เมื่ออหิวาตกโรคมา

หลายสิบปีมาแล้ว ราชทูตอเมริกันประจำราชสำนักนี้ ชื่อนายยอนมาร์เรตต์ ก่อนมาเป็นราชทูต ได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ และเมื่อกลับไปจากที่นี่แล้ว ก็ได้ยินว่าไม่มีงานทำเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์อีก และทั้งได้เป็นตำแหน่งข้าหลวงของประเทศอเมริกาใต้ แต่จะเรียกชื่อตำแหน่งว่ากระไรแน่ และมีงานประจำตำแหน่งอย่างไรบ้าง ผู้เขียนก็ลืม เพราะนานมาแล้ว

ในสมัยนั้นสถานทูตอเมริกัน อยู่ริมแม่น้ำข้างวัดแก้วฟ้า เรือนที่ราชทูตอยู่เป็นเรือนเล็ก และบริเวณทั้งหมดก็เล็ก นายยอนมาร์เรตต์เป็นคนไม่มีภรรยา เป็นคนชอบสนุก บางวันเมื่อเล่นเทนนิสกันตอนบ่ายแล้ว ก็เชิญพวกเราหนุ่ม ๆ ที่เล่นอยู่ด้วยกันไปกินข้าวเย็นที่สถานทูต แล้วเล่นบิลเลียดไม่มีหลุมเฮฮากันอยู่จนดึก นับว่าเรือนของราชทูตอเมริกันเป็นที่รื่นเริงของคนหลายคนเวลานั้น

ต่อมานายยอนบาร์เรตต์ออกจากตำแหน่งราชทูตที่กรุงเทพนี้ไปแล้ว วันหนึ่งผู้เขียนเปิดหนังสือพิมพ์รายเดือน ชื่อ “ไอเดลอร์” พบเรื่องนายยอนมาร์เรตต์แต่งจ่าหน้าว่า “เมื่ออหิวาตกโรคมา” เมื่ออ่านแล้วก็เห็นได้ว่า ผู้แต่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเชื่อเอาเป็นจริงเป็นจังทั้งหมดตามนั้น พวกที่เคยไปมาที่สถานทูตอเมริกัน หรือตามสโมสรและบ้านฝรั่งที่เลี้ยงและเล่นกันอยู่เสมอ ๆ ก็ดี เมื่อได้อ่านเรื่องนั้นก็หัวเราะ แต่คนอยู่ต่างประเทศที่ไม่รู้จักกรุงเทพ อ่านเอาเป็นจริงเป็นจังก็มาก จนถึงมีติเตียนกันในเวลานั้นว่า นายบาร์เรตต์เขียนเปล่า ๆ ปลี้ๆ ทั้งนั้น

เมื่อสองสามวันนี้ หนังสือบางกอกไทมส์ได้นำเอา “เมื่ออหิวาตกโรคมา” มาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งซึ่งผู้ได้เคยอ่านแต่ก่อน อ่านแล้วก็จำได้ แต่เห็นเป็นเรื่องขันซึ่งอดไม่ได้ ก็ต้องอ่านตลอดตั้งแต่ต้นจนปลายอีกครั้งหนึ่ง แต่อ่านด้วยความรู้สึกผิดกว่าแต่ก่อน เพราะในสมัยนี้ถึงแม้อหิวาตกโรคในกรุงจะชุก ก็ยังไกลกว่าเมื่อหลายสิบปีมาแล้วมาก

สำนวนที่นายยอนบาร์เรตต์แต่ง เป็นสำนวนของผู้แต่งหนังสือดี แม้เรื่องเหลวๆ ก็เขียนให้อ่านเพลินได้ ในที่นี้จะนำเอาใจความของนายยอนบาร์เรตต์มาเล่า แต่จะแปลลงไปทั้งหมดก็ไม่ไหว เพราะแปลยากนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะนายบาร์เรตต์เล่ายืดยาวนัก หน้ากระดาษของเรามีไม่พอ

ต่อไปนี้เป็นใจความที่นายยอนบาร์เรตต์เล่า เราเก็บเอามาแต่พอควร

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมา ๘๐๐ ไมล์ ผ่านดงทึบ ซึ่งคนอังกฤษสวมหมวกกันแดดสีกากีออกไปเที่ยวยิงช้าง บางตอนก็ไหลผ่านไร่ข้าว ซึ่งคนสีน้ำตาลร่างเล็กสวมหมวกทำด้วยไม้ไผ่คอยไล่นกกระจาบ เมื่อได้ผ่านท้องที่เช่นนั้นมาแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งแปลว่า “แม่แห่งน้ำทั้งหลาย” ก็ผ่านกรุงเทพออกเป็น ๒ ซีก แล้วเลยไปออกทะเล แม่น้ำนี้เป็นบุญและเป็นบาปของสยาม เป็นบุญบางคราวเป็นบาปบางคราว พระสงฆ์จึงตั้งตาดูแม่น้ำประหนึ่งตั้งตาดูพระพุทธรูปพยักพักตร์ฉนั้น

