- คำนำ
- นิทานเรื่องไชยเชฐ เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไชยเชฐ
- นิทานเรื่องสังข์ทอง เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ทอง
- นิทานเรื่องไกรทอง เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไกรทอง
- กลอนตำนานเรื่องพระราชนิพนธ์ไกรทอง
- นิทานเรื่องมณีพิไชย เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องมณีพิไชย ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิไชยไปเปนทาษ
- นิทานเรื่องมณีพิไชย ตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- นิทานเรื่องคาวี (เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเรื่องเสือโค) เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องคาวี
- เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชยตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทึ่ทรงพระราชนิพนธ์บทลคร
ตอนที่ ๓ พระไชยเชฐเข้าเฝ้าท้าวสิงหฬ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสิงหฬยักษา |
อุ้มองค์พระราชนัดดา | ลูบหลังลูบหน้าแล้วว่าไป |
พ่อมาจนเย็นหลงเล่นอยู่ | ต่อนกสีชมพูฤๅต่อไก่ |
ดูมอมแมมแก้มคางช่างกะไร | เออนี่มิไปเที่ยวซอนซุก |
เก็บบุปผามาบ้างฤๅไม่เล่า | ให้แม่เขาร้อยมาไลยใส่จุก |
ตานั่งคอยเจ้าเฝ้าเปนทุกข์ | กลัวจะล้มลุกเจ็บป่วยไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์บังคมไหว้ |
ทูลว่าลูกลาไปเล่นไพร | ชมนกชมไม้ออกเพลิดเพลิน |
น่ารักปักษีสารพัน | บ้างชิงกันหากินบินเหิน |
บ้างพาลูกเต้นไต่ร่ายเดิน | บ้างร้องเกริ่นตามไล่กันไปมา |
คิดจะดักปักษามาเลี้ยงเล่น | กลัวจะเปนเวรกรรมไปชาติหน้า |
ลูกเมียพลัดกันเห็นทันตา | เหมือนคนต้องโทษาพ่อตาเคือง |
ข้าไปเห็นเปนน่าสงสาร | ทรมานทุกข์ตรอมจนผอมเหลือง |
ลูกตั้งจิตรคิดจะขออยู่เนืองเนือง | แต่เกรงเคืองเบื้องบาทไม่อาจทูล |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬราชนเรนทร์สูร |
ฟังหลานว่ากล่าวเปนเค้ามูล | ยิ่งเพิ่มภูลพิศมัยในนัดดา |
สวมสอดกอดรัดแล้วตรัสพลาง | น้อยฤๅช่างออเซาะฉอเลาะว่า |
รู้ราวกับผู้ใหญ่ไว้อัชฌา | ให้พ่อตาจูบหน่อยเถิดกลอยใจ |
นี่ใครพาสัญจรซอกซอนเล่น | พ่อไปเห็นคนโทษเข้าที่ไหน |
มันฉกชิงวิ่งราวเขาคราวไร | ฤๅโทษไก่เบี้ยฝิ่นกินสุรา |
พ่อจะถามไถ่ไล่เลียงดู | จะได้รู้หนักเบาที่เจ้าว่า |
ถ้าโทษทัณฑ์มันพอจะเมตตา | บิดาไม่ขัดทัดทาน |
ถึงโภไคยไอสูรย์ของพ่อเถ้า | ก็จะให้แก่เจ้าผู้ลูกหลาน |
แต่พอเติบใหญ่เข้าใจการ | จะเศกพ่อให้ผ่านภารา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์สำรวลร่า |
ทำชอ้อนถอนหนวดให้พ่อตา | พลางสนองบัญชาพระยายักษ์ |
ซึ่งทรงพระเมตตาแก่ข้าไซ้ | จะโปรดให้ครอบครองอาณาจักร |
ท้าวตรัสโดยในพระไทยรัก | พระคุณอยู่ลูกหนักเท่าฟ้าดิน |
อันคนต้องโทษาที่ข้าขอ | เขาผิดข้ออุกอาจประมาทหมิ่น |
เปนคนโฉดโหดไร้ใจทมิฬ | โทษถึงสิ้นชีวันบรรไลย |
เดี๋ยวนี้กลับรู้ตัวว่าชั่วช้า | จะมาเฝ้าพระเจ้าตาก็ไม่ได้ |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองเขาอยู่ไกล | มิใช่คนโทษที่เมืองนี้ |
ความเกรงความกลัวตัวเปนหนู | มาปลอมคนปนอยู่ในกรุงศรี |
พระองค์จงโปรดปรานี | ขอประทานชีวีไว้สักครั้ง |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬหลากจิตรคิดหวัง |
ไขว่ห้างเอกเขนกนิ่งฟัง | มาขอพ่อดอกกระมังอ้ายจังไร |
มันแน่แล้วสินะชะลูกพ่อ | โมโหแค้นแน่นคอมันไส้ |
ลุกขึ้นกระทืบบาทตวาดไป | ดูดู๋ไอ้ลูกเล็กเด็กน้อย |
ควรฤๅมาสาระแนแก้แทน | กูคิดคิดแล้วก็แค้นแน่นคอหอย |
ช่างเคลือบแฝงแต่งลิ้นมาสำออย | ให้งวยงงหลงถ้อยพลอยพยัก |
ไหนตัวตนคนโทษที่มึงว่า | จงเร่งบอกออกมาให้รู้จัก |
กูจะผ่าอกให้ไส้ทลัก | เคี้ยวเล่นเปนผักสนุกใจ |
ชิชะนารายน์ธิเบศร์เอ๋ย | กะไรเลยลวงตาต่อหน้าได้ |
ใครสั่งสอนมึงมาจงว่าไป | จะตัดหัวเสียบไว้ตะแลงแกง |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์ไม่บอกแจ้ง |
