช้แซงชั่นอย่างไรก็ยากที่ใครจะรู้ได้ เพราะไม่เคยมีตัวอย่าง แต่มักจะเข้าใจกันตามที่สันนิบาตชาติได้ปรึกษาลงมติกันแล้วใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ในเรื่องความหมายของมาตรา ๑๖ (อันเป็นความหมายซึ่งประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาเลีย เชโกสโลวาเกีย และโปแลนด์ ได้พร้อมกันรับรองใน ค.ศ. ๑๙๒๕) ความเข้าใจของคนโดยมากดังนี้

ข้อ ๑. จะ “บอยคอตต์” ประเทศที่ทำผิด และชนชาวประเทศนั้นทั้งหมด การบอยคอตต์ ชั้นที่จะทำจำเพาะประเทศของตนเองพอเข้าใจง่าย แต่ที่จะทำไปถึงประเทศอื่นไม่ให้ประเทศทำผิดติดต่อได้นั้นดูลำบากนักหนา เวลานี้ ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมันไม่ได้อยู่สันนิบาตชาติ ต่างว่าตัดสินกันว่า อิตาลีหรืออบิซซีเนียเป็นผู้ทำผิด จะกีดกันไม่ให้อิตาลีหรืออบิซซีเนียติดต่อกับญี่ปุ่น อเมริกา และเยอรมันอย่างไรก็เข้าใจยาก

ข้อ ๒. ก่อนที่ประเทศสมาชิกจะตกลงทำบอยคอตต์หรือไม่ ก็จะต้องตัดสินเสียก่อนว่า ประเทศที่ถูกหาว่าทำผิดนั้น ทำผิดจริงหรือไม่ กรรมการสันนิบาตชาติ อาจตัดสินแล้วว่าผิด แต่ถ้าประเทศสมาชิกไม่ผิด และไม่บอยคอตต์ คำตัดสินของกรรมการสันนิบาตชาติก็บังคับไม่ได้

ข้อ ๓. บอยคอตต์ นั้นหมายความว่า ทำกันทั้งหมด หรือส่วนมากในพวกประเทศสมาชิก แต่ไม่หมายความว่า ถ้าประเทศใดไม่ทำสักประเทศหนึ่ง ประเทศอื่น ๆ ก็เป็นอันไม่ต้องทำทั้งนั้น และไม่หมายความว่า ประเทศบางประเทศ อาจถูกบังคับให้ทำก็ได้

คำตัดสิน หรือคำแนะนำของกรรมการสันนิบาตชาติ คงจะเป็นเครื่องนำประเทศทั้งหลายให้ตกลงตาม แต่บังคับไม่ได้

คัฟเวแนนต์ก็เหมือนกฎหมายอื่น ๆ คือ ไม่บังคับให้ทำสิ่งที่ทำไม่ได้ และบอยคอตต์นั้น หากจะทำ ก็ไม่จำเป็นจะทำเต็มที่ทีเดียว เปรียบเหมือนกฎหมายว่าให้ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท ศาลจะตัดสินปรับเพียง ๑๐๐ บาทก็ได้

๏ ๏ ๏

๑๕เมื่อราว ๒ เดือนมานี้ เราได้ยินนักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางเพาะปลูกในเมืองอังกฤษพูดทางวิทยุ ถึงวิทยาศาสตร์และการเพาะปลูก เราฟังแล้วนึกว่า ถ้าเขาลงพิมพ์เมื่อไร ก็จะเก็บมาเล่าสู่กันฟัง แต่คอยมาจนป่านนี้ ก็ไม่เห็นลงพิมพ์ เราจะเขียนได้เพียงที่จำจากคำพูดทางวิทยุหนเดียว เวลาก็นานมาแล้ว ลืมเสียก็มาก ทั้งบางแห่งก็ฟังไม่ถนัด เพราะเขาใช้ศัพท์วิทยาศาสตร์ ซึ่งเราไม่รู้ก็มี

ใจความที่เขาพูดคืนนั้นว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้ช่วยการเพาะปลูกมากเหมือนช่วยกิจการอื่น ๆ เป็นต้นว่า วิทยาศาสตร์ได้ช่วยให้เราได้ยินคนพูดอยู่คนละทวีป ช่วยให้เราเหาะเหินเดินอากาศ ช่วยให้มนุษย์จำเริญความสามารถโดยประการต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถฆ่ากันตาย ในสงครามด้วย วิทยาศาสตร์ไม่ได้ช่วยการเพาะปลูกมากถึงเท่านั้น แต่ก็ได้ช่วยบ้าง เป็นต้นว่า ช่วยทำพื้นดินที่จืดแล้วให้กลับเป็นพื้นดินดี เพาะปลูกงอกงามได้ และทำให้เนื้อที่น้อยเพาะปลูกได้มากเป็นต้น แต่การที่วิทยาศาสตร์ช่วยให้เพาะปลูกได้มากในที่ดินน้อยนั้น สักแต่ว่าเพิ่มปริมาณแห่งพืชผล ยังไม่สำคัญนัก ที่สำคัญกว่าก็คือว่า ช่วยให้เปลี่ยน ได้ ที่ว่าช่วยให้เปลี่ยนเป็นการช่วยอย่างสำคัญนั้น เพราะว่ามนุษย์ชอบเปลี่ยน เห็นได้ในข้อที่ว่า แต่ก่อนฝรั่งกินข้าวสาลี (คือขนมปัง) เป็นพื้น เดี๋ยวนี้กินขนมปังนิดเดียว ยิ่งคนมีทรัพย์ยิ่งกินน้อยที่สุด อาหารที่เป็นเนื้อเป็นหนัง ก็คือเนื้อสัตว์และหนวดเต่าเขากระต่ายต่าง ๆ ภาษิตฝรั่งโบราณว่า “ขนมปังเป็นเสาจุนชีวิต” แต่คนสมัยนี้ ถ้าไม่จนจริง ๆ ก็จนชีวิตด้วยอาหารชนิดอื่น ๆ ชาวนาฝรั่งต้องเปลี่ยนไปตามคนกิน เมื่อคนหันไปกินไก่และไข่ ก็ต้องหันไปเลี้ยงไก่ คนกินเนื้อวัวเนื้อแกะมาก ก็ต้องเลี้ยงวัวเลี้ยงแกะ คนกินผักชนิดไหนมาก ก็หันไปปลูกผักชนิดนั้น งานเหล่านี้รวมอยู่กับ “ชาวนา” (ฟาร์เมอร์) ทั้งนั้น

ใจความที่เขากล่าวที่เรานำมาเล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้แล้ว เป็นแต่เราไม่เคยนึกจะพูดอย่างที่เขาฉลาดพูด แต่เมื่อฟังเขาแล้ว ก็นึกเทียบกับเมืองเรา เห็นว่าข้าวยังเป็นเสาจุนชีวิตของเราอยู่อย่างแต่ก่อน หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คืออาหารของเรานี้ข้าวสำคัญกว่ากับ แต่ความเปลี่ยนที่เป็นไปแล้วในประเทศอื่น ๆ นั้น ย่อมเป็นไปตามวิสัยมนุษย์ นาน ๆ เข้าในประเทศเราก็คงจะเปลี่ยนเหมือนกัน และการรู้ตัวไว้ว่าจะเปลี่ยนนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะฉนั้น การที่ฟังเขาพูดและจดจำไว้นี้ ก็ควรจะให้คุณบ้าง แต่ต้องคิดล่วงหน้าไกล ๆ หน่อย

๏ ๏ ๏

ภายหลังที่ฟังเขาพูดจากลอนดอนคืนนั้นมาแล้ว เราได้อ่านหนังสือพิมพ์อเมริกัน ว่าด้วยวิทยาศาสตร์กับนา (ฟาร์ม) ได้ความไปคนละย่าง หนังสือพิมพ์ชื่อ “ฮาร์เปอส์ มัคะซีน” กล่าวว่า วิทยาศาสตร์มาทำลายนา เพราะทำให้การเพาะปลูกในพื้นที่เล็กได้ผลมาก ที่นาจะว่างเปล่าไปหมด สมัยนี้เนื้อที่นิดเดียว ก็เพาะพืชได้ผลมากเท่าเนื้อที่ใหญ่ ๆ และจะปลูกอะไรที่ไหนก็ได้ ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า แต่ก่อนพืชจะงอกงามก็แล้วแต่รสในดินที่มีเอง เดี๋ยวนี้รสดินเป็นของที่มนุษย์บันดาลได้ และจะบันดาลให้ที่ดินที่ไหนเหมาะสำหรับปลูกอะไรก็ได้เหมือนกัน

เมื่อเราได้อ่านดังนี้ก็ทำให้คิดอีก เราชอบกินลูกพลับ และส้มจีนมาจากเมืองจีน ถ้าวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราปลูกต้นพลับและต้นส้มจีนได้ดีเท่าเมืองจีน เราจะไปกินผลไม้เมืองจีนให้ต้องเสียค่าระวางบันทุกทำไม ปลูกของเรากินเองไม่ดีกว่าหรือ ต้นพลับของเราก็มีในป่า ต้นส้มของเราก็มีในสวน วิทยาศาสตร์ควรจะช่วยได้มาก

ที่นี้พูดกลับกัน เมืองจีน (และเมืองอื่น ๆ) ซื้อข้าวของเราไปกิน เมื่อถึงสมัยที่วิทยาศาสตร์ ช่วยให้ปลูกข้าวได้ เขาจะมาซื้อข้าวของเราทำไม

วิทยาศาสตร์เห็นจะทำยุ่งใหญ่เสียแล้ว จนมีคนบางพวกเห็นว่า ถ้าระงับวิทยาศาสตร์เสียที มนุษย์จะเป็นสุขกว่าปล่อยให้มันเป็นไปจนบังคับไม่ได้ เราไม่มีอำนาจที่จะบังคับวิทยาศาสตร์ให้ระงับ เพราะฉนั้นทางดีที่สุด ก็คือเข้ากลมเกลียวกับวิทยาศาสตร์ เป็นการตกกระไดพลอยโจน ถ้าเห็นท่าจะได้ประโยชน์ทางไหนจากวิทยาศาสตร์ ก็ควรรีบรัดเอาเป็นกำไรไว้ก่อน

๏ ๏ ๏

หวนกลับไปถึงการเพาะปลูกพืชพรรณในที่ซึ่งไม่เคยปลูก บางทีท่านจะนึกว่า จะเอารุกขชาติไปเพาะปลูก ในที่ซึ่งไม่ถูกดินฟ้าอากาศอย่างไรได้ ถึงจะปลูกได้ ก็คงจะแพงที่สุด

ถ้าท้องเช่นนั้น และพูดเพียงความรู้ของเรา (ประมวญมารค) ก็เป็นความจริง เราเคยเห็นเขาปลูกผักกะเฉดในโรงกระจกที่เคมบรีช ถ้าจะซื้อกินเห็นจะแพงกว่า ๒ กำสตางค์มาก

แต่เราอย่าดูถูกวิทยาศาสตร์ในอนาคต อะไรจะเป็นอย่างไรคิดไม่ถูก และเราจะอ้างหนังสือ “ฮาร์เปอร์ มัคซีน” ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เดี๋ยวนี้เขารู้วิธีปลูกผักในตู้ ตู้หนึ่งมีถาด ๑๐ ชั้นทำด้วยโลหะ รูปหีบดูคล้าย ๆ ตู้น้ำแข็ง แต่ขนาดเท่าไหนเขาไม่บอก ในถาดนั้นไม่ได้ใช้ดิน ใช้อาหารต้นไม้ต่างกันตามชนิดต้นไม้ ต้องมีคนคอยให้น้ำทุกวัน ๆ ละครั้งในถาด ๆ หนึ่ง เขาปลูกพืชรุ่นหนึ่ง ให้ทอยกันทุกวัน วันนี้ถาด ๑ พอดีใช้ได้ พรุ่งนี้ถาด ๒ มรืนถาด ๓ จนถึงถาด ๑๐ ก็เวียนไปถาด ๑ ใหม่ ต่างว่าตู้หนึ่งปลูกผักกาดหอม จะมีผักกาดหอมทุกวัน ไม่มีเวลาขาด ในประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก และเยอรมันใช้ตู้ชนิดนี้มากขึ้นทุกที ชาวนาใช้สำหรับปลูกอาหารให้วัวและไก่กิน อเมริกาได้ซื้อตู้ชนิดนี้ไปลองใช้ตู้หนึ่ง ใช้ปลูกอาหารให้วัวกินอยู่ที่ตำบลหรือเมืองชื่อ ซัมมิตนิวเยอร์ซี ผักหรือหญ้าที่ปลูกในถาดนั้น งอกเร็วเหมือนเล่นกล สองสามชั่วโมงก็งอกพ้นดินเสียแล้ว ผลที่ได้นั้นกล่าวว่า ๕ เท่าที่ปลูกใน ดินธรรมดา โรงเลี้ยงวัวนมใช้ตู้นี้ ได้อาหารดีราคาถูกมาก

ฤทธิ์เดชของวิทยาศาสตร์ ในการเพาะปลูกมีฉนี้ ต่อไปภายหน้าจะเป็นอย่างไร ดูถูกไปได้

๏ ๏ ๏

๑๖เราหวั่นหนักขึ้น ๆ เกรงว่า คติที่แต่ก่อนเคยเรียกกันว่า “ตีหัวหมาปาหัวเจ๊ก” จะคืนมาใช้แพร่หลายกันอีกทั่วไปในโลก คตินี้ใช้ว่า จะเคยสาบสูญสิ้นพืชสิ้นพันธุ์ไปทีเดียวก็หามิได้ แต่ก็ได้เบาบางลงไปมาก หมู่นี้ดูท่าทางเหมือนจะกลับมาอีก

ที่เคยเรียกกันว่า ตีหัวหมาปาหัวเจ๊กนั้น แต่ก่อนใช้หมายความว่า การทำก้าวร้าวรังแกผู้ไม่มีกำลังสามารถจะต่อสู้ได้ เปรียบดังเอาอิฐปาหัวเจ๊กหาบก๋วยเตี๋ยว เจ๊กไม่มีโอกาสจะต่อสู้ได้ ถ้าเจ๊กจะบ้าระห่ำหน้ามืดทิ้งหาบไปต่อสู้ หาบก๋วยเตี๋ยวก็หมด

๏ ๏ ๏

เราไม่ไว้ใจความเป็นไปในโลก และวิตกเรื่องสงครามโดยเฉพาะสงครามที่เกิดแล้วในแอฟริกานั้น แม้แอฟริกาจะไกลกับเรา โดยจำนวนไมล์ไม่น้อยกว่าแต่ก่อน ก็ไม่ไกลโดยคมนาคมดังในเวลาโบราณ เหตุการณ์ใหญ่โตอาจกระเทือนถึงได้ในทางเศรษฐกิจเป็นต้น ยังความเป็นสมาชิกของเราในสันนิบาตชาติ ทำให้เรามีติดต่อกับ ๒ ประเทศที่วิวาทกันอีกเล่า ประเทศเล็กประเทศน้อยยินดีต่อสันนิบาตชาติ เพราะหวังพึ่งในคราวคับขัน เพราะฉนั้น สมาชิกของสันนิบาตชาติเกือบทั้งหมด จึงมิใช่ประเทศนักเลงโต เป็นประเทศซึ่งมีเสียง (คือมีโหวต) แต่ไม่มีกำลังโดยมาก ถ้าประเทศนักเลงโตยังเหลืออยู่ในสันนิบาต ชาติเกิดแตกร้าวกันขึ้น ลำพังประเทศเบ็ดเตล็ดจะรวมกันอยู่เป็นสันนิบาตต่อไปกระไรได้ สันนิบาตชาติในวันนี้ เราอยากจะเปรียบว่า เหมือนช้างประหลาดที่มีตีนหน้า ๒ ตีน ตีนหลังประมาณ ๕๐ ตีน

๏ ๏ ๏

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๑ หน้า ๔๙ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  2. ๒. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๒ หน้า ๔๘ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  3. ๓. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๓ หน้า ๕๓ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  4. ๔. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๕ หน้า ๕๐ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  5. ๕. ประมวญมารค ฉบับ ๓๗ หน้าที่ ๕๐ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  6. ๖. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๙ หน้า ๕๕ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  7. ๗. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๐ หน้า ๕๔ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  8. ๘. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๐ หน้า ๕๔ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  9. ๙. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๒ หน้า ๔๘ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  10. ๑๐. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๓ หน้า ๔๓ ปีที่ ๒ ศุกร์ ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  11. ๑๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๔๔ หน้า ๔๗ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  12. ๑๒. ประมวญมารค ฉบับ ๔๕ หน้าที่ ๔๙ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  13. ๑๓. ประมวญมารค ฉบับ ๔๗ หน้าที่ ๕๓ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘

  14. ๑๔. ประมวญมารค ฉบับที่ ๕๐ หน้า ๔๙ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  15. ๑๕. ประมวญมารค ฉบับที่ ๕๑ หน้า ๔๓ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

  16. ๑๖. ประมวญมารค ฉบับที่ ๕๒ หน้า ๔๙ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