เรื่อง พระมหามนเทียรในกรุงเก่า

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างพระราชวัง ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปี มีปรากฏในพระราชพงศาวดารแต่ว่าสร้างปราสาทสามองค์ พระราชมนเทียรนอกนั้นไม่กล่าว

ต่อไปภายหลัง แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร กล่าวว่าเสด็จออกทรงศีล ณ พระที่นั่งมังคลาภิเศก ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ข้างทิศบูรพ์ จึงได้สร้างพระมหาธาตุ พระที่นั่งมังคลาภิเศกนี้ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อปราสาท แลไม่ใช่เป็นปราสาท เป็นพระที่นั่งตามธรรมดา

ครั้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จไปตีเมืองนครหลวงกรุงกัมพูชาได้ เมื่อศักราช ๗๘๓ ให้พระนครอินทรราชบุตรครองราชสมบัติเมืองนครหลวง ให้เอารูปพระโครูปสิงสัตว์ทั้งปวงมาด้วย ครั้นถึงพระนครแล้ว จึงให้เอารูปสัตว์ทั้งปวงไปไว้ ณ พระศรีรัตนมหาธาตุบ้าง วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์บ้าง

การที่ออกชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในเวลานี้ ใช่กาลที่จะกล่าว เพราะที่วัดนั้นยังเป็นวังอยู่ แลสังเกตดูในวงกำแพงพระราชวัง ก็หาควรจะมีวัดพร้อมกันกับวังเช่นพระราชวังชั้นหลังนี้ไม่ ถ้าจะมีวัดสำหรับพระราชวังเวลานั้นคงจะเป็นวิหารแกลบ รูปสัตว์นี้จะบูชาไว้ที่วิหารแกลบ ฤๅในเวลานั้นจะเรียกว่า วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ด้วยก็ได้ ฤๅไม่ฉะนั้นก็ตั้งไว้ในวังทีเดียว เมื่อยกวังเป็นวัดแล้ว รูปสัตว์นั้นก็ตั้งไว้ในที่เดิม

ในแผ่นดินเดียวกันนั้น เมื่อศักราช ๗๘๘ เพลิงไหม้พระราชมนเทียรสถาน ศักราช ๗๘๙ เพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข มีเนื้อความดังนี้

คะเนดูพระราชวังครั้งนั้น ปราสาทสามองค์ คือ พระที่นั่งไพฑูริย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งไอสวรรย์มหาปราสาท คงจะเปนวิหารยอด ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างพระเจดีย์ ๓ องค์ ที่เห็นปรากฏอยู่จนบัดนี้ คงจะเป็นปราสาทสี่เหลี่ยมไม่ได้ย่อเก็จ อย่างย่อมๆ เท่าที่เห็นอยู่นี้ ไม่สู้จะเป็นที่ประทับสบายนัก จึงได้มีพระที่นั่งตรีมุข พระราชมนเทียร แลพระที่นั่งมังคลาภิเศก

ถ้าจะคะเนดูพระที่นั่งตรีมุขนั้น คงจะเป็นที่เสด็จออกมุขหน้า อีกสองมุขเป็นที่ประทับ พระราชมนเทียรอยู่หลังเข้าไป ลักษณะอย่างพระราชวังเดิมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระราชวังกรุงธนบุรีฤๅในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นตรีมุข พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระราชมนเทียร แต่ขนาดใหญ่เล็กเทียบดูปราสาทคงจะไม่ใหญ่ เช่นหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นแน่ น่าที่จะเท่าๆ กับพระราชวังเดิม แลที่ซึ่งตั้งนั้น ที่ไหนไม่เหมาะเท่าที่พระวิหารใหญ่ด้านตะวันออก

