- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
- ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๔ ลักษณวงศ์ตามหามารดาจนได้พบนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๕ ลักษณวงศ์อยู่เรียนวิชากับพระฤๅษี สำเร็จแล้วไปตามหาพระมารดาที่เมืองมยุรา
- ตอนที่ ๖ ลักษณวงศ์พบพระมารดาที่เมืองมยุรา แล้วเชิญเสด็จหนีออกจากเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าววิรุญมาศรบกับลักษณวงศ์ แล้วต้องศรสิ้นชีพ
- ตอนที่ ๘ ทำศพท้าววิรุญมาศ
- ตอนที่ ๙ ลักษณวงศ์ครองเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๑๐ ลักษณวงศ์เสด็จกลับเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๑ ลักษณวงศ์เสด็จเข้าเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๒ นางทิพเกสรไปอยู่กับห้ากินรี
- ตอนที่ ๑๓ ลักษณวงศ์เดินทางไปรับนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๑๔ ลักษณวงศ์พานางทิพเกสรกลับเมือง ขณะบรรทม วิชาธรลักนางไปทำให้พลัดกัน
- ตอนที่ ๑๕ ลักษณวงศ์ตามหานางทิพเกสรไปถึงเมืองยุบล แล้วได้นางยี่สุ่นเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๑๖ ท้าวกรดสุริกาลอภิเษกลักษณวงศ์กับนางยี่สุ่น ครองเมืองยุบล
- ตอนที่ ๑๗ พราหมณ์เกสรพบนายพราน ครั้นทราบข่าวลักษณวงศ์ จึงขอให้มาเข้าถวายตัว
- ตอนที่ ๑๘ นางยี่สุ่นหึง แต่งอุบายให้ประหารพราหมณ์เกสร
- ตอนที่ ๑๙ ลักษณวงศ์โศกถึงนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๒๐ ทำศพนางทิพเกสร
ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
๏ พระฟังถามความแค้นให้แน่นจิต | ดังปืนพิษปักทรวงให้สังขาร์ |
ก็เพราะเพื่อผลกรรมได้ทำมา | พระโกรธากระทืบบาทตวาดไป |
หญิงกาลีดีแต่จะล้างผัว | นี่บุญตัวจึงได้รอดไม่ตักษัย |
มึงเชื้อชาติอุสรีขินีไพร | จะว่าไปเล่าก็อายแก่เสนา |
เสียแรงหวังตั้งจิตพิศวาส | ไม่รู้ว่าชาติมึงเป็นหญิงแพศยา |
ให้ยักษ์แกล้งแปลงเพศ[๑]เป็นกวางมา | อสุราบอกกูจึ่งรู้ความ |
นี่บุญช่วยจึงได้ม้วยแต่ม้าแก้ว | กูรู้แล้วมึงอย่าพักมาทำถาม |
เลี้ยงไว้ไยหญิงใจกาลีลาม | จะเกิดความครหาทั้งธานี |
พระตรัสพลางทางสั่งเพชฌฆาต | ไปฟันฟาดเสียที่ริมคิรีศรี |
สงสารองค์นงนุชสุดสัตรี | เจ้าโศกีสวมกอดพระบาทา |
ประทานโทษโปรดถามเนื้อความมั่ง | เมียนี้ยังไม่รู้จักกับยักษา |
แม้นพวกเพื่อนมีเหมือนพระบัญชา | จะเข่นฆ่าแค้นเคืองก็ควรการ |
พระเลี้ยงน้องไว้ในห้องปราสาทศรี | ทุกเดือนปีมิได้คลาดราชฐาน |
เมียมิได้รู้จักกับยักษ์มาร | จงโปรดปรานสืบสอบให้สมควร ฯ |