ประมาณเดือนหนึ่งมาแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาได้งวดเข้าทุกที เพราะฝนตกน้อย ผู้รู้ย่อมรู้ว่าน้ำงวดเช่นนี้หมายความกระไร เมื่อรู้แล้วก็กลัวด้วย ไม่ช้าก็ได้ยินพระห่มผ้าเหลืองสวดมนต์แผ่กุศลให้แก่คนตาย เวลาเช้าทุก ๆ วัน เมื่อหมอกยังไม่ทันหมด ก็มีแห่ศพหลายศพผ่านไปสู่ป่าช้า เราทั้งหลายก็รู้ว่า “แม่แห่งน้ำทั้งหลาย” ได้พาอหิวาตกโรคลงมาจากป่าทึบแล้ว

ฝรั่งไปอยู่ตะวันออกจะไม่เห็นน้ำใจของชาวตะวันออกแท้ๆ จนได้เห็นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นในกรุง ฝรั่งที่อยู่กรุงเทพ ได้เห็นรถรางอย่างใหม่วิ่งไปมาตามถนนเก่า ได้ยินเสียงหวีดเรือไฟในแม่น้ำ หรือได้ยินเสียงฆ้อนของช่างทำพระราชวังอย่างใหม่ของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ใคร่จะกล่าวว่า “นี่แหละประกาศตะวันตก นี่แหละความเจริญ” แต่เมื่ออหิวาตกโรคมา และกุลีไทย มลายู เดินไปตามทางก็ล้มลงชักเป็นจำนวนสิบๆ และร้อย ๆ และบางทีฝรั่งก็กินอาหารแล้วตาย แต่กิจธุระทั้งหลายก็ดำเนินไปตามธรรมดาทุกๆวัน ประหนึ่งว่าความตายเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเอาธุระ ฉะนี้ ฝรั่งจึงจะรู้สึกว่า นี้เองคือประเทศตะวันออกตามคติเก่า ถ้าอหิวาตกโรคเกิดในกรุงนิวยอคส์รายเดียว ก็จะทำให้สั่นกันไปทั้งในอเมริกา และยุโรป และในกรุงเทพคนจะตายวันละร้อยก็ตามที แต่ฝรั่งก็นอนเอ้เตเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่ที่เฉลียงเรือน หรือเล่นคลีหรือไปสโมสรตามเคย อหิวาตกโรคฆ่าคนใน ๗ ชั่วโมง บางทีก็น้อยกว่า บางทีก็มากกว่า ชาวตะวันออกไม่เถียงอหิวาตกโรค ถ้ามันมาถึงใคร ก็เป็นเวลาของคนนั้น ไม่ขวนขวายที่จะหลีกเลี่ยงโดยวิธีระมัดระวัง หรือหนีไปเสียให้พ้น เพราะโรคนี้เป็นโรคอันจะหากฎเกณฑ์มิได้ มันเป็นที่โน่น แต่ไม่เป็นที่นี่ วันนี้คนตายร้อยคน พรุ่งนี้โรคหายไปหมดก็ได้ แต่ถึงชาวตะวันตกที่ไปอยู่นาน ๆ ในตะวันออก ย่อมถือเอานิสัยความเป็นทองไม่รู้ร้อนของชาวตะวันออกไว้บ้างก็จริง แต่ชาวตะวันตกพอรู้อยู่บ้างว่า โรคชนิดนี้มีเชื้อเพราะฉะนั้น จะทำใจนิ่งเหมือนชาวตะวันออกแท้ๆ ก็ไม่ได้

ข้าพเจ้าได้ออกหนังสือเชิญแขก ๓๐ คน มากินข้าวเย็นวันคริสตมาส ที่สถานทูตอเมริกัน ข้าพเจ้าได้แจกหนังสือเชิญไปแต่เนิ่น โดยมิได้คิดถึงอาการของแม่น้ำเจ้าพระยาเลย คริสต์มาสเป็นเทศกาล ซึ่งฝรั่งในกรุงเทพถือว่าเป็นวันสำราญมาก เพราะนี่นั่นมักจะมีแดดประหนึ่งในคาลิฟ เนียในกลางวัน ครั้นกลางคืนก็มีแสงเดือนแจ่มอย่างแสงเดือนในประเทศร้อน ตอนกลางวันเมื่อยังไม่หมดแสงตะวัน ชาวต่างประเทศก็เล่นคลี กอล์ฟ เทนนิส กริกเกต และแล่นใบไปจนมืด แล้วก็เต้นรำหรือมีดินเนอร์กันไป

