(สำเนา) พระราชหัตถเลขาเรื่องราชาภิเษกพระสิทธารถ

พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์

วันที่ ๑๒ มกราคม รัตนโกสินทร๓๕ศก ๑๒๑

ถึง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์

ได้รับจดหมายแลบันทึกเรื่องบายศรี ซึ่งจะวินิจฉัยสำหรับเขียนหน้าต่างช่องที่ ๒ นั้นแล้ว ได้วินิจฉัยเรื่องบายศรีมาในแผ่น ๑ ต่างหาก

บัดนี้จะว่าด้วยเรื่องการราชาภิเษกพระมหาสัตว์ ฉันให้เกิดความสงสัยขึ้นมาเสียแล้วว่า รูปที่เห็นนั่งเกาะบายศรีนั้น จะเป็นพระมหาสัตว์กับพระพิมพา ฤๅพระพุทธบิดากับพระพุทธมารดาไฉนแน่ พิเคราะห์ดูเนื้อความตามปฐมสมโพธิ ในราชาภิเษกบริวัตร ความย่อนักย่อหนา ความที่กล่าวพิสดารอยู่ในวิวาหมงคลบริวัตร อันเป็นส่วนพระพุทธบิดาแลพระพุทธมารดา แต่ถึงดังนั้นก็ได้ความแน่ว่า เวลานั้นยังหามีบายศรีไม่ เป็นนั่งกองแก้วจับพระหัตถ์ซึ่งกันแลกัน ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมถวายพุทธาภิสิญจน และประโคมเกิดอัศจรรย์ต่างๆ ต่อไปทีเดียว ดูปฐมสมโพธิ หน้า ๓๕ ฉันเห็นว่า ที่เขียนบายศรีช่างแต่ก่อนเห็นจะงมงายเกินไป ดูไม่น่าจะเขียนเสียแล้ว

อนึ่ง รดน้ำมุรธาภิเษกในที่นี้ ฤๅที่อื่นๆ เช่น เวสสันดรชาดก เห็นจะไม่ได้หมายว่าขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน, อาบน้ำทั้งตัว ทำนองจะเป็นอย่างขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศ ฤๅยังไม่มีอัฐทิศก็ขึ้นภัทรบิฐทีเดียว รวบรวมความก็นั่งเบื้องบนรัตนราศี เป็นตรงคำกว่าอื่น แลน้ำมุรธาภิเษกในเวลานั้น รดแต่พระเศียร ไม่ใช่สรง ถ้าจะคิดไปตามทางความคิดเดิม ซึ่งเธอคิดจะขึ้นภัทรบิฐเข้าทีกว่ามาก แต่อย่าใช้เก้าอี้เจ๊กอย่างของเรา เสียอยู่หน่อย ที่ครั้งพระมหาสัตว์ไม่มีเทวดา ถ้าเหมือนครั้งวิวาหมงคลบริวัตรจะเขียนได้งาม

อนึ่ง ในการราชาภิเษกนั้น จะได้ทำวิวาหมงคลด้วยฤๅไม่ความก็ไม่สู้ชัด แต่เห็นจะได้ทำดอกกระมัง ขอให้พิเคราะห์ดูในปฐมสมโพธิ หน้า ๑๐๕ ถ้าหากว่าวิวาหมงคลด้วย ก็เป็นนั่ง ๒ คน ยึดมือกัน เครื่องที่จะขังน้ำอภิเษกนั้น สมกันทุกแห่ง ในหนังสือข้างฝ่ายพราหมณ์ มีมหาภารตเป็นต้น แลเวสสันดรชาดก ว่าใช้สังข์ ในมหาภารตใช้สังข์ทองคำโตพิลึกลั่นทีเดียว ในนครกัณฑ์ก็มีสังข์ทอง แต่มีทักษิณาวรรตแลเงินด้วยเป็น ๓ นี่ท่านจะเอามาจากอรรถกถาฎีกาอันใดฤๅ

