(สำเนา) ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๑

ที่ ๗

กระทรวงโยธาธิการ

วันที่ ๑๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๑

ขอเดชะ ฯ

ข้าพระพุทธเจ้ามีความผูกพันที่ใคร่เขียนซีนอภิเษก เพราะเป็นซีนสำคัญในตอนเสวยสุข แต่คิดดูติดขัดไป คือว่าจะเขียนเมื่อรดน้ำ ก็จะมีพระมหาสัตว์ทรงขาว ปราศจากเครื่องอาภรณ์ มีพราหมณ์เข้าไปล้อมอยู่เท่านั้น เป็นซีนที่จะหางามไม่ได้ ถ้าเป็นละคร ก็เป็นซีนตลก จะไม่มีใครเข้าใจว่า ชี อะไร-อาบน้ำ ครั้นจะเขียนเวลาเวียนเทียนตามอย่างเขาเขียนกันชุมๆ ก็ไม่พอใจ ไปนั่งเกาะบายศรีอยู่สองข้าง ไม่ถูกไม่ใกล้ต่อความจริง คิดยักย้ายไปท่าอื่นก็หางามไม่ได้ จึงได้พลิกดูหนังสืออิเหนาเทียบ ว่าการอภิเษกนอกจากรดน้ำกับเวียนเทียนจะมีอะไรอีกบ้าง ก็ไม่พบมีอะไรกว่านั้น แต่ไปเห็นความว่าใช้บายศรีสองก็ได้ จึงได้สติว่า เขียนบายศรีสองหาท่างามได้ดังแผนที่นี้

๑. พระมหาสัตว์

๒. ๓ นางพัด

๔. ๕ บายศรี

๖. ๗ ๘ พราหมณ์เบิกแว่น

ฤๅอีกนัยหนึ่ง ๒. จะเป็นพระพุทธบิดาก็ได้ ๓. จะเป็นยโสธราก็ได้ แล ๗, ๘. จะเปลี่ยนเป็นอมาตย์ ฤๅกษัตริย์พระญาติ ฤๅกษัตริย์ข้างหนึ่ง อมาตย์ข้างหนึ่งก็ได้ ความเห็นวิธีสมโภช ได้ลงไว้ข้างท้ายจดหมายบันทึก ซึ่งได้จดไว้เมื่อต้น แลทูลเกล้าฯ ถวายมานี้แล้ว ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย

จะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า นริศ.

----------------------------

จดหมายบันทึกเรื่องบายศรี

๑. อิเหนา เล่ม ๑ หน้า ๒๓ กล่าวถึงสมโภชอิเหนาคราวแรกประสูติ ใช้บายศรีทองสองสำรับ (ไม่มีแก้วแลเงิน) ว่าดังนี้ “ตั้งบายศรีทองสองสำรับ แซมยอดสอดประดับดอกไม้ไหว สังข์กรดแว่นเวียนเทียนชัย แต่งไว้เสร็จถ้วนทุกสิ่งอัน”

๒. อิเหนา เล่ม ๓ หน้า ๘๙๗ กล่าวเมื่อท้าวกาหลังสมโภชพระธิดาว่า “บัดนั้น จึงมหาเสนาทั้งสี่ ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี ให้ลั่นฆ้องสามทีเป็นสำคัญ แล้วจุดเทียนเวียนแว่นไปเบื้องขวา รับส่งต่อมาเป็นหลั่นๆ” จะแปลว่าเหม ๔ ใบด้วยฤๅมิใช่

๓. อิเหนา เล่ม ๒ หน้า ๙๗๕ กล่าวเมื่อโสกันต์สียะตราว่า “ได้ฤกษ์พระโหรให้เบิกบายศรีขวัญ ลั่นฆ้องเข้าเป็นสำคัญ สังข์แตรแซ่สนั่นเป็นโกลา ตำมะหงงคลานไปจุดเทียน ติดแว่นแล้วเวียนไปเบื้องขวา” ที่นี้คนเดียวเบิกแว่น จะแปลว่า เหมใบเดียว ฤๅ ๔ ใบ ฤๅ ๓ ใบอย่างเดี๋ยวนี้ แต่เบิกคนเดียว

๔. อิเหนา เล่ม ๒ หน้า ๒๒๒๔ กล่าวเมื่ออภิเษกอิเหนากับนางกษัตริย์ว่า “เหล่าพวกกรมวังตั้งบายศรี เจ็ดชั้นล้วนมณีศรีใส หุ้มตาดสุวรรณอันอำไพ แว่นชัยสำหรับติดเทียนทอง” นี่จะเป็นบายศรีแก้วแต่อันเดียวฤๅอย่างไร ส่วนการเบิกแว่นกล่าวต่อไปในหน้า ๒๒๒๘ ว่า “ตำมะหงงตรงเข้าไปจุดเทียน ติดแว่นวิเชียรเจิมจันทน์หอม” ที่นี้เป็นเบิกคนเดียวเหมือนกัน แต่จะเป็นเหมใบเดียว ฤๅหลายใบเกือบจะได้ความในที่นี้ แต่ก็ยังไม่ได้ความ เพราะกล่าวรัวเต็มที ว่าดังนี้ “ครั้นครบเจ็ดรอบตามตำรับ ตำมะหงงประจงจับทีละสอง มาปักลงไว้ในขันทอง ใบพลูรองอัคคีแล้วคลี่คลาย” จะเข้าใจว่าเหมสองใบก็ได้กระมัง ตอนนี้อยู่หน้า ๒๒๒๙

๕. อิเหนา เล่ม ๒ หน้า ๒๓๖๖ กล่าวเมื่ออภิเษกสังคามาระตากับกุสุมาว่า “ครั้นเวียนเทียนสำเร็จครบเจ็ดรอบ ตามระบอบเสกสมภิรมย์ขวัญ โหรารับดับเทียนโบกควัน ถวายจันทน์จุณเจิมเฉลิมพักตร์” ในที่นี้เป็นโหรเบิกแว่น

๖. รามเกียรติ์ เล่ม ๑ หน้า ๓๑๗ กล่าวเมื่อสมโภชพระรามว่า “ตั้งทั้งบายศรีนากทอง เงินงามเรืองรองลายเลขา พานสุวรรณรองแว่นรัตนา สุคนธาเทียนชัยรูจี” แล้วกล่าวการเบิกแว่นในหน้า ๓๒๐ ว่า “บัดนั้น ปุโรหิตพฤฒาผู้ใหญ่ ได้ฤกษ์ก็จุดเทียนชัย ติดในแว่นแก้วรจนา” ในที่นี้บายศรีเป็นสามชัด เบิกแว่นคนเดียวอีกเห็นชัดในที่นี้ ว่าแต่ก่อนหาได้ใช้เทียนติดแว่นพร้อมเสร็จ ปักกับข้าวสารในเหม ฤๅในขันเช่นเดี๋ยวนี้ไม่ ใช้แว่นรวมไว้ในพาน จุดเทียนชัยซึ่งอยู่ที่ไหนยังไม่ได้ความชัดนั้นก่อน แล้วจึงเอาติดแว่นส่งเวียนไป

๗. รามเกียรติ์ เล่ม ๑ หน้า ๔๐๓ กล่าวเมื่ออภิเษกพระรามกับนางสีดาว่า “แว่นแก้วมรกตรูจี เทียนชัยบายศรีซ้ายขวา” แล้วกล่าวการเบิกแว่นเบิกบายศรีต่อไป หน้า ๔๐๖ ว่า “ได้ฤกษ์โหราให้เบิกบายศรี ลั่นฆ้องประโคมดนตรี กาหลอึ่งมี่โกลา องค์ท้าวสหัสนัยน์ก็จุดเทียน ส่งแว่นเวียนซ้ายไปขวา” ในที่นี้ปรากฏเป็นบายศรีสองโดยนิยมเป็นซ้ายขวา แลเบิกบายศรีก่อนจึงเวียนเทียน ไม่ใช่เวียนแล้วสามรอบ จึงเบิกอย่างเดี๋ยวนี้

๘. รามเกียรติ์ เล่ม ๑ หน้า ๔๕๔ กล่าวเมื่อเตรียมอภิเษกพระรามเป็นยุพราชว่า “แล้วตั้งกรดสังข์บัลลังก์รัตน์ เศวตฉัตรบายศรีซ้ายขวา” เป็นบายศรีคู่เหมือนคราวอภิเษกกับสีดา

๙. รามเกียรติ์ เล่ม ๔ หน้า ๒๐๓๔ กล่าวเมื่ออภิเษกพิเภกว่า “เพดานห้อยพวงพู่กลิ่น หอมประทิ่นดังทิพย์พิมานสวรรค์ บายศรีแก้วทองพรายพรรณ เจ็ดชั้นประดับเนาวรัตน์” แลการเบิกบายศรีแว่น กล่าวในหน้า ๒๐๓๖ ว่า “ได้ฤกษ์โหราให้เบิกบายศรีขวัญ ประโคมฆ้องกลองนี่นัน แตรสังข์สนั่นเป็นโกลา ฝ่ายว่าปุโรหิตก็จุดเทียน ติดแว่นส่งเวียนไปเบื้องขวา” ในที่นี้ก็กล่าวไม่ได้แปลกเป็นอย่างอื่นไป

๑๐. รามเกียรติ์ เล่ม ๔ หน้า ๒๑๓๐ ดังกล่าวอภิเษกพระรามเมื่อเสร็จศึกว่า “บายศรีแก้วกาญจน์นพมาศ โอภาสด้วยมณีโลหิต แว่นวิเชียรเทียนทองชวลิต ครบเครื่องพิธีปราบดา” แลเบิกใบศรีกล่าวในหน้า ๒๑๓๖ ว่า “บัดนั้น ปุโรหิตโหราผู้ใหญ่ ให้เบิกบายศรีแก้วแววไว แล้วจุดเทียนชัยพรายพรรณ ติดแว่นมณีนพมาศ รัศมีโอภาสฉายฉัน” ที่นี้ก็ไม่แปลกไป

๑๑. รามเกียรติ์ เล่ม ๔ หน้า ๒๒๓๘ กล่าวเมื่ออภิเษกไพนาสุริวงษ์ว่า “แว่นทองแว่นแก้วแพรวพรรณ บายศรีเจ็ดชั้นซ้ายขวา” เบิกหน้า ๒๒๔๐ ว่า “ได้ฤกษ์โหราให้เบิกบายศรีขวัญ จึงลั่นฆ้องชัยเป็นสำคัญ แตรสังข์เสียงสนั่นโกลา ปุโรหิตผู้เฒ่าก็จุดเทียน ติดแว่นส่งเวียนไปเบื้องขวา” ที่นี้เกือบจะสันนิษฐานได้ว่าแว่นใช้สองอัน

๑๒. รามเกียรติ์ เล่ม ๕ หน้า ๒๗๘๔ กล่าวเมื่ออภิเษกพระมงกุฎแลพระลพว่า “พื้นล่างพรมสุจหนี่ลาด ม่านไขเครือมาศฉาบฉาย บายศรีทองชั้นพรรณราย แว่นแก้วแพรวพรรณรายรุจี” นี่เป็นบายศรีเดี่ยว แลการเบิกว่า “ครั้นได้เวลาศุภฤกษ์ ราชครูให้เบิกบายศรี จึงเอาเทียนทองจุดอัคคี ติดแว่นมณีรจนา”

๑๓. รามเกียรติ์ เล่ม๕ หน้า ๒๙๐๔ กล่าวเมื่ออภิเษกที่ไกรลาสว่า “เพดานห้อยพวงพู่กลิ่น มาลัยประทิ่นหอมหวาน บายศรีแก้วทองโอฬาร แว่นรัตน์ชัชวาลเทียนชัย” ส่วนการเบิกกล่าวในหน้า ๒๙๐๖ ว่า “ได้ฤกษ์ให้ฆาตฆ้องชัย สหัสนัยน์เป่าสังข์บันลือลั่น องค์พระอิศวรทรงธรรม์ ก็จุดเทียนสุวรรณมณี เข้าติดประทับกับแว่นแก้ว เสร็จแล้วส่งให้พระฤๅษี”

๑๔. สังข์ทอง หน้า ๒๔๐ ว่า “บัดนั้น ปุโรหิตผู้เฒ่าทั้งสอง จึ่งจุดเทียนติดกับแว่นทอง กรประคองคำรพอภิวันท์”

เมื่อได้ตรวจดูตลอดทุกแห่งที่บันทึกไว้แล้ว สันนิษฐานใจตกลงได้เช่นนี้ คือ

(ก) บายศรีไม่จำต้องใช้ ๓ เสมอไป จะใช้ ๑ ก็ได้ ๒ ก็ได้ ฤๅ ๓ ก็ได้

(ข) แลบายศรีนั้น จะเป็นแก้วแลทองเงินนากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฤๅสองสิ่ง ฤๅเจือกัน เช่นทองแกมแก้ว ฉะนั้นก็ได้

(ฃ) เทียนซึ่งสำหรับเวียนเรียกว่า เทียนชัย ย่อมเห็นได้ว่า เป็นเทียนสำคัญที่จะมีตั้ง ๔-๕ เล่มนั้นไม่ได้ จะต้องน้อยที่สุดราวกับว่าจะเล่มเดียว ฤๅเท่ากับบายศรีสำรับละเล่ม เทียนนี้จะวางไว้ในพานแว่นฤๅจะปักเชิง จะเป็นเทียนที่ตาโหรจุดแล้วว่า “วันทิตตวาอาจาริยปาทํ” นั้นเองก็เป็นได้