๏ พระฟังนางยิ่งระคางพระทัยแค้น | พระทรวงแน่นเฉียวฉุนให้หุนหวน |
ชะน้อยฤๅถ้อยคำเป็นนํ้านวล | แต่แล้วล้วนไม่แจ้งว่าแกล้งพาล |
กูรู้เช่นเห็นแน่กระนี้แล้ว | ทั้งม้าแก้วก็บรรลัยอยู่ไพรสาณฑ์ |
ทั้งสมคำไม่ต้องนำสืบพยาน | ไปประหารเสียอย่าไว้ใจกาลี |
เยาวมาลย์ฟังสารโองการตรัส | สองพระหัตถ์ข้อนทรวงนางโฉมศรี |
อภิวาทวอนว่าพระสามี | โอ้ครั้งนี้พระไม่อาลัยเมีย |
น้องขอผัดตั้งสัตย์พิสูจน์ถวาย | แม้นเห็นร้ายแล้วจึงให้ประหารเสีย |
ถึงดำนํ้าซํ้าลุยพระเพลิงเลีย | ความสัตย์เมียจะถวายให้หายแคลง |
แม้นยักษีว่ามณีอยู่ในท้อง | จะฟันน้องเอามณีไม่มีแหนง |
นิจจาเอ๋ยพระไม่เคยระแวงแคลง | เป็นกรรมแกล้งจะมาล้างให้วางวาย |
นางกลิ้งเกลือกเสือกองค์ลงกับบาท | ภูวนาถมิได้ตรัสด้วยโฉมฉาย |
นางวิงวอนพระยิ่งค่อนเคืองระคาย | พิโรธนายเพชฌฆาตไม่ฟาดฟัน ฯ |
๏ สงสารลักษณวงศ์องค์กระษัตริย์ | เห็นท้าวตรัสจะให้ฆ่าแม่อาสัญ |
วิ่งเข้ากอดมารดาแล้วจาบัลย์ | กันแสงศัลย์รํ่าไห้อยู่ไปมา |
สะอื้นพลางทางถามพระบิตุรงค์ | ด้วยพระองค์ยังอ่อนพระชันษา |
จะให้เขาสังหารพระมารดา | พระแม่ข้าผิดพลั้งเป็นอย่างไร |
พรหมทัตมิได้ตรัสกับลูกรัก | พระวรพักตร์มัวหมองไม่ผ่องใส |
ฝ่ายพวกเพชฌฆาตอนาถใจ | เห็นท้าวไทมิได้โปรดซึ่งโทษทัณฑ์ |
จะรอรังก็ระวังระแวงผิด | จึงเข้าชิดเชิญองค์นางจอมขวัญ |
กรรมของแม่แน่แล้วอย่าจาบัลย์ | จงตั้งมั่นภาวนาจะพาไป |
นางฟังเพชฌฆาตเพียงขาดจิต | เห็นสุดคิดแล้วก็ทรงกันแสงไห้ |
พระกรกอดลูกยาโศกาลัย | พ่อจะไม่เห็นแม่แล้วลูกรัก |
เพชฌฆาตเขาจะพาไปฆ่าฟัน | เป็นเวรามาทันเห็นประจักษ์ |
สองพระกรข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | กอดพระลักษณวงศ์เข้ารํ่าไร |
สะอื้นพลางทางทูลพระภัสดา | พระจะฆ่าเมียเสียให้ตักษัย |
เป็นเคราะห์กรรมก็จำจะบรรลัย | ขอฝากลูกน้อยไว้ใต้บาทา |
แล้วกลิ้งเกลือกเสือกกายสายสมร | สองพระกรกอดองค์โอรสา |
ลักษณวงศ์สงสารพระมารดา | เจ้าโศกากอดบาทพระบิตุรงค์ |
ลูกขอโทษโปรดชนนีไว้ | อย่าฆ่าให้แม่ม้วยเป็นผุยผง |
แม้นแม่ตายลูกจะวายชีวาลง | พระบิตุรงค์จงโปรดซึ่งโทษทัณฑ์ |
เจ้าวอนพลางทางทรงสะอื้นไห้ | ท้าวมิได้เบือนแลแต่ผินผัน |
เพชฌฆาตกลาดกลุ้มเข้ารุมกัน | ก็ผายผันพามายังคีรี ฯ |
๏ แสนสงสารพระกุมารโอรสา | เห็นเขาพาแม่ไปในไพรศรี |
วิ่งผวามาตามพระชนนี | เจ้าโศกีกอดนางไม่วางกร |
ลูกขอโทษพระไม่โปรดปรานีให้ | จะบรรลัยด้วยพระแม่ในสิงขร |
นางฟังคำลูกยายิ่งอาวรณ์ | ประคองกรกอดลูกโศกาลัย |
