- คำของผู้รวบรวม
- คำนำของสำนักพิมพ์
- ๑. นะโปเลียนที่วอเตอร์ลู
- ๒. นางงามกับนะโปเลียน
- ๓. ภาษาอังกฤษ
- ๔. ลักพา
- ๕. กระจกใหม่ ๆ
- ๖. รู้ไว้ใช่ว่า....
- ๗. มันสมองดิกเตเตอร์
- ๘. โคลงด้นเสือโค
- ๙. นายตุ้ยนักสืบ
- ๑๐. อเมริกันเล่าถึงยุโรป
- ๑๑. เหตุไร หัวล้าน
- ๑๒. ปเกียรณการมภ์
- ๑๓. นิทานกลอนพาไป
- ๑๔. เรื่องทุกขฐานํ
- ๑๕. คุณเฉก
- ๑๖. นิทานเรื่องดาวพฤหัสเป็นมูล
- ๑๗. การลุอำนาจพระเจ้าจักรพรรดิ์
- ๑๘. ชมรมกลอน
- ๑๙. ไปดูลครโรงดึกดำบรรพ์
- ๒๐. ละครแมว
- ๒๑. เมื่ออหิวาตกโรคมา
- ๒๒. ข่ายลวดและข่ายปืน
- ๒๓. คำตัดสินของปารีส
นะโปเลียนที่วอเตอร์ลู
๑ย่อจากสมุดชื่อ “ร้อยวัน”
เมื่อนะโปเลียนได้หนีจากเนรเทศในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ ดังในประมวญมารคฉบับที่ ๓๑ และได้คืนราชสมบัติฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้ทรงปกครองบ้านเมืองปราศจากความเบื่อหน่าย คราวนี้ทรงดำรงตำแหน่ง “เอ็มเปอเรอร์ของราษฎร์” คือมิใช่เจ้าแผ่นดินซึ่งพลเมืองไม่รักใคร่ หรือซึ่งได้เป็นประเทศอื่น ๆ ยกย่อง โปรดเสด็จออกยืนที่มุขเด็ดให้ราษฎรในถนนเห็นพระองค์ และชโยโห่ร้อง บางทีก็เสด็จขับรถที่นั่งไปตามถนน ปะปนกับพลเมืองผู้ภักดี ปรากฏความจงรักของราษฎรเป็นอันมากในตอนนั้น
แต่การที่เป็นเช่นนั้น ที่แท้ไม่สู้พอพระทัยนัก เพราะไม่มีแผ่อำนาจบังคับเด็ดขาด เคยตรัสว่า “ข้าถูกมัดทั้งมือและตีน ประเทศฝรั่งเศสต้องการจะรู้แขนขวาของเอ็มเปอเรอร์ไปไหนเสีย แขนนั้นคือแขนซึ่งประเทศฝรั่งเศสต้องมีไว้สำหรับบังคับยุโรป”
ที่ตรัสดังนั้นเป็นความจริง ถ้านะโปเลียนจะอยู่เป็นเจ้าแผ่นดินครองประเทศฝรั่งเศสไป ประเทศฝรั่งเศสก็ต้องมีแขนขวา (คือ ทัพบก) ไว้สำหรับบังคับยุโรป มิฉนั้นก็อยู่ไปไม่ได้ ที่เป็นดังนั้น ก็เพราะว่าประเทศใหญ่ ๆ คือ รัสเซีย ออสเตรีย อังกฤษ ปรัสเซีย สเปญ โปรตุเกต สวีเด็น เหล่านี้เหนื่อยหน่ายสงคราม และจราจลที่มีมาตั้ง ๒๐ ปี จึงประกาศนัดกันว่า นะโปเลียนเป็นผู้ทำพระองค์เหลือที่ใครจะสมัครสมานด้วยได้ ประเทศทั้งหลายจะเลิกศึกกับนะโปเลียนนั้น หาได้ไม่
