กระจกใหม่ ๆ

โรงงานโรงแรกในอเมริกาเป็นโรงทำกระจก เปิดใน ค.ศ. ๑๖๐๙ ต่อนั้นมาจนบัดนี้เป็นเวลาราว ๓๒๕ ปี งานทำกระจกเกิดเป็นงานสำคัญเกินที่คนรุ่นโน้นคาดหมาย และแม้คนเราในรุ่นนี้ก็ยังไม่รู้เป็นอันมากว่า กระจกมีที่ใช้อย่างใหม่ ๆ อย่างไรบ้าง สมัยนี้ผู้รู้วิทยาศาสตร์มีมากคนด้วยกัน ที่ทดลองหาความรู้ใหม่ในเรื่องกระจก คิดวิธีทำอย่างใหม่ และเปิดทางใช้ให้กว้างออกไป ช่วยกันฉุดและดันไปเพื่อบรรลุผลในภายหน้าต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้เขียนลงพิมพ์ในหนังสือชื่อ “ปอปูลาไซเอ็นซ์มันเฟล” ว่าได้ไปดูการทดลองกระจกที่โรงทำกระจกแห่งหนึ่งในแคว้นโอหโย (อเมริกา) ผู้ทดลองเอาเหล็กลูกกลมหนักกว่าปอนด์ทิ้งลงมาจากที่สูง ๘ ฟิต ตกบนกระจกแผ่นหนึ่งซึ่งรองรับไว้ ลูกเหล็กกระดอนไป กระจกไม่มีรอยเลย เขาทิ้งลูกเหล็กจากที่สูงขึ้นไป ๑๒ ฟุต คราวนี้กระจกแตก แต่ไม่แตกเหมือนกระจกธรรมดาแตกละลายไปเป็นเศษเล็ก ๆ ซึ่งไม่เป็นอันตรายอะไรเลย และเส้นที่แตกนั้นผ่านกันไปผ่านกันมาเหมือนลายลูกไม้ตัดอย่างละเอียด

กระจกอย่างใหม่นี้ ทำโดยวิธีพ่นอากาศหนาวลงไปที่กระจกร้อนจวนละลาย เมื่อทำเสร็จแล้วแข็งแรงประมาณครึ่งความแข็งแรงของเหล็กกล้า แต่ไม่กระด้างเหมือนกระจกแผ่นขนาดที่บังลมหน้ารถยนต์อาจทานน้ำหนักผู้ใหญ่ ๒ คนได้ เมื่อคนยืนอยู่บนกระจก ๆ ก็อ่อนลงไปเหมือนกระดานแผ่นบาง ครั้นคนลงแล้วกระจกก็คืนตัวไปเป็นแผ่นตรงอย่างเก่า ในประเทศอังกฤษใช้กระจกชนิดนี้เป็นกระจกที่ไม่แตกบาดใคร เดี๋ยวนี้ทำใช้กันในอเมริกามาก ในประเทศอังกฤษเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ทดลองเอากระจกแผ่นใหญ่หนานิ้วหนึ่งรองให้รถยนต์ชนิดบรรทุกของขับข้ามไป รถหนัก ๓ ตัน แต่กระจกไม่แตก

ที่กล่าวมานี้เป็นชนิดกระจกที่ใช้ได้อย่างไม่เคยนึกว่าจะใช้ได้ กระจกอีกชนิดหนึ่งเป็นกระจกซึ่งกันความร้อนของตะวันได้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะกรองแสงแดงต่ำ (ดูเรื่องอาบแดด ในประมวญมารคฉบับที่ ๔) ให้ผ่านกระจกได้แต่น้อย ในฤดูร้อนที่เมืองฝรั่ง แสงตะวันเป็นแสงแดงต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แดดหน้าร้อนในเมืองเราคงจะมีแสงแดงต่ำสูงเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปอีก เพราะแดดเมืองนี้ร้อนกว่าแดดเมืองฝรั่งมาก การทำให้อากาศเย็นลงไปเช่นในศาลาเฉลิมกรุง เขาว่าต่อไปข้างหน้าถ้าใช้กระจกชนิดนี้โสหุ้ยจะต่ำลงไปอีกมาก กระจกชนิดนี้มีสีเขียวอ่อนหน่อยเดียวเท่านั้น นอกนั้นดูก็ไม่ผิดกับกระจกธรรมดา

