- คำของผู้รวบรวม
- คำนำของสำนักพิมพ์
- ๑. นะโปเลียนที่วอเตอร์ลู
- ๒. นางงามกับนะโปเลียน
- ๓. ภาษาอังกฤษ
- ๔. ลักพา
- ๕. กระจกใหม่ ๆ
- ๖. รู้ไว้ใช่ว่า....
- ๗. มันสมองดิกเตเตอร์
- ๘. โคลงด้นเสือโค
- ๙. นายตุ้ยนักสืบ
- ๑๐. อเมริกันเล่าถึงยุโรป
- ๑๑. เหตุไร หัวล้าน
- ๑๒. ปเกียรณการมภ์
- ๑๓. นิทานกลอนพาไป
- ๑๔. เรื่องทุกขฐานํ
- ๑๕. คุณเฉก
- ๑๖. นิทานเรื่องดาวพฤหัสเป็นมูล
- ๑๗. การลุอำนาจพระเจ้าจักรพรรดิ์
- ๑๘. ชมรมกลอน
- ๑๙. ไปดูลครโรงดึกดำบรรพ์
- ๒๐. ละครแมว
- ๒๑. เมื่ออหิวาตกโรคมา
- ๒๒. ข่ายลวดและข่ายปืน
- ๒๓. คำตัดสินของปารีส
รู้ไว้ใช่ว่า....
เครื่องจักรปั่นฝ้ายมีขึ้น ๑๔๐ ปีแล้วในอเมริกา เดี๋ยวนี้ใช้ทั่วไปในโลกที่ปลูกฝ้าย (เว้นแต่เมืองเรา ซึ่งเคยใช้จนส่งฝ้ายไปเป็นสินค้าถึงยุโรปปีละไม่น้อย แต่เดี๋ยวนี้เครื่องจักร์เหล่านั้นคงจะผุเสียแล้วโดยมาก ถ้าไม่ทั้งหมด”
ตั้งแต่มีเครื่องจักรปั่นฝ้ายมาแล้ว ก็ไม่มีเครื่องจักร์อย่างอื่นในเรื่องฝ้ายมาช้านาน คือว่า นอกจากปั่นแล้ว ก็ต้องใช้มือคนทำทั้งนั้น แต่บัดนี้เกิดจะมี “เครื่องเก็บฝ้าย” ขึ้น ในอเมริกา ต้องใช้คนเก็บฝ้ายหลายล้านคน เก็บตั้งแต่เช้าไปจนมืดค่ำ ฝ้ายราคาปีละพันล้านเหรียญ เก็บด้วยมือทั้งนั้น เหตุดังนี้จึงได้เคยคิดทำเครื่องจักร์เก็บฝ้ายกันมาช้านาน มีผู้คิดออกแบบและจดทะเบียนไว้ตั้ง ๘๐๐ อย่าง แต่ก็ไม่สำเร็จจริงจัง และบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง ได้ลงทุน ๓ เหรียญใน ๔๐ ปี เพื่อจะคิดทำเครื่องเก็บฝ้ายให้สำเร็จ
แต่บัดนี้มีผู้คิดเครื่องเก็บสำเร็จ ได้ทดลองเป็นที่พอใจคนทั้งหลาย และว่าเครื่อง ๆ หนึ่ง เก็บ ๗ ชั่วโมงครึ่ง ได้เท่ากับคน ๆ หนึ่งเก็บตลอดฤดู ว่าเป็นเครื่องราคาถูก ใช้ง่าย และทนทานนัก อนึ่ง ดอกฝ้ายบานไม่พร้อมกัน ถ้าคนเก็บต้องเลือกเก็บแต่ดอกที่บาน ทั้งดอกตูมไว้เก็บทีหลัง เครื่องจักร์ก็ทำอย่างนั้นได้เหมือนกัน
ปัญหาเรื่องเครื่องเกี่ยวข้าวในเมืองเราสำคัญทำนองเดียวกับเครื่องเก็บฝ้ายในอเมริกา
ฝ้ายนั้นจะปลูกใหญ่โตในสยามในภายหน้า ถ้าคนอายุรุ่นนี้ไม่ปลูก รุ่นหน้าหรือรุ่นโน้นก็คงปลูกเป็นแน่ ถ้าตาคนรุ่นนี้แลไม่เห็น คนรุ่นหน้าก็คงจะเห็น เพราะตาดูได้ใกล้ขึ้น หรือเพราะมันมาตำตา
กระทรวง บำนาญ ประเทศอังกฤษและประเทศอีกหลายประเทศ ได้ตั้งกระทรวงบำนาญขึ้น เป็นเจ้าหน้าที่จัดบำนาญผู้ทุพพลภาพในมหาสงคราม มีหน้าที่จัดการบำรุงเด็กกำพร้าและลูกของผู้ทุพพลภาพด้วย
