- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
- ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๔ ลักษณวงศ์ตามหามารดาจนได้พบนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๕ ลักษณวงศ์อยู่เรียนวิชากับพระฤๅษี สำเร็จแล้วไปตามหาพระมารดาที่เมืองมยุรา
- ตอนที่ ๖ ลักษณวงศ์พบพระมารดาที่เมืองมยุรา แล้วเชิญเสด็จหนีออกจากเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าววิรุญมาศรบกับลักษณวงศ์ แล้วต้องศรสิ้นชีพ
- ตอนที่ ๘ ทำศพท้าววิรุญมาศ
- ตอนที่ ๙ ลักษณวงศ์ครองเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๑๐ ลักษณวงศ์เสด็จกลับเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๑ ลักษณวงศ์เสด็จเข้าเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๒ นางทิพเกสรไปอยู่กับห้ากินรี
- ตอนที่ ๑๓ ลักษณวงศ์เดินทางไปรับนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๑๔ ลักษณวงศ์พานางทิพเกสรกลับเมือง ขณะบรรทม วิชาธรลักนางไปทำให้พลัดกัน
- ตอนที่ ๑๕ ลักษณวงศ์ตามหานางทิพเกสรไปถึงเมืองยุบล แล้วได้นางยี่สุ่นเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๑๖ ท้าวกรดสุริกาลอภิเษกลักษณวงศ์กับนางยี่สุ่น ครองเมืองยุบล
- ตอนที่ ๑๗ พราหมณ์เกสรพบนายพราน ครั้นทราบข่าวลักษณวงศ์ จึงขอให้มาเข้าถวายตัว
- ตอนที่ ๑๘ นางยี่สุ่นหึง แต่งอุบายให้ประหารพราหมณ์เกสร
- ตอนที่ ๑๙ ลักษณวงศ์โศกถึงนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๒๐ ทำศพนางทิพเกสร
คำอธิบาย
นิทานคำกลอนเรื่องลักษณวงศ์เป็นกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาสาระและวรรณศิลป์ เนื้อเรื่องสนุกสนาน ให้อารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านอยู่หลายตอน จึงเป็นวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ติดตรึงใจผู้อ่านตลอดมา เนื้อเรื่องย่อมีดังนี้
กษัตริย์ผู้ครองเมืองพาราณสีพระนามว่าท้าวพรหมทัต มีมเหสีทรงพระสิริโฉมงดงามพระนามว่าสุวรรณอำภา และพระโอรสพระนามว่าลักษณวงศ์ พระชันษาได้ ๘ ปี วันหนึ่งทั้งสามพระองค์เสด็จประพาสป่า นางยักขิณีคิดกำจัดมเหสีและพระโอรส จึงแปลงเป็นกวางทองมาล่อให้ท้าวพรหมทัตไล่ติดตามจนพลัดกับเหล่าเสนา แล้วกลับร่างเป็นยักษ์ แกล้งบอกว่าพระมเหสีวางอุบายให้ลวงมาฆ่า แล้วนางยักขิณีแปลงเป็นนางงาม อ้างว่าได้รับพรจากเทพยดา พวกยักษ์และผีป่าจึงเกรงกลัว พร้อมทั้งอาสาไปส่งจนถึงเมือง
