คำนำ

ในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ทัศ ข้าพเจ้าปราถนาจะพิมพ์หนังสือเปนของตอบแทนสนองพระคุณญาติแลมิตรสักเรื่อง ๑ เมื่อเลือกหาเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์ นึกได้ว่าบทลครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ นั้น คนทั้งหลายย่อมนับถือทั่วกันว่าเปนหนังสือบทกลอนอย่างวิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็ได้โปรดฯ ให้พิมพ์เรื่องรามเกียรดิ์ พระราชทานแจกครั้งเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรณพระตำหนักจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้วเรื่อง ๑ แลเมื่อปีกลายนี้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ก็ได้โปรดให้พิมพ์เรื่องอิเหนาประทานแจกในงานฉลองพระชนมายุอิกเรื่อง ๑ ยังเหลือพระราชนิพนธ์บทลครนอกอยู่ ๖ เรื่อง เปนหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย ถ้ารวมพิมพ์เปนเล่มสมุด ๑ ก็จะเข้าชุดกับเรื่องรามเกียรดิ์แลอิเหนา เปนอันมีบทลครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ พิมพ์ขนาดเดียวกันครบบริบูรณ์ เห็นจะชอบใจของผู้ที่ได้รับโดยมาก ข้าพเจ้าจึงให้รวบรวมหนังสือพระราชนิพนธ์บทลครนอก ๖ เรื่อง คือ เรื่องไชยเชฐเรื่อง ๑ เรื่องสังข์ทองเรื่อง ๑ เรื่องไกรทองเรื่อง ๑ เรื่องมณีพิไชยเรื่อง ๑ เรื่องคาวีเรื่อง ๑ เรื่องสังข์ศิลป์ไชยเรื่อง ๑ ตรวจชำระต้นฉบับที่ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร แลได้สอบหนังสือเก่าเอาเรื่องมาแต่งนิทานขึ้นสำหรับพิมพ์กำกับบทลครด้วยทุกเรื่อง เพราะเห็นว่าในบทลครทรงพระราชนิพนธ์เฉภาะเรื่องตรงที่จะเล่นลคร เรื่องตอนอื่นหาปรากฎไม่ ถ้ามีนิทานกำกับไว้ด้วย ผู้อ่านจะได้รู้เรื่องราวที่เอามาเล่นลครนั้นตั้งแต่ต้นจนปลาย

อนึ่งเมื่อความคิดที่ข้าพเจ้าจะพิมพ์หนังสือนี้ในงานซายิด ทราบถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ทรงพระเมตตารับเขียนรูปภาพด้วยฝีพระหัดถ์ประทาน ๔ รูป คือ รูปภาพเรื่องสังข์ทองรูป ๑ เรื่องไกรทองรูป ๑ เรื่องคาวีรูป ๑ เรื่องมณีพิไชยรูป ๑ พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) รับเขียนรูปภาพเรื่องไชยเชฐรูป ๑ เรื่องสังข์ศิลป์ไชยรูป ๑ หนังสือพระราชนิพนธ์บทลครนอกที่พิมพ์ครั้งนี้ จึงเปนฉบับมีรูปภาพวิเศษขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระคุณเปนอย่างยิ่ง หนังสือที่พิมพ์ขึ้นนี้จะใช้เปนของถวายจ่ายแจกส่วน ๑ อิกส่วน ๑ จะถวายเปนของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เพื่อจะได้จำหน่ายให้มหาชนได้อ่านกันแพร่หลาย

ตำนานพระราชนิพนธ์บทลครนอก

เรื่องลคร ๖ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เดิมเปนนิทานในนิบาตชาดกบ้าง นิทานในปัญญาสชาดกบ้าง เปนนิทานในพื้นเมืองมาแต่โบราณบ้าง บางเรื่องเชื่อถือกันว่าเปนเรื่องจริง ดังเช่นเรื่องสังข์ทอง อันเปนนิทานในปัญญาสชาดก เรียกว่าสุวัณณสังขชาดกนั้น พวกชาวเมืองเหนืออ้างว่าเมืองทุ่งยั้งเปนเมืองท้าวสามนต์ ยังมีลานศิลาแลงแห่ง ๑ ว่าเปนสนามคลีของพระสังข์ อยู่ไม่ห่างวัดพระมหาธาตุนัก ที่ในวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ ฝาผนังก็เขียนเรื่องสังข์ทอง เปนฝีมือช่างครั้งกรุงเก่ายังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ทางหัวเมืองฝ่ายตวันตกก็อ้างว่าเมืองตะกั่วป่าเปนเมืองท้าวสามนต์อิกแห่ง ๑ เรียกภูเขาลูก ๑ ว่าเขาขมังม้า อธิบายว่าเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะ ได้ขี่ม้าเหาะข้ามภูเขานั้นไปดังนี้ เรื่องไกรทองก็ถือกันว่าเปนเรื่องจริงอิกเรื่อง ๑ กล่าวกันว่าตำบลบ้านนายไกรที่แม่น้ำอ้อม ในแขวงจังหวัดนนทบุรี เปนบ้านเดิมของเจ้าไกรทอง แลที่เมืองพิจิตรเก่าก็ยังมีตำบลเรียกว่าวังชาลวันแลบ้านดงเศรษฐี อ้างว่ามาแต่เรื่องไกรทองปรากฎอยู่ แต่อิก ๔ เรื่องนั้นหามีคำอ้างว่าเปนเรื่องจริงไม่ ถึงกระนั้นก็คงเปนเรื่องที่รู้กันแพร่หลายมาแต่โบราณ จึงมีผู้เอานิทานทั้ง ๖ เรื่องนี้แต่งเปนบทเล่นลครกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี

ลครที่เล่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีนั้น ต่างกันเปน ๒ อย่าง เรียกว่าลครในอย่าง ๑ ลครนอกอย่าง ๑ ลครในคือลครผู้หญิงของหลวงสำหรับเล่นในการพระราชพิธี เล่นแต่เรื่องรามเกียรดิ์ เรื่องอุณรุท กับเรื่องอิเหนา ๓ เรื่องเท่านั้น ลครนอกคือลครที่ราษฎรเล่นกันในพื้นเมือง ตัวลครเปนผู้ชายทั้งนั้น เพราะแต่โบราณมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นมีลครผู้หญิง (พึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้) ลครนอกเล่นเรื่องต่างๆ เว้นแต่เรื่องรามเกียรดิ์ เรื่องอุณรุท กับเรื่องอิเหนาที่เปนเรื่องสำหรับลครใน เพราะฉนั้นบทลครเรื่องอื่นๆ นอกจาก ๓ เรื่องนั้น จึงเรียกว่าบทลครนอก

เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรเปนราชธานี แต่เดิมลครผู้หญิงของหลวงก็เล่นแต่เรื่องรามเกียรดิ์ เรื่องอุณรุท กับเรื่องอิเหนา เหมือนอย่างลครหลวงครั้งกรุงเก่า มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงฝึกหัดลครผู้หญิงของหลวงเล่นดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จะโปรดฯ ให้ลครผู้หญิงของหลวงเล่นเรื่องอื่นๆ สู้ลครผู้ชาย จึงทรงเลือกเรื่องลครนอกบางเรื่องมาทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นใหม่ เฉภาะตอนที่จะให้ลครผู้หญิงของหลวงเล่น คือ เรื่องไชยเชฐ บททรงพระราชนิพนธ์ชั้นเดิม ๔ เล่มสมุดไทย แล้วทรงแก้ไขตัดทอนอิกครั้ง ๑ คงเปนหนังสือ ๓ เล่มสมุดไทย ด้วยเหตุนี้พระราชนิพนธ์เรื่องไชยเชฐจึงมีเปน ๒ ความ แต่ลครมักเล่นตามความฉบับ ๓ เล่มที่ทรงแก้ไขใหม่ จึงเอาความฉบับใหม่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ทั้ง ๓ เล่ม คงเปนความเก่าแต่เล่ม ๔ เรื่องสังข์ทองทรงพระราชนิพนธ์เปนหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย เรื่องไกรทอง ๒ เล่มสมุดไทย (มีบทลครเรื่องไกรทอง ตอนชาลวันได้นางตะเภาทองตอน ๑ สำนวนกลอนดีคล้ายพระราชนิพนธ์ แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยสงไสย แลได้กล่าวไว้ในที่อื่นว่าบางทีจะเปนพระราชนิพนธ์ แต่เมื่อมาพบหนังสืออื่นได้เทียบกันดูในภายหลัง จึงแน่ใจว่าบทเรื่องไกรทองตอนนั้นเปนพระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ หาใช่พระราชนิพนธ์ไม่) เรื่องมณีพิไชยทรงพระราชนิพนธ์เล่มสมุดไทย ๑ เรื่องคาวี ๔ เล่มสมุดไทย แต่เรื่องสังข์ศิลป์ไชยนั้นกล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งถวายเมื่อยังดำรงพระยศเปนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลยเปนแต่ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไข เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย พระราชนิพนธ์บทลครนอกทั้ง ๖ เรื่องจึงรวมเปนหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทยด้วยกัน

แต่พระราชนิพนธ์บทลครทั้ง ๖ เรื่องนี้ จะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไหนก่อนเรื่องไหนทีหลัง ข้อนี้หาปรากฎคำชี้แจงมาแต่ก่อนไม่ ได้แต่สังเกตสำนวนกลอน ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไชยเชฐก่อน แล้วเรื่องอื่นๆ ต่อมาทำนองดังเรียงลำดับเรื่องไว้ในสมุดเล่มนี้ เชื่อว่าเรื่องคาวีนั้นเห็นจะทรงทีหลังเรื่องอื่นๆ เพราะสังเกตดูทั้งทางความแลทางกลอนช่ำชองยิ่งนัก ถ้าใครจับขึ้นอ่านแล้วก็เพลิดเพลินมิใคร่จะวางลงได้ แต่เรื่องสังข์ศิลป์ไชยนั้นเพราะว่าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พิมพ์จึงเรียงลำดับไว้ข้างท้ายเรื่องอื่น ตำนานบทลครนอกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ มีเนื้อความดังแสดงมา

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วังวรดิศ ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