สำนวนหม่อมไกรสร อยากจะอวดว่าเข้าธรรมเนียมเหมือนพระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า จึงจำต้องปล่อยให้บทยาวๆ มีมากเพราะบรรจุคำลงไปไม่ใคร่เหมาะ อยากจะให้เพราะแลแน่นแฟ้นทำนองพระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้า แต่เพราะไม่ถือทางเดียว ไปเอาอย่างอื่นด้วย จึงต้องเลยไป เช่นในบันทึกหมายเลข ๔ ที่ว่า “ตำมะหงงประจงจับทีละสอง” ไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวเช่นนั้น แต่กลอนมันเป็นเช่นนั้น ครั้นจะว่าดาด ๆ ไปไม่มีใจความ ก็กลัวจะไม่เหมือนพระพุทธเลิศหล้า จึงต้องเอาเนื้อความลงว่าไปตามบุญตามกรรม ท้องเรื่องที่คิดมันก็จืด จึงต้องเลยติดตลกหกคะเมนเลอะไป เช่นอิเหนาไปหาจินตะหรา ก็ไม่ใช่ความคิดของตัวเองอีก เลียนพระราชนิพนธ์ละครนอกของพระพุทธเลิศหล้า

เพราะฉะนั้น การที่จะจับเอาหนังสือเหล่านี้เป็นหลักวินิจฉัยยาก พระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า ถึงตั้งใจจะให้เข้าแบบอย่างสักเท่าใดก็แต่งด้วยความคิดจะให้วิเศษอย่างปฐมสมโพธิ ถึงจะเกินจริงไปสักเท่าใดไม่ว่า พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้ารักษากลอน ต้องการจะทำบทให้คล่อง ขาดบ้างก็ไม่ว่า สำนวนหม่อมไกรสรแล้วแต่จะเป็นไปอย่างไรๆ ก็ดี ความที่กล่าวในหนังสือทั้งปวงนี้ เป็นชั้นกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

ตามความเห็นของฉัน ว่าบายศรีเงินบายศรีทองที่เป็นพานซ้อนๆ กันนี้ น่าจะเกิดในปลายแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้านี้เอง บายศรีแก้วจะมาทีหลังด้วยซ้ำไป เพราะบายศรีเล็ก มีแต่ทองกับเงิน แก้วเพิ่งมีขึ้นแผ่นดินพระจอมเกล้า ไม่ปรากฏในหนังสือแห่งหนึ่งแห่งใดเก่าๆ ว่าตั้งบายศรีแก้วทองเงินสมโภชอะไรต่ออะไร รูปเขียนก็ไม่เห็นมี เห็นมีแต่บายศรีตอง การที่ประดับประดาบายศรีด้วยทองด้วยแก้ว ฉันเข้าใจว่า ที่เราใช้รัดด้วยทองหน้าตะกู สลักฟักทองมะละกอติดเป็นลวดลาย แปลว่าเงินทอง ติดแววเข้าก็เป็นพลอย ถ้าหากว่าจะได้ตกแต่งบายศรีด้วยเงิน ทอง เพชร พลอย จริง ก็น่าจะเอาสายสร้อยมารัดเอวบายศรี เอาพลอยหัวแหวนต่างๆ ประดับ ฤๅถ้าจะว่าให้แกรนด์ขึ้นไป ก็มีเครื่องเพชรพลอยสำหรับประดับบายศรีไว้ประจำราชการ แต่เห็นจะเป็นเอาอะไรต่ออะไรบรรดาที่มี มาผูกติดเข้าอย่างผูกกระบังหน้าโสกันต์ใช้ชั่วคราว บายศรีจึงต้องแต่งกันหนักแต่งกันหนา ไม่ใช่สั่งให้ท้าวมังศรีเอามาตั้งง่ายๆ เช่นเดี๋ยวนี้

บายศรีที่ใช้ในกรุงเทพฯ นี้ แต่แรกคงจะใช้ไม้แกะตามธรรมเนียม จะให้งามแลให้แน่นหนา จึงได้ทำบายศรีลองทองเหลืองขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วจึงได้มีบายศรีเงิน บายศรีทองเพิ่มขึ้น บายศรีแก้วนั้นเป็นมีขึ้นภายหลังที่สุด

ต่อนี้จะได้แก้บันทึกตามลำดับตัวเลข แต่ขอยกรามเกียรติ์ขึ้นว่าก่อนตามอายุ

หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์

๖. ซึ่งกล่าวถึงบายศรีมากในที่นี้ แปลว่าไม่มีของจริงจะเอามายกขึ้นกล่าวให้เหมือน กล่าวไปเพื่อจะให้เห็นว่า แกรนด์เหมือนอย่างเช่นฉันแต่งนิทราชาคริต

๗. ไม่ปรากฏว่าบายศรีทำด้วยอะไร แต่แว่นเป็นมรกตเสียแล้ว ทีบายศรีก็จะทำด้วยมรกตประดับเพชรพลอย

