- คำนำ
- พระราชหัตถเลขา ว่าด้วยพระราโชบายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙
- สำเนาหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ลงวันที่ ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- สำเนาหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง การศึกษาของประเทศสยาม
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- สำเนาหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- ลายพระราชหัตถ์ถึงกระทรวงทางราชการ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙
- พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ร.ศ. ๑๒๙
- พระบรมราชวินิจฉัย เรื่องเจ้าต่างกรม
- ธรรมเนียมขุนนางไทยโบราณ
- เรื่อง พระมหามนเทียรในกรุงเก่า
- พระบรมราชาธิบาย เรื่อง แบบกราบบังคมทูลพระกรุณานำแขกเมืองถวายเครื่องราชบรรณาการ แลการทูลเบิกกราบถวายบังคมลา
- พระบรมราชวินิจฉัย เรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าลูกหลวงเอก
- ว่าด้วยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
- กองแก้วกองทอง
- พระบรมราชวินิจฉัย เรื่อง บายศรี
- เรื่องพลับพลาที่เสวยกับเรื่องเสาหงส์
- พระบรมราชาธิบาย ว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส
- พระราชหัตถเลขานิมัยปัจฉิมลิขิตในรัชกาลที่ ๕
พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๙
สวนดุสิต
วันที่ ๒๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
พระยาไพศาล
องค์หญิงพิศมัยเอาสมุดรายงานตรวจโรงเรียนเมืองญี่ปุ่นมาให้ดู จริงอยู่ ไม่ได้อ่านตลอดเพราะเวลาน้อยนัก แต่ได้พลิกดูหมดทั้งเล่ม เพราะจำได้ว่าได้เคยอ่านครั้งหนึ่ง มีความเสียใจว่า การที่อ่านคำเล็กเชอร์ของญี่ปุ่นนั้น เจ้ากับข้าดูคนละทางแท้ๆ
ตามรายงานที่เล่าถึงจัดการโรงเรียนเมืองญี่ปุ่น เหมือนอย่างเรานึกจะสร้างตึกขึ้นในเมืองลาว แล้วส่งคนไปดูตึกที่เมืองลอนดอน เมืองปารีส อย่างที่สุดก็ดูที่กรุงเทพฯ ว่าสร้างกันอย่างไร เช่น กรมขุนสรรพสิทธิ ลองประมาณดูว่า ถ้าจะสร้างตึกแถวอย่างเช่นกรุงเทพฯ ที่เมืองอุบล จะต้องทำอะไร ๆ บ้าง หาอะไรบ้าง กว่าจะเป็นตึกขึ้นได้จะเป็นราคาถึงห้องละ ๓๐๐๐ บาท ยังไม่ได้คิดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาทำ เป็นแต่คิดตัวอย่างว่าที่นั่นเขาทำเช่นนั้น ที่นี่เขาทำเช่นนี้
แต่ที่จริงที่กรุงเทพฯ ทำตึกขึ้นได้ก็สะดวกในเร็วๆ นี้เอง แต่การตั้งต้นของบางกอกได้ตั้งมาอย่างไร ควรจะต้องแลดูก่อน
ในสมุดเล็กเชอร์นี้เอง เขาได้วางระเบียบที่จะกล่าวเป็นชั้นๆ ตั้งต้นแต่พงศาวดารแลการปกครองบ้านเมืองฤๅปกครองท้องที่ แล้วจึงว่าด้วยซิสเต็มแลสุเปอวิชั่นคอนโตรลอินสเป๊กชั่นไปตามลำดับ เหตุใดจึงต้องกล่าวเท้าถึงการปกครอง เพราะเป็นที่ตั้งของการที่จะสำเร็จ
อย่างเช่นอิสตอริคเคอลสเค็ตช ที่เป็นทางควรสังเกต หน้า ๖๘-๖๙ หน้า ๗๔ หน้า ๗๙ เช่นนี้ นั่นเป็นที่ตั้งของความสำเร็จ เป็นทัพสัมภาระ ซึ่งสำหรับจะก่อสร้าง ข้อความเหล่านี้เป็นข้อที่ข้าตั้งใจแลดู แลอยากจะรู้ละเอียดในการที่เขาทำ ขัดข้องอย่างไร สำเร็จอย่างไร หนักเบาอย่างไร หาได้เห็นรายงานที่กล่าวถึงต้นรากเช่นนี้ไม่เลย
มีแต่รายงานซึ่งว่าด้วยวิธีการเล่าเรียน วิธีปกครอง การซึ่งตั้งขึ้นเป็นรูปแล้ว ให้เดินไปอย่างเช่นรายงานที่เจ้าเขียน
จริงอยู่มีตอนหนึ่งซึ่งว่าด้วยเรื่องโรงเรียนผู้ดีว่าเป็นเงินเรี่ยไร แต่ถึงจะมีปรากฏในข้อนั้น ไม่ใช่เป็นสำคัญ เป็นรากของการศึกษาที่จะดำเนินไปได้ ฤๅจะว่าให้ตรงเป็นรากของความสำเร็จทั่วไป ความอยากรู้ที่ตั้งแห่งความสำเร็จ แต่ไม่เคยได้ความสะใจ แลยังนึกวิตกเป็นอันมากว่า สามารถจะทำให้เจ้าเข้าใจได้ฤๅไม่ในความประสงค์อันนี้ ถ้าหากว่าไม่ทำให้เข้าใจได้แล้ว จะพูดยาวไปก็ป่วยการ เพราะเกี่ยวแก่การปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่คิดว่าจะสอนอะไรจึงจะดี เพราะฉะนั้นจะว่าเป็นหน้าที่ของกรมศึกษาแท้ก็ไม่ได้ เป็นหน้าที่ของเสนาบดีที่เป็นรัฐบาล จะคิดผ่อนผันตั้งไลน์ออฟปอลิซี ซึ่งหากว่าเวลานี้ยังไม่มีตัวจะทำได้เท่านั้น
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์