- คำนำ
- ๒๘๗ ประกาศขนานนามพระพุทธปฏิมากรประจำรัชกาล
- ๒๘๘ ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามไม่ให้บวชกุลบุตรอายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร
- ๒๘๙ ประกาศเรื่องให้สึกพระสงฆ์สามเณรที่สูบฝิ่น
- ๒๙๐ ประกาศให้เรียกชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ให้เรียกว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
- ๒๙๑ ประกาศให้ทำบาญชีพระสงฆ์สามเณรที่เปนช่างทองและช่างอื่นๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๒๙๒ ประกาศให้พระสงฆ์บูชาพระแก้วมรกฎในเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ
- ๒๙๓ ประกาศเรื่องภิกษุสามเณรรักใคร่ผู้หญิงจนถึงเปนปาราชิก ให้มาลุกะโทษ จะยกโทษให้
- ๒๙๔ ประกาศห้ามไม่ให้เอาแผงไม้ไผ่ จาก, มาทำเปนพะเพิงในพระอารามหลวง
- ๒๙๕ ประกาศห้ามไม่ให้ชักสื่อแลชวนภิกษุสามเณรประพฤติอนาจาร
- ๒๙๖ ประกาศให้ใช้คำว่าฉศกแทนฉ้อศก
- ๒๙๗ ประกาศห้ามมิให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิงมาพูดที่กุฎี
- ๒๙๘ ประกาศเรื่องพระราชาคณะ ถานา เปรียญ สึกมากเกินไป จะต้องเข้าเดือนทำการพิมพ์
- ๒๙๙ ประกาศเรื่องให้สำรวจคฤหัสถ์อาศรัยวัด
- ๓๐๐ ประกาศว่าด้วยวิธีคิดอธิกมาศ
- ๓๐๑ ว่าด้วยวันธรรมสวนะ
- ๓๐๒ ประกาศวิธีบอกศักราช
- ๓๐๓ คำประกาศเรื่องปวารณา
- ๓๐๔ พระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา
- ๓๐๕ ประกาศว่าด้วยพระอาทิตย์ถึงดาวฤกษ์อัสยุชก็เปนมหาสงกรานต์
- ๓๐๖ ประกาศเรื่องพัชวาลวิชนี
- ๓๐๗ ประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี
- ๓๐๘ ประกาศใช้คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์
- ๓๐๙ ประกาศให้ใช้คำต่อแลคำตาย
- ๓๑๐ ประกาศให้คงใช้คำที่เรียกภูษามาลาแลวัดพนัญเชิง
- ๓๑๑ ประกาศให้เรียกคลองผดุงกรุงเกษมแลถนนเจริญกรุง
- ๓๑๒ ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร
๓๐๓ คำประกาศเรื่องปวารณา
ข้าพระพุทธเจ้าผู้รับพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทนุบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้อยู่เย็นเปนสุขทุกทั่วหน้า ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ได้ทรงสร้างพระอุโบสถวิหารเสนาสนให้ประณีตงาม แลได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถาคารเสนาสนที่ชำรุด ให้คืนเปนปรกติดีสมควรเปนสถานที่พระสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรมตามพระพุทธบัญญัติ แต่ฝ่ายพระสงฆ์บรรพษัทประพฤติการโลเลเปนอลัชชีไปเสียมาก ไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมเลยก็มี ทำปีละ ๑ ครั้ง ๒ ครั้งก็มีบ้าง ที่ไม่ทำมากกว่าทำ ได้ทรงทราบหนังสือทิ้งถวายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใจความว่าทุกวันนี้เปนกาลปลายพระพุทธสาสนาล่วงไปมาก พระสงฆ์ประพฤติอนาจารการทุจริต เห็นแก่ลาภสักการโลกามิศหนักไปในความสุขในปัตยุบันถ่ายเดียว ไม่เหลียวต่อวินัยบัญญัติพุทธานุญาต ละเลยทอดทิ้งอุโบสถสังฆกรรมเสียมาก ถึงบางพวกทำอยู่บ้างก็สวดพระปาฏิโมกข์ไม่จบ สวดเพียงสังฆาทิเสสบ้างอนิยตบ้าง อ้างเลศอันตรายต่างๆ แล้วเลิกเสียบ้าง ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประสาทเลื่อมใส บริจาคพระราชทรัพย์ทรงพระราชอุทิศไปในพระสาสนาเปนอันมาก หวังจะให้เปนกำลังแก่พระสงฆ์ อันจะดำรงพระพุทธสาสนาให้ถาวร เปนประโยชน์ยืดยาวไปนานแก่ราษฎรประชาชนภายหน้า ขอพระบารมีปกเกล้าฯ ทรงเห็นแก่พระพุทธสาสนาให้มาก อย่าให้พระพุทธสาสนาเสื่อมสิ้นเสียโดยเร็วเลย ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบเรื่องความหนังสือทิ้งคิดสังเวชพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้เผดียงถามพระราชาคณะ ถานานุกรมเปรียญดังคำที่ในหนังสือทิ้งนั้น พระราชาคณะถานานุกรมรับว่า