๘. บายศรีไม่ปรากฏว่าทำด้วยอะไร

๙. ฉันเข้าใจว่า บายศรีตองประดับด้วยทองแลเพชรพลอยอย่างเช่นที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

๑๐.๑๑. เข้าใจว่าทำนองเดียวกัน เป็นแต่ใช้บายศรีเดียวแล ๒ บายศรีซึ่งจะได้ว่าในที่อื่น

เอาไปจากสังข์ ๓ ของเราก็ไม่รู้ แต่เป็นแต่งตัวรดน้ำ ไม่ใช่แต่งเครื่องถอด ซึ่งกลัวว่าจะเป็นยายชี ผู้ที่รดน้ำครั้งนี้คงเป็นพระพุทธบิดา ถ้ามีเวลาวันนี้ฤๅพรุ่งนี้ไปสอบที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ดูว่าบายศรีทำขวัญใครแน่ บางทีจะมี.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

----------------------------

คำวินิจฉัยบันทึกเรื่องบายศรี

ในการที่จะแก้บันทึกเรื่องบายศรี จำจะต้องพิจารณาก่อนว่าออทอริตีที่อ้างเป็นหลัก ได้แต่งขึ้นในสมัยใด

หนังสือรามเกียรติ์เป็นหนังสือแต่งแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า แก้บทเก่าซึ่งขุนหลวงตาก เปลี่ยนแปลงเลอะเลือนไป เดิมทีค้นหาฉบับไม่ได้สูญเสียเมื่อกรุงเสียขาดกระท่อนกระแท่น การแต่งหนังสือรามเกียรติ์ครั้งนั้น ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแลผู้จำบทเก่าได้เรียบเรียงแก้ไข เมื่อถวายทรงแก้แล้วเสร็จเรียกว่า พระราชนิพนธ์

อิเหนาเป็นหนังสือมีมาเก่า ถ้อยคำไพเราะดีอยู่แล้วโดยมากเพราะเป็นหนังสือใหม่ของกรุงเก่า ไม่ได้แก้ใหม่ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า มาลงมือแก้ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า ตอนต้นครั้งพระบรมศพพระพุทธยอดฟ้า จึงได้เล่นงานเมรุสนุกนัก ตอนกลางเล่นครั้งสมโภชพระยาเศวตกุญชร ตอนหลังที่สุดเล่นฉลองวัดอรุณ จับโสกันต์สียะตราจนถึงสึกชี หมดพระราชนิพนธ์เพียงเท่านั้น

อิเหนาตอนปลาย เนินเรื่องที่ชาววังซึ่งเป็นละครเอง ตั้งแต่ท้าววรคณานันทมาลัยมา ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน เข้าใจว่าจะได้แต่งขึ้นเมื่อหม่อมไกรสรเล่นละคร ประสงค์จะให้แปลกแลให้จบ แต่ไม่ไม่ใช่สำนวนหม่อมไกรสร ประชุมกันแต่งอย่างพระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า โวหารจึงไม่เสมอ

สังข์ทอง เป็นพระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้าแท้

ทีนี้จะว่าด้วยความมุ่งหมายในการแต่ง

พระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า ตั้งใจจะให้ถ้วนถี่ต้องแบบอย่าง ด้วยต้องการให้ถ้อยคำลึกแลไพเราะ ทั้งเป็นอัศจรรย์ด้วย ไม่รังเกียจข้อที่จะยืดยาวจนเล่นละครดูเบื่อ

พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้า คิดย่นให้สั้น ไม่ให้บทยาวเยิ่นเยื้อ ดูละครเบื่อเป็นที่ตั้ง แต่เลือกคำให้ไพเราะ ให้ถูกต้องด้วยแบบธรรมเนียม แต่ไม่พยายามที่จะว่าให้ครบครัน ยอมให้เลยไปตามกลอนบ้าง

