- คำนำ
- นิทานเรื่องไชยเชฐ เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไชยเชฐ
- นิทานเรื่องสังข์ทอง เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ทอง
- นิทานเรื่องไกรทอง เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไกรทอง
- กลอนตำนานเรื่องพระราชนิพนธ์ไกรทอง
- นิทานเรื่องมณีพิไชย เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องมณีพิไชย ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิไชยไปเปนทาษ
- นิทานเรื่องมณีพิไชย ตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- นิทานเรื่องคาวี (เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเรื่องเสือโค) เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องคาวี
- เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชยตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทึ่ทรงพระราชนิพนธ์บทลคร
ตอนที่ ๖ ท้าวยศวิมลตามพระสังข์
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวสหัสไนยไตรตรึงษา |
ครั้นพระสังข์ได้ดีก็ปรีดา | สมความปราถนานึกไว้ |
ยังแต่นฤมลชนนี | ชื่อจันท์เทวีศรีใส |
ท้าวยศวิมลนั้นไซ้ | ขับไล่เสียจากธานี |
นางอาไศรยอยู่ด้วยยายกับตา | แสนทุกข์ทรมาเหมือนทาษี |
เที่ยวเก็บผักหักฟืนในพงพี | มาขายเลี้ยงชีวีเปนนิรันตร์ |
จำกูจะให้ไอ้เถ้าผัว | ไปรับตัวโฉมฉายผายผัน |
จึงจะได้พบภักตร์ลูกรักนั้น | ในเขตรขัณฑ์สามลภารา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วแต่งองค์ทรงเครื่อง | รุ่งเรืองระยับจับเวหา |
ถือตระบองเหล็กใหญ่ไคลคลา | เหาะจากฟากฟ้าในราตรี |
ฯ ๒ คำ ฯ กลม
๏ ครั้นถึงปราสาทไชยไพชนต์ | ท้าวยศวิมลเรืองศรี |
เห็นหลับเงียบเยียบเย็นทั้งธานี | ไม่มีใครฟื้นตื่นสักคน |
จึงเลื่อนลอยอยู่บนบัญชรไชย | ร้องเรียกเข้าไปหลายหน |
เหวยเหวยท้าวยศวิมล | นอนกรนอยู่ได้ไม่ขานรับ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลมัวหลับ |
ได้ยินเรียกเข้าไปตกใจวับ | ไม่รู้ศัพท์สำเนียงว่าเสียงใคร |
ค่อยย่องลงจากแท่นแล้วถอยหลัง | ยืนฟังนึกพรั่นหวั่นไหว |
เปิดแกลแลเห็นสหัสไนย | ถือตระบองเหล็กใหญ่เท่าลำตาล |
ความกลัวตัวสั่นงันงก | ลูบอกตกประหม่าไม่ว่าขาน |
ปิดหน้าต่างทันทีตลีตะลาน | ซมซานเข้าซ่อนนอนคุดคู้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสไนยเสแสร้งแกล้งขู่ |
จึงร้องบอกออกนามให้รู้ | เราอยู่ฟากฟ้าสุราไลย |
ชื่อว่าสมเด็จมัฆวาน | จะมาผลาญชีวิตรให้ม้วยไหม้ |
เห็นว่าพ้นมือแล้วฤๅไร | จึงไม่ออกมาหากัน |
อย่าพักซ่อนซบหลบหน้า | วันนี้ชีวาจะอาสัญ |
ว่าพลางทางถีบบัญชรพลัน | ลิ่มสลักหักลั่นด้วยกำลัง |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เข้าไปในที่ไสยา | เห็นหลับตานิ่งนอนผินหลัง |
ขึ้นกระทืบบนเตียงเสียงตึงตัง | น้อยฤๅยังนิ่งได้ช่างไม่อาย |
แกล้งทำหลับหลอกข้าน่าแค้น | เข้าจับแขนฉุดชักผลักคว่ำหงาย |
ไม่ตื่นก็ตามทีตีให้ตาย | ทำวุ่นวายขู่รู่ดูทำนอง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลยิ่งหม่นหมอง |
เห็นพระอินทร์ตั้งท่าง่าตระบอง | เอามือป้องร้องว่าช้าพ่อคุณ |
เมื่อข้าอยู่ดีดีไม่มีโทษ | ท่านมาโกรธโกรธาว้าวุ่น |
จงโปรดบอกข้าเจ้าเอาบุญ | ซึ่งเคืองขุ่นคั่งแค้นด้วยข้อใด |
ฤๅจะเอาสมบัติพัศฐาน | ยศศักดิ์ศฤงฆารเปนไฉน |
เชิญช่วยชี้แจงให้แจ้งใจ | จะมอบให้ทุกสิ่งสารพัด |
ตัวข้าก็จะลาออกบวชเสีย | ขอแต่เมียสักคนปรนนิบัติ |
จะจำศีลภาวนาอยู่หาวัด | รั้ววังจังหวัดไม่วี่แวว |
ข้าเปนคนแก่เถ้าเฉาโฉด | ขอโทษเถิดทูลกระหม่อมแก้ว |
ยกมือไหว้ท่วมหัวลูกกลัวแล้ว | แม้นมิโปรดก็แววไม่เปนตัว |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสไนยได้ยินก็ยิ้มหัว |
ฟังท้าวเธอมอบครอบครัว | เห็นเต็มกลัวตั้งกระทู้ขู่สำทับ |
น่าชังนักหนาพระยาเคอะ | พูดเลอะหลงใหลไม่ได้ศัพท์ |
มันน่าตีจริงหนอให้คอพับ | ยังจะกลับงอนง้อขอชีวิตร |
มีแต่โง่เง่าเมามัว | ไม่รู้ฤๅที่ตัวกระทำผิด |
เชื่อแต่เมียน้อยไปเปนนิจ | จะทำไมไม่พิจารณา |
นางจันท์นั้นผิดสิ่งไร | จึงขับหนีตีไล่ออกอยู่ป่า |
มิหนำซ้ำจับพระสังข์มา | ถ่วงลงคงคาไม่ปรานี |
ทำยุ่งหยาบบาปกรรมไม่คิดเห็น | เสียแรงเปนถึงท้าวเจ้ากรุงศรี |
เชื่อคนฤษยาทั้งตาปี | วันนี้ชีวันจะบรรไลย |
แม้นรักตัวกลัวตายอย่านิ่งเสีย | ไปตามลูกตามเมียมาให้ได้ |
แล้วเงือดเงื้อตระบองจ้องไว้ | ทำฮึดฮัดขัดใจจะตีรัน |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลไม่มีขวัญ |
ทำตาปลกปลกงกงัน | ปากสั่นเสียงสั่นขอโทษตัว |
ซึ่งงวยงงหลงเชื่อผู้หญิง | ไม่ทันคิดผิดจริงแล้วทูลหัว |
เหมือนหนึ่งคนโฉดเฉาเมามัว | ความชั่วเปนพ้นคณนา |
อันนางจันท์นั้นข้าให้ขับหนี | ก็สูญไปหลายปีนักหนา |
หอยสังข์ถ่วงลงในคงคา | ป่านนี้ปลามันกินสิ้นชีวิตร |
จะไปตามที่ไหนมาได้เล่า | อันโทษาข้าเจ้าไม่พ้นผิด |
มิเมตตาฆ่าตีคงม้วยมิด | ขอพระองค์ทรงฤทธิ์จงโปรดปราน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สหัสไนยได้ฟังจึงว่าขาน |
อันลูกน้อยหอยสังข์กุมาร | บุญญาธิการเขาล้นพ้น |
ถึงจะทำอย่างไรก็ไม่ตาย | บรรยายเล่าความมาแต่ต้น |
บัดนี้ได้ลูกสาวท้าวสามล | ครอบครองไพร่พลมนตรี |
แต่ส่วนนางจันท์กัลยา | ทนทุกข์ทรมาหมองศรี |
ยายกับตาเลี้ยงไว้ในพงพี | เทวียากเย็นเข็ญใจ |
นางอยู่ยังปลายด่านบ้านนอก | นี่เราเอนดูดอกจึงบอกให้ |
ท้าวจงรีบร้อนอย่านอนใจ | ตามไปรับลูกกับเมียมา |
ให้ได้สำเร็จในเจ็ดวัน | มิให้ผ่อนผันผัดผา |
แม้นนานเนิ่นเกินวันสัญญา | จะลงมาตีทุบให้ยุบยับ |
เปนกะไรได้ยินอยู่แล้วฤๅ | มากอดมือนั่งโยกโงกหงับ |
พระแกล้งขู่ซ้ำสำทับ | แล้วแผลงฤทธิเหาะกลับไปฉับไว |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
โอ้ปี่
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลหม่นไหม้ |
ประจักษ์แจ้งแห่งคำสหัสไนย | พระเร่าร้อนฤทัยดังไฟเลีย |
รำลึกถึงลูกน้อยหอยสังข์ | พ่อผิดพลั้งสั่งให้ไปถ่วงเสีย |
แล้วหวนคิดรำพึงถึงเมีย | ยิ่งละห้อยละเหี่ยเสียน้ำใจ |
แต่พลัดพรากจากไปหลายปี | ปานนี้จะทุกข์ตรอมผอมไผ่ |
แล้วมิหนำซ้ำลูกก็จากไป | จะอยู่เดียวเปลี่ยวใจทุกคืนวัน |
พระยิ่งคิดละห้อยสร้อยเศร้า | กอดเข่านั่งโงกโศกศัลย์ |
พระเนตรนองชลนาจาบัลย์ | สอื้นอั้นอยู่ในที่ไสยา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นรุ่งรางสร่างแสงทินกร | ท้าวยิ่งทุกข์ร้อนเปนนักหนา |
ไม่แต่งองค์สรงเสวยโภชนา | ออกมาพระโรงคัลทันที |
พร้อมหมู่เสนาข้าเฝ้า | จึงตรัสเรียกให้เข้ามาถึงนี่ |
แล้วแถลงแจ้งความตามคดี | คืนนี้หลับใหลอยู่ในมุ้ง |
พระอินทร์บนสวรรค์ท่านลงมา | กูคะเนเพลาราวค่อนรุ่ง |
ถือตระบองเหล็กใหญ่เท่าไม้ซุง | หมายมุ่งจะทุบให้ยุบยับ |
ความกลัวตัวสั่นขวัญแขวน | จักกะแหล่นลมล่อยจะพลอยจับ |
เธอยิ่งขู่ซ้ำสำทับ | ให้ไปรับหอยสังข์นางจันท์มา |
เร่งเร็วรีบรัดจัดรี้พล | จะพากันดั้นด้นค้นหา |
ช้านักไม่ได้นะเสนา | จะไคลคลาให้ทันวันพรุ่งนี้ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกษี |
ก้มเกล้ากราบงามสามที | ออกไปจากที่พระโรงธาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงสั่งให้เวรเกณฑ์ผู้คน | เปนการเร็วรีบร้นอลหม่าน |
หมายบอกบรรดาข้าราชการ | พลเรือนทหารให้พร้อมกัน |
