- คำนำ
- นิทานเรื่องไชยเชฐ เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไชยเชฐ
- นิทานเรื่องสังข์ทอง เรื่องต้นก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ทอง
- นิทานเรื่องไกรทอง เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องไกรทอง
- กลอนตำนานเรื่องพระราชนิพนธ์ไกรทอง
- นิทานเรื่องมณีพิไชย เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องมณีพิไชย ตอนพราหมณ์ยอพระกลิ่นขอพระมณีพิไชยไปเปนทาษ
- นิทานเรื่องมณีพิไชย ตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- นิทานเรื่องคาวี (เรียกอิกอย่างหนึ่งว่าเรื่องเสือโค) เรื่องตอนต้น ก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องคาวี
- เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องก่อนตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์เปนบทลคร
- บทลครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย
- นิทานเรื่องสังข์ศิลป์ไชยตอนปลาย ต่อเรื่องตอนทึ่ทรงพระราชนิพนธ์บทลคร
ตอนที่ ๓ พระสังข์ได้นางรจนา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวสามลจนจิตร |
กอดเข่าเข้าตลึงรำพึงคิด | อกกูดูผิดประหลาดใจ |
บุรุษในแผ่นดินก็สิ้นแล้ว | ควรฤๅลูกแก้วไม่เลือกได้ |
คิดพลางทางเสด็จคลาไคล | ออกบัญชรไชยมิได้ช้า |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
เพลงฝรั่ง
๏ จึงตรัสแก่เสนาข้าเฝ้า | คนในเมืองเราถึงแสนกว่า |
ที่อยู่บ้านนอกขอกนา | ขับมาหมดสิ้นแล้วฤๅยัง |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ บัดนั้น | เสนาทูลไปดังใจหวัง |
ไพร่ฟ้ามาประชุมอยู่ในวัง | ทั่วทั้งแผ่นดินสิ้นชาย |
เหลือแต่เงาะป่าทรพล | หน้าตาผิดคนทั้งหลาย |
หัวพริกหยิกยุ่งหยาบคาย | ตัวลายคล้ายกันกับเสือปลา |
ใครจะบอกจะเล่าไม่เข้าใจ | พูดจาไม่ได้เหมือนใบ้บ้า |
เล่นอยู่กับเด็กที่กลางนา | จงทราบบาทาภูวไนย |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลฟังแจ้งแถลงไข |
ด้วยเดชะเทพเจ้าเข้าดลใจ | พเอิญให้กริ้วโกรธบุตรี |
จึงตรัสแก่องค์อรรคชายา | น้อยฤๅรจนาลูกสาวศรี |
เลือกคู่ดูใครไม่ไยดี | จนสิ้นชายไม่มีทั้งภารา |
เหลือแต่เงาะป่าเปนบ้าใบ้ | เอามาให้มันเลือกสมน้ำหน้า |
ว่าพลางทางสั่งเสนา | จงไปพาอ้ายเงาะมาในวัง |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาคำนับรับสั่ง |
ต่างวิ่งวางไปมิได้ยั้ง | มายังกลางทุ่งท้องนา |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงบอกแก่เจ้าเงาะ | รับสั่งจำเภาะให้หา |
เร็วเร็วมาไปอย่าได้ช้า | ต่างคนฉุดคร่าวุ่นวาย |
บ้างเปลื้องผ้าคาดพุงผูกมัด | เจ้าเงาะวัดถูกอกหกล้มหงาย |
ลางคนวิ่งออกมาบอกนาย | แรงมันมากมายเหมือนควายวัว |
บ้างพยักกวักเรียกเจ้าเงาะขา | ไม่พูดจาด้วยกันเฝ้าสั่นหัว |
ที่ใจคอขี้ขลาดหวาดกลัว | ระวังตัวยืนดูอยู่แต่ไกล |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บ้างทำเย้ายั่วให้หัวเราะ | ค่อยปเหลาะลูบหลังเข้านั่งใกล้ |
เกลอเอ๋ยอย่าช้ามาจะไป | นี่คนฤๅตอไม้ไม่พูดจา |
เสนีนายใหญ่ให้ไพร่เลว | เอาพวนผูกบั้นเอวเจ้าเงาะป่า |
ต่างเข้าฉุดชักเต็มประดา | สาระพาเฮโลโย้ตามกัน |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เชือกขาดล้มคว่ำคมำไป | ลุกขึ้นดัดหลังไหล่กระดูกลั่น |
นิ่วหน้าสั่นหัวกลัวแรงมัน | ต่างปฤกษากันเปนจนใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝูงเด็กเลี้ยงโคน้อยใหญ่ |
เห็นคนกลุ้มรุมฉุดเงาะไพร | ขัดใจวิ่งพลางทางร้อง |
จะเอาเงาะเขาไปข้างไหนนั่น | ข่มเหงกันไม่บอกเราเจ้าของ |
มิถูกอิฐหัวผ่าก็อย่าลอง | ไว้ไยไล่ถองให้แทบตาย |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาฮึกฮักชักหวาย |
เหม่เจ้าเหล่านี้หลังจะลาย | อย่าวุ่นวายอ้ายหัวเหาเต่าเลน |
รับสั่งให้เอาตัวอ้ายเงาะป่า | จะทอดพระเนตรหน้าตาไม่เคยเห็น |
มันเปนใบ้บ้าว่ายากเย็น | เองรู้ใจได้เล่นกับมันมา |
เคยอย่างไรจงบอกอย่าหลอกกัน | ให้ได้มันเข้าไปถวายหน้า |
กูจะให้ขนมเข่งของทยา | กินอร่อยนักหนาประสาจน |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝูงเด็กดีใจเสลือกสลน |