๑๒.ชัดว่าเนินบายศรีทอง บางทีเมื่อแต่งมาถึงนี่ บายศรีทองจะมีแล้ว

๑๓.กลับวนลงไปน่าจะปนกันเสียอีก

พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา

๑. บายศรีทองมีแล้วแน่

๒.๓. } เบื่อที่จะกล่าวถึงบายศรีซ้ำซาก

๔. อยากจะว่าเอาอย่างรามเกียรติ์ แลอวดดีถี่ถ้วนต่าง ๆ

๕. ไม่มีบายศรีจะวินิจฉัย

พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทอง

๑๔. ไม่ต้องการจะพูดถึงบายศรี

แต่นี้ไปจะได้ตอบคำวินิจฉัยของเธอ

(ก) ถูกแล้ว ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังถูก

(ข) เข้าใจว่านากไม่เคยมีเลย แก้วทองเงิน ฤๅทองเงินแต่ ๒ อย่าง ยังสมโภชลูกเธอองค์หญิงอยู่จนเดี๋ยวนี้ ทองอันเดียวยังสมโภชพระที่นั่งอยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่ที่จะเจือกันไม่มี ที่เจือกันนั้น เข้าใจว่า บายศรีตองประดับเป็นอย่างโบราณ

(ฃ) เทียนชัยนั้นแปลว่า เทียนซึ่งถ้าเป็นบายศรีตอง เขาเสียบไม้กลัดเหน็บไว้ที่ยอดบายศรี บางทีก็ใช้ปิดทอง เช่น ไหว้ครูละครเป็นต้น ถ้าเป็นบายศรีเงินทอง ใช้เชิงเทียนเงินแลทองเหมือนกัน ปักเทียนชัยตั้งอยู่ตรงบายศรี เพราะจะไปเหน็บด้วยไม้กลัดกับพานไม่ได้ คือ เทียนที่ตาโหรแกจุดแล้วว่า วันติวา ถูกแล้ว แต่ที่ในวังเขาใช้ปักบนยอดพุ่มเมื่อเวลาสมโภชพระที่นั่ง แลเทียนชัยนี้ ไม่ได้เอาออกติดแว่นเวียน แต่เมื่อเวลาดับ จำเป็นจะต้องเอาเทียนชัยนี้เข้าประกับกับเทียนที่แว่นดับด้วยทุกครั้ง เมื่อเวลาจะมาผูกมือ ถึงต้องขีดๆ ไฟขึ้นจุดใหม่ จึงเข้าใจว่า เทียนที่สำหรับเวียนเทียนนั้น เห็นจะเป็นของเพิ่มขึ้นใหม่ ดูให้ครึกครื้น แต่จุดแลดับนั้นจึงยังคงยืนเทียนชัยไว้เป็นสำคัญ คนแต่สมโภชเจ้านายเด็กๆ ด้วยบายศรีนมแมว เอาเทียนชัยที่ปักนั้นมาวงรอบๆ ตัว ๓ หน แล้วจึงดับก็มี

(ค) แว่นจะเป็นอะไรก็ได้ถูกแล้ว แต่แก้วแกมเงินที่เรามีอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแก้วห้อยระย้า เทียนไข ซึ่งมีอยู่ในวังลูฟ เมืองปารีส ซึ่งทีจะส่งมาเป็นบรรณาการ แต่มันจะหักหายไปเสียข้างไหน เหลือแต่แก้วที่ห้อยอันใด กลับเอาข้างล่างขึ้นข้างบนต่อด้าม ทีแต่ก่อนก็จะไม่มีมาก พานรองเครื่องเจิมอยู่ข้างจะเล็กกว่าที่จะรับแว่น แต่ฤๅจะเล็กลง เมื่อไม่ใช้วางแล้วก็จะได้กระมัง

(ฅ) ถูกแล้ว

(ฆ) ทำขวัญอย่างเล็กๆ เขาก็มีขันน้ำ ตลอดจนบายศรีทอง แต่เมื่อมีเวียนเทียนไม่มีขันน้ำ เหมเห็นจะเป็นขันน้ำเสียจริง

สิ่งซึ่งเธอเห็นว่าเกินไป สันนิษฐานว่าผิดนั้น บางทีแต่ก่อนเขาก็จะรู้ แต่อยากจะเติมให้หรูขึ้น เพราะถือว่าเป็นของกินด้วยกัน ทำนองเช่นเครื่องสังเวย มีแต่บายศรีก็พอแล้ว เทวดาก็กินอิ่ม ฤๅสมมตว่ากินอิ่ม แต่เติมเครื่องสังเวยลงไปภายหลังด้วย จะให้เห็นว่ากินได้จริงๆ ใช่แต่เท่านั้นยังซ้ำเครื่องสังเวยตำแหน่งจีนก็จัดแจงขึ้นอีก จึงเห็นว่าเป็นด้วยหรู แต่ไม่จำเป็นจะต้องมี

