คำนำ

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เป็นหนังสือรวมคำพากย์ประกอบการเล่นหนังใหญ่อันเป็นมหรสพสำคัญมาแต่ครั้งโบราณ บทพากย์ต่าง ๆ มีผู้แต่งไว้ปรากฏนามผู้แต่งบ้างและที่ไม่ปรากฏนาม ผู้แต่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก คำพากย์รามเกียรติ์ดังกล่าวได้รวมพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ ๑๑๒, ๑๑๖, ๑๑๗ และ ๑๑๙ เมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ - ๑๒๓ การพิมพ์ครั้งต่อๆ มาได้แยกเล่มเป็น ๙ ภาค ภาคละเล่ม หนังสือนี้นับว่ามีคุณค่าสูงต่อการศึกษาวรรณคดีและอักษรศาสตร์ เป็นที่ต้องการของครูอาจารย์ผู้สอนวรรณคดีไทยและผู้สนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันฉบับที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ต่อเนื่องกันตลอดนั้นหาอ่านได้ยาก

กรมศิลปากรเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือดังกล่าว จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. ข้าราชการกลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบต้นฉบับโดยถือตามฉบับพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณเป็น หลักฐานในการตรวจสอบชำระ และได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ที่ได้รวบรวมมาจัดพิมพ์ครั้งนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็นหนังสือ ๒ เล่ม คือ ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม ๑ ประกอบด้วยประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๑ ถึง ภาค ๔ แต่ละภาคมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้ ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ ภาค ๑ ประกอบด้วย คำพากย์สามตระเบิกหน้าพระ คำพากย์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คำพากย์เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ และคำพากย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตามเค้าเรื่องที่ทรงสอบสวนใหม่ ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ตั้งแต่ภาค ๒ ไปจนถึงภาค ๔ เป็นคำพากย์ยาวดำเนินเรื่องต่อกันได้แก่ ภาค ๒ ตอนสีดาหาย ภาค ๓ ตอนพระรามได้ขีดขิน และภาค ๔ ตอนหนุมานถวายแหวน ส่วนประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม ๒ กรมศิลปากรกำลังตรวจสอบและจะพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้นำคำอธิบายตำราเล่นหนังในงานมหรสพ ฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโตสินีหรือพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งมารวมพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกท้ายเล่มชองหนังสือนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบระเบียบวิธีในการเล่นหนังครั้งโบราณ อันจะทำให้มีความเข้าใจถึงกระบวนการ “พากย์” แบบต่างๆ ได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม ๑ จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้สนใจตามสมควร

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

มีนาคม ๒๕๔๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