เอาบาญชีนายไพร่ไตรตรวจ | กำชับทุกหมวดกวดขัน |
เข้ากระบวนโดยเสด็จเจ็ดพัน | ที่เหลือนั้นเกณฑ์ไว้ให้เฝ้าเมือง |
เตรียมช้างที่นั่งหลังคาทอง | ช้างพังที่นั่งรองช้างเครื่อง |
พร้อมพรั่งตั้งกองนองเนือง | คอยท่าท้าวเจ้าเมืองจะคลาไคล |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลหม่นไหม้ |
จึงเสด็จเยื้องย่างเข้าข้างใน | แล้วตรัสสั่งสาวใช้ทันที |
กูจะออกไปรับนางจันท์มา | คืนเข้าภารากรุงศรี |
แต่บรรดาข้าคนของเทวี | วันนี้ให้ตามกูออกไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางจันทานารีศรีใส |
ครั้นได้รู้ข่าวว่าท้าวไท | จะคลาไคลไปรับนางจันท์มา |
อกใจทึกทึกนึกกลัว | ด้วยตัวทำผิดฤษยา |
แม้นนิ่งให้ไปรับกลับมา | เห็นว่าจะไม่พ้นโทษทัณฑ์ |
จำกูจะคิดปิดความ | ห้ามปรามเปรียบเปรยเย้ยหยัน |
ให้ท้าวเธออดสูหมู่กำนัล | อย่าให้ไปรับมันเข้ามา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดพลางย่างเยื้องจรลี | มาอาบน้ำขัดสีมังสา |
กระแจะแป้งแต่งกายละลายทา | ผัดหน้านวลลอองยองใย |
นุ่งผ้ายกแย่งเทพนม | แล้วห่มริ้วทองผ่องใส |
ครั้นเสร็จลีลาคลาไคล | ข้าไทแวดล้อมมาพร้อมพรัก |
ฯ ๔ คำ ฯ
เย้ย
๏ ครั้นถึงจึงแกล้งทำกระแอม | ยิ้มแย้มเยาะองค์พระทรงศักดิ์ |
เอออะไรอึกกะทึกคึกคัก | ไม่รู้จักเหตุผลต้นปลายเลย |
จะยกรี้กรีพลไปไหนหนอ | น่าหัวร่อนักหนาเจ้าข้าเอ๋ย |
ทุกข์ร้อนถึงใครไม่เสบย | หัดเชยกุ๋ยกุ๋ยฮุ่ยหุยเจียว |
ดูเหมือนบ้าหลังนั่งมัวมึน | จนฟ่าขึ้นจับหน้าขอบตาเขียว |
เซอะซมงมงายไปฝ่ายเดียว | ช่างไม่เหลียวหลังนึกตรึกตรา |
เปนกระษัตริย์ตรัสแล้วไม่แม่นยำ | กลับถ้อยคืนคำทำขายหน้า |
เหมือนไม้หลักปักเลนเอนไปมา | ยิ่งกว่าลูกเล็กเด็กอมมือ |
น้ำลายคายถ่มลงถึงดิน | จะกลับคืนกลืนกินไม่เกลียดฤๅ |
ไพร่บ้านพลเมืองจะเลื่องฦๅ | ออกชื่อท้าวเธอเออน่าชัง |
นางจันท์ว่าชั่วตัวอุบาทว์ | ออกลูกประหลาดเปนหอยสังข์ |
ขับไล่ไสหัวจากรั้ววัง | ไม่อินังขังข้อแล้วหนอเรา |
เดี๋ยวนี้คิดติดใจอย่างไรฤๅ | จึงรื้อจะไปรับกลับมาเล่า |
ช่างไม่อดสูเลยดูเอา | นางเย้ยเย้าหัวเราะเยาะไยไพ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลมันไส้ |
ลุกขึ้นกระทืบบาทตวาดไป | กนการอะไรทำไมกู |
กลับมาเย้ยเยาะหัวเราะข้า | ลอยหน้าค้าคารมข่มขู่ |
จองหองพองขนเปนพ้นรู้ | ว่ากูชั่วช้าสารพัน |
ระวังตัวเหมือนวัวสันหลังขาด | เห็นแต่กาบินผาดก็หวาดหวั่น |
ท่วงทีทำนองจะป้องกัน | เชิงชั้นของเจ้าข้าเข้าใจ |
เดิมทีคิดว่าเปนหน้าซื่อ | เชื่อถือลุ่มหลงไม่สงไสย |
จนลูกเมียกูพรากจากเวียงไชย | เพราะมึงฤๅไม่ได้ทุกข์ร้อน |
คืนนี้ตรีเนตรท่านกริ้วกราด | จะตีให้ตัวขาดเปนสองท่อน |
นี่หากกูอ้อยอิ่งวิงวอน | ผันผ่อนผัดไว้จึงไม่ตาย |
เพี้ยงเอ๋ยผีสางเทวดา | ให้ได้ลูกเมียมาเหมือนใจหมาย |
แล้วจะจับตัวต้นอีคนร้าย | ฆ่าเสียให้ตายวายชีวิตร |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ น่าเอยน่าหัวร่อ | เอออะไรใจคอช่างหงุดหงิด |
กริ้วโกรธโลดเต้นพึ่งเห็นฤทธิ์ | มาหยิบผิดว่าข้าอิจฉาเมีย |
เดิมว่านางจันท์เปนกาลี | เลี้ยงไว้ไม่ดีจึงขับเสีย |
นี่ชรอยถูกกระทำยำเยีย | คิดถึงเมียขึ้นมาแล้วพาโล |
อ้างเอาสวรรค์ชั้นอินทร์พรหม | ใครเห็นสมด้วยมั่งชั่งปดโป้ |
เกิดมาพึ่งได้ยินพระอินทร์โป | ข้าไม่โง่เง่าดอกอย่าหลอกกัน |
น้อยฤๅนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ | ร้อนไปถึงจนบนสวรรค์ |
ควรแล้วที่พระองค์ทรงธรรม์ | จะไปรับเมียขวัญนางจันท์มา |
เออก็ถ่วงลูกชายสูญหายไป | มิต้องให้ประดาน้ำลงดำหา |
ปานนี้เลือดเนื้อเปนเหยื่อปลา | ไปงมเอากระดูกมาก็เปนไร |
ไม่รู้ว่าลูกดีมีบุญเลย | อกเอ๋ยมาเปนเช่นนี้ได้ |
มันน่าโจนลงน้ำซ้ำตายไป | ให้สมที่รักใคร่พระโอรส |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ แค้นเอยแค้นใจ | กลับจะให้กูนี้เปนขี้ปด |
แสนกระแหน่แก้เกี้ยวเลี้ยวลด | จริงแล้วคะข้าคดชดลิ้นคาง |
ปากกล้าด่าทอไม่ท้อถอย | ออกคอยสกัดรีสกัดขวาง |
น่าชังจังฑาลทำรานทาง | ร้อยสีร้อยอย่างช่างไม่อาย |
ถึงลูกกูถ่วงลงในคงคา | จะมอดม้วยมรณานั้นอย่าหมาย |
พระอินทร์บอกเหตุผลต้นปลาย | ว่ามึงนี้แสนร้ายดังงูพิศม์ |
อย่าพักเถียงเทลาะเยาะเย้ยข้า | คงจะได้ดูหน้าอีคนผิด |
แม้นได้ลูกเมียสมอารมณ์คิด | กูจะติดไม้ถามสักสามยก |
พรุ่งนี้จะไปรับนางจันท์มา | กลับคืนไม่ช้าอย่าวิตก |
พระโกรธเกรี้ยวเคี้ยวฟันงันงก | เคืองขุ่นมุ่นหมกจะชกตี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ชะเอยชะต้า | โมโหโกรธาไม่พอที่ |
เอออะไรมาเปนเช่นนี้ | ช่วยว่าให้ดีก็มิเอา |
มุทะลุดุดันขันเหลือ | ปรานีตีเอาเรือเสียอิกเล่า |
รักแต่ที่ชั่วมัวเมา | จริงอยู่คะข้าเจ้าเปนคนโกง |
สารพัดไม่ดีมีแต่ชั่ว | เดี๋ยวนี้ก็เห็นตัวอยู่โต้งโต้ง |
เอาพระอินทร์พระอ้อยมาพลอยโกง | ปากโป้งไปกระนั้นกันนินทา |
เจ้าข้าเอ๋ยไม่เคยจะพบเห็น | พูดเล่นตามสบายไม่อายหน้า |
ยกเมียขึ้นไม่น้อยออกลอยฟ้า | ทีนี้นะชะต้าจะเลื่องฦๅ |
มิไปรับไปพากันมาไย | ข้าหน่วงเหนี่ยวไว้เมื่อไรฤๅ |
อย่าพักหมายมั่นปั้นมือ | โกรธขึ้งอึงอื้อจะทำไม |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ อีเอยอีคนคด | ช่างประชดประชันน่ามันไส้ |
เยาะเย้ยยิ้มหัวไม่กลัวใคร | เอออะไรใส่ถ้อยร้อยความ |
ว่ากูแอบอ้างเอาพระอินทร์ | ประมาทหมิ่นจ้วงจาบหยาบหยาม |
ปากคอน้อยฤๅนั่นไม่ครั่นคร้าม | ลวนลามนักหนาอีหน้าเปน |
ดูดู๋ยิ่งว่าด่าทอ | ยังขืนเข้ามาฬ่อล้อเล่น |
เทลาะผัวตัดภ้อคอเปนเอ็น | ขู่เข็นเท่าไรก็ไม่ฟัง |
จะกำราบปราบเสียสักหน่อยหนึ่ง | ให้มึงรู้สึกสำนึกมั่ง |
พระพิโรธโกรธขึ้งตึงตัง | เหน็บรั้งขัดเขมรเปนเกลียว |
ฯ ๘ คำ ฯ
ศัพท์ไทย
๏ อีเอยอีจันทา | กล้าดีแล้วอย่าทำตาเหมียว |
ฉวยได้ไม้เรียว | ไล่เลี้ยวพัลวัน |
ดูดู๋ด้านหน้า | กลับมาเย้ยหยัน |
โกรธเกรี้ยวเคี้ยวฟัน | ตีรันร่ำไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ ขันเอยขันจ้าน | งุ่นง่านพาลโกรธโลดไล่ |
เขาว่าถูกใจ | จับไม้ไล่ตี |
ตบหัดถ์ผัดพ่อ | เลี้ยวฬ่อหลีกหนี |
เยาะเย้ยภูมี | ทำทีแยบคาย |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ ดูเอยดูเอา | ขืนเฝ้าเย้ายั่วไม่กลัวหวาย |
ตีเสียให้ตาย | แสนร้ายรังแก |
หวดด้วยไม้เรียว | ช้ำเขียวหลายแผล |
คนขยันนั่นแน่ | วิ่งแร่ไปไย |
ฯ ๔ คำ ฯ
รื้อ
๏ ภูเอยภูมี | มาทำโพยโบยตีไม่ปราไส |
แต่ก่อนร่อนชะไร | ท้าวไม่มุทลุ |
เดี๋ยวนี้นี่หนอ | ใจคอร้ายดุ |
ยิ่งกว่าบ้ายุ | ดูรุน่าชัง |
แกล้งเย้ยยิ้มหัว | เยาะยั่วให้คลั่ง |
เลี้ยวฬ่อรอรั้ง | เหลียวหลังแล่นไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
รื้อ
๏ อีเอยอีชาติชั่ว | ขึ้นเสียงเถียงผัวหากลัวไม่ |
เลี้ยงมันไว้ไย | จรรใรใจคด |
ล้อเล่นเช่นนี้ | เหลือที่จะอด |
ตัวดีมีพยศ | ไม่ลดละมึง |
ทั้งตีทั้งด่า | ปากว่ามือถึง |
ถูกถองสองตึง | ร้องอึงอื้อไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางจันทาเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
เจ็บปวดยับย่อยด้วยรอยไม้ | น้ำตาไหลเปนคราบอาบแก้มคาง |
ความกลัวตัวสั่นงันงก | พลัดตกอัฒจันท์ถึงชั้นล่าง |
ลุกขึ้นเดินด่วนครวญคราง | กลับมาตำหนักนางทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลบ่นเมื่อยไหล่ |
