ภาษาอังกฤษ

เมื่อ ค.ศ. ๑๕๘๒ นับมาถึงเดี๋ยวนี้ได้ ๔๕๓ ปี ครูไวยากรณ์อังกฤษผู้มีชื่อโด่งดังคนหนึ่งเขียนหนังสือไว้ว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาใช้ไม่กว้างไปถึงไหน ใช้อยู่เพียงในเกาะอังกฤษ แต่ก็ไม่ทั่วเกาะด้วยซ้ำ ในสมัยนั้นมีคนพูดภาษาอังกฤษระหว่าง ๔ ล้านกับ ๕ ล้านคนเท่านั้นเอง ในพวกภาษายุโรปในเวลานั้น มีคนพูดภาษาฝรั่งเศสมากที่สุด ถัดมาก็ภาษาเยอรมันแล้วภาษาอิตาเลียนและภาษาสเปนิช ตามลำดับมา อังกฤษเป็นภาษาที่ ๕ รัสเซียเป็นที่ ๖

ต่อนั้นมาอีก ๓๐๐ ปี คนพูดอังกฤษก็ยังน้อย แต่เดี๋ยวนี้มีคนใช้ภาษานั้นมากที่สุดในโลก ภาษาที่รองลงไปอีก ๒ ภาษาคือเยอรมันกับรัสเซียน ถ้ารวมกันเข้าก็มีคนใช้น้อยกว่าภาษาอังกฤษภาษาเดียว เขาว่าหนังสือที่ส่งทางไปรษณีย์ทั่วโลกในเวลานี้ สามในสี่ส่วนเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และหนังสือพิมพ์ทั้งโลกพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษกว่าครึ่ง ภาษาที่พูดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาอังกฤษสามในห้าส่วนของภาษาทั้งหมด ตามเมืองที่เป็นท่าเรือทะเล ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางทั่วไป และในสมัยนี้ภาษาอังกฤษเข้าแย่งตำแหน่งเป็นภาษาการเมืองจากภาษาฝรั่งเศส เช่น สันนิบาตชาติใช้ด้วยกันทั้ง ๒ ภาษาเป็นต้น

เขาประมาณกันว่า คนพูดภาษาอังกฤษเวลานี้มี ๑๙๑ ล้านคน ประเทศรัสเซียซึ่งมีพลเมืองประมาณ ๑๕๐ ล้านนั้น มีคนพูดภาษารัสเซียนประมาณ ๘๐ ล้านเท่านั้นนอกนี้พูดภาษาอื่นๆ หลายภาษาที่ใช้กันในรัสเซีย ภาษาเยอรมัน มีคนพูดประมาณ ๘๕ ล้านคน ฝรั่งเศสหรือสเปนิชมาต่อเยอรมัน นับเป็นที่ ๔ และอิตาเลี่ยนเป็นที่ ๖ ในพวก ยุโรป นอกนั้นล้าหลังอยู่ปลายสนามทั้งนั้น

ถ้าจะพูดภาษาในทวีปเอเซีย จีนซึ่งมีคนตั้ง ๓๐๐ ล้าน ก็พูดภาษาต่าง ๆ กันและในอินเดียก็เช่นกัน ภาษาไทยเราประมวญมารคนึกว่ามีคนพูดประมาณ ๒๐ ล้านคน แต่แปร่งๆ กันไปตามภูมิประเทศ

นอกจากคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ยังมีคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ ๒ (เช่นผู้เขียนในประมวญมารคนี้เป็นไทย มีภาษาไทยเป็นภาษาแม่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ ๒) คนที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาที่ ๒ นั้น เขาประมาณว่ามีในโลกประมาณ ๒๐ ล้านคน

ที่เป็นดังนี้ เพราะคนอังกฤษเก่งในการเที่ยวแซกไปทุกหนทุกแห่ง แต่ไม่เก่งเรียนภาษาของคนอื่น ไปไหนก็ลากลู่ถูกังเอาภาษาของตนไปด้วย อีกประการหนึ่งภาษาอังกฤษเป็นภาษาเหมาะที่จะใช้กว้างขวาง กล่าวตามที่ยากอปกริมม์ (เยอรมัน) กล่าวไว้ประมาณ ๑๐๐ ปีแล้ว ว่า “ในทางมั่งคั่งด้วยความหมาย ในทางปัญญาและในทางประหยัดคำ จะหาภาษาไหนในเวลานี้แข่งภาษาอังกฤษไม่ได้” โปรเฟสเซอร์ เบ็สเปอร์เซ็น (อาจารย์ภาษา) ยังกล่าวซ้ำอีกว่า อังกฤษเป็นภาษาง่าย มีสำเนียงชัดผสม คำได้แน่ จัดประโยคอย่างลอยิก และไม่มีอวดรู้ในสำนวน เป็นต้นว่าไม่ต้องใช้ ๓ ลิงค์เท่านั้นก็ประเสริฐเสียแล้ว (และการที่มี “ยู” คำเดียวแทนท่าน แก เอ็ง มึง ใต้เท้า ฝ่าพระบาท ฯลฯ นั้นสบายนัก)

ภาษาอังกฤษมีคำในดิกชันนารีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ และเกิดใหม่ไม่มีหยุด แต่ดอกเตอร์ ซี. เค. ออดเด็นเชื่อว่า ถ้ารู้คำอังกฤษ ๘๕๐ ก็พอใช้ตามธรรมดา และได้คิดแบบใช้ภาษาอังกฤษ ๘๕๐ คำ ขึ้น เราเองนึกไม่ออกว่า คำ ๘๕๐ คำจะพออย่างไรได้ แต่เขาชี้แจงว่า ที่ว่าพอนั้น พอสำหรับคนธรรมดาใช้ ไม่ใช่สำหรับให้คนมีความรู้มากใช้ และอธิบายต่อไปว่าคำ ๘๕๐ คำนั้น ถ้าใช้ควบกันให้ดี ก็แทนคำอื่น ๆ ได้มาก ภาษาอังกฤษคำนี้ เขาตั้งชื่อว่า เบสิคอิงค์ลิช จะใช้ได้จริงคือมีผู้รับใช้ทั่ว ๆ ไปหรือไม่ ก็ต้องคอยดูไป

ภาษาอังกฤษเดี๋ยวนี้ คนอังกฤษมักจะพูดกันว่า แตกกิ่งออกไปเป็นภาษาอเมริกันอีกสิ่งหนึ่ง อันที่จริงคนอเมริกันก็พูดภาษาอังกฤษ แต่มีแปลกออกไป ๒ ทาง คือสำเนียงทาง ๑ ใช้คำใหม่ ๆ ซึ่งเกิดในอเมริกาอย่างรวดเร็วอย่างหนึ่ง

สำเนียงที่พวกอเมริกันพูดอังกฤษนั้น คนอังกฤษว่าเป็นเสียงออกทางจมูก ถ้าไม่คุ้นก็ฟังไม่เข้าใจ แต่อเมริกัน บางคนก็ว่าอังกฤษพูดทางจมูกเหมือนกัน

คนอังกฤษคนหนึ่งว่า สำเนียงของอเมริกันนั้น “เป็นเสียงออกทางจมูกคลุกกันอย่างไม่มีหวัง และพูดผ่านหีบเสียงเก่า ๆ”

อังกฤษอีกคนหนึ่งว่า “เมื่อหนังพูดมีมา ก็เป็นโอกาสที่เรา (อังกฤษ) จะเป็นผู้นำสำเนียงพูดในโลก เราพูดภาษาอังกฤษซึ่งอเมริกันไม่พูด”

หนังสือพิมพ์อเมริกันชื่อ “สเตช” เขียนว่า “แน่ละ สำเนียงอังกฤษนั้นเฉิดฉายยิ่ง เมื่อเป็นสำเนียงที่คนฟังออกก็ยิ่งเฉิดฉายยิ่งขึ้น

อเมริกันอีกคนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้พูดลครมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่แน่ในใจว่า ลครทำท่าและพูดเหมือนลครอังกฤษหรือคนอังกฤษทำท่าและพูดเหมือนลคร”

เราซึ่งไม่ใช่คนอังกฤษและไม่ใช่คนอเมริกัน ฟังเขาสาดน้ำรถกันก็ขันดี และถ้าเราเคยไปเรียนในประเทศไหน ก็คงจะเอียงไปข้างสำเนียงในประเทศนั้น แต่อันที่จริง สำเนียงอเมริกันก็คือสำเนียงอังกฤษ หาใช่พวกอเมริกันไปคิดดัดแปลงเอาเองไม่ อังกฤษเองซิแปลงสำเนียงของตนเอง (ผู้เขียนกล่าวดังนี้ทั้งที่ตัวเองเป็นนักเรียนเมืองอังกฤษ)

