- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
- ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๔ ลักษณวงศ์ตามหามารดาจนได้พบนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๕ ลักษณวงศ์อยู่เรียนวิชากับพระฤๅษี สำเร็จแล้วไปตามหาพระมารดาที่เมืองมยุรา
- ตอนที่ ๖ ลักษณวงศ์พบพระมารดาที่เมืองมยุรา แล้วเชิญเสด็จหนีออกจากเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าววิรุญมาศรบกับลักษณวงศ์ แล้วต้องศรสิ้นชีพ
- ตอนที่ ๘ ทำศพท้าววิรุญมาศ
- ตอนที่ ๙ ลักษณวงศ์ครองเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๑๐ ลักษณวงศ์เสด็จกลับเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๑ ลักษณวงศ์เสด็จเข้าเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๒ นางทิพเกสรไปอยู่กับห้ากินรี
- ตอนที่ ๑๓ ลักษณวงศ์เดินทางไปรับนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๑๔ ลักษณวงศ์พานางทิพเกสรกลับเมือง ขณะบรรทม วิชาธรลักนางไปทำให้พลัดกัน
- ตอนที่ ๑๕ ลักษณวงศ์ตามหานางทิพเกสรไปถึงเมืองยุบล แล้วได้นางยี่สุ่นเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๑๖ ท้าวกรดสุริกาลอภิเษกลักษณวงศ์กับนางยี่สุ่น ครองเมืองยุบล
- ตอนที่ ๑๗ พราหมณ์เกสรพบนายพราน ครั้นทราบข่าวลักษณวงศ์ จึงขอให้มาเข้าถวายตัว
- ตอนที่ ๑๘ นางยี่สุ่นหึง แต่งอุบายให้ประหารพราหมณ์เกสร
- ตอนที่ ๑๙ ลักษณวงศ์โศกถึงนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๒๐ ทำศพนางทิพเกสร
ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
๏ จะกล่าวถึงลักษณวงศ์กับนงนุช | สองกระษัตริย์แสนสุดละห้อยหา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวใจในหิมวา | พระชลนาไหลนองทั้งสององค์ |
ให้หิวโหยโรยแรงกันแสงไห้ | เดินมาในหิมวาป่าระหง |
เห็นแต่สัตว์เสือช้างที่กลางดง | ค่อยแอบองค์ด้อมเดินเนินคิรี |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาเข้าอาศัย | บรรทมในเงื้อมง้ำคิรีศรี |
เห็นดาวเดือนเกลื่อนฟ้าในราตรี | พระเทวีขุกคิดถึงเวียงไชย |
อันดวงเดือนเหมือนองค์พระทรงฤทธิ์ | เมื่อสถิตปรางค์ทองอันผ่องใส |
ดาวกระจ่างเหมือนนางสนมใน | บำเรอไทขับกล่อมอยู่พร้อมมูล |
โอ้ยามสิ้นวาสนานิจจาเอ๋ย | ความเสบยเคยสบายก็หายสูญ |
มานอนเหนือแผ่นผาให้อาดูร | มีแต่พูนความทุกข์ระทมทน |
พระกรกอดลูกน้อยไว้กับอก | นํ้าตาตกพรั่งพรายดั่งสายฝน |
จนฟ้าแจ้งแสงสีสุริยน | นฤมล[๑]พาลูกลินลามา |
สงสารสองกระษัตริย์ขัตติยวงศ์ | เมื่อเดินดงได้เสวยแต่พฤกษา |
ได้สามเดือนด้นดั้นอรัญวา | ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด |
บรรลุถึงสระหนึ่งในกลางเถื่อน | มีบัวเผื่อนสัตตบุษย์ผุดไสว |
จอกกระจับขึ้นสลับสลอนไป | คงคาใสดั่งกระจกกระจ่างดี |