หยุดนั่งเหนื่อยบอบหอบหายใจ | ร้องเรียกไปใครนี่อีกำนัล |
กูอยากน้ำอยากท่านักหนานัก | เร็วเร็วไปตักมาสักขัน |
กินน้ำสำลักกลืนไม่ทัน | มือสั่นงันงกหกเพรื่อไป |
แล้วคิดถึงคำอำมรินทรา | จะหน่วงหนักชักช้าเห็นไม่ได้ |
ชวนเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน | เสด็จไปยังที่เกยลา |
เห็นเสนีรี้พลคับคั่ง | พร้อมพรั่งไพร่นายซ้ายขวา |
ขึ้นทรงช้างที่นั่งหลังคา | รีบเร่งโยธาคลาไคล |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ออกจากภาราเข้าป่ากว้าง | เห็นบ้านเรือนรายทางให้ถามไถ่ |
ไม่ได้ข่าวราวเรื่องก็รีบไป | จนเกือบใกล้ที่อยู่ยายกับตา |
โยธาล้าเลื่อยเหนื่อยอ่อน | จึงหยุดหย่อนผ่อนพักที่กลางป่า |
แล้วดำรัสตรัสสั่งเสนา | ให้ตั้งพลับพลาทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
มาเกณฑ์กันเร่งรัดตัดไม้ | ปลูกพลับพลาไชยฉับพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลโศกศัลย์ |
เสด็จขึ้นพลับพลาพนาวัน | รำลึกถึงเมียขวัญจันท์เทวี |
จึงตรัสสั่งบรรดาเสนาใน | จงคุมไพร่ไปค้นหาโฉมศรี |
แม้นประสบพบปะนางเทวี | กลับมาแจ้งคดีจะตามไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
รับสั่งบังคมภูวไนย | ออกมาเรียกบ่าวไพร่ทุกหมวดกอง |
แยกย้ายรายกันเที่ยวสืบสาว | ฟังข่าวเยาวมาลย์ทุกบ้านช่อง |
เห็นคนมีที่ไหนไปด้อมมอง | เที่ยวท่องทุกแห่งแพร่งพราย |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีโฉมฉาย |
อาไศรยเคหาตากับยาย | ยากเย็นเปนหม้ายมาหลายปี |
เช้าค่ำคำนึงถึงลูกน้อย | ให้เปลี่ยวเปล่าเศร้าสร้อยหมองศรี |
กินแต่น้ำตาทุกราตรี | เทวีซูบผอมตรอมใจ |
อุส่าห์เก็บผักหักฟืนขาย | จะเว้นวายเวลาก็หาไม่ |
แสนลำบากยากเข็ญเปนพ้นไป | มิได้มีศุขแต่สักวัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเพลาสายัณห์ตวันบ่าย | จึงชวนตากับยายผายผัน |
ลงจากกระท่อมทับฉับพลัน | ช่วยกันตักน้ำตำเข้าปลา |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | เสนีที่ไปเที่ยวหา |
ได้ยินสำเนียงเสียงพูดจา | ย่องเหย่าเข้ามามองดู |
เห็นยายตาพากันไปตักน้ำ | แต่นางจันท์นั้นตำเข้าอยู่ |
บ้างบอกเพื่อนว่าเหมือนโฉมตรู | ต่างพินิจพิศดูเปนครู่พัก |
พวกขอเฝ้าคนหนึ่งจึงว่า | พระแม่จันท์กัลยาข้ารู้จัก |
ดูดู๋ผิดรูปซูบผอมนัก | สิ้นยศสิ้นศักดิ์สังเวชใจ |
ต่างคนต่างจำสำคัญ | รู้จักสิ้นด้วยกันไม่สงไสย |
จึงปฤกษาว่าเราจะเข้าไป | ถามทักซักไซ้ก็ไม่ดี |
จะไปทูลแถลงแจ้งกิจจา | เชิญเสด็จมาหานางโฉมศรี |
แล้วแบ่งปันกันอยู่ดูเทวี | เสนีตัวนายก็กลับมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงทูลเฉลยไข | ตามที่เที่ยวไปสืบหา |
ได้ประสบพบนางกัลยา | อยู่ด้วยยายกับตาคนพิการ |
รูปโฉมโนมพรรณก็ซูบเศร้า | ตักน้ำตำเข้าอยู่กลางบ้าน |
ยากจนทนทุกข์ทรมาน | น่าสงสารสมเพชเวทนา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลก็หรรษา |
จึงว่าสมคเนแล้วเสนา | เร็วเร็วอย่าช้าพากูไป |
แล้วเรียกเหล่ากำนัลขันที | ที่เทวีเคยชอบอัชฌาไศรย |
ลงจากพลับพลาคลาไคล | เสนาในนำหน้าจรลี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงไร่ใกล้เรือนยายตา | สงัดเงียบนักหนาน่ากลัวผี |
เสนาพาเสด็จพระภูมี | ไปแอบที่สุมทุมพุ่มไม้ |
ท้าวค่อยแหวกช่องมองเขม้น | แลเห็นเมียรักก็จำได้ |
นิจาเอ๋ยยากเย็นเข็ญใจ | เขาใช้ตรากตรำตำเข้าปลา |
ผอมซูบรูปทรงก็แก่เถ้า | ผมเผ้ารุงรังเหมือนดังบ้า |
ยิ่งคิดสมเพชเวทนา | พระฟูมฟายน้ำตาจาบัลย์ |
แล้วกลืนกลั้นกรรแสงแขงใจ | ออกจากพุ่มไม้ขมีขมัน |
บรรดาเสนานางกำนัล | พร้อมกันตามเสด็จจรลี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีโฉมศรี |
ผันแปรแลเห็นพระสามี | เทวีหวาดหวั่นวิญญา |
อกใจทึกทึกนึกกลัว | ฤๅจะมาจับตัวไปเข่นฆ่า |
ทิ้งสากเสียพลันมิทันช้า | วิ่งขึ้นเคหาทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฝ่ายสองเถ้าชราตายาย | เห็นคนมามากมายไม่อยู่ได้ |
ตัวสั่นงันงกตกใจ | วิ่งขึ้นกระไดไม่เหลียวแล |
เข้าถึงห้องในยังไม่หยุด | ยายพาตามุดเข้าใต้แคร่ |
กลัวจะดังเกรียบกรอบหมอบกระแต | ไม่ไหวติงนิ่งแน่ภาวนา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลนาถา |
เห็นนางหนีขึ้นเรือนไม่พูดจา | พระตามไปค้นคว้าหานวลน้อง |
ดูฟากตงคร่ำคร่านักหนานัก | พรั่นตัวกลัวจะหักค่อยย่างย่อง |
ครัวฟืนครัวไฟเที่ยวไล่มอง | แล้วเข้าไปในห้องเห็นเทวี |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชาตรี
๏ นั่งลงเคียงนางพลางพูดจา | ไฉนนั่นกัลยาจึงวิ่งหนี |
จะรับเจ้าเข้าสู่พระบูรี | เศกเปนมเหษีไว้ตามเดิม |
ซึ่งโทษพี่ผิดพลั้งแต่หลังนั้น | เพราะคนมันยุยงส่งเสิม |
อีจันทาเจ้ากรรมแกล้งซ้ำเติม | จึงงวยงงหลงเคลิ้มไม่ทันคิด |
เดี๋ยวนี้รู้สึกตัวว่าชั่วช้า | จะออกมาลุกะโทษที่ทำผิด |
สืบไปจนตายวายชีวิตร | มิได้คิดหลงใหลใจเบา |
เปนด้วยเคราะห์กรรมทำไว้ | จึงจำให้วิโยคโศกเศร้า |
จงปรานีดีกันเสียเถิดเรา | จะขึ้งโกรธไยเล่าไม่เข้าการ |
นิจาเอ๋ยแต่พรากจากมา | ดูมอมแมมนักหนาน่าสงสาร |
ว่าพลางกอดองค์นงคราญ | ภูบาลซบลงทรงโศกา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เมินเสียไม่ดูหน้า |
ให้คิดแค้นคั่งแต่หลังมา | กัลยาจึงตอบไปทันที |
ข้าคนชั่วชาติอุบาทว์เมือง | พระแค้นเคืองขับเสียจากกรุงศรี |
ลูกเต้าเกิดมาก็กาลี | ภูมีจับถ่วงเสียทั้งเปน |
ความนี้ระบือฦๅเลื่อง | ไพร่บ้านพลเมืองก็รู้เห็น |
อย่าพูดให้เหนื่อยปากยากเย็น | รู้เช่นเห็นลิ้นเสียสิ้นแล้ว |
จะมารับกลับคืนเข้าภารา | จะพาหน้ามัวหมองไม่ผ่องแผ้ว |
ยศศักดิ์ไม่ประเสริฐเพริศแพร้ว | ไม่เหมือนเมียแก้วนางจันทา |
ปากคอเขาทายาดขาดเหลือ | สารพัดพระจะเชื่อเมียว่า |
ข้าเปนคนอาภัพอับปัญญา | จะสู้ตายอยู่ป่าไม่ขอไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ น้องเอยน้องแก้ว | แต่ก่อนพี่ผิดแล้วหาเถียงไม่ |
เดี๋ยวนี้รู้เท็จจริงไม่กริ่งใจ | ที่ในความชั่วอีจันทา |
เมื่อคืนนี้นะน้องสักสองยาม | พระอินทร์มาบอกความให้ตามหา |
ว่าลูกน้อยหอยสังข์ปรีดา | เจ้าอย่าปรารมภ์ว่าล้มตาย |
กลับไปได้ลูกสาวท้าวสามล | พลรี้อึกกะทึกฮึกใจหาย |
อย่ามึนตึงขึ้งโกรธเลยท่านยาย | จะตัดเปนตัดตายกันทำไม |
พี่ก็สู้อุส่าห์มาหาเจ้า | หวังจะเล่าให้สิ้นสงไสย |
บัดนี้จะพากันคลาไคล | ตามไปรับองค์พระโอรส |
แม้นได้ลูกเรามาถึงธานี | จะฆ่าอีคนร้ายให้ตายหมด |
อย่าเศร้าสร้อยโศกศัลย์รันทด | พี่ไม่ปดไม่ลวงเจ้าดวงใจ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีศรีใส |
ได้ยินข่าวลูกยาก็อาไลย | ว่ายังไม่ม้วยมอดวอดวาย |
นางเปรมปรีดิ์ดีใจเปนหนักหนา | ที่เคืองขัดภัศดาก็เหือดหาย |
จึงเคารพนบนอบยอบกาย | กราบถวายบังคมพระสามี |
แล้วนางซักไซ้ไต่ถาม | จริงฤๅได้ความเพราะโกสีย์ |
แม้นลูกน้อยหอยสังข์ยังอยู่ดี | ข้านี้จะตามเสด็จไป |
แต่ขอบคุณยายตาทั้งสองคน | เมื่อยากจนได้มาอาไศรย |
บัดนี้ที่จะพาคลาไคล | จงโปรดให้แทนคุณยายกับตา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลก็หรรษา |
จึงตรัสตอบปลอบนางกัลยา | อันยายตานั้นพี่จะถึงใจ |
เจ้าจงจัดแจงแต่งกาย | ผันผายไปพลับพลาอาไศรย |
ว่าพลางทางเรียกกำนัลใน | เอาเครื่องทรงมาให้กัลยา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝูงนางกำนัลก็หรรษา |
ต่างเชิญเครื่องต้นสุคนธา | เข้ามาถวายนางโฉมยง |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์ชื่นชมสมประสงค์ |
จึงเข้ายังห้องในดังใจจง | สระสรงทรงเครื่องสุคนธา |
สาวใช้หมอบกรานอยู่งานพัด | นางโฉมยงทรงผลัดภูษา |
แต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดา | แล้วกลับมาเฝ้าองค์ภูวไนย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสามียิ้มย่องผ่องใส |
จึงตรัสถามเมียขวัญทันใด | เออยายตาไปไหนไม่เห็นตัว |
เมื่อตะกี้พี่เข้ามาในบ้าน | แกขึ้นเรือนลนลานทั้งเมียผัว |
ว่าพลางทางมองที่ในครัว | ค้นคว้าหาทั่วเที่ยวดูแล |
เข้าในห้องมองไปมองมา | เห็นยายกับตาอยู่ใต้แคร่ |
พระบอกมเหษีว่านี่แน | ตาแกเข้าไปอยู่ในนั้น |
แล้วตรัสเรียกยายตาออกมานี่ | ไม่พอที่เกรงกลัวจนตัวสั่น |
เงินทองของเราจะรางวัล | พากันออกมาเถิดอย่ากลัว |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตายายถอยถดหดหัว |
ต่างคนต่างไม่ไว้ใจตัว | เมียผัวขยั้นพรั่นเต็มที |
ทำลับลับฬ่อฬ่อรอรั้ง | เหลียวหลังลนลานคลานหนี |
แล้วแขงขืนอารมณ์สมประดี | ออกมาเฝ้าภูมีมิทันนาน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลจึงว่าขาน |
ซึ่งยายตาเลี้ยงเจ้าเยาวมาลย์ | ความชอบของท่านนั้นมากมาย |
จะแทนคุณสองเถ้าคราวนี้ | ให้ผัวเมียมั่งมีใจหาย |
จงตามไปพลับพลาเถิดตายาย | เราไม่ทำอันตรายอย่าตกใจ |
ว่าพลางทางพามเหษี | ลงจากที่เคหาเคยอาไศรย |
พร้อมหมู่มาตยาเสนาใน | กลับไปที่ประทับฉับพลัน |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนพลับพลา | พระตรัสสั่งเสนาขมีขมัน |
จงจัดแจงเสื้อผ้าแพรพรรณ | ทั้งเชี่ยนขันเงินตราข้าไท |
เอามาให้เถ้าชราตายาย | แล้วตั้งให้เปนนายบ้านใหญ่ |
แต่บรรดาพวกเหล่าชาวไพร | ประกาศให้ร้องเรียกคุณยายตา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | สองเถ้ารับรางวัลหรรษา |
ชื่นชมสมจิตรจินดา | ถวายบังคมลาทั้งตายาย |
เรียกบรรดาข้าคนให้ขนของ | เงินทองผ้าเสื้อเหลือหลาย |
ผัวเมียกระหยิ่มพริ้มพราย | ใครทักทายทำเมินเดินยิ้มไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเปนใหญ่ |
จึงสั่งมหาเสนาใน | เร่งให้ตรวจเตรียมรี้พล |
จงหาผู้รู้ทางสันทัด | เดินตัดลัดป่าพนาสณฑ์ |
เราจะไปภาราสามล | ยกพลให้ทันวันนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกษี |
ออกมาจัดกันทันที | ตามมีพระราชบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลก็หรรษา |
จึงเข้าที่สระสรงคงคา | ตกแต่งกายาอ่าองค์ |
แล้วชวนอรรคชายาคลาไคล | ตรงไปขึ้นเกยสูงส่ง |
พร้อมกระบวนถ้วนหมู่จัตุรงค์ | เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคาทอง |
องค์พระมเหษีขี่รถ | ชักม่านก้านขดปิดป้อง |
เสียงแซ่แตรสังข์ฆ้องกลอง | ให้เดินกองทัพน่าคลาไคล |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แรมร้อนนอนป่ามาช้านาน | จนใกล้ด่านสามลกรุงใหญ่ |
จึงหยุดพักพหลพลไกร | ซุ่มซ่อนอยู่ในพนาวา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีตัวนายซ้ายขวา |
เร่งรัดตัดไม้เกี่ยวคา | ปลูกพลับพลาที่ประทับฉับไว |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเปนใหญ่ |
เสด็จยังพลับพลาพนาไลย | ภูวไนยนิ่งนึกตรึกตรา |
แล้วตรัสเล้าโลมนางโฉมยง | ซึ่งจะไปตามองค์โอรสา |
พี่คิดขยั้นหวั่นวิญญา | เห็นหน้าแต่เจ้าจะเข้าไป |
ด้วยแม่ลูกชอบชิดสนิทกัน | ความโกรธโทษนั้นหามีไม่ |
อันตัวของพี่นี้ไซ้ | เกลือกจะกะไรก็ไม่รู้ |
จะเข้าไปในบ้านเมืองเขา | ถึงลูกเต้าของตัวก็กลัวอยู่ |
พี่เปนคนผิดเจ้าคิดดู | จะจู่ลู่วู่วามไม่ไว้ใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์ยิ้มเย้ยเฉลยไข |
ดูดู๋ท้าวเธอเอออะไร | ช่างพูดได้ไม่อายขายหน้าตา |
น้อยฤๅแกล้วกล้าประดาเสีย | ไสเมียออกตั้งเปนดั้งน่า |
คิดอ่านออกตัวกลัวลูกยา | ยิ่งกว่าเสือสางกลางพงพี |
โอรสเราได้ผ่านบ้านเมือง | รุ่งเรืองปรากฏยศศักดิ์ศรี |
พ่อแม่มาหาจะฆ่าตี | ก็ผิดที่ทำนองในคลองธรรม์ |
ซึ่งทรงฤทธิ์คิดเกรงลูกรัก | ไว้พนักงานข้าพระอย่าพรั่น |
มิให้ข้องเคืองที่เรื่องนั้น | มาไปด้วยกันเถิดพันปี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเรืองศรี |
ได้ฟังกัลยาพาที | ค่อยสบายคลายคลี่ดีใจ |
จึงตรัสว่าถ้าเจ้ารับประกัน | เอนดูบ้างอย่างนั้นก็ไปได้ |
แต่จะต้องแปลงปลอมเข้าไป | อย่าให้ใครพะวงสงกา |
แล้วเรียกเสนามากำชับ | เปนความลับล้ำฦกปฤกษา |
ตัวเรากับเจ้ากัลยา | จะปลอมแปลงกายาเข้าธานี |
เที่ยวสืบแสวงหวังดังประสงค์ | ให้พบองค์โอรสเรืองศรี |
ท่านจงซ่อนซุ่มคุมโยธี | อยู่ที่กลางป่าพนาไลย |
สั่งพลางทางเปลื้องเครื่องทรง | เอาซ่อนใส่ลงในย่ามใหญ่ |
นางถอดเครื่องประดับฉับไว | ซ่อนใส่ในกระทายมิทันช้า |
ภูมีคลี่ผ้าตาโถงนุ่ง | คาดพุงเขียวครามงามนักหนา |
โฉมยงทรงนุ่งตาเล็ดงา | ห่มผ้าขาวมุ้งรุงรัง |
พระหยิบย่ามละว้ามาตะพาย | นางกระเดียดกระทายตามหลัง |
ออกจากที่ประทับยับยั้ง | ไปยังภาราสามล |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นเข้าไปในกำแพงเมือง | หญิงชายเดินเนื่องตามถนน |
พระแกล้งทำเหมือนเหล่าชาวชน | ปลอมปนเบียดเสียดไปตามทาง |
เห็นถิ่นฐานบ้านช่องแน่นหนา | ริมแถวมรคาทั้งสองข้าง |
เย่าเรือนฝากระดานบ้านขุนนาง | รั้วทึบรั้วตรางเรียงราย |
ร้านตลาดสองแถวแนวถนน | เกลื่อนกล่นเข้าของกองขาย |
สินค้าหลายหลากมากมาย | ที่น่าถังนั่งรายเรียงไป |
บ้างขายเครื่องเงินเครื่องทอง | แพรดวงม่วงตองโหมดไหม |
ชมพลางทางทำตะลึงตะไล | ท่านยายเตือนให้ไคลคลา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | แม่ค้าขายของถ้วนหน้า |
ครั้นเห็นสองกระษัตริย์ก็สงกา | สกิดกันพูดจาว่าวุ่นวาย |
ลางคนว่าข้าดูท่วงที | ตาที่ตะพายย่ามงามใจหาย |
รูปพรรณสัณฐานพานจะคล้าย | กับลูกเขยเจ้านายของเรา |
บ้างว่าข้าเห็นยายก็ชอบกล | ชรอยคนมั่งมีผู้ดีเก่า |
ถึงทั้งแก่แลดูยังพริ้งเพรา | ไรจุกโตแทบเท่าสองนิ้ว |
ที่ปากเปราะเราะรายก็ร้องทัก | มาหยุดพักให้สบายหายหิว |
ดูซื้อแพรเลี่ยงโผโล่ริ้ว | ทั้งซุ่นติ๋วปักเถาของเรามี |
ลางคนร้องเรียกพลางทางวิ่งตาม | เข้าฉุดย่ามท่านตาว่ามานี่ |
ร้านข้าผ้าผ่อนล้วนดีดี | เลือกดูที่งามตามชอบใจ |
บ้างร้องหยอกหลอกลูกเล็กเล็ก | จะจับเด็กฤๅขาตาย่ามใหญ่ |
จงแวะเข้ามาอย่าเพ่อไป | นี่บ้านช่องอยู่ไหนจะใคร่รู้ |
บ้างว่าเชิญท่านตามากินหมาก | เคี้ยวไม่ได้ครกสากข้ามีอยู่ |
ต่างต่างมีจิตรคิดเอ็นดู | เรียกตาเรียกปู่ทุกคนไป |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกระษัตริย์ยิ้มย่องผ่องใส |
เห็นเขาเรียกหาพาใจ | เข้าร้านไหนก็หยุดยืนตลึง |
พระเสแสร้งแกล้งว่ากับท่านยาย | จะซื้อลายสุหรัดสักผืนหนึ่ง |
เข้าไปต่อเฝ้าพะเน้าพะนึง | ห้าสลึงมิได้ก็ไม่ซื้อ |
ท่านยายว่าน่าชังแก่จะตาย | จะนุ่งลายทำหนุ่มอยู่อิกฤๅ |
ว่าพลางเข้าฉุดยุดยื้อ | จูงมือออกมาจากน่าร้าน |
แล้วแกล้งพูดเชือนแชแก้หน้า | เราดูซื้อตุ๊กกะตาไปฝากหลาน |
เที่ยวต่ออะไรไม่ได้การ | มีแต่เขาผ่านแพงแพง |
ว่าพลางดำเนินเดินมา | แม่ค้าเรียกทักไปทุกแห่ง |
เข้าพูดจาปรารภประจบประแจง | ที่ร้านชำร้านแผงทุกแห่งไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นตลาดเลิกเวลาเย็น | พอแลเห็นศาลาอาไศรย |