พระที่นั่งมังคลาภิเศกในพระราชวังเก่านี้ เป็นที่ทรงศีลฤๅเป็นที่ประทับสำราญ ไม่ใช่ที่ประทับอยู่เป็นนิจ ที่ซึ่งควรจะตั้งมีอยู่สองแห่ง คือ อยู่แนวกำแพงแก้วพระที่นั่งตรีมุข เช่นหอพระปริตสาตราคม ฤๅพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง ฤๅพระที่นั่งมังคลาภิเศก พระที่นั่งเอกอลงกฎในพระราชวังบวรฯ อย่างหนึ่ง ฤๅไม่ฉะนั้นก็อยู่ตรงมุขเหนือมุขใต้ของพระที่นั่งตรีมุข เช่นหอพระเจ้า หอพระอัฐิซึ่งต่อกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จะออกไปตั้งอยู่ข้างหน้าทีเดียวไม่ได้ เพราะถ้าตั้งอยู่ข้างหน้าทีเดียว สมเด็จพระราเมศวรที่ไหนจะไปเห็นท้าวมณเฑียรนั่งขวางทาง เพราะผิดตำแหน่งเป็นข้างหน้า แต่ถ้าหากว่าจะเป็นพระที่นั่งข้างในทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะพระราชวังหันหน้าตะวันออก ที่ไหนจะทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกธาตุตกลงในที่ซึ่งสร้างวัดมหาธาตุได้ จึงสันนิษฐานว่าจะตั้งอยู่เหมือนหอพระเจ้า หอพระอัฐิในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อได้ความสันนิษฐานเช่นนี้ จึงเห็นเหมาะว่า พระที่นั่งตรีมุข แลพระราชมนเทียรตั้งอยู่ในที่พระวิหารหลวงด้านตะวันออก พระที่นั่งมังคลาภิเศกคงจะตั้งอยู่ที่วิหารหลังพระอุโบสถ เป็นตรงปลายตรีมุขข้างหนึ่ง แลข้างเหนือคงมีอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่มีเหตุจะกล่าวถึง ถึงพระที่นั่งจอมทอง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมออกบอกหนังสือพระ ก็คงจะเป็นชื่อเก่า ไม่ใช่ตั้งใหม่ เป็นชื่อของพระที่นั่งเย็น เช่นดุสิดาภิรมย์ อยู่มุมกำแพงท้องพระโรง แต่ที่วิหารสามหลังเดี๋ยวนี้ จะเคลื่อนคลาดจากที่เดิมก็เป็นได้ ด้วยพระวิหารใหญ่นั้นโตมาก คงต้องขยายที่ออกไป

ต่อพระราชมนเทียรไปตามแนวพระระเบียงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เดี๋ยวนี้คงเป็นเรือนจันทน์ แล้วจึงมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกั้นเป็นข้างหน้าข้างใน พระเจดีย์ซึ่งแทรกในหว่างกลางปราสาทนั้น คงจะเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ สร้างบรรจุพระอัฐิ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะมีปรากฏว่า

ศักราช ๘๓๖ ประดิษฐานพระอัฐิธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าในพระมหาสถูป คงเป็นในพระเจดีย์ ๓ องค์นี้ องค์ใดองค์หนึ่ง น่าจะเป็นองค์กลางฤๅองค์ตะวันออก แลถ้าจะเดาต่อ อีก ๒ องค์นั้น คงจะได้บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แลสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร

พระราชวังใหม่

ศักราช ๗๙๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เสด็จลงไปตั้งพระราชนิเวศน์ประทับอยู่ริมน้ำ สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทองค์หนึ่ง ๒ องค์เท่านั้น หาใช่ ๓ อย่างแต่ก่อนไม่ ปราสาทองค์ใดที่อยู่ริมน้ำ ปราสาทองค์นั้นน่าจะเป็นเบญจรัตน

ต่อนั้นมาพงศาวดารนิ่งเสียมิได้กล่างถึงพระที่นั่งเลย จนกระทั่งราชาภิเษกก็ไม่กล่าวว่าทำที่ไหน มากล่าวถึงราชาภิเษกสมเด็จพระเอกาทศรฐแห่งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวปราสาททองแห่งหนึ่ง กล่าวเป็นแบบเดียวกันด้วยความตั้งใจจะเลียนกัน เพราะอยากจะมีบุญเหมือนกัน กล่าวว่าเสด็จขึ้นไพชยนต์มหาปราสาท คำที่เรียกว่าไพชยนต์ในที่นี้ ไม่ได้กล่าวเฉพาะเป็นนามประจำของพระที่นั่งองค์ใด เป็นสามัญนามของปราสาททั่วไป แต่เข้าใจได้ว่าหมายจะกล่าวถึงพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท

อนึ่งพระที่มังคลาภิเศกในพระราชวังใหม่นี้ พึ่งกล่าวครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ แต่คงจะได้สร้างมาก่อนแล้วช้านาน แลไม่ใช่มียอดเป็นปราสาท สังเกตดูตามที่ว่าในการพระราชพิธีราชาภิเษกตั้งแต่สรงจนขึ้นภัทรบิฐอัฐทิศ จะได้ทำที่พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท แต่เสด็จออกถวายราชสมบัติแลเฉลิมพระราชมนเทียรมาทำที่พระที่นั่งมังคลาภิเศก

มีคำที่เรียกกล้ำอยู่แห่งหนึ่ง เมื่อตระเตรียมการจะราชาภิเษกพระเจ้าปราสาททองว่า “ให้โหราธิบดีหาฤกษ์ ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกในพระที่นั่งมังคลามหาปราสาท” คำที่เรียกว่ามังคลามหาปราสาทนี้ จะเป็นเขียนควงพระที่นั่ง มังคลามหาปราสาท}เช่นนี้ก็ได้ แปลว่าทำทั้งสองแห่ง เพราะเมื่อถึงงานเข้าจริง ก็เสด็จไปขึ้นไพชยนต์มหาปราสาท กอปีจากสมเด็จพระเอกาทศรฐ

การสร้างพระมหาปราสาทวิหารสมเด็จ มาปรากฏกล่าวขึ้นว่า ศักราช ๙๙๙ ให้สร้างพระมหาปราสาทวิหารสมเด็จ คำที่กล่าวเรียกว่าวิหารสมเด็จขึ้นมาในที่นี้ เห็นจะเป็นเขียนเรื่องราวนี้ภายหลัง เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นวิหารสมเด็จแล้ว แต่ความจริงในเวลาเมื่อสร้างขึ้นเป็นปราสาทนั้น จะยังคงเรียกว่ามังคลาภิเศกมหาปราสาทฤๅปราสาททอง มาจนศักราช ๑๐๐๕ เมื่อไฟไหม้ก็ยังกล่าวอยู่ว่า “ไหม้แต่พระที่นั่งมังคลาภิเศกที่ชื่อปราสาททอง พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท แลพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทจะได้ไหม้ด้วยหามิได้” แล้วมีความปรากฏชัดว่า “ให้ช่างจับการก่อพระมหาปราสาท ทำคลังแลเรือนข้างในทั้งปวง ๓ เดือนเรือนข้างในเสร็จ แต่พระมหาปราสาทปีหนึ่งจึงเสร็จ ให้นามชื่อพระวิหารสมเด็จ” ดังนี้

ข้อซึ่งจะให้เป็นพยานปรากฏว่า พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทยังคงอยู่จนแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั้น มีจดหมายไว้ว่า “จุลศักราช ๑๐๑๗ ปีมะแม สัปตศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนัก แปลงสถานลงไปอยู่พระที่นั่งเบญจรัตน”

พระที่นั่งสุริยามรินทร์ พึ่งออกชื่อเป็นครั้งแรกในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ลงมาจากลพบุรี ขึ้นประดิษฐานไว้พระที่นั่งสุริยามรินทร์

ในเวลานั้นมีปราสาทสามองค์ คือ วิหารสมเด็จ สรรเพ็ชญปราสาท เบญจรัตนมหาปราสาท สององค์แรกชื่อยังคงอยู่ ต้องเข้าใจว่า พระที่นั่งเบญรัตนนั้นเอง แปลงนามเป็นพระที่นั่งสุริยามรินทร์เพราะอยู่ริมน้ำ เชิญพระศพมาทางเรือก็ขึ้นตั้งที่นั้น พระเจ้าอยู่หัวปราสาททองก็สวรรคตที่นั้น แลตั้งพระบรมศพที่นั้น แต่ข้อซึ่งมาเรียกชื่อพระที่นั่งสุริยามรินทร์ในที่นี้ เห็นจะเร็วไป เป็นด้วยผู้แต่งหนังสือภายหลังเรียกชินปาก จะยังคงเป็นเบญจรัตนอยู่ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ พระเพทราชาสร้างใหม่ทีเดียว เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๙ ในที่นี้พงศาวดารกล่าวชัดว่าเป็น ๔ ปราสาทด้วยกัน ทั้งเก่าสามคือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท พระที่นั่งสุริยามรินทร์