(๑) สำรับนั้นเกินไป

(๒) - (๓) เป็ดแป้งนั้นมันชอบกลอยู่สักหน่อย ในท้องมันมีไข่อยู่ลูกหนึ่ง ทำขวัญบายศรีนมแมว เขามีไข่เป็นสำคัญ เสียบอยู่ยอดกรวยข้าว ทำขวัญแล้ว เขาให้กินไข่นั้นเอง เรียกว่า ไข่ขวัญ คำว่า ไข่ขวัญ นี้ ดูก็เป็นที่จับอกจับใจคน เข้าใจกันซึมทราบมาก เช่นเจ้าพระยามหินทร์แกเรียกละครของแกว่า ไข่ขวัญ ก็ดูไม่มีใครต้องถาม ว่าแปลว่ากระไรสักคนเดียว เข้าใจหมด แต่ทำขวัญบายศรีตองฤๅบายศรีอื่นๆ อย่างใหญ่ไม่มีไข่ ฤๅแต่เดิมเขาจะมีไข่อยู่ในบายศรีนั้นแล้ว เมื่อไม่จัดของคาวบรรจุในบายศรี ก็เลิกไข่เสียด้วยลืมไป แล้วเลยไม่รู้มูลเหตุ ถ้าหากว่าจะมีเจ๊กเอาเป็ดมาถวาย จะไม่ใช่พะโล้ จะเป็นเป็ดยัดไส้ ในไส้นั้นจะยัดไข่เข้าไปด้วยกระมัง ท่านผู้ที่ได้รับของถวายก็จะร้องว่า เออไข่ขาดอยู่ดีทีเดียว จึงได้เอาไปตั้ง แต่นั้นมา เป็ดไก่หายาก อย่างเช่นที่ว่า จึงได้เอาไข่ยัดไว้ในเป็ดแป้ง ถ้าจะเลิกเป็ด จำจะต้องมีไข่ในบายศรี ฤๅอย่างไรจึงจะถูก มะพร้าวนั้นถูกแล้ว

เรื่องผู้จุดเทียนชัยนั้น ตามที่ว่าก็ถูกอยู่ เดิมเห็นจะเป็นเช่นนั้น แต่ชั้นหลังๆ มา เมื่อหาพราหมณ์ไม่ได้ ก็สมมตเสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่เป็นพราหมณ์ให้จุดเทียนชัย เช่นแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าว่าเจ้าพระยารัตนาพิพิธเป็นผู้เคยจุด เหนจะเป็นมาแต่แผ่นดินตากเมื่อไม่มีพราหมณ์ อย่างเช่นเมืองลาวที่ไม่มีพราหมณ์ เขาก็มีตำแหน่งพระยาพรมปัญญาเป็นหน้าที่ทำขวัญ แล้วเรียกว่า พาม ด้วยมาภายหลังในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า ฤๅปลายแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์รับตำแหน่งนั้น ไม่ได้ใช้พราหมณ์มวย ๆ ตลอดมาจนแผ่นดินพระนั่งเกล้า กลายเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่จุด การสมโภชข้างใน เป็นต้นว่า โสกันต์ พิธีตรุษ สมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอประสูติ ๓ วันแลเดือน ๑ ชั้นหลังสมโภชพระชนมพรรษา ใช้ท้าวนางจุดเทียนชัยเบิกแว่นทั้งสิ้น ตลอดลงมาจนถึงเมื่อทำขวัญฉันเอง ก็ยังว่าใช้ท้าวนางจุดแว่นเมื่อทำขวัญ ๓ วัน ต่อทำขวัญเดือน จึงได้ตั้งต้นเอาพราหมณ์เข้ามาจุดแว่น ท่านเล่ากันมาว่าเช่นนี้ เพราะฉะนั้น การซึ่งกล่าวว่าคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง เห็นจะว่าไปตามเวลากาล แต่ผู้ที่ควรจุดแท้นั้นคงต้องเป็นปุโรหิต แลเข้าใจว่าแต่ก่อนใช้คนเดียวมากกว่าที่ใช้ ๒ คน ฤๅ ๓ คน

เหม ๔ ใบนั้นไม่มีแน่ เสนาบดีคงไปตีฆ้องเสียบ้าง

(คัดจากหนังสือนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๘ เล่ม ๔ หน้า ๒๖-๓๙)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