ท้าวพรหมทัตโกรธแค้นนางสุวรรณอำภาเป็นอันมากจึงตรัสสั่งให้นำไปประหาร ลักษณวงศ์อ้อนวอนขออภัยโทษให้แก่พระมารดาแต่ไม่โปรด จึงเศร้าโศกเสียพระทัยและติดตามพระมารดาไปถึงสถานที่ประหาร ทรงกอดนางไว้ไม่ห่างทำให้เพชฌฆาตไม่อาจประหารได้ ด้วยความสงสารจึงพากันไปกราบทูลท้าวพรหมทัต แต่พระองค์กลับสั่งให้ประหารลักษณวงศ์ไปเสียด้วยกัน ครั้นพระอินทร์ทรงทราบก็เสด็จลงมาช่วย บันดาลให้เพชฌฆาตเงื้อดาบค้างไม่อาจฟันลงได้ เพชฌฆาตจึงปล่อยทั้งสองพระองค์ให้หนีไปในป่า แล้วกลับมากราบทูลท้าวพรหมทัตว่าได้ประหารเสร็จแล้ว ท้าวพรหมทัตจึงเสด็จกลับเมืองพร้อมด้วยนางยักษ์แปลง ได้นางเป็นมเหสี มีพระธิดาพระนามว่าทัศโกสุม
ฝ่ายนางสุวรรณอำภากับพระลักษณวงศ์เดินทางระหกระเหินจนอ่อนกำลัง ขณะบรรทมหลับ ท้าววิรุญมาศขุนยักษ์มาพบและบังคับนางสุวรรณอำภาไปเมืองมยุราเพื่อเป็นมเหสีของตน โดยขู่ว่าหากไม่ยอมไป จะสังหารลักษณวงศ์ซึ่งต้องมนตร์สะกดหลับสนิทอยู่ นางจึงจำใจเดินทางไปกับขุนยักษ์ เมื่อตั้งสัตย์อธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไม่ขอมีพระสวามีอื่นอีก ทำให้ประเวณีในร่างกายของนางหายไป แต่นางลวงท้าววิรุญมาศให้หลงเชื่อว่า เมื่อนางคลายความห่วงอาลัยในพระโอรสลงแล้วก็คงจะได้สมความปรารถนา ท้าววิรุญมาศดีพระทัย จึงสั่งให้เหล่านางกำนัลเฝ้าดูแลปรนนิบัตินางสุวรรณอำภาเป็นอย่างดี
ส่วนลักษณวงศ์ตื่นขึ้นไม่เห็นพระมารดา ก็เที่ยวร้องเรียกหาและออกติดตามจนพบนางทิพเกสรที่อาศรมพระฤๅษีมหาเมฆ พระฤๅษีเล็งญาณรู้ว่าลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรเป็นคู่สร้างกัน แล้วบอกลักษณวงศ์ให้ทราบเหตุที่เกิดกับพระบิดาและพระมารดา พร้อมทั้งชวนให้อยู่เรียนวิชาและเวทมนตร์ต่าง ๆ เมื่อลักษณวงศ์เล่าเรียนและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงขอลาไปช่วยพระมารดา โดยสัญญาว่าเสร็จธุระแล้วจะกลับมารับนางทิพเกสร พระฤๅษีจึงให้พระขรรค์และศรเป็นอาวุธประจำกาย พร้อมทั้งเสกขึ้ผึ้งเป็นม้าทรงสำหรับเหาะเหินเดินทางได้รวดเร็ว ลักษณวงศ์ไปช่วยพระมารดาได้สำเร็จ สามารถสังหารท้าววิรุญมาศและได้ครองเมืองมยุรา แต่ยังมารับนางทิพเกสรไม่ได้ เพราะพระมารดาขอร้องให้ไปปราบนางยักษ์ที่เมืองพาราณสีก่อน
ลักษณวงศ์พร้อมด้วยพระมารดากรีธาทัพยักษ์ไปล้อมเมืองพาราณสี นางยักษ์แปลงอาสาออกรบ เมื่อเหล่าเสนาไล่จับจึงกลับร่างเป็นยักษ์และถูกจับได้ ท้าวพรหมทัตดีพระทัยที่ได้พบนางสุวรรณอำภาและพระลักษณวงศ์ ตรัสสั่งให้นำนางยักษ์ไปถ่วงทะเล แล้วให้จัดการสมโภชทั้งสองพระองค์ และปกครองเมืองพาราณสีอย่างสงบสุขสืบมา
ฝ่ายนางทิพเกสรเฝ้ารอลักษณวงศ์มารับจนกระทั่งพระฤๅษีวายชนม์ นางเศร้าโศกเพราะขาดที่พึ่งถึงกับคิดฆ่าตัวตาย กินรีห้านางผ่านมาจึงช่วยไว้แล้วพาไปอยู่ด้วยกันที่ถํ้า เมื่อลักษณวงศ์เดินทางมารับที่พระอาศรมจึงไม่พบใคร แต่นางกินรีน้องสุดท้องช่วยพาไปพบนางทิพเกสรและได้นางเป็นพระชายา รวมทั้งได้ร่วมภิรมย์กับนางกินรีทั้งห้าด้วย หลังจากนั้นลักษณวงศ์พานางทิพเกสรเดินทางกลับเมืองพาราณสี