เห็นพ่อตาโกรธหนักพระภักตร์แดง | ก็กรรแสงโศกาจาบัลย์ |
กอดบาทาไว้พิไรวอน | ประทานโทษโปรดก่อนอย่าหุนหัน |
จะเปนเวราด้วยฆ่าฟัน | จงอดกลั้นโทษาเสียเอาบุญ |
เขาจะได้ว่าน้ำพระไทยดี | ผิดทีสองทีไม่เคืองขุ่น |
ขอพระพ่อตาจงการุญ | ให้ลูกได้แทนคุณพระบิดา |
ถ้าแม้นพ่อข้าตายวายชนม์ | ไม่ขออยู่ให้คนเห็นหน้า |
เขาจะล่วงดูถูกลูกกำพร้า | ทูลพลางโศกาสอื้นฮัก |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬเศร้าจิตรคิดหน่วงหนัก |
ฟังถ้อยคำหลานสงสารนัก | พระยายักษ์ทรุดนั่งลงทั้งยืน |
อุ้มพลางทางปลอบพระนัดดา | นิ่งเถิดพ่ออาอย่าสอื้น |
เนตรจะฟกช้ำจงกล้ำกลืน | ตาไม่ขัดขืนให้เคืองใจ |
จงผินภักตร์มาตาจะถาม | เหตุผลต้นความเปนไฉน |
ได้ประสบพบพ่อฤๅอย่างไร | ฤๅว่าใครบอกเล่าเจ้าจึงรู้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารอิดเอื้อนเยื้อนอยู่ |
จะลวงดอกกระมังชั่งใจดู | เช็ดน้ำหูน้ำตาแล้วพาที |
หลานยังคิดแคลงจะแกล้งล่อ | แล้วจะมาฆ่าพ่อข้าเปนผี |
แม้นงดโทษโปรดประทานชีวี | จึงจะทูลคดีให้แจ้งใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬยิ่งคิดพิศมัย |
ดำรัสตรัสตอบพระหลานไป | มาสงไสยตั้งกระทู้เถิดดูเอา |
อันไอ้ไชยเชฐเฉโก | ตาจะดับโมโหให้แก่เจ้า |
ช่างฉลาดนี่กระไรไม่ใจเบา | อย่าพะวงจงเล่าเถิดนัดดา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์ก็หรรษา |
บังคมก้มกราบกับบาทา | จึงทูลกิจจาแต่ต้นไป |
เมื่อเช้าหลานลาองค์พระทรงธรรม์ | กับเด็กเด็กด้วยกันไปป่าใหญ่ |
พบชายห้าคนด้นเดินไพร | เข้ามาใกล้หลานรักแล้วทักทาย |
ข้าเดือดฟุ้งมุ่งแผลงธนูศิลป์ | จะให้สิ้นชีวิตรดังจิตรหมาย |
ลูกศรห่อนรื้อมากลับกลาย | เปนดอกไม้มากมายหลายพรรณ |
พระบิดามาอุ้มเอาหลานไว้ | กอดจูบลูบไล้แล้วรับขวัญ |
ทั้งเห็นแหวนแม่นยำเปนสำคัญ | จึงรำพรรณเล่าความแต่ต้นมา |
ว่าเปนเคราะห์เพราะเชื่อคนชั่ว | อันโทษตัวผิดนักผิดหนา |
ครั้นจะมาเฝ้าพระเจ้าตา | ก็กลัวจะโกรธาให้ฆ่าฟัน |
เฝ้าบ่นออดทอดถอนฤไทยฮือ | แต่ออกชื่อพ่อตาก็ตัวสั่น |
ว่าพวกพ้องสุริวงศ์พงศ์พันธุ์ | ชีวันอยู่ใต้บทมาลย์ |
แม้นฆ่าก็ตายไม่หมายสู้ | หลานดูพระบิดาน่าสงสาร |
ครั้นคิดคิดไปให้รำคาญ | ด้วยพ่อยังร้าวฉานกับมารดา |
จงโปรดว่าชนนีให้ดีด้วย | หลานจะช่วยอ้อนวอนให้นักหนา |
ให้แม่ดีเสียกับพ่อเถิดหนอตา | นัดดาจะได้สบายใจ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬสรวลสันต์ไม่กลั้นได้ |
จึงตรัสห้ามนัดดาอย่าว่าไป | แม่เขาขัดใจจะตีรัน |
อันโทษบิดาไซ้เจ้าได้ขอ | ตาจะยกให้พ่อผู้หลานขวัญ |
แต่ส่วนซึ่งจะให้ดีกัน | ข้อนั้นมิรู้ที่จะว่าเลย |
เอออะไรไชยเชฐมันช่างชั่ว | เมามัวขับเมียเสียเฉยเฉย |
เกิดมาเพียงนี้แล้วมิเคย | กะไรเลยเง่าโง่ย่าโม่นัก |
ข้างแม่เจ้าเขาแค้นไม่รู้หาย | ได้อับอายไพร่ฟ้าอาณาจักร |
มันให้เมียข่มเหงไม่เกรงภักตร์ | หลานรักยังเยาว์ไม่เข้าใจ |
ถึงตาก็แค้นแสนสาหัส | นี่หากขัดนัดดาเจ้าไม่ได้ |
อันจะดีมิดีกันนั้นไซ้ | ก็สุดแท้แต่ใจของมารดา |
นี่พ่อเจ้าเข้ามายังธานี | ฤๅคอยฟังร้ายดีอยู่ในป่า |
ตาจะใคร่พบเขาเจ้าพระยา | ดูดู๋จะว่าประการใด |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์เฉลยไข |
พระพ่อกับพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ | ปลอมเปนไพร่ติดตามข้าเข้ามา |
หลานให้พระบิดรซ่อนอยู่ | ที่ทิมริมประตูข้างน่า |
ยังเกรงพระราชอาญา | จะให้มาเฝ้าต่อพรุ่งนี้ |
ทูลพลางทางประนตบทบงสุ์ | ลาองค์ไอยกาเรืองศรี |
พระพี่เลี้ยงรับเสด็จจรลี | ไปปราสาทมณีที่สำนัก |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | วิฬาร์แสนรู้แสนหลัก |
แอบม่านฟังความที่ถามซัก | แจ้งประจักษ์รีบร้นเดินบ่นมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
ลำสีนวน
๏ ทีนี้สมคิดแล้วอีแมวเอ๋ย | จะเยาะเย้ยถากถางให้หนักหนา |