กระจกอีกชนิดหนึ่งไม่ปล่อยให้แสงสว่างของแดดผ่านไป แต่ปล่อยความร้อนเต็มที่ ถ้าเอากระจกส่องแดด ความร้อนผ่านกระจกไปแรงจนไหม้กระดาษได้ แต่ไม่มีแสง จึงไม่เห็นว่าความร้อนมาจากไหน

ที่โรงทำกระจกชื่อคอร์นิ่ง อยู่ใกล้กรุงนิวยอร์ค มีผู้สั่งทำกระจกชนิดต่างๆ ตั้งแต่กระจกสำหรับใช้แดดเดินเครื่องยนต์ ไปจนหลอดเล็กสำหรับรักษาโรคด้วยคลื่นวิทยุ ผู้สั่งให้ทำฟันด้วยกระจกก็มี ทำซอด้วยกระจกก็มี ทำหีบศพด้วยกระจกก็มี

ในตลาดเมืองฝรั่งเดี๋ยวนี้ อาจซื้อสำลีทำด้วยกระจกก็ได้ อิฐกระจกก็ได้ กระดานดำใช้ในโรงเรียนทำด้วยกระจกก็ได้ น๊อตกระจกก็ได้ ปลีกเครื่องยนต์ทำด้วยกระจกก็ได้ ปลั๊กกระจกนี้เห็นประกายในเครื่องยนต์ ถ้ามองก็รู้ทันที อนึ่ง กระดาษปิดฝาทำด้วยกระจกก็มี กระดาษปิดฝาชนิดนี้ ใช้กระจกเส้นสีติดบนกระดาษเป็นเส้นสีต่าง ๆ เกิดลวดลายงามดูฉูดฉาด หรือลายไม่บาดตาก็ได้

เมื่อทำกระจกเป็นเส้นเหมือนเส้นไหมได้ ที่ใช้กระจกก็มีใหม่ ๆ มากขึ้น เส้นกระจกนี้ทำให้เล็กจนดูแทบไม่เห็นก็ได้ สำลีกระจกก็คือเส้นเล็กเช่นนี้ อาจกรองฝุ่นได้ดีในเครื่องทำอากาศให้สะอาดเช่นที่ศาลาเฉลิมกรุง เขาว่าอาจกรองฝุ่นและเชื้อโรคที่ลอยในอากาศได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ กำปั่นใหญ่เดินทะเลใช้สำลีกระจกคลุมท่อสตีมแทนของที่ใช้เดิม ทำให้น้ำหนักที่บรรทุกไปในเรือนั้นน้อยลงเป็นอันมาก เขาว่าเรือใหญ่ลำหนึ่งรุ่นน้ำหนักได้ ๓๘๐ ตัน ซึ่งเท่ากับคนโดยสารกว่า ๔,๐๐๐ คน

โรงทำเครื่องกระป๋องบางโรงร่วมคิดกับโรงทำกระจก ทำกระป๋องให้มีหน้าต่างกระจกเห็นอาหารในกระป๋อง ผู้ซื้อเห็นของในกระป๋องแล้วจึงซื้อ เครื่องกระป๋องขายดีขึ้น

แต่ก่อนรถไฟใช้โป๊ะโคมเปลืองมาก เพราะอากาศร้อนและหนาวเปลี่ยนเร็วนัก เป็นต้นว่าฝนตกลงมาถูกกระจกกำลังร้อน กระจกก็แตกฉะนี้เป็นตัวอย่าง เขาทดลองจะทำกระจกสำหรับโคมรถไฟ เลยได้กระจกชนิดที่ทนไฟ ใช้หุงต้มได้ และเดี๋ยวนี้ได้ประโยชน์เลยนั้นไปอีก คือทำหม้อสำหรับเตาไฟฟ้า ซึ่งเมื่อใช้ทำของกิน ไฟฟ้าก็ถึงอาหารหมดไม่เปลืองไฟเปล่าเลย และอาหารสุกข้างในกับสุกข้างนอกพร้อมกันและเสมอกัน.

 

  1. ๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๐ หน้า ๒๓ ศุกร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