มัจฉาว่ายรายเรียงมาเคียงคู่[๒] | บ้างผุดฟู่พ่นนํ้าแล้วดำหนี |
หมู่กุ้งก้ามลากก้ามร่ามวารี | ดุกกระดี่ดำกระเดือกลงเสือกดิน |
กระโห้ใหญ่ไล่ลัดสกัดกุ้ง | ดิ้นสะดุ้งโดดดีดกระแสสินธุ์ |
สองกระษัตริย์ทัศนาในวาริน | ตรลบกลิ่นเกสรขจรไกล |
รื่นรื่นร่มรังน่านั่งเล่น | พระพายพัดเย็นเย็นริมสระใหญ่ |
นางชวนองค์โอรสยศไกร | เข้านั่งใต้ร่มรังริมฝั่งชล |
ฟังสำเนียงเสียงนกวิหคหงส์ | พิศวงวังเวงในไพรสณฑ์ |
เรื่อยเรื่อยเฉื่อยวายุโบกบน | นฤมลเอนองค์ลงไสยา |
เสนาะเสียงจักจั่นสนั่นแจ้ว | ประคองกอดลูกแก้วเสน่หา |
สองกระษัตริย์เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามา | ก็นิทราหลับลงในดงดอน ฯ |
๏ จะกลับกล่าวถึงท้าววิรุญมาศ | เป็นเชื้อชาติขุนมารชาญสมร |
ครองบุรีมยุราสถาวร | วันนั้นจรออกเล่นพนาลัย |
มาถึงที่ร่มรังริมฝั่งสระ | ก็พอปะสองกระษัตริย์ซึ่งหลับใหล |
ค่อยหมอบมองแล้วย่องขยับไป | แอบต้นไม้มุ่งดูไม่เต็มตา |
จะเข้าชิดคิดกลัวจะรู้สึก | จึงรำลึกอ่านเวทของยักษา |
สะกดไว้มิให้ฟื้นพระกายา | อสุราเดินเมียงมาเคียงองค์ |
กุมารน้อยนอนแอบอยู่แนบข้าง | พินิจนางแน่งน้อยนวลหง |
ขนงเนตรเกศกรฉะอ้อนองค์ | งามวงพระวิลาศ[๓]ดั่งดวงเดือน |
ทั้งสองถันสันทัดสัตตบุษย์ | ประเสริฐสุดสตรีไม่มีเหมือน |
จะชมไหนงามนั่นให้ฟั่นเฟือน | โอษฐ์เจ้าเยื้อนเหมือนจะยิ้มให้ชายเชย |
ทั้งสองแก้มแจ่มดังลูกจันห่าม | ชะช่างงามสุดดีเจ้าพี่เอ๋ย |
ตัวพี่ชายไร้นางร้างคู่เชย | ชะรอยบุญเราเคยเป็นคู่ชม |
พี่จะเชิญยอดรักไปนคเรศ | เป็นปิ่นเกศแสนสุรางค์นางสนม |
ยิ่งกลัดกลุ้มรุมรึงอารมณ์ตรม | จะใคร่ชมเชยชิดทั้งนิทรา |
แล้วกลับตรึก[๔]นึกอายเสียดายศักดิ์ | มาลอบลักสมสนิทเสน่หา |
จะผันแปรแก้กลับพระมนตรา | ให้แก้วตาได้สมประดีกาย |
ถึงเรายักษ์เป็นศักดิ์กรุงกระษัตริย์ | ศรีสวัสดิ์จะไม่รักอย่าพักหมาย |
แล้วขุนมารอ่านมนตร์ให้เคลื่อนคลาย | ประโลมสายสุดที่รักด้วยคำวอน |
ทรามสวาทไสยาสน์อยู่ไยเล่า | ขอเชิญเจ้าฟื้นกายเถิดสายสมร |
พี่จะรับนิ่มน้องไปครองนคร | ประคองกรรับขวัญนางกัลยา ฯ |
๏ สงสารเจ้าเยาวลักษณ์ประโลมสวาท | กัมปนาทลืมเนตรเห็นยักษา |
พระทัยหายกายสั่นดั่งตีปลา | หวาดผวากรีดกอดโอรสไว้ |
อสุรีผีป่ามันมาแล้ว | พระลูกแก้วตื่นเถิดอย่าหลับใหล |
กันแสงพลางสั่นพลางไม่ห่างไกล | ก็มิได้รู้สึกสกนธ์กาย ฯ |
๏ พญามารฟังสารนางกันแสง | จึงกล่าวแกล้งเล้าโลมนางโฉมฉาย |
แม่ขวัญเมืองอย่าเพ่อเคืองระคายชาย | ใช่จะหมายมุ่งมาดมากินกัน[๕] |
พี่เที่ยวเล่นเป็นลาภของพี่แล้ว | มาพบแก้วนพเก้าสาวสวรรค์ |
แสนสวาทนาฏน้องดั่งชีวัน | ขอเชิญขวัญนัยนาไปธานี |
จะอภิเษกให้เป็นเอกสนมอื่น | ทั้งแปดหมื่นสี่พันในกรุงศรี |
พี่มิใช่ไพร่พลกฎุมพี | ครองบุรีมยุราสถาพร |