ให้คุ้มค่าแค้นแทนน้ำตา | จะต้องตีต้องด่าก็ไม่คิด |
เดินเขม้นเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กูจะร่ำรำพรรณให้เจ็บจิตร |
ทำชะแง้แลเล็งเพ่งพิศ | แต่งจริตหยิบหย่งตรงมา |
ฯ ๔ คำ ฯ สีนวน
เย้ย
๏ ครั้นถึงแถวทิมริมประตู | แกล้งหยุดอยู่ดูคนทั้งซ้ายขวา |
พอแลสบพบภักตร์พระราชา | นางวิฬาร์หัวร่ององัน |
แล้วทำเสียงแห้งแหบแสบคอ | พูดถ้อเปรียบเปรยเย้ยหยัน |
นี่ฤๅภูมินทร์ปิ่นเหมันต์ | โอ๊ยไม่ทันเห็นเลยประหลาดนัก |
แต่แรกคิดว่าใครหาไหนหนอ | เออมิรู้หม่อมพ่อเจ้าท่อนสัก |
ข้าแปลกหน้าไปไม่ได้ทัก | ยังมืดมลมัวนักมาทำไม |
อันผู้หญิงสิงหฬคนแสนร้าย | มาติดตามความอายไปเสียไหน |
ฤๅเอาอายขายฝากไว้กับใคร | จึงอุส่าห์มาได้จะใคร่รู้ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐนิ่งฟังนั่งไขหู |
แลดูพี่เลี้ยงก็ต่างดู | พระอดสูสู้นิ่งอยู่ในใจ |
เพราะกูหลงกลอีคนพาล | เดียรฉานจึงกล้ามาว่าได้ |
จะซ้ำรื้อถือจิตรก็ผิดไป | ภูวไนยคิดพลางทางบัญชา |
อนิจานิจาวิฬาร์เอ๋ย | มาเยาะเย้ยตัดภ้อพ่อหนักหนา |
โทษผิดจึงติดตามมา | เพราะชั่วช้าเหลือใจในวันนั้น |
พเอิญให้เคลิ้มคลุ้มกลุ้มจิตร | โมโหมืดมิดไม่อดกลั้น |
ถึงว่าไปอื่นอื่นสักหมื่นพัน | ตัวชั่วทั้งนั้นจะโทษใคร |
จึงตามมาวอนง้อขอษมา | จะทิ้งขว้างร้างหย่านั้นหาไม่ |
แม้นนางแค้นขัดตัดอาไลย | จะสู้ตายไม่ไปเมืองเหมันต์ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิฬาร์ตบมือแล้วเย้ยหยัน |
ชะช่างถ่อมตัวชั่ววันนั้น | จะมาลุกะโทษทัณฑ์เมื่อวันนี้ |
นี่เดชะท่านพระพี่เลี้ยงช่วย | ถ้าหาไม่ก็จะม้วยเปนผี |
หม่อมเมียจะเกษมเปรมปรีดิ์ | จะนั่งล้อมสามีเปนวงกง |
กว่าจะคิดคืนหลังถึงแม่ลูก | พอกระดูกผุเลอียดจนเปนผง |
นี่หากว่าวิฬาร์พาดั้นดง | จึงได้พบสบองค์เจ้าท่อนไม้ |
แต่เจ็บอายเพียงนี้แล้วมิสา | ยังจะมาลอยนวลชวนไปใหม่ |
สบถเสียแล้วคะขี้คร้านไป | เขาไม่ขอพอใจเห็นเหมันต์ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ วิเอยวิฬาร์ | ชะช่างพูดจาคมสัน |
ทั้งสบัดสบิ้งทุ้งทิ้งครัน | เชิงชั้นแสนงอนกระบอนกระบึง |
แต่เปนแมวแล้วยังฟังเปนกรับ | เปนมนุษย์ก็จะนับว่าคนหนึ่ง |
ทั้งเหน็บแนมแหลมหลักฦกซึ้ง | ทีจะปึ่งปั้นล่ำก็ทำเปน |
เสียดายหนอนางเปนวิฬารี | การหัวใจไมตรีจึงไม่เห็น |
ที่พลอยได้ลำบากยากเย็น | ถ้าแม้นเปนผู้คนจะถึงใจ |
บุญคุณเจ้ามีกับลูกเมีย | เปนคนแล้วหาเสียเจ้าได้ไม่ |
ถ้ายังมีชีวิตรด้วยกันไป | เจ้าจะได้ดูพวกอียุยง |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ น่าเอยน่าหัวร่อ | ข้ามิใช่บ้ายออย่าเสริมส่ง |
ถึงเปนสัตว์เดียรฉานก็พานตรง | ไม่รักคบคนหลงเมามัว |
คิดมาน่าอายชายมุทะลุ | แต่เขายุก็เชื่อว่าเมียชั่ว |
นางเหล่านั้นทั้งรักทั้งกลัว | ควรเปนเมียเปนผัวทั้งเจ็ดนาง |
ที่จริงเล่าถึงเขาจะยุยง | แม้นไม่หลงก็จะสงไสยบ้าง |
นี่มืดมลกระไรไม่รุ่งราง | ช่างเชื่อว่าลูกนางเปนท่อนไม้ |
แต่เด็กเด็กกระจิริดพินิจดู | ก็จะรู้อยู่สิ้นว่าทำใส่ |
เมื่อเห็นเปนจริงแล้วก็แล้วไป | แบกหน้ามาไยที่เพิงพล |
ถ้าเปนใจอีแมวแล้วสู้ตาย | ไม่อยากง้อขอกรายเมืองสิงหฬ |
จะมอดม้วยด้วยโฉมนางเจ็ดคน | กว่ากระดูกจะป่นเปนผลคลี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ แสนเอยแสนรู้ | ทั้งขู่ทั้งเคียดทั้งเสียดสี |
สิตัวจัดสารพัดจะรู้ที | ปัญญามีเคล่าคล่องก็ตรองดู |
ข้าทำชั่วไม่กลัวจะม้วยมิด | กล้าเอาชีวิตรเข้ามาสู้ |
จนเปนไพร่อาไศรยนายประตู | จะว่าชังโฉมตรูสุวิญชา |
ฤๅจะว่ารักหากมีกรรม | ก็เร่งรำพึงก่อนจึงค่อนว่า |
ข้ารับแพ้เจ้าแล้วนางวิฬาร์ | เจ้าว่าไปเถิดไม่เถียงเลย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ น่าเอยน่าอดสู | ช่างดีจริงนิ่งสู้ดูตาเฉย |
ทรหดอดทนเปนคนเคย | นิจจาเอ๋ยหลงใหลแล้วบ้ายพลอย |
จะว่าไปก็เหนื่อยเมื่อยลูกคาง | ถึงถากถางอย่างไรไม่ราถอย |
จะกลับไปในวังนั่งคอย | เยาะนายเล่นสักหน่อยหนึ่งเถิดรา |