(ค) แว่นจะเป็นโลหะ ฤๅแก้ว ฤๅแกมกันก็ได้ มีเท่าเทียนชัย ฤๅน้อยกว่า เอาเทียนชัยติดรวมลงสองสามเล่มในแว่นอันเดียวก็ได้ แว่นนี้จะวางไว้ในพานที่จะเป็นพานที่รองเครื่องเจิมนั้นเอง

(ฅ) ขันซึ่งมีใบพลู สำหรับวางคะแนนแลดับไฟนั้น คงจะเป็นขันหมาก เพราะบายศรีเป็นตัวสำรับ

(ฆ) ขันน้ำควรจะมีด้วยอีกอย่างหนึ่ง แต่ดูเหมือนเดี่ยวนี้จะไม่ได้ตั้ง

สิ่งที่จำเป็นควรมีคงจะเป็นเท่านี้ แต่ในเดี๋ยวนี้ตั้งอะไรๆ เกินไปอีกหลายอย่าง ซึ่งสันนิษฐานเห็นว่าผิด คือ

(๑) สำรับคาวหวาน นี่เติมเข้าเมื่อปราศจากความรู้ว่าบายศรีเป็นสำรับเสียแล้ว ไม่เป็นสิ่งซึ่งควรมี

(๒) เป็ดแป้ง นี่ก็เป็นของกิน ควรจะอยู่ในบายศรี แต่ที่มีพานรองตั้งไว้ต่างหากนั้น จะเป็นเดิมทีจะมีเจ้าสัวอะไรเขาทำเป็ดพะโล้มาถวาย เห็นว่าเป็นของกินอย่างดี จึงให้เอาไปตั้งสมโภช แต่จะบรรจุลงในพานบายศรีก็ไม่มีระหว่างพอ จะทำลายให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก็เสียดาย จะเสียงามไป จึงตั้งไว้ต่างหากเหมือนของเคียง ต่อมางานหลังๆ ไม่มีเจ้าสัวเอามาถวาย ครั้นจะไม่มีอย่างงานก่อนก็จะเลวไป ครั้นจะจัดทำขึ้นเป็ดไก่ก็หายาก จึงทำเป็ดอิมิเตชั่นขึ้นตั้ง พอมิให้เกียรติยศตกต่ำไปตามที่ได้เคยมี ไม่เป็นสิ่งซึ่งควรมีเสมอไป

(๓) มะพร้าวนี้ก็ควรจะอยู่ในบายศรี แต่ที่มาอยู่ข้างนอกก็เพราะจัดลงในบายศรีไม่ได้เหมือนกัน แท้จริงแต่ก่อนคงไม่จำเป็นต้องมีมะพร้าว ที่มาจำเป็นขึ้นเพราะมามีธรรมเนียมกินย่อเกิดขึ้น คือ ตักของกินทั้งหลายอย่างละน้อยรวมลงในมะพร้าวแล้ว แลตักน้ำมะพร้าวจิบพอเป็นทีว่ากินแล้ว ซึ่งงานชาวบ้านยังทำอยู่เช่นนี้ในทุกวันนี้ แต่ส่วนงานหลวงเห็นทำเช่นนั้นเป็นอาการอันปฏิกูล จึงย่อลงคงแต่ตักลมข้างบายศรีเติมลงในมะพร้าว เพราะฉะนี้ มะพร้าวนอกบายศรีจึงเป็นสิ่งอันไม่จำเป็นต้องมี จะตักขนมอย่างหนึ่งอย่างใดป้อนก็ได้เหมือนกัน

ส่วนผู้จุดเทียนชัยติดแว่นส่งให้เวียนไปนั้นต้องเป็นผู้ใหญ่อันมีความรู้ (ในทางเวท) จึงตกหน้าที่เป็นปุโรหิต ที่กล่าวเป็นเสนาผู้ใหญ่บ้าง โหรบ้าง พราหมณ์บ้าง นั้นก็เป็นชนิดคนอันเป็นอย่างเดียวกัน เพราะปุโรหิตก็เป็นตำแหน่งเสนาผู้ใหญ่ แลชาติกำเนิดก็ต้องเป็นพราหมณ์ ทรงซึ่งคัมภีร์เวทแลโหราศาสตร์ จะใช้คนเดียวก็ได้ ฤๅมากคนแต่ไม่เกินกว่าจำนวนเทียนชัยก็ได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