อธิบายประชุมคำพากย์รามเกียรติ์

[๑]ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์เป็นบทสำหรับพากย์หนังหรือหนังใหญ่ซึ่งเป็นมหรสพสำคัญอย่างหนึ่งของไทยมาแต่โบราณ เรื่องนี้แต่งเป็น ฉบัง กาพย์ ๑๖ และ ยานี กาพย์ ๑๑ คำพากย์ที่นำมารวมพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้บางตอนเป็นของเก่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางตอนเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บางตอนเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบางตอนกวีแต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากคำพากย์ที่เป็นพระราชนิพนธ์แล้ว คำพากย์อื่นๆ นั้นไม่อาจกำหนดสมัยที่แต่งและกวีผู้แต่งได้แน่นอน

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ ๑๑๒, ๑๑๖, ๑๑๗ และ ๑๑๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒-๑๑๓ การพิมพ์ครั้งนั้นพิมพ์ต่อเนื่องกันตลอด ยังมิได้แยกเป็นภาคๆ เริ่มตั้งแต่คำพากย์สามตระเบิกหน้าพระ คำพากย์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และคำพากย์ปลีกต่างๆ เช่น พากย์รถ พากย์กระบวนทัพ เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคำพากย์สั้นเฉพาะตอน ส่วนคำพากย์ที่เป็นเรื่องรามเกียรติ์ยาวติดต่อกันนั้น เริ่มเนื้อหาตั้งแต่ตอนสีดาหายไปจนถึงตอนกุมภกรรณล้ม

ที่มาของคำพากย์เหล่านี้ หอพระสมุดวชิรญาณคัดมาจากกรมมหรสพบ้าง หาได้จากที่อื่นบ้าง คัดมารวมพิมพ์แต่ที่เห็นว่าแต่งดี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ มีพระดำริว่า หากพิมพ์ต่อเนื่องกันเช่นนั้น ขนาดหนังสือจะยาวเกินไป จึงทรงแบ่งเนื้อหาทั้งหมดออกเป็นภาค ๆ รวม ๙ ภาค

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ภาค ๑ ประกอบด้วย พากย์สามตระเบิกหน้าพระ สำหรับเบิกโรงก่อนที่จะมีการเล่น คำพากย์นางลอย พรหมาสตร์ นาคบาศและเอราวัณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และคำพากย์ปลีกต่างๆ ที่ไม่ทราบนามกวีผู้แต่งเช่น พากย์ทศกัณฐ์ลงสวน พากย์ชมรถพระ พากย์ชมรถยักษ์ คำพากย์ทั้งหมดนี้ พิมพ์ครั้งแรกในงานศพนายทองอยู่ สุวรรณภารต มหาดเล็ก เมื่อปีมะเมียพุทธศักราช ๒๔๖๑ และมหาอำมาตย์โทพระยาไชยยศสมบัติ พิมพ์แจกในการกฐินพระราชทาน ณ วัดคูหาสวรรค์ เมื่อปีมะแม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ต่อมา หม่อมเจ้าจิตรโภคทวี จัดพิมพ์ช่วยในงานยืนชิงช้า นายพลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เมื่อปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๗๑ ในการพิมพ์ครั้งนี้ หอพระสมุดวชิรญาณให้นำคำพากย์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตามเค้าเรื่องรามายณะที่ทรงสอบสวนใหม่อีก ๙ ตอน มารวมพิมพ์ไว้ด้วย

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๒ จับเนื้อหาตามเรื่องรามเกียรติ์ยาวต่อเนื่องกัน เริ่มตั้งแต่ตอนสีดาหาย พิมพ์ครั้งแรกในงานปลงศพ หม่อมราชวงศ์ทองทศ ทองแถม เมื่อปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๗๑

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๓ ตอนพระรามได้ขีดขิน พิมพ์ครั้งแรกในงานปลงศพ หม่อมราชวงศ์ชวะลิต ไชยันต์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๒

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๔ ตอนหนุมานถวายแหวน พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรี หลวงอำนวย เนติพจน์ (เนื่อง โรจนกุล) เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๖๔๗๒

ในการพิมพ์ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๑ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำ อธิบายความตอนหนึ่งว่า