เมื่อพักบรรทมระหว่างทาง มหิงสาวิชาธรมาลักพานางไป แล้วจันทาวิชาธรต่อสู้ช่วงชิงจนต้องอาวุธสิ้นชีพทั้งคู่ นางทิพเกสรต้องเดินทางในป่าเพียงลำพัง เทพยดาสงสารเกรงว่าจะได้รับอันตรายเพราะเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว จึงแปลงเป็นพราหมณ์นำแหวนมาให้สวมใส่ ทำให้ร่างกายของนางเปลี่ยนเป็นพราหมณ์น้อย หากถอดแหวนก็จะกลับร่างเป็นสตรีตามเดิม พร้อมทั้งบอกทิศให้นางเดินทางไปตามหาลักษณวงศ์
ด้านลักษณวงศ์เมื่อมนตร์สะกดคลายก็ตื่นขึ้น ครั้นไม่พบนางทิพเกสรก็เฝ้าแต่เศร้าโศก เที่ยวตามหาไปจนถึงเมืองยุบลของท้าวกรดสุริกาล ได้พระธิดายี่สุ่นเป็นมเหสีและครองเมืองยุบล ฝ่ายนางทิพเกสรทรงครรภ์ แต่รูปเนรมิตของพราหมณ์พรางไว้จึงมองไม่เห็น นางเดินทางตามหาลักษณวงศ์จนเข้าเขตเมืองยุบล ได้พบพรานป่าคนหนึ่ง บอกให้รู้ข่าวลักษณวงศ์เป็นกษัตริย์เมืองยุบลและได้มเหสีองค์ใหม่ นางทิพเกสรเสียพระทัยมากและขอให้นายพรานพาเข้าถวายตัว เมื่อลักษณวงศ์เห็นพราหมณ์เกสรมีรูปร่างหน้าตาและนํ้าเสียง อีกทั้งชื่อคล้ายกับนางทิพเกสรก็สงสัย ส่วนพราหมณ์เกสรนั้นเฝ้ารับใช้ใกล้ชิด จนเป็นที่โปรดปรานมาก ทำให้ลักษณวงศ์ห่างเหินจากนางยี่สุ่นและเหล่าสนมกำนัลทั้งหลาย นางยี่สุ่นอิจฉาพราหมณ์เกสรจึงคิดอุบายใส่ความว่าพราหมณ์ทำกิริยาเชิงชู้สาวกับตน ลักษณวงศ์หลงเชื่อโดยไม่ไต่สวนความให้ถ้วนถี่ ตรัสสั่งให้นำพราหมณ์เกสรไปโบยและจองจำแล้วประหารชีวิต เมื่อเพชฌฆาตลงดาบประหาร ร่างพราหมณ์เกสรกลับเป็นนางงามและคลอดพระโอรส ลักษณวงศ์ทราบเรื่องจึงรีบเสด็จไปที่ลานประหาร ครั้นเห็นว่าเป็นนางทิพเกสรก็เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดประมาณจนสลบไป ครั้นสร่างโศกแล้วจึงสั่งให้เคลื่อนพระศพเข้าเมือง และจัดพิธีถวายเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ
เรื่องลักษณวงศ์นี้ สุนทรภู่แต่งบทพรรณนาไว้อย่างไพเราะงดงามหลายบท เช่นบทยกทัพ แต่งเป็นกลบทครอบจักรวาลดังนี้
ได้ฤกษ์ชั้นลั่นฆ้องถึงสามหน | ขยายพลยกเขยื้อนเคลื่อนขยาย |
พรายอากาศดาษโพยมพยับพราย | เรียงรถรายท้ายรถระดะเรียง |
ครึกครื้นเครงโครมประโคมครึก | เสียงพิลึกเลื่อนลั่นสนั่นเสียง |
เอียงพิภพสิงขรจะอ่อนเอียง | พิมานเพียงพลาดทับกับพิมาน |
ช่องพระแกลเทพแลอยู่ทุกช่อง | ประสานเสียงกรีดร้องซ้องประสาน |
มารแห่โห่ทั่วทุกตัวมาร | ชลธารเป็นระลอกกระฉอกชล |
นกตื่นแตกพรูทุกหมู่นก | ฝนก็ตกฟ้าคลุ้มชอุ่มฝน |
พลมารกลุ้มกลํ้าทั้งอำพน | ตาลานลนแกว่งดาบออกปลาบตา |
ช้างที่นั่งลอยเลิศประเสริฐช้าง | หน้าสล้างดูงามทั้งสามหน้า |
งาจะช้อนดาวตกทั้งหกงา | งวงจะคว้าเดือนงามทั้งสามงวง |
กษัตริย์ทรงองค์เลิศประเสริฐกษัตริย์ | ช่วงชวัดแสงเครื่องดูเรืองช่วง |
