ว่าด้วยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินได้เคยเอาใจใส่สังเกตมาช้านานแล้ว มีหลักที่ควรคิดควรสังเกตอยู่บางอย่าง คือ

๑. พระนามพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายเหนือ ซึ่งเขาปันเป็นโยนกประเทศ คือ เชียงแสน เชียงราย นครลำพูน นครลำปาง เชียงใหม่ น่าน เจ้าแผ่นดินจะเป็นชาติไทยฤๅชาติละวะก็ตาม ในเรื่องพงศาวดารใดๆ ทั้งลาวทั้งไทย คงจะเป็นชื่อฝ่ายพุทธศาสนา ฤๅคุณนาม ไม่ได้ใช้ชื่ออิศวรนารายณ์ ถ้าจะมีอินทร์มีพรหม ก็อินทร์พรหมในพุทธศาสนา ฤๅไม่ฉะนั้นก็เจือภาษาพม่า

เจ้าแผ่นดินข้างฝ่ายลาว คือ เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง เมืองนครจัมปาศักดิ์ ตลอดออกไปจนถึงเมืองพวน ก็คล้ายกันกับประเทศโยนก ต่างแต่ที่เป็นคำพม่าเจือนั้นกลายเป็นคำญวนเจือ ตอนข้างล่างมีคำเขมรเจือบ้าง ไม่เกี่ยวอิศวรนารายณ์เลย

ข้างฝ่ายเหนือเราเองที่อยู่ในเขตโยนก เช่น สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร จนถึงพิษณุโลก ซึ่งชื่อเมืองเป็นศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นที่บ้านพราหมณ์อยู่ เจ้าแผ่นดินก็ยังชื่อเป็นภาษาไทยอยู่โดยมาก อย่างเช่นพระร่วง พระลือ ฤๅดัดเป็นภาษามคธไปบ้าง แต่ไม่ชื่อพระอิศวรพระนารายณ์ จนถึงอินฟลวนซ์เขมรแผ่ขึ้นไปถึง จึงมีพ่อขุนรามกำแหง สมเด็จกมรแตงอัดศรีสุริยพงษรามมหาธรรมราชาธิราช ในระยะนี้ตกมาถึงเป็นเมืองส่วยพระนครหลวงเสียแล้ว ถ้าจะว่าข้างนอกประเทศออกไป รามัญซึ่งใกล้กว่าประเทศอื่น มีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองอรินทมะ คือเมาะตะมะ ฤๅเมื่อเลื่อนขึ้นไปตั้งเมืองพะโคเป็นเมืองหงสาวดี ชื่อเจ้าแผ่นดินทั้งนั้น เขานับได้มากกว่าเรา ก็ไม่มีชื่อที่เกี่ยวพระอิศวรพระนารายณ์ เป็นชื่อคล้ายข้างลาวแลคล้ายข้างพม่า มีคนเดียวซึ่งว่ามารดาเป็นไทย เข้ามาตีเมืองไทย ซึ่งชื่อเดิมเขาก็มีแต่อีกชื่อหนึ่ง แต่เรียกกันว่า พระยานเรศ ซึ่งสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น

เมื่อจะดูขึ้นไปถึงฝ่ายพม่า ชื่อเจ้าแผ่นดินก็เป็นภาษามคธ แต่จะใคร่สืบเชื้อวงศ์มาทางขัตติยราชทั้งนั้น ไม่มีผู้ใดพยายามที่จะเป็นพระอิศวรพระนารายณ์เลย

โอบลงมาข้างล่างแถวกาญจนบุรี ราชบุรี นครไชยศรี ก็เป็นชื่ออย่างไทยๆเช่น พระยากง พระยาพาล ฤๅเจือรามัญ

เมื่อกันวงเข้ารอบเช่นนี้แล้ว จึงได้ความว่า ชื่อซึ่งเกี่ยวด้วยอิศวรนารายณ์คงจะใช้กันอยู่ในพวกกัมโพชประเทศ คือละโว้ อยุธยา นครหลวง นครราชสีมา แลประเทศจาม ฤๅอาจจะตลอดถึงนครศรีธรรมราชก็จะได้ ในประเทศเหล่านี้มีชื่อนเรศร นารายณ์ พระราม อรชุน แลชื่ออันเกี่ยวข้องด้วยเรื่องนั้น ข้อซึ่งชื่อเขมรไปปรากฏข้างเหนือ เช่น ขุนรามกำแหง เป็นอันมีได้ด้วยปราบปรามขึ้นไปถึง ฤๅมีวิวาหมงคลแก่กัน เช่น พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ยกพระราชธิดาให้ดวงเกรียงกฤษณ์ราช เจ้าเขมรเมืองนครหลวงเป็นต้น ข้อซึ่งเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี นครไชยศรี คงเป็นชื่อไทยๆ อยู่ได้ก็เห็นจะเป็นไปได้ชั่วคราว เพราะเหตุที่มีแม่น้ำกั้นอยู่ถึงสองชั้น นครหลวงจะไปปราบปรามยาก

๒. ถ้าจะเทียบพยานหลักฐานเช่นเทวรูป เทวสถาน ข้างโยนกประเทศมีน้อย จะว่าไม่มีเลยก็เกือบจะได้ แต่ข้างกัมโพชประเทศเกลื่อนกลาดดาษดาไปด้วยเทวรูป ขุดเมื่อใดก็ยังได้ ถึงพระพุทธรูปใหญ่ข้างโยนกประเทศ เขามีพระพุทธรูปที่ตั้งใจสร้างเกือบจะทั้งนั้น ส่วนข้างกัมโพชประเทศ จะว่าเป็นพระพุทธรูปแปลงฤๅไปข้างพุทธเวตาลโดยมาก