ขอกราบลาฝ่าเท้าท่านทั้งสี่ | ซึ่งมีพระคุณแก่เจ้าข้า |
แม้นชีวิตรยังไม่มรณา | จะอุส่าห์แทนคุณท่านคนตรง |
ทำเสแสร้งปากว่าตาค้อน | แสนงอนแต่งจริตหยิบหย่ง |
คืนเข้าในวังดังจำนง | ไปปราสาทโฉมยงสุวิญชา |
ฯ ๘ คำ ฯ ชุบ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐคิดถึงโอรสา |
ลืมพ่อเสียแล้วฤๅแก้วตา | จนสิ้นแสงสนธยาไม่เยี่ยมดู |
โอ้ว่าสุวิญชาผู้เพื่อนยาก | พี่สู้แสนลำบากเข้ามาอยู่ |
อนาถนอนในทิมริมประตู | ลำแพนขาดลาดปูกับเสื่อเตย |
พี่เลี้ยงช่วยปัดจัดที่นอน | ทอดท่อนไม้วางต่างเขนย |
ผัวเอนลงมิใคร่จะได้เลย | นิจาเอ๋ยเคยศุขมาทุกข์ทน |
แม้นเจ้าตัดไมตรีพี่เสียแล้ว | จะลาแก้วตาตายในสิงหฬ |
แต่ตรึกตราอาวรณ์ร้อนรอน | จนสุริยนเรื่อรางสว่างฟ้า |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
ลมพัดชายเขา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์โอรสา |
ครั้นฟื้นตื่นจากนิทรา | เร่งถวิลจินดาถึงบิดร |
จึงโสรจสรงทรงเครื่องเรืองศรี | ไม่ขึ้นเฝ้าชนนีเหมือนแต่ก่อน |
เด็กเด็กโดยเสด็จบทจร | ไปประตูพระนครทันใด |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงสมเด็จพระบิตุเรศ | ก้มเกษบังคมประนมไหว้ |
แล้วว่าลูกไปเฝ้าท้าวไท | ทูลขอโทษไภยพระบิตุรงค์ |
ไอยกากริ้วโกรธโกรธา | ว่าจะฆ่าให้ม้วยเปนผุยผง |
ชมสี่พี่เลี้ยงว่าซื่อตรง | ขอองค์ชนนีรอดชีวา |
พ่อตากริ้วกราดตวาดเสียง | แต่ละคำสำเนียงดังฟ้าผ่า |
ลูกกลัวตัวสั่นดังตีปลา | โศกากลิ้งเกลือกเสือกไป |
ไอยกามีจิตรคิดสงสาร | จึงปลอบข้าว่าหลานอย่าร้องไห้ |
ให้บอกบิดาคลาไคล | ไปเฝ้าท้าวไทไอยกา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐเชยชมโอรสา |
จูบกอดลูกแก้วแล้วบัญชา | ดวงตาของพ่อเพื่อนชีวิตร |
เจ้าเมตตาบิดาค่อยผาศุก | เสื่อมคลายวายทุกข์ออกไปหนิด |
พ่อยังพรั่นแต่จะเข้าเฝ้าชิด | จวนตัวกลัวฤทธิ์พระยายักษ์ |
ตรัสสั่งพี่เลี้ยงแล้วคลาไคล | รีรอท้อใจหน่วงหนัก |
ฉวยฉุดยุดกรพระลูกรัก | กลัวนักหักใจจรลี |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงปราสาทราชวัง | ถวิลหวังสุวิญชามารศรี |
ดูไหนไม่เห็นนางเทวี | ภูมีสร้อยเศร้าไปเฝ้าพลัน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงสุรางค์นางสาวสรรค์ |
แน่นนั่งคั่งคับนับพัน | แทรกเสียดเบียดกันมาคอยดู |
ครั้นเห็นพระไชยเชฐเสด็จมา | กัลยานบนอบแล้วหมอบอยู่ |
สกิดเพื่อนเตือนพิศพระโฉมตรู | ต่างดูเห็นจริตผิดทำนอง |
บ้างว่าแต่ก่อนร่อนชะไร | ทรวดทรงดูไหนไม่บกพร่อง |
ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองเปนทอง | เดี๋ยวนี้หมองมัวคล้ำดำไป |
บ้างว่าข้าเห็นไม่เปนศุข | ฉุกละหุกทุกข์ตรอมผอมไผ่ |
พลัดพรากจากเมียเสียน้ำใจ | พระจริตผิดไปทุกสิ่งอัน |
บ้างว่าเธอทำชั่วกลัวพ่อตา | ไม่แกล้งว่าเดินก้าวจนเท้าสั่น |
ต่างคนต่างพูดกับเพื่อนกัน | เสียงกระซิบสนั่นปราสาทไชย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุวิญชาได้ยินยิ่งสงไสย |
แซ่เสียงสาวสรรค์ด้วยอันใด | จึงแย้มแกลแลไปมิได้ช้า |
นางเห็นพระราชสามี | จูงลูกจรลีมาตรงหน้า |
ให้สงสารสมเพชเวทนา | กัลยาโศกศัลย์ตันใจ |
แล้วแอบบานบัญชรซ่อนภักตร์ | นงลักษณ์บังคมประนมไหว้ |
พลางพินิจพิศดูพระภูวไนย | ผิวภักตร์หมองไหม้โรยรา |
โอ้ว่าอนิจาเจ้าประคุณ | ยังการุญรักเมียอยู่หนักหนา |
อุส่าห์สู้พยายามตามมา | ทนทุกข์เวทนาถึงเพียงนี้ |
พระบิดากริ้วโกรธคาดโทษทัณฑ์ | พ่อไม่กลัวชีวันจะเปนผี |
เมื่อคิดมาก็น่าปรานี | ครั้นคิดไปอิกทีก็สาใจ |
เปนไรเล่าไม่เฝ้าอยู่เชยโฉม | เจ็ดนางช่างประโลมพิศมัย |
กับเรานี้ไม่มีอาไลย | ทำได้ร้อยตลบทบทวน |
คิดรักคิดแค้นแน่นอุรา | กัลยาโศกสร้อยละห้อยหวน |
หับบัญชรทอดถอนฤไทยครวญ | กรรแสงศัลย์รัญจวนป่วนใจ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | วิฬาร์แอบม่านทองสองไข |
แกล้งเยี่ยมยืนยื่นหน้าออกไป | ทำใส่ไคล้พูดจาข้าคลางแคลง |
ประหลาดใจเปนไรหนอหม่อมแม่ | เยี่ยมแกลแปรผันแล้วกรรแสง |
น่าใจหายจนสายพระเนตรแดง | ฤๅผงแกล้งแสร้างปลิวมาเข้าตา |
เที่ยวมองย่องยืนยื่นคอ | อะไรหนอประหลาดนักหนา |
โอ๋ยอ้อพ่อเจ้าท่อนไม้มา | กระนี้ฤๅมิน่าร่ำไร |
แล้วถามว่าโศกาด้วยคิดแค้น | ฤๅร้องไห้ด้วยแสนพิศมัย |
เมื่อกระนี้จะคิดประการใด | ดวงใจแม่มาถึงธานี |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุวิญชาฟังว่าน่าบัดสี |
นางเคืองขัดฉวยพัชนีตี | วิฬารีหลบเลี่ยงเมียงมอง |
นางทำปากหยิบหยิบกระซิบด่า | นี่เนื้อว่าอีแมวมันจองหอง |
เพราะว่าได้ถาดเงินถาดทอง | ทำแก่ตัวหัวพองมาพูดจา |
กูจะรักจะแค้นจะร้องไห้ | ก็กลการอะไรมาสอดว่า |
มึงนี้ดีแต่ขึ้นหลังคา | กับลักกินปลาในครัวไฟ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิฬาร์กล่าวแกล้งแถลงไข |
ที่การลักผักปลาไม่พอใจ | ขึ้นหลังคาของใครก็ไม่เปน |
ข้าดีแต่คอยดูรู้เท่าคน | ใครแต่งกลอย่างไรในจะเห็น |
ยิ่งไม่บอกอีแมวแล้วซ่อนเร้น | จะค้นด้นดูเล่นให้เห็นใจ |
ตอบพลางวิ่งออกนอกชาลา | ทำร้องว่าใครนั่นมาแต่ไหน |
นี่อ่อหม่อมพ่อเจ้าท่อนไม้ | มาธุระอะไรที่ในวัง |
ข้าดูดูเมื่อแรกก็แปลกหน้า | เห็นงดงามลงกว่าหนหลัง |
อนิจาวิ่งมาแต่ลำพัง | ละเมียไว้วังให้ว่างเชย |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐเมิดเมินเดินเฉย |
ไม่ตอบวาจาวิฬาร์เลย | มันเยาะเย้ยอดสูก็สู้ทน |
ทำสงบเสงี่ยมเจียมตัว | ด้วยกลัวอาญาท้าวสิงหฬ |
หยุดหยุดยั้งยั้งระวังตน | ปากบ่นภาวนาทุกหายใจ |
ได้ยินท้าวดำรัสตรัสเสียงดัง | ก็ตกใจลงนั่งบังคมไหว้ |
พระกุมารยุดกรบิดรไว้ | นี่กราบใครกลางถนนหนทาง |
ครั้นคิดมาได้ให้ย่อท้อ | จึงว่าพ่อกลัวเหลือยิ่งเสือสาง |
ยุดมือลูกไว้ไม่ละวาง | ให้พี่เลี้ยงเคียงข้างจรลี |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสิงหฬยักษี |
สถิตย์เหนือแท่นรัตน์รูจี | พรั่งพร้อมนารีกำนัลใน |
คอยองค์หลานน้อยเสนหา | จะชักนำบิดาเข้ามาไหว้ |
แกล้งส่งสุรเสียงสนั่นไป | ภูวไนยทำตึงบึ้งภักตร์ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เหวยเหวยกำนัลขันที | ออกไปสั่งเสนีมีศักดิ์ |
ให้ตำรวจตรวจเตรียมจงพร้อมพรัก | กูจะซักไซ้ถามความผัวเมีย |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐตกประหม่าหน้าเสีย |
ความกลัวพ่อตาแข้งขาเพลีย | ยืนเงี่ยหูฟังระวังไภย |
แต่ขยับลับล่ออยู่ช้านาน | ตัวสั่นสท้านเหงื่อกาฬไหล |
เอาคุณพระเปนที่พึ่งดึงเข้าไว้ | อกสั่นหวั่นไหวอยู่ทึกทัก |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง โอด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬลุกสอึกขึ้นกึกกัก |
ฉวยตระบองร้องเหวยอ้ายทรลักษณ์ | กูจะหักคอกินให้สิ้นเนื้อ |
เอออะไรไม่พอที่พอทาง | มึงช่างชั่วชาติปลาดเหลือ |
ไม่รู้เท่าผู้หญิงริงเรือ | ซานซมงมเชื่อนางเมียงาม |
ลูกกูสุวิญชานั้นไซ้ | มันผิดชอบอะไรข้าขอถาม |
จะให้ฆ่าให้แกงแกล้งใส่ความ | หยาบหยามข่มเหงไม่เกรงเรา |
ขับไล่ไสเสียว่าเมียชั่ว | มุดหัวตามมาทำไมเล่า |
ช่างกระไรทำได้ก็ทำเอา | จองหองเปล่าเปล่าเจ้าพระยา |
มึงเย่อหยิ่งหาญฮึกคึกขัน | วิฬาร์มันบอกเล่ากูหนักหนา |
ชะเจ้าคนดีมีฤทธา | จะสู้กับพ่อตาก็มาซิ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐตัวสั่นสิ้นสติ |
ก้มหน้าภาวนานั่งนิ่งมิ | มิได้ปริปากทูลขอโทษทัณฑ์ |
เห็นขุนมารโกรธาเข้ามาใกล้ | สดุ้งโดดโลดไปใจพรั่นพรั่น |
จวนตัวกลัวพ่อตาจะฆ่าฟัน | กอดลูกพัลวันไม่วางเลย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬตั้งกระทู้ขู่เขย |
เปนไรนั่งก้มหน้านิ่งเฉยเมย | ไม่เงยหน้าตาขึ้นว่ากัน |
เร่งบอกออกมาอย่านิ่งอยู่ | ข้อผิดลูกกูอย่างไรนั่น |
ฤๅชั่วช้าจับได้ไล่ทัน | ว่ากันเสียสิเองอย่าเกรงใจ |
ทำเล่นแต่ตามอำเภอเจ้า | เหมือนลูกเต้าพ่อแม่หามีไม่ |
เสียแรงเราออกปากฝากฝังไว้ | จะโกรธขึ้งถึงกระไรก็นานนาน |