อันเรียมหรือคือองค์วิรุญมาศ | กระษัตริย์ชาติพงศ์พรหมอดิศร |
ขอถามแก้วกัลยาพังงางอน[๖] | ไยมานอนริมสระทั้งสองรา |
อันกุมารนั้นเป็นหลานหรือลูกเจ้า | เชิญแม่เล่าให้พี่ฟังอย่ากังขา |
เห็นดวงเนตรพี่นี้เวทนาตา | ควรฤๅมาเป็นเช่นนี้น่าอัศจรรย์ ฯ |
๏ เยาวมาลย์ฟังสารพณาสูร | ยิ่งอาดูรดั่งชีวาจะอาสัญ |
จะบอกความตามจริงทุกสี่งอัน | ท้าวกุมภัณฑ์ก็จะพาไปธานี |
จะสู้ตายมิให้ชายเป็นสองชื่น | พลางสะอื้นอ้อนวอนท้าวยักษี |
ซึ่งโปรดปรานมาเป็นการไมตรีดี | พระคุณมีแม้นเหมือนพระบิดา |
จะทูลความตามสัตย์ไม่เท็จถ่อย | กุมารน้อยนี้เป็นองค์โอรสา |
ข้าเดินดงหลงพลัดภัสดา[๗] | จึงตามหาจะใคร่พบประสบกัน |
แต่ลูกแก้วแววตากับข้าบาท | ภูวนาถอย่าได้ฆ่าให้อาสัญ |
จะได้กุศลพ้นที่จะรำพัน | แล้วจอมขวัญรํ่าเรียกพระลูกรัก |
พ่องามชื่นตื่นเถิดลูกรักแม่ | มานิ่งแน่หลับสนิทเห็นผิดหนัก |
ลุกขึ้นเถิดเราจะลาพญายักษ์ | โอ้ลูกรักเป็นไฉนไม่ไหวองค์ |
พญายักษ์เล้าโลมโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ยอดสกุลดรุณหงส์ |
อย่าโศกศัลย์กันแสงจะเสียทรง | ยุพยงจงร้างรักหักอาลัย |
อันลูกนางดั่งหนึ่งกเฬวราก | เปรียบเหมือนซากศพผีที่ตักษัย |
ถึงพรหมินทร์อินทราสุราลัย | จะปลุกให้รู้สึกเห็นสุดคิด |
พี่ขอเชิญร้อยชั่งไปวังหลวง | อย่าไปห่วงลูกเลยแม่ดวงจิต[๘] |
ถึงผัวเจ้าเห็นเขาจะไม่คิด[๙] | จึงเปลื้องปลิดชิงชังไม่หวังเชย |
อนิจจาไม่น่าจะทิ้งขว้าง | ควรหรือร้างกันเสียได้เจียวใจเอ๋ย |
เหมือนพี่ชายแล้วไม่วายสวาทเลย | ถนอมเชยมิให้นางระคางนวล ฯ |
๏ นางฟังสารอสุราจะพาพราก | ให้จำจากลูกน้อยกลอยสงวน |
แสบกำสรดให้ระทดฤทัยครวญ | โอ้กรรมใดจึงมากวนให้เกิดการณ์ |
สองพระกรข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | กอดพระลักษณวงศ์ด้วยสงสาร |
เป็นกรรมแล้วแก้วแม่จะแดดาล | พญามารจะพามารดาไป |
สุดอยู่แล้วแก้วตาของแม่เอ๋ย | กระไรเลยไสยาสน์ไม่หวาดไหว |
ร้องเรียกพลางนางทรงโศกาลัย | สะอื้นไห้วอนว่าพญายักษ์ |
พระทรงภพจบพื้นชมพูทวีป | อย่าด่วนรีบจาบจ้วงจงหน่วงหนัก |
เป็นเจ้านายใช่จะไร้นารีรัก | จะเสียศักดิ์สุริยวงศ์พระทรงชัย |
อันนารีมีคู่ประคองแล้ว | ไม่ผ่องแผ้วมลทินปัดไถม[๑๐] |
ถึงเพชรนิลจินดาดวงวิไล | เมื่อหม่นไหม้เศร้าหมองราคีมัว |
ถึงเฉิดฉายก็สลายสลดสี | เหมือนน้องนี้ได้ร่วมภิรมย์ผัว |
เสียสกุลพูนกรรมในกายตัว | ด้วยลูกผัวเขายังผูกอาลัยลาน |
จะทนทุกขเวทนาอยู่ช้านัก | ด้วยเปลวอัคนิรุทร[๑๑]ประหารผลาญ |
งิ้วนรกถึงสิบหกองคุลีการ | เป็นหนามกร้านคมกริบดั่งกรดตรึง |
จงตรึกตรองน้องนี้ก็มีผัว | จะเกลือกกลั้วเวรานั้นมาถึง |
จงรอรั้งยั้งจิตคิดรำพึง | จะตรากตรึงบาปกรรมไปทำไม ฯ |
๏ พญายักษ์ฟังนางทางสนอง | น้อยหรือน้องพจนาจะหาไหน |
ชักทำเนียบเปรียบปรายให้ตายใจ | เหมือนแม่ไม่อนุกูลก็สูญกัน |
