- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
- ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๔ ลักษณวงศ์ตามหามารดาจนได้พบนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๕ ลักษณวงศ์อยู่เรียนวิชากับพระฤๅษี สำเร็จแล้วไปตามหาพระมารดาที่เมืองมยุรา
- ตอนที่ ๖ ลักษณวงศ์พบพระมารดาที่เมืองมยุรา แล้วเชิญเสด็จหนีออกจากเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าววิรุญมาศรบกับลักษณวงศ์ แล้วต้องศรสิ้นชีพ
- ตอนที่ ๘ ทำศพท้าววิรุญมาศ
- ตอนที่ ๙ ลักษณวงศ์ครองเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๑๐ ลักษณวงศ์เสด็จกลับเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๑ ลักษณวงศ์เสด็จเข้าเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๒ นางทิพเกสรไปอยู่กับห้ากินรี
- ตอนที่ ๑๓ ลักษณวงศ์เดินทางไปรับนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๑๔ ลักษณวงศ์พานางทิพเกสรกลับเมือง ขณะบรรทม วิชาธรลักนางไปทำให้พลัดกัน
- ตอนที่ ๑๕ ลักษณวงศ์ตามหานางทิพเกสรไปถึงเมืองยุบล แล้วได้นางยี่สุ่นเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๑๖ ท้าวกรดสุริกาลอภิเษกลักษณวงศ์กับนางยี่สุ่น ครองเมืองยุบล
- ตอนที่ ๑๗ พราหมณ์เกสรพบนายพราน ครั้นทราบข่าวลักษณวงศ์ จึงขอให้มาเข้าถวายตัว
- ตอนที่ ๑๘ นางยี่สุ่นหึง แต่งอุบายให้ประหารพราหมณ์เกสร
- ตอนที่ ๑๙ ลักษณวงศ์โศกถึงนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๒๐ ทำศพนางทิพเกสร
ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
๏ จะริเริ่มเรื่องร้างปางประถม | |
สุดเสียดายด้วยนิยายจะจ่อมจม | จึ่งนิยมแต่งบทพจนา |
ยังมีราชนรินทร์ปิ่นกระษัตริย์ | พรหมทัตจอมทศทิศา |
ดำรงเมืองเรืองฤทธิ์อิศรา | เป็นมหาจักรพาลสำราญรมย์ |
มีเอกองค์วิไลละไมโฉม | งามประโลมท้าวถนอมเป็นจอมสนม |
ชื่อสุวรรณอำภาดูน่าชม | เสวยสมบัติสบายมาหลายปี |
เกิดราชบุตรชายสายกระษัตริย์ | จำเริญรูปเทียมทัดท้าวโกสีย์ |
ครั้นบุตราชันษาได้แปดปี | พระภูมีเฉลิมนามพระลูกยา |
ชื่อเจ้าลักษณวงศ์ทรงสวัสดิ์ | สองกระษัตริย์แสนสุดเสน่หา |
วันหนึ่งท้าวพรหมทัตกระษัตรา | พระไสยาบนปัจถรณ์ให้ร้อนทรวง |
นึกจะพาลูกรักอัคเรศ | ไปเที่ยวชมหิมเวศภูเขาหลวง |
พอภาณุมาศผาดเผ่นขึ้นเด่นดวง | สั่งกระทรวงเสนามิช้านาน |
ให้ผูกช้างพระที่นั่งบัลลังก์รถ | กับทั้งทศโยธาอันกล้าหาญ |
ทั้งอาชาม้าทรงยงทะยาน | ทั้งขนานนางขนัด[๑]ให้จัดจร |
มนตรีกราบกรุงกระษัตริย์มาจัดทัพ | เลือกสลับเกณฑ์แห่แลสลอน |
ธนูง้าวหลาวโล่แลโตมร | ผูกกุญชรพระที่นั่งบัลลังก์รถ |
มาประเทียบเรียบคอยอยู่เกยแก้ว | ก็พร้อมแล้วสรรพเสร็จสำเร็จหมด |