อยู่ด้วยกันก้นหม้อไม่ทันดำ | ฤๅมาทำเฉินฉุกสนุกจ้าน |
จะใคร่ถองสองศอกให้ออกคลาน | จะว่าขานอย่างไรก็ว่ามา |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐบังคมก้มหน้า |
ความกลัวตัวเย็นเปนเหน็บชา | จะรับผิดพ่อตาให้คร้ามใจ |
เหงื่อไหลอาบหน้าเอาผ้าซับ | แต่เวียนกราบเวียนกลับไม่นับได้ |
คอแห้งสำลักกระอักกระไอ | แขงใจพิดทูลขอโทษทัณฑ์ |
ลูกเบาจิตรผิดนักผิดหนา | อันที่ข้อโทษาถึงอาสัญ |
จงโปรดเพียงตีด่าอย่าฆ่าฟัน | ไม่คุมแค้นแม่นมั่นได้เปนพระ |
ทูลพลางทางว่ากับตัวลูก | ทูลหัวช่วยพ่อมั่งสิหนะ |
นิ่งเสียได้ไม่เอาเปนธุระ | เห็นพ่อจะบรรไลยในวันนี้ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์ก็หมองศรี |
ทูลไอยกาพลางทางโศกี | จงปรานีพ่อข้าอย่าขู่นัก |
พรั่นตัวกลัวตาจะถองเล่น | หัวอกเต้นทึกทึกตึกตัก |
จะพิดทูลถ้อยคำละล่ำละลัก | แต่ก้มภักตร์โศกาจนตาแดง |
อันโทษทัณฑ์นั้นพ่อก็รับผิด | ด้วยเคลิ้มจิตรเบาไปมิได้แจ้ง |
อดโมโหหันหุนได้บุญแรง | อย่าต่อนัดต่อแนงแกล้งด่าทอ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬผินผันกลั้นหัวร่อ |
นั่งลงแล้วมีบัญชาล้อ | ลูกพ่อคนนี้มันดีจริง |
รับเปนดั้งน่าเข้ามาแก้ | เฝ้าแต่สำออยอ้อยอิ่ง |
อันพ่อของนัดดาตาชังชิง | ชอบแต่ถองให้กลิ้งมันหยิ่งดี |
เอออะไรไม่คิดถึงตัวตน | ได้รอดอยู่เปนคนเพราะใครนี่ |
พ่อเจ้าเขาเลี้ยงฤๅชนนี | ช่างไม่มีเจ็บแค้นแทนแม่เลย |
ถ้าพี่เลี้ยงทั้งสี่มันมิช่วย | ทั้งแม่ลูกก็จะม้วยเสียแล้วเหวย |
จะส่งท่อนไม้มาให้ตาเชย | ที่ไหนเลยจะได้จ้อขอพ่อไว้ |
ขอบใจพี่เลี้ยงหนักหนา | บุญคุณมันหาที่สุดไม่ |
ว่าพลางทางผินภักตร์ไป | ปราไสพี่เลี้ยงทั้งสี่คน |
สุวิญชามายกความชอบเจ้า | เองเห็นแก่ตาเถ้าสิงหฬ |
ช่วยลูกเราไว้ไม่วายชนม์ | บุญคุณเปนพ้นคณนา |
กูตั้งใจจัดแจงเข้าของ | จะสนองคุณเจ้าให้นักหนา |
สมเปนผู้ใหญ่ไวปัญญา | ไม่หลับหูหลับตาไปตามนาย |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงพิดทูลขยับขยาย |
ซึ่งทรงพระเมตตาข้ามากมาย | พระคุณคล้ายชนกชนนี |
อันพระไชยเชฐสุริวงศ์ | ใช่จะไม่เกรงองค์ท้าวยักษี |
ซึ่งได้เคืองบาทาฝ่าธุลี | โทษผิดครั้งนี้เปนล้นพ้น |
ราหูเข้าเสาร์แทรกชัณษา | ประจวบเปนเวลาอกุศล |
พระคลั่งคลุ้มกลุ้มจิตรด้วยฤทธิ์มนตร์ | จึงงวยงงหลงกลอีคนเท็จ |
ไม่ช้าพลันครั้นคิดขึ้นมาได้ | ก็โศกาเพียงใจจะขาดเด็ด |
สู้บุกป่าฝ่าดงลอดเล็ด | เตร่เตร็ดมาตามนางเทวี |
แม้นพระองค์มิทรงพระเมตตา | ทั้งเจ้าข้าไม่คืนไปกรุงศรี |
เห็นจะพากันตายวายชีวี | ที่ผิดพลั้งครั้งนี้ได้โปรดปราน |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬนิ่งนั่งฟังว่าขาน |
ค่อยคลายหายเหือดเดือดดาล | มิได้มีพจมานประการใด |
ผินภักตร์ไปตรัสกับนัดดา | อันโทษพ่อนั้นตาจะยกให้ |
แต่ตัดขาดกับมันจนบรรไลย | จะกรวดน้ำเสียไม่ขอพบเลย |
ถึงแผ่ทองหุ้มตัวมายับยับ | ก็ไม่ปราถนานับว่าลูกเขย |
อย่าไปมาหากันฉันคุ้นเคย | ใครเกินเลยเถิดนะไม่ละกัน |
นัดดาจะรักอยู่ข้างไหน | จงว่าแต่จริงใจอย่าเดียดฉัน |
จะอยู่ด้วยชนนีของเจ้านั้น | ฤๅจะไปเหมันต์กับบิดา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์ได้ฟังว่า |
ก้มเกล้าทูลสนองพระบัญชา | ซึ่งโปรดมาข้ายังไม่ชอบใจ |
ที่จริงจิตรรักตานั้นเหลือแหล่ | รักพ่อรักแม่เท่าพ้อมใหญ่ |
จะไปกับบิดาก็อาไลย | ด้วยรักใคร่ไอยกากับมารดร |
แต่ที่จริงในจิตรข้าคิดนั้น | จะใคร่ให้ดีกันเหมือนแต่ก่อน |
แม้นสมดังปราถนาว่าวอน | จะสิ้นทุกข์สิ้นร้อนสำราญใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬสรวลสันต์ไม่กลั้นได้ |
แกล้งตรัสว่าน่าตีนี่กระไร | ช่างแก้ไขพูดเลียบเปรียบเปรย |
เจ้าจะให้ข้านี้ดีด้วยพ่อ | เช่นนี้พอรู้เท่าเจ้าดอกเหวย |
อันความแค้นของตาอย่าว่าเลย | ไม่เลี้ยงเปนลูกเขยคุ้งบรรไลย |
แต่ข้างนางแม่ของเจ้านี้ | จะดีด้วยพ่อเข้าหอใหม่ |
ฤๅจะมิดีก็ตามใจ | กำนัลในไปหามาบัดนี้ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลรับสั่งใส่เกษี |
ถวายบังคมคัลอัญชลี | ไปปราสาทเทวีสุวิญชา |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงทูลนางโฉมยง | ว่าพระบิตุรงค์ให้หา |
เชิญเสด็จรีบไปอย่าได้ช้า | แล้วแจ้งกิจจาสารพัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุวิญชาร้อนจิตรคิดพรั่น |
ซักไซ้ไต่ถามนางกำนัล | ครั้นแจ้งความสำคัญก็คลายใจ |
มาสระสรงทรงเครื่องสุคนธา | นุ่งผ้ายกแย่งระกำไหม |
ห่มริ้วทองระยับซับใน | แล้วทรามไวยเสด็จจรจรัล |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงมณเฑียรท้าวยักษี | เห็นพระสามีมอบอยู่นั่น |
ดูผิดรูปซูบผอมลงไปครัน | สารพัดผิวพรรณก็หมองมัว |
ชรอยพระคิดถึงน้องรัก | จึงโศกนักนึกน่าสงสารผัว |
ครั้นเห็นพ่อแลดูก็นึกกลัว | ทำแก้ตัวคมค้อนให้สามี |
คลานเข้าไปวันทาพระยายักษ์ | แล้วนงลักษณ์ไหว้พี่เลี้ยงทั้งสี่ |
มิได้พูดจาพาที | เทวีนั่งก้มภักตรา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสิงหฬยักษา |
แกล้งชำเลืองแลดูสุวิญชา | เห็นท่วงทีกิริยามึนตึง |
จะโกรธผัวจริงจังกระมังหนอ | ฤๅกลัวพ่อจะว่าทำหน้าบึ้ง |
ลูกเราความคิดติดฦกซึ้ง | ไม่รู้ถึงเล่ห์กลเปนจนใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงว่าแน่แม่เจ้านารายน์ธิเบศร์ | ไชยเชฐผัวเจ้าเขาคิดได้ |
มางอนง้อขอดีด้วยทรามไวย | เจ้าจะว่าอย่างไรนะลูกรัก |
ถึงจะดีกันไซ้พ่อไม่ห้าม | จะมิดีก็ตามไม่หาญหัก |
เมื่อครั้งก่อนพ่อคิดผิดนัก | ไม่หน่วงหนักให้ไปเพราะใจเบา |
ประเดี๋ยวนี้เขามาหาสู่ | ก็เปนต้นยนตร์อยู่ที่ลูกเจ้า |
ไปพูดจาสำมเลเทเมา | แล้วพาเขาเข้ามาว่าวิงวอน |
พ่อจึงให้หาเจ้าเพราะเท่านี้ | เทวีชั่งจิตรคิดดูก่อน |
เขาก็ได้มาของ้องอน | จะผันผ่อนอย่างไรก็ตามที |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุวิญชาสเทินเมินหน้าหนี |
ในจิตรคิดรักพระสามี | ครั้นจะดีง่ายง่ายก็อายใจ |
จึงทูลสนองพระบัญชา | อันความแค้นของข้าเลือดตาไหล |
เขาว่าลูกเต้าเปนท่อนไม้ | ขับไล่ไสหัวเสียจากเมือง |
ได้อับอายขายภักตร์หนักหนา | ไพร่ฟ้าระบือฦๅเลื่อง |
ท่านเชื่อเมียสารพัดเฝ้าขัดเคือง | จะรื้อเรื่องร่ำไปทำไมมี |
ว่าพลางทางเรียกลูกชาย | เจ้านารายน์ธิเบศร์มาเสียนี่ |
เอออะไรด้านหน้าทั้งตาปี | จะใคร่ตีให้ยับลงกับมือ |
ช่างโง่งมซมซานหาญฮึก | ยังจะรู้สึกนึกบ้างแล้วฤๅ |
ให้เรียกร้องสองรื้อสามรื้อ | ดูเถิดดื้อนี่กระไรยังไม่มา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์โอรสา |
นิ่งเสียมิได้ไคลคลา | วันทาแล้วทูลไปทันที |
ลูกแขงขัดพจมานประทานโทษ | พระแม่จงโปรดเกษี |
จะขอทูลความทุกข์ของลูกนี้ | ถึงจะทุบจะตีจะสู้ทน |
อกใครจะเหมือนอกข้า | ได้อับอายไพร่ฟ้าทุกแห่งหน |
กำเนิดเกิดมาไม่เทียมคน | เพราะพ่อแม่หมองหม่นน้ำใจกัน |
อันบิดาผิดพลั้งแต่ครั้งก่อน | อุส่าห์มาง้องอนได้ผ่อนผัน |
ถ้าทีหลังยังมุดุดัน | จะให้ตาตีรันไม่ฉันทา |
จงงดโทษพระพ่อเสียสักหน | ให้ทานบาดคาดบนไว้หนักหนา |
เหมือนเมตตาปรานีแก่ลูกยา | ดีด้วยบิดาเถิดมารดร |
เฝ้าพิรี้พิไรไม่เขินขวย | พระไชยเชฐช่วยกระซิบสอน |
ทูลพลางทางแกล้งกรรแสงวอน | สอื้นอ้อนร่ำไรไปมา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางโฉมยงสงสารโอรสา |
แต่มานะสัตรีมีมารยา | ทำโมโหโกรธาแล้วว่าไป |
สู่รู้ดูดู๋เสียแรงเลี้ยง | มาบ่ายเบี่ยงพาทีเช่นนี้ได้ |
ไม่รำพึงถึงตัวเปนท่อนไม้ | เขาสิรักใคร่เจ้าอยู่นัก |
แค้นใจใครหนอช่างชักพา | จึงด้านหน้าด้านตาไปรู้จัก |
แค่นเชื่อลิ้นลมไปสมรัก | ทำฮึกฮักพูดจามันน่าตี |
อันคนโฉดเช่นนี้แล้วลูกเอ๋ย | อย่าว่าเลยถึงตายไม่ดูผี |
อิกร้อยชาติก็ไม่ปราถนาดี | อย่าเซ้าซี้กวนใจมิใช่การ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายน์ธิเบศร์จึงว่าขาน |
แม้นพระชนนีมิโปรดปราน | ลูกจะม้วยชนมานเสียมั่นคง |
ไม่ควรจะหยิบยกเอาขึ้นว่า | ด้วยพ่อข้าเคลิ้มไปจนใหลหลง |
ความรักน้อยฤๅเพราะซื่อตรง | สู้บุกป่าฝ่าดงมาติดตาม |
ถึงพ่อผิดคิดมั่งฟังลูกเถิด | อย่าประเจิดเชิดชื่อให้คนหยาม |
ไม่สงสารลูกเต้าเฝ้าถือความ | จะขอลาตายตามพระพ่อไป |
ทูลพลางทางทรงโศกา | พระเจ้าตากระไรเลยช่างเฉยได้ |
เอนดูด้วยช่วยว่าบ้างเปนไร | พลางกรรแสงไห้วิงวอน |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬมิรู้ที่จะผันผ่อน |
เห็นหลานน้อยสร้อยเศร้าเฝ้าทุกข์ร้อน | พระทอดถอนใจใหญ่ไปมา |
จึงว่านารายน์ธิเบศร์เอ๋ย | อย่าร้องไห้ไปเลยฟังตาว่า |
เมื่อแม่เจ้าเขาไม่เมตตา | มันก็สุดปัญญาอยู่แล้วละ |
เจ้ารักพ่อตามแต่จะแก้ไข | อ้อนวอนกันไปเถิดสิหนะ |
ที่โทษทัณฑ์นั้นตาก็ลดละ | จะให้รับธุระเห็นสุดรู้ |
คำบุราณหลานยังหารู้ไม่ | จะดับไฟหัวลมนั้นยากอยู่ |
ทีนี้ใครอย่ามากวนกู | จะนั่งดูเล่นตามสบายใจ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐทุกข์ทนหม่นไหม้ |
เห็นพ่อตาว่าเชือนแชไป | เมียก็ตัดอาไลยสิ้นรัก |
ครั้นจะพูดเล้าโลมนางโฉมยง | ก็เกรงพระบิตุรงค์ทรงศักดิ์ |
แต่นั่งทอดถอนใจใหญ่ฮัก | ชลเนตรนองภักตร์พระภูมี |
เฝ้ากระซิบสอนลูกให้ปลอบแม่ | พลางแลดูเมียเห็นเบือนหนี |
พระสิ้นสติสมประดี | ก็ซบภักตร์โศกีเพียงขาดใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสุวิญชาศรีใส |
เห็นองค์ภัศดาโศกาไลย | ยิ่งเศร้าใจสงสารพระผ่านฟ้า |
ในอกอัดอั้นสู้กลั้นกลืน | แขงขืนอารมณ์ก้มหน้า |
ชลเนตรคลอคลองไนยนา | ทำเปนผงเข้าตาไม่พาที |
สุดที่จะกลั้นรัญจวนจิตร | ทำม้วนมิดปิดป้องที่หมองศรี |
จึงวันทาลาองค์อสุรี | ไปปราสาทมณีมิได้ช้า |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสิงหฬยักษา |
ตรองตรึกนึกในไปมา | จะล้างอายขายหน้าให้เปนธรรม์ |
จำจะทำโกรธขึ้งขึงไว้ | ดูใจไชยเชฐเขยขวัญ |
จะมานะกลับคืนไปเหมันต์ | ฤๅจะอยู่รำพรรณพิไรวอน |
ท้าวแสร้างเมินเสียไม่ดูหน้า | ทำปึ่งชาเฉยนิ่งพิงหมอน |
เฝ้าแต่ชำเลืองเคืองค้อน | แล้วบทจรเข้าที่บรรธมใน |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระไชยเชฐเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
ลูบหลังลูกยาแล้วว่าไป | เห็นพ่อจะบรรไลยนี้ไม่แคล้ว |
เมื่อองค์พระไอยกาไม่ปรานี | จะทำอย่างไรดีนะลูกแก้ว |
แม่เจ้าเขาก็ตัดพ่อขาดแล้ว | ไหนจะแคล้วมอดม้วยด้วยความรัก |
ก็จะสู้มรณาไม่ว่าเล่น | ให้มารดาเจ้าเห็นใจประจักษ์ |
ชาติน่าบุญมาช่วยนำชัก | ขอให้ได้พบภักตร์ร่วมรักกัน |
จงบอกแม่ว่าพ่อนี้ขอลา | ตายไปคอยท่าอยู่เมืองสวรรค์ |
ลูกเอ๋ยเปนกรรมมาตามทัน | จอมขวัญจำหน้าบิดาไว้ |
ตรัสพลางทางทรงโศกี | ปิ้มประหนึ่งชีวีจะตักไษย |
ไม่ทันสั่งพี่เลี้ยงร่วมใจ | ภูวไนยสลบลงทันที |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระกุมารตกใจร้องไห้มี่ |
พระพี่เลี้ยงเพียงจะวายชีวี | นวดฟั้นคั้นตีทั่วกายา |
พระโอรสวิ่งพลางร้องไห้พลาง | พี่นางอยู่งานวานช่วยข้า |
เร็วเร็วเร่งทูลพระเจ้าตา | บัดนี้บิดาข้าวายปราณ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหฬได้ฟังสำเนียงหลาน |
ลุกจากแท่นที่ตะลีตลาน | วิ่งสดุดเครื่องอานออกมาพลัน |
เห็นลูกเขยซอนซบสลบไสล | ก็ตกใจเรียกหมอปากคอสั่น |
ไปหาลูกกูอีกำนัล | พลางเข้านวดฟั้นสั่นเนื้อตัว |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สุวิญชาแจ้งเหตุสังเวชผัว |
วิ่งวางตัวสั่นอยู่รัวรัว | ตีอกชกหัวร้องไห้พลาง |
ถึงปราสาทบิดาเห็นสามี | ไม่ไหวติงอินทรีย์เหมือนผีสาง |
ลืมองค์ลืมอายกำนัลนาง | เข้านั่งหนุนปฤษฎางค์ภัศดา |
แล้วเอาสุคนธ์โซมชโลมให้ | นางร่ำไรเรียกร้องเปนหนักหนา |
สิ้นอายสิ้นกลัวพระอาญา | ออกปากว่าข้าจะดีด้วยแล้ว |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระไชยเชฐผ่องแผ้ว |
ค่อยฟื้นองค์ลืมเนตรขึ้นแววแวว | เห็นลูกแก้วกับเมียนั่งโศกี |
พระขืนแขงฤไทยดำรงองค์ | กราบลงแทบบาทท้าวยักษี |
สุวิญชานึกอายพระสามี | ลุกหนีมานั่งหลังบิดา |
ฯ ๔ คำ ฯ