๓. ข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้ ว่าข้างตอนโยนกประเทศนั้นคงเป็นพวกฮินดูแถบข้างมคธชนบท คือเบงกอลเข้ามาเป็นครู พวกนั้นนับถือพระพุทธศาสนาโดยมาก ข้างกัมโพชประเทศเห็นจะเป็นพวกมัทราษฎ์ ซึ่งห่างจากพระพุทธเจ้าเข้ามาเป็นครู การที่เข้ารีตศาสนาพระพุทธ พวกโยนกจะได้เข้ารีตเสียก่อนช้านาน เพราะพระอรหันต์ฤๅพระสงฆ์ที่จะมาสอนศาสนาคงจะเดินบก แตในเวลาแรกน่าจะเป็นถือลัทธิอย่างมหายานทั้งนั้น เพราะพวกนั้นในชั้นต้นสู้พวกที่เขาเรียกว่าหินยานไม่ได้ จึงกระจัดกระจายมาในแถบข้างนี้ ครั้นภายหลังพวกมหายานกลับมีอำนาจ พวกหินยานจึงลงไปรุ่งเรืองอยู่เมืองลังกา ครั้นเมื่อไปมาค้าขายถึงกัน พวกลังกาจึงเข้ามาแปลงศาสนา มาทางนครศรีธรรมราชทางหนึ่ง เดินขึ้นไปถึงเชียงใหม่ มาทางพะโคทางหนึ่ง เดินขึ้นไปถึงเมืองพม่า แต่ไม่ช้าเท่าใดนัก ศาสนามะหะหมัดก็ตามมา เพราะฉะนั้นเมืองชายทะเลแลเกาะเกียนทั้งปวง จึงกลายเป็นถือศาสนามะหะหมัดไปเสียโดยมาก ความข้อนี้สันนิษฐานได้มาจากพุทธศาสนิกนิกายในเมืองญี่ปุ่น แลเรื่องราวศาสนาในประเทศชวา เป็นเครื่องประกอบ

๔. เมื่อจะรวมความเหล่านี้เข้าวินิจฉัยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน จะต้องแลดูพงศาวดารบ้าง ว่าอำนาจประเทศทั้งปวงในที่ใกล้เคียงเหล่านี้ ประเทศใดมีอำนาจก่อนอำนาจหลัง เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมาเป็นลำดับ ในประเทศโยนกชั้นแรก เจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจมากคงอยู่เมืองหาง เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย ข้างลาวอยู่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ข้างกัมโพชประเทศอยู่พระนครหลวง แลละโว้ซึ่งน่าที่พลเมืองจะเป็นละวะฤๅลั้วะแต่คงเจือเขมรมาก ข้างฝ่ายกาญจนบุรี ราชบุรี พลเมืองคงเป็นของเจือรามัญมาก ในย่านกลางระหว่างกัมโพชประเทศกับโยนกประเทศ กล่าวคือตั้งแต่เชียงใหม่ลงมาจนถึงนครสวรรค์ น่าจะยังเป็นป่าๆ อยู่มาก จึงมีผู้พยายามคิดที่จะสร้างเมือง เช่นหริภุญชัย สวรรคโลก เลื่อนลงมาตามลำดับ จนถึงเมืองหลวงข้างเหนือย้ายลงมาตั้งเชียงใหม่ เพื่อจะให้อยู่ในหว่างกลางอาณาเขตทั้งข้างเหนือข้างใต้ ภายหลังจึงค่อยเดินลงมา เช่นพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกลงมาสร้างเมืองพิษณุโลก พยายามที่จะทำไมตรีกับเจ้าแผ่นดินในกัมโพชประเทศ เช่นนี้เป็นตัวอย่าง ใช่ว่าจะเป็นแต่แม่น้ำแควใหญ่ ข้างแควน้อยก็คงจะเดินลงมาอย่างเดียวกัน จึงมาตั้งยั้งอยู่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร แลผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการรบมากต่อมาก ใช่แต่เท่านั้น ยังมีพวกมอญอรินทมะเข้ามาข่มเหงรบกวนข้างแถบราชบุรี กาญจนบุรี เลยตีเข้าไปถึงละโว้ได้ก็มี ข้างฝ่ายเขมรนครหลวงนั้นเล่า ก็รบกับนครไชยศรี รบกับละโว้ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ในระหว่างนี้เองที่ได้ตั้งเมืองเสนาราชนครแลเมืองอยุธยา แต่ในเมืองเหล่านี้ ประเพณีบ้านเมืองเป็นอย่างกัมโพชประเทศ คือถือพระอิศวรพระนารายณ์ปนกันกับพระพุทธศาสนา แลบางทีก็มีอำนาจแผ่ขึ้นไปถึงข้างเมืองเหนือจนกระทั่งถึงสวรรคโลก ที่กล่าวนี้คงเป็นระหว่างพระร่วงก่อนที่เรียกว่าอรุณมหาราช แลพระร่วงหลังที่สานชะลอมตักน้ำ อันจะมีบุญเอาอย่างกันนั้น พระร่วงหลังนี้ไม่ได้อยู่สวรรคโลก ตั้งตัวแลอยู่เมืองสุโขทัยทีเดียว พระมหาธรรมราชาเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าไม่ได้เป็นเชื้อสายพระเจ้าอรุณมหาราช เป็นเชื้อสายของพระยาร่วงคนหลัง ซึ่งเป็นผู้เป็นขบถเขมรในเวลาที่เขมรอำนาจลดลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป แต่เห็นจะไม่อำนาจลด เพราะหัวเมืองแถบนี้เป็นขบถ เป็นด้วยวิวาทกันเอง พวกหนึ่งวิ่งไปหาญวน ห่วงศึกญวนข้างตะวันออก จึงจำต้องทิ้งให้ข้างตะวันตกกำเริบ ผู้มีบุญที่ตั้งตัวในเวลานั้นไม่ใช่แต่พระยาร่วง มีพวกไทยที่ถูกข่มเหงจากพม่ายกหนีเข้ามาหลายพวก แย่งชิงเมืองจากพวกลั้วะในโยนกประเทศระลงมา อาทิตยราชที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นผู้ตั้งเชียงใหม่ ก็หนีเขาลงมาจากเชียงรายเหมือนกัน ในเวลานั้นเป็นอำนาจข้างเหนือแผ่ลงมาข้างใต้ สบเหมาะกับที่เวลาข้างเขมรเป็นศึกกับญวน เวลานั้นเมืองละโว้แลเมืองอยุธยาคงจะเป็นเมืองของเขมรมาตี แล้วทิ้งเสียร้างอยู่ พระเจ้าอู่ทองจึงมาเลือกที่สร้างกรุงขึ้นใหม่ในที่ใกล้เคียงเมืองอยุธยาเก่า เพราะเหตุที่เตรียมรับศึกเขมร จึงไม่ตั้งเมืองฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่เมืองเดิม ไปตั้งฝั่งตะวันตก เอาแม่น้ำขวางหน้า ความคิดอย่างเดียวกันกับย้ายเมืองกาญจนบุรีเขาชนไก่มาตั้งเสียปากแพรกฝั่งตะวันออก ย้ายราชบุรีมาตั้งเสียฝั่งตะวันออกดังนี้

