- คำนำ
- นิทานเรื่องไชยเชฐ เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไชยเชฐ
- นิทานเรื่องสังข์ทอง เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ทอง
- นิทานเรื่องไกรทอง เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไกรทอง
- กลอนตำนานเรื่องพระราชนิพนธ์ไกรทอง
- นิทานเรื่องมณีพิไชย เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องมณีพิไชย ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิไชยไปเปนทาษ
- นิทานเรื่องมณีพิไชย ตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- นิทานเรื่องคาวี (เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเรื่องเสือโค) เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องคาวี
- เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชยตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทึ่ทรงพระราชนิพนธ์บทลคร
ตอนที่ ๒ ท้าวสันนุราชชุบตัว
ช้าปี่
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพระหลวิไชยเชษฐา |
เมื่อพระคาวีสิ้นชีวา | ในอุราร้อนรุมดังสุมไฟ |
จึงดูดอกประทุมที่เสี่ยงทาย | ก็กลับกลายมัวหมองไม่ผ่องใส |
พระเร่งตระหนกตกใจ | เหตุไฉนฉนี้เจ้าพี่อา |
ทุกข์ร้อนอย่างไรก็ไม่รู้ | จำกูจะไปเที่ยวตามหา |
แม้นมิพบน้องแก้วแววตา | พี่ยาไม่กลับเข้ากรุงไกร |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดพลางทางสั่งมเหษี | สร้อยสุดานารีศรีใส |
พี่ขอลาโฉมงามทรามไวย | รีบไปตามหาพระคาวี |
แม้นพระบิดาบัญชาถาม | จึงทูลความให้ทราบบทศรี |
สั่งพลางทางเสด็จจรลี | มาเข้าที่สระสรงคงคา |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ทรงเครื่องประดับการพรายพรรณ | จับพระขรรค์เยื้องย่างออกข้างน่า |
ยกพระหัดถ์มัสการเทวา | ทุกเหวผาท่าทางกลางดง |
แม้นน้องของข้าอยู่แห่งใด | ช่วยนำไปให้พบสบประสงค์ |
แล้วรีบออกนอกวังดังจำนง | เสด็จตรงมาตามมรคา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เดชะความสัตย์ซื่อถือมั่น | เทวัญช่วยพิทักษ์รักษา |
บันดาลดลใจให้ไคลคลา | ย่อย่นมรคาพนาลี |
ทางไกลเดือนหนึ่งมาครึ่งวัน | ถึงจันทบุราบุรีศรี |
ไม่พบคนไปมาทั้งธานี | ภูมีลดเลี้ยวเที่ยวดู |
แลเห็นพระขรรค์ทันใด | หยิบได้เขม้นอยู่เปนครู่ |
แม่นมั่นพระขรรค์ของน้องกู | เหตุใดมาอยู่กลางอัคคี |
ชรอยน้องรักเจ้าตักไษย | ทำไฉนจะพบทรากผี |
ยิ่งวิโยคโศกศัลย์พันทวี | ภูมีลดเลี้ยวเที่ยวมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้ลาว
๏ เดินพลางทางคนึงถึงน้อง | ครวญคร่ำร่ำร้องเรียกหา |
โอ้เจ้าคาวีของพี่ยา | แก้วตาจะเปนประการใด |
พระขรรค์นี้ชีวิตรก็ย่อมรู้ | มาทิ้งอยู่ไกลองค์น่าสงไสย |
ชรอยคนฆ่าฟันเจ้าบรรไลย | พี่จึงไม่ประสบพบพาน |
ใครหนอสามารถอาจอง | แกล้งมาจำนงจงผลาญ |
ล้างชีพน้องชายกูวายปราณ | ไม่นานจะได้เห็นกัน |
กูจะทำทดแทนให้แสนสา | แล่เนื้อเกลือทาจนอาสัญ |
ร่ำพลางทางเสด็จจรจรัล | ทรงธรรม์เที่ยวแสวงทุกแห่งไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงเร็ว
ร่าย
๏ ถึงหาดทรายชายฝั่งชลธี | เห็นคาวีน้องรักตักไษย |
วิ่งเข้าสร้วมสอดกอดไว้ | พระร่ำไรโศกาจาบัลย์ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้ปี่