กาลเปนปลายพระพุทธสาสนาเรียวลงมาถึงเพียงนี้แล้ว จะสวดพระปาฏิโมกข์ให้จบไม่ได้ ด้วยพระปาฏิโมกข์ฟั่นเฝือนัก จะเปนอันตู่พระพุทธวจนะไป บางพวกอ้างว่าท่านผู้ใหญ่ที่เปนครูอาจารย์ทำมาอย่างนั้น จะสวดให้จบไม่ได้ จะผิดแบบครูอาจารย์ไม่ควรไป แล้วมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้สืบดูว่าวัดไหนทำอุโบสถบ้าง วัดไหนไม่ทำบ้าง ได้ทราบว่าวัดราชบุรณ วัดราชสิทธาราม วัดสมอราย วัดสัมพันธวงศาราม วัดโมฬีโลกย วัดปากน้ำ ๖ วัดนี้ แลวัดที่ขึ้นอยู่ในพระอารามนั้นๆ ได้ทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เสมอทุกวันอุโบสถ จึงทรงพระดำริห์ว่า ในพรรษาพระสงฆ์ไปเที่ยวเทศนาวันละ ๙ แห่ง ๑๐ แห่ง มิได้คิดแก่ความยากลำบาก ฤๅเที่ยวบังสกุลหาลาภสักการ ถึงจะบุกน้ำลุยโคลนกรำฝนทนแดด ก็อุสาหไปได้ไม่กลัวเหนื่อย แต่ซึ่งจะกระทำอุโบสถสังฆกรรมอยู่ในวัด เปนการไม่สู้ลำบากนักนั้นพระสงฆ์ไม่เอาเปนธุระเลย เห็นเปนความลำบากเพราะไม่ได้ลาภสักการ จึงได้ทรงพระราชอุทิศกระจาดพระปาฏิโมกข์ ให้ถวายพระสงฆ์ที่สวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ วันอุโบสถ ให้เปนกำลังล่อให้อุโบสถสังฆกรรมเปนไปในพระสาสนา ธรรมเนียมนั้นติดต่อมาจนถึงกาลบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระรำถึงถึงการปวารณาซึ่งพระสงฆ์ทำอยู่ทุกพระอาราม ทั้งฝ่ายในกรุงนอกกรุงแก่งแย่งมิได้ถูกกัน ลางวัดปวารณาพร้อมกันทั้งหมดบ้าง ลางวัดปวารณาทีละองค์บ้าง ไม่อาจเข้าพระทัยว่าอย่างไรจะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติเปนแท้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งเจ้าพนักงาน ให้ตรวจตราดูทุกพระอารามๆ ใดปวารณาทีละองค์ จะพระราชทานอุทิศถวายกระจาดปาฏิโมกข์ แลพระราชทานเงินค่าเลี้ยงพระสงฆ์องค์ละ ๒ สลึง แลจับฉลาก ในพระอารามใดปวารณาพร้อมกันจะขอยกเสียไม่ให้ถวาย เพราะทรงพระราชอุทิศแต่ในพระสงฆ์ซึ่งทำตามพระวินัยบัญญัติ ด้วยทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ซึ่งกระจาดปาฏิโมกข์ที่ถวายไปในพระอารามนั้นๆ ก็ได้เปนส่วนของภิกษุผู้สวดพระปาฏิโมกข์ก็ชอบแล้ว แต่ในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำนี้ เปนวันปวารณา พระสงฆ์ทุกๆ พระอารามมิได้ทำอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ เปนแต่ตั้งญัตติกรรมวาจาน้อยหนึ่งแล้วก็ทำปวารณาแก่กันเท่านั้น จึงได้ขอยกเงินตรา๒ ชั่ง ๔ ตำลึง ๓ บาท ที่ถวายแทนกระจาดปาฏิโมกข์ ในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในพระอารามนั้นๆ เสียให้สิ้น มาให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อยมาสนองพระเดชพระคุณ ทำสำรับคาวหวานคิดราคา ๒ สลึง ฉลองบูชาความอุสาหปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ ที่ทำปวารณาทีละรูปๆ ทั้งกรุงเทพฯ กรุงเก่า ๔๑ อาราม พระสงฆ์ ๑๔๖๐ รูป เงินยกจากกระจาดปาฏิโมกข์ไม่พอ จึงพระราชทานเงินในท้องพระคลังเติมอีก คิดทั้งเงินกระจาดปาฏิโมกข์ด้วย เปนเงิน ๙ ชั้ง ๒ ตำลึง ๒ บาท พระราชทรัพย์ซึ่งพระราชทานพระสงฆ์ที่ทำปวารณาทีละรูปในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สิ้นไปถึงเพียงนี้ ด้วยทรงพระมหากรุณาพระราชหฤทัยประสงค์จะทรงทนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาให้เจริญดำรงอยู่นาน ขอพระสงฆ์ทั้งปวงจงอนุโมทนา ตั้งไมตรีจิตรต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่กุศลซึ่งได้สั่งสมด้วยการเล่าเรียนศึกษา แลปฏิบัติต้องตามพระธรรมวินัยนั้น ถวายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเจริญสิริสวัสดิ์สถาพร ดำรงในสิริราชสมบัติสิ้นกาลนาน แลให้พ้นศัตรูหมู่ปรปักษ์ไพรีอันเหี้ยมหาญ ให้พ่ายแพ้แก่พระราชวรฤทธิ์ ให้พระเกียรติยศแผ่ไพศาลทั่วทุกทิศานุทิศ ดังบรมจักรพรรดิจาตุรันตบพิตรบรมราชาธิราชฉนั้น ขอพระสงฆ์ทั้งปวง จงดำรงในคำข้าพระพุทธเจ้าประกาศนี้เทอญ