วันคริสตมาสที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าเตรียมดินเนอร์เป็นการใหญ่ผิดปกติ พ่อครัวของข้าพเจ้าเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งแต่เมืองเอเดนไปถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ ข้าพเจ้าจึงมอบให้เป็นผู้บัญชาการดินเนอร์ทั้งสิ้น บ๋อยจีนของข้าพเจ้าก็จัดเรือนและโต๊ะอย่างประณีต จนเรือนของข้าพเจ้ามีอาการชวนใจให้รื่นเริงยิ่งกว่าที่เคยมา จนชั้นธงอเมริกันซึ่งปลิวอยู่บนเสาธงคดและปลวกกิน ก็ปลิวประหนึ่งว่าพลอยชื่นใจด้วย

ในวันคริสตมาสนั้นมีกุลีประมาณ ๑๐๐ คน ไปเป็นอหิวาตกโรคตายอยู่ในร่มแห่งพระเจดีย์ที่อยู่ใกล้บ้านข้าพเจ้า และพระสงฆ์ก็ไม่หยุดสวดเลย แต่ถึงกระนั้น ตลาดก็ยังแน่นไปด้วยคนแห่ศพหลายสิบก็แหวกทางไปและมา เสียงร้องไห้ของญาติและมิตรของผู้ตายก็ปนกับเสียงของคนที่ซื้อขายกันในตลาด

ประมวญสารฉบับก่อน ได้กล่าวถึงเรื่องราชทูตอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ ณ ราชสำนักสยามหลายสิบปีมาแล้วเขียนเล่า “เมื่ออหิวาตกโรคมา” เป็นเรื่องที่ท่านผู้นั้นเชิญแขกราว ๓๐ คน ไปเลี้ยงที่สถานทูตอเมริกัน ในวันคริสตมาส ต่อไปนี้เราเล่าตามที่เขาเล่า แต่ขอเตือนผู้อ่านว่าเขาได้เขียนเรื่องนี้ เมื่อออกจากตำแหน่งราชทูตไปแล้วหลายปี ผู้อ่านไม่จำเป็นจะต้องเชื่อรายละเอียดทุกคำที่เขากล่าว คำที่ว่า “ข้าพเจ้า” ต่อไปนี้ หมายความว่าราชทูตอเมริกันคนนั้น

ดินเนอร์ของข้าพเจ้าวันนั้น กำหนด ๒ ทุ่ม เมื่อตอนย่ำค่ำข้าพเจ้าได้เข้าไปดูในครัวเห็นกำลังทำงานกันยุ่ง และมีกลิ่นอาหารน่ากิน พ่อครัวเห็นข้าพเจ้าก็เดินเข้ามาหา ข้าพเจ้าดูหน้าซีด ถามว่าเป็นอะไร ก็บอกว่าไม่เป็นอะไร ข้าพเจ้าจึงออกจากครัวไปขึ้นเรือน คิดว่าอะไร ๆ ก็คงจะเรียบร้อย ครั้นเวลาจวน ๒ ทุ่ม แขกก็มาถึงกันเรื่อย ๆ เป็นชายฝรั่งไม่มีเมียนั้น ครั้นเวลา ๒ ทุ่มกับ ๑๕ นาที แขกก็มาถึงพร้อมกัน ตั้งแต่หัวหน้าแบ๊งก์ฮ่องกง และกัปตันเรือรบฝรั่งเศสลงไปจนถึงนักเรียนทูตอังกฤษ และเสมียนที่ ๓ ของห้างบอมเบเบอร์ม่า เพียงนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมด และแขกทั้งหลายก็เจรจากลมเกลียวกันดี ครั้น ๒ ทุ่ม ๒๐ นาที ข้าพเจ้าดูนาฬิกาก็ประหลาดใจที่บ่าวยังไม่บอกว่าอาหารพร้อม คอยอีก ๕ นาทีก็ยังไม่มีใครมาบอก ข้าพเจ้าจึงออกจากห้องจะไปถาม พบหัวหน้าบอยที่เฉลียงเรือนเห็นยืนหน้าซีดอยู่ ข้าพเจ้าถามว่าอะไรกัน ไม่ค่อยจะบอกออกมาได้ ในที่สุดจึงได้ฟังพ่อครัวที่หนึ่งเป็นอหิวาตกโรคน่ากลัวจะตาย นอนอยู่ที่พื้นครัว ทำอาหารก็ไม่เสร็จ

