- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวพรหมทัตประพาสไพร ได้นางยักษ์แปลงเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๒ ท้าวพรหมทัตตรัสสั่งประหารพระมเหสีและพระราชโอรส แต่เพชฌฆาตปล่อยไป
- ตอนที่ ๓ นางสุวรรณอำภากับลักษณวงศ์เดินดงขณะบรรทม ท้าววิรุญมาศปลุกนางแล้วพาไปเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๔ ลักษณวงศ์ตามหามารดาจนได้พบนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๕ ลักษณวงศ์อยู่เรียนวิชากับพระฤๅษี สำเร็จแล้วไปตามหาพระมารดาที่เมืองมยุรา
- ตอนที่ ๖ ลักษณวงศ์พบพระมารดาที่เมืองมยุรา แล้วเชิญเสด็จหนีออกจากเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าววิรุญมาศรบกับลักษณวงศ์ แล้วต้องศรสิ้นชีพ
- ตอนที่ ๘ ทำศพท้าววิรุญมาศ
- ตอนที่ ๙ ลักษณวงศ์ครองเมืองมยุรา
- ตอนที่ ๑๐ ลักษณวงศ์เสด็จกลับเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๑ ลักษณวงศ์เสด็จเข้าเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๒ นางทิพเกสรไปอยู่กับห้ากินรี
- ตอนที่ ๑๓ ลักษณวงศ์เดินทางไปรับนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๑๔ ลักษณวงศ์พานางทิพเกสรกลับเมือง ขณะบรรทม วิชาธรลักนางไปทำให้พลัดกัน
- ตอนที่ ๑๕ ลักษณวงศ์ตามหานางทิพเกสรไปถึงเมืองยุบล แล้วได้นางยี่สุ่นเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๑๖ ท้าวกรดสุริกาลอภิเษกลักษณวงศ์กับนางยี่สุ่น ครองเมืองยุบล
- ตอนที่ ๑๗ พราหมณ์เกสรพบนายพราน ครั้นทราบข่าวลักษณวงศ์ จึงขอให้มาเข้าถวายตัว
- ตอนที่ ๑๘ นางยี่สุ่นหึง แต่งอุบายให้ประหารพราหมณ์เกสร
- ตอนที่ ๑๙ ลักษณวงศ์โศกถึงนางทิพเกสร
- ตอนที่ ๒๐ ทำศพนางทิพเกสร
คำนำ
นิทานคำกลอนเรื่องลักษณวงศ์ เป็นผลงานกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือประวัติสุนทรภู่ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องลักษณวงศ์ว่า
“...พิเคราะห์ดูเห็นเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่แต่งแต่ ๙ เล่มสมุดไทย (เพียงม้าตามไปเห็นศพนางเกสร) ต่อนั้นดูเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งตามกลอนสุภาพอีก ๗ เล่ม แล้วแต่งเป็นบทละคอนต่อไปอีก ๒๓ เล่ม รวมเป็น ๓๙ เล่มสมุดไทย ในฉบับที่พิมพ์ขายมีกลอนนำหน้าว่าเป็นของแต่งถวายเจ้านาย แต่กลอนนั้นเห็นได้ว่าตัดเอากลอนที่มีอยู่ข้างต้นเรื่องโคบุตรมาดัดแปลง น่าสงสัยว่าจะเป็นของผู้อื่นเอามาเติมเข้าต่อชั้นหลัง เพียงจะให้มีชื่อสุนทรภู่ปรากฏในหนังสือนั้น”
เรื่อง ลักษณวงศ์ นี้ กรมศิลปากรมอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ อดีตข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระจากต้นฉบับสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ต่อมากรมศิลปากรอนุญาตให้พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ และพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รวมนิทาน สุภาษิต และบทเห่กล่อมของสุนทรภู่” เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กวีเอกสุนทรภู่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙ บัดนี้เป็นหนังสือหายาก กรมศิลปากรจึงเห็นควรจัดพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ ๔ เพื่อสืบทอดอายุหนังสือและเผยแพร่วรรณคดีกวีนิพนธ์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ
เป็นหนังสือในชุดนิทานคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เรื่อง โคบุตร จันทโครบ สิงหไกรภพ เผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้ว
การจัดพิมพ์ครั้งนี้มอบให้นางพันธุอร จงประสิทธิ์ นักอักษรศาสตร์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์) (กลุ่มภาษาและวรรณกรรม) สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทย พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายศัพท์เพิ่มเติม และปรับอักขรวิธีบางแห่งเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้และสะดวกแก่ผู้อ่าน
กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่องลักษณวงศ์” นี้ จะอำนวยประโยชน์ต่อครู อาจารย์ และเยาวชน ตลอดจนผู้สนใจอ่านและศึกษาวรรณคดีกวีนิพนธ์ของชาติโดยทั่วกัน
อธิบดีกรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๖ เมษายน ๒๕๕๘