ดวงพระพักตร์ผ่องเหมือนกันเดือนดวง | อินทร์ไม่ล่วงเลยท้าวเมื่อเทียบอินทร์ |
รถมณีสีสว่างกระจ่างรถ | ฉินฉะอ้อนงอนชดดูเฉิดฉิน |
ยุพินทรงเอกองค์พระยุพิน | นางอัปสรทั้งสิ้นไม่เกินนาง |
บทบรรยายธรรมชาติในป่าความว่า
มะเดือดกตกเกลื่อนระดาดาษ | ก็โอภาสผลแดงดั่งแสงเสน |
วายุโบกโยกโยนโอนระเนน | ในบริเวณหว่างสิขรินทร์เรียง |
แก้วกระทุ่มกุ่มกระถินทั้งฝิ่นฝาง | กระโดนพยอมยางยูงพะยูงเหียง |
เรียบเสลาเถาสลิดสลับเรียง | นกเขาเคียงคู่คูบนยอดแค |
กิ่งมะไฟไก่ฟ้าเข้าแฝงกิ่ง | นางนวลนิ่งแนบนางไม่ห่างแห |
ฝูงกระลิงเลียบกิ่งต้นแกแล | รอกกระแตเต้นตื่นออกรื่นเริง |
และบทพรรณนาความทุกข์ตรมของตัวละคร ซึ่งสร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านหลายบท เช่นตอนที่ลักษณวงศ์ออกเดินทางไปเมืองมยุราเพื่อช่วยพระมารดา มีบทกลอนว่า
รื่นรื่นชื่นกลิ่นผกามาศ | บุปผชาติลมชายไม่หายโหย |
พระหอมกลิ่นสุกรมเมื่อลมโชย | ยิ่งดิ้นโดยกรมจิตคิดรำจวน |
เห็นนางนกกกลูกประคองกอด | สะท้อนทอดหฤทัยอาลัยหวน |
เหมือนแม่เจ้าคราวกอดถนอมนวล | เลี้ยงสงวนลูกไว้ไม่ไกลกาย |
ด้านเนื้อหาสาระ กล่าวได้ว่ากวีนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเช่นเดียวกับนิทานคำกลอนเรื่องอื่น ๆ ของสุนทรภู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “กรรม” “บาป-บุญ” และ “การสร้างกุศล” ซึ่งผู้อ่านจะได้พบตลอดทั้งเรื่อง แทรกด้วยคำสอนให้ประพฤติดี ละเว้นความชั่ว และสอนให้เห็นผลของการกระทำ คือ ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบสนอง ส่วนผู้ทำชั่ว ผลชั่วก็จะตอบสนองเช่นกัน
ดังตอนที่ลักษณวงศ์สังหารท้าววิรุญมาศเจ้าเมืองมยุราสิ้นชีพ นางสุวรรณอำภากล่าวถึงผลการกระทำของท้าววิรุญมาศไว้ดังนี้
ว่าดูราเสนาสนมนาฏ | ทั้งพระญาติยักษาที่อาสัญ |
เพราะโลภหลงไม่ดำรงในราชธรรม์ | ท้าวกุมภัณฑ์ดื้อดึงจนถึงตาย |
ก็เพื่อเพราะผลกรรมได้ทำไว้ | อย่าน้อยใจอสุรินสิ้นทั้งหลาย |
....................................... | ....................................... |
และตอนที่วิทยาธรสองตนต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงนางทิพเกสร จนต้องอาวุธตายทั้งคู่ แต่งเป็นคำกลอนกล่าวไว้ว่า
ทั้งสองฮึกโอหังจนสังขาร์ | เพราะตัณหาพาชีพให้ฉิบหาย |
กเฬวรากชากศพประกบตาย | ริมเชิงชายสิขเรศคิรีวัน |
วรรณคดีเรื่องนี้ยังให้คติธรรมและคำสอนในเรื่องความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ เรื่องการรบ การระวังรักษาอาวุธ ความรัก และเรื่องโลกีย์ ซึ่งให้ข้อคิดอันเป็นคุณประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้ยึดถือปฏิษัติ เชน ตอนที่นางสุวรรณอำภาประณามท้าววิรุญมาศความว่า
ไม่มีอายชายเชื้อมิจฉาชาติ | ใจฉกาจผิดอย่างปางประถม |