คัมภีร์พุทธบัญญัติวิบัติบาป | ก็ซับทราบอยู่ในทรวงทุกสิ่งสรรพ์ |
แม้นเมียเขาเราคบก็บาปครัน | ที่ข้อนั้นเข้าใจเป็นไรมี |
นี่โฉมตรูอยู่เดียวพี่เก็บได้ | ที่ไหนใครเล่าเป็นผัวของโฉมศรี |
จะขึ้นงิ้วเสียเพราะงามก็ตามที[๑๒] | ได้กระนี้แล้วไม่วางเจ้าอย่างเดียว |
เชิญไปชมสมบัติในเมืองยักษ์ | จะหน่วงหนักอยู่ไยในไพรเขียว |
ล้วนสัตว์เสือร้ายร้องคะนองเกรียว | จะหน่วงเหนี่ยวเนิ่นช้าอยู่ว่าไร ฯ |
๏ นางฟังสารมารร้ายพระกายสั่น | ให้หวาดหวั่นเวทนานํ้าตาไหล |
ระกำจิตคิดคิดก็เจ็บใจ | โศกาลัยกอดลูกไว้กับกาย |
โอ้พ่อลักษณวงศ์ของแม่เอ๋ย | เวราสิ่งใดเลยไม่รู้หาย |
ไม่ม้วยมอดคลอดแล้วจะกลับตาย[๑๓] | ราพณ์ร้ายจะมาพรากให้จากไป |
แม่จะม้วยอยู่ด้วยพระลูกแก้ว | ไม่จรจากเจ้าแล้วอย่าสงสัย |
ถึงยักษาฆ่าฟันให้บรรลัย | จะตายไปตามกรรมได้ทำมา ฯ |
๏ วิรุญมาศเห็นนางไม่ห่างบุตร | ด้วยแสนสุดอาลัยโอรสา |
เร่งพิโรธโกรธกระทืบพสุธา | แกว่งสาตราขุนมารทะยานกาย |
ไม่ไปจริงเจียวหรือเจ้าเฝ้าสะอื้น | ที่จะคืนชีวิตอย่าคิดหมาย |
ให้สองศพทบทับลำดับกาย[๑๔] | ขยับกรายเหมือนจะฟันนางกัลยา |
นุชนาฏหวาดหวีดกระกรีดร้อง | กรประคองกอดองค์โอรสา |
พญายักษ์ยิ้มพลางวางสาตรา | อนิจจาดวงจิตไม่คิดกาย |
จะตายจริงเจียวฤๅไรในใจนุช | พี่นี้สุดแสนรักไม่รู้หาย |
ถนอมนางกว่าจะวางชีวาวาย | ไฉนสายสุดที่รักไม่เห็นใจ ฯ |
๏ นางฟังปลอบตอบคำพญายักษ์ | จะให้ทิ้งลูกรักอย่าสงสัย |
ถ้าแม้นไม่ฆ่าฟันให้บรรลัย | จะยอมไปเป็นข้าพญายักษ์ |
ซึ่งจะชมสมสู่นั้นสู้ม้วย | จะตายด้วยสัตย์ไซร้ให้ประจักษ์ |
ที่จะไปไกลบุตรเห็นสุดนัก | พญายักษ์จงฟันให้บรรลัย |
เจ้ากรุงมารฟังสารสายสมร | ไม่อาวรณ์แก่ชีวิตจะตักษัย |
ชักพระแสงแกว่งปลาบดั่งเปลวไฟ | น้อยหรือใจรักลูกยังผูกพัน |
อันลูกนางก็จะล้างให้ม้วยมิด | เจ้าอย่าคิดว่าจะคงชีวาสัญ |
มิไปวังก็ไม่ฟังนางแจ่มจันทร์ | ท้าวกุมกัณฑ์เงื้อพระแสงจะราญรอน |
สาวสวรรค์ขวัญหายกายระทด | กอดโอรสแนบกายสายสมร |
พญายักษ์ยั้งทันไม่ฟันฟอน | นางวิงวอนไหว้กราบท้าวกุมภัณฑ์ |
จงรั้งรอพ่อทูลกระหม่อมแก้ว | น้องจะไปด้วยแล้วอย่าหุนหัน |
พญายักษ์ยิ้มพลางทางรำพัน | เออเท่านั้นก็จะแล้วดอกแก้วตา |
แม้นนงลักษณ์รักลูกเหมือนแกล้งลูก | อย่าขืนผูกความรักให้หนักหนา |
ไปเชยชมสมบัติในพารา | อันลูกยาเจ้าอย่าได้อาลัยเลย |
สงสารนางมิได้วางพระลูกรัก | โอ้พ่อลักษณวงศ์ของแม่เอ๋ย |
แม่จะจากพรากพลัดพ่อทรามเชย | ผู้ใดเลยเขาจะมาพยายาม |
เราแม่ลูกสองคนเที่ยวทนทุกข์ | ลำบากบุกหิมวาพนาหนาม |
สงสารนักลูกรักยังอ่อนความ | จะรู้ที่ติดตามไปแห่งใด |
แม้นมารดรจะมิจรด้วยขุนยักษ์ | จะประหารลูกรักให้ตักษัย |
กรรมเอ๋ยกรรมจำเป็นก็จำไป | สุดอาลัยแม่แล้วนะลูกน้อย |
สองพระกรข้อนทรวงเข้ารํ่าไห้ | ชลเนตรหลั่งไหลลงผ็อยผ็อย |
เสียงสะอื้นครื้นเครงบรรเลงลอย | ประคองกอดลูกน้อยไว้แนบกาย |
พญามารเล้าโลมนางโฉมยง | พระนุชจงดับโศกให้เสื่อมหาย |
พลางเข้าเรียงเคียงน้องประคองกาย | พระหัตถ์ซ้ายจูงนางมากลางดง ฯ |
๏ สงสารนุชสุดแสนอาลัยนัก | เมื่อขุนยักษ์พาไปในไพรระหง |
เจ้าเหลียวหลังยั้งยืนดำรงองค์ | เห็นลูกรักลักษณวงศ์สนิทนอน |
อุระนางพ่างเพียงจะโทรมทรุด | ให้แสนสุดจะยั้งกายสายสมร |
นางกลิ้งเกลือกเสือกองค์ในดงดอน | ชุลีกรไหว้กราบทุกเทวัญ |
ขอเดชะเทพเจ้าทุกเขาเขิน | พนมเนินรุกขมูลเมืองสวรรค์ |
ทุกระยะหย่อมหญ้าลดาวัลย์ | ช่วยป้องกันลูกน้อยที่ไนไพร |
แล้วนุชนาฏยาตรเยื้องมากับยักษ์[๑๕] | จบลับพักตร์ลูกยาน้ำตาไหล |
อสุราพารีบให้เร็วไว | นางโหยไห้ตามทางมากลางดง |
แจ้วแจ้วแว่วเสียงกระเหว่าร้อง | สนั่นก้องมิ่งไม้ไพรระหง |
ให้วับวาบซาบทรวงนางโฉมยง | เหมือนลูกลักษณวงศ์เจ้าตามมา |
นางเหลียวหลังยั้งยืนสดับเสียง | ผิดสำเนียงลูกรักโอ้ปักษา |
ชลนัยน์ไหลโซมพระพักตรา | อสุราเดินดึงตะบึงไป |
ครั้นมาถึงหว่างเวิ้งเชิงสิงขร | เห็นวานรฝูงหนึ่งวิ่งไสว |
นางเบือนพักตร์กวักเรียกวานรไพร | เปลื้องสไบโฉมยงที่ทรงมา |
หยุดสะอื้นยื่นให้วานรน้อย | แล้วกล่าวถ้อยสั่งถึงโอรสา |
แม้นโฉมงามติดตามมารดามา | ว่ายักษ์พาแม่ไปในไพรวัน |
ฝูงกระบี่มีจิตคิดสงสาร | ก็ลนลานรับผ้านางจอมขวัญ |
แล้วหลีกตัวกลัวภัยท้าวกุมภัณฑ์ | ให้โศกศัลย์สังเวชนางเทวี |
อสุราพาเดินไปโดยด่วน | ประจวบจวนนคเรศบุรีศรี |
พอสุริยงลงลับเหลี่ยมคีรี | ถึงธานีพานางเข้าปรางค์ทอง |
ชักวิสูตรรูดรอบกำบังชิด | สำราญจิตยักษีไม่มีหมอง |
แล้วขุนมารออกนั่งบัลลังก์ทอง | เรียกสนมทั้งผองมาบอกพลัน |
ไปวันนี้มีลาภอันเลิศแล้ว | ได้นางแก้วมาแต่ป่าพนาสัณฑ์ |
พอสมจิตกูคิดมานานครัน | พามาไว้ในสุวรรณแท่นรัตน์ |
นางโฉมยงยังทรงกันแสงสะอื้น | จะเชยชื่นถูกต้องก็ข้องขัด |
เองจงไปเล้าโลมให้โสมนัส | แม้นประดิพัทธ์แล้วจะพูนรางวัลครัน |
สาวสนมก้มกราบเจ้ากรุงยักษ์ | มาชวนชักพวกเพื่อนแล้วผายผัน |
ค่อยแหวกม่านคลานเรียงมาเคียงกัน | ถึงสุวรรณแท่นรัตน์ชัชวาล |
ต่างถวายวันทาด้วยปราโมทย์ | คอยเงี่ยโสตฟังพจนาสาร |
บ้างนวดฟั้นบาทายุพาพาล | บ้างอยู่งานพัดวีให้ทรามวัย |
บ้างนบนอบปลอบประโลมนางโฉมยง | แม่อย่าทรงกำสรดกันแสงไห้ |
พญายักษ์รักจริงอย่ากริ่งใจ | บุญของแม่จะได้เป็นมิ่งเมือง |
ช่วยดับเข็ญเย็นเกล้าข้าสาวสรรค์ | อย่าทรงกันแสงเลยแม่เนื้อเหลือง |
ชมสมบัติพัสถานในบ้านเมือง | ให้รุ่งเรืองโสมนัสสวัสดี ฯ |
๏ สงสารเจ้าเยาวลักษณ์วิไลโลก | กันแสงโศกอยู่ในแท่นมณีศรี |
ได้ฟังฝูงกัลยามาพาที | ยิ่งโศกีร่ำไห้มิได้วาย |
สะอื้นพลางทางห้ามสาวสนม | อย่าบังคมน้องเลยสิ้นทั้งหลาย |
ข้าโศกศัลย์นับวันจะวางวาย | จะกระจายแจ้งเล่าให้เข้าใจ |