๕. เชื้อวงศ์พระเจ้าอู่ทองข้างฝ่ายบิดา น่าจะเป็นพวกในกัมโพชประเทศ จะเป็นแสนปมฤๅผู้อื่นก็ตาม เป็นไทยอยู่แต่ข้างฝ่ายพระมารดา เมื่อตั้งเมืองชั้นหลังนี้จึงเป็นไทย แต่มีลัทธิคล้ายเขมรตามพื้นเมือง คือเป็นไทยปนรามัญ แลปนเขมรซึ่งมีอำนาจมาแต่ก่อน ข้างฝ่ายเชียงใหม่เป็นไทยปนลั้วะแลเจือพม่า ซึ่งมีอำนาจแทรกเข้ามาบ่อยๆ เพราะฉะนั้น พระนามเจ้าแผ่นดินจึงใช้ชื่อพระอิศวร พระนารายณ์ ไม่เหมือนข้างแผ่นดินในโยนกประเทศ

๖. ว่าด้วยพระนาม นามรามาธิบดีมีเจ้าแผ่นดินเขมรหลายองค์ชื่อตรงๆ กันดังนั้น ที่ยักเยื้องไปก็เป็นพระนารายณ์รามา พระหริรักษรามา เจ้าเขมรน้อยคนที่จะไม่ได้ชื่อพระนารายณ์ เช่น ประทุมสุริยวงศ์ จึงเข้าใจว่า ในการที่พระเจ้าอู่ทองรับพระนาม รามาธิบดี นี้ คงจะมาได้ครูบาอาจารย์พราหมณ์ซึ่งมาอยู่ในแผ่นดิน พราหมณ์ซึ่งมาอยู่ในแผ่นดินกัมโพชประเทศคงมีมาก แลเป็นผู้รู้เรื่องรามเกียรติ์ดีกว่าที่คนไทยอ่านจากหนังสือรามเกียรติ์มาก จึงได้ตั้งสร้อยพระนามตรงเป็นรามาธิบดีศรีสุนทร บรมบพิตร เพราะเหตุที่พระรามนารายณ์อวตารนั้น เรียกว่ารามสุนทระ แต่ควรจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่า ดูเหมือนว่าพระเจ้าอู่ทองฤๅเชื้อวงศ์นั้น เคยปราบเมืองเขมรอยู่ในอำนาจได้แล้ว จึงได้มาตั้งเมืองทวาราวดี ถ้าหากว่าไม่อยู่ในอำนาจมาก่อนแล้ว ไหนเลยจะสั่งกับพระราเมศวร “ว่าขอมแปรพักตร์ เร่งให้ไปกระทำเสีย” นี่แปลว่าเขมรกลับใจ อีกประการหนึ่ง คงจะได้ปราบปรามหัวเมืองที่ใกล้เคียงเสียราบหมดแล้ว จึงได้มาตั้งเมืองทวาราวดี ถ้าหากจะคิดว่าพึ่งเป็นใหญ่เมื่อมาตั้งเมืองทวาราวดี เหตุไฉนจะอ้างได้ในเวลาแรกสร้างเมืองว่าไปมีประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง ข้อที่มาตั้งเมืองทวาราวดีเป็นเมืองหลวงแลรับพระนามรามาธิบดี แปลว่าปราบปรามเสร็จแล้วจึงตั้งเมืองหลวงของเอมปาย แลรับพระนามเป็นเอมเปรอ แทนเจ้าเขมรที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อน อันนามอู่ทองนั้นมิใช่เป็นนามสามัญ เป็นนามเจ้าอย่าง พระยากง พระยาพาล พระยาร่วง พระยาลือ แต่เห็นจะเห็นว่าเป็นนามกิงจึงเปลี่ยนใช้นามเอมเปรอ ซึ่งเจ้าแผ่นดินในพระนครหลวงเคยชื่อมา แลเจ้าแผ่นดินในพระนครหลวงเคยมีอำนาจขึ้นไปถึงสวรรคโลกดังกล่าวแล้ว แลเป็นเรื่องเดียวกันที่จะกู้เมืองหลวงเก่าให้คงคืน จึงได้ให้พระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรี ซึ่งในเวลานั้นคงยังจำได้แจ่มแจ้งว่าเป็นที่ตั้งเมืองหลวง ขอให้สังเกตว่า จนตกมาถึงแผ่นดินพระนารายณ์ เขายังจำได้แจ่มแจ้งกว่าเดี๋ยวนี้มากว่าเคยเป็นเมืองหลวง ถ้าจะเปรียบเห็นจะราวกันกับชาวบางกอกจำได้ว่ากรุงเก่าเป็นเมืองหลวง