พรหมทัตขัตติยวงศ์พระทรงยศ | กับโอรสอัคเรศเข้าสรงชล |
ฝักบัวแก้วปรูปรายดั่งทรายสาด | กระจายฟาดฟูมฟองละอองฝน |
นํ้ากุหลาบอาบองค์ทรงสุคนธ์ | ทรงเครื่องต้นตามศักดิ์จักรพรรดิ |
นางเถ้าแก่แห่ห้อมล้อมไสว | เครื่องสำอางนางในเป็นขนัด |
นางโฉมยงทรงรถบัลลังก์รัตน์ | พรหมทัตทรงพญาคเชนทร |
ที่นั่งพัง[๒]หลังสัปคับคร่อม | แต่ล้วนหม่อมชาววังนั่งสลอน |
ให้เลิกพลโยธาพลากร | จากนครเข้าป่าพนาวัน |
พอเบี่ยงบ่ายชายแสงสุริยใส | ถึงราวไพรพฤกษาวนาสัณฑ์ |
สามกระษัตริย์ชมเพลินเจริญครัน | พลขันธ์รื่นเริงบันเทิงนัก |
นางชาววังแหวกม่านประสานเสียง | เห็นข้างเคียงฉวยคว้าพฤกษาหัก |
เห็นอะไรก็ให้กำเริบรัก | ไม่รู้จักหมามุ้ยเอามือทึ้ง |
ละอองลูกถูกเนื้อมันเหลือเล่ห์ | สมคะเนเกาสนุกลุกทะลึ่ง |
พวกขอเฝ้า[๓]เหล่าโขลน[๔]ตะโกนอึง | ใบตำลึงหม่อมจ๋าแก้หมามุ้ย |
ระยะหลังยังพวกนางทาสา | เดนขี้ข้าชาววังรังกะตุ๋ย |
ถูกสำรับ[๕]กับพวกเจ้ารุกรุย | ทำใบ้บุ้ยขอหมากฝากอาลัย |
ทั้งกองทัพเพลิดเพลินเจริญจิต | ชวนกันพิศเนื้อนกวิหคไสว |
จะกล่าวถึงอสุรีขินีไพร | เป็นเมียไอ้เงาะป่าพนาลี |
วันนั้นออกจากศาลาเที่ยวหาปู | พอปะงูขบเงาะนั้นเป็นผี |
ครั้นสิ้นบุญผัวรักยักขินี | ก็โศกีมาในอรัญวา |
พอประสบพบพวกโยธาทัพ | ยืนขยับเยี่ยมมองตามช่องผา |
จึงเห็นท้าวพรหมทัตกระษัตรา | พาคณาสาวสนมออกชมดง |
กับลูกรักอัคเรศบนรถแก้ว | ให้ผ่องแผ้วชื่นชมสมประสงค์ |
จะแปลงเป็นนางกระษัตริย์ให้หยัดยง | ไปด้วยองค์กระษัตราในธานี |
ยุให้ฆ่าลูกรักกับอัคเรศ | ไปนิเวศน์จะได้เป็นมเหสี |
ให้ลืมไอ้เงาะป่าผู้สามี | ยักขินีเนรมิตด้วยฤทธา |
เป็นกวางทองย่องหยัดสะบัดย่าง | เอี่ยมสำอางออกจากชะวากผา |
โผนทะยานผ่านช้างกระษัตรา | กิริยาผันผกเหมือนตกใจ |
จักรพงศ์ทรงคชสารกล้า | เห็นพญากวางทองอันผ่องใส |
ให้มีจิตพิศวาสเพียงขาดใจ | จะสั่งใช้โยธาจะช้าการ |
พระโจนจากไอยราผวาวิ่ง | มาขึ้นมิ่งมโนมัยด้วยใจหาญ |
ขยับองค์ลงแส้อาชาชาญ | ม้าทะยานตามกวางมากลางไพร |
พวกพหลพลขันธ์พากันวิ่ง | มาตามมิ่งม้าที่นั่งสนั่นไหว |
บ้างบุกแฝกแหวกคาถลาไป | พลาดไถลล้มเกลือกลงเสือกคราง |
บ้างตกนํ้าข้ามละหานทะยานโผน | ลงเหยียบโคลนล้มควํ่าลงตํ้าผาง |
ที่หนามตำคลำหนามมาตามทาง | ทั้งม้าช้างรีบกันกระชั้นมา |
กวางจำแลงแกล้งล่อให้ท้าวไล่ | ครั้นเข้าใกล้กลับกระโดดโลดถลา |
แต่หวิดหวิดติดพันกระชั้นมา | จนลับตาพวกพหลพลไกร |
ถึงเขาขวางหว่างโขดสันโดษเปลี่ยว | กวางก็เลี้ยวเข้าริมเทินเนินไศล |
กลับเป็นยักษ์ยืนขวางอยู่กลางไพร | ทั้งสูงใหญ่แยกเขี้ยวคำรามรณ |
กระเดาะปากถากถางท้าวพรหมทัต | เป็นกระษัตริย์โง่เง่าเฉาฉงน |
ไม่รู้เท่าลูกเมียจะเสียตน | เขาแต่งกล[๖]ให้เราพาเอามากิน |
ดูน่าอายตายเปล่าไม่เข้าเรื่อง | มาปลดเปลื้องบรรลัยอยู่ไพรสิณฑ์ |
สงสารกรุงกระษัตราเจ้าธานิน | ท้าวเธอสิ้นสมประดีไม่มีใจ |
ให้คิดแค้นลูกรักกับอัคเรศ | ชลเนตรซึมโซมชโลมไหล |
สิ้นกำลังลงกับหลังอาชาไนย | มโนมัยก็ถลาสลบลง |
กรุงกระษัตริย์อัสดรอนาถนิ่ง | อียักษ์ยิ่งชื่นชมสมประสงค์ |
ฉีกอาชากินพลางที่กลางดง | ไม่หลอหลงจนชั้นเลือดก็เลียกิน |
แล้วลูบจอมจักรพงศ์ด้วยสงสัย | รู้ว่าไม่ม้วยมุดสุดถวิล |
จึงลงล้างกายาในวาริน | ให้หมดสิ้นโลหิตที่ติดกาย |
แล้วภาวนาอาคมพรหมประสิทธิ์ | เนรมิตรูปมารบันดาลหาย |
เป็นสาวน้อยทรงสร้อยสังวาลพราย | ดูเฉิดฉายตะละหล่อลออองค์ |
เข้านั่งชิดพิศชมสมถวิล | เอาวารินทิพรสมาโสรจสรง |
กรุงกระษัตริย์ชุ่มชื่นฟื้นพระองค์ | เห็นอนงค์นวลละอองดั่งทองทา |
ให้ตันอกตกตะลึงอยู่เป็นครู่ | แล้วแลดูมิได้เห็นนางยักษา |
ไม่เห็นทั้งพาชีที่ขี่มา | นึกจะถามกัลยาก็พรั่นใจ |
แต่เยื้อนเยื้อนเอื้อนขยับแล้วกลับยั้ง | พระขืนตั้งวิญญาณ์แล้วปราศรัย |
เจ้างามเลิศเฉิดโฉมประโลมใจ | ยักษ์มันไปแล้วหรือนางอย่าพรางกัน |
เจ้าโฉมยงทรงเครื่องเรืองจำรัส | เชื้อกระษัตริย์หรือว่าเจ้าเป็นชาวสวรรค์ |
ไฉนนางมาอยู่กลางพนาวัน | นางกุมภัณฑ์ไปหนตำบลใด ฯ |
๏ อียักษ์ยิ้มพริ้มพรายสบายจิต | เห็นสมคิดปรารถนาจึงปราศรัย |
น้องเกิดในบุปผาสุมาลัย | เทพไทโปรดปรานประทานพร |
ยักขินีผีป่าบรรดาร้าย | ไม่กลํ้ากรายหลีกตัวกลัวสลอน |
อสุรินกินกัดอัสดร | เห็นน้องจรเมื่อตะกี้มันหนีไป |
จะดีร้ายฝ่ายน้องไม่แจ้งจิต | เห็นทรงฤทธิ์นิ่งแน่ช่วยแก้ไข |
เชิญพระองค์ทรงกลับเข้ากรุงไกร | จะช่วยไปส่งเพียงพระพารา ฯ |
๏ พรหมทัตธิบดินทร์ไม่กินแหนง | ประจักษ์แจ้งว่านางเกิดในบุปผา |
จึงเอื้อนอรรถตรัสตอบนางกัลยา | แม่เมตตาการุญพระคุณครัน |
ขอเชิญเจ้าเสาวภาคพงศ์อัปสร[๗] | ไปครองนครกรุงไกรมไหศวรรย์ |
ทั้งแปดหมื่นพื้นสนมนางกำนัล | จะมอบขวัญนัยนาทั้งธานี |
อีสุวรรณอำภามันสามานย์ | จะประหารเสียให้ม้วยลงเป็นผี |
พระตรัสพลางทางชวนนางเทวี | จรลีนำนางมากลางเนิน |
สำราญรื่นชื่นชวนให้ชมนก | ฝูงวิหคหงส์ห่านทะยานเห็น |
พระชี้พลางหยอกพลางให้นางเพลิน | แล้วรีบเดินมาในป่าพอสายัณห์ |
มาพบพวกเสนาโยธาทัพ | ต่างเข้ารับกรุงกระษัตริย์เกษมสันต์ |
เห็นนางงามตามองค์พระทรงธรรม์ | แต่แก้วกัณฐัศว์ทรงนั้นหายไป |
ทั้งนงลักษณ์อัคเรศแลโอรส | เห็นทรงยศยินดีจะมีไหน |
นางทูลถามว่าพระตามมฤคไป | เป็นไฉนได้กัลยามา ฯ |
[๑] ขนานนางขนัด แปลว่า นางชาววังจำนวนมาก
[๒] พัง แปลว่า ช้างตัวเมีย
[๓] ขอเฝ้า แปลว่า ผู้ชายซึ่งทำหน้าที่คอยรับใช้เจ้านายฝ่ายใน
[๔] โขลน แปลว่า ทหารพวกหนึ่ง
[๕] ถูกสำรับ หมายถึง เข้ารวมหมู่รวมพวกกันได้
[๖] แต่งกล หมายถึง ทำอุบายหลอกลวง
[๗] สมุดไทยเขียน “อักษร”