เมื่อประเทศทั้งหลายตัดทางอลุ่มอล่วยเสียหมดเช่นนี้ นะโปเลียนก็ยังไม่สิ้นพยายามจะทำไมตรี และความพากเพียรนั้น ก็เป็นความพากเพียรของผู้ฉลาดในกิจการ แต่จะส่งทูตไปประเทศไหน ก็ไปไม่ได้ พอไปถึงแดนต่อแดนก็ถูกห้ามหมด เมื่อทรงเขียนหนังสือไปถึงใคร ก็ไม่มีตอบสักรายเดียว จนถึงเมื่อทรงกล่าวว่า ยุโรปได้แย่งชิงกันเป็นผู้มีเกียรติ์มามากแล้ว ควรจะระงับวิวาทบาดหมางกันเสียที เพื่อให้ต่างประเทศต่างอยู่เย็นเป็นสุข และประเทศฝรั่งเศสจะรับประกันอิสรภาพของประเทศทั้งหลาย ไม่ยอมให้ใครระรานกันได้ ดังนี้แล้วก็ไม่มีใครตอบว่ากระไรเลย
ในโลกซึ่งใช้วิธีไม่ตอบกันตะพัดไปเช่นนี้ จะเพาะไมตรีก็ไม่ไหว ที่แท้ก็น่าจะเห็นได้ตั้งแต่แรกว่า นะโปเลียนไม่ไว้พระทัยมาแต่เดิมแล้ว ว่าความพยายามเพาะพืชความสงบนั้น จะเกิดผลสมหมาย จึงได้ประทานคำสั่งต่อเสนาบดีกลาโหมของพระองค์ตั้งแต่แรกที่เสด็จคืนครองบ้านเมือง ว่าให้ทำปืนเล็ก ๔ แสนกระบอกให้แล้วในปลายปีเดียวกัน และภายในเดือนหนึ่งได้โปรดให้จัดทัพใหม่เจ็ดทัพตามชายแดน การเจรจากันด้วยเสียงปืนเป็นวิธีที่เข้าพระทัยดี
แต่การที่เป็นไปในเวลานั้น บางทีก็เป็นที่เศร้าพระทัยนัก เพราะต้องใช้วิธีการซึ่งไม่เคยต้องทรงใช้ และจัดงานซึ่งไม่ทรงชำนาญจัด เพราะหาใช่ด้วยปืนไม่ ไหนจะความกระด้างกระเดื่องภายใน ซึ่งต้องปราบปรามโดยเร็ว ไหนจะต้องทำประมวญกฎหมายใหม่ ไหนจะต้องจัดการให้ชาวต่างประเทศยำเกรงเหล่านี้เป็นงานซึ่งทำแล้วก็ไม่สู้แล้ว ถ้ารบศึกชนะให้เกรียวกราวคราวเดียว การภายในบ้านเมืองซึ่งเป็นเครื่องเจ็บๆ คัน ๆ ก็หายเป็นปลิดทิ้งไปหมด เหตุดังนี้ไม่ช้าก็ทรงหันจากการพลเรือน ไปใส่พระทัยในการทหาร ซึ่งเป็นการทำอย่างไร ๆ ก็ต้องคิด เพราะประเทศสัมพันธมิตร (คือ พวกศัตรูนะโปเลียน) เดินทัพใกล้แดนต่อแดนเข้าไปทุกสัปดาห์ และเดินติดต่อกันเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ปลายหนึ่งจดเขาอัลป์ ปลายหนึ่งจดทะเลเหนือ คือว่าเดินรุกเข้าไปทุกด้าน แต่หากยังมิได้ล่วงล้ำอาณาเขตเข้าไป
ปัญหาที่นะโปเลียนจะต้องทรงคิด ก็คือจะต่อสู้ศึกที่ไหน การที่จะตั้งรับทัพศัตรูในภาคเหนือแห่งประเทศฝรั่งเศสนั้น ย่อมจะไม่ดี เพราะจะทำให้บ้านเมืองตอนที่เป็นสนามรบป่นปี้ไป จึงมีทางเลือกอยู่แต่จะรุกเข้าไปในแดนข้าศึก จึงกำหนดพระทัยว่า จะยกทัพที่เข้าไปในแดนเบ็ลเยียม
ผู้เขียนเรื่องย่อขอกล่าวเพิ่มเติมประกอบว่า ประเทศสัมพันธมิตรเตรียมการศึกครั้งนั้น อย่างที่คิดว่าไม่มีท่าจะแพ้ เว็ลลิงตันแม่ทัพอังกฤษคุมทัพทหารหลายชาติ กับมูลเดอร์แม่ทัพของปรัสเซียคุมทัพปรัสเซียนตั้งมั่นอยู่ในแดนเบ็ลเยี่ยม คอยให้ทัพรัสเซียซึ่งมีทหารมากมาย กับทัพออสเตรียซึ่งมีทหารมากเหมือนกัน ยกไปถึงชายแดนฝรั่งเศสอีกด้านหนึ่ง ก็จะพร้อมกันยกรุกเข้าไปทุกด้านทุกทาง ต้อนนะโปเลียนให้เข้าตั้งมั่นอยู่ในปารีส แล้วพวกสัมพันธมิตรเข้าตั้งล้อมจนสิ้นกำลังก็ต้องแพ้ การที่จะพร้อมกันเดินทัพรุกเข้าไปนั้น กำหนดวันที่ ๑ กรกฎาคม เป็นประมาณ แต่นะโปเลียนแย่งเข้าตีเสียแต่กลางเดือนมิถุนายน จะตีทัพศัตรูในเบ็ลเยี่ยมก่อน เมื่อชนะแล้วจึงจะย้ายไปตีทัพรัสเซียกับออสเตรียซึ่งไปถึงทีหลัง)
การเริ่มศึกของนะโปเลียนครั้งนั้นรวดเร็วนัก ได้ทรงสั่งให้ปิดท่าเรือฝรั่งเศสหมด ไม่ให้เรือเดินเข้าออกได้ รถที่รับจ้างเดินระหว่างเมืองก็ห้ามไม่ให้เดิน คนเดินทางจะข้ามเขตแดนก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อจะกันไม่ให้ข่าวรั่วออกไป ระหว่างนั้นได้มีตรวจพลสวนสนามกองทัพ ๑๒๕,๐๐๐ คน ทหารทั้งหลายภักดีต่อเอ็มเปอร์เรอร์เป็นใจเดียวกันหมด ครั้นเวลาเช้าตรู่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ก็เดินทัพเข้าแดนเบ็ลเยี่ยม นำทัพฝรั่งเศสกว้างไม่ถึง ๒๐ ไมล์ แต่แม่ทัพศัตรูตั้งระยะห่างกันเป็นหน้าทัพราว ๖๐ ไมล์
ข่าวที่ทัพนะโปเลียนยกรุกเข้าแดนเบ็ลเยี่ยมไปนั้น ไปถึงกรุงบรัสเซ็ล (เมืองหลวงเบ็ลเยี่ยม) ในบ่ายวันนั้น และทราบถึงเว็ลลิงตันแม่ทัพอังกฤษในวันเดียวกัน และเว็ลลิงตันทราบได้ว่า นะโปเลียนจะเดินกลศึกให้ต้องรบใหญ่ในด้านนั้น ในคืนเดียวกันนั้น มีงานเต้นรำของเลดีริชมอนด์ (อังกฤษ) ในกรุงบรัสเซ็ล เว็ลลิงตันได้ไปในงานนั้น และพวกนายทัพนายกองผู้ใหญ่ก็อยู่ที่นั่นหมด แต่ได้กระซิบกัน ให้เลี่ยงหายไปทีละคนสองคน ไม่ให้พวกพลเรือนตกใจ ตัวเว็ลลิงตันเองอยู่จนเสร็จการเลี้ยงอาหารตอนดึก แล้วชวนสามีเจ้าของงานไปในที่ว่างคน บอกให้ทราบข่าวศึก และว่าถูกนะโปเลียนทำกลเอาแล้ว
สามีเจ้าของงานซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ถามว่า “ท่านจะทำอย่างไร” เว็ลลิงตัน “ผมได้สั่งให้ประชุมกำลังทัพที่ Quartre Bras แต่จะรับนะโปเลียนอยู่เพียงนั้นไม่ได้ จะ ต้องรบตรงนี้” เว็ลลิงตันชักแผนที่ออกมาชี้แนวเดินหน้าวอเตอร์ลู แล้วลาเจ้าของบ้านกลับไปนอน
วันรุ่งขึ้นทัพทั้ง ๒ ฝ่ายตั้งประชันหน้ากัน จอมพลเนย์ แม่ทัพม้าฝรั่งเศสสั่งให้ทหารม้าเข้าบกจะตีทหารสัมพันธมิตรใต้บังคับเว็ลลิงตันให้แตกจากที่มั่นแนวถนนสี่แพร่ง เป็นการจู่โจมรุนแรงจนเสียทหารไปถึง ๔๐๐๐ คน ก็ไม่ทำให้ข้าศึกหลุดจากแนวถนนไปได้ ส่วนนะโปเลียนจอมพลนั้น ทรงสั่งต้อนทหารเข้าตีทัพปรัสเซียอย่างรุนแรงเช่นกัน รบกันอยู่ตั้งแต่บ่าย ๓ โมงจนค่ำ เสียทหารฝรั่งเศสไปถึง ๑๑,๐๐๐ คน ทัพปรัสเซียก็ยังไม่แตก แต่ในตอนกลางคืน นายทัพปรัสเซียปรึกษาตกลงกันว่า ถ้าขืนตั้งมั่นอยู่จะเสียที จึงสั่งถอยทัพไปตั้งมั่นที่อื่น
รุ่งขึ้นเช้าแม่ทัพอังกฤษทราบว่า ทัพปรัสเซียถอยไป ก็จะต้องถอยบ้าง เพื่อรักษาแนวให้เสมอกันไว้ เว็ลลิงตันจึงสั่งถอยไปตั้งที่มั่นใหม่ ที่เนินหน้าวอเตอร์ลู ระหว่างนั้น นะโปเลียนกำลังรุกทางด้านปรัสเซีย จอมพลเนย์ซึ่งคุมทัพอยู่ด้านอังกฤษ เป็นแม่ทัพซึ่งเคยว่องไวนัก แต่คราวนี้ดูเฉื่อยไป ปล่อยให้เว็ลลิงตันถอยได้ตามสบาย จนเมื่อนะโปเลียนเสด็จย้ายมาทางด้านอังกฤษนั้น กองรั้งหลังของอังกฤษเหลือแต่กองทหารม้า ซึ่งถอยหนีได้ง่าย ทัพฝรั่งเศสจะตามตีติดพันจนเว็ลลิงตันต้องย้อนกลับมาช่วยแก้ก็ไม่ได้เสียแล้ว (การถอยทัพของเว็ลลิงตันครั้งนั้น ถอยดีนักหนา แต่มีเคราะห์ที่ช่วยด้วย)
การที่นะโปเลียนเสด็จย้อนไปด้านอังกฤษนั้น เป็นการดำเนินตามความหมายเดิม คือจะตีให้ถึงกรุงบรัสเซ็ล ครั้นเว็ลลิงตันถอยเข้าไปตั้งที่มั่นใหม่ ก็ยกตามเข้าไป คืนวันหนึ่งเวลา ๗ ทุ่ม นะโปเลียนเสด็จออกตรวจสนามรบ พวกเสนาธิการนอนหลับ ไม่ได้ตามเสด็จ เสด็จไปถึงเนินสูงแห่งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นกองไฟทัพอังกฤษตามเนินวอเตอร์ลู ซึ่งเป็นที่มั่นดี แต่เว็ลลิงตันมีทหาร ๖๓, ๐๐๐ คน เป็นทหารอังกฤษเพียง ๒๑,๐๐๐ คน นอกนั้นเป็นทหารต่างประเทศ คือ ฮอลันดาและเบ็ลเยี่ยมเป็นต้น ทัพ องเว็ลลิงตันเป็นทัพปนเป แต่ทัพนะโปเลียนเป็นทัพฝรั่งเศสล้วน มีทหาร ๗๐,๐๐๐ คน มีปืนใหญ่ ๒๖๐ กระบอก (เทียบกับ ๑๕๖ กระบอกของเว็ลลิงตัน)
นะโปเลียนทรงแน่พระทัยว่า ผลของการรบจะเป็นอย่างไร เวลาเช้า ๒ โมงเสวยข้าวเช้าแล้ว ตรัสแก่แม่ทัพนายกองว่า โอกาสชนะมี ๙๐ ในร้อย “เว็ลลิงตันไม่ใช่แม่ทัพดี ทหารอังกฤษก็ไม่ใช่ทหารดี การรบวันนี้เสมือนปิ๊กนิ๊ก คืนนี้เราจะเข้าไปนอนในกรุงบรัสเซ็ลทีเดียว” วันนั้นได้มีประกาศเตรียมไว้เสร็จ คือประกาศซึ่งจะใช้เมื่อเข้ากรุงบรัสเซ็ลได้ ความในประกาศนั้นคือแจ้งให้ชาวเบ็ลเยี่ยมทราบว่า เอ็มเปอเรอร์ได้ทราบทุกข์ของชาวเบ็ลเยี่ยม จึงกรีธาทัพเสด็จไปช่วย เพราะชาวเบ็ลเยี่ยมเป็นคนดี ควรเป็นฝรั่งเศสได้
เช้าวันนั้นทัพเหนือ (ฝรั่งเศส) กำลังเคลื่อนเข้าสู่แนวหว่างถนนที่เป็นทางไปกรุงบรัสเซ็ล นะโปเลียนเสด็จออกตรวจพลเป็นครั้งสุดท้าย ในการตรวจพลของพระองค์ แตรวงก็สรรเสริญบารมี ธงนกอินทรีย์ก็ลดลงคำนับ พลทหารที่สวนสนามก็โห่ร้องเอาชัย เมื่อนะโปเลียนทรงม้าผ่านแถวทหาร ก็ได้ยินถวายพรกึกก้องไปถึงแนวทหารอังกฤษ
ครั้นเวลาเช้า ๕ โมงครึ่งวันที่ ๑๘ ก็เริ่มยิงปืนใหญ่ เวลานั้นนะโปเลียนเสด็จอยู่บนเนินสูง ทอดพระเนตรไปข้างขวาเห็นกลุ่มดำ ๆ เคลื่อนไปเป็นแนวแต่ยังอยู่ไกลพวกนายหทารทูลว่า เป็นเงาก้อนเมฆ แต่อีกไม่ช้า มีทหารคุมเชลยปรัสเซียไปถวายคนหนึ่ง ก็เป็นอันทราบได้ว่า ทัพปรัสเซียกลับมาอีก และกำลังเดินลดเลี้ยวตามทางในทุ่ง เพื่อจะเข้าโอบปีกขวาฝรั่งเศส ซึ่งหาได้เตรียมระวังไว้ไม่
แต่นะโปเลียนยังไม่ตกพระทัยเลย ตรัสแก่เสนาธิการว่า “เมื่อตอนเช้าเรามีโอกาสชนะ ๙๐ ในร้อย เดี๋ยวนี้มีระหว่าง ๖๐ กับ ๔๐”
เวลาบ่ายโมงทรงสั่งกองทหารม้าให้ไปดักตีปรัสเซีย และถอยทัพไปทัพหนึ่งให้ไปป้องกันปีกขวา เวลานี้ปืนใหญ่ก็ยิงแล้ว แต่พวกสัมพันธมิตร (คือทัพเว็ลลิงตัน) ยังตั้งมั่นอยู่ได้ ต่อมาเว็ลลิงตันสั่งทหารกองร้อยรักษาพระองค์ (อังกฤษ) ให้ออกตีข้าศึกกำชับว่า “เย็นตละเม็นทั้งหลาย งานรบคราวนี้เป็นการรักษาเกียรติ์กองทหารรักษาพระองค์” ครั้นกองนั้นกลับไป ก็ต้อนรับว่า “ทหารรักษาพระองค์ ฉันขอบใจพวกท่าน”
ส่วนข้างฝรั่งเศสนั้น นะโปเลียนเสด็จอยู่บนเนิน ทรงดำเนินกลับไปกลับมา ประเดี๋ยวก็หยุดก้มดูแผนที่ ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะเล็ก ระหว่างนี้จอมพลเนย์เห็นไปว่าข้าศึกถอย (ซึ่งไม่ได้ถอย เป็นกองหนึ่งแต่เลื่อนเข้าไปหลบเนิน ซึ่งบังลูกปืนได้ดีขึ้น) ถ้าข้าศึกถอยจริง เวลานั้นก็เป็นเวลาเหมาะที่จะให้ทหารม้าฝรั่งเศสตามรุก จอมพลเนย์จึงสั่งทหารม้า ๔๐ กองร้อยให้ควบรุกขึ้นไปบนเนิน แต่พอทหารม้าข้ามแนวเนิน ก็พบทหารราบตั้งรับอยู่ (ทหารราบตั้งรับม้า ใช้วิธีตั้ง ๔ เหลี่ยมเป็นพวก ๆ เมื่อยังอยู่ห่างก็ยิง แต่เมื่อม้าเข้าไปถึงตัว ก็เอาปืนสวมหอกตั้งรับ ถ้าต้องห้อเข้าไปในดงหอกปลายปืน)
นะโปเลียนทอดพระเนตรเห็นแต่ไกลก็กริ้ว เพราะเห็นได้ถนัดว่าจอมพลเนย์ใช้ทหารม้าเร็วเกินไป แต่เมื่อลงมือเสียแล้วก็ต้องทำต่อไปอีก บ่ายวันนั้นทหารม้าฝรั่งเศสห้อม้าเข้าบุกไป ฝ่ายข้าศึกตั้งรับไม่ยอมแตก ทั้ง ๒ ฝ่าย ตายลงไปเป็นเบือ ก็ยังไม่ทำอะไรกันลงไปได้ ส่วนพวกปรัสเซียซึ่งเข้าทางปีกขวาฝรั่งเศสนั้นก็รุกเข้าไป นะโปเลียนต้องสั่งย้ายทหารไปป้องกันอีก ถ้าเว็ลลิงตันแตกเสีย ก็ไม่เป็นไร แต่เว็ลลิงตันหาแตกไม่
เวลาทุ่มเศษ เว็ลลิงตันขี่ม้าไปตามแนวหน้า เพื่อจะเอาใจทหาร ขณะนั้นเห็นทหารรักษาพระองค์ฝรั่งเศสรุกเข้าไปเป็นแนวยาวและลึก เป็นการทอดเต๋าเอาแพ้ชนะกันเป็นครั้งสุดท้าย ทหารเว็ลลิงตันยิงปืนใหญ่ใส่เอาพวกนั้นล้มตายมาก แต่ก็ดื้อขึ้นเนินไปจนถึงแนวทหารอังกฤษ เว็ลลิงตันบอกนายทัพชื่อ เมตแลนด์ว่า “นี่แหละเมตแลนด์ เวลาของท่านละ” ปืนทหารราบอังกฤษก็ยิงพร้อมกัน หอกปลายปืนก็แทงตามควันออกไป ทหารรักษาพระองค์ฝรั่งเศสที่เหลือตายก็ย่นกลับไปทั้งแถว ครั้นแถวที่ ๒ เข้าไป ก็ถูกเช่นนั้นอีก ในที่สุดเว็ลลิงตันถอดหมวกโบก ทหารสัมพันธมิตรทั้งแนวก็โจนตามออกรุกข้าศึก ก็คือว่าแพ้ชนะกันตรงนั้น
ในการรบครั้งนี้ นะโปเลียนประชวรเสาะแสะ จนบางวันเสด็จออกบงการทัพไม่ได้ทันเวลา และวันนี้มีผู้สังเกตว่า ทรงนัดยาร่ำไป (คืนก่อนนั้นฝนตกมาก จนดินเป็นโคลนไป นะโปเลียนจะให้ทหารเข้าตีข้าศึกแต่เช้าไม่ได้ ต้องรอจนสายให้ดินค่อยหมาด พวกปรัสเซียจึงยกมากวนทางปีกขวาทัน)
เมื่อเห็นได้ว่าแพ้แล้ว ก็ตรัสว่า “เสร็จแล้วเราไปกันเถิด” แล้วก็ทรงม้าไปในเวลาจวนมืด มีทหารรักษาพระองค์ตามเสด็จด้วย ๒ กอง วันจันทร์วันที่ ๑๙ เดือนมิถุนายน เป็นวันสิ้นความวิตกและปั่นป่วนกับยุโรป เพราะในวันนั้นทัพของนะโปเลียนเป็นอันไม่มีแล้ว และวันนั้นทรงขี่ม้ากลับเข้าแดนฝรั่งเศสขับควบต่อไป
อีกสองสามวันนะโปเลียนทรงเซ็นหนังสือสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง ปัญหายังมีอยู่แต่ว่า จะทรงทำอย่างไรต่อไป ในพระทัยคิดจะเสด็จไปอยู่อเมริกา แต่เขาตกลงกันว่า ให้เชิญเสด็จไปอยู่เกาะเซนต์เฮเลนา
-
๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๔ ปีที่ ๒ หน้า ๑๘ ศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ↩