การเลี้ยงเด็กนั้น ในประเทศอังกฤษอีก ๓ ปี จะสิ้นหน้าที่ของกระทรวง เพราะสิ้นสงครามมาแล้วตั้ง ๒๐ ปี เด็กก็โตพ้นอายุที่ต้องดูแล แต่จำนวนเด็กล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นคน ซึ่งกระทรวงได้เลี้ยงดูมานั้น เป็นจำนวนมากก็จริง แต่ได้อุปถัมภ์ตัวอย่างดีตลอดมา กระทรวงบำนาญมีเสนาบดีและเจ้าหน้าที่พอควรแก่งาน แต่มีคนใจบุญช่วยโดยไม่คิดค่าจ้างประมาณสองหมื่นคน ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองและหมู่บ้านทั่วประเทศตามท้องที่ ๆ เด็กอยู่ งานของกระทรวงนั้นได้ทำมาช้านานอย่างเงียบ ๆ ไม่มีเสียงซู่ซ่า ไม่เอาหน้ากับใคร แต่ย่อมจะเห็นได้ว่า เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่ง เพราะเด็กที่ต้องบำรุงอยู่นั้น บางปีมีจำนวนถึงล้านสองแสนห้าหมื่นคน ล้วนแต่ได้รับอุปถัมภ์ให้เป็นพลเมืองมีประโยชน์ต่อไป เวลานี้เด็กยังเหลือเพียงสองหมื่นหกพันคน จะหมดในสามปีดังกล่าวมาแล้ว
การจัดเช่นที่ว่านี้ได้ใช้เงินสิ้นไปแล้ว ๑๓๒ ล้านปอนด์ แบ่งรายจ่ายเป็นส่วนเลี้ยงส่วนหนึ่ง ส่วนให้เรียนส่วนหนึ่ง เงินที่จะจ่ายมีมาสองทาง คือรัฐบาลให้เงินทางหนึ่ง เงินเรี่ยไรเรียก “ทุนของพระราชา” ส่วนหนึ่ง ทุนของพระราชานั้น มอบให้เสนาบดีกระทรวงบำนาญเป็นผู้ดูแล
การให้บำนาญแก่ผู้เคยรับใช้นั้น ย่อมเป็นส่วนสำคัญในการรักษาสัตย์ของรัฐบาล
รถ “สุป” ในสหรัฐอเมริกา มีคนขับรถยนต์จำพวกหนึ่ง ซึ่งหาเงินได้เดือนละ ๕๐๐ เหรียญ ถึง ๖๐๐ เหรียญ (พูดง่าย ๆ ก็เดือนละ ๑๐๐๐ บาท หรือ ๑๒๐๐ บาท) รถที่ขับนั้นเป็นรถหนักประมาณคันละ ๓ ตัน และของที่บรรทุกนั้น คือไนโตรกลิเซอรีน ซึ่งคนพวกนั้นเรียกว่า “สุป” พวกขับรถบรรทุกสุปนี้ ต้องขับอย่างระวังไม่ให้กระเทือนเลย มิฉะนั้นจะระเบิดเป็นธุลีไปหมด สุปนี้ใช้ในการเจาะเอาน้ำมันใต้ดิน เป็นของต้องใช้มากๆใน “ทุ่ง” น้ำมันทุกทุ่ง
รถที่ใช้บรรทุกสุปนี้ ต้องทำพิเศษ เพื่อจะให้อันตรายน้อยลง และสุปนั้นใส่ถังทำเป็นรูปพัดด้ามจิ้ว มียางคั่นเป็นตอน ๆ เพื่อให้กระเทือนน้อย รถบรรทุกสุปต้องเดินกลางคืน ต้องใช้ถนนที่ไม่ค่อยมีรถอื่น เพราะกลัวชนกัน รถยนต์อื่น ถ้าเห็นรถทาแดงแจ๋วแหวขับมาแต่ไกล ก็เลี่ยงไปทางอื่น ตำรวจสายที่รถเหล่านั้นจะไป ต้องได้รับบอกให้รู้ล่วงหน้า และถ้าจะหยุดพักในโรง ก็ต้องไปเข้าโรงพิเศษ ซึ่งทำไว้ใกล้หมู่บ้านและผู้คน ถ้าไปถึงเมือง ก็ต้องขับอ้อมห่าง ๆ ขับผ่านเมืองไปไม่ได้ เวลาขับไปตามทาง ถ้าหินขวางทางสักก้อนเดียว ซึ่งคนขับไม่เห็น รถกระท้อนหน่อย ก็จะระเบิดเป็นจุณไป รถและคนหายไปหมด ที่ยังเหลือก็แต่หลุมใหญ่กลางถนนเท่านั้น
คนขับรถพวกนี้คนหนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก เพราะขับมาถึง ๘ ปีแล้วยังไม่ตาย รถเคยระเบิดถึง ๕ ครั้ง แต่เผอิญผู้ขับออกเวร มีคนอื่นขับแทนทุกที่ คนนั้นพูดว่า เพราะเวลาของตนยังไม่มาถึง แต่เวลาที่ขับรถนั้นนึกถึงความตายเสมอ
ค่าจ้างขับรถชนิดนี้ไมล์ละเหรียญ คนขับคนหนึ่ง สมมุติว่า ขับวันละ ๒๕ ไมล์ เป็นอย่างน้อย จะขับให้ไกลกว่านั้นก็ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครชอบลอง ทุกคนต้องหยุดพักบ่อย ๆ เพราะเป็นงานซึ่งกวนเส้นประสาทมาก