เป็นกรรมแล้วแก้วตาของแม่เอ๋ย | ไม่เหลียวเห็นใครเลยจะแก้ไข |
ชีวิตแม่นี้จะวางอยู่กลางไพร | เจ้ากลับไปเมืองเถิดนะลูกน้อย |
แต่แม่นี้มีกรรมจำจะม้วย | อย่าตายด้วยแม่เลยนะยอดสร้อย |
สั่งพลางทางกอดพระลูกน้อย | ชลเนตรหยดย้อยลงโซมองค์ |
พระโอรสกำสรดกันแสงไห้ | อนาถในหิมวาป่าระหง |
สะอื้นอั้นกันแสงทั้งสององค์ | สลบลงยังพื้นพสุธา |
เพชฌฆาตกลาดกลุ้มเข้าแก้ไข | บ้างตกใจด้วยองค์โอรสา |
บ้างเชิญนํ้าอมฤค[๒]ธารา | มาสรงสองกระษัตราก็ฟื้นกาย |
เพชฌฆาตปลอบองค์นางนงลักษณ์ | แม่อย่าโศกเศร้านักเลยโฉมฉาย |
เมื่อถึงกรรมแล้วก็จำจะวอดวาย | อันความตายนั้นไม่พ้นทั้งธรณี |
แข็งพระทัยให้ประทังอย่าพลั้งผิด | อุตส่าห์คิดถึงคุณพระชินสีห์ |
สุริยนสนธยาอย่าช้าที | เป็นกรรมมีแล้วนะแม่อย่าโศกา |
เยาวมาลย์ฟังสารเพชฌฆาต | นุชนาฏปลอบองค์โอรสา |
แม่จะลาไปแล้วนะแก้วตา | อย่าโศกาเลยลูกรักจงหักใจ |
พระฟังสารมารดารำพันสั่ง | ให้แค้นคั่งกลุ้มกลัดเพียงตัดษัย[๓] |
จะสู้ม้วยด้วยมารดาไม่อาลัย | มิขอคืนกรุงไกรด้วยบิดา |
กันแสงพลางทางตรัสแก่เพชฌฆาต | จะฟันฟาดชนนีให้สังขาร์ |
เราจะตายวายปราณด้วยมารดา | จงเข่นฆ่าให้เราม้วยไปด้วยกัน |
ว่าพลางทางกอดพระชนนี | ทั้งสองศรีโศกเศร้ากันแสงศัลย์ |
เพชฌฆาตมิอาจจะฟาดฟัน | ปรึกษากันด้วยสงสารกุมารา |
เจ้าสวมสอดกอดชนนีไว้ | ก็จนใจที่จะล้างให้สังขาร์ |
จำจะทูลทรงฤทธิ์อิศรา | จะเมตตาโปรดปรานประการใด |
ปรึกษาพลางทางพากันมาพลัน | ถึงทรงธรรม์ทูลแจ้งแถลงไข |
ว่าบัดนี้พระโอรสยศไกร | เจ้าตามไปว่าจะม้วยด้วยมารดา |
เข้ากอดไว้ไม่วางนางโฉมยง | แม้นฟันลงก็จะพลอยกันสังขาร์ |
นเรนทร์สูร[๔]ฟังทูลถึงลูกยา | ยิ่งโกรธาตะละไฟ[๕]ประลัยกัลป์ |
กระทืบบาทสิงหนาทสนั่นก้อง | สะเทือนท้องพสุธาพนาสัณฑ์ |
มันรักแม่ให้มันม้วยลงด้วยกัน | กลับไปฟันเสียให้สิ้นทั้งสองรา ฯ |
๏ เพชฌฆาตฟังสารสะท้านหนาว | สยองเกล้ากลัวผิดเป็นหนักหนา |
บังคมคัลผันผายขยายมา | เวทนาพระลูกน้อยจะพลอยตาย |
ครั้นถึงนางต่างคนคิดสงสาร | จะแจ้งการมิใคร่ได้ให้ใจหาย |
นางโฉมงามถามขุนเสนานาย | ท่านเคลื่อนคลายโปรดบ้างหรืออย่างไร |
เพชฌฆาตฟังคำนางรํ่าถาม | จะบอกความกัลยาน้ำตาไหล |
เธอกริ้วองค์โอรสยศไกร | รับสั่งให้ล้างเสียทั้งสององค์ |
นางทรงฟังดังเศียรจะขาดสูญ | ยิ่งเพิ่มพูนโศกเพียงจะผุยผง |
สองพระกรข้อนทรวงนางโฉมยง | เจ้ากอดองค์โอรสแล้วรํ่าไร |
อนิจจากำพร้าของแม่เอ๋ย | ไม่ควรเลยที่จะพลอยมาตักษัย |
แม้นแม่ผิดแต่สักนิดไม่น้อยใจ | ยังซํ้าให้ลูกน้อยนี้พลอยตาย ฯ |
๏ สงสารลักษณวงศ์องค์โอรส | เห็นแม่ร่ำกำสรดก็ใจหาย |
มานะหน่อกระษัตราปรีชาชาย | ไม่กลัวตายทูลปลอบพระมารดา |
พระทรงฤทธิ์มิได้คิดอาลัยแล้ว | พระแม่ทูลกระหม่อมแก้วอย่าโหยหา |
จะเกิดไหนให้พบกันสองรา | เราก้มหน้ามอดม้วยลงด้วยกัน |
อันเกิดมามีกรรมก็จำม้วย | ถึงร้องไห้ใครจะช่วยมาผ่อนผัน |
ไม่ผิดพลั้งครั้งนี้ให้ฆ่าฟัน | ก็ขาดกันเถิดอย่าได้อาลัยลาน ฯ |
๏ นางโฉมยงทรงฟังโอรสราช | สุดสวาทรํ่าว่าน่าสงสาร |
ค่อยตั้งจิตคิดถึงจะวายปราณ | เยาวมาลย์ก้มกราบพระธรณี |
ทั้งพรหมินทร์อินทราสุรารักษ์ | เทพเจ้าสิทธิศักดิ์ทุกราศี |
ในเถื่อนทุ่งวุ้งเวิ้งเชิงคิรี | ในครั้งนี้จงเป็นทิพย์พยาน |
ข้าแม่ลูกสองศรีไม่มีผิด | พระทรงฤทธิ์ตรัสสั่งให้สังหาร |
จะตายตามสัจจาพยาบาล | จงบันดาลเห็นด้วยทุกเทวา |
แล้วหลับเนตรแน่นิ่งไม่ติงองค์ | ทั้งพระลักษณวงศ์โอรสา |
เข้านั่งเรียงเคียงชิดพระมารดา | ภาวนาตั้งมั่นในขันตี |
เดชะสัตย์อธิษฐานบันดาลถึง | วิมานเมืองดาวดึงส์ท้าวโกสีย์ |
ทิพอาสน์ร้อนนักดั่งอัคคี | แท่นมณีแข็งกระด้างดังศิลา |
หัสนัยน์[๖]ไหวหวาดพระทัยหวั่น | จึงเผยบัญชรรัตน์ชำเลืองหา |
พิศเพ่งเล็งแลในโลกา | เห็นสุวรรณอำภากับลูกรัก |
พรหมทัตตรัสสั่งให้สังหาร | จึงบันดาลร้อนอาสน์ประหลาดหนัก |
จำจะไปช่วยองค์นางนงลักษณ์ | กับลูกรักอย่าให้ม้วยด้วยเรื่องพาล |
ท้าวตรีเนตรแจ้งเหตุแล้วรีบเหาะ | ลงจำเพาะเขาใหญ่ในไพรสาณฑ์ |
เข้าเคียงลักษณวงศ์กับนงคราญ | จึงบันดาลมิให้ดาบนั้นฟันลง |
ฝ่ายพวกเพชฌฆาตล้วนอาจหาญ | เห็นนิ่งนานสมจิตคิดประสงค์ |
ค่อยชักดาบย่องย่างมาข้างองค์ | แล้วคิดสงสารสองกระษัตรา |
แต่เยื้องเยื้องแล้วก็ยั้งคิดสังเวช | ด้วยแจ้งเหตุว่าไม่มีที่โทษา |
แล้วพรั่นตัวกลัวเกรงพระอาชญา | แต่เงื้อง่าจะฟันก็งันไป |
ข้างพวกเพื่อนเตือนกันให้ฟันฟาด | ก็มิอาจที่จะฟันลงไปได้ |
แต่เงื้อค้างง้างเปล่าทุกคราวไป | ด้วยอำนาจหัสนัยน์มาป้องกัน |
เพชฌฆาตต่างคนก็จนจิต | เป็นสุดคิดที่จะฆ่าให้อาสัญ |
ลงนั่งแลดูตาปรึกษากัน | เมื่อเราฟันก็ชะงักเสียทุกที |
ชะรอยบุญสองราจึงอาเพศ | ให้เห็นเหตุเพราะสัตย์นางโฉมศรี |
ไปทูลความหรือจะทำอย่างไรดี | พระภูมีสั่งมาให้ฆ่าฟัน |
จะทูลท้าวคราวเคืองกลัวจะเฆี่ยน | ให้วนเวียนมิรู้ที่จะผ่อนผัน |
ฝ่ายมหาเสนาจึงว่าพลัน | อย่ากระนั้นเลยจะคิดให้มิดความ[๗] |
ให้โฉมยงกับองค์โอรสราช | เธอลีลาศไปในป่าพนาหนาม[๘] |
ไปทูลว่าฆ่าแล้วก็สิ้นความ | แต่ห้ามปรามพวกเราอย่าพาที |
ก็พร้อมจิตคิดเห็นด้วยกันหมด | จึงเรียกองค์โอรสกับโฉมศรี |
ให้สองลืมนัยนาแล้วพาที | อันครั้งนี้บุญแม่ไม่เคยตาย |