ต่างชิงกันบอกออกลน | แต่เปนคนแล้วอย่าฉุดให้เหนื่อยแรง |
ถ้าขืนหยักเหย้าเซ้าซี้ | มันขัดใจจะหนีไปแอบแฝง |
จงให้ไปเก็บดอกไม้แดง | มาผูกปลายไม้แกว่งแต่ไกลไกล |
ค่อยวิ่งรอรอล่อเล่น | เงาะเห็นก็จะผลุนหมุนไล่ |
จะพาไปถึงวังได้ดังใจ | เอาขนมมาให้ข้าเถิดรา |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ตบมือหัวเราะร่า |
ต่างวิ่งชิงเก็บดอกชบา | ผูกปลายไม้มาล่อเงาะ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พวกหลังไสส่งให้ตรงไป | ถือดอกไม้นำหน้าพาวิ่งเหยาะ |
ลางคนบ้างกลัวบ้างหัวเราะ | ล่อเงาะเข้ามาถึงวังใน |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝูงสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
แอบดูอยู่ที่บัญชรไชย | แลไปเห็นเงาะหัวเราะอึง |
บ้างว่าน่าชังเปนหนักหนา | แลดูหูตาตื่นทลึ่ง |
รูปร่างอัปรีขี้ทึ้ง | เหมือนหนึ่งภูตผีที่กลางนา |
ลางคนบ่นว่าถ้าเช่นนี้ | ฟ้าผี่เถิดไม่นึกปราถนา |
น่ากลัวตัวดำเหมือนคุลา | ต่างติเงาะป่าว่าวุ่นไป |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนามาทูลแถลงไข |
ข้าออกไปเอาตัวอ้ายเงาะไพร | บัดนี้ได้มาแล้วพระราชา |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลเห็นเงาะชังน้ำหน้า |
เนื้อตัวเปนลายคล้ายเสือปลา | ไม่กลัวใครใจกล้าดุดัน |
ผมหยิกยุ่งเหยิงเหมือนเซิงฟัก | หน้าตาตละยักษ์มักกสัน |
พระเมินเสียมิได้ดูมัน | แล้วมีบัญชาประชดรจนา |
จงออกไปเลือกคู่ดูอ้ายเงาะ | มันงามเหมาะเหลือใจเปนใบ้บ้า |
ฤๅจะชอบอารมณ์สมหน้าตา | หน่อกระษัตริย์จัดมาไม่พอใจ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนานารีศรีใส |
เทวดาเดินหนดลฤไทย | อยากจะใคร่ดูเงาะจำเภาะเปน |
จึงตรัสแก่พี่เลี้ยงกัลยา | เงาะป่าอย่างไรไม่เคยเห็น |
เขาว่าหน้ามันปั้นยากเย็น | เราออกไปดูเล่นก็เปนไร |
ซึ่งบิดาเคืองขัดตรัสประชด | พเอิญลืมไปหมดไม่สงไสย |
จึงเสด็จลีลาคลาไคล | มายังพระโรงไชยฉับพลัน |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
ลีลากระทุ่ม
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน |
พิศโฉมพระธิดาวิลาวรรณ | ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน |
งามลม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ | นางในธรณีไม่มีเหมือน |
แสร้งทำแลเลี่ยงเบี่ยงเบือน | ให้ฟั่นเฟือนเตือนจิตรคิดปอง |
พระจึงตั้งสัตย์อธิษฐาน | แม้นบุญญาธิการเคยสมสอง |
ขอให้ทรามสงวนนวลน้อง | เห็นรูปพี่เปนทองต้องใจรัก |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | รจนานารีมีศักดิ |
เทพไทอุปถัมภ์นำชัก | นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง |
นางเห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน | รูปเงาะสวมไว้ให้คนหลง |
ใครใครไม่เห็นรูปทรง | พระเปนทองทั้งองค์อร่ามตา |
ชรอยบุญเราไซ้จึงได้เห็น | ต่อจะเปนคู่ครองกระมังหนา |
คิดพลางนางเสี่ยงมาลา | แม้นว่าเคยสมภิรมย์รัก |
ขอให้พวงมาไลยนี้ไปต้อง | เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์ |
เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์ | ผินภักตร์ทิ้งพวงมาไลยไป |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงหลากจิตรคิดสงไสย |
อกเอ๋ยนี่เห็นเปนอย่างไร | มารักใคร่ไอ้เงาะมิเคราะห์กรรม |
ทำให้อายขายภักตร์เผ่าพงศ์ | ไม่รักองค์เลยสักนิดผิดส่ำ |
ไม่ปฤกษาหารือแต่สักคำ | จะมาทำให้พี่นี้พลอยยับ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลเสียใจจนลมจับ |
นางมณฑาเข้าประคองรองรับ | ขยำขยับไปสักหน่อยก็ค่อยคลาย |
ลุกขึ้นกระทืบบาทตวาดอึง | อีรจนาดูดู๋มึงช่างมักง่าย |
ทรลักษณ์อัปรีไม่มีอาย | หน่อกระษัตริย์ทั้งหลายไม่เอื้อเฟื้อ |
มารักเงาะทรพลคนอุบาทว์ | ทุดช่างชั่วชาติประหลาดเหลือ |
แค้นนักจักใคร่ให้แล่เนื้อ | แล้วเอาเกลือทาซ้ำให้หนำใจ |
ว่าพลางฉวยได้ไม้เรียว | โกรธเกรี้ยวตัวสั่นหมั่นไส้ |
อีลูกชั่วน่าชังจังไร | เอาไว้ไยตีเสียให้แทบตาย |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาอกสั่นขวัญหาย |