คำที่เรียกว่าพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ พึ่งมาปรากฏภายหลัง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ รื้อพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทลงทำใหม่ ปิดทองยอดแลช่อฟ้าบราลี แล้วจึงซ่อมพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ เมื่อเสร็จแล้วจึงทำพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ใหม่ ภายหลังจึงซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จ การที่เปลี่ยนสุริยามรินทร์ เป็นสุริยาศน์อัมรินทร์ เห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเปลี่ยน เพื่อจะให้คล้องกันทั้ง ๓ พระที่นั่ง

ตามที่กล่าวมานี้ เพื่อจะค้นหาพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท ซึ่งหายอยู่องค์หนึ่งนั้น เห็นว่าจะเป็นพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์นี้เอง เพราะ

๑. เมื่อแรกสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้าง กว่าเสด็จลงไปอยู่ริมน้ำปราสาทมี ๒ องค์ เมื่อสรรเพ็ชญ์ปราสาทไม่ได้อยู่ริมน้ำ ก็คงต้องเป็นเบญจรัตนอยู่ริมน้ำ

๒. พระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ทรงพระประชวรแปลงสถานลงไปอยู่พระที่นั่งเบญจรัตน คำว่า ลงไป นี้ แปลว่าลงไปริมน้ำ จะแปลว่าลงไปทางทิศตะวันตก คือไปอยู่บรรยงก์รัตนาศน์ก็ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้สร้าง จะเดาว่ารากอิฐซึ่งเดี๋ยวนี้ปักฉลากไว้ว่า พระที่นั่งทรงปืนเป็นพระที่นั่งเบญจรัตนก็ไม่ได้ เพราะพระที่นั่งเบญจรัตนสร้างแต่แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ที่ไหนจะไปทำไว้ท้ายวังแลไม่ใกล้น้ำด้วย ทั้งเวลาทรงพระประชวรจะขึ้นลงก็ยาก ด้วยสูงมาก แลคงจะคับแคบ

๓. ไม่ปรากฏในชั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐซึ่งซ่อมพระที่นั่งทั่วทุกแห่งว่าได้ซ่อมพระที่นั่งเบญจรัตน เมื่อปราสาทยังอยู่ดี ๆ จนถึงแผ่นดินพระเพทราชาจะหายสูญไปข้างไหนได้ การที่เปลี่ยนชื่อคงจะได้เปลี่ยนในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อซ่อมแซมพระราชวังในครั้งนั้น จึงเห็นว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์นี้เองเป็นเบญจรัตนมหาปราสาท

ความเห็นประกอบแผนที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ พระที่นั่งนี้ได้ความเป็นแน่ ว่าตั้งอยู่บนกำแพงพระราชวังทิศตะวันออก แลทีจะไม่สู้ห่างจากมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เป็นปราสาทตรีมุข ด้านหลังมีตำหนักใหญ่องค์หนึ่ง เล็กต่อไปข้างท้ายอีกสองคล้ายพระปรัศว์มีชาลาถมพื้นสูง เดินได้รอบ ตำหนักทั้ง ๓ นี้ มุขหน้าด้านตะวันออก ดูน่าจะมีมุขเด็จ เพราะกว้างมากแลมีพนักกำแพงแก้วเดินได้รอบปราสาท เว้นไว้แต่ตรงมุขเด็จจะมีอัฒจันทร์ขึ้น ฤๅบางทีจะไม่มีมุขเด็จเลยก็ได้ ถ้าจะเทียบที่คะเนว่าจะคล้ายนั้น คือ

ด้านหน้าถ้าไม่มีมุขเด็จ คงจะเหมือนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์กรุงเทพฯ มุขตะวันออก

มุขเหนือมุขใต้สั้น เช่นพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ กรุงเทพฯ

พนักกำแพงแก้วรอบปราสาท ทำนองพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์เหมือนกัน

ด้านตะวันตกไม่ต่อกับพระตำหนัก มีอากาศว่าง ทำนองพระที่นั่งคชกรรมประเวศ กับพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรฯ บนชานพระมหาปราสาทด้านตะวันตก ซึ่งว่ามีทิมดาบสองหลังนั้น คงจะถ่ายแบบลงมาทำทีหลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นศาลาช่อฟ้าใบระกาสองห้อง เป็นที่ตำรวจเวรขึ้นไปประจำรักษาพระทวาร

กำแพงพระราชวังคงมาต่อที่มุขเหนือมุขใต้ กำแพงพระตำหนักคงจะกั้นสามด้าน คือด้านเหนือด้านใต้แลด้านตะวันตก ส่วนด้านตะวันออกนั้นมาชนผนังพระตำหนัก กำแพงจะห่างพระตำหนักออกมามากน้อยเท่าใดน่าจะค้นดู แต่ถ้าหากว่าไม่พบ เป็นสันนิษฐานได้ว่าไม่มีกำแพง การที่จะกั้นข้างหน้าข้างในคงใช้พนักกำแพงแก้วสูงพ้นตา เช่นพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ตอนข้างในแต่ก่อนนั้น พระที่นั่งนี้สังเกตดูตามคำที่กล่าวว่ามีเกยสามเกย คือเกยช้างเกยขวาเป็นเกยข้างหน้า น่าจะตั้งอยู่ที่ตรงอัฒจันทร์ขึ้นชาลาหว่างปราสาทกับตำหนัก เพราะที่นั้นเป็นข้างหน้า อีกเกยหนึ่งว่าเป็นเกยข้างใน เห็นจะเป็นเกยหลังพระที่นั่ง

ข้อซึ่งทำให้คิดเห็นว่าจะมีกำแพงรอบพระที่นั่งนี้ เพราะเหตุว่าถ้าทรงพระราชยานทองแล้วย่อมเสด็จขึ้นเกยข้างหน้า ถึงเสด็จออกมาตามฉนวนด้วยพระราชยานทอง ซึ่งไม่ได้แห่เครื่องสูง มีแต่บังสูรย์ก็ประทับเกยข้างหน้า แลย่อมจะเป็นเกยขวาทุกครั้ง แต่ถ้าเสด็จลงเกยในแล้วทรงพระเสลี่ยงงาทุกครั้ง นึกว่าซุ้มประตูกำแพงนั้นจะเตี้ย

คะเนเค้ามูลที่ใกล้เคียงพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ หลังพระที่นั่งจักรวรรดินี้มีกำแพงชั้นใน ฤๅเขื่อนเพชรหันหน้าเข้าข้างใน หน้ากำแพงนั้นมีโรงช้าง ในกำแพงเข้าไปเป็นพระคลังพิเศษ ด้านใต้ฤๅด้านหลังของพระตำหนักนั้นคงจะมีฉนวนซึ่งไม่มีหลังคา เดินไปจนถึงเข้าประตูกำแพง แล้วเลี้ยวไปหลังพระคลังพิเศษ แล้วจะตรงลงไปตะวันตกเข้าบรรจบฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งเป็นฉนวนมีหลังคาไม่มีผนังเหมือนฉนวนในพระราชวังบวรฯ ฤๅมีผนังทั้งสองข้างเช่นฉนวนวัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่ก่อน แบ่งเขตสระแก้วอยู่ข้างตะวันตกของฉนวนเป็นตำหนักแลคลังต่าง ๆ ข้างหน้าส่วนฟากฉนวนข้างตะวันออกจะเป็นคลังแสงสรรพยุทธ์ ห้องภูษามาลาแลพนักงานต่าง ๆ ทำนองเดียวกันกับพระที่นั่งภาณุมาศเดี๋ยวนี้ เดิมก็เป็นโรงแสงปืนโรงใหญ่ พระแสงปืนต้น พระแสงหอกดาบภูษามาลา ถ้าค้นในที่นี้คงจะได้รากโรงแสงห้วยคลังต่าง ๆ ซึ่งเป็นของสำหรับวังชั้นแรก ๆ โรงแสงที่ไว้รูปพระนเรศร์จะอยู่ในที่นี้ แต่ในชั้นเมื่อเสด็จลงไปอยู่ข้างท้ายสระ คงจะมีอะไรๆ อยู่ข้างสระแก้ว เพราะฉะนั้น โรงแสงจึงได้ปรากฏว่าเป็น ๒ โรงอยู่ ถ้าจะชี้รูปให้เข้าใจชัดสำหรับเดาค้น ขอให้ถือว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทั้งหมู่ตั้งแต่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเข้าไป เป็นพระที่นั่งวิหารสมเด็จ ฉนวนวัดพระแก้วอยู่อย่างไร คลังโรงแสงทิมสงฆ์อยู่ข้างฉนวนก็เป็นทำนองเดียวกัน เป็นแต่ผิดทิศที่พระที่นั่งกรุงเก่าหันไปตะวันออก ฉนวนตามตะวันตก ตะวันออก เป็นฉนวนออกพระที่นั่งจักรวรรดิ เช่นฉนวนประตูราชสำราญไปประตูศักดิไชยสิทธิ ฉนวนออกวัดนั้น เช่นฉนวนตั้งแต่ประตูดุสิตศาสดาไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนข้างทิศใต้พระที่นั่งจักรวรรดิ เห็นจะนอกฉนวนออกไป ติดกับวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์นั้นมีพระคลังใน คือคลังในซ้าย คลังในขวา เพราะฉะนั้น ปักต้นกัลปพฤกษ์ในการพระศพคู่หนึ่งตรงพระคลังพิเศษ คู่หนึ่งตรงพระคลังในคืออยู่เหนือพระที่นั่งจักรวรรดิแลอยู่ใต้พระที่นั่งจักรวรรดิ จึงได้ทรงโบกพัชนีฝักมะขามให้ทิ้งทานจึงเห็นถนัดได้ คำที่กล่าวถึงฉนวนในพระราชวังมีเช่นนี้

“ต่อเพลาตี ๑๑ ทุ่มจะรุ่งขึ้น ณ วัน ๔ ๑๔ ๓ ค่ำ เสด็จมาแต่พระราชวังบวรฯ ขุนทิพไพชนต์คุมพระเสลี่ยงงาลงไปรับเสด็จ ณ ขนานน้ำประจำท่าพระราชวังหลวง จึงเสด็จขึ้นมาตามพระฉนวนใหญ่ ออกฉนวนพระศรีสรรเพ็ชญ์ เลี้ยวมาตามฉนวนประทับเกยข้างในนั้น ได้แห่แต่บังพระสูรย์ แต่เครื่องอภิรุมนั้นจะได้แห่ด้วยหามิได้”

ฉนวนที่ออกชื่อแรกแปลว่าฉนวนตำหนักแพ เพราะที่กรุงเก่าเสด็จลงขนานน้ำโดยทางในฉนวน เหมือนพระราชวังบวรฯ ในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าฉนวนพระศรีสรรเพ็ชญ์ คือฉนวนเหนือไปใต้ซึ่งไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แต่ทางที่เสด็จนี้หาได้ไปจนสุดฉนวนเข้าในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ไม่ ถ้าเสด็จเข้าวัดคงจะไม่ทรงพระเสลี่ยงเลี้ยวซ้ายมือเข้าฉนวนอีกฉนวนหนึ่ง ซึ่งยืนไปทางตะวันออก คือฉนวนพระที่นั่งจักรวรรดิไปประทับเกยข้างใน คือเกยที่ย้อยอยู่ข้างหลังในแผนที่นั้นตามที่ว่านี้ เป็นได้ความชัดเจนว่าพระที่นั่งจักรวรรดิตั้งอยู่อย่างไร ทางเดินไปอย่างไร ฉนวนพระที่นั่งจักรวรรดินี้เอง ซึ่งเราจงใจจะกล่าวว่าคล้ายฉนวนออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือไปใกล้ๆ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ เช่นฉนวนวัดพระศรีรัตนศาสดารามใกล้พระที่นั่งอมรินทรฉะนั้น

ในการซึ่งตรวจตราตามหนังสือเห็นปรากฏว่า พระที่นั่งจักรวรรดิจะมีกำแพงล้อมสามด้าน แลมีฉนวนต่อไปข้างหน้าหลังนั้น มีเหตุขัดข้องซึ่งปรากฏในงานศพ คือพระมหาพิไชยราชรถตั้งที่ประตูตัดขวา เหมือนกันกับครั้งพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็ว่าตั้งที่ประตูตัดขวา ประตูตัดขวานเข้าใจว่าสกัดตะวันออก ประตูตัดซ้ายเป็นสกัดตะวันตก คือเป็นประตูในระหว่างกำแพงพระราชวังกับกำแพงเมืองเช่นที่กรุงเทพฯ เรียกว่าสกัดเหนือสกัดใต้ แต่เขาไม่เรียกตัดตะวันตกตัดตะวันออก ทีจะยืดยาว จึงเรียกตัดซ้ายตัดขวา แปลว่าขวาซ้ายของพระที่นั่งสุริยามรินทร์

ในการที่เชิญพระศพลงจากพระที่นั่งนั้น เชิญพระโกศขึ้นตั้งบนเสลี่ยง เคลื่อนลงจากพระที่นั่งจักรวรรดิ แลมีคู่แห่ห้าคู่มาตามประตูฝ่ายซ้าย ประตูฝ่ายซ้ายนี้แปลว่า ประตูกำแพงพระที่นั่งจักรวรรดิข้างเหนือเตี้ย จึงต้องหามมาแต่ด้วยเสลี่ยงมาขึ้นพระยานุมาศสามคานซึ่งตั้งอยู่นอกประตูนั้น ถ้าหากว่าไม่มีกำแพง คงจะเอาพระยานุมาศสามคานเข้าไปตั้งถึงเชิงบันไดพระที่นั่งจักรวรรดิ

เมื่อขึ้นพระยานุมาศสามคานแล้วจึงมีโยงโปรย แลเพิ่มคู่แห่เป็น ๓๐ คู่ แต่ไม่เชิญไปทางในกำแพงไปออกประตูตัด จะเป็นด้วยเหตุขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง มีติดประตูสกัดแห่งใดอยู่อีกฤๅคับแคบจึงเดินนอกกำแพง เจ้าแผ่นดินเสด็จลงเกยขวาออกนอกกำแพงผ่านหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ ตามพระศพลงไปที่พระมหาพิไชยราชรถ แล้วจึงกลับมาประทับพระที่นั่งจักรวรรดิเมื่อเดินกระบวนแห่

ทางเสด็จพระราชดำเนินออกพระเมรุนั้น ทรงพระราชยานทองแห่พระกรรภิรมย์ที่เกยฝ่ายขวา ไปออกประตูนครไชย แล้วไปตามฉนวนถึงพระเมรุทุกๆ วัน วันแห่พระอัฐิกลับ พระอัฐิแห่มาทางนอกวัง เสด็จกลับทางฉนวนเข้าประตูนครไชย แล้วออกประตูฉนวนฝ่ายขวา คำที่เรียกว่าฉนวนฝ่ายขวานี้ จึงทำให้เข้าใจว่า ฉนวนนั้นเยื้องอยู่ข้างขวาพระที่นั่งจักรวรรดิ ไม่ได้ตรงออกมาจากพระราชวังจดประตูหลังพระที่นั่งจักรวรรดิ คงจะมาข้างท้ายพระที่นั่งข้างทิศตะวันตกเหมือนฉนวนออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อไปตามฉนวนนี้แล้ว เข้าประตูแสดงราม เป็นประตูพระราชวังชั้นใน เช่นประตูราชสำราญ แต่พื้นที่วังกรุงเก่าตรงนั้นไม่ได้เป็นที่ข้างใน เป็นหมู่โรงแสงห้วยคลังเช่นกล่าวมาแล้ว จึงไปออกประตูหลังพระคลังพิเศษ ประทับเกยลาที่ฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ทรงพระดำเนินไปที่วิหารซึ่งจะบรรจุพระอัฐิ เป็นพยานให้เห็นว่าไม่ได้ทรงพระเสลี่ยงในวัด ถึงในวันเลี้ยงพระสามหาบรุ่งขึ้น เสด็จมาขึ้นขนานน้ำพระราชวังหลวงเสด็จทางฉนวนใหญ่ ออกฉนวนพระศรีสรรเพ็ชญ์เลี้ยวมาตามฉนวน คือเลี้ยวที่คลังพิเศษมาตามฉนวนนั้น คือฉนวนพระที่นั่งจักรวรรดิประทับเกยข้างในไม่มีแห่พระอภิรุม แล้วจึงเสด็จขึ้นเกยขวาข้างหน้า แล้วแห่เสด็จไปตามฉนวนออกประตูนครไชย ถึงพระเมรุ เสด็จกลับ ก็มาหยุดที่พระที่นั่งจักรวรรดิเกยฝ่ายขวา แล้วจึงทรงพระเสลี่ยงจากเกยข้างในไปทอดพระเนตรโรงแสงสรรพยุทธ์ โรงแสงสรรพยุทธ์นี้คงอยู่ในหมู่เดียวกันกับคลังพิเศษ คือในระหว่างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์กับพระที่นั่งวิหารสมเด็จตะวันออกฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ทอดพระเนตรแล้วจึงเสด็จไปตามฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วไปตามฉนวนใหญ่ถึงขนานน้ำประจำท่า เสด็จกลับพระราชวังบวรฯ ขอให้สาธยายฉนวนนี้ไว้ให้คล่องใจ จะค้นอะไรได้อีกมาก

แต่ประตูนครไชยนั้น น่าจะไม่ใช่ประตูซ้ายพระที่นั่งจักรวรรดิเช่นประตูศักดิไชยสิทธิตามที่พระยาโบราณคะเนนั้น เพราะเหตุว่าถ้าประตูนั้นเป็นประตูนครไชย จะต้องกั้นฉนวนเลียบริมนอกกำแพงไป ส่วนที่ถนนแห่พระบรมศพ ในฉนวนแห่เสด็จดูไม่เข้าทีเลย แห่พระอัฐิกลับก็อย่างเดียวกัน ตามที่คิดเห็นในเรื่องที่กล่าว ดูเหมือนว่ากำแพงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ไม่ได้ออกไปถึงแนวกำแพงพระราชวังจะเป็นทางซอก ๆ เช่นตั้งแต่จวนกลางล้อมวังไปจนป้อมเผด็จดัษกร ฤๅถ้าจะให้ถูกทิศ ตั้งแต่ฉนวนท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ไปตามถนนสวนกุหลาบ นึกเสียว่าสวนกุหลาบเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ตรงไปถึงป้อมพิศาลสีมา ที่ตรงป้อมพิศาลสีมาที่กรุงเก่าไม่มีป้อม ตรงนั้นจะเป็นประตูนครไชย แล้วจึงกั้นฉนวนจากประตูนครไชยข้ามถนนไปวัดพระเชตุพน ซึ่งต่างว่าเป็นพระเมรุ ถึงประตูออกวัดพระเชตุพนที่กรุงเทพฯ คือประตูวิจิตรบรรจง ก็เป็นความคิดอย่างเดียวกัน เป็นแต่เคลื่อนลงไปข้างตะวันตกมากหน่อยหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะคิดว่ามีกำแพงนอกวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์อีกสักสายหนึ่งจะได้ฤๅไม่ได้ น่าจะตรวจดู คือชักแนวตั้งแต่มุขใต้หน้าพระที่นั่งจักรวรรดิขึงตรงไป จะไปชนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ฤๅห่างกันเป็นคนละแนว ถ้าเป็นคนละแนวแล้วมีกำแพงวังอีกชั้นหนึ่งเป็นแน่ แต่ทีจะถูกรื้อลงมากรุงเทพฯ เสียหมด ซึ่งไม่รื้อกำแพงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เพราะมีศาลาแลวิหารใกล้เคียงอยู่มาก จะออกกลัวบาป เมื่อตรวจตราได้ยังไรอยากจะทราบ

อนึ่ง ท่าปราบนั้น เป็นที่สงสัยว่าจะไม่ใช่ถนนหน้าจักรวรรดิ เพราะเหตุว่า แห่พระอังคารมาจากพระเมรุแล้วไปเข้าในกำแพง มาตามหลังศาลาลูกขุนออกประตูท่าปราบ จะเป็นประตูซึ่งเขียนไว้ว่าเสาธงชัยในแผนที่กรมขุนราชสีห์เสียดอกกระมัง แต่ไม่มีหลักอะไรยิ่งกว่านี้

จะได้คัดเรื่องหมายพระบรมศพนี้ส่งขึ้นไปให้ดูภายหลัง

พระราชทานพระยาโบราณบุรานุรักษ์

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร๓๕ศก ๑๒๑

(คัดจากหนังสือเรื่องสมเด็จพระบรมศพ หน้า ๒๙-๔๓)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