หำกาเมสุมิจฉาเป็นอารมณ์ | เที่ยวชิงชมเชยชิดไม่คิดอาย |
ให้ลูกพรากจากแม่ไม่สังเวช | เป็นชายเชษฐ์อกุศลกว่าคนทั้งหลาย |
ช่างไม่อายสามนต์พลนิกาย | ไม่ขอเห็นเช่นชายเหมือนกุมภัณฑ์ |
อีกทั้งบทกลอนที่ให้ข้อคิดแก่ผู้หญิงว่า
....................................... | ....................................... |
เป็นหญิงเที่ยวเดี่ยวโดดทุกลำเนา | โอ้ผู้ใดใครเขาจะกลัวเกรง |
เหมือนมาลีคลี่กลีบตรลบหอม | จะตามตอมเฝ้ารุมกันคุมเหง |
เอกากายชายหรือจะมาเกรง | โอ้ตัวเองก็จะอายไม่วายวัน |
นิทานเรื่องลักษณวงศ์นี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องคู่สร้าง การกราบไหว้บูชาและตั้งสัตย์อธิษฐานบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาอารักษ์ เพื่อให้มาช่วยเหลือ คุ้มครอง หรือเป็นทิพย์พยาน รวมทั้งความเชื่อเรื่องความฝัน การทำนายฝัน และการทำนายโชคชะตา โดยเฉพาะเรื่องลางร้ายต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อขวัญและกำลังใจของผู้ที่ประสบค่อนข้างมาก
ทั้งยังแทรกด้วยวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยในอดีต เช่น ธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนัก การแต่งกายและการละเล่นของชาววัง รวมถึงประเพณีสำคัญ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก พิธีสมโภช การสร้างพระเมรุ พิธีถวายเพลิงพระศพ การละเล่นในงานมหรสพ เป็นต้น อีกทั้งภูมิปัญญาของคนโบราณ อาทิ ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ดังคำกลอนว่า
นางชาววังแหวกม่านประสานเสียง | เห็นช้างเคียงฉวยคว้าพฤกหาหัก |
เห็นอะไรก็ให้กำเริบรัก | ไม่รู้จักหนามุ้ยเอามือทึ้ง |
ละอองลูกถูกเนื้อมันเหลือเล่ห์ | สมคะเนเกาสนุกลุกทะลึ่ง |
พวกขอเฝ้าเหล่าโขลนตะโกนอึง | ใบตำลึงหม่อมจ๋าแก้หมามุ้ย |
นอกจากนี้สุนทรภู่ยังนำตำนานเกี่ยวกับสัตว์มาแทรกไว้ โดยผูกเรื่องให้ตัวละครเป็นผู้ถามและผู้เล่า ได้แก่ ตำนานจระเข้ไม่มีลิ้น กระต่ายกินแต่นํ้าค้างในป่า ไม่ชอบลงกินนํ้าที่ท่า และตำนานลายที่ตัวเสือ ซึ่งทำให้วรรณคดีเรื่องนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ด้านการตรวจชำระเพื่อการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้สอบเทียบกับต้นฉบับสมุดไทยเรื่องลักษณวงศ์ในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนอ่าน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เลขที่ ๒, ๓, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖, ๒๕ และ ๒๖ รวมทั้งเทียบเคียงกับฉบับพิมพ์ครั้งแรก และปรับอักชรวิธีบางส่วนเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายความเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่าน