แต่บรรดาข้าน้อยจะปล่อยปละ | ตามแต่จะไปเถิดพระโฉมฉาย[๙] |
จะทูลว่าฆ่าแม่เสียวอดวาย | จงผันผายรีบพากันคลาไคล |
ทั้งสององค์ทรงฟังเพชฌฆาต | นุชนาฏยินดีจะมีไหน |
จึงเอื้อนอรรถตรัสตอบว่าขอบใจ | เราจะไปตามกรรมได้ทำมา |
แม้นมิรอดก็จะมอดลงม้วยมิด | มิให้ผิดถึงนายเมื่อภายหน้า |
นางตรัสพลางทางชวนพระลูกยา | ทรงโศกาเดินไปในไพรวัน |
เพชฌฆาตแลไปเห็นไกลลับ | พากันกลับมาทูลขมีขมัน |
ว่าลูกรักอัคเรศของทรงธรรม์ | กระหม่อมฉันฟันไว้ริมคิรี ฯ |
๏ พรหมทัตฟังสารสำราญจิต | ประคองเชิญชวนชิดนางยักษี[๑๐] |
ก็แห่ห้อมพร้อมพรั่งนางนารี | ให้เทวีขึ้นนั่งบัลลังก์รถ |
ชักวิสูตรรูดรอบกำบังกั้น | นางกำนัลแวดล้อมอยู่พร้อมหมด |
ฝ่ายพระองค์ทรงช้างมาข้างรถ | ให้เลิกทศโยธาแล้วคลาไคล |
ทั้งฆ้องกลองก้องกึกพิลึกลั่น | แตรสังข์ดังสนั่นเนินไศล |
สุริยงลงลับเมรุไกร | ถึงเวียงไชยเชิญนางเข้าปรางค์ทอง |
ขึ้นสู่แท่นแสนชื่นด้วยนางยักษี | ประคองพักตร์เชยชมประสมสอง |
อียักษ์แปลงแกล้งประณามตามทำนอง | ไม่ขัดข้องเชิงชั้นด้วยมารยา |
พระหลงรักยักษ์ร้ายไม่วายสวาท | ลืมสนมนางนาฏทั้งซ้ายขวา |
เฝ้าเคล้าคลึงนางมารจนนานมา | อสุรามีครรภ์ขึ้นตันทรวง |
เห็นมนุษย์สุดอยากด้วยชาติยักษ์ | แต่ลักหักคอกินในเรือนหลวง |
นางสำหรับขับกล่อมทุกกระทรวง | คนทั้งปวงมิได้แจ้งแห่งคดี |
ไม่รู้ว่าอสุรินมันกินเล่น | หาไม่เห็นแล้วก็ลงบัญชี[๑๑]หนี |
สำราญจิตอสุราอยู่ธานี | ด้วยภูมีรักใคร่มิใคร่คลาย |
กำหนดครรภ์ครั้นล้วนทศมาส | ก็คลอดราชบุตรีอันเฉิดฉาย |
เป็นมนุษย์โฉมงามอร่ามพราย | พรหมทัตมิได้วายสวาทชม |
ถนอมเลี้ยงเพียงดวงหทัยท้าว | พระจัดสาวสุรางค์นางสนม |
ถนอมเลี้ยงพระธิดาเป็นอารมณ์ | ทั้งนางนมพี่เลี้ยงเคียงประคอง |
ขนานนามตามศักดิ์จักรพรรดิ | ชื่อนางทัศโกสุมไม่มีสอง |
แสนเกษมเปรมจิตสนิทปอง | พระครอบครองเศวตฉัตรกับอสุรา ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “แปลงกาย...”
[๒] น้ำอำมฤค = น้ำอำมฤต
[๓] ตัดษัย = ตักษัย
[๔] นเรนทร์สูร แปลว่า พระผู้กล้าในนระ เป็นนามเรียกกษัตริย์
[๕] ตะละไฟ แปลว่า เปรียบดั่งไฟ
[๖] หัสนัยน์ = สหัสนัยน์ หมายถึง พระอินทร์
[๗] มิดความ แปลว่า ปกปิดไม่ให้รู้ความจริง
[๘] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ให้โฉมยงกับองค์พระโอรสา เธอลินลาไปใบป่าพนาหนาม”
[๙] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “แต่บรรดาข้าน้อยจะปล่อยแม่ ตามแต่จะไปนะโฉมฉาย”
[๑๐] สมุดไทยเลขที่ ๒๕ ว่า “ประคองชิดชวนเชิญนางโฉมศรี”
[๑๑] สมุดไทยเขียนว่า “บาญชี”