พระบรมราชวินิจฉัย เรื่อง บายศรี

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภให้จัดการตกแต่งพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาขึ้นด้วยวิธีตกแต่งหลายอย่าง มีการเขียนภาพด้วยฝีมืออันประณีต เป็นต้น ดังพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า “คือ คิดถึงการที่จะเป็นภาพอันงดงามมากกว่าที่จะให้เป็นการแสดงธรรม แต่ถ้าจะเขียนให้งาม แลมีธรรมในนั้นด้วยก็ยิ่งดี แต่คงจะถือรูปภาพเป็นสำคัญ เพราะถือว่าเป็นเครื่องประดับฝาผนัง ไม่ใช่เอาฝาผนังเป็นธรรมกถึก” จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นกรมขุน ทรงรับหน้าที่เขียนภาพด้วยพระองค์หนึ่ง แลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบบังคมทูลรับจะทำการสนองพระเดชพระคุณจนเต็มความสามารถ ดังข้อความตอนหนึ่งแห่งลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะทำให้ถึงคนเก่าเขาเท่านั้น เพื่อให้ปรากฏว่า คนรู้วิชาช่างเขียนเต็มตามวิธีของชาติแห่งตน ยังมีมาจนถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เมื่อจะทรงเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนราชาภิเษกสมโภชพระสิทธารถ ตามพระราชกระแสทรงดำริจะเขียนภาพบายศรีแลพิธีสมโภช จะได้ท่างาม แต่เมื่อให้ภาพนั้นมีลักษณะถูกต้องตามขนบธรรมเนียมแลประเพณี จึงได้ทรงค้นเรื่องอภิเษก ที่ปรากฏในหนังสือวรรณคดีพระราชนิพนธ์ เรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอิเหนา แลบทละครเรื่องสังข์ทอง พร้อมกับมีบันทึกความเห็นแลวิธีสมโภชขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระบรมราชวินิจฉัย ก่อนที่จะทรงเขียนภาพทูลเกล้าถวายเพื่อทอดพระเนตรดังสำเนาพระราชหัตถเลขา แลสำเนาลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลต่อไปนี้

  1. ๑. เอกสารของกองจดหมายเหตุแห่งชาติ เลขที่ ข. ๒๔/๑๔

  2. ๒. พระราชนิพนธ์ทั้ง ๓ เรื่องนี้ คือ เรื่องรามเกียรติ์ เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครูสมิท บางคอแหลม แต่ไม่ปรากฏว่าพิมพ์เมื่อไร พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๑๗ ส่วนพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทองเป็นฉบับพิมพ์จำหน่ายเป็นตอนๆ สันนิษฐานว่า พิมพ์ในระยะเวลาใกล้เคียงกับเรื่องอิเหนา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