ภัสดาข้านี้ก็มีแล้ว | จึงได้เกิดลูกแก้วจนเติบใหญ่ |
พึ่งพลัดกันสัญจรมานอนไพร | กับลูกน้อยกลอยใจเป็นเพื่อนกัน |
ด้วยล้าเลื่อยเหนื่อยมาเข้าอาศัย | ข้าหลับใหลในป่าพนาสัณฑ์ |
อสุราพาพรากมาจากกัน | ฝูงกำนัลยังไม่แจ้งประจักษ์ใจ |
ไม่หมายรักศักดิ์แสงของยักษา | มิวันนี้ก็วันหน้าจะตักษัย |
ที่จะเชยสองชายอย่าหมายใจ | เจ้ากลับไปทูลเถิดเหมือนถ้อยคำ ฯ |
๏ สนมนางต่างแจ้งประจักษ์จิต | บ้างก็คิดเวทนาเจ้างามขำ |
ทั้งผัวพรากจากบุตรสุดระกำ | มีแต่รํ่าโศกาให้อาดูร |
สุดจะวอนแล้วก็จรมาจากอาสน์ | อภิวาททูลสนองพณาสูร |
นางเทวีมีแต่จะอาดูร | ตั้งแต่พูนทุกข์เทวษไม่เว้นวาย |
ข้าเล้าโลมโฉมยงไม่ปลงรัก | กันแสงหนักถึงลูกไม่รู้หาย |
เห็นสุดจิตที่จะคิดให้เคลื่อนคลาย | เชิญเสด็จผันผายไปปลอบนาง |
อสุรินทร์ยินคำสาวสนม | ว่าทรามชมนิ่มน้องยังหมองหมาง |
ให้สุดแสนอาลัยที่ในนาง | ค่อยย่องย่างเข้ามายืนที่ฉากบัง |
เห็นโฉมยงทรงโศกกันแสงไห้ | คิดจะใคร่เข้าประคองแล้วถอยหลัง |
แต่ขยับแล้วกลับมายืนยั้ง[๑๖] | เงี่ยโสตฟังกัลยาโศกาลัย |
เห็นงามชื่นเจ้าสะอื้นอยู่ฮักฮัก | พญายักษ์พลอยทรงกันแสงไห้ |
แต่ง่วงเหงาอยู่ที่เสาปราสาทไชย | ด้วยตัวไม่คู่ควรกับนงคราญ ฯ |
๏ ปาง[๑๗]สุวรรณอำภาสุดาแม่ | เจ้าตั้งแต่โศกเศร้าน่าสงสาร |
ระกำอกด้วยมาตกในมือมาร | จะรุกรานร่วมรักภิรมยา |
กรรมเอ๋ยกรรมจะทำอย่างไรได้ | เห็นจะไม่พ้นมือเจ้ายักษา[๑๘] |
จึงตั้งจิตพิษถาน[๑๙]ด้วยสัจจา | เดชะข้าซื่อสัตย์ต่อสามี |
ขอพรหมินทร์อินทร์จันทร์ทุกชั้นฟ้า | อย่าให้ข้าเสียตัวด้วยยักษี |
แม้นกุมภัณฑ์มันจะมาทำยายี | ประเวณีที่ในกายจงหายไป |
พิษถานพลางทางคิดถึงลูกรัก | ซบพระพักตร์ทรงสะอึกสะอื้นไห้ |
เขนยทองนองนํ้าพระชลนัยน์ | หฤทัยสายสมรยิ่งร้อนรน |
วิรุญมาศเมียงมองตามช่องฉาก | ด้วยเพลิงราคร้อนรุ่มทุกขุมขน |
สุดกำลังที่จะรั้งอารมณ์ทน | ขึ้นนั่งบนแท่นทองประคองกร |
ค่อยโลมลูบปฤษฎางค์แล้วพลางปลอบ | เจ้างามประกอบลํ้าเทพอัปสร |
จงกลืนกลั้นโศกาอย่าอาวรณ์ | จะกล่อมมิ่งสมรให้นิทรา |
แล้วเอนแอบแนบข้างประคองชิด | นางป้องปิดปัดหัตถ์ท้าวยักษา |
ทรงกันแสงแกล้งกล่าวด้วยวาจา | ให้ยักษาเจ็บซํ้าด้วยคำคม |
ไม่มีอายชายเชื้อมิจฉาชาติ | ใจฉกาจผิดอย่างปางประถม |
ทำกาเมสุมิจฉาเป็นอารมณ์ | เที่ยวชิงชมเชยชิดไม่คิดอาย |
ให้ลูกพรากจากแม่ไม่สังเวช | เป็นชายเชษฐ์อกุศลกว่าคนทั้งหลาย[๒๐] |
ช่างไม่อายสามนต์พลนิกาย | ไม่ขอเห็นเช่นชายเหมือนกุมภัณฑ์ ฯ |
๏ อสุรินทร์ยินคำนางรํ่าว่า | ยิ่งสุดแสนเสน่หาแล้วรับขวัญ |
เจ้างามงอนช่างฉะอ้อนทุกสิ่งอัน | อย่าโศกศัลย์แสนแค้นให้เคืองนวล |
เจ้าโกรธขึ้งถึงจะว่าให้สาหัส | ไม่เคืองขัดโฉมงามทรามสงวน |
ถึงจะตายกึไม่วายสวาทนวล | แม่อย่าควรคิดเคืองระแวงแคลง |
พลางถนอมอุ้มนางขึ้นวางตัก | นางข่วนหยิกพลิกผลักแล้วกันแสง |