เห็นสามีเคืองขุ่นวุ่นวาย | จะพิดทูลเบี่ยงบ่ายก็เกรงกลัว |
จึงออกมาว่ากับลูกสาว | ช่างทำความงามฉาวอีคนชั่ว |
เสียยศเสียศักดิไม่รักตัว | เลือกผัวได้เงาะเห็นเหมาะใจ |
เขาจะเยาะเย้ยเล่นเปนตำรา | พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ไหน |
จะเชิดชื่อฦๅลั่นสนั่นไป | ถึงบรรไลยก็ไม่สิ้นเขานินทา |
ควรฤๅมาเปนได้เช่นนี้ | เสียทีแม่รักเจ้าหนักหนา |
ร่ำพลางนางทรงโศกา | กัลยาเพียงจะสิ้นสมประดี |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนามารศรี |
กล่าวแกล้งแสร้งทูลชนนี | ทั้งนี้เพราะกรรมได้ทำไว้ |
แต่น้ำใสใจจริงของข้า | จะรักใคร่เงาะป่านั้นหาไม่ |
ซึ่งหมายมั่นครั้นลูกจะว่าไป | ที่ไหนใครเลยจะเห็นจริง |
อันชั่วดีมิใช่จะไม่รู้ | เหมือนน้ำท่วมปากอยู่จึงสู้นิ่ง |
ถึงชนกชนนีจะชังชิง | ลูกจะวิงวอนง้อขอโทษกร |
ทั้งนี้สุดแท้แต่วาศนา | จะก้มหน้าใช้กรรมให้สิ้นก่อน |
ยากเย็นอย่างไรไม่ทุกข์ร้อน | มารดรอย่าทรงโศกาไลย |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณฑาหวั่นจิตรคิดสงไสย |
เฝ้าปลอบถามลูกรักซักไซ้ | จนอ่อนใจไม่บอกออกความ |
กูชังน้ำหน้าลูกว่ายาก | เหนื่อยปากรำคาญขี้คร้านถาม |
มึงเห็นอ้ายเงาะว่าเหมาะงาม | จะแร่ตามมันไปช่างไม่อาย |
ว่าพลางนางกลับเข้ามาเฝ้า | กระซิบทูลแบ่งเบาเบี่ยงบ่าย |
ข้าไปถามอีลูกแสนร้าย | มันพูดเปนแยบคายไม่เข้าใจ |
หลากนักมารักไอ้เงาะป่า | ชอบลงอาญาอย่าปราไส |
แต่พระได้ออกโอษฐ์โปรดไว้ | ให้เลือกตามชอบใจทั้งเจ็ดคน |
ครั้นจะลงโทษทัณฑ์มันเล่า | จะนินทาว่าเราทุกแห่งหน |
โปรดเพียงขับไล่เสียให้พ้น | มันอดอยากยากจนอย่านำพา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสามลฟังชังน้ำหน้า |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา | นิ่งนึกตรึกตราอยู่ในใจ |
จำจะต้องเงือดงดอดกลั้น | คอยหยิบผิดมันให้จงได้ |
คิดพลางทางสั่งเสนาใน | อีรจนากูไม่ขอเห็นมัน |
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา | จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน |
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน | ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา |
แต่แรกกูตั้งจิตรคิดหวัง | จะแต่งทั้งเจ็ดคนให้หนักหนา |
อีเจ้ากรรมทำให้ขายหน้าตา | จะแต่งการวิวาห์ก็ขี้คร้าน |
ให้อยู่เสียด้วยกันเถิดตามที | ในข้างขึ้นเดือนสี่ปีขาล |
ตรัสพลางทางคิดเดือดดาล | ปิดบานพระแกลไม่แลไป |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีมี่ฉาวเรียกบ่าวไพร่ |
ต่างถือมีดพร้าแล้วคลาไคล | ตรงไปปลายนานอกธานี |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด เจรจา
๏ ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก | ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่ |
บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี | ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา |
แล้วปัดปูเสื่อฟูกผูกมุ้งม่าน | หม้อเข้าเชิงกรานตุ่มน้ำท่า |
ทั้งปลูกผักฟักแฟงแตงกวา | จอบเสียมมีดพร้าหาพร้อมไว้ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกบุตรีศรีใส |
รู้ว่ารจนาทรามไวย | ได้ไอ้เงาะป่าเปนสามี |
ต่างคนแค้นขัดอัธยา | มันทำให้เขาว่าขายหน้าพี่ |
เราจะไปภ้อตัดให้เต็มที | ว่าแล้วจรลีออกมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงเร็ว
๏ ครั้นถึงจึงหยุดยืนอยู่ | แลดูน้องสาวกับเงาะป่า |
เคืองค้อนงอนจริตกิริยา | เปรียบประชดชี้หน้าแล้วว่าไป |
ฯ ๒ คำ ฯ
เย้ย
๏ ชะนางคนดีไม่มีชั่ว | ช่างเลือกผัวงามนักน่ารักใคร่ |
รูปร่างน่าหัวร่อเหมือนตอไม้ | เอออะไรพุงโรสันหลังยาว |
มันน่าเชยน่าชมสมประกอบ | พอชอบทำนองหม่อมน้องสาว |
หูตาบั้งแบวเหมือนแมวคราว | เขาเล่าฦๅอื้อฉาวช่างไม่อาย |
นอกรีดนอกรอยน้อยฤๅนั่น | แร่รันไปรักอีมักง่าย |
ให้พี่สาวชาวแส้พลอยวุ่นวาย | อัปรยศอดอายขายหน้าตา |
ถึงมิดีมิชั่วเช่นผัวกู | จะร่วมเรียงเคียงคู่พอสมหน้า |
อันอ้ายเงาะเหมาะเหลือเหมือนเสือปลา | ทุดช่างเสนหาได้ลงคอ |
ฤๅชรอยถูกเสน่ห์เล่ห์กล | เวทมนต์ดลใจไฉนหนอ |
ไม่คิดถึงพงศ์เผ่าเหล่ากอ | น้ำใจในคอมึงผิดคน |
ยังจะทำแสนงอนค้อนข้าฤๅ | คันมือจะใคร่ต่อยสักร้อยหน |
กูจะกรวดน้ำคว่ำคะนน | ถึงยากจนขาดจากพี่น้องกัน |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | รจนาตอบไปขมีขมัน |
อุแม่เอ๋ยอื้ออึงขึ้นมึงมัน | เศกแสร้งสารพันโพนทนา |
ท้าคารมสมทบจะตบต่อย | มิใช่ลูกเมียน้อยร้อยภาษา |
ถึงได้เงาะเปนผัวชั่วช้า | ก็สุดแต่วาศนาได้สร้างไว้ |
อันผัวพี่ดีเหลือเปนเนื้อหน่อ | เห็นต่อจะบุญหนักศักดิใหญ่ |
รูปร่างน้อยจ้อยอร่อยใจ | จงกอดไว้เถิดคะอย่าละวาง |
ถึงพี่จะรุ่งเรืองไปเบื้องน่า | ก็ไม่พึ่งวาศนาอย่าอวดอ้าง |
ดีแต่จะมาพาลรานทาง | ไม่อดสูผีสางบ้างเลย |
สำคัญว่าพี่น้องท้องเดียวกัน | มิรู้มันเหลือแหล่อุแม่เอ๋ย |
เปนผู้ใหญ่ไม่เหมาะมาเยาะเย้ย | ข้าเกินเลยไปมั่งขอษมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หกนางเคืองค้อนแล้วค่อนว่า |
ชะช่างเลี้ยวลดอีรจนา | กลับพาโลข้าว่าเย้ยเยาะ |
เออคะกระนั้นและจริงอยู่ | รูปร่างผัวกูไม่สู้เหมาะ |
ที่ไหนจะงามพร้อมเหมือนหม่อมเงาะ | ใครเห็นก็หัวเราะว่ารูปงาม |
ยังจะแค่นขึ้นเสียงเถียงเก้อเก้อ | ทำกรุ่งกริ่งหยิ่งเย่อหยาบหยาม |
อีคนชาติชั่วตัวตะกลาม | จะละเมอเร่อตามไอ้เงาะไป |
น้อยฤๅปากคอมันพอสม | ข้าสู้รบคารมเจ้าไม่ไหว |
ขี้คร้านเถียงให้เหนื่อยเมื่อยขาตะไกร | ก็กลับไปห้องหับฉับพลัน |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงเร็ว
๏ บัดนั้น | จึงมหาเสนาคนขยัน |
เข้าไปทูลรจนาสารพัน | พระบิดาคาดคั้นให้ขับไป |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รจนาเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
ครวญคร่ำกำสรดสลดใจ | เข้าไปกราบกรานพระมารดา |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้ปี่
๏ โอ้ว่าพระชนนีเจ้า | พระคุณเคยปกเกล้าเกษา |
ถนอมเลี้ยงลูกไว้จนใหญ่มา | เปนศุขทุกทิวาราตรี |
พระองค์จงจิตรคิดหวัง | จะปลูกฝังลูกรักเปนศักดิ์ศรี |
มาทำขายบาทาครานี้ | ถึงจะให้ขับหนีไม่น้อยใจ |
กรรมของลูกแล้วจะขอลา | พระแม่อย่าทุกข์ทนหม่นไหม้ |
แม้นว่าชีวันไม่บรรไลย | คงจะได้แทนคุณการุญรัก |
ร่ำพลางกำสรดสลดจิตร | ยิ่งคิดเปนห่วงหน่วงหนัก |
ชลเนตรฟูมฟองนองภักตร์ | นงลักษณ์โศกศัลย์พันทวี |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมณฑามเหษี |
คิดพะวงสงสารพระบุตรี | เทวีอัดอั้นกลั้นโศกา |
ลูกรักเฝ้าชอ้อนวอนวิง | นางนั่งนิ่งเฉยอยู่ไม่ดูหน้า |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา | ชลนาคลอเนตรสังเวชใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาทุกข์ทนหม่นไหม้ |
เห็นเจ้าเงาะพยักหน้าเปนไนย | ชี้มือบอกใบ้ไปปลายนา |
นางสทกสเทินเขินขวย | จะไปด้วยง่ายง่ายก็อายหน้า |
ครั้นจะหน่วงหนักชักช้า | ก็กลัวเกรงบิดาจะฆ่าตี |
จึงกราบกรานมารดาด้วยอาดูร | ทรามไวยพิไรทูลถ้วนถี่ |
ลูกจะขออำลาฝ่าธุลี | ครั้งนี้มีกรรมจะจำไกล |
ว่าพลางนางถวายบังคมลา | ชลนาแถวถั่งหลั่งไหล |
แล้วดำเนินเดินตามเจ้าเงาะไป | เสนาในนำน่าจรลี |
ฯ ๘ คำ ฯ ทยอย
ร้องทยอย
๏ ครั้นออกมานอกทวารวัง | เหลียวหลังมาดูปราสาทศรี |
เคยอยู่ศุขเกษมเปรมปรีดิ์ | อนิจาครานี้จะจำไกล |
แสนวิตกอกเอ๋ยไม่เคยยาก | จะลำบากเคืองเข็ญเปนไฉน |
ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ฉุกใจ | จะตามไปไม่รู้ว่าร้ายดี |
นางสอื้นยืนเช็ดชลนา | ครั้นเจ้าเงาะเหลียวมาก็เบือนหนี |
แล้วคิดรักหักใจจรลี | ตรงไปยังที่ปลายนา |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงเร็ว
ร่าย
๏ ครั้นถึงกระท่อมทับที่อยู่ | แลดูสมเพชเปนหนักหนา |
ไม่เคยเห็นเช่นนี้แต่เกิดมา | ก็โศกาทรุดนั่งอยู่นอกชาน |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
เข้าไปในห้องมิทันนาน | เที่ยวดูของประทานทั้งปวง |
แกล้งหยิบกระโถนมาโยนเล่น | ทำเปนเหมือนกับรับลูกช่วง |
แลเขม้นเห็นหวดก้นกลวง | เอามาจ้วงตักน้ำทำจะกิน |
รจนาว่าไฮ้ช่างไม่อาย | เบื่อจะตายผมเผ้าเขาเปียกสิ้น |
เจ้าเงาะเมินขายหูไม่ได้ยิน | ทำฉวยพัดปัดริ้นปัดยุง |
แล้วแกล้งหยิบครุตั้งบนเชิงกราน | ควักเข้าสารมาใส่ก่อไฟหุง |
คลี่ผ้ากุศราดออกคาดพุง | กางมุ้งเสียให้ดีแต่วี่วัน |
แล้วหยิบหมอนมาอิงยิงฟันขาว | กระดิกเท้าทำเล่นให้เห็นขัน |
พอโพล้เพล้เพลาสายัณห์ | จึงรำพรรณพูดเกี้ยวเลี้ยวลด |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ชาตรี
๏ น้องเอยน้องรัก | ผิวภักตร์เพียงจันทร์อันทรงกลด |
โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด | จะกำสรดเศร้าหมองไม่ต้องการ |
บุญพี่กับนางได้สร้างสม | เคยภิรมย์ร่วมรักสมัคสมาน |
พี่อยู่ถึงนอกฟ้าหิมพานต์ | เทวัญบันดาลให้เที่ยวมา |
เหมือนหนึ่งแกล้งชักนำจำเภาะ | จึงได้เมียงามเหมาะจนเกินหน้า |
ไม่ควรเคียงลูกสาวท้าวพระยา | แต่วาศนาของเงาะเคราะห์ดี |
พระโปรดปรานประทานทับกระท่อม | ทั้งเครื่องใช้ได้พร้อมเพราะบุญพี่ |
น่าชมสมบัติเรามั่งมี | มารศรีอย่าเศร้าเสียใจ |
จะถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงเจ้า | มิให้อายกับเขาเขยใหญ่ |
ขอเชิญโฉมงามทรามไวย | มานั่งในห้องหับกับพี่ชาย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนาโฉมฉาย |
ได้ฟังเจ้าเงาะพูดเราะราย | แยบคายคมสันขันคะนอง |
น่าสำรวลสรวลสันต์ไม่กลั้นได้ | อรไทยสเทินเมินยิ้มย่อง |
แก้ขวยฉวยมีดมาเจียนตอง | กรีดเล็บเย็บซองจะใส่พลู |
เจ้าเงาะรื้อเรียกซ้ำทำกระบวน | เมียงชม้อยม่อยม้วนหน้าอยู่ |
อิดเอื้อนเชือนแชไม่แลดู | เปนครู่มิใคร่จะพาที |
คิดถึงรูปทองยังต้องใจ | เสียแรงได้ติดตามมาถึงนี่ |
ครั้นจะมิพูดด้วยก็ไม่ดี | เทวีจึงตอบวาจา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ น่าเอยน่าชัง | ช่างอวดมั่งอวดมีไม่อายหน้า |
เหย้าเรือนเหมือนกันกับรังกา | แค่นคิดสมบัติบ้าน่าหัวเราะ |
เมื่อกลางวันนั้นทำเปนบ้าใบ้ | เดี๋ยวนี้เอออะไรพูดออกเหราะ |
ฉลาดเฉลียวเจียวจริงเจ้าเงาะ | กลับมาเยาะเย้ยหยันขันจริง |
นี่ฤๅชาวนอกฟ้าหิมพานต์ | ซมซานมาเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง |
อุแม่เอ๋ยช่างชอ้อนวอนวิง | เพราะพริ้งหวานฉ่ำดังน้ำตาล |
น้อยฤๅนั่นน่ารักอยู่อักโข | หูหนาตาโตเท่าไข่ห่าน |
รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร | ล่ำสันขันจ้านสักเท่าพ้อม |
บิตุรงค์ทรงศักดิ์รักใคร่ | จึงโปรดให้สิงสู่อยู่กระท่อม |
จอบเสียมสารพัดจัดให้พร้อม | พอสมที่ทำปลอมแปลงมา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ แสนเอยแสนแขนง | น้อยฤๅแกล้งตัดภ้อเล่นต่อหน้า |
ติเล็กติน้อยคอยนินทา | ค่อนว่าพิไรไค้แคะ |
พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง | มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ |
เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ | แฮะแฮะว่าเล่นฤๅว่าจริง |
อย่าประมาทรูปพี่เห็นขี้เหร่ | ไม่ว่าเล่นเปนเสน่ห์ชอบใจหญิง |
ชาวรั้วชาววังไม่ชังชิง | อุส่าห์ทิ้งมาไลยมาให้เงาะ |
ใช่ว่าจะแสร้งแกล้งอวดตัว | นานไปพี่กลัวจะชมเปาะ |
ว่าพลางเย้ายวนชวนหัวเราะ | แกล้งปะเหลาะปะแหละและเลียม |
นี่แน่น้องผินหน้ามาข้างนี้ | ไม่พอที่จะระคายอายเหนียม |
ดูดู๋ขืนยังนั่งเอี้ยมเฟี้ยม | ใจคอเหี้ยมเกรียมหนักหนานัก |
มาเถิดเจ้าเข้าไปเสียในมุ้ง | กลางนากลางทุ่งยุงมันหนัก |
อย่าทำบิดตะกูดพูดเยื้องยัก | แสนงอนค้อนควักไปทีเดียว |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ น่าเอยน่าสรวล | เจ้าสำนวนทายาดฉลาดเฉลียว |
ล้ำเลิศคนขยันขันจริงเจียว | แก้เกี้ยวเลี้ยวลัดสกัดสแกง |
แต่มาไลยให้ทานก็นินทา | ค่อนว่าแคะไค้ไปทุกแห่ง |
เห็นเงาะชอบใจดอกไม้แดง | จึงแกล้งทิ้งให้ไปกระนั้น |
กลับว่าเขารักตัวน่าหัวเราะ | รูปร่างเจ้าสิเหมาะน้อยฤๅนั่น |
หนวดเคราครุ่มคร่ามงามครัน | หน้าตาตละปั้นขันสุดใจ |
เอออะไรไม่อายขายหน้า | เอารูปเงาะสวมมาทำบ้าใบ้ |
แกล้งซ่อนรูปสุวรรณไว้ชั้นใน | ข้าเข้าใจอยู่ดอกอย่าหลอกลวง |
พระบิดาขับไล่เพราะใครเล่า | ได้ความทุกข์เท่าภูเขาหลวง |
อัปรยศอดสูเขาทั้งปวง | เพราะไม่หน่วงไม่หนักรักรูปทอง |
จนตกยากอย่างนี้แล้วมิสา | ยังจะมาเรียกให้ไปในห้อง |
ข้ากลัวรูปเงาะป่าตาพอง | จะให้น้องนั่งใกล้จนใจจริง |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | เอออะไรรู้เท่าไปทุกสิ่ง |
แสนเฉลียวฉลาดล่วงท้วงติง | มันก็จริงกระนั้นนั่นและซิ |
ขืนจะมาควักค้อนค่อนว่า | เงาะของข้าเคยใส่ทำไมสิ |
ผู้หญิงมักต้องจิตรประสิทธิ | อย่าเฝ้าติตะบอยไปหน่อยเลย |
ถึงหนวดเครารุงรังช่างเปนไร | เอาแหนบถอนเสียได้ดอกน้องเอ๋ย |
หัวพริกหยิกยุ่งอย่าเยาะเย้ย | ถ้าหวีเสยสอยหย่งแล้วคงงาม |
ทำไมกับรูปชั่วตัวดำ | จะอาบน้ำขัดสีส้มมะขาม |
ละลายดินสอพองสักสองชาม | ทาให้งามตลอดเท้าขาวทั้งตัว |
ถึงตาพองท้องพลุ้ยพีผลุ | อย่าดูหมิ่นกินจุมิใช่ชั่ว |
จงปรานีเงาะป่าเถิดอย่ากลัว | จะแต่งตัวให้งามตามใจน้อง |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ว่าพลางทางถอดเงาะเสีย | เอาซ่อนเมียวางไว้ในห้อง |
รูปทรงโสภาดังทาทอง | ค่อยย่องมานั่งข้างหลังนาง |
เห็นห่มผ้าสไบไพล่พลิ้ว | ทำยื่นนิ้วจะจี้ที่สีข้าง |
กระทั่งไอกระแอมแย้มยิ้มพลาง | สกิดนางให้รู้ดูนี่แน่ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาไม่ทะยาทะแยแส |
คิดว่าเงาะลูบหลังทำรังแก | ไม่เหลียวแลร้องอึงคนึงไป |
โมโหหันหน้ามาหยิกทึ้ง | เห็นรูปงามก็ตลึงหลงใหล |
น้อยฤๅถอดเงาะเหมาะสุดใจ | เนื้อหนังช่างกะไรราวกับทอง |
หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา | นงเยาว์กระหยิ่มยิ้มย่อง |
คิดไว้ก็สมอารมณ์ปอง | บริสุทธิ์ผุดผ่องผิวพรรณ |
งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า | ดูดังเทวดาบนสวรรค์ |
เฝ้าชม้ายชม้อยม่อยเมียงมัน | สเทินจิตรบิดผันไม่พูดจา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์เกษมสันต์หรรษา |
เห็นนางอายเอียงเมียงภักตรา | จึงแกล้งว่าสัพยอกหยอกเอิน |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ไม่พอที่จะระคางห่างเหิน |
เฝ้าผินหน้าผินหลังนั่งเมิน | อย่าสทกสเทินเชิญดูเงาะ |
นิ่งอยู่ไยสิไม่ติเล่า | นี่แน่เจ้าจะเหมาะฤๅมิเหมาะ |
ไม่แกล้งอวดทรวดทรงจงพิเคราะห์ | อย่าหัวเราะเยาะเย้าไปเลยคะ |
เมื่อกี้ค่อนว่าพี่ตาพอง | เดี๋ยวนี้น้องจงติเถิดสิหนะ |
หน้าตาหายเคอะไม่เทอะทะ | มันต่อจะกระนั้นเปนมั่นคง |
หนวดเคราพี่ถอนเสียล่อนเลี่ยน | ไม่ว่าเล่นเห็นเจียนจะลุ่มหลง |
ยังพ่วงพีเท่าพ้อมฤๅย่อมลง | รูปทรงคงขยันแล้วกัลยา |
ถึงเจ้าจะเข้าหอก็พอได้ | เห็นจะไม่อับอายขายหน้า |
ตามมีตามเกิดเถิดน้องอา | ตามประสายากเย็นเข็ญใจ |
เชิญเจ้าเข้าไปในห้องหับ | นอนหลับเสียมั่งเจ็บหลังไหล่ |
แล้วกุมกรกัลยาช้าอยู่ไย | มาไปดีดีอย่าดื้อดึง |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดเอยบัดสี | อะไรนี่น่าพิโรธโกรธขึ้ง |
นางค้อนควักผลักไสหยิกทึ้ง | ร้องไห้อึงดอกเจ้าเฝ้ายื้อยุด |
ช่างทำได้ไม่เกรงข่มเหงคน | ฉุดกระชากลากจนไหล่จะหลุด |
เห็นแล้วว่าประเสริฐเลิศมนุษย์ | ราวกับเทพบุตรสุดปัญญา |
งามแล้วคะชะเจ้าอย่าเฝ้าอวด | เพริศพริ้งยิ่งยวดเปนหนักหนา |
ใครใช้ให้แกล้งแปลงปลอมมา | เขาก็ติก็ว่าให้สาใจ |
แม้นมิทำยอกย้อนซ่อนรูปทรง | ไหนเลยบิตุรงค์จะขับไล่ |
นี่เปนเหตุเพราะเงาะฤๅเพราะใคร | จึงได้อัประมาณรำคาญเคือง |
ยังจะมาลดเลี้ยวเกี้ยวพาน | พูดจาน่ารำคาญหูเหือง |
ว่าพลางทางทำชำเลือง | ค้อนควักยักเยื้องเปนแยบคาย |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้าแสนแง่แสงอนใจหาย |
ไม่ควรจะเคืองขุ่นวุ่นวาย | ตีโพยตีพายพาโลเงาะ |
พี่เสี่ยงแสร้งแปลงมาทำบ้าใบ้ | ถ้าแม้นใครเปนคู่ก็ดูเหมาะ |
แม้นไม่เคยอุปถัมภ์จำเภาะ | ก็เย้ยเยาะยิ้มหัวว่าชั่วช้า |
ซึ่งสวมรูปเงาะป่ามานี้ไซ้ | หวังจะให้น้องคิดปฤษณา |
เจ้าก็ปลงถูกแล้วณแก้วตา | จึงรู้ว่าเงาะงามเปนรูปทอง |
อย่าบิดเบือนเชือนเฉยอยู่เลยเจ้า | จูงนางย่างเข้าไปในห้อง |
นั่งแอบแนบเนื้อนวลลออง | เลียมลองโลมเล้าเคล้าคลึง |
อะไรเฝ้าฮึดฮัดปัดมือ | รำคาญวานอย่าดื้อไปน่อยหนึ่ง |
ว่าพลางทางกระหวัดรัดรึง | จะร้องอึงก็ร้องเถิดน้องรัก |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ น้อยเอยน้อยใจ | นี่อะไรรุกรานหาญหัก |
ข่มเหงคเนงร้ายน่าอายนัก | นางค้อนควักชักหน้าแล้วว่าไป |
น้องยังเคลือบแคลงไม่แจ้งความ | อย่าวู่วามลามลวนหาควรไม่ |
นามวงศ์พงศ์ประยูรอย่างไร | ประหลาดเหลือเชื้อไพร่ฤๅผู้ดี |
ไม่บอกไม่เล่าเฝ้าแอบอิง | แม้นรักจริงนิ่งอยู่อย่าจู้จี้ |
จะหยิกให้ขาเขียวประเดี๋ยวนี้ | อะไรนี่ไม่เสงี่ยมเลียมและ |
ยิ่งว่าให้นิ่งเหมือนยิ่งยุ | ดูดุ๋น่าตีเล่นดีแหละ |
จงแถลงแจ้งความให้งามแงะ | อย่าเหลาะแหละลวงหลอกเร่งบอกมา |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ยอดเอยยอดมิ่ง | จะแจ้งความตามจริงไม่มุสา |
ตัวพี่นี้หน่อกระษัตรา | นามกรชื่อว่าพระสังข์ทอง |
แถลงเล่าแต่ต้นไปจนปลาย | บรรยายตามเรื่องที่เคืองข้อง |
เปนความในใจพี่เช่นนี้น้อง | นวลลอองอย่าแหนงแคลงใจ |
ว่าพลางทางถดเข้าชิด | จะอายเอียงเบี่ยงบิดไปข้างไหน |
ยื้อยุดฉุดชักชายสไบ | คว้าไขว่สัพยอกหยอกเย้า |
ช่างหยิกข่วนไปได้เหมือนไม่เจ็บ | ข่มเหงนักหักเล็บเสียดอกเจ้า |
ดีจริงยิ่งว่ายิ่งหยิกเอา | เบาเบาอุยหน่าไม่ปรานี |
พระอุ้มองค์อรไทยขึ้นใส่ตัก | อะไรเล่าเฝ้าผลักมือพี่ |
ความรักรัญจวนยวนยี | เปรมปรีดิ์ประดิพัทธกำหนัดนาง |
อัศจรรย์บันดาลในกลางหาว | เดือนดาวส่องแสงแจ้งกระจ่าง |
เย็นซาบอาบลอองน้ำค้าง | ค่อยสระสร่างเศร้าหมองทั้งสองรา |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โลมพิณพาทย์
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | รจนาเยาวยอดเสนหา |
นั่งแนบแอบองค์ภัศดา | จำนรรจาพาทีซี้ซิก |
ที่ทุกข์ร้อนผ่อนผันบันเทา | นงเยาว์ยิ้มเหยาะหัวเราะหริก |
พระอุ้มขึ้นใส่ตักนางผลักพลิก | ทำกระบวนข่วนหยิกด้วยมารยา |
แลสบหลบเนตรภูวไนย | สเทินใจอายเอียงเมียงหน้า |
แย้มสรวลยวนยีปรีดา | กัลยานิยมสมคิด |
แสนสมัครักใคร่ใหลหลง | ด้วยรูปทรงเปนทองต้องจิตร |
ท่อยทีบรรธมชมชิด | แนบสนิทนิทราในราตรี |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
เชยชมสมสวาดิด้วยเทวี | ในที่กระท่อมทับลับแลง |
ครั้นประจุไสมยไก่ขัน | สุริยันเรืองรองส่องแสง |
เอารูปเงาะสวมองค์ทรงแปลง | หวังมิให้ใครแจ้งความใน |
แล้วว่าแก่รจนานงลักษณ์ | น้องรักผู้ยอดพิศมัย |
เราผัวเมียสองคนจนใจ | มาจะไปหาหุงโภชนา |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาโศกศัลย์รำพรรณว่า |
น้องนี้แต่กำเนิดเกิดมา | จะหุงเข้าหุงปลาก็ไม่เคย |
แต่ก่อนร่อนชะไรอยู่ในวัง | วิเสศหามาตั้งให้เสวย |
ไม่เข้าเนื้อเข้าใจอย่างไรเลย | อกเอ๋ยมีกรรมก็จำเปน |
ว่าพลางนางทรงโศกี | ครั้งนี้ยากแค้นแสนเข็ญ |
ดังหนึ่งเลือดตาจะกระเด็น | จำเปนจำใจออกไปพลัน |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน |
ครั้นโพล้เพล้เพลาสายัณห์ | สองราพากันเข้าในทับ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงถอดเงาะออกเสียให้เมียเห็น | รูปเปนทองอร่ามงามสรรพ |
เอารูปเงาะซ่อนไว้ให้ลับ | แล้วกลับมานั่งสั่งสนทนา |
อิงแอบแนบชิดสกิดเกา | สัพยอกหยอกเย้าขนิษฐา |
เชยแก้มแนมปรางปรีดา | สรวลสันต์หรรษาพาที |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รจนาแน่งน้อยนวลศรี |
พลางชอ้อนวอนว่ากับสามี | จงปรานีน้องเถิดอย่าทรงเงาะ |
ผู้คนทั้งปวงไม่ล่วงรู้ | ให้เขาดูถูกเล่นช่างเห็นเหมาะ |
น้องว่าก็ไม่เชื่อนี่เนื้อเคราะห์ | กลับจะมาหัวเราะน่าขัดใจ |
นางนิ่งนึกตรึกแล้วตรึกเล่า | จะลักรูปเงาะเผาเสียให้ได้ |
จึงปูปัดฟูกหมอนที่นอนใน | ชวนให้ทรงธรรม์บรรธม |
แล้วนั่งนวดฟั้นคั้นบาทา | คลี่ผ้าของตัวให้ผ้าห่ม |
ปรนนิบัติพัดวีโบกลม | นงเยาว์นิยมสมปอง |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์เชยชมสมสอง |
อิงแอบแนบเนื้อนวลละออง | กรตระกองน้องแก้วแล้วหลับไป |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | รจนานารีศรีใส |
คิดจะลักรูปเงาะภูวไนย | นางมิได้สนิทนิทรา |
เห็นพระหลับใหลไม่ไหวองค์ | โฉมยงยินดีเปนหนักหนา |
ค่อยขยายยกหัดถ์ภัศดา | ขยับตัวออกมาเอาหมอนรอง |
ฟากลั่นเกรียบเกรียบเหยียบย่าง | มืดไม่เห็นทางถลำล่อง |
ลุกขึ้นลดเลี้ยวเที่ยวมอง | หาเงาะในห้องกระท่อมทับ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงเร็ว
๏ ครั้นเห็นหิ้วหัวมาครัวไฟ | ฉวยพร้าโต้ใหญ่เข้าเสี่ยงสับ |
ฟันซ้ำร่ำไปมิได้นับ | รูปเงาะไม่ยับยิ่งขัดใจ |
เหน็ดเหนี่อยเมื่อยแขนสิ้นแรงเรี่ยว | ทุดช่างหนังเหนียวน่ามันไส้ |
นางโกรธหาฟืนมาก่อไฟ | เอารูปเงาะเข้าใส่ในอัคคี |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ แล้วฉวยเอาพร้ามาสับซ้ำ | นางทำร้อยอย่างร้อยสี |
อ้ายเงาะสัประดนทนสิ้นที | เผาจี่เท่าไรไม่ไหม้มัน |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์หลับใหลใฝ่ฝัน |
ลเมอกอดหมอนข้างพลางสำคัญ | คิดว่าเมียขวัญอยู่แนบนอน |
ลืมตาคว้าไขว่ไปเปนครู่ | จึงรู้ตระหนักแน่อุแม่หมอน |
แลดูโฉมยงองค์บังอร | ไม่เห็นนอนในมุ้งสดุ้งใจ |
ลุกขึ้นมองหาละล้าละหลัง | ไม่เห็นทั้งเงาะทรงยิ่งสงไสย |
เห็นแสงเพลิงสว่างข้างครัวไฟ | ตกใจออกมาเที่ยวหาเมีย |
เห็นนงเยาว์เผาเงาะเอาไฟสุม | จึงตักน้ำในตุ่มมาดับเสีย |
แล้วว่าน่าชังช่างทำเยีย | ชิงเงาะเทลาะเมียมี่ไป |
ดูดู๋ยังดื้อเข้ายื้อคร่า | ยิ่งว่าแล้วยังหาฟังไม่ |
จะเอาเงาะของเขาไปเผาไฟ | ทำได้ไม่เกรงข่มเหงกัน |
ฤๅเจ้าชอบใจจะใส่เล่น | จะได้เปนนางเงาะเหมาะขัน |
นอกรีดน้อยฤๅมือคันคัน | จะใคร่รันเข้าสักผางนางคนดี |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ ทรงเอยทรงฤทธิ์ | ชอบผิดจะรับใส่เกษี |
แม้นไม่เมตตาจะฆ่าตี | น้องนี้จะสู้ม้วยมุด |
พระสวมเงาะร้ายขายหน้าเมีย | จะชิงเอาเผาเสียให้สิ้นสุด |
ถึงพระเรี่ยวแรงจะแย่งยุด | ผิดชอบแขนหลุดไม่วางมือ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ น่าเอยน่าหัวเราะ | เก้อแล้วนี่เงาะของเจ้าฤๅ |
กลับเถียงเสียงแขงเข้าแย่งยื้อ | เอออะไรใจดื้อจริงจริงเจียว |
ถึงเจ้ามิให้ก็ไม่ฟัง | น่าชังน้อยฤๅนางมือเหนียว |
ฮึดฮัดขัดเขมนเปนเกลียว | แย่งยุดฉุดเหนี่ยวกันไปมา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ชิงรูปเงาะได้ใส่สวมองค์ | ทำก้มลงหลอนหลอกกลอกหน้า |
ตบมือเย้ยหยันกัลยา | แล้วคืนเข้าเคหาห้องนอน |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางรจนาดวงสมร |
จึงตามมางอนง้อขอโทษกร | วิงวอนสามีพิรี้พิไร |
น้องได้ผิดพลั้งแต่ครั้งหนึ่ง | จะพิโรธโกรธขึ้งไปถึงไหน |
ผัวเมียสองคนจนไร้ | ชั่วดีก็ได้เห็นหน้ากัน |
ถ้าทีหลังยังขืนทำเช่นนี้ | จงทำโพยโบยตีให้อาสัญ |
ว่าพลางนางเข้าไปนวดฟั้น | หลังไล่ไหนคันจะช่วยเกา |
ยื่นมือมาจี้ที่สีข้าง | จะหย่าร้างกันจริงเจียวฤๅเจ้า |
เอนอิงพิงทับลงกับเพลา | ถอนหนวดถอนเคราให้เจ้าเงาะ |
แล้วหยิบหมากมาป้อนวอนขอชาน | เคี้ยวประทานสักคำทำปะเหลาะ |
ยียวนชวนผัวให้หัวเราะ | แสร้งออเซาะสรวลสันต์จำนรรจา |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ เมื่อนั้น | เจ้าเงาะยิ้มพลางทางว่า |
ทีนี้พี่จะอดนางรจนา | แม้นถ้าทีหลังไม่ฟังกัน |
นี่หากว่ารักเจ้าอักโข | จึงสู้ดับโมโหไม่หุนหัน |
ว่าพลางเชยชิดติดพัน | ท่อยทีดีกันดังใจจง |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระสังข์ตั้งแต่วันนั้นมา | ไม่ไว้ใจรจนานวลหง |
เอารูปเงาะศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรงค์ | สวมองค์ทรงใส่ไว้อัตรา |
เช้าค่ำพร่ำสอนสั่งเสีย | ให้เมียปั่นฝ้ายทอผ้า |
เจ้าเงาะหัดตีกรับขับเสภา | รจนาปั่นฝ้ายสบายใจ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
บทเสภาเจ้าเงาะขับ[๑]
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท | สบายจิตรชื่นชมประสมสอง |
นั่งอยู่ด้วยกันกับวันทอง | ที่ร่มไทรในห้องอรัญวา |
ให้วิเวกอ้างว้างอยู่กลางดง | ตวันบ่ายชายลงลับเหลี่ยมผา |
ลมพัดเรื่อยเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยมา | ดอกไม้ป่าหอมหวนชวนชื่นใจ |
รวยระรินกลิ่นพุดทิชาดชื่น | รื่นรื่นลำดวนดกดอกไสว |
เรไรร้องหริ่งหริ่งที่กิ่งไทร | เสียงลองไนให้เสนาะเพราะสำเนียง |
แจ้วแจ้วจักรจั่นสนั่นป่า | ดังซอสีปี่ชวาวังเวงเสียง |
สกุณาพาคู่เข้ารังเรียง | ขุนแผนเคียงข้างน้องประคองเชย |
ตัวพี่กับรจนามาได้แค้น | เหมือนขุนแผนกับวันทองเจียวน้องเอ๋ย |
อยู่กระท่อมตรอมใจไม่เสบย | กระไรเลยอนิจาช่างอาภัพ |
เคยนอนเตียงเสียงประโคมด้วยแตรสังข์ | มาตกไร้ได้ฟังแต่เสียงกรับ |
พลางอิงแอบแนบน้องในห้องทับ | ถนอมรับขวัญให้เข้าไสยา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