ในร้อยปีที่ ๑๗ แห่งคริสติศักราช เมื่อชาวอังกฤษยกครอบครัวไปตั้งหากินในอเมริกานั้น ภาษาอังกฤษที่พูดกันในลอนดอนและที่ออกซ์ฟอดและเคมบริชในเวลานั้นนิยมกันว่าเป็นสำเนียงผู้ดีมีความรู้ ดังที่สำเนียงซึ่งพูดกันในที่เหล่านั้น เป็นสำเนียงผู้ดีมีความรู้อยู่ในเวลานี้ แต่ในร้อยปีที่ ๑๗ สำเนียงที่ผู้ดีพูดกันในประเทศอังกฤษ ก็คือสำเนียงที่อเมริกันพูดอยู่ในปัจจุบัน เพราะพวกนั้นพาสำเนียงสมัยโน้นข้ามทะเลไปด้วย และยังรักษาสำเนียงไว้ได้ แต่ในประเทศอังกฤษเอง สำเนียงเปลี่ยนไป

เขาว่า ถ้าชอเซอร์ จินตกวีโบราณของอังกฤษคืนมีชีวิตขึ้นมาเวลานี้ จะเข้าใจคำพูดของชาวอเมริกันดีกว่าเข้าใจลูกหลานของตนเองในประเทศอังกฤษ

ในอเมริกามีภาคหนึ่งคือ บอสตัน ที่ใช้สำเนียงพูดคล้ายอังกฤษปัจจุบัน พวกบอสตันเป็นพวกที่ดัดสำเนียงภายหลัง นอกจากพวกบอสตัน อเมริกันพูดอังกฤษตามสำเนียงเดิมทั้งนั้น

ส่วนฮอลี่วู้ดซึ่งเป็นสำนักทำหนังนั้น เมื่อจะเอาเรื่องเก่าของอังกฤษไปเล่นหนัง เป็นต้นว่าเรื่องของเช็คสเปีย ก็พยายามที่สุดที่จะพูดให้เหมือนคนอังกฤษ ครั้งหนึ่งผู้ทำหนังเชิญผู้ชำนาญเรื่องสำเนียงไปฟัง เพื่อจะขอความเห็น ผู้ชำนาญบอกว่า การที่เอาคนอังกฤษเป็นนายโรงเอกนางเอกนั้นพูดผิดหมด ถ้าจะให้ถูกก็ต้องเลือกอเมริกันที่พูดสำเนียงออกทางจมูก เพราะเช็คสเปียเองก็พูดเสียงนั้น คำแนะนำนี้ผู้ทำหนังไม่ยอมทำตาม เพราะคนดูรู้ไม่ถึงก็จะเห็นเลว ขายตั๋วไม่ได้

ส่วนคำใหม่ ๆ ที่เกิดในคำพูดอเมริกัน ดูเหมือนแทบจะจดไม่ทันนั้น เราจะไม่นำมากล่าวให้ยืดยาวไป แต่ควรจะกล่าวว่า คำใหม่ ๆ ของอเมริกันนั้น ได้ความกระฉับกระเฉงบ่อยๆ คนจึงรับใช้เร็ว บางทีคนที่ไม่ชอบคำใหม่ๆ ของอเมริกันกล่าวติเตียนคำนั้น ๆ แต่ในคำที่เขียนติเตียนนั้นใช้คำอเมริกันเป็นหลายคำ ซึ่งผู้เขียนไม่ทันนึกถึงว่า เป็นคำจำพวกที่ติเตียนนั้นเอง

ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อ ๔๕ ปีมานี้เอง หนังสือพิมพ์รายวันในลอนดอนฉบับหนึ่งเขียนปริเทวะว่า คำอเมริกันอย่างน่าทุเรศมีมาใหม่คำหนึ่ง ซึ่งไม่ควรสุภาพชนจะรับใช้เป็นอันขาด คำที่ว่าน่าทุเรศนั้นคือ คำว่า ไซเอ็นติสต์ (Scientist)

 

  1. ๑. ประมวญมารคฉบับที่ ๓๐ หน้า ๕ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