๗. ว่าด้วยเรื่องพระราชลัญจกร ครุฑพ่าห์ ควรจะสังเกตว่า เมืองซึ่งใช้ตราครุฑเป็นตราเจ้าเมืองมาแต่ไหนแต่ไรมีอยู่สองเมืองคือ เมืองพระตะบองแลเมืองสุโขทัย จนสันนิษฐานได้ฤๅไม่ว่า เมืองพระตะบองนั้นอยู่ในแดนพระนครหลวง แต่หากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาตั้งอยู่เสียพัตบอง ตราจึงติดมาอยู่เมืองพัตบอง หาไม่ก็จะอยู่พระนครหลวง เจ้าแผ่นดินในพระนครหลวงชื่อรามาธิบดี น่าจะใช้ตราครุฑเป็นต้นเดิม ครั้นเมื่อพระร่วงสานชะลอมตั้งตัวแข็งเมืองต่อพระนครหลวง แผ่อาณาเขตลงมาข้างใต้ ฤๅทำให้เจ้าแผ่นดินในนครหลวงอยู่ในอำนาจได้แล้ว จะถือเอาตราครุฑนั้นไปใช้ จึงไปมีอยู่ที่สุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง ครั้นเมื่อพระรามาธิบดีปราบปรามได้เช่นกับพระร่วง จึงใช้ตราครุฑบ้าง แต่กลัวจะไปเหมือนสองเมืองที่เขายังคงใช้อยู่ เพราะเหตุว่าเขายังคงเป็นเจ้าอยู่ทั้งสองเมือง จึงแถมองค์พระนารายณ์ลงไปให้แปลกเสียกว่าสองเมือง แปลว่าเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสองเมืองนั้นกระมัง

๘. เรื่องตราไอราพตจะสำหรับกับนามพระอินทราชาผู้ครองเมืองนครหลวงฤๅไม่ เจ้าแผ่นดินเขมรซึ่งทรงนามอินทราชามีองค์เดียว เมื่อจุลศักราช ๗๘๓ เป็นพระราชโอรสที่ ๒ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สามพระยา ซึ่งรู้ว่าเป็นพระราชโอรสที่ ๒ นั้น เพราะพระเชษฐาเป็นพระราเมศวร ได้สืบสันตติวงศ์ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แลมีพยานซึ่งจะกล่าวได้ว่า นามอินทราชานี้ไม่ได้ตั้งขึ้นสำหรับเป็นเจ้าปกครองเมืองเขมร เพราะมีนามเป็นคู่ๆ กันดังจะกล่าวต่อไปนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มีพระราชโอรสทรงพระนามพระราเมศวร เมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์ครั้งที่ ๒ จับเจ้าทองลั่นโอรสบรมราชาธิราชที่ ๑ ประหารชีวิตเสีย เวลานั้นเมืองสุพรรณว่าง

พระโอรสสมเด็จพระราเมศวรทรงนามพระยาราม คำที่เรียกเจ้าว่าพระยามาจากมอญ อย่างเช่นพระนเรศร มอญเรียกบินยานเรศรเป็นตัวอย่างพม่าก็เช่นกัน ที่จะรามเปล่าๆ นั้นคงไม่ราม คงจะเป็นราเมศวร แต่เมื่อเรียกพระราชบิดาว่าราเมศวรอยู่ตามเดิม จึงเรียกแต่รามเปล่าๆ เพื่อจะให้รู้จักว่าใครเป็นใคร ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น พระราชโอรสใหญ่คงทรงนามราเมศวรครั้งที่ ๒

ส่วนพระนครอินทรฤๅอินทราชา ซึ่งครองเมืองสุพรรณที่เข้ามาเป็นเจ้าแผ่นดินต่อพระยารามนั้น สังเกตตามหลักฐานในพงศาวดารน่าจะเป็นพระโอรสพระราเมศวรองค์ที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดิน คงจะทรงนามรามาธิบดีที่ ๒ เป็นน้องพระราเมศวร ซึ่งเรียกว่า พระยาราม เพราะเหตุว่า

(ก) เมื่อเจ้าทองลั่นตายแล้วไม่มีใครเป็นเจ้าเมืองสุพรรณ คงจะตั้งพระโอรสองค์ใหญ่เป็นพระราเมศวร พระโอรสองค์ที่ ๒ ให้เป็นพระอินทราชา ไปครองเมืองสุพรรณ

(ข) ในการที่เจ้าพระยามหาเสนาถอดพระยาราม ซึ่งควรเป็นพระรามาธิบดีที่ ๓ นั้นเสีย จึงไปเชิญพระอินทราชามาเป็นเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ต้องนัดหมายอย่างไรกันก่อน เช่นครั้งพระเทียนราชา เพราะรู้อยู่ว่าเป็นเจ้าองค์ถัดลงไป ซึ่งควรจะครองสมบัติ

(ค) เพราะเหตุว่ารามาธิบดีที่ ๓ กับพระอินทราชาเป็นพี่น้องท้องเดียวกันแท้จึงไม่ได้ฆ่าฟันกัน ครั้นจะให้ไปกินเมืองสุพรรณไกลไป จึงให้กินเมืองปทาคูจาม รามาธิบดีที่ ๓ นี้ คงจะทรงเขลาฤๅทรงฉุนเฉียวดุร้ายอย่างไรสักอย่างหนึ่ง จนไม่เป็นที่นิยมของคน จนไม่น่ากลัวอันตราย ลักษณะเดียวกันกับทาราวดี แลเมงดงเมง เจ้าแผ่นดินพม่า

พระอินทราชาองค์นี้นับว่าเป็นพระโอรสที่ ๒ ของเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงนามอินทราชาครั้งแรก

พระอินทราชาองค์นี้ มีพระราชโอรสทรงนาม เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เหมือนกันกับเรียกว่า องค์ใหญ่ องค์กลาง องค์เล็ก น่าจะเดาว่าเจ้าอ้ายคงเป็นพระราเมศวร เจ้ายี่คงเป็นพระอินทราชา เจ้าสามคงเป็นบรมราชา องค์ที่ ๓ นี้ เยื้องกันอยู่นิดหนึ่งกับคำจารึกศิลาที่พระบาท ๔ รอย อันอยู่เมืองชัยนาทก่อน ในนั้นว่าทรงพระนามสมเด็จบรมบาล ครั้นเมื่อได้เป็นเจ้าแผ่นดิน จึงใช้นามบรมราชาธิราชเป็นครั้งที่ ๒ ถ้าหากว่าที่เดานี้ถูก เจ้าอ้ายพระยาเป็นพระราเมศวรครั้งที่ ๓ เจ้ายี่พระยาเป็นพระอินทราชาครั้งที่ ๒ เจ้าสามพระยาเป็นบรมราชาครั้งที่ ๒

ราชโอรสของบรมราชาธิราชที่ ๒ องค์ใหญ่ทรงนามราเมศวรซึ่งภายหลังเป็นบรมไตรโลกนาถ เป็นราเมศวรองค์ที่ ๔ โอรสที่ ๒ เป็นพระอินทราชา ซึ่งไปครองนครหลวง เป็นพระอินทราชาครั้งที่ ๓

แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ที่นี่พงศาวดารพิสดารกับสังเขป เถียงกันแต่พงศาวดารพิสดารเลอะไม่ควรเชื่อฟัง เอา ๒ แผ่นดินเข้าทบกันเป็นแผ่นดินเดียว ควรจะสวรรคตในศักราช ๘๑๑ ก็ข้ามไปเสีย แลเห็นความปรากฏแตกกันอยู่ แต่ประหลาดที่แผ่นดินนี้ไม่มีราเมศวร ไปมีอินทราชา จะเป็นท่านราเมศวรสิ้นพระชนม์ไปเสีย ฤๅอินทราชาน้องที่ไปครองเมืองเขมร จะมาเป็นเจ้าแผ่นดินต่อได้กระมัง เพราะเสวยราชย์ก็ไม่สู้นานนัก แต่พงศาวดารย่อเขากล่าวว่า เป็นพระราชโอรสก็จะต้องเชื่อไว้ที เอาเป็นพระอินทราชาเมืองเขมรสิ้นพระชนม์ ราชโอรสจึงเป็นพระอินทราชา ควรจะมีราเมศวรนับเป็นองค์ที่ ๔ แต่ไม่มีร่องรอยเลยต้องงดไว้ แต่อินทราชาองค์นี้นับว่าเป็นที่ ๔

ต่อนี้ไปเปลี่ยนธรรมเนียมเลิกตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราช ยกพระเจ้าลูกเธอ พระบรมราชา อันควรจะนับว่าเป็นองค์ที่ ๓ เป็นมหาอุปราช ท่านองค์นี้เป็นรามาธิบดี ซึ่งในพงศาวดารนับว่าเป็นที่ ๒ แต่น่าจะนับว่าที่ ๔

ต่อนี้ไป พระอาทิตยวงศ์ซึ่งปรากฏว่าบรมราชามหาพุทธางกูรคงจะเป็นนามเมื่อครั้งเป็นพระมหาอุปราช นับว่าเป็นบรมราชาที่ ๔ แต่เมื่อเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว คงเป็นรามาธิบดีนับเป็นที่ ๕

ต่อท่านองค์นี้ พระรัษฎาทำนายไม่ถูกว่าจะได้เป็นตำแหน่งอะไรฤๅไม่ เห็นว่าเด็กนัก พระไชยราชาก็โดดมาเป็นเจ้าแผ่นดิน พระยอดฟ้าก็เด็ก พระเทียนราชาก็เป็นชั้นที่ ๒

ครั้นเมื่อพระมหาจักรพรรดิเป็นเจ้าแผ่นดินรื้อตั้งแบบเก่านั้นอีก คือพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระราเมศวร องค์ที่ ๒ ก็เป็นอินทราชา แต่เพิ่มมหาเข้าข้างหน้าจึงเป็นมหินทร ควรนับว่าเป็นราเมศวรที่ ๕ อินทราชาที่ ๕ ต่อนั้นมาจึงเป็นอันเลิกไม่ใช้พระนามทั้ง ๒ นี้อีก

เมื่อพิจารณาดูเหตุผลตามที่มีตัวอย่าง พระราเมศวร ๕ อินทราชา ๕ มาเช่นนี้ จึงเห็นไปไม่ได้ว่า ตำแหน่งพระอินทราชาเป็นผู้ครองเมืองอินทปัตถือตราไอราพตตราเขมรไม่ปรากฏว่าเป็นรูปช้างเลยในที่หนึ่งที่ใด จึงเห็นว่าถ้าหากจะเป็นตราพระอินทราชา คงจะเป็นพระอินทราชาที่ครองกรุงทวาราวดีนั้นเอง

๙. ในระยะนี้น่าจะวินิจฉัยเรื่อง ว่าเจ้าแผ่นดินจะทรงพระนามรามาธิบดีทั้งหมดฤๅใช้พระนามอย่างอื่นบ้าง มีเหตุที่น่าจะวินิจฉัยว่าคงจะทรงพระนามอย่างอื่นบ้างเป็นแน่ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

พระเจ้าอู่ทองนั้นทรงพระนามรามาธิบดีเป็นแน่

พระราเมศวรคงจะทรงพระนามรามาธิบดีเหมือนพระบิดา ไม่พึงสงสัย ควรจะนับว่าเป็นที่ ๒

เมื่อพระรามาที่ ๒ ตั้งขึ้นเสียแล้ว พระบรมราชาเมืองสุพรรณเข้ามาแย่งแผ่นดิน คงมีปรารถนาที่จะเป็นต้นวงศ์บ้าง ฤๅกระดากที่เจอกันบ้าง จึงเติมท้ายธิราชเป็นบรมราชาธิราชนับเป็นที่ ๑ ท่านองค์นี้พวกลาวรู้จักกันมาก เพราะขึ้นไปปราบปรามกันเสียหลายเที่ยวหลายคราว ในหนังสือเหล่านั้นไม่เคยกล่าวว่าพระรามาธิบดีเลย เหตุฉะนั้นจึงเห็นว่าไมใช้ทรงนามรามาธิบดี

พระยารามเป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ถึง ๕-๖ ปี คงได้ตั้งพระนาม ถ้าตั้งแล้วคงไม่ตั้งอย่างอื่น คงเป็นรามาธิบดีนับเป็นที่ ๓ เป็นแล้ว

พระอินทราชาที่มาแต่สุพรรณขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าของชื่อรามาธิบดียังมีชีวิตอยู่อย่างหนึ่ง ฤๅจะนึกว่าไม่อยากให้คนทั้งปวงเข้าใจว่าเป็นลูกพระยาราม เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่อยากจะให้ต่อไปภายหน้าคนเข้าใจว่าเป็นลูกพระนั่งเกล้า จึงไม่ใช้นามรามาธิบดี

เจ้าสามพระยาเป็นพระบรมราชาอยู่เดิม จะถือว่าแบบเขามีแล้ว เข้ามาได้บ้านเมืองก็เป็นอัศจรรย์อย่างเดียวกับบรมราชาธิราชที่ ๑ แลอินทราชาธิราชที่ ๑ จึงคงพระนามบรมราชา เติม ธิราช เป็นองค์ที่ ๒

พระราเมศวรขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน น่าจะชื่อรามาธิบดีหนักหนา ฤๅจะได้ชื่อแล้วเปลี่ยนเสียเมื่อทรงพระราชศรัทธายกวังเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เป็นพระบรมไตรโลกนาถ แต่นามบรมไตรโลกนาถนี้ ไม่ใช่นึกขึ้นใหม่ เป็นนามเจ้าแผ่นดินเมืองศรีอยุธยาเดิม เรียกว่า พระไตรโลกนาถ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเชียงใหม่ก็มี เทียบศักราชดูก่อนท่านองค์นี้นาน ชะรอยจะนึกอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งเกี่ยวแก่การสร้างเมือง เติมบรมลงไปข้างหน้ามากกว่านามเดิมด้วย แลที่จะเปลี่ยนให้ชื่อรามาธิบดีไม่ได้เป็นอันขาด ชื่อเสียงท่านโด่งดังมาก

พระอินทราชาที่ ๒ คงเอาอย่างอินทราชาที่ ๑ ใช้พระนามเดิม ซึ่งไม่ใช้พระนามบรมไตรโลกนาถ เป็นที่ ๒ เห็นจะเป็นด้วยรู้อรรถธรรมน้อย เพราะท่านองค์เก่าที่มีอยู่ในพงศาวดารเชียงใหม่นั้นก็เป็นผู้ที่รู้อรรถธรรม แลทรงพระราชศรัทธามากเหมือนกัน

พระบรมราชาเป็นรามาธิบดีในพงศาวดารว่าที่ ๒ ซึ่งถ้านับอย่างที่นับมาแล้วควรจะเป็นที่ ๔ นี่มาแปลกไม่มีเค้ามูลว่า เหตุใดจึงได้มารื้อเป็นรามาธิบดีขึ้นอีก ส่อให้คิดไปว่า ฤๅพระบรมไตรโลกนาถเมื่อยังไม่ได้ยกวังเป็นวัด จะใช้นามรามาธิบดีดอกกระมัง

พระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชามหาพุทธางกูร คงจะเป็นรามาธิบดี นับเป็นที่ ๕ เป็นแน่

พระรัษฎาธิราชกุมารคิดไม่เห็น กลัวจะไม่ได้ตั้งพระนาม

พระไชยราชา น่าจะตั้งชื่อใหม่ เพราะอยากจะชนะคะคานอยู่ ฝรั่งก็เรียกพระไชยราชาเสียด้วย จะเดาให้เป็นรามาธิบดีก็แก่อยู่สักหน่อย

พระยอดฟ้านั้น ก็เห็นจะไม่เป็นอันตั้งแต่งอันใด เพราะคิดไว้อย่างอื่นเสียแล้ว

ขุนวรวงษาอีก น่ากลัวจะตั้งตัวเป็นรามาธิบดี เพราะผลัดวงศ์ใหม่ แต่พงศาวดารเราไม่นับ

พระมหาจักรพรรดินั้นจะชื่ออย่างอื่นไม่ได้เป็นแน่นอน เว้นไว้แต่ถ้าจะชื่อรามาธิบดีมาก่อน เปลี่ยนเป็นมหาจักรพรรดิเมื่อได้ช้างเผือกเช่นกับบรมไตรโลกนาถ เช่นนั้นอาจจะเป็นได้

พระมหินทร์ คงจะไม่ได้เปลี่ยน ถ้าจะนับว่าเป็นอินทราชาที่ ๓ เห็นจะเป็นได้ แต่คงมีมหาอยู่หน้าเช่นนั้น

พระมหาธรรมราชานี้เป็นพระสรรเพ็ช วงษกรุยโสดม นี่เป็นตำแหน่งพม่าตั้งตำแหน่งชานสเตตของพม่า เป็นเช่นนี้โดยมาก มีตัวอย่างเทียบ ซึ่งจะคัดได้จากกาเสตเตียเมืองพม่า แต่เมื่อจะพูดให้ใกล้เจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง ชื่อเจ้าหม่อมมหาศรีสัพเพชังกูรพุทธวงษา เป็นใกล้ ถ้าหากว่าจะไม่ได้รับชื่อนั้นใช้จริง ต่อมาภายหลังคงจะไม่ปรากฏอีกเลย นี่มาปรากฏเนืองๆ ตกมาชั้นหลังเห็นจะเห็นกลับมาเป็นดีกันเสียแล้ว

แผ่นดินพระนเรศวรไม่มีเวลาหายใจ เห็นจะไม่ได้ตั้งแต่งอะไรกัน

แผ่นดินเอกาทศรฐ พระนามก็โด่งดังเสียมากแล้ว จึงไม่คิดเปลี่ยน ข้อซึ่งเห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนนั้น เห็นเจ้าแผ่นดินหลังๆ เอาพระนามนั้นมาใช้เนืองๆ เหตุด้วยเป็นพระนามที่โด่งดัง มีตบะเดชะมาก

พระศรีเสาวภาค ยากที่จะวินิจฉัยอยู่หน่อยหนึ่ง ให้วิตกไปว่าจะใช้สุวรรณบัฏแผ่นเดียวกัน ตั้งแต่พระมหาธรรมราชามาตลอดพระศรีเสาวภาค

พระเจ้าทรงธรรม ไปนึกชอบใจพงศาวดารขุนหลวงหาวัดที่เรียกว่า พระไตรโลกนาถทรงธรรม ให้นึกเชื่อถือว่าจะได้มีพระนามบรมไตรโลกนาถ เพราะชำนาญในทางอรรถธรรม แลพระราชศรัทธาก็กล้าหาญ แต่ตอนข้างปลายนี้น่ากลัวจะเรียวเสียเต็มที่แล้ว จะไม่เข้าใจเหตุผลแบบธรรมเนียมเก่ากันมากนัก บางทีจะเป็นแต่ธรรมิกราชก็จะพอ เช่นตั้งชื่อวัดไว้

ต่อนั้นลงมาอีกก็จะโร ๆ เร ๆ ใช้โน่นบ้างนี่บ้าง ประเดี๋ยวเป็นเอกาทศรฐ ประเดี๋ยวเป็นสรรเพ็ช บางทีก็หลายๆ อย่างผสมกันตามแต่อาลักษณ์เขาจะเขียนพระนารายณ์เห็นเลอะเทอะนัก เพราะเป็นผู้ร่ำเรียนรู้หนังสือมาก อยากจะตั้งนามให้วิเศษแต่เลือกไม่ตกลงใจว่าจะเอาอะไรดี เห็นนั่นก็ดี นี่ก็ดี จึงได้เก็บรวบรวมนามเจ้าแผ่นดินที่ดีๆ มาลงให้หมด เลยเป็นคัดลอกพระนามเจ้าแผ่นดิน ซึ่งอาจจะนับได้ดังต่อไปนี้ ๑. บรมราชาธิราช ๒. รามาธิบดี ๓. สรรเพ็ช ๔. มหาจักรพรรดิ ๕. ราเมศวร ๖. ธรรมราชาธิบดี ธรรมิกราช (หมายความว่า ทรงธรรม) ๗. สุริเยนทราธิบดี (หมายความ อาทิตยวงศ์) ๘. เอกาทศรฐ ๙. ไตรโลกนาถ ๑๐. ประทุมสุริยวงศ์ นี่เป็นพยานชัดอย่างหนึ่งว่าเจ้าแผ่นดินมีชื่อต่าง ๆ ไม่ใช่ชื่อว่ารามาธิบดีอย่างเดียว ถ้าชื่อรามาธิบดีอย่างเดียว พระนารายณ์ก็คงจะพอ ด้วยเหตุว่าเข้าที่ในทางอวตารมาตั้งแต่พระนารายณ์ทำเหตุเรื่องนี้ขึ้น ต่อมาเจ้าแผ่นดินจะชื่ออะไรๆ ก็ได้ทั้งนั้น สุดแต่นึกจะต้องการมากฤๅต้องการน้อย จนเลยไม่มีใครเรียก กลายเป็นเรียกชื่อเดิม ฤๅเรียกชื่อบ่าวตั้งเช่น พระเพทราชา ขุนหลวงเสือ เป็นต้น แต่เขาก็วางไว้ เช่น

พระเพทราชา เป็นสมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม จะเป็นถ่อมตัวฤๅประการใด จึงไม่ใช้คัดลอกของพระนารายณ์ แต่แผ่นดินขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงบรมโกษฐ ความรู้ไม่พอเสียแล้ว ที่จะเลือกฟั้นว่าอะไรเป็นอะไร บางทีสุวรรณบัฎเจ้าแผ่นดินมีกี่แผ่นๆ จะบรรทุกลงไว้ในหีบเดียวกัน เวลาราชาภิเษกก็นำไปถวายทั้งหีบ ไม่ต้องจารึกใหม่เลย แผ่นดินขุนหลวงหาวัดก็อย่างเดียวกัน แต่ครั้นมาถึงแผ่นดินสุริยามรินทร์คิดขนานพระนามอะไรเขลา ๆ ขึ้น เติมเข้าอีกแผ่น ๑ ก็เป็นบรมราชามหากษัตริย์บวรสุจริต เป็นเรื่องเขลาทั้งนั้น เอาเป็นนิยายไม่ได้

แผ่นดินตากนั้นก็เถื่อนระเหิดทีเดียว ดูจะไม่มีผู้รู้ผู้จัดการงานอะไร ทำกระท้อมกระแท้มไปตามที ความคิดที่ตั้งพระนามใหม่เป็นสยามยอดโยดาวจรนั้น ลักษณะเดียวกันกับมหากษัตริย์บวรสุจริต ถึงราชาภิเษกพระพุทธยอดฟ้าครั้งแรก ที่เรียกว่าสังเขป ก็เป็นอย่างเดียวกัน ต่อการราชาภิเษกครั้งหลัง ทำสังคายนากันใหญ่ จึงตกลงใช้นามพระนารายณ์ที่เป็นคัดลอกนั้น มาแก้ไขตัดรอนที่รุงรังออกเสีย เป็นรูปเช่นพระนามที่รู้กันอยู่แล้วนั้น แต่ดูเหมือนจะพยายามใคร่ที่จะให้เป็นรามาธิบดีอู่ทองมาก เพราะเหตุที่จะต้องการเป็นผู้สร้างกรุง จึงเลือกรามาธิบดีเป็นสำคัญ แต่เหตุไฉนจึงเป็นศรีสินทร มาจากคำแช่งน้ำฤๅอะไร ไม่เป็นศรีสุนทรอย่างเดิมได้ ความคิดที่อยากเป็นรามาธิบดีที่ ๑ นี้ ต่อเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสร้างพระพุทธยอดฟ้า พระพุทธเลิศหล้า สำหรับถวายบังคมในวันถือน้ำ

ครั้นตกมาแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าแลพระนั่งเกล้า ก็ไม่แก้ไขอันใด จึงเหมือนกันทั้ง ๓ องค์

พระจอมเกล้าทรงพระราชดำริอย่างไรได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

แผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็เป็นของทูลหม่อมท่านทรงไว้ อีกนัยหนึ่ง กำลังเฟื่องในเรื่องคิดชื่อต่าง ๆ ไม่อยากให้เหมือนใครที่ถือกันอยู่ในเวลานั้นจนถึงเวลานี้ ชักให้ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนกันเสมอไม่ให้ซ้ำ จึงได้กลายเป็นถวายพระนามแผ่นดินที่ล่วงแล้ว ๓ พระองค์นั้นต่อไปด้วย อีกนัยหนึ่ง เข็ดเรียกชื่อเดิมฤๅชื่อบ่าวตั้ง จึงได้คิดเสียให้เสร็จ แลไม่นับที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เพราะกลัวจะหลง ฤๅจะไปใส่คะแนนอย่างอื่นที่จำง่ายกว่า เช่น รามาธิบดีอู่ทอง บรมราชาธิราช ขุนหลวงพะงั่ว บรมราชาธิราช สามพระยา เช่นนี้เป็นต้น จึงลงสันนิษฐานว่า พระนามเจ้าแผ่นดินที่ใช้มา เกือบจะอยู่ในพระนามพระนารายณ์ทั้งหมด ยกอินทราชาฤๅมหินทร์เสีย เห็นจะเป็นด้วยถือว่า ชื่อเสียงเกียรติยศ.

ตัวอย่างชื่อพม่า

เจ้าแผ่นดินเมงดงเมง

นาม ศิริปบวรไชยานันทรัฐบัณฑิต มหาธรรมราชาธิราช

เจ้าแผ่นดินทีบอเมง

นาม ศิริปวราทิตยโลกาธิปดิปัณฑิต มหาธรรมราชาธิราช

พระมเหสีใหญ่ นาม ๑๐ พยา ของเมงดงเมง

นาม ศิริปวรมหาราชินทาธิปดิรัตนเทวี

พระมเหสี ภายหลังเปลี่ยนเป็นเมื่อสะเดาะเคราะห์

นาม ศิริปวรดิลกรัตนเทวี

มเหสีกลาง มเหสีเหนือ มเหสีตะวันตก คงจะมีชื่อแต่ไม่ปรากฏ แม่ทีบอ เลวลงไปกว่าชั้นที่ไม่ได้ชื่อแต่ปรากฏ ชื่อว่านันทาเทวี อินแซะแผ่นดินปกันเมง เฮลียงเมง เป็นพระอนุชา มีชื่อยศ ศิริสุธรรมราชา

อินแซะแผ่นดินเมงดงเมง ชื่อคะนองเมง พระอนุชามีชื่อยศ มหาสุธรรมราชา

โอรสใหญ่เมงดงเมง

นาม ศิริมหาธรรมราชา

เมคราเมง ลูกเธอชั้นมิงนี้ เห็นจะเป็นชั้นลูกได้รับชื่อยศเป็น ศิริมหาสุธรรมราชา

ลูกพระมหาอุปราช เจ้าปเดียน เป็นมหาศิริธรรมราชา

ลูกเธอหลานเธอผู้หญิง ได้รับชื่อยศเวลาเจาะหู

องค์หญิงใหญ่เป็นเมียลูกอุปราช ชื่อ ศิริศุขัสวดีเทวี

สุพยากยี (นางพระยาใหญ่) ชื่อ ศิริสรัตนมังคลาเทวี

สุพยาลัด (นางพระยากลาง) ชื่อ ศิริสุประภารัตนเทวี

สุพยาเล (นางพระยาเล็ก) ชื่อ ศิริสุประภารัตนเทวี

องค์อื่นๆ อีก ชื่อจำยาก คล้ายลูกกรมนรา ดังนี้

ศิริสุรัตนเทวี

สุศิริรัตนเทวี

สุประภาเทวี

ศิริมังคลาเทวี

ลูกวังหน้าชื่อ ศิริสุสันทาเทวี

แลอื่นๆ ยังมีอีกคล้ายกันดังนี้

ชื่อเจ้าประเทศราช

เมืองเชียงรุ้ง ชื่อ เกยียงยุงยี โสตถิ นัครา มหาสีหปวร สุธรรมราชา

เมืองตองเปง ชื่อ สีหประภาราชา

ชื่อพระ

อาจารย์เมงดงเมง เสดาะฤๅสโดะ จันทีมา ศิริตสุปวรมหาธรรมราชาธิราชกุรุ

ครั้งทีบอเมง ๒ องค์ เห็นจะเป็นสังฆราชองค์หนึ่ง รองสังฆราชองค์หนึ่ง ชื่อ ศาสนธัชชะ ธรรมศิริธิปดิ มหาธรรมราชาธิราชกุรุ องค์หนึ่ง ชาคณาหิ ธัชชะศาสนปาละธรรมเสนาบดี มหาธรรมราชาธิราชกุรุ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