๏ โอ้ว่าอนิจจาพระน้องแก้ว | ทิ้งพี่เสียแล้วไปสู่สวรรค์ |
เราไร้สุริวงศพงศ์พันธุ์ | ได้เห็นกันพี่น้องสองชาย |
เคยร่วมโศกร่วมศุขทุกข์ยาก | มาตายจากพี่ไปน่าใจหาย |
ไม่รู้เหตุผลต้นปลาย | เจ้าม้วยมอดวอดวายด้วยอันใด |
กรรมแล้วแก้วตาของพี่เอ๋ย | ใครเลยจะช่วยแก้ไข |
ร่ำพลางทางทรงโศกาไลย | สอื้นไห้ไม่เปนสมประดี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นค่อยคลายวายความโศกศัลย์ | จึงพิศดูพระขรรค์ไชยศรี |
เปนแต่มัวหมองต้องอัคคี | เห็นทีจะไม่ม้วยมรณา |
จึงตั้งความสัตย์อธิฐาน | เดชะคุณอาจารย์ฌานกล้า |
ขอให้องค์พระอนุชา | รอดชีพชีวาคืนคง |
แล้วเป่าปัดขัดสีพระขรรค์แก้ว | ผ่องแผ้วสิ้นเท่าธุลีผง |
จึงเอาน้ำชำระลดลง | ก็กลับฟื้นคืนองค์เปนมา |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ รัว
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีลืมเนตรเห็นเชษฐา |
ชื่นชมก้มกราบกับบาทา | แล้วมีวาจาว่าไป |
คุณของพระองค์ทรงธรรม์ | พ้นที่จะพรรณาได้ |
น้องนี้โฉดเฉาเบาใจ | หลงใหลเล่ห์กลสัตรี |
จึ่งเล่าความแต่ต้นจนปลาย | บรรยายให้ฟังถ้วนถี่ |
ครั้งนี้น้องแค้นแสนทวี | จะตามตัดเกษีมันเสียบไว้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระเชษฐายิ้มแย้มแจ่มใส |
จึงว่าเจ้าพลั้งพลาดประมาทใจ | พระฤๅษีสอนไว้ไม่ยั้งคิด |
อันเชื้อชาติช้างสารแลงูเห่า | ข้าเก่าเมียรักอย่าวางจิตร |
ทั้งสี่อย่างมักล้างเอาชีวิตร | เจ้าไม่จำทำผิดจึงบรรไลย |
น้อยฤๅอีเถ้าเจ้าเล่ห์ | โว้เว้พานางไปข้างไหน |
จะแก้แค้นแทนทำให้หนำใจ | ตามไปฆ่าเสียให้วอดวาย |
ตรัสพลางทางชวนอนุชา | สองราจรจรัลผันผาย |
เห็นรอยเกลื่อนกลาดที่หาดทราย | สำคัญมั่นหมายตามมา |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ ร่องรอยสูญหายที่ท้ายเมือง | ลดเลี้ยวเที่ยวชำเลืองแลหา |
เห็นแต่ทางลงในคงคา | จึงตรองตรึกปฤกษาพระคาวี |
ดีร้ายยายเถ้าทรชน | พานางนฤมลลงเรือหนี |
น้ำเชี่ยวนักหนาน่านี้ | เห็นทีจะล่องลงไป |
บ้านเมืองทิศนี้จะมีอยู่ | จะตามดูให้สิ้นสงไสย |
ว่าพลางทางพากันคลาไคล | เลียบไปริมแนวนที |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ หลายวันดั้นเดินในป่าชัฏ | มาถึงพัทธวิไสยกรุงศรี |
จึงหยุดยั้งอยู่นอกธานี | แล้วพูดจาพาทีกับน้องชาย |
ครั้งนี้ตัวเราจะเข้าไป | กลัวเกลือกจะไม่เหมือนหมาย |
ถ้าอีเถ้าทรชนคนร้าย | รู้จักทักทายจะเสียที |
จะต้องทำโดยหนักหักหาญ | รบราญต้านต่อไม่พอที่ |
จะป้องปิดกิตติศัพท์ให้ลับลี้ | ให้ได้โดยดีด้วยปรีชา |
พี่คิดจะจำแลงแปลงองค์ | เปนดาบศธุดงค์มาแต่ป่า |
จะแปลงตัวเจ้าเท่าตุ๊กกะตา | อยู่ในย่ามพี่ยาจะพาไป |
ว่าแล้วหลับตาตั้งสติ | ตามลัทธิอาจารย์สอนให้ |
โอมอ่านพระเวทเรืองไชย | จำแลงแปลงได้ดังจินดา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
๏ พี่ชายกลายเพศเปนดาบศ | ทรงพรตงดงามนักหนา |
พระคาวีลงซ่อนกายา | อยู่ในย่ามเชษฐาทันใด |
ครั้นเสร็จสมคิดนิมิตรกาย | ถือไม้เท้าตะพายย่ามใหญ่ |
พัดขนนกป้องหน้าคลาไคล | เดินไปตามตรอกนอกภารา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เที่ยวสืบแสวงหวังจะฟังข่าว | ประชาชาวเรือกสวนถ้วนหน้า |
ไม่รู้เหตุผลคนพูดจา | จึงหยุดอยู่ยังศาลาน่าเวียงไชย |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเปนใหญ่ |