“อันหนังสือคำพากย์เรื่องรามเกียรติ์ที่มีฉบับปรากฏอยู่ ถ้าว่าโดยกระบวนที่แต่งเป็น ๒ อย่างต่างกัน อย่างหนึ่งเป็นคำพากย์ยาว คล้ายกับเอาเรื่องรามเกียรติ์แต่งเป็นฉันท์ ติดต่อกันเรื่อยไปมิได้แบ่งเป็นชุด อีกอย่างหนึ่งเป็นคำพากย์สั้นเช่นแต่งเรื่องเฉพาะตอนหนึ่งหรือแต่งเฉพาะบท เช่นพากย์เรื่องตอนนาคบาศและพรหมาสตร์และพากย์ชมรถและครวญเป็นต้น คำพากย์ ๒ อย่างนี้พิเคราะห์ดูเห็นเค้า เงื่อนมีหลักฐาน ว่าคำพากย์อย่างยาวนั้นเป็นแบบคำพากย์เดิม สำหรับเล่นหนังแต่โบราณ หนังชะวายังเล่นอยู่อย่างนั้นจนทุกวันนี้ คือตั้งจอ (ขนาดเขื่องกว่าจอหนังตะลุงสักหน่อยหนึ่ง) ขึงลงมาถึงพื้นดิน คน พากย์หนังชะวาเรียกว่า “ดาหลัง” นั่งอยู่ข้างจอ ปี่พาทย์อยู่หลังจอ การเล่นสำคัญอยู่ที่ตัวดาหลัง (ดังปรากฏในเรื่องดาหลังหรืออิเหนาใหญ่) คนพากย์ต้องสามารถแถลงเรื่องเป็นกาพย์กลอนและลำนำสลับไป เพลงปี่พาทย์ให้ไพเราะจับใจจึงนับว่าดี เมื่อพากย์ไปถึงเรื่องตรงไหนก็เอาตัวหนังแสดงเรื่องตรงนั้นขึ้น “เชิด” (คือเสียบตั้งไว้) กับจอให้คนดูเป็นทำนองเดียวกับดูรูปภาพเมื่ออ่านหนังสือ การเล่นหนังแต่โบราณจึงสำคัญอยู่ที่คนพากย์ ตัวหนังเป็นแต่อุปกรณ์เครื่องประกอบในการเล่น หนังที่ไทยเราเล่นแต่โบราณก็คงเป็นเช่นนั้น ข้อนี้มีหลักฐานอยู่ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ ของพระมหาราชครู (สันนิษฐานว่าคนเดียวกันกับพระโหราธิบดีที่แต่งหนังสือจินดามณีและเรื่องพระราชพงศาวดารความซึ่งเรียกว่า “ฉบับหลวงประเสริฐ”)

กล่าวในตอนบานแผนก ว่า

๏ พระบาทกรุงไท้ธรณี รามาธิบดี
ประเสริฐเดโชไชย  
๏ เดชะอาจผโอนท้าวไท ทั่วทั้งภพไตร
ตระดกด้วยเดโชพล  
๏ พระบาทกมลนฤมล ท้าวทั่วสากล
มาถวายบังคมเคารพ  
๏ สบศิลป์นเรศวรพบ ธรรมาคมสบ
ปการรู้รสธรรม์  
๏ พระปรีโชบายอนันต์ บริกษาสรร
พการสุดสงกา  
๏ พระรำฦกยศพระศาสดา ปางเปนราชา
สมุทรโฆษอาดูล  
๏ เสร็จเสวยสุรโลกพิบูลย์ เสร็จเสด็จมาพูล
ในมรรตทรงธรณี  
๏ แสดงศิลป์ธนูศรศรี ผจญคณกษัตรีย์
อันโรมในรณควรถวิล  
๏ ได้ไท้เทพีชื่อพิน ทุมดีเจียรจิน
ตโฉมอนงคพิมล  
๏ พระให้กล่าวกาพยนิพนธ์ จำนองโดยกล
ตระการเพรงยศพระ  
๏ ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ[๒] เปนบรรพบุรณะ
นเรนทรราชบรรหาร  

เนื้อความว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดำรัสสั่งให้พระมหาราชครูแต่งคำฉันท์เรื่องสมุทรโฆษขึ้นสำหรับเล่นหนังดังนี้ ความในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ต่อออกไปในเรื่องเล่นหนังอิก ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ หนังแต่โบราณนั้นเล่นเรื่องต่างๆ (เล่นหุ่นก็เช่นนั้น) มิได้เฉพาะแต่เล่นรามเกียรติ์เรื่องเดียวเหมือนอย่างโขน อิกข้อ ๑ หนังที่เล่นเบิกโรงในชั้นหลังนี้ เห็นเล่นแต่เรื่องจับลิงหัวค่ำกับเรื่องบ้องตัน แทงเสือ แต่ในหนังสือสมุทรโฆษระบุออกเรื่องต่างๆ สำหรับเล่นเบิกโรงหนังไว้อิกหลายเรื่อง

ส่วนคำพากย์อย่างสั้นนั้น สันนิษฐานว่าจะตัดเอาจากคำพากย์หนัง เอามาใช้ในการเล่นโขนอันมีกระบวนรำเต้นเป็นตัวหลัก บทพากย์เป็นแต่อุปกรณ์เครื่องประกอบกลับตรงกันข้ามกับเล่นหนังซึ่งการพากย์เป็นหลัก ตัวหนังเป็นแต่อุปกรณ์เครื่องประกอบ”

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า หนังใหญ่เป็นมหรสพสำคัญมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารและวรรณคดีสมัยอยุธยาหลายเรื่องเช่น บุณโณวาทคำฉันท์ซึ่งพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กล่าวถึงหนังใหญ่อันเป็นมหรสพอย่างหนึ่งซึ่งมีในการสมโภชพระพุทธบาทที่สระบุรีในครั้งนั้นว่า

๏ ครั้นสุริยเสด็จอัษฎงค์ เลี้ยวลับเมรุลง
ชรอุ่มชรอ่ำอัมพร  
๏ บัดหนังตั้งโห่กำธร สองพระทรงศร
ฉลักเฉลิมเจิมจอง  
๏ เทียนติดปลายศรศรสอง พากย์เพ้ยเสียงกลอง
ก็ทุ่มตระโพนท้าทาย  
๏ สามตระอภิวันท์บรรยาย ชูเชิดพระนารายณ์
นรินทรเริ่มอุ่นวัน  
๏ บัดพาลาสองสองขยัน ปล่อยวานรพัน
ธนาก็เต้าเตียวจร  
๏ ถวายโคบุตรบมิให้มรณ์ ปละปล่อยวานร
นิวาสสถานเทาคง  
๏ เริ่มเรื่องไมยราพฤทธิรงค์ สะกดอุ้มองค์
นเรศดลบาดาล  

ข้อความที่ระบุในบุณโณวาทคำฉันท์นั้นทำให้ทราบถึงจารีตในการเล่นหนังครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่ามีการพากย์สามตระเบิกหน้าพระและออกลิงหัวค่ำ ก่อนที่จะเริ่มเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่ง ขั้นตอนต่างๆ นั้นตรงกับที่ปรากฏในตำราเล่นหนังใหญ่ในงานมหรสพ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ลักษณะดังกล่าวแสดงว่า จารีตในการเล่นมหรสพชนิดนี้สืบทอดตั้งแต่สมัยอยุธยา มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (โปรดดูรายละเอียดในภาคผนวกตอนท้ายของหนังสือนี้)

ในการตรวจสอบต้นฉบับหนังสือประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในครั้งนี้ ถือตามฉบับพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ - ๑๒๓ เป็นหลัก โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับฉบับที่แยกพิมพ์ต่อมาเป็นภาคๆ คือ

- คำพากย์รามเกียรติ์ พิมพ์แจกในงานศพ นายทองอยู่ สุวรรณภารต มหาดเล็ก ปีมะเมีย พุทธศักราช ๒๔๖๑

- คำพากย์รามเกียรติ์ มหาอำมาตย์โท พระยาไชยยศสมบัติ พิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดคูหาสวรรค์ ปีมะแม พุทธศักราช ๒๔๖๒

- ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ภาค ๑ หม่อมเจ้าจิตรโภคทวี พิมพ์ช่วยในงานยืนชิงช้า นายพลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๗๑

- ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ภาค ๒ พิมพ์ในงานปลงศพหม่อมราชวงศ์ทองทศ ทองแถม ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๗๑

- ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ภาค ๓ พิมพ์ในงานปลงศพ หม่อมราชวงศ์ชวะลิต ไชยันต์ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒

- ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๔ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรี หลวงอำนวยเนติพจน์ (เนื่อง โรจนกุล) ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒

ทั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เช่น

ภักตร์

ปรับเป็น

พักตร์
สาทาน

สาธารณ์
สาตร

ศาสตร
ทศกรรฐ์

ทศกัณฐ์
ชลไนย

ชลนัยน์
พรหมมาศ

พรหมาสตร์
ไยไภย

ไยไพ
กำศรวล

กำสรวล

การพิจารณาปรับอักขรวิธีในลักษณะดังกล่าวมุ่งรักษาคำไว้ให้ใกล้เคียงกับรูปศัพท์เดิมโดยคำนึงถึงข้อบังคับตลอดจนขนบนิยมทางฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้เสียงและความหมายของศัพท์นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม

ศัพท์บางศัพท์ซึ่งแต่เดิมเขียนต่างไปจากปัจจุบัน เช่น เหาะเหิร ปัจจุบันใช้ เหาะเหิน ในการตรวจสอบครั้งนี้ใช้ เหาะเหิร เพราะ เหิร (ร สะกด) เป็นคำมาจากภาษาเขมร แปลว่า บิน หรือ เหาะ ส่วน เหิน (น สะกด) เป็นคำไทย ใช้ในความหมายว่า ห่าง เช่นมีสำนวนว่า เหินครู หมายถึง ห่างจากครู มิได้อยู่ศึกษาใกล้ชิด

บางศัพท์คงรูปเดิมไว้ตามฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณเช่น อยุทธยา พระลักษณ์ จักรวาฬ ปัฐพี เปน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อรักษารูปและเสียงของศัพท์นั้นไว้ให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมมากที่สุด

อนึ่ง เชิงอรรถที่ปรากฏในหนังสือประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม ๑ นี้ใช้ตามที่หอพระสมุดวชิรญาณจัดทำไว้แต่เดิม



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

[๒] คำ “แสบก” เป็นกำพุชพากย์ แปลว่า หนัง

คำ “ชระ” ก็เป็นกำพุชพากย์ แปลว่า สะอาด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