(สำเนา) พระราชหัตถเลขาพระบรมราชาธิบาย

ที่ ๘๕/๗๑๙

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ ๒๖ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก๓๓ ๑๑๙

ถึง พระยาศรีสหเทพ ด้วยได้รับหนังสือที่ ๑๔๔/๔๑๓๗ ลงวันวานนี้ ตอบรับแบบการทูลเบิกแขกเมืองที่ได้ส่งไปให้ กับขอความแนะนำในการทูลเบิกกราบถวายบังคมลา ว่าอย่างไรควรจะมีดอกไม้ธูปเทียน อย่างไรไม่ต้องมีนั้น

เรื่องดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลานี้ เคยสังเกตมาว่าใช้แต่เฉพาะผู้ว่าราชการกรมการหัวเมืองซึ่งจะออกไปอยู่หัวเมืองนานๆ ซึ่งตามกฎหมายบังคับว่า มิได้มีท้องตราให้หา จะกลับเข้ามากรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ว่าราชการเมืองกรมการที่เข้ามารับตำแหน่งแล้วจะกลับไป ฤๅมาด้วยข้อราชการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วจะกลับไป ๆ อย่างไม่มีกำหนดกลับ ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา แต่ถ้าเป็นข้าหลวงออกไปราชการ เช่นชำระความผู้ร้าย ซึ่งแต่ก่อนข้าหลวงเกือบจะออกไปแต่เฉพาะเรื่องผู้ร้ายเท่านั้น ดังนี้ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน ฤๅจะว่าอีกนัยหนึ่ง ถ้าผู้ใดได้รับตำแหน่งราชการซึ่งจะออกไปประจำอยู่หัวเมืองช้านาน ผู้นั้นต้องมีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา ถ้าเป็นแต่ข้าหลวงออกไปเฉพาะราชการจร ไม่มีตำแหน่งในหัวเมือง ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน

แต่ถ้าจะเทียบด้วยการทุกวันนี้ ข้าหลวงแปลกกว่าแต่ก่อน คือเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ข้าหลวงผู้รักษาเมือง ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงคลัง เหล่านี้ ถ้าจะว่าตามแบบเก่า เรียกว่าข้าหลวงไม่ได้ เป็นคนที่อยู่ในจำพวกที่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา

ถ้าเป็นข้าหลวงออกไปหัวเมือง เช่น พระโกชาอิศหากออกไปเมืองไทรบุรี พระไปรสนีย์ธุรานุรักษ์ ขึ้นไปตรวจสายโทรเลข เช่นนี้ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน

เว้นไว้แต่มีตัวอย่างแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง ในพวกข้าราชการหัวเมืองซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาเฝ้าได้ไม่ต้องมีท้องตราให้หา ซึ่งมีแต่น้อยคน มักเป็นหัวเมืองใกล้ๆ เช่นรัชกาลที่ ๔ พระยาดำรงราชพลขันธ์ บิดาพระยามหาโยธา แผ่นดินปัจจุบันนี้ พระยาสมุทรบุรานุรักษ์ (เนตร) พระยานครไชยศรี (จุ้ย) เป็นต้น เช่นนี้ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา ฤๅไม่ต้องกราบถวายบังคมลาเลยทีเดียว เป็นไปๆ มาๆ

แต่ผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้มาได้เช่นนี้เหมือนกัน แต่เป็นหัวเมืองไกล เช่น พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร) เมื่อจะกลับไปเขาก็มีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา

จึงควรสันนิษฐานว่า ข้าราชการผู้ใดมีตำแหน่งราชการอยู่ในหัวเมือง จะกลับออกไปประจำรักษาราชการ ผู้นั้นต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เว้นไว้แต่ผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเนืองๆ แลผู้ซึ่งไปราชการจรแล้วจะกลับมา เช่นพระยาศรีสหเทพ ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลลาวเฉียงดังนี้ ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลา

อนึ่ง วิธีทูลเบิกถวายดอกไม้ธูปเทียนกราบถวายบังคมลานั้น ไม่ว่าแขกเมืองประเทศราชฤาหัวเมืองชั้นใน เริ่มกราบทูลว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อ) ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กราบถวายบังคมลา ออกไปรักษาราชการบ้านเมือง ออกไปรับราชการบ้านเมือง ออกไปบ้านเมือง ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

คำรับรับสั่งแลคำกราบบังคมทูลในเวลาแขกเมืองประเทศราชกราบถวายบังคมลา ทั้งแขกทั้งลาว เมื่อมีพระราชดำรัสแล้ว ต้องทูลรับว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” เหมือนอย่างเมื่อแรกเฝ้า แต่เมื่อจะนำข้อความซึ่งแขกเมืองให้กราบบังคมทูลพระกรุณาเปลี่ยนใช้แต่เพียง “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อ) ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า (ข้อความ) ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

อนึ่ง ถึงเป็นข้าราชการที่ไม่ใช่แขกเมืองก็ดี แต่จะกราบบังคมทูลด้วยวาจาตนเองไม่ได้ ปลัดทูลฉลองรับรับสั่งอีกต่อหนึ่งแล้ว คำรับนั้นใช้ “พระพุทธเจ้าข้า ขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม” ตามธรรมเนียม แต่เวลาที่จะนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูล ต้องใช้ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ทุกครั้ง.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

(คัดจากหนังสือนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๘ เล่ม ๒ หน้า ๕๓-๖๐)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