ตั้งแต่ได้จันท์สุดายาใจ | มาไว้ในที่มณเฑียรทอง |
สุดแสนรักใคร่ใหลหลง | นางไม่ปลงประดิพัทธิ์ให้ขัดข้อง |
พระครวญคร่ำดำริห์ตริตรอง | ไฉนหนอนวลลอองจะเอนดู |
ทำเสน่ห์เล่ห์กลก็หลายสิ่ง | นางยิ่งด่าว่าน่าอดสู |
สิ้นตำหรับตำราวิชาครู | เพราะกายกูแก่เกินขนาดไป |
จำจะหามุนีฤๅษีสิทธิ์ | ที่เรืองฤทธิ์ชุบรูปเราเสียใหม่ |
ให้หนุ่มน้อยโสภายาใจ | เห็นจะได้เชยชมสมคิด |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ดำริห์พลางทางมีบัญชา | ตรัสสั่งเสนาคนสนิท |
จงตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วทิศ | หาผู้รู้วิทยาคุณ |
จะให้ชุบรูปกูแก่ชรา | เปนหนุ่มน้อยโสภาพึ่งแรกรุ่น |
ถ้าสมคิดกัลยาการุญ | จะแทนคุณแบ่งเมืองให้กึ่งกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งขมีขมัน |
ถวายบังคมลาออกมาพลัน | แยกกันป่าวร้องรอบบุรี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
สามเส้า
๏ เมื่อนั้น | พระหลวิไชยฤๅษี |
นั่งอยู่ในศาลาริมธานี | ชักประคำทำทีเคร่งครัด |
เห็นเขาป่าวร้องมาตามถนน | ประหลาดอยู่ผู้คนแออัด |
เงี่ยหูนิ่งฟังนั่งมัธยัต | มิได้ตรัสว่าขานประการใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | เสนีตีฆ้องร้องมาใกล้ |
เห็นพระผู้เปนเจ้าก็เข้าไป | หยุดยั้งนั่งไหว้วันทา |
แล้วปราไสไต่ถามพระดาบศ | ทรงพรตงดงามเปนนักหนา |
ได้เรียนร่ำบำเพ็ญภาวนา | รู้วิชาชุปตัวมั่งฤๅไร |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีได้ฟังยังสงไสย |
แกล้งทำสำรวมจิตรใจ | มิใคร่จะพูดจาพาที |
กะทั่งไอกะแอมแย้มเยื้อนถาม | เหตุผลต้นความอย่างไรนี่ |
จะชุบตัวใครเปนไรมี | ความรู้สิ่งนี้เราเรียนไว้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ผู้มีอัชฌาไศรย |
ฟังพระมุนีก็ดีใจ | กราบไหว้เคารพนบน้อม |
จึงบอกว่าท่านท้าวเจ้าภารา | ได้นางจันท์สุดาผมหอม |
เกี้ยวพานพูดจาไม่ยินยอม | ด้วยท้าวเธอแก่หง่อมไม่งดงาม |
จึงตรัสใช้ให้พวกข้าพเจ้า | เที่ยวตีฆ้องร้องเป่าไต่ถาม |
จะหาพระมุนีชีพราหมณ์ | ชุบรูปให้งามพึงใจ |
แม้นนางโฉมยงปลงรัก | ทรงศักดิ์จะแบ่งสมบัติให้ |
พระองค์ทรงญาณชาญไชย | ชุบได้ช่วยเอ็นดูภูมี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหลวิไชยฤๅษี |
รู้ว่าจันท์สุดานารี | ไม่ยินดีด้วยท้าวเจ้าภารา |
นึกชมน้องสใภ้อยู่ในจิตร | สุจริตรักผัวเปนนักหนา |
จำกูจะแก้เผ็ดพระยา | ลวงฆ่าเสียให้มันบรรไลย |
คิดพลางจึงว่ากับเสนี | เปนไรมีรูปพอจะรับได้ |
ถึงอายุแก่เถ้าสักเท่าไร | จะชุบให้หนุ่มน้อยน่าเอนดู |
รูปไม่พอใจดอกออกตัวตน | แต่ได้มานิมนต์ก็จนอยู่ |
เมตตาตั้งมั่นกตัญญู | จะอุปถัมภ์ค้ำชูภูมี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาเชื่อถือพระฤๅษี |
จึงพาผู้เปนเจ้าเข้าบุรี | ยินดีเดินด่วนรีบมา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงวังให้ยั้งหยุดอยู่ | ที่ทิมริมประตูข้างน่า |
เสนีนายใหญ่ก็ไคลคลา | เข้ามาเฝ้าองค์พระทรงยศ |
บังคมทูลแถลงแจ้งเหตุผล | ตามกระแสแต่ต้นไปจนหมด |
จะสมหวังดังหนึ่งมโนรถ | เพราะพระดาบศองค์นี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเกษมศรี |
มาต้อนรับขับสู้พระมุนี | ให้ขึ้นนั่งยังที่แท่นรัตน์ |
พระเคารพนบนอบนมัสการ | ประเคนพานหมากพลูเภสัช |
ร้องเรียกเสนาเข้ามาพัด | ปฏิบัติวัดถากพระอาจารย์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ แล้วตรัสปราไสสนทนา | ด้วยวาจาสุนทรอ่อนหวาน |
ทุกวันนี้มีธุระรำคาญ | เกี้ยวพานผู้หญิงเขาชิงชัง |
เพราะแก่หง่อมผอมซูบรูปร่าง | แก้มคางไม่ครัดเคร่งเปล่งปลั่ง |
ฟันฟางห่างหกระยำมัง | ถอยกำลังพลังลงมากมาย |
ถ้าพระองค์ช่วยชุบให้หนุ่มได้ | โภไคยไอสวรรย์จะปันถวาย |
ทรัพย์สินสิ่งใดไม่เสียดาย | แต่สมหมายหนุ่มงามก็ตามที |
นวลนางจันท์สุดาจะการุญ | ก็เพราะได้พึ่งบุญพระฤๅษี |
ซึ่งจะชุบรูปโฉมโยมนี้ | ต้องตั้งกิจพิธีประการใด |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเสแสร้งแถลงไข |
รูปเปนมุนีชีไพร | โภไคยไอสูรย์ไม่ปูนปอง |
แต่รู้ข่าวว่ามหาบพิตร | มีกิจกังวลหม่นหมอง |
จึงมาช่วยธุระรับรอง | หวังสนองพระคุณภูวไนย |
อันจะตั้งการกิจพิธี | ตามคัมภีร์พรหเมศเพศไสย |
เฉภาะแต่ตัวรูปกับท้าวไท | ใครใครมิให้เข้ามาเล้าลุม |
จงเอาม่านมาบังไว้เจ็ดชั้น | ที่ในนั้นขุดลงให้เปนหลุม |
แล้วเอาฟืนใส่ไฟประชุม | จะอ่านเวทชุมนุมเทวา |
เชิญท้าวเข้านั่งในกองไฟ | สำรวมใจหลับเนตรทั้งซ้ายขวา |
จึงจะชุบบพิตรด้วยวิทยา | ให้โสภาหนุ่มน้อยนงเยาว์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชคนโหดโฉดเฉา |
งวยงงหลงใหลด้วยใจเบา | ไม่รู้เท่าเล่ห์กลพระมุนี |
จึงตรัสสั่งเสนีขมีขมัน | จงเกณฑ์กันปันปักน่าที่ |
ขุดหลุมสุมใส่อัคคี | เราจะตั้งพิธีชุบตัว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งพระอยู่หัว |
รีบเร่งออกมาด้วยความกลัว | บอกกันทุกทั่วพนักงาน |
บ้างขุดหลุมสุมฟืนใส่ไฟ | แล้วปักไม้หลักมั่นกั้นม่าน |
บ้างปัดปูเสื่อสาดดาดเพดาน | ทำตามภูบาลบัญชา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเร่งหรรษา |
จึงชำระสระสรงคงคา | แล้วทรงผ้าพื้นขาวเขียนทอง |
ทรงสพักปักตะนาวขาวสอาด | เข็มขัดคาดถักสายลายสอง |
ครั้นเสร็จสมคิดดังจิตรปอง | ก็เยื้องย่องเข้าไปในม่านบัง |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีชื่นชมสมหวัง |
จึงจูงท้าวก้าวขึ้นบนบัลลังก์ | สอนให้นั่งผินหน้าเข้าหาไฟ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชร้อนเหลือจนเหงื่อไหล |
ลุกทลึ่งตึงตังตกใจ | แล้วว่าทนไม่ได้พระมุนี |
เอออะไรให้นั่งริมกองเพลิง | เนื้อหนังจะปอกเปิงเสียแล้วนี่ |
มันจะงามมิงามก็ตามที | เช่นนี้แล้วเห็นไม่เปนการ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบศยิ้มพลางทางว่าขาน |
ใจคอท้อแท้ไม่ทนทาน | จะทำให้เสียการเสียทั้งคราว |
แต่ถูกร้อนนิดหนึ่งก็ถอยหนี | นี่ฤๅยังจะมีเมียสาว |
รู้กระนี้ขี้คร้านชุบท้าว | เอออะไรใจราวกับปลาซิว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชฟังว่าทำหน้านิ่ว |
สุดที่จะคิดบิดพลิ้ว | จึงนบนิ้ววอนว่าพระมุนี |
ข้าดูไฟในหลุมเหลือกำลัง | ทั้งที่นั่งหมิ่นนักพระฤๅษี |
ถ้าแม้นพลัดผลุงลงตรงอัคคี | ราวกะตกอวิจีเปนจุณไป |
อย่าเพ่อโกรธโปรดเถิดพระอาจารย์ | ช่วยคิดอ่านยักหาตำราใหม่ |
อย่าให้ต้องกองฟืนใส่ไฟ | จะไม่ได้เจียวฤๅพระสิทธา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเสแสร้งแกล้งว่า |
ฤๅท้าวไทไม่เชื่อวิทยา | จะให้เห็นแก่ตาเสียด้วยกัน |
ว่าพลางทางหยิบเอาขี้ผึ้ง | มาเคล้าคลึงต่อติดประดิษฐ์ปั้น |
เปนรูปคนเสร็จสรรพฉับพลัน | ให้ท้าวสันนุราชทัศนา |
เราจะชุบรูปนี้ด้วยเวทมนต์ | ให้เปนคนน่ารักหนักหนา |
ท้าวจงผินหลังนั่งหลับตา | อย่าผันแปรแลมาข้างนี้ |
ว่าพลางทางทำเล่ห์กล | ปากบ่นบริกรรมทำอู้อี้ |
แล้วผลักรูปปั้นนั้นทันที | ตกกลางอัคคีละลายไป |
จึงเอาพระคาวีออกจากย่าม | จะให้เห็นสมความว่าชุบได้ |
นั่งแทนรูปปั้นไว้ทันใด | สกิดให้พระยาลืมตาดู |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสันนุราชเขม้นอยู่เปนครู่ |
หมายว่ารูปปั้นไม่ทันรู้ | พิศดูงามประกอบชอบอารมณ์ |
จึงผินมาว่ากับพระมุนี | แต่อย่างนี้ก็งามเสียมิถม |
จงโปรดช่วยชุบข้าด้วยอาคม | ให้โสภาน่าชมเหมือนรูปนี้ |
โยมจะไปนั่งอยู่อย่างเก่า | ถึงร้อนเร่าเท่าไรไม่ถอยหนี |
แล้วลุกเข้าไปใกล้อัคคี | ภูมีนั่งนิ่งพนมมือ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระดาบศเห็นท้าวเธอเชื่อถือ |
แกล้งหยิบเอาพัดปัดกระพือ | ให้เพลิงฮือสมหวังดังใจ |
แล้วเดินเวียนวนบ่นบริกรรม | งึมงำพึมพำเข้ามาใกล้ |
ได้ทีผลักท้าวเจ้ากรุงไกร | คะมำม้วนลงไปในอัคคี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง โอด
๏ เห็นม้วยมุดคุดคู้อยู่ในหลุม | เอาฟืนสุมใส่เข้าเหมือนเผาผี |
ทรากศพโทรมสิ้นก็ยินดี | ท่อยทีสรวลสันต์สำราญใจ |
จึงให้น้องแต่งองค์ทรงเครื่อง | แทนท้าวเจ้าเมืองที่ม้วยไหม้ |
แล้วสั่งคนข้างนอกออกไป | เร่งให้ประโคมขึ้นบัดนี้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พนักงานสังคีตดีดสี |
แตรสังข์กังสดาลดนตรี | ประโคมขึ้นอึงมี่นี่นัน |
ฯ ๒ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จึงดำเนินเดินตามพระน้องนั้น | ออกจากม่านกั้นมิทันช้า |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ขึ้นยังพระโรงรัตน์รูจี | นั่งเหนือแท่นมณีที่ข้างน่า |
พร้อมหมู่อำมาตย์มาตยา | เข้ามาเฝ้าแหนแน่นไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาข้าเฝ้าน้อยใหญ่ |
เห็นพระองค์ทรงโฉมประโลมใจ | ตลึงตไลแลดูไม่พริบตา |
พิศไหนไม่เสียแต่สักสิ่ง | งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า |
ต่างบังคมชมโฉมพระราชา | สำคัญว่าท่านท้าวเจ้ากรุงไกร |
บ้างชมวิทยาพระอาจารย์ | เชี่ยวชาญชุบแก่เปนหนุ่มได้ |
แซ่ซ้องร้องอำนวยอวยไชย | อื้ออึงคนึงไปทุกตัวคน |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีนิ่งคิดขัดสน |
จะทักทายเสนาสามนต์ | ไม่รู้จักสักคนก็จนใจ |
จำจะพูดย้อนยอกหลอกลวง | มิให้คนทั้งปวงสงไสย |
คิดพลางทางตรัสประภาษไป | เราชุบตัวใหม่ยังไม่สบาย |
ใจจิตรคิดเฟือนไม่เหมือนเก่า | ลืมบรรดาข้าเฝ้าทั้งหลาย |
ใครเปนที่หมื่นขุนมุลนาย | จดหมายรายชื่อมาให้เรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ แล้วเสแสร้งแกล้งว่ากับดาบศ | นิมนต์งดอยู่ก่อนผู้เปนเจ้า |
สักสองวันสามวันพอบันเทา | ให้ใจคอคงเก่าจึงค่อยไป |
ว่าพลางทางชวนพระฤๅษี | ลงจากที่แท่นทองผ่องใส |
ยุรยาตรเยื้องย่างเข้าข้างใน | ใส่ไคล้ให้เหมือนเจ้าธานี |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางคันธมาลีมเหษี |
มาคอยรับเสด็จพระสามี | อยู่ที่ฉากกั้นชั้นใน |
เห็นพระคาวีดำเนินมา | สำคัญว่าท้าวผัวชุบตัวใหม่ |
น้อยฤๅรูปร่างช่างกะไร | งามล้ำเหลือใจเจียวพ่อคุณ |
หนุ่มน้อยน่ารักหนักหนาหนอ | ปากคอคิ้วตาเหมือนหน้าหุ่น |
ท่วงทีทอดกรอ่อนลมุน | ให้ว้าวุ่นพิศวาศเพียงขาดใจ |
จึงวิ่งออกไปรับถึงลับแล | จะเจียมตัวว่าแก่ก็หาไม่ |
ชม้อยชม้ายชายดูภูวไนย | ยิ้มใหญ่ยิ้มน้อยลอยหน้าตา |
กราบถวายบังคมชมโฉมผัว | ช่างชุบตัวใหม่เหมาะเปนนักหนา |
ดูไหนให้ประกอบชอบอัชฌา | กัลยานิยมสมคิด |
เห็นพระเฉยเชือนไม่เยื้อนทัก | ความรักยื่นมือมาสกิด |
แกล้งทำเลียมและกระแชะชิด | สบิ้งสบัดดัดจริตกิริยา |
นิจจาเอ๋ยพระทูลกระหม่อมแก้ว | ลืมเมียเสียแล้วกระมังหนา |
ไม่ผินภักตร์ทักทายพูดจา | ฤๅเห็นแก่ชราจะหย่าร้าง |
เมื่อท้าวหนุ่มข้าสาวคราวนั้น | สัญญากันว่าไม่ทิ้งขว้าง |
เดี๋ยวนี้มาสเทินเขินค้าง | จะพูดกับเมียบ้างเปนไรมี |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีขวยเขินเมินหน้าหนี |
นึกในใจพลางนางคนนี้ | จะเปนมเหษีแล้วดีร้าย |
ท่วงทีอีเถ้ามิใช่ชั่ว | หน้าเปนเล่นตัวใจหาย |
จะเสแสร้งแกล้งทำทักทาย | ก็คิดอายอดสูไม่รู้ฤทธิ์ |
เห็นนางเข้ามาว่าจู้จี้ | น่าบัดสีขี้เกียจเกลียดจริต |
เมินหนีเสียมิได้เข้าใกล้ชิด | แล้วสกิดดาบศให้ตอบความ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระฤๅษีเสแสร้งแกล้งร้องห้าม |
สีกาอย่าด่วนลวนลาม | เดินตามติดพันกระนั้นนัก |
ท้าวเธอพึ่งชุบตัวใหม่ | หลงใหลลูกเมียไม่รู้จัก |
ชะช่างชำเลืองเยื้องยัก | จะวัดถูกจมูกหักเสียสักที |
ฉวยกระไรไม่รู้นะสีกา | แล้วอย่าติโทษโกรธฤๅษี |
บอกให้รู้ตัวแต่หัวที | ถ้าแม้นมิฟังห้ามก็ตามใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางคันธมาลีหลงใหล |
สาละวนแลดูภูวไนย | รักใคร่รูปโฉมโนมพรรณ |
ได้ยินพระสิทธาเธอร้องห้าม | นางสเทินเขินขามคิดพรั่น |
หยุดยั้งรั้งรอไม่จรจรัล | แล้วเลี้ยวไปยืนกั้นหน้าไว้ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีเคืองขัดอัชฌาไศรย |
ดำเนินเดินหนีนางไป | ขึ้นสู่ปราสาทไชยไพชนต์ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ นั่งเหนือแท่นรัตน์ชัชวาลย์ | สาวสนมหมอบกรานอยู่เกลื่อนกล่น |
พระชายเนตรดูทั่วทุกตัวคน | ใส่กลมิให้ใครกินใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำนัลนางต่างคนไม่สงไสย |
สำคัญมั่นหมายว่าท้าวไท | ชุบตัวมาใหม่เปนเที่ยงแท้ |
น่ารักน่าชมคมสัน | สารพันดีกว่าเมื่อยังแก่ |
รูปร่างรัดกุมหนุ่มฟ้อแฟ้ | พิศวงหลงแลไม่วางตา |
นางกำนัลบรรดาที่โปรดปราน | ต่างคลานเข้าไปเฝ้าจะเอาหน้า |
ชม้ายชม้อยคอยรับไนยนา | เสนหาทรงธรรม์พันทวี |
เหล่าพวกเจ้าจอมหม่อมอยู่งาน | เข้าไปตั้งเครื่องอานพานพระศรี |
ลางนางบ้างอยู่งานพัชนี | ท่วงทีทำนองในใช้ชิด |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายเถ้าทัศประสาทประหลาดจิตร |
แอบประตูดูองค์พระทรงฤทธิ์ | ยิ่งพิศยิ่งเหมือนพระคาวี |
เฝ้าเขม้นเห็นกูก็มึนตึง | โกรธขึ้นเข่นเขี้ยวอยู่เจียวนี่ |
ผิดทำนองท่านท้าวเจ้าธานี | ขยับหนีถอยหลังบังประตู |
นี่ผัวนางจันท์สุดายาใจ | จำได้ประจักษ์ทักแท้อยู่ |
ยิ่งแฝงยิ่งตะแคงตาดู | จะเล่นกูแล้วกระมังครั้งนี้ |
เห็นท้าวขยับกลับพระเพลา | กลัวตายยายเถ้าขยดหนี |
ตกใจคิดว่าจะฆ่าตี | ด้วยตัวผิดภูมีแค้นเคือง |
ครั้งนี้ไม่รอดเห็นวอดวาย | ถ้าแม้นมิตายก็คางเหลือง |
ถึงอยู่ไปก็ไม่รุ่งเรือง | จะมีแต่ได้เคืองเวทนา |
ท้าวจะเฆี่ยนจะริบคงฉิบหาย | จะไปโจนน้ำตายเสียดีกว่า |
คิดพลางสอื้นไห้ไปมา | เช็ดน้ำมูกน้ำตาฟูมฟาย |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีดาลเดือดไม่เหือดหาย |
คิดแค้นอีเถ้าแสนร้าย | มาดหมายจะทำให้หนำใจ |
จะผูกเข้าเฆี่ยนขับนับร้อย | ตบต่อยให้หนักหนาไม่ปราไส |
ทั้งเจ็ดโคตรเค้ามันเท่าไร | จะตัดหัวเสียไม่ไว้มัน |
ครั้นจะฆ่าตีเดี๋ยวนี้เล่า | พวกเสนาข้าเฝ้าจะหวาดหวั่น |
จำจะงดอดไว้ให้หลายวัน | ป้องกันควันความให้งามดี |
คิดพลางทางสั่งเปรยไป | กำนัลในใครชอบกับโฉมศรี |
จงไปบอกจันท์สุดานารี | เชิญนางเทวีให้ขึ้นมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กำนัลนางต่างคนจะเอาหน้า |
ชิงกันรับสั่งบังคมลา | รีบมาปราสาทนางโฉมยง |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปทูล | ว่าพระนเรนทร์สูรสูงส่ง |
บัดนี้ฤๅษีชุบพระองค์ | รูปทรงโสภาน่ารัก |
ถึงแม่จะเปนมเหษี | ไม่เสียทีงามสมทั้งยศศักดิ์ |
ภูวไนยคิดถึงคนึงนัก | ให้เชิญองค์นงลักษณ์เสด็จไป |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | จันท์สุดาเคืองขัดอัชฌาไศรย |
จึงขับนางกำนัลทันใด | ออกไปเสียอย่ามาพาที |
ให้พระอินทร์ลงมาเขียวเขียว | ก็ไม่เหลียวแลดูอย่าจู้จี้ |
ไม่ขอพบขอเห็นเช่นนี้ | จะสู้ม้วยชีวีมิขอไป |
ว่าพลางนางผินผันภักตร์ | คิดถึงผัวรักก็ร่ำไห้ |
ชลเนตรฟูมฟองนองไนย | ทรามไวยข้อนทรวงเข้าโศกี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | กำนัลในเล้าโลมนางโฉมศรี |
เชิญเสด็จไปเฝ้าพระภูมี | จะได้ลากขากดีนะทรามเชย |
แม่อย่ารัญจวนครวญคร่ำ | จงแต่งองค์สรงน้ำสว่ำเสวย |
ปลอบโยนเท่าไรไม่ไปเลย | ฟ้าผี่เถิดเอ๋ยน่าแค้นใจ |
บรรดาฝูงกำนัลชวนกันปลอบ | นางจะตอบวาจาก็หาไม่ |
ต่างคิดขัดสนเปนพ้นไป | บังคมไหว้แล้วรีบกลับมา |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงทูลพระโฉมยง | ข้าไปเชิญองค์ขนิษฐา |
อ้อนวอนเท่าไรไม่ไคลคลา | เฝ้าโศกาครวญคร่ำร่ำไร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีฟังแจ้งแถลงไข |
มิได้ว่าขานประการใด | ภูวไนยนิ่งนึกตรึกตรา |
จำจะไปเล้าโลมโฉมงาม | ให้รู้ว่าพี่ตามมาหา |
คิดพลางทางชวนพระสิทธา | ลีลามาปราสาทนางเทวี |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงช้า
๏ ครั้นถึงจึงเห็นพระน้องรัก | กรรแสงซบภักตร์อยู่ในที่ |
นั่งลงกับองค์พระมุนี | แล้วพาทีดูทำนองลองใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | นี่จะเฝ้าโกรธขึ้งไปถึงไหน |
พี่มาหาน้องถึงห้องใน | เอออะไรไม่ผินมาพูดจา |
แม้นพี่เถ้าแก่เหมือนแต่ก่อน | จะเคืองขัดตัดรอนก็ไม่ว่า |
บัดนี้นิมนต์พระสิทธา | ช่วยชุบพี่ยาเปนหนุ่มแล้ว |
รูปงามนักหนาไม่ว่าเล่น | สมเปนคู่ครองกับน้องแก้ว |
ยศศักดิ์ประเสริฐเพริศแพร้ว | เห็นแวววนิดาจะปรานี |
ถึงรูปร่างผัวเก่าที่เจ้ารัก | ไม่กะไรกันนักนะโฉมศรี |
จงผินผันหันหน้ามาข้างนี้ | ดูพี่ให้เห็นก็เปนไร |
กลัวแต่อุแม่เอ๋ยนางโฉมยง | จะต้องจิตรพิศวงหลงใหล |
ว่าพลางทางทำกระแอมไอ | แย้มยิ้มละไมไปมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | จันท์สุดาได้ฟังนั่งก้มหน้า |
สำคัญว่าท้าวเจ้าภารา | กัลยามิได้ประดิพัทธ์ |
ให้เคืองขุ่นหุนหันผันหลัง | แค้นคั่งชังชิงสบิ้งสบัด |
ขี้คร้านฟังนั่งยกก้นฟัด | สองหัดถ์ปิดกรรณเสียทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระคาวีเห็นนางยังสงไสย |
จึงเสแสร้งแกล้งพูดเปนใน | หวังจะให้โฉมตรูรู้ความ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ไม่พอที่จะสเทินเขินขาม |
พี่สู้แสนทรมาพยายาม | เพราะนางรูปงามทรามชม |
ตามใจสารพัดไม่ขัดข้อง | ถนอมน้องต้องจิตรสนิทสนม |
ยากที่ตรองตรึกนึกนิยม | เหมือนเส้นผมบังภูเขาเลากา |
น้องฤๅเสียแรงรักใคร่ | ขอบใจเจ้านักขนิษฐา |
ลวงถามความลับภัศดา | แล้วมาย้อนยอกบอกยาย |
แยบยนต์กลในมิใช่ชั่ว | ฆ่าผัวเสียได้ดังใจหมาย |
สมคเนนวลนางช่างอุบาย | จะฟูมฟายชลนาอยู่ว่าไร |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | จันท์สุดาสาละวนร่ำไห้ |
ก้มหน้านิ่งอยู่ไม่ดูไป | ฟังเสียงเสียวใจเหมือนผัวรัก |
เรื่องราวกล่าวความก็งามสม | ลิ้นลมเหน็บแนมแหลมหลัก |
ผิดกับตาเถ้าเจ้าเมืองนัก | นงลักษณ์นิ่งนึกประหลาดใจ |
ครั้นจะว่าพระคาวีผัวแก้ว | ตายแล้วจะตามมาที่ไหนได้ |
คิดพลางทางทรงโศกาไลย | ทรามไวยข้อนอุระประปราน |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีจิตรคิดสงสาร |
จึงเล้าโลมโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | จงดำริห์ตริการก่อนเปนไร |
เสียงท้าวคราวแก่กับเดี๋ยวนี้ | มารศรีฟังเห็นเปนไฉน |
เคยได้ยินกับหูรู้กับใจ | ไม่จำได้ฤๅเจ้าจึงโศกี |
อย่าก้มภักตร์เศร้าสร้อยละห้อยจิตร | จงดูรูปนิมิตรฤๅษี |
ถึงไม่เหมือนก็แม้นพระคาวี | จงแลดูภูมีให้เต็มตา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางโฉมยงสงไสยเปนนักหนา |
พลางชม้ายชายดูพระราชา | เหมือนองค์ภัศดาสามี |
ยิ้มเยื้อนเหมือนสิ้นทุกสิ่งสรรพ์ | สารพันพิศดูถ้วนถี่ |
มั่นคงนี่องค์พระคาวี | ภูมีไม่ตายตามมา |
พระดาบศองค์นี้อยู่ที่ไหน | ฤๅเชษฐาภูวไนยกระมังหนา |
จะถามไถ่ให้แจ้งกิจจา | กัลยาประหวั่นครั่นคร้าม |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีเห็นนางระคางขาม |
จึงขยดเข้าไปใกล้โฉมงาม | แล้วกระซิบบอกความแต่เบาเบา |
นี่พระคาวีฤๅมิใช่ | ยังหลงใหลจิกปีกอยู่อิกเล่า |
สามีมั่นคงแล้วนงเยาว์ | มิใช่อ้ายเถ้าทรลักษณ์ |
จึงแจ้งตามความลับแต่หลังนั้น | ทุกสิ่งสรรพ์พรรณาให้พระจักษ์ |
เจ้าอย่าสเทินเมินภักตร์ | จงทายทักพูดจากับสามี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางจันท์สุดามารศรี |
ฟังพระสิทธาพาที | เทวีรู้แจ้งไม่แคลงใจ |
กราบลงกับบาททั้งสององค์ | โฉมยงครวญคร่ำร่ำไห้ |
เพียงจะพินาศขาดใจ | ทูลขออไภยภัศดา |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้พระทูลกระหม่อมของเมียแก้ว | เมียนี้ผิดแล้วเปนหนักหนา |
ไม่รู้กลอีเถ้าเจ้ามารยา | วอนว่าไต่ถามเอาความลับ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นใจ | มันไส้หนักหนาน่าเสี่ยงสับ |
อกเมียดังพระเมรุเอนทับ | แต่นั่งนับคืนวันจะบรรไลย |
ร่ำพลางนางทรงโศกี | พระคาวีโศกศัลย์ไม่กลั้นได้ |
เชษฐาดาบศสลดใจ | พลอยร่ำไห้ไม่เปนสมประดี |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด