สำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒

ที่ ๘๕/๒๐๔๓

สวนดุสิต

วันที่ ๒๑ มีนาคม รัตนโกสินทร๓๖ศก ๑๒๒

ถึง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์

ด้วยตั้งแต่ได้รับหนังสือวันที่ ๑๓ มีการกีดเกะกะ ทั้งมีเวลาสบายแทรกจนบรรจบรอบเช้าวันนี้ (วัน ๑ ที่ ๒๐)

อย่างที่พระสถิตยเขียนมานั้น ไม่ใช่แต่รูปดื่นธรรมดา มันออกจะโก้งโค้งโก้งขวิดเป็นวัดบวรสถาน เหตุด้วยอยู่ตรงหน้าบ้านดูชินตาไปฤๅกระไร ทั้งโตเกินที่มากไปด้วย ส่วนกว้างยาวที่กะมานี้ดีแล้ว แต่ช่างเหมาะลงที่ศาลามุงจากอยู่ ๒ หลังเดี๋ยวนี้จริงๆ แต่เดิมฉันคิดว่าจะทำพอไปนั่งดูงาน ครั้นไปนั่ง ๆ อยู่เสมอ กลับนึกว่าน่าจะรื้อไม่ได้ ด้วยมันช่างเหมาะดีเสียจริง ๆ ทั้งทางลมแลหนทางเข้าออก จึงได้บอกว่าอยากจะเอาทั้ง ๒ อย่าง คือไว้ซ้ายหลังหนึ่ง ขวาหลังหนึ่ง นี่เป็นความคิดเกิดขึ้นใหม่ทีหลังสั่งให้เขียนอย่าง แต่ยังไม่ได้วัดสอบดูพื้นที่ แต่กว้างถมไป ลงได้ง่าย คิดว่าหลังหนึ่งจะยกพื้นในประธาน แต่พื้นอีกหลังหนึ่งจะให้เสมอกันกับเฉลียง ที่เธอเรียกว่าเกยลาสำหรับใช้ตั้งเก้าอี้ เผื่อผู้ที่เขาชอบนั่งเก้าอี้มาหาฤๅจะนั่งด้วยกันมากๆ ถ้ายกพื้นขึ้นไว้เช่นนั้นจะเป็นเฉพาะที่พระราชาองค์เดียว ไม่มีใครอาจขึ้นไปนั่ง ส่วนที่เดิมนั้น แต่แรกคิดว่า จะทำให้เป็นที่ใครๆ มาหา เข้าไปนั่งได้ลักษณะเดียวกันโดยยกพื้นแต่ห้องเดียว ฤๅตั้งพระแท่นนั่งกันได้อย่างไทย ๆ ถ้าจะมีการเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชาอย่างฝรั่ง ยกเตียงไปเสีย แต่ที่ตรงนั้นเป็นช่องแดด จึงได้นึกถึงฝา แต่ถ้าทำ ๒ หลังนี้แล้ว จะทำขึ้นอีกในที่นั้นทีจะฟั่นเฝืองดเสียจะดีกว่า เพราะพลับพลาตำรวจเขาให้มีอยู่หลังหนึ่งแล้ว ที่นั้นจะปลูกต้นไม้ให้งดงามได้

ข้อซึ่งฝรั่งจะหาว่าเอาอย่างนั้น เห็นจะไม่สู้ดูบันได ถ้าจะว่าน่าจะกล่าวว่า เป็นอย่างพม่าด้วยประดับประดามาก แต่เรื่องพม่าเคยว่าเอาอย่าง ไทย เห็นจะไม่มีใครว่าไร

เรื่องปิดทองทั้งตัวนั้น จะถูกฝรั่งติว่าเป็นอย่างออเรียลเตอล อันศัพท์นั้นแปลว่าตะวันออกเท่านั้น แต่เวลามันใช้ราวกับจะมีคำต่อว่าก็ป่าเถื่อนเท่านั้นเพราะข้างเขาถ้าปิดทองแล้วเขาเอาไว้ในร่ม ที่สลักทิ้งไว้เปล่าๆ เช่น ท้องพระโรงเจ้านาย ดูของเขาก็แล้วดีอยู่จะเป็นทางที่กล่าวกันได้ฤๅไม่ว่าลายสลักอยู่กลางแจ้ง ไม่ลงรักแลทาสีผุเร็ว เธอจะได้เคยเห็นตัวอย่างความจริงอย่างไร

เรื่องเสาหงส์นั้นยอมแล้วว่าถูก ในเรื่องใช้เสาธงตามเมืองโบราณนั้นได้ใช้มาก ไม่แต่เท่านั้น รถพระอินทร์ก็ใช้ธงเสียหนักหนาทีเดียว มิใช่ปักแต่ปลายงอน ข้างแขกก็ใช้ที่ฝังศพซึ่งทำด้วยศิลา ๕ ชั้นบ้าง ๓ ชั้นบ้าง จึงถึงยอด ตามชั้นเหล่านั้นมีเสาธงทำด้วยเหล็กปักลายรอบทุกชั้น ว่าเวลางานชักธงผืนผ้า แต่ไม่ได้เคยเห็นเวลาชัก ความคิดที่จะทำเห็นจะงามดีอยู่ ฉัตรนั้นไม่จำเป็นนักที่จะต้องเป็นตะเกียง ถ้าหงส์คาบโคมพู่ดวงเขื่องหน่อยก็จะสว่างพออยู่.

(พระปรมาภิไธย) สยามินทร์

เสาหงส์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