ยักษ์กระหวัดรัดรวบเอาโดยแรง | ดั่งครุฑแย่งจับพญาวาสุกรี |
เปรียบมหาราหูอันใหญ่หลวง | ขยอกดวงสุริยาในราศี |
เดชะสัตย์อธิษฐานของเทวี | ประเวณีสูญหายจากกายนาง |
พญายักษ์ขวยเขินแล้วเมินพักตร์ | ประหลาดนักนิ่งนึกอางขนาง |
กระถดถอยปล่อยปละสละวาง | ประหลาดนางนี้มาเป็นอย่างไรไป |
หมายจะพามาเลี้ยงเป็นเคียงคู่ | เอออกกูเป็นกรรมทำไฉน |
แม้นใครรู้ดูน่าละอายใจ | ทำกระไรกระนี้นะอกกู |
จะบอกใครให้แจ้งก็อายจิต | จำจะปิดอย่าให้แซ่ถึงสองหู |
ดำริพลางทางตรัสแก่โฉมตรู | เจ้าเรียนรู้เป็นไฉนนางไฉยา |
เจ้ามีผัวตัวนางก็มีบุตร | ไยมาสุดสิ้นความเสน่หา |
ไม่เคยเห็นเหมือนเช่นกัลยา | แม่เมตตาบอกความแต่ตามจริง |
สงสารเจ้าเยาวลักษณ์วิไลโฉม | งามประโลมยอดขัตติยาหญิง |
เห็นความสัตย์สุจริตประสิทธิ์จริง | คะนึงนิ่งนึกในพระทัยนาง |
อันทีนี้อสุรีไม่ทำได้[๒๑] | จะพูดไว้มิให้มีราคีหมาง |
ดำริแล้วแก้วตาจึงว่าพลาง | พระไปร้างจากลูกมาเชยชม |
แต่ร้องไห้ยังไม่วายน้ำตาตก | ก็สุดอกที่จะร่วมภิรมย์สม |
แม้นโปรดน้องอย่าให้หมองในอารมณ์ | กำลังกรม[๒๒]แล้วก็สุดจะเกรงกัน |
ถึงเนิ่นนานการรักย่อมหนักหน่วง | ตามกระทรวงให้เป็นสุขเกษมสันต์ |
มิทจิตแล้วก็มิทใจ[๒๓]กัน | อย่าหุนหันเสน่หาจงปรานี ฯ |
๏ เจ้ากรุงมารฟังสารยิ่งแสนชื่น | เพียงจะกลืนไว้ในทรวงท้าวยักษี |
ไม่นึกแหนงพจนาในวาที | อสุรีเสียรู้เพราะหลงรัก |
ประคองหัตถ์รับขวัญแล้วบรรหาร | น่าสงสารยุพเรศจำเริญศักดิ์ |
อย่าถือโทษโกรธเลยนางนงลักษณ์ | เพราะความรักสุดที่เรียมจะรอรา |
แต่นี้ไปพี่มิให้เจ้าเคืองขัด | ศรีสวัสดิ์อย่าได้ทรงกันแสงหา |
แม่ทรามชมจงบรรทมเถิดแก้วตา | แล้วยักษาจากแท่นสุวรรณพลัน |
จัดสนมกรมนางล้วนน้อยน้อย | ให้เคียงคอยปรนนิบัตินางจอมขวัญ |
นางสำหรับขับกล่อมก็พร้อมกัน | แล้วกุมภัณฑ์กำชับสนมใน |
ใครทำให้ขวัญเมืองเจ้าเคืองขัด | กูจะตัดเศียรเสียให้ตักษัย |
สั่งเสร็จเสด็จเข้าปราสาทไชย | มิได้ไปสู่แท่นนางเทวี ฯ |
๏ ฝ่ายสนมสาวสรรค์กำนัลนาฏ | ก็แซ่ซ้องมาปราสาทนางโฉมศรี |
ที่ฝูงนางดุริยางคดนตรี | ก็ดีดสีขับกล่อมขึ้นพร้อมกัน |
พนักงานเครื่องต้นสุคนธรส | คอยประณตนอบน้อมนางจอมขวัญ |
บ้างอยู่งานให้สำราญจำเริญครัน | ในสุวรรณปรางค์รัตน์ชัชวาล ฯ |
๏ ปางพระยอดเยาวเรศวิเศษหญิง | วิโยคยิ่งคั่งแค้นแสนสงสาร |
คิดถึงลักษณวงศ์ในดงดาน | โอ้ว่าป่านฉะนี้เจ้าจะอยู่เดียว |
เมื่อฟื้นกายสายสมรไม่เห็นแม่ | เจ้าจะแลลิงโลดตะลึงเหลียว[๒๔] |
จะอ้างว้างกลางดงอยู่องค์เดียว | จะเหลือบเหลียวแลรอบขอบคิรี |
สุดกำลังแล้วจะนั่งกันแสงไห้ | จะแลเหลียวเปลี่ยวใจในไพรศรี |
จะกู่ก้องร้องเรียกพระชนนี | เมื่อสุดเรียกแล้วจะตีอุระครวญ |
ปางพระสุริโยทัยจะใกล้ค่ำ | พ่อจะรํ่าโหยไห้อาลัยหวน |
ผีโป่งป่ากระหึมอยู่ครึมครวญ | จะลามลวนหลอกหลอนริมทางเดิน |