ในปีหนึ่ง ๆ คนขับรถสุป ถูกระเบิดตายคนหนึ่งใน ๕ คน ก็ควรแล้วที่จะได้ค่าจ้างอย่างเลิศลอย
ยุติธรรม ในอเมริกามีป้อมเก่าป้อมหนึ่งอยู่ชายทะเล เรือเข้าไปไม่ค่อยถึง เพราะมีหินโสโครกใต้น้ำมาก ทางบกก็ไปไม่ได้ เพราะที่นั่นเป็นเกาะ ป้อมเก่านี้ใช้เป็นคุก เคยขังนักโทษตั้ง ๑๖๐๐ คน ในที่เล็กนิดเดียว
ในกรุงวอชิงตัน ใน ค.ศ. ๑๘๖๕ เปรซิเด็นต์ ลินโคล์น ซึ่งคนกำลังรักและนับถือมาก ถูกยิงตายในโรงละคร ผู้ยิงเข้าไปยิงถึงในบ็อกซ์ของเปรซิเด็นต์ ยิงแล้วโจนหนีจากบอกซ์ไปที่เวที โจนพลาดท่าจนขาหัก แต่ออกทางหลังเวทีไปขึ้นม้าที่เตรียมคอยอยู่ ขึ้นมากับเพื่อนคนหนึ่ง ห้อหนีออกจากกรุงไปในเวลากลางคืน ส่วนในโรงละครนั้น ยังเอะอะกัน หาได้มีผู้ตามจับผู้ยิงไม่
เราต้องระลึกว่าในสมัยนั้น ข่าวไม่เดินเร็วได้ดังเดี๋ยวนี้ ผู้ยิงเปรซิเด็นต์อุตส่าห์ทนเจ็บขี่ม้าไปถึง ๓๐ ไมล์ ไปถึงบ้านหมอบ้านนอกคนหนึ่งเวลาประมาณ ๑๐ ทุ่ม ปลุกหมอขึ้นให้ล้างบาดแผลและต่อกระดูก หมอคนนั้นชื่อมัดด์ เป็นคนมีเงินและใจดี เห็นคนเดินทางบาดเจ็บมาก็ลุกขึ้นช่วย และให้พักอยู่ในบ้านจนรุ่งสว่าง คนเจ็บก็ลาขึ้นม้าต่อไปจนข้ามอาณาเขตได้
วันเดียวกันนั้น ข่าวเรื่องเปรซิเด็นต์ถูกยิงตายไปถึงหมอมัดด์ หมอมัดด์สงสัยว่า คนที่ไปทำแผลเมื่อคืนอาจเป็นคนร้าย จึงนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน บอกให้ทราบรูปร่างลักษณะและว่าหนีไปทางไหน แต่การที่เปรซิเด็นต์ซึ่งเป็นที่รักของคนถูกทำร้ายนั้น ราษฎรเกรียวกราวจะเอาตัวผู้ผิดให้ได้ เจ้าหน้าที่จับตัวคนยิงไม่ได้ ก็จับหมอมัดด์ว่า ช่วยคนร้ายให้หนีรอดไป ศาลทหารตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต คำให้การของหมอมัดด์ที่ว่า เมื่อคนมีบาดเจ็บไปให้ทำแผล ก็ต้องช่วยชีวิตตามหน้าที่แพทย์ และหมอบ้านนอกไม่มีโอกาสจะทราบข่าวเปรซิเด็นต์ถูกยิงได้ในคืนเดียวกันนั้น ไม่ช่วยคดีได้เลย
ระหว่างติดคุกอยู่นั้น หมอมัดด์ถูกจองจำทรมานมาก ถูกขังในห้องแห้งครึ่งเปียกครึ่ง มากไปด้วยร่านยุงบุ้งริ้น สาถรณสุขไม่มี จนเกิดไข้เหลืองซึ่งติดกันแทบทั่วหน้า คนไข้โดยมากตายในวันที่ล้มเจ็บ ตอนนี้หมอมัดด์เป็นประโยชน์ ได้พ้นการจองจำออกมาทำหน้าที่แพทย์ ไปไหนมาไหนได้เหมือนไม่ใช่นักโทษ แต่ในที่สุดก็เจ็บเองจนเกือบตาย แต่หายได้ ครั้นหายและครั้นโรคเบาบางแล้ว หมอมัดด์ก็ถูกจำโซ่ตรวนทรมานไปอย่างเก่า อีกหลายปีจึงหลุดจากคุกได้ แต่เป็นคนหัวเสียแล้ว ทำอะไรไม่ได้ต่อไป จนไม่อีกกี่ปีก็ตาย นี่แหละเมืองฝรั่งเมื่อ ๗๐ ปีมานี้เอง ยังเป็นได้ถึงเพียงนี้
-
๑. ประมวญมารค ฉบับที่ ๓๖ หน้า ๒๐ ปีที่ ๒ ศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ↩