ข้าพเจ้าได้ยินดังนั้น ก็วิ่งลงไปดูในครัว เห็นกุลี ๓ คนยืนนิ่งก้มดู ครัวก็เกะกะไปด้วยอาหารซึ่งเตรียมจะทำ และจาน ลูกไม้ เนื้อที่อยู่บนเตาเป็นต้น ข้าพเจ้าเห็นเหล่านี้หมดแล้วจึงเห็นพ่อครัวที่หนึ่งนอนอยู่บนพื้น ดูเหี่ยวเหมือนกับคนแก่ลงไปในทันที หัวก็บิดไปข้างหนึ่ง ริมฝีปากแห้ง และเป็นสีม่วง มือหนึ่งถือช้อนใหญ่กำแน่น แขนอีกข้างหนึ่งชูขึ้นไปทำนิ้วมือเหมือนเล็บสัตว์ ทั้งนี้เพราะว่าล้มลงไปอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยรู้คนเป็นอหิวาตกโรคเป็นอย่างไร จึงไม่เคยกลัว บัดนี้ข้าพเจ้ายืนจ้องดูคนป่วยอย่างน่ากลัวคนนี้ เหมือนกับตาถูกยึดอยู่กับที่ ครู่หนึ่งก็ได้กลิ่นอาหารซึ่งข้าพเจ้าแทบจะทนไม่ได้ ขณะนั้น ข้าพเจ้า ได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินมาข้างหลัง ข้าพเจ้าเหลียวไปดูเห็นพ่อครัวที่สองเดินเข้ามา บอกว่า ไม่เป็นไรครับ พ่อครัวที่หนึ่งตายผมทำได้ ผมไม่เป็นโรคอหิวาต์

ข้าพเจ้าหันกลับขึ้นเรือน ไม่มีเวลาจะคิดถึงคนเจ็บ เพราะจะต้องแก้ปัญหาเสียก่อนว่า จะทำอย่างไรกับคนหิว ๓๐ คน ข้าพเจ้าคิดว่าจะต้องบอกความจริง และแนะให้แยกกันไปหาอาหารกินที่อื่นที่ไม่มีคนเป็นโรคอหิวาต์ตายอยู่ที่พื้นครัว หน้าข้าพเจ้าคงจะส่อให้เห็นความตกใจ เพราะพอข้าพเจ้าก้าวเข้าประตูห้อง คนทั้งหลายก็หยุดพูดแล้วแลดูข้าพเจ้าเป็นตาเดียวกันหมด

ข้าพเจ้าชี้แจงให้พวกนั้นฟังแล้วแนะว่า จงแยกกันไปหาข้าวกินที่สโมสรหรือที่อื่น ๆ ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้านึกในใจว่าไม่มีอะไรในโลก ที่จะทำให้ข้าพเจ้ากินข้าวในเย็นวันนั้นได้ ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่า จะไม่กล้ากินอาหารในเมืองไทยอีกต่อไป หรือไม่กล้ากินในเมื่อได้ยินเสียงพระบังสุกุล

เมื่อข้าพเจ้าหยุดพูดแล้ว คนทั้งหลายก็นิ่งกันหมด นิ่งอยู่นานจนจะนิ่งต่อไปไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเห็นผู้จัดการแบงก์ฮ่องกงลุกขึ้นช้าๆ เขาเป็นผู้ได้มาอยู่ในเอเซียจนผิวเป็นสีน้ำตาล เคยสู้เสือและไข้ในอินเดีย เคยรู้จักที่หยุดทุกแห่ง ตั้งแต่เมืองสุเอ็ซไปจนเมืองวลาดิวอสต๊อก เรารู้จักกันทุกคนว่า เขาเป็นคนชอบพูดเล่น แต่ไม่มีใครนึกว่าจะพูดอย่างที่เขาพูด

ผู้จัดการแบงก์ฮ่องกงกล่าวว่า “ท่านเจ้าของบ้าน ถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้าแนะ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าชายทุกคนในที่นี้จะเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าขอแนะว่า ให้ท่านส่งให้จัดอาหารมากินกันทันที เฉพาะตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าไม่ต้องการเสียโอกาสที่จะได้กินดินเนอร์ฝีมือพ่อครัวประเสริฐ ผู้ถึงมรณภาพ ข้าพเจ้าเชื่อว่า เพื่อนเราทุกคนคงจะเห็นชอบกับข้าพเจ้า”

เมื่อผู้จัดการฮ่องกงแบงก์แรกยืนขึ้นนั้น คนทั้งหลายรู้สึกโล่งใจ นึกว่าจะแนะวิธีอะไรที่จะแก้ปัญหาชั่วขณะได้ แต่ครั้นเขาพูดแล้วนั่งลง คนทั้งหลายก็ทำหน้าตื่นบ้าง หน้าซีดบ้าง ทุกคนประหลาดใจเป็นที่สุด ส่วนข้าพเจ้าเมื่อได้ยินดังนั้นแล้ว ก็คิดจะถือเหมือนว่าพูดเล่น แต่ข้าพเจ้ายังไม่ทันว่ากระไร ผู้จัดการแบงก์ชาร์เตอร์ก็ยืนขึ้นพูดด้วยสำเนียงแน่นแฟ้น รับรองคำที่ผู้จัดการแบงก์ฮ่องกงกล่าวและว่า ยากที่สุดที่จะได้กินอาหารครั้งนี้

นอกจากผู้จัดการแบงก์ทั้ง ๒ คน ยังมีนายห้างใหญ่อีกคนหนึ่ง ซึ่งคนอื่น ๆ หวังว่าจะพูดขัดขวาง แต่นายห้างคนนั้นกลับยืนขึ้นรับรองคำที่นายแบงก์ทั้ง ๒ กล่าว พูดสั้น ๆ ต่างก็รับรองทีละคนสองคน แม้ทุกคนจะหน้าซีดและมีท่าขรึม ก็แสดงความประสงค์จะกินด้วยกันเป็นส่วนมาก ส่วนข้าพเจ้าได้นึกว่าพูดเล่นก่อน แต่เมื่อรับรองเป็นจริงเป็นจังกันตั้ง ๒๐ คน ข้าพเจ้าก็จะต้องเชื่อคำที่พูด ในที่สุดก็สั่งพ่อครัวที่สองให้รีบทำอาหารให้เสร็จ

ครั้นอาหารพร้อมก็พากันเข้าไปในห้องกินข้าว ทุกคนแสดงอาการรื่นเริงนอกหน้า พูดและหัวเราะกันเอ็ดจนถึงเวลาที่บ๋อยเอาซุปมาวาง ทุกคนก็หยุดพูดและหยุดหัวเราะ ต่างคนแลดูซุปไม่มีใครลงมือกิน ข้าพเจ้าแลดูตานายแบงก์ฮ่องกง เขาก็แลดูตาข้าพเจ้า แล้วทั้ง ๒ คนหยิบช้อนตักซุปเข้าปาก คนอื่นก็ทำเช่นกันรอบโต๊ะ ทุกคนคงจะคิดว่า เชื้ออหิวาตกโรคอยู่เต็มไปหมด แต่ได้กินจนหมดจานทุกคน

เมื่อได้ลงมือเช่นนี้แล้ว การแสดงร่าเริงก็กลับมาใหม่ และได้กินอาหารไปจนตลอดทุกอย่าง จนบ๋อยคนหนึ่ง เข้ามากระซิบแก่ข้าพเจ้าว่า กลัวอาหารจะไม่พอคนกิน

เมื่อกินของหวานแล้ว ข้าพเจ้ากำลังจะยืนขึ้นขอบใจพวกแขกที่รับเชิญมาวันนี้ ก็พอนายแบงก์ฮ่องกงยืนขึ้นชูถ้วยแก้วเหล้าแล้วว่า ในโอกาสอันกอบด้วยความสุขนี้ เมื่อเรามาล้อมอยู่ที่โต๊ะกินอาหารของท่านเจ้าของบ้าน ผู้มีชื่อว่าให้แขกกินอาหารอย่างวิเศษเสมอ ข้าพเจ้าขอ (ข้อความต่อไปขาดหายไปไม่ทราบว่ามากน้อยเพียงไร แต่คิดว่าคงจะไม่มาก เพราะเป็นหน้าต่อไปซึ่งตามธรรมดาที่ผ่าน ๆ มามักจะมีต่อเพียงเล็กน้อย ต้นฉบับกระดาษเปราะเต็มที่ เลยขาดหายไปเลย หาเท่าไรๆ ก็ไม่พบ จึงยุติลงด้วยความจำเป็นเพียงนี้ ขอประทานอภัยแด่ท่านผู้อ่าน ผู้รวบรวม)

  1. ๑. หน้า ๕ ประมวญสารฉบับวันจันทร์ ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

  2. ๒. หน้า ๕ ประมวญสาร ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