ความรักแม่แม่ตายจะตายด้วย | ไม่มอดม้วยแล้วมาร้างให้ห่างเหิน |
โอ้กรรมกรรมทำไว้ให้เผอิญ | พ่อจะเดินป่าเปลี่ยวผู้เดียวดาย |
ยิ่งโศกแสนอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรซึมโซมไม่ขาดสาย |
ไม่เสื่อมสร่างว่างเว้นเวลาคลาย | ระกำกายกรอมกรม[๒๕]อารมณ์นาง |
ถึงสมบัติพัสถานในเมืองยักษ์ | ไม่หาญหักความโศกที่หมองหมาง |
จนเผือดผอมซูบพระรูปนาง[๒๖] | อยู่ในปรางค์เพชรรัตน์อสุรา ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ใช้ว่า “นิรมล”
[๒] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “มัจฉาชาติว่ายเคียงมาเป็นคู่”
[๓] วิลาศ = นลาฎ แปลว่า หน้าผาก
[๔] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “กรึก”
[๕] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ใช่พี่หมายมาดมาจะกินกัน”
[๖] พังงางอน = พะงางอน
[๗] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ข้าเดินดงหลงพลัดกับภัสดา”
[๘] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “อย่าเป็นห่วงถึงเขาเลยนะดวงจิต”
[๙] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ถึงผัวเจ้าพี่เห็นเขาจะไม่คิด”
[๑๐] ปัดไถม แปลว่า ฝ้าบางๆ ที่เกิดขึ้นที่สิ่งของ ทำให้ของนั้นคล้ำมัว
[๑๑] อัคนิรุทธ แปลว่า เพลิงกาฬ
[๑๒] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “จะขึ้นงิ้วเพราะนางงามก็ตามที”
[๑๓] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ไม่ม้วยมอดรอดแล้วจะกลับตาย”
[๑๔] ฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “ลำดับตาย”
[๑๕] ฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “แล้วนุชนาฏยาตรามากับยักษ์”
[๑๖] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ และฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “แต่ขยับแล้วก็กลับมายับยั้ง”
[๑๗] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ใช้ “ป่าง” ทุกแห่ง
[๑๘] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ และฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “เห็นจะไม่พ้นมือท้าวยักษา”
[๑๙] พิษถาน = อธิษฐาน
[๒๐] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ และฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า “เป็นชายเศษอกุศลกว่าคนทั้งหลาย”
[๒๑] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “อันครั้งนี้อสุรีไม่ทำได้”
[๒๒] กรม = ตรม
[๒๓] มิทจิตมิทใจ = มิตรจิตมิตรใจ โบราณชอบใช้อย่างนั้น
[๒๔] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “จะเล็งแลลิงโลดละลานเหลียว”
[๒๕] กรอมกรม = ตรอมตรม
[๒๖] ฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า จนเผือดผอมกรอมซูบพระรูปนาง”