พระชวนโฉมนางจันท์คลาไคล | เข้าไปหยุดยั้งยังศาลา |
จึงปฤกษาว่ากับมเหษี | วันนี้มืดค่ำหนักหนา |
พวกตระว่ำตระเวนเขาตรวจตรา | จะเดินผิดเวลาดูน่ากลัว |
สารพัดไต้ไฟก็ไม่มี | ไม่รู้ว่าคนดีคนชั่ว |
เราก็พานชราตามืดมัว | เกลือกกลัวว่าเขาจะจับกุม |
แล้วแก้ย่ามทันทีตีเหล็กไฟ | เก็บสเก็ดไม้ไหล้ก่อไฟสุม |
ไม่มีม่านมีมุ้งยุงชุม | มันกัดตัวเปนตุ่มเต็มไป |
ครั้นดึกดื่นเข้าก็หาวนอน | เอาผ้าผ่อนปูลงเอนหลังไหล่ |
พูดปรับทุกข์ปรับร้อนถอนใจ | มิได้หลับสนิทนิทรา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทองทรงโฉมเสนหา |
ราตรีเข้าที่ไสยา | ด้วยนวลนางรจนานงคราญ |
เมื่อมารดามาถึงพระนคร | ให้เดือดร้อนเคืองขุ่นงุ่นง่าน |
เมียรักชักชวนให้สำราญ | จะอยู่งานพัดวีก็มิฟัง |
เนื้อตัวไม่สบายระคายคัน | ผินผันให้นงเยาว์เกาหลัง |
แต่พลบค่ำย่ำฆ้องจนเคาะระฆัง | เวียนนั่งเวียนลุกขลุกขลุ่ยไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดจะใคร่ไปเลียบพระนคร | ให้สบายคลายร้อนที่หม่นไหม้ |
จึงตรัสสั่งรจนายาใจ | พรุ่งนี้พี่จะไปเลียบธานี |
บ่ายคล้อยหน่อยหนึ่งจะกลับมา | แก้วตาอย่าเศร้าหมองศรี |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงสว่างธาตรี | ก็เข้าที่โสรจสรงคงคา |
แต่งองค์ทรงสอดเครื่องประดับ | แสงแก้วแวววับจับเวหา |
เสร็จสั่งทรามไวยแล้วไคลคลา | ออกมาพระโรงคัลทันใด |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงนั่งเหนืออาศน์ | ตรัสสั่งอำมาตย์น้อยใหญ่ |
จงผูกช้างเตรียมพลสกลไกร | เราจะไปเที่ยวรอบขอบบุรี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกษี |
ออกมาจัดกันทันที | ตามมีพระราชบัญชาการ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทรงศักดากล้าหาญ |
เสด็จยังเกยลาน่าพระลาน | ขึ้นทรงคชสารชาญไชย |
ช้างทรงตรงออกทวารวัง | โยธาหน้าหลังไม่นับได้ |
เสียงฆ้องกลองชนะสนั่นไป | คลาไคลไปตามมรคา |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลนาถา |
อยู่กับมเหษีที่ศาลา | เห็นเขามาอื้ออึงคนึงไป |
ทั้งเกณฑ์แห่เกณฑ์แหนแน่นเนื่อง | ชรอยท้าวเจ้าเมืองจะไปไหน |
จึงตรัสชวนเมียขวัญทันใด | เราจะไปเมียงหมอบลอบดู |
ว่าพลางทางลงจากศาลา | ถึงริมมรคานั่งคอยอยู่ |
รี้พลคับคั่งพรั่งพรู | เขาเดินกรายหัวหูไม่ว่าไร |
ครั้นสิ้นแห่แลเห็นช้างทรง | กับองค์พระสังข์ทองผ่องใส |
สกิดถามเมียขวัญทันใด | คนนี้ฤๅมิใช่พระลูกรัก |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีมีศักดิ์ |
ตั้งตาแลดูเปนครู่พัก | แล้วนงลักษณ์บอกกับภัศดา |
ข้าพินิจพิศดูรูปทรง | ไม่คลาศเคลื่อนเหมือนองค์โอรสา |
แต่เนื้อเหลืองเรืองรองเปนทองทา | ผิดกับลูกยาข้าแคลงใจ |
ว่าพลางทางชวนกันดูพลาง | จนช้างที่นั่งเข้ามาใกล้ |
ลืมตัวกลัวเกรงภูวไนย | ลุกยืนขึ้นได้ตั้งใจดู |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกเกณฑ์แห่แลเห็นคนยืนอยู่ |
ตกใจต่างชิงกันวิ่งพรู | มาขู่รู่ยื้อยุดฉุดตัว |
บ้างโกรธท่านตาว่าท่านยาย | จะพาคนหลังลายยายชาติชั่ว |
บ้างชักหวายเงื้อง่าน่ากลัว | เคยตัวตีเสียให้แทบตาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทองร้องห้ามคนถือหวาย |
ช่างเถิดเสนาอย่าวุ่นวาย | ตายายชาวบ้านนอกคอกนา |
พลางพินิจพิศดูเหมือนผู้ดี | ให้เมตตาปรานีหนักหนา |
ดูท่านยายคล้ายกันกับมารดา | พระราชารอช้างที่นั่งไว้ |
ครั้นจะถามเหตุผลต้นปลาย | ให้นึกอายเสนาน้อยใหญ่ |
แต่พินิจพิศดูตะลึงตะไล | นึกพะวงสงไสยในวิญญา |
พระคิดคนึงถึงมารดร | จะทุกข์ร้อนถึงลูกนี้หนักหนา |
แล้วแขงขืนกลืนกลั้นชลนา | ให้โยธากลับหลังเข้าวังใน |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลให้สงไสย |
เห็นแห่เสด็จกลับลับไป | ภูวไนยปฤกษากับเมียรัก |
พี่ดูพระโฉมยงองค์นี้ | ทำท่วงทีดูเหมือนจะรู้จัก |
แต่หากเธอคิดอายไม่ทายทัก | เห็นจะเปนลูกรักเราคนนี้ |
จึงหยุดอยู่ดูเจ้าเปนนักหนา | แล้วหน้าตาโศกเศร้าหมองศรี |
จะคิดอ่านแก้ไขอย่างไรดี | พี่นี้อั้นอ้นจนใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีก็คิดได้ |
จึงว่าจำเราจะเข้าไป | อาไศรยอยู่ที่นายประตู |
แต่ตัวน้องจะไปในนิเวศน์ | ให้นายวิเสศเขาใช้อยู่ |
เห็นชอบกลจะได้ไต่ถามดู | ให้รู้ตระหนักประจักษ์ใจ |
แม้นลูกน้อยหอยสังข์คนนี้แน่ | จึงจะคิดผันแปรแก้ไข |
ให้รู้ว่าข้าน้อยกับท้าวไท | ตามมาถึงในภารา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสามีดีใจหัวร่อร่า |
เจ้าช่างคิดขยันกัลยา | นั่งอยู่ไยช้ามาจะไป |
จึงหยิบย่ามละว้ามาสพาย | นางกระเดียดกระทายทำเหมือนไพร่ |
แล้วเดินตามกันมาทันใด | เข้าไปยังที่ทวารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงเห็นนายประตู | นั่งอยู่บนร้านสานตะกร้า |
ตรงเข้าไปไต่ถามพูดจา | แกล้งเจ้าคะเจ้าขาให้ชอบใจ |
ข้าเจ้าจะขอถามตามซื่อ | ท่านฤๅเปนนายประตูใหญ่ |
ข้านี้ยากจนเปนพ้นไป | คิดจะมาอาไศรยเจ้าขรัวตา |
จะอยู่ให้ใช้สอยเปนลูกจ้าง | เฝ้าประตูประต่างก็ไม่ว่า |
พอได้กินอิ่มท้องสองเวลา | ตามประสาแก่เถ้าเฝ้ารั้ววัง |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายประตูชื่นชมสมหวัง |
ทั้งถ้อยคำพูดจาก็น่าฟัง | จึงเรียกหาให้นั่งแล้วว่าไป |
เดือนนี้ไม่มีคนมาเข้า | อยู่ด้วยกันเถิดเราจะจ้างใส่ |
สองคนเมียผัวกลัวอะไร | จ้างเดือนกินไปให้สบาย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีโฉมฉาย |
คิดจะใคร่ได้พบพระลูกชาย | จึงเบี่ยงบ่ายพูดจากับสามี |
ตัวข้าจะเข้าไปในวัง | พระหยุดยั้งคอยท่าอยู่ที่นี่ |
สั่งแล้วแคล้วคลาศจรลี | เทวีเข้ายังวังใน |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ เที่ยวถามเขาไปในนิเวศน์ | พบพวกวิเสศทำเครื่องใหญ่ |
จึงพินอบพิเทาเข้าไป | แก้ไขพูดจาพาที |
ทำรู้จักชักเรื่องชักราว | แต่ก่อนข้าก็ชาวกรุงศรี |
เปนวิเสศบุราณบ้านเมืองดี | แต่ครั้งนี้ยากจนพ้นประมาณ |
จงได้เมตตาการุญ | จะมาขอพึ่งบุญอยู่ในท่าน |
ใจสมัครักทำราชการ | แม้นเกียจคร้านชั่วช้าอย่าเอาไว้ |
การอื่นไม่ขยันขันแขง | แต่หุงเข้าต้มแกงพอทำได้ |
จะช่วยทำเครื่องอานให้ท่านใช้ | อาไศรยพึ่งปากฝากตัวตน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายวิเสศฟังว่าน่าฉงน |
ดูไรจุกไรก้านพานชอบกล | จะว่าคนยากจนเห็นผิดนัก |
ผิวพรรณรูปทรงส่งศรี | น่าจะเปนผู้ดีมียศศักดิ์ |
ถ้อยคำพูดจาก็น่ารัก | แล้วสมัคมาให้ใช้ดีดี |
จึงว่าอย่าทุกข์เลยท่านยาย | ถึงล้มตายก็เราจะเผาผี |
อุส่าห์ทำราชการของท่านนี้ | คงจะให้ได้ดีมิเปนไร |
แม้นทำเครื่องอานการสันทัด | เบี้ยหวัดปีน่าจะว่าให้ |
ทั้งกินอยู่พูวายสบายใจ | อยู่ไปด้วยกันเถิดท่านยาย |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์ชื่นชมสมหมาย |
อุส่าห์สู้เหนื่อยยากฝากกาย | ให้วิเสศทั้งหลายเขาเมตตา |
นางต้มแกงแต่งเครื่องเวลาไร | ชอบพระไทยลูกรักนักหนา |
สมหวังดังจิตรที่คิดมา | กัลยาจะแกล้งแกงฟัก |
จึงหยิบยกมาตั้งนั่งฝาน | เอาวางไว้ในจานแล้วเจียนจัก |
แกะเปนรูปขององค์นงลักษณ์ | เมื่ออยู่กับผัวรักที่ในวัง |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา | คลอดลูกออกมาเปนหอยสังข์ |
ชิ้นสองต้องขับเที่ยวเซซัง | อุ้มลูกไปยังยังพนาไลย |
ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา | ลูกยาออกช่วยขับไก่ |
ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร | ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน |
ชิ้นห้าบิตุรงค์ทรงศักดิ์ | ให้จับตัวลูกรักมาจากบ้าน |
ชิ้นหกจองจำทำประจาน | ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรไลย |
ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาฏเอาลูกยา | ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล |
เปนเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไทย | ใครใครไม่ทันจะสงกา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ นางจัดแจงแกงต้มดิบดี | แล้วตักใส่ในที่ชามฝา |
ทั้งปิ้งจี่มี่มันนานา | ใส่โต๊ะตั้งตีตราเตรียมไว้ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เหล่านางพนักงานน้อยใหญ่ |
ถึงเวลามาเชิญเครื่องไป | เรียงเรียบเทียบไว้เหมือนอย่างเคย |
สาวสาวเหล่านางที่โปรดปราน | เข้าเคียงคอยอยู่งานที่เสวย |
ทั้งนางรจนาทรามเชย | หมอบเฝ้าตามเคยทุกเวลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์สุริวงศ์พงศา |
เสวยเครื่องเอมโอชโภชนา | อร่อยรศโอชาชอบพระไทย |
เอาช้อนทองลองตักแกงฟัก | เห็นชิ้นสลักก็สงไสย |
พระพินิจดูพลางเอาวางไว้ | แล้วตักขึ้นมาใหม่ก็เหมือนกัน |
จึงเลือกตักแต่ชิ้นสิ้นชามฝา | เพ่งพิจารณาทุกสิ่งสรรพ์ |
หลากใจนักหนาน่าอัศจรรย์ | พระทรงธรรม์ไม่บอกให้ใครฟัง |
จึงเอาน้ำมาล้างแล้ววางราย | เห็นเปนเรื่องนิยายหอยสังข์ |
พระมารดามาตามแล้วกระมัง | คนอื่นทั้งเมืองเราไม่เข้าใจ |
ไม่เสวยเลยอิ่มโภชนา | จะกลืนกลั้นน้ำตามิใคร่ได้ |
หยิบเอาชิ้นฟักนั้นถือไว้ | สอื้นไห้ถึงพระชนนี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ แล้วระงับดับความโศกศัลย์ | จึงสั่งนางกำนัลสาวศรี |
ใครแกงฟักขึ้นมาเวลานี้ | ไปหาตัวมานี่อย่าได้ช้า |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลรับสั่งใส่เกษา |
ลงจากปราสาทไชยไคลคลา | ตรงมายังที่วิเสศใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงบอกพวกวิเสศ | พระทรงเดชให้หาอย่าช้าได้ |
ใครที่ช่างแต่งแกงฟักไป | ทำให้พระองค์ทรงโศกา |
แต่ก่อนไรไม่เปนเช่นนี้ | เห็นทีจะกริ้วนักหนา |
อย่าทำอิดเอื้อนเชือนช้า | รีบมาขึ้นไปให้ทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกวิเสศอกสั่นขวัญหนี |
ตกใจไม่เปนสมประดี | ครั้งนี้ชีวันจะบรรไลย |
ต่างคนขึ้งโกรธโทษกัน | เพราะอีนางจันท์ฤๅมิใช่ |
พอใจคบหาเอามาไว้ | ละให้ทำเครื่องนั้นทุกวัน |
ครั้นจะมิบอกออกเล่า | พวกเราชีวาจะอาสัญ |
ว่าพลางทางเรียกนางจันท์ | มาเอาคำมั่นสัญญา |
เจ้าช่างตกแต่งแกงฟักดี | เดี๋ยวนี้มีรับสั่งให้หา |
แม้นเคืองขัดตรัสถามสิ่งใดมา | อย่าซัดถึงพวกข้าให้วุ่นวาย |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีโฉมฉาย |
ดีใจจะได้พบลูกชาย | จึงเสแสร้งแกล้งอุบายพูดจา |
ท่านอย่าประหวั่นพรั่นจิตร | อันชอบผิดจะรับแต่ตัวข้า |
ถึงพระโฉมยงลงอาญา | ก็นึกว่าเคราะห์กรรมทำอย่างไร |
จะสู้ม้วยมอดวอดวาย | ไม่ซัดท่านทั้งหลายอย่าสงไสย |
สาวศรีจงพาข้าขึ้นไป | ตามแต่ภูวไนยจะโปรดปราน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สาวใช้ฟังว่าเห็นกล้าหาญ |
ดูไม่งันงกสทกสท้าน | ก็ลนลานรีบพากันคลาไคล |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระสังข์ทองผ่องใส |
เห็นมารดามากับสาวใช้ | จำได้ว่าพระชนนี |
ลดองค์ลงจากบัลลังก์อาศน์ | วิ่งเข้ากอดบาทนางโฉมศรี |
มิทันจะพูดจาพาที | โศกีเสือกซบสลบไป |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีศรีใส |
เห็นพระโอรสยศไกร | มาร้องไห้แน่นิ่งไม่ติงกาย |
นางสร้วมสอดกอดองค์พระลูกรัก | นงลักษณ์อกสั่นขวันหาย |
ชลนัยน์ไหลหลั่งพรั่งพราย | โฉมฉายนิ่งไปไม่สมประดี |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนามารศรี |
ตกใจนักหนาเห็นสามี | โศกีนิ่งไปไม่ไหวองค์ |
มิได้รู้เหตุผลต้นปลาย | โฉมฉายดังจะม้วยเปนผุยผง |
วิ่งเข้ากอดบาทพระโฉมยง | โศกทรงกรรแสงสลบไป |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝูงสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
ต่างคนตระหนกตกใจ | เข้าแก้ไขไม่ฟื้นสมประดี |
บรรดาข้าหลวงทั้งแก่สาว | ร้องไห้รักจ้าวอยู่อึงมี่ |
บ้างพากันวิ่งเปนสิงคลี | ไปทูลพระชนนีกับบิดา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเคารพนบนอบ | ต่างกระหืดกระหอบนักหนา |
แล้วทูลแถลงแจ้งกิจจา | พระลูกรักสองราพิราไลย |
เมื่อเดิมทีมีนางคนหนึ่ง | เข้ามาถึงก็พากันร้องไห้ |
เดี๋ยวนี้ไม่ไหวติงนิ่งไป | ข้าช่วยแก้ไขก็ไม่คลาย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลอกสั่นขวัญหาย |
ร้องเรียกนางมณฑาว่าท่านยาย | ลูกตายเสียแล้วมาจะไป |
ย่างลงจากอาศน์พลาดล้มผลุง | นางมณฑาเข้าพยุงลุกขึ้นได้ |
ออกจากปรางค์มาศปราสาทไชย | วิ่งร้องไห้ตามกันมาทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงปราสาทพระลูกรัก | หอบฮักเข้าไปในที่ |
สำคัญว่าล้มตายวายชีวี | ต่างตีอุราโศกาไลย |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นรู้สึกขึ้นมาให้หาหมอ | ใครใครไม่รอหน้าได้ |
ชี้นิ้วกริ้วหมู่กำนัลใน | ไม่ทันใจพิโรธโกรธฮึดฮัด |
เต้นแร้งเต้นกาด่าทอ | เร่งหมอให้แก้อยู่แออัด |
บ้างนวดบ้างเข้าเป่ายานัดถุ์ | สามกระษัตริย์ก็ฟื้นคืนมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์สุริย์วงศ์พงศา |
ลืมเนตรเห็นองค์พระมารดา | ทั้งแม่ยายพ่อตามาพร้อมกัน |
จึงบังคมก้มกราบสามกระษัตริย์ | เชิญขึ้นแท่นรัตน์เฉิดฉัน |
แล้วทูลแจ้งกิจจาพ่อตาพลัน | ลูกโศกศัลย์สิ้นสมปฤดี |
ด้วยองค์สมเด็จพระมารดา | อุส่าห์ติดตามหามาถึงนี่ |
ได้ความยากแค้นแสนทวี | มาอยู่ที่วิเสศเปนหลายวัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลแจ้งคำลูกเขยขวัญ |
จึงให้นางมณฑาธิดานั้น | บังคมไหว้นางจันท์เทวี |
แล้วพระพูดจาปราไส | ขอบใจอุส่าห์มาถึงนี่ |
หนทางก็ไกลใช่พอดี | ช่างเดินดงพงพีมาอย่างไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีบังคมไหว้ |
จึงเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป | จนได้มาถึงพระภารา |
แล้วผินมาว่ากับลูกแก้ว | เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ได้เห็นหน้า |
อันซึ่งความผิดของบิดา | มืดมัวชั่วช้างมงาย |
เดี๋ยวนี้ตามมาง้อขอโทษ | ลูกรักหักโกรธเสียให้หาย |
เจ้าอย่าปองจิตรคิดร้าย | พยาบาทมาดหมายแก่บิดา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ฟังชนนีว่า |
นบนอบแล้วตอบวาจา | พระมารดาอย่าถวิลกินใจ |
ซึ่งพระบิตุรงค์ให้ลงโทษ | จะผูกจิตคิดโกรธนั้นหาไม่ |
เปนเพราะเคราะห์กรรมทำไว้ | จึงจำให้พลัดพรากจากพระองค์ |
ถึงดวงหฤไทยไนยนา | ถ้าผ่านฟ้าทั้งสองต้องประสงค์ |
จะแขวะควักออกให้ดังใจจง | ด้วยคุณของพระองค์เปนพ้นไป |
ตรัสพลางทางถามชนนี | เดี๋ยวนี้เสด็จมาอยู่ไหน |
จงโปรดเกล้าเล่าแถลงให้แจ้งใจ | ลูกจะใคร่ได้พบพระบิดา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระชนนีดีใจเปนนักหนา |
ฟังลูกรักตอบชอบวิญญา | ลูบหลังลูบหน้าแล้วว่าไป |
บัดนี้สมเด็จพระบิตุรงค์ | ปลอมแปลงแต่งองค์เหมือนอย่างไพร่ |
นุ่งห่มสมเพศสุดใจ | มาอาไศรยตาเถ้าเฝ้าประตู |
เขาใช้สอยพลอยทำคะมุกคะมอม | สานกระบุงสานพ้อมนั่งหง่อมอยู่ |
อดอยากยากจนเปนพ้นรู้ | อุส่าห์สู้ตามมาหาลูกรัก |
ถ้าแม้นเจ้ามีแก่ใจออกไปรับ | เห็นว่านับถือองค์พระทรงศักดิ์ |
จะดีเนื้อดีใจนักหนานัก | เพราะลูกรักไปรับพระบิดา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมด้วยหรรษา |
จึงว่าลูกจะถวายบังคมลา | ออกไปรับพระบิดามาวังใน |
พระมารดาว่าแม่จะไปด้วย | เจ้าแปลกจะได้ช่วยบอกให้ |
ท้าวสามลว่าพ่อก็จะไป | จึงจะได้รู้จักมักจี่กัน |
นางมณฑาเทวีว่าดีแล้ว | รจนาลูกแก้วมาผายผัน |
ทั้งห้าองค์ลงจากปราสาทพลัน | สาวสนมกำนัลก็ตามมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงทิมริมที่ทวารวัง | เห็นสองคนนั่งสานตะกร้า |
จึงถามชนนีมิได้ช้า | ไหนพระบิดาข้าองค์ไร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์เทวีศรีใส |
ชี้บอกลูกรักทันใด | ภูวไนยท้าวนั่งอยู่ข้างนั้น |
ที่นุ่งผ้าตาโถงถือมีดตอก | นางบอกแล้วพากันผายผัน |
เข้าไปใกล้องค์พระทรงธรรม์ | ก้มเกล้าอภิวันท์ภัศดา |
พระสังข์กอดบาทเบื้องซ้าย | นางโฉมฉายกอดบาทเบื้องขวา |
ทั้งสององค์ทรงโศกโศกา | ปิ้มว่าชีวันจะบรรไลย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเปนใหญ่ |
เห็นเมียรักโอรสยศไกร | สอื้นไห้ไม่เงยภักตรา |
ให้นึกสงสารเปนพ้นนัก | ทรงศักดิ์สร้วมกอดโอรสา |
มิอาจที่จะกลั้นโศกา | ก็ฟูมฟายชลนาจาบัลย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นสร่างโศกศัลย์รันทด | พระลูบหลังโอรสแล้วรับขวัญ |
พ่อนี้ชั่วช้าสารพัน | ให้ทำโทษทัณฑ์กับลูกยา |
หากเจ้าไม่ตายวายปราณ | เพราะบุญญาธิการหนักหนา |
อันซึ่งความผิดของบิดา | แก้วตาอย่าคุมแค้นเคือง |
บัดนี้จะมารับเจ้ากลับไป | คงจะให้ระบือฦๅเลื่อง |
จะมอบราชธานีบุรีเรือง | ให้พ่อผ่านบ้านเมืองสืบไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมประนมไหว้ |
จึงว่าพระอย่าแหนงแคลงใจ | ลูกมิได้ผูกผิดแก่บิดา |
ซึ่งอุส่าห์มาตามลูกรัก | พระคุณของทรงศักดิ์นักหนา |
จะขอสนองรองบาทา | ไปกว่าจะสิ้นชีวัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลเห็นคลายที่โศกศัลย์ |
จึงชวนนางมณฑาธิดานั้น | บังคมคัลท้าวยศวิมล |
แล้วว่าพระองค์เสด็จมา | ไม่ควรจะพูดจาริมถนน |
ขอเชิญเสด็จจรดล | ขึ้นมณเฑียรทองของลูกยา |
ว่าพลางทางขับฝูงกำนัล | อีเหล่านั้นหลีกทางอย่าขวางหน้า |
ให้เถ้าแก่นำเสด็จไคลคลา | ตรงมาปรางค์มาศปราสาทไชย |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเชิญสองกระษัตริย์ | ขึ้นนั่งเหนือแท่นรัตน์ผ่องใส |
ตรัสสั่งท้าวนางข้างใน | เครื่องทรงใหมใหม่ไปเอามา |
เราจะถวายสองพระองค์ | จงเลือกสรรผ้าทรงแลภูษา |
เข้มขาบนุ่งอย่างดีมีราคา | ที่เกาะหมากถวายมาเมื่อปีนี้ |
แล้วผินภักตรามาตรัส | ด้วยสองกระษัตริย์เรืองศรี |
ขอเชิญเสด็จภูมี | เข้าที่สรงน้ำให้สำราญ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเกษมสานต์ |
จึงชวนเมียขวัญมิทันนาน | มาสรงชลธารฉับพลัน |
สองกระษัตริย์ขัดสีวารีรด | น้ำดอกไม้ใสสดหมดแม่ขัน |
ครั้นเสร็จเสด็จจรจรัล | นั่งเหนือแท่นสุวรรณบรรจง |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลชื่นชมสมประสงค์ |
เห็นกระษัตริย์เกี่ยวดองสององค์ | เสร็จสรงสนานสำราญกาย |
พระสังข์นั่งรินน้ำชา | รจนาพัชนีวีถวาย |
ปราไสไต่ถามตามสบาย | ถึงเหตุผลต้นปลายแต่เดิมมา |
ซึ่งพระองค์บุกป่าฝ่าหนาม | ตั้งใจติดตามโอรสา |
มีใครไปแจ้งกิจจา | จึงรู้ว่าลูกยาอยู่เมืองนี้ |
มรคาท่าทางก็ไกลกัน | มากี่วันจึงถึงกรุงศรี |
อันพวกพหลมนตรี | ยับยั้งอยู่ที่แห่งใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลแถลงไข |
เดิมท้าวมัฆวานชาญไชย | ถือตระบองเหล็กใหญ่เท่าลำตาล |
เข้าไปถึงบรรจฐรณ์ข้านอนอยู่ | จะทุบตีหัวหูทำหักหาญ |
นี่หากข้าสารภาพกราบกราน | มัฆวานจึงแถลงให้แจ้งใจ |
ว่าพระสังข์ทองครองเมืองนี้ | พระภูมียกราชธิดาให้ |
ให้ข้ามารับไปกรุงไกร | แต่ในเจ็ดวันดังสัญญา |
จึงรีบเร่งยกรี้กรีพล | สิบห้าวันดั้นด้นเดินป่า |
พักพลไว้นอกภารา | ปลอมมาแต่ข้ากับท่านยาย |
เดี๋ยวนี้ได้ประสบพบพระสังข์ | ที่ธุระปะปังก็สมหมาย |
หาไม่ท้าวโกสีย์เธอตีตาย | มิเชื่อถามท่านยายตะแก่ดู |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลพลอยว่าน่ากลัวอยู่ |
นี่หากบุญอุปถัมภ์ค้ำชู | พระอินทร์เอนดูไม่ตีรัน |
แม้นไม่ปะลูกชายสิตายเปล่า | ใครเล่าจะช่วยผ่อนผัน |
ทีนี้ได้ประสบพบกัน | นับวันแต่จะสบายใจ |
พระองค์จงอยู่กับลูกยา | ให้หายเหนื่อยที่มาในป่าใหญ่ |
อันพวกพลยังค้างอยู่กลางไพร | พระสังข์จงให้ใครไปรับมา |
ให้อยู่ที่ริมวังทั้งไพร่นาย | เลี้ยงดูพูวายให้หนักหนา |
แล้วตรัสสั่งนวลนางรจนา | ปรนนิบัติพระบิดาให้จงดี |
ว่าพลางทางชวนเมียขวัญ | ลาองค์ทรงธรรม์ทั้งสองศรี |
พร้อมฝูงกำนัลขันที | ไปสู่ที่ปราสาทแก้วแววไว |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์รัศมีศรีใส |
จึงทูลพระบิตุรงค์ทรงไชย | ลูกจะให้ไปรับกองทัพมา |
ว่าพลางทางถวายอัญชลี | พระชนกชนนีนาถา |
ลงจากปราสาทไชยไคลคลา | ออกหน้าพระโรงคัลทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งเหนือแท่นสุวรรณบัลลังก์ | ตรัสสั่งเสนาผู้ใหญ่ |
พระบิดาเรามาถึงเวียงไชย | พลไกรยังอยู่นอกบุรี |
จงจัดแจงนายไพร่ออกไปรับ | ให้กองทัพเข้ามาในกรุงศรี |
พูดจาปราไสกันให้ดี | รีบไปบัดนี้อย่าได้ช้า |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกษา |
บังคมก้มกรานคลานออกมา | เรียกหากันอึงคนึงไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ทั้งไพร่นายหลายคนพร้อมพรัก | ล้วนแหลมหลักพูดจาอัชฌาไศรย |
ต่างขึ้นขี่ม้าคลาไคล | ตรงไปยังป่าพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเห็นพลขันธ์ | ประชุมกันอยู่ในไพรศรี |
จึงเข้าไปไต่ถามทันที | พวกนี้ฤๅที่ตามเสด็จมา |
บัดนี้สององค์ทรงธรรม์ | พบกันกับพระโอรสา |
จึงใช้ให้เราผู้เสนา | ออกมาพาพวกเจ้าเข้าไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายทัพนายกองน้อยใหญ่ |
ต่างคนรู้ข่าวท้าวไท | ดีใจเปนพ้นคณนา |
ที่บ่าวไพร่ของใครไม่อยู่ | ให้เพื่อนกันตามกู่ตะโกนหา |
แล้วเชื้อเชิญเสนีที่ออกมา | เข้านั่งร่มพฤกษาพูดจากัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกเสนาสามลคนขยัน |
ครั้นเห็นจวนเวลาสายัณห์ | จึงเตือนพวกทัพนั้นให้เตรียมกาย |
พร้อมทั้งม้ารถคชสาร | รี้พลทวยหาญทั้งหลาย |
ออกจากพงไพรทั้งไพร่นาย | ตามกันผันผายเข้าภารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงให้หยุดยั้ง | อยู่ที่ทิมริมวังข้างน่า |
ตัวนายก็ลงจากม้า | เข้ามาเฝ้าองค์พระทรงยศ |
แล้วทูลว่าข้าออกไปรับ | กองทัพในป่าเข้ามาหมด |
พร้อมทั้งไอยราม้ารถ | พระทรงยศจงทราบฤไทย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ยินดีจะมีไหน |
จึงตรัสสั่งมหาเสนาใน | เราจะให้เลี้ยงดูหมู่โยธี |
ท่านจงบัตรหมายไปบอก | พวกวิเสศนอกให้ถ้วนถี่ |
แต่งสำรับกับเข้าคราวนี้ | แต่ของที่ดีดีจึงเอามา |
ใครเปนนายเปนไพร่ก็ให้รู้ | เลี้ยงดูเขาตามวาศนา |
ทั้งของหวานของคาวเหล้ายา | จัดแจงแต่งมาให้ครบครัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีรับสั่งขมีขมัน |
ถวายบังคมลาออกมาพลัน | บัตรหมายบอกกันวุ่นวาย |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกวิเสศแจ้งใจที่ในหมาย |
ชวนกันหุงต้มแทบล้มตาย | ตัวนายจัดใส่ในสำรับ |
เป็ดไก่คั่วแกงพแนงพล่า | ทั้งหวานคาวเหล้ายาเสร็จสรรพ |
หาบตามกันไปให้กองทัพ | ตั้งสำรับเคียงเคียงเรียงราย |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกเสนีรี้พลทั้งหลาย |
ต่างคนกินเหล้าเมามาย | ไม่มีอายพูดโป้งโผงอึง |
บ้างลุกขึ้นเต้นรำทันที | กูจะซัดชาตรีสักหน่อยหนึ่ง |
เพื่อนกันห้ามว่าอย่านะมึง | มันจะอึงอื้อไปอ้ายเกลอ |
ลางคนประกวดอวดรู้ | การกูแล้วใครไม่เสมอ |
พูดกันเอะอะคะเออ | บ้างอ้าปากรากเรอวุ่นไป |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา เส้นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลเปนใหญ่ |
อยู่ด้วยโอรสยศไกร | ประมาณได้หลายทิวาราตรี |
ท้าวคิดรำฦกตรึกตรา | ถึงคำมั่นสัญญากับโกสีย์ |
จำจะชวนลูกยาไปธานี | นิ่งอยู่อย่างนี้จะมีไภย |
คิดพลางทางเรียกพระสังข์ | มาลูบหลังลูบหน้าแล้วปราไส |
พ่อนี้นึกประหวั่นพรั่นใจ | ด้วยเกินผัดสหัสไนยหลายวันมา |
ฉวยท่านกริ้วโกรธทำโทษกร | เห็นชีวิตรบิดรจะสังขาร์ |
ขอเชิญลูกแก้วแววตา | ไปด้วยบิดายังธานี |
ท่านลงมาเมื่อไรจะได้เห็น | อย่าให้เปนปดโป้กับโกสีย์ |
ทั้งฝูงหญิงชายชาวบุรี | จะยินดีด้วยองค์พระลูกยา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมเหนือเกษา |
จึงทูลสนองพระบัญชา | พระบิดาอย่าประหวั่นพรั่นฤไทย |
ซึ่งจะพาข้าน้อยไปเมือง | จะให้เคืองบาทาก็หาไม่ |
ทุกวันนี้ก็หวังตั้งใจ | จะใคร่แทนคุณของทรงธรรม์ |
ทูลพลางทางผินภักตรา | ตรัสกับรจนาเมียขวัญ |
เจ้าจะคลาไคลไปด้วยกัน | ฤๅแจ่มจันท์จะอยู่บุรี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนามารศรี |
นบนอบตอบคำพระสามี | เมียนี้มิได้ไกลองค์ |
แม้นเสด็จไปไหนจะไปด้วย | กว่าชีวิตร์จะม้วยผุยผง |
สุจริตคิดไว้ในใจจง | ตกไหนน้องคงจะตามไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ยิ้มย่องสนองไข |
ไม่เสียทีที่รักทรามไวย | จะหาเมียที่ไหนได้อย่างนี้ |
มาเราจะไปทูลลา | พระบิตุเรศมารดาทั้งสองศรี |
ธุระพระบิดรร้อนเต็มที | พรุ่งนี้จะยกยาตรา |
ว่าพลางทางถวายบังคมคัล | สองพระทรงธรรม์นาถา |
ชวนเมียรักร่วมใจไคลคลา | สาวสรรค์กัลยาก็ตามไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงถวายอัญชลี | พระชนกชนนีเปนใหญ่ |
แล้วทูลว่าบิตุรงค์ทรงไชย | จะรับข้าคืนไปยังภารา |
ด้วยท้าวมีความผิดติดตัว | เกรงกลัวพระอินทร์นักหนา |
พรุ่งนี้ลูกกับนางรจนา | ขอถวายบังคมลาไปด้วยกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลฟังคำลูกเขยขวัญ |
เปนธุระแม่พ่อข้อสำคัญ | สุดที่จะผ่อนผันฉันใด |
จึงว่าพ่อหมายมั่นทุกวันนี้ | จะฝากผีลูกรักเมื่อตักไษย |
ครั้งนี้เจ้าจะพรากจากไป | เปนจนใจไม่รู้จะทัดทาน |
จงเกณฑ์พวกพลไกรให้หลายพัน | ไปป้องกันเภทไภยในไพรสาณฑ์ |
แม้นสิ้นทุกข์ลูกน้อยค่อยสำราญ | นานนานแล้วมาหาบิดร |
อนึ่งพ่อขอฝากรจนา | ผิดชอบเมตตาช่วยสั่งสอน |
จงคิดหวังดังน้องร่วมอุทร | เหมือนเห็นแก่บิดรมารดา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์บังคมเหนือเกษา |
คำนับรับพรพ่อตา | พระอย่ากินแหนงแคลงใจ |
อันรจนานงลักษณ์ | ลูกรักไม่มีที่เปรียบได้ |
ด้วยเปนเพื่อนลำบากยากไร้ | ถึงผิดพลั้งอย่างไรก็ตามที |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณฑาโฉมศรี |
ลดองค์ลงกอดพระบุตรี | โศกีครวญคร่ำรำพรรณ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | ทรามเชยเจ้าจะไปด้วยผัวขวัญ |
เมื่อไรจะได้มาเห็นหน้ากัน | นับวันจะลับไปนับปี |
เจ้าสายใจไกลตาของแม่แล้ว | จงฝากตัวผัวแก้วนะโฉมศรี |
ทั้งพระชนกชนนี | อย่าให้มีเคืองขัดอัชฌา |
แม้นผัวพิโรธอย่าโกรธตอบ | จงเคารพนบนอบดีกว่า |
ปกป้องครองตัวของลูกยา | ไกลตาแม่แล้วแก้วกลอยใจ |
ว่าพลางโลมลูบจูบภักตร์ | สร้วมกอดลูกรักแล้วร้องไห้ |
ต่างองค์โศกาอาไลย | ครวญคร่ำร่ำไรไปมา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนาเสนหา |
ก้มเกล้ากราบกรานมารดา | พิไรร่ำล่ำลาด้วยอาไลย |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้เจ้าพระคุณทูลกระหม่อม | เคยถนอมเลี้ยงลูกมาจนใหญ่ |
ครั้งนี้จะพรากจากไป | ยังมิได้แทนคุณชนนี |
เมื่อครั้งลูกออกไปอยู่ปลายนา | พระมารดาก็ต้องหมองศรี |
ได้กลับมาอยู่วังครั้งนี้ | ไม่ถึงปีจะต้องไปไกลภารา |
ลูกมีกรรมทำทุกข์ให้พระแม่ | ถึงสองครั้งตั้งแต่โหยหา |
จงยกโทษโปรดเกล้าลูกยา | อย่าให้เปนเวราข้างหน้าไป |
ร่ำพลางนางกราบลงกับบาท | มิอาจที่จะกลั้นน้ำตาได้ |
ชลเนตรฟูมฟองนองไนย | สอึกสอื้นไห้ไปมา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์สุริวงศ์พงศา |
ครั้นบ่ายชายแสงสุริยา | จึงก้มกราบพ่อตาลาแม่ยาย |
แล้วตรัสชวนนวลนางเมียขวัญ | สาวสนมกำนัลทั้งหลาย |
ลงจากปราสาทแก้วแพรวพราย | ผันผายออกท้องพระโรงไชย |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงนั่งเหนืออาศน์ | แล้วตรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
เวลารุ่งพรุ่งนี้เราจะไป | ยังกรุงไกรบิตุรงค์ทรงธรรม์ |
จงตระเตรียมม้ารถคชสาร | ทวยหาญเลือกล้วนที่ล่ำสัน |
ทั้งสองทัพสมทบประจบกัน | ให้พร้อมในไก่ขันวันนี้ |
ปืนผาอาวุธในโรงแสง | จัดแจงเอาไปให้ถ้วนถี่ |
สั่งเสร็จเสด็จจรลี | เข้าสู่ที่ปราสาทแก้วแววไว |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
มาผูกช้างเตรียมพลสกลไกร | พร้อมไว้คอยเสด็จดังบัญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลเศร้าสร้อยละห้อยหา |
ครั้นรุ่งรางส่างแสงสุริยา | คิดถึงลูกสองราจะจากไป |
เตือนนางมณฑาว่ายายเอ๋ย | ไม่ไปส่งลูกเขยเฉยเสียได้ |
แล้วชวนกัลยาคลาไคล | ตรงไปปราสาทพระลูกยา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปในห้อง | เห็นสองกระษัตริย์นาถา |
บังคมคัลกันตามลำดับมา | พูดจาปราไสเปนไมตรี |
พระองค์จะเสด็จกลับไป | ข้าจะเปลี่ยวเปล่าใจอยู่กรุงศรี |
ทั้งคิดถึงโอรสบุตรี | เคยอยู่ที่นี่ได้อุ่นวัง |
ถ้าพบปะพระอินทร์สิ้นทุกข์แล้ว | ให้ลูกแก้วสองรากลับมามั่ง |
มาทแม้นมีธุระปะปัง | จะได้พึ่งพระสังข์สืบไป |
ไม่คิดว่าลูกเขยเลยแล้ว | รักเหมือนลูกแก้วเกิดในไส้ |
อันนวลนางรจนายาใจ | ขอฝากไว้ใต้เบื้องบาทา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยศวิมลนาถา |
ได้ฟังคำร่ำฝากธิดา | จึงตอบว่าภูธรอย่าร้อนใจ |
จะรักนางอย่างราชบุตรี | อันจะมีฉันทานั้นหาไม่ |
ถึงทั้งสองลูกยาข้าพาไป | คงจะให้กลับมาอย่าอาวรณ์ |
สายนักก็แดดจะแผดกล้า | ข้าขอลาภูวไนยไปก่อน |
ทั้งสององค์จงครองพระนคร | ให้ผาศุกทุกข์ร้อนอย่าแผ้วพาน |
ว่าพลางชวนนางจันท์มา | กับลูกยาสององค์สรงสนาน |
ต่างสอดเครื่องทรงอลงการ | ชัชวาลย์ล้วนแก้วแวววาวตา |
ครั้นเสร็จก็ชวนพระสังข์ | ออกไปยังเกยช้างข้างน่า |
ท่านท้าวสามลนางมณฑา | ตามส่งออกมาถึงเกยไชย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ท้าวยศวิมลกับพระสังข์ | ต่างทรงช้างที่นั่งสูงใหญ่ |
นางจันท์รจนาทรามไวย | ต่างขึ้นพิไชยรถทอง |
สาวสรรค์กำนัลในซ้ายขวา | ขี่ช้างหลังคาเปนแถวถ้อง |
เสียงแซ่แตรสังข์ฆ้องกลอง | ให้เดินกองทัพน่าคลาไคล |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด