- คำนำ
- นิทานเรื่องไชยเชฐ เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไชยเชฐ
- นิทานเรื่องสังข์ทอง เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ทอง
- นิทานเรื่องไกรทอง เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไกรทอง
- กลอนตำนานเรื่องพระราชนิพนธ์ไกรทอง
- นิทานเรื่องมณีพิไชย เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องมณีพิไชย ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิไชยไปเปนทาษ
- นิทานเรื่องมณีพิไชย ตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- นิทานเรื่องคาวี (เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเรื่องเสือโค) เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องคาวี
- เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชยตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทึ่ทรงพระราชนิพนธ์บทลคร
ตอนที่ ๑ พระสังข์หนีนางพันธุรัต
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางพันธุรัตยักษี |
แต่ว่างเว้นเปนหม้ายมาหลายปี | สามีมอดม้วยด้วยไข้พิศม์ |
ได้ลูกน้อยหอยสังข์มาเลี้ยงไว้ | รักใคร่เปนบุตรสุจริต |
ฟักฟูมอุ้มชูชมชิด | ลืมคิดถึงผัวของตัวตาย |
เมื่อเวรามาติดตามทัน | นางนั้นจะสิ้นบุญสูญหาย |
ให้ร้อนเนื้อเดือดใจไม่สบาย | จะผันผายไปป่าพนาวัน |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงอุ้มองค์พระสังข์นั่งตัก | โลมลูบจูบภักตร์แล้วรับขวัญ |
วันนี้แม่จะลาไปอารัญ | สายัณห์เลี้ยวลับจะกลับมา |
แล้วกำชับสาวศรีพี่เลี้ยง | จงถนอมกล่อมเกลี้ยงโอรสา |
ตามใจอย่าให้โกรธา | เคืองขัดอัธยาสิ่งใด |
สั่งพลางย่างเยื้องยุรยาตร | จากปราสาทเรืองรองผ่องใส |
มาลับตาลูกน้อยกลอยใจ | อรไทยเปลี่ยนแปลงกายา |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดใจรูปร่างเปนนางยักษ์ | ล่ำสันคึกคักนักหนา |
ถือตระบองป้องภักตร์ทำศักดา | ดั้นดงตรงมาพนาลี |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวใน เชิด
๏ ครั้นถึงหิมวาป่าสูง | เห็นฝูงเนื้อเบื้อเสือสีห์ |
นางยักษ์อยากกินก็ยินดี | เข้าไล่ตีเลี้ยวลัดสกัดสแกง |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พิฆาฏฆ่าโคกะทิงมหิงษา | ด้วยกำลังฤทธากล้าแขง |
โจนจับฉับเฉียวเรี่ยวแรง | หักแข็งขาไว้ในดงดาล |
ตัวไหนพ่วงพีมีมัน | เลือกสรรกินเล่นเปนอาหาร |
กะดูกกะเดี้ยวเคี้ยวป่นไม่ทนทาน | คชสารควายวัวตัวละคำ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นางกินเหลือล้นจนเรอ | ท้องไส้เอ้อเร้ออิ่มหนำ |
ลงล้างปากล้างคอในบ่อน้ำ | พอพลบค่ำย่ำแสงสนธยา |
จึงไปยังที่หยุดพัก | เคยสำนักแรมทางกลางป่า |
ปัดผงลงนอนในศาลา | นิทรากลิ้งกลับจนหลับไป |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | องค์พระสังข์ทองผ่องใส |
ราตรีเข้าที่บรรธมใน | ถอนฤทัยรำฦกตรึกตรา |
คิดถึงชนนีที่เกิดเกล้า | จะโศกเศร้าทุกข์ทนบ่นหา |
แต่มาอยู่เมืองมารก็นานช้า | ไม่รู้ว่าจะเปนตายร้ายดี |
ซึ่งกูจะหลงอยู่ในเมืองยักษ์ | แม้นมิลักรูปเงาะเหาะหนี |
ที่ไหนจะได้เห็นชนนี | นับปีเดือนแล้วจะแคล้วไป |
จำจะคิดติดตามสืบหา | ให้พบพานมารดาจงได้ |
วันนี้แม่พันธุรัตไปแรมไพร | ได้ช่องคล่องใจจะไคลคลา |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นกลางคืนดื่นดึกเดือนเที่ยง | เห็นพี่เลี้ยงหลับสนิทถ้วนหน้า |
ค่อยย่องลงจากเตียงเมียงออกมา | จากห้องไสยาทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ลอบลงชุบองค์ในบ่อทอง | ผิวเนื้อนวลลอองผ่องศรี |
เปนทองคำธรรมชาติชาตรี | สมถวิลยินดีดังใจคิด |
แล้วขึ้นไปบนปราสาทไชย | ที่ไว้รูปเงาะศักดิ์สิทธิ์ |
หยิบขึ้นแลเล็งเพ่งพิศ | ขุกคิดขึ้นมาก็อาไลย |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้อนิจามารดาเลี้ยง | เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงรักใคร่ |
แสนสนิทพิศวาศดังดวงใจ | มิให้ลูกยาอนาทร |
พระคุณล้ำลบจบดินแดน | ยังมิได้ทดแทนพระคุณก่อน |
วันนี้จะพลัดพรากจากจร | มารดรค่อยอยู่จงดี |
แม้นลูกไปไม่ม้วยมรณา | จะกลับมากราบบาทบทศรี |
ร่ำพลางทางทรงโศกี | อยู่ที่ปราสาทเพียงขาดใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นคลายทุกข์ขุกคิดขึ้นมา | จะอยู่ช้าฉนี้ก็มิได้ |
เกลือกว่ามารดามาแต่ไพร | หนีไปไม่ทันจะเสียการ |
เอารูปเงาะสวมองค์ทรงเข้าแล้ว | ใส่เกือกแก้วถือไม้เท้าห้าวหาญ |
เหาะขึ้นเวหาเหินทยาน | ออกจากเมืองมารรีบมา |
ฯ ๔ คำ ฯ กลม เชิด
๏ เหาะระเห็จเจ็ดคืนถึงเขาหลวง | สูงกว่าเขาทั้งปวงที่ในป่า |
พอสิ้นกำลังวังชา | เหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าเต็มที |
จำจะหยุดพักสักน่อยก่อน | ทินกรร้อนแรงแสงสี |
จึงเลื่อนลงยังยอดคิรี | จรลีเข้าใต้ร่มไทร |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พวกพี่เลี้ยงนางนมน้อยใหญ่ |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงสุริโยไทย | นางในต่างฟื้นตื่นตา |
ม้วนที่นอนหมอนข้างเก็บงำ | ฉวยขันตักน้ำมาล้างหน้า |
แล้วเข้าไปในที่ไสยา | แลหาไม่เห็นพระสังข์ทอง |
ตกประหม่าตาขาวคิดฉงน | ฝูงนางต่างตนเร่งหม่นหมอง |
ชวนกันลดเลี้ยวเที่ยวมอง | ทุกแห่งห้องตำหนักนอกใน |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ ค้นคว้าหาทั่วที่เคยเล่น | จะประสบพบเห็นก็หาไม่ |
ต่างตีอกชกหัวร่ำไร | ครั้งนี้ที่ไหนจะรอดตาย |
แม้นแม่พันธุรัตมาแต่ป่า | จะตีด่าดุเดือดไม่เหือดหาย |
จะปลิ้นปลอกออกตัวยักย้าย | ด้วยแยบคายแก้ไขเห็นไม่ฟัง |
ปรับทุกข์กันทุกคนบ้างบนผี | เอนดูช่วยสักทีพอรอดหลัง |
บ้างว่าเลี้ยงลูกเจ้าเฝ้าคลัง | มักมีไภยสมดังว่ามา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | นางพันธุรัตยักษา |
เที่ยวป่าเล่นสบายหลายเวลา | ก็เหาะกลับคืนมายังเมืองมาร |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงปราสาทมณีที่สำนัก | ร้องเรียกลูกรักก็ไม่ขาน |
แลหาแห่งไรไม่พบพาน | นางมารหวั่นหวาดประหลาดใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพี่เลี้ยงนางนมน้อยใหญ่ |
เห็นนางยักษามาแต่ไพร | กลัวไภยภาวนาละล้าละลัง |
แต่เขยื้อนขยับลับล่อ | เข้าไปแล้วให้ท้อถอยหลัง |
จึงก้มเกล้าเล่าเหตุให้ฟัง | พระลูกน้อยหอยสังข์นั้นหายไป |
ข้าเที่ยวค้นหานักหนาแล้ว | จะพบพระลูกแก้วก็หาไม่ |
เล่าพลางต่างคนก็ร่ำไร | ขอชีวิตรไว้อย่าฆ่าตี |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพันธุรัตยักษี |
ได้ฟังดังจะสิ้นสมประดี | เอออะไรกระนี้อีพี่เลี้ยง |
กูไว้ใจให้อยู่กับลูกรัก | คอยพิทักษ์ถนอมกล่อมเกลี้ยง |
ช่างละให้หายไปจากวังเวียง | มันน่าเสี่ยงสับซ้ำให้หนำใจ |
ว่าพลางนางร่ำโศกา | น้ำตาแถวถั่งหลั่งไหล |
ไปเปิดดูบ่อทองเห็นพร่องไป | เร่งพะวงสงไสยไม่รู้แล้ว |
มาดูรูปเงาะป่าไม่ปรากฏ | หายหมดทั้งไม้เท้าและเกือกแก้ว |
ลูกน้อยกลอยสวาดิเจ้าคลาศแคล้ว | หนีแม่ไปแล้วนะอกอา |
จะอยู่ช้าฉนี้ก็มิได้ | จำจะเร็วรีบไปตามหา |
จึงขึ้นหอคอยสูงลอยฟ้า | ตีกลองสัญญาเข้าเจ็ดที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | พวกพลกุมภัณฑ์ภูตผี |
ทั้งหมู่อสูรศักดิ์ยักขินี | ได้ยินเสียงเภรีสัญญา |
ไม่แจ้งเหตุเภทผลกลใด | ต่างตระหนกตกใจเปนหนักหนา |
สำแดงแผลงอิทธิฤทธา | ชวนกันเหาะมายังเมืองมาร |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นเอยครั้นถึง | จึงคลานเข้ามายังน่าฉาน |
ไหว้พลางทางถามมิทันนาน | เหตุการณ์อะไรมีจึงตีกลอง |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พันธุรัตร้อนเร่าเศร้าหมอง |
จึงแถลงเล่าความตามทำนอง | เจ้าสังข์ทองลูกรักของเรานี้ |
ลอบลักรูปเงาะแลเกือกแก้ว | สวมใส่เข้าแล้วก็เหาะหนี |
เร่งไปตามหาอย่าช้าที | วันนี้ให้ได้ตัวมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึงหมู่อสูรศักดิ์ยักษา |
คำนับรับคำแล้วอำลา | นฤมิตรกายากำยำ |
เหาะเหินเที่ยวหาในป่ากว้าง | ทุกทิศทุกทางเถื่อนถ้ำ |
แยกไปบกบ้างไปข้างน้ำ | ต่างสำแดงเดชเกรียงไกร |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์นั่งอยู่บนเขาใหญ่ |
เห็นมืดมิดปิดแสงอโณไทย | เสียงสนั่นหวั่นไหวนี่นัน |
จึงคิดว่าดีร้ายอสุรา | ติดตามเรามาเปนแม่นมั่น |
จวนตัวเต็มทีหนีไม่ทัน | จำจะผ่อนผันด้วยปัญญา |
พระจึงถอดรูปเงาะออกซ่อนไว้ | ขึ้นนั่งบนต้นไทรสาขา |
ทำเปนเช่นรุกขเทวา | พลางนึกภาวนาอยู่ในใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ รัว เชิด (ยักษ์ออก)
๏ บัดนั้น | หมู่มารทหารน้อยใหญ่ |
เห็นพระสังข์นั่งอยู่บนต้นไทร | มิได้รู้จักแต่สักตน |
เพ่งพิศดูพลางไม่วางตา | คิดว่าเทวาในไพรสนฑ์ |
ผิวพรรณผุดผาดประหลาดคน | ให้งวยงงฉงนสนเท่ห์ใจ |
จึงถามว่าดูก่อนเทวา | เห็นเจ้าเงาะเหาะมามั่งฤๅไม่ |
อย่าแกล้งกล่าวคำอำไว้ | จงบอกไปตามจริงบัดนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ฟังคำยักษี |
บอกพลางทางยกมือชี้ | เห็นเหาะไปทิศนี้นะขุนมาร |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยักษาได้ฟังว่าขาน |
ดีใจเสือกสนลนลาน | เหาะทยานติดตามไปพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ตริตรึกนึกพรั่น |
แต่กูเหาะรเห็จมาเจ็ดวัน | มันยังตามทันด้วยฤทธิไกร |
จะอยู่ก็ใช่ไม่ชอบกล | หนีไปจะพ้นมันที่ไหน |
ให้คิดขัดสนจนใจ | จะแก้ตัวต่อไปอย่างไรดี |
พลางตั้งจิตรพิศฐานด้วยสัจจา | คุณพระมารดาปกเกษี |
จงค้ำชูช่วยข้าครานี้ | อย่าให้มีอันตรายสิ่งใด |
ถึงแม่พันธุรัตจะพบข้า | ขออย่าให้ขึ้นมาบนเขาได้ |
ให้ลูกแก้วตัวรอดปลอดไภย | พลางยกมือไหว้ภาวนา |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | นางพันธุรัตยักษา |
เรียกเหล่าบ่าวไพร่มิได้ช้า | ออกจากภารารีบตามไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาเอยมาถึง | ซึ่งเนินบรรพตภูเขาใหญ่ |
แลไปเห็นคนบนต้นไทร | งามวิไลผิวผ่องดังทองทา |
ยืนพินิจพิศเพ่งอยู่เปนครู่ | ลูกรักของกูแล้วสิหน่า |
ตบมือหัวเราะทั้งน้ำตา | ร้องเรียกลูกยาด้วยยินดี |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ นั่งอยู่ไยนั่นพ่อขวัญเข้า | ขัดเคืองอะไรเล่าเจ้าจึงหนี |
มาเถิดทูลหัวอย่ากลัวตี | ดูเอาเถิดซียังมิมา |
นางร้องไห้ร่ำแล้วซ้ำเรียก | ปีนตะกายตะเกียกขึ้นไปหา |
ด้วยเดชะอำนาจสัตยา | พเอิญให้เลื่อยล้าสิ้นกำลัง |
พลัดตกหกล้มนอนตะแคง | ขาแข้งสีข้างขัดขึ้นดัดหลัง |
โศกีตีอกเพียงจะพัง | ทรุดนั่งกระแทกก้นจนใจ |
ลูกน้อยกลอยสวาดิของมารดา | แม่บำรุงเลี้ยงมาจนใหญ่ |
มิให้ระคายเคืองสิ่งใด | เจ้าหนีแม่มาได้ช่างไม่คิด |
แม่อุส่าห์มาตามด้วยความรัก | เจ้าไม่พูดไม่ทักแต่สักหนิด |
อกแม่จะแตกตายวายชีวิตร | สุดคิดอยู่แล้วนะลูกยา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏เมื่อนั้น | พระสังข์ฟังคำที่ร่ำว่า |
ให้คิดสงสารมารดา | นบนิ้ววันทาแล้วตอบไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แม่เอยแม่เจ้า | เลี้ยงข้ามาแต่เยาว์จนใหญ่ |
พระคุณล้ำลบภพไตร | จะเปรียบด้วยสิ่งใดนั้นไม่มี |
ใช่ลูกจะเคืองแค้นแสนเข็ญ | ด้วยความจำเปนดอกจึงหนี |
เหตุด้วยมารดาของข้านี้ | ทุกข์ร้อนไร้ที่พึ่งพา |
จะยากเย็นเปนตายก็ไม่แจ้ง | จะไปสืบเสาะแสวงทุกแห่งหา |
ครั้นจะบอกออกอรรถตามสัจจา | ก็คิดกลัวเกลือกว่ามิให้ไป |
ลูกจึงลักรูปเงาะเหาะหนี | โทษผิดทั้งนี้เปนข้อใหญ่ |
อย่าพิโรธโกรธขึ้งขัดใจ | ถึงไปไม่ช้าจะมาพลัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พันธุรัตฟังว่าเพียงอาสัญ |
ฟูมฟายน้ำตาจาบัลย์ | เจ้าไปแล้วไหนนั่นจะกลับมา |
คิดอ่านอุบายจะหน่ายหนี | เอาเหตุชนนีนั้นมาว่า |
ถึงไปก็ไม่ขัดอัธยา | เชิญลงมาหาแม่แต่สักน้อย |
พอแม่ได้ชมโฉมเจ้า | ให้สบายบันเทาที่เศร้าสร้อย |
แต่ร่ำร้องไห้หาเลือดตาย้อย | อุส่าห์สู้ติดต้อยห้อยตาม |
อย่านึกแหนงแคลงเลยว่าเปนยักษ์ | มาเถิดลูกรักอย่าเกรงขาม |
ถึงจะอยู่จะไปก็ให้งาม | เจ้าผู้ทรามรักร่วมชีวา |
อันรูปเงาะไม้เท้าเกือกแก้ว | แม่ประสิทธิ์ให้แล้วดังปราถนา |
ยังมนต์บทหนึ่งของมารดา | ชื่อว่ามหาจินดามนต์ |
ถึงจะเรียกเต่าปลามัจฉาชาติ | ฝูงสัตว์จัตุบาทในไพรสณฑ์ |
ครุธาเทวัญชั้นบน | อ่านมนต์ขึ้นแล้วก็มาพลัน |
เจ้าเรียนไว้สำหรับเมื่ออับจน | จะได้แก้กันตนที่คับขัน |
แม่ก็คงจะตายวายชีวัน | จงลงมาให้ทันท่วงที |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ฟังคำยักษี |
ยิ่งพะวงสงสารแสนทวี | แต่รีรอท้อฤไทยรันทด |
จะลงไปก็ให้เกรงกริ่ง | เกลือกว่าไม่จริงจะแกล้งปด |
คิดพลางทางกล่าวมธุรศ | อย่ากำสรดโศกาอาวรณ์ |
ลูกนี้เหนื่อยยากลำบากกาย | จะนั่งเล่นให้สบายบนนี้ก่อน |
ตวันเที่ยงอยู่ยังกำลังร้อน | พอให้แดดอ่อนอ่อนจะลงไป |
ซึ่งมนต์ของชนนีว่าดีนัก | ลูกรักก็อยากจะใคร่ได้ |
เมตตาลูกแล้วจงเขียนไว้ | ที่ในแผ่นพื้นพสุธา |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พันธุรัตขัดสนเปนนักหนา |
แหงนดูลูกพลางทางโศกา | ดั่งหนึ่งว่าชีวันจะบรรไลย |
โอ้ลูกน้อยหอยสังข์ของแม่เอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
จะร่ำร้องเรียกเจ้าสักเท่าไร | ก็ช่างเฉยเสียได้ไม่ดูดี |
สิ้นวาศนาแม่นี้แน่แล้ว | พเอิญให้ลูกแก้วเอาตัวหนี |
จะขอลาอาสัญเสียวันนี้ | เจ้าช่วยเผาผีมารดา |
อันพระเวทวิเศษของแม่ไซ้ | ก็จะเขียนลงให้ที่แผ่นผา |
จงเรียนร่ำจำไว้เถิดขวัญตา | รู้แล้วอย่าว่าให้ใครฟัง |
เขียนพลางทางเรียกลูกน้อย | มาหาแม่สักหน่อยพ่อหอยสังข์ |
แต่พอให้ได้ชมเสียสักครั้ง | ขอสั่งสักคำจะอำลา |
แม่อ้อนวอนว่านักหนาแล้ว | น้อยฤๅลูกแก้วไม่มาหา |
ทุ่มทอดตัวลงทรงโศกา | สองตาแดงเดือดดังเลือดนก |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นจิตร | ยิ่งคิดเคืองขุ่นมุ่นหมก |
กลิ้งกลับสับส่ายเพ้อพก | นางร่ำร้องจนอกแตกตาย |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ บัดนั้น | พวกยักษาข้าไททั้งหลาย |
เห็นนางมารม้วยมอดวอดวาย | ต่างร่ำรักนายไม่สมประดี |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
เห็นมารดาล้มดิ้นสิ้นชีวี | ตกใจแล่นตลีตลานมา |
เข้าไปนั่งใกล้ดังใจจง | กราบลงแทบเท้าทั้งซ้ายขวา |
ชลเนตรคลอคลองไนยนา | โศการ่ำรักชนนี |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้ปี่
๏ โอ้ว่ามารดาของลูกเอ๋ย | พระคุณเคยปกเกล้าเกษี |
รักลูกผูกพันแสนทวี | เลี้ยงมาไม่มีให้เคืองใจ |
จะหาไหนได้เหมือนพระแม่เจ้า | ดังมารดรเกิดเกล้าก็ว่าได้ |
สู้ติดตามมาด้วยอาไลย | จนจำตายอยู่ในพนาวัน |
โทษลูกนี้ผิดเปนนักหนา | ดังแกล้งผลาญมารดาให้อาสัญ |
ทั้งนี้เพราะกรรมมาตามทัน | จึงสุดสิ้นชีวันบรรไลย |
พระคุณล้ำลบจบดินแดน | ยังไม่ทันทดแทนสนองได้ |
ร่ำพลางโศกีพิรี้พิไร | ซบภักตร์สอื้นไห้ไปมา |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นคลายวายโศกเศร้าหมอง | พระจึงร้องสั่งเหล่ายักษา |
ท่านจงเชิญศพพระมารดา | คืนไปภาราของเรา |
แล้วตระเตรียมการไว้ให้เสร็จสรรพ | คอยท่าข้ากลับมาจึงเผา |
การพระเมรุใหญ่อยู่อย่าดูเบา | ท่านจงเอาใจใส่ไตรตรา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนีตัวนายซ้ายขวา |
จึงเชิญศพใส่วอช่อฟ้า | กลับไปภาราทันที |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
สมิงทอง
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นพวกพลยักษาไปธานี | จึงเรียนเอามนต์ที่เขียนไว้ |
เวียนเฝ้าสาธยายอยู่หลายตระหลบ | แต่ต้นจนจบก็จำได้ |
ครั้นเสร็จเสด็จขึ้นไป | บนยอดเขาใหญ่มิได้ช้า |
เอารูปเงาะสวมองค์ทรงเกือกแก้ว | ถือไม้เท้าเข้าแล้วก็ป้องหน้า |
เหาะระเห็จเตร็ดทยานด้วยฤทธา | เลื่อนล่องลอยฟ้ามาไวไว |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ถึงแดนภาราสามนต์ | อาณาเขตรมณฑลกว้างใหญ่ |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์ใจ | เมืองนี้ชื่อไรจะใคร่รู้ |
เห็นภูมฐานบ้านช่องเยียดยัด | ผู้คนแออัดอื้ออึงอยู่ |
หรือจะเปนภาราบิดากู | จะยับยั้งฟังดูกิจจา |
คิดพลางทางค่อยคลาเคลื่อน | ลอยเลื่อนลงจากเวหา |
หยุดอยู่เนินทรายปลายทุ่งนา | อาไศรยร่มพฤกษาสำราญ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกเด็กเด็กชาวบ้าน |
ล้วนแต่ลูกหลานชายนายโคบาล | อยู่ปลายแดนด่านกรุงสามล |
ครั้นกินเข้าเช้าแล้วลงจากเรือน | เที่ยวร้องเรียกพวกเพื่อนสับสน |
เปิดคอกไล่โคของตน | ถือปฏักต่างคนต้อนมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา เชิด
๏ ครั้นออกมาถึงที่ทำไร่ | จึงปล่อยโคไว้ให้กินหญ้า |
เห็นเงาะยืนอยู่บนคันนา | อ้ายนี่บ้าฤๅมิใช่ไยอย่างนี้ |
รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก | ลางคนว่าแขกกระลาสี |
อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี | นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง |
บ้างว่าอ้ายนี่ลิงทโมนใหญ่ | บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง |
หน้าตามันขันยิงฟันฟาง | ฤๅจะเปนผีสางที่กลางนา |
คนหนึ่งไม่กลัวยืนหัวเราะ | นี่เขาเรียกว่าเงาะแล้วสิหนา |
มันไม่ทำไมใครดอกวา | ชวนกันเมียงเข้ามาเอาดินทิ้ง |
บ้างได้ดอกหงอนไก่เสียบไม้ล่อ | ตบมือผัดพ่อล่อให้วิ่ง |
ครั้นเงาะแล่นไล่โลดกระโดดชิง | บ้างล้มกลิ้งวิ่งปะทะกันไปมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ พวกเด็กเด็กหยอกเย้าเข้าฉุด | อุดตลุดล้อมหลังล้อมน่า |
แล้วชวนเล่นจ้องเตเฮฮา | โห่ร้องฉาวฉ่านี่นัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นถึงเวลากินผอก | แก้ห่อเข้าออกขมีขมัน |
เกลอเอ๋ยมากินด้วยกัน | เห็นเงาะนั้นเข้ากินก็ยินดี |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นว่าเวลาบ่ายควาย | เด็กเด็กทั้งหลายเข้าล้อมมี่ |
ไปบ้านด้วยกันฤๅวันนี้ | เงาะเดินเชือนหนีเสียมิไป |
ถ้ากระนั้นก็นอนอยู่เฝ้านา | ช่วยขับนกขับกาอย่าไปไหน |
พรุ่งนี้จึงจะมาอย่าร้อนใจ | แล้วไล่โคคืนมาทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด