๓๐๐ ประกาศว่าด้วยวิธีคิดอธิกมาศ

อธิกมาศนั้นใน ๑๙ ปีมี ๗ ครั้งจำไว้ให้มั่น อย่าหลงไหลว่า ๓ ปีมีหนหนึ่ง ถือตามธรรมเนียมเมือง ปีมีอธิกมาศเดือนแปดเปนสองหน ตั้งระยะ ๑๙ ปี จำชื่อปีศักราชไว้ให้มั่น ในชั่วอายุคนที่เรารู้จัก เปนปู่ย่าตายายของเรามา คือนับแต่ปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๐๙๓ มาจนถึงปีมะเสงเอกศกจุลศักราช ๑๑๑๑ เปนสิบเก้าปีระยะหนึ่ง แต่ปีมะเมียโทศกจุลศักราช ๑๑๑๒ มาจนถึงปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๒ ตั้งแต่ปีฉลูเอกศกจุลศักราช ๑๑๓๑ มาจนถึงปีมะแมนพศกจุลศักราช ๑๑๔๙ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๓ ตั้งแต่ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ มาถึงปีขาลอัฐศกจุลศักราช ๑๑๖๘ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๔ ตั้งแต่ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ มาจนถึงปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ เปน ๑๙ ปีระยะหนึ่งเปนที่ ๕ ตั้งแต่ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ มาจนถึงปีมะโรงฉศก จุลศักราช ๑๒๐๖ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๖ ตั้งแต่ปีมะเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ มาจนถึงปีกุญเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๗ ตั้งแต่ปีชวดฉศกจุลศักราช ๑๒๒๖ ไปจนถึงปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๘ ตั้งแต่ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ ไปจนถึงปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๒๖๓ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๙ ตั้งแต่ปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๖๔ ไปจนถึงปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๘๒ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๑๐ ตั้งแต่ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๘๓ ไปจนถึงปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๓๐๑ เปน ๑๙ ปีอีกระยะหนึ่งเปนที่ ๑๑

ในระยะๆ เหล่านี้ได้นับแต่ปีต้นระยะไปถึงปี ที่สาม ที่หก ที่เก้า ที่สิบเอ็ด อย่าว่า ที่สิบสอง ที่สิบสี่ ที่สิบเจ็ด ที่สิบเก้า เปนปีมีอธิกมาศทุกระยะเหมือนกัน ถ้าจะทำให้สั้นๆ ให้เล่าไว้ว่า ๓๓, ๓๒, ๓๓๒, เปนอธิกมาศ๗ หนแล แต่เมื่อคิดอย่างนี้เปนการหยาบ นักษัตรฤกษ์พระจันทรวันเพ็ญ มักคลาดไปหลายๆ เดือน ถ้าจะคิดให้ถูกนักษัตรฤกษ์ตามอธิกมาศต้องให้รู้ว่า ปีปลายระยะก่อนปีต้นระยะที่ออกชื่อมานั้น ตั้งแต่ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๐๙๒ นั้นลงมา ปีปลายระยะปีที่ออกชื่อแล้วทั้งปวง คือปีมะเสงเอกศก ปีชวดสัมฤทธิศก ปีมะแมนพศก ปีขาลอัฐศก ปีระกาสัปตศก ปีมะโรงฉศก ปีกุญเบ็ญจศก ปีมะเมียจัตวาศก ปีฉลูตรีศก ปีวอกโทศก ปีเถาะเอกศก ปีเหล่านี้เดือนแปดทุติยาสาฒ เปนเดือนอธิกมาศแท้ตรงทีเดียว กับเดือน ๙ หน้าเดือนนั้นไป๓๓ เดือนตกสุดเพียงเดือน ๕ คงชื่อเดิม เดือนที่ ๓๔ ซึ่งเรียกว่าเดือน ๖ นั้นเปนเดือนอธิก คือเปนเหมือนเดือน ๕

เดือนอธิกยกเสียไม่นับ นับแต่เดือนที่เปนหน้าเดือนเดือนนั้นไม่นับ นับแต่หน้าเดือนนั้นไป ๓๓ เดือนตกสุดเดือน ๑๒ สองหน เดือนนั้นยกเสียไม่นับ นับแต่หน้าเดือนนั้นไป ๓๒ เดือนอีก ตกเดือน ๘ ปฐมาสาฒ เดือน ๘ ทุติยาสาฒนั้นเปนเดือนอธิก คงที่ตามปีสุดระยะแล ถ้าจะเล่าให้สั้นๆ ก็ให้เล่าว่า ๓๓, ๓๓, ๓๒, ๓๓, ๓๒, ๓๓, ๓๒ เปนระยะอย่างนี้ แลให้เล่าชื่อเดือน ๘ สองหน ๕ สองหน ยี่สองหน ๑๐ สองหน ๗ สองหน ๓ สองหน ๑๒ สองหน แล้วกลับ ๘ สองหนอีก คิดไปอย่างนี้อย่าหลงอย่าลืมแล้วใช้ไปได้นานถึง ๘๐๐ ปี แต่ประจวบ ๘๐๐ ปีฤๅ ๑๖๐๐ ปีฤๅ ๒๔๐๐ ปีจะต้องแก้วางระยะเสียใหม่ แต่อย่าให้ว่าเลยเกินอายุไป เพราะ ๘๐๐ ปีคลาด ๑๐ วัน ๑๖๐๐ ปีคลาด ๒๐ วัน ๒๔๐๐ ปีคลาด ๓๐ วัน แต่ไม่ตรงแท้ ต้องตรวจให้แน่จึงแก้ได้ ฤๅจะให้ว่าแต่สั้นคือว่าถึง ๘๐๐ ปีแล้ว ให้เอาระยะที่ควรจะเปน ๓๓, ๓๓, ๓๒ นั้นเอาเปนแต่ ๓๓, ๓๒ ซ้ำเข้าแล้วตั้ง ๓๓, ๓๓, ๓๒ ไปใหม่ ถ้าได้แก้ใน ๘๐๐ ปีเศษเสมอไปได้ทุกคราวอย่างนี้เปนดี ถ้างมงายอยู่จนถึง ๑๖๐๐ ปี จะต้องแก้เปนสองซ้ำใกล้ๆ กัน ถ้างมงายอยู่จนถึง ๒๔๐๐ ปีมาศเกณฑ์เกินขึ้นถึงเดือนหนึ่ง เมื่อนั้นจะได้แก้ในปีที่ไม่มีอธิกมาศ ก็วางอธิกมาศลอยลงเดือนหนึ่ง จนอธิกมาศสองปีติดกันก็ได้ ฤๅทำอย่างนั้นจะเปนที่ตกใจว่าผิดไป แก้หนุนในปีที่สอง เช่นว่าก่อนเปนสามซ้ำก็ได้ ฤๅในลัทธิละเอียดนี้ต้องเลื่อน ๓๓, ๓๒, เข้าให้ต้องชอบด้วยนักษัตรฤกษ์วันเพ็ญ ถ้าเห็นจะคลาดไปก็ให้แก้ตามสมควร ตรวจหน้าหลังให้ต้องกัน อนึ่งปีใดเว้นปีเดียว มีอธิกมาศอีก ปีนั้นวิสาขบูชาคงเดือน ๖ ปีใดเว้นสองปีแล้วจึงมีอธิกมาศ ปีนั้นวิสาขบูชาอยู่กลางเดือน ๗ ว่าด้วยลักษณะอธิกมาศนี้ เพื่อจะให้รู้ง่ายๆ ด้วยกันทั้งตามธรรมเนียมแลการละเอียด เพื่อจะให้ถูกนักษัตรฤกษ์ แลประการหนึ่ง ในปีที่มีอธิกมาศตกในฤดูฝน คือเดือน ๑๐ สองหน แลเดือน ๑๒ สองหนนั้น ตำราโบราณฉบับหนึ่งท่านว่าไว้ ว่าจะยกเอาอธิกมาศที่ควรจะวางปีหน้าต่อนั้นไปมาวางเสียในปีนั้น ถึงวันเพ็ญเดือน ๘ พระจันทร์เพ็ญอยู่ในนักษัตรฤกษ์บุรพาสาฒ อุตราสาฒ วันแรมค่ำหนึ่งควรเปนวันเข้าพรรษาได้อยู่ ก็เอาเดือนนั้นให้เปนเดือน ๘ ปฐมาสาฒ เอาเดือน ๙ เปนทุติยาสาฒ ถึงฤกษ์วันเพ็ญเปนสามวัน แรมค่ำหนึ่งต่อนั้นมา พระสงฆ์ก็เข้าพรรษาได้เปนปัจฉิมพรรษา ถ้าได้เข้าปัจฉิมพรรษาในปีนั้น พวกนั้นก็จะได้จีวรกาลในเดือนที่เปนปลายฤดูฝนมีที่สุดในวันเพ็ญที่มีพระจันทร์เสวยฤกษ์กติกา ปีนั้นพระสงฆ์เข้าปุริมพรรษาในวันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๘ ก็ควร แต่จะไม่ได้จีวรกาล เพราะออกพรรษาแล้วยังไม่ถึงเดือนที่สุดฤดูฝน อธิกมาสเช่นนี้เรียกในตำราว่า อาคมิญญาธิกมาศ เรียกในบาลีว่าวัสสุกัฑฒนัง มีในวัสสิกสาฏิกาสิกขาบทวิภังค์แลวัสสูปนายิกขันธ์ แต่พวกชาววัดไม่รู้จักอะไรข้างทางพระอาทิตย์พระจันทร์ ก็งุ่มง่ามถือเอาคำว่าวัสสุกัฑฒนั้น แปลว่าอธิกมาศสามัญ กาลทุกวันนี้จึงไม่ได้ถือได้ทำ ถึงจะประกาศให้ทำก็กลัวแล้วจะไม่มีใครเชื่อ ถึงพระสงฆ์พวกธรรมยุติกาแสวงหาว่าจะทำให้ถูกสาสนาแล้ว ก็ยังงมงายอยู่ไม่ใคร่จะเงี่ยหูฟัง ไม่สังเกตสังกา ที่จริงนั้นเรื่องนี้ทั้งบาลีแลตำรามีร่วมกัน เมื่อตริตรองโดยละเอียดแล้วควรจะเห็นจริงด้วยได้ คำว่าวัสสุกัฑฒนังนั้นจะมาแปลว่าอธิกมาศสามัญไม่ถูกเลยจริงๆ ไม่สมกับความที่ว่าในบาลีวัสสิกสาฏิกาสิกขาบทวิภังค์ แลนิทานหนึ่งในวัสสูปนายิกขันธ์นั้นเลย พิเคราะห์ดูความให้เห็นแท้แน่เถิด

ถึงตำราอาคมิญญาธิกมาสนั้น ก็มิใช่เปนตำราภาษาไทยใหม่ๆ ที่แต่งกัน เปนคาถาภาษาสังสกฤตของโบราณแท้ทีเดียว ขอท่านผู้เปนนักปราชญ์แท้ ไม่แต่ผู้แส่โลกามิศจงสืบดูให้รู้ แลคิดพิจารณาให้เข้าใจความเถิด

อธิกมาศนี้เปนของสำหรับปีสำหรับเดือน ประจำโลกมานานก่อนพุทธกาล ถ้าจะไม่มีแล้วนับปีเดือนฤดูก็จะเคลื่อนคลาดไปหมด แต่วัสสุกัฑฒนี้เปนของมีขึ้นในพุทธกาล ด้วยพระราชดำริห์สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารเจ้ามคธราฐ คิดทรงประกาศให้อนุโลมแก่พระวินัยบัญญัติเพื่อเปนประโยชน์แก่พระสงฆ์ จะให้ได้จีวรลาภสมควรแก่พระพุทธบัญญัติ ในจีวรกาลแลวัสสูปนายิกกาล ไม่เปนของตามทางพระอาทิตย์พระจันทร์ ผู้กล่าวดังนี้เห็นความเปนแน่แล้ว ผู้อ่านอย่าว่าผู้กล่าวเสียจริตเลย ดูบาลีดูตำราเถิดอย่าเชื่อคำคนงมงายนัก ตำราอธิกมาศอย่างอื่นๆ ก็มีมาก แต่เปนการไม่ได้ใช้ จะว่าไปก็ไม่ต้องการ ว่าแต่เพียงเท่าที่ว่านั้น ก็เห็นว่าพออยู่แล้ว ที่จะสังเกตล่วงหน้าตลบหลังไปได้นาน เมื่อต้องการข้างหยาบสำหรับบ้านสำหรับเมือง จะเรียกชื่อเดือนก็ให้เอาลักษณที่ว่า ๓๓, ๓๓, ๓๒, ๓๓, ๓๒, ๓๓, ๓๒, คือปีที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ ที่ ๑๙ ตามระยะ ฤๅถ้าจะจำระยะไม่ได้ สงสัยว่าปีไหนมีอธิกมาศฤๅไม่มีอธิกมาศ ให้ตั้งจุลศักราชปีนั้นลง เอา ๘ ลบเสีย เอา ๑๙ หาร ได้เศษสูญก็ดี ๓ ก็ดี ๖ ก็ดี ๙ ก็ดี ๑๑ ก็ดี ๑๔ ก็ดี ๑๗ ก็ดี เศษ ๖ อย่างกับสญเปน ๗ อย่างนี้มีในปีใดปีนั้นเปนปีมีอธิกมาศ เปนแปดสองหน เศษนอกนี้ เปนปีปรกติ ถ้าจะรู้โดยละเอียดเพื่อจะให้ถูกนักษัตฤกษ์ ก็ให้ดูเอาลักษณที่นับว่า ๓๓, ๓๓, ๓๒, ๓๓, ๓๒,๓๓, ๓๒ นั้นเถิด ถ้าจำระยะไม่ได้ ว่าจะนับมาแต่ไหน ก็ให้ตั้งจุลศักราชปีนั้นลงเอา ๘ ลบ เอา ๑๙ หารถ้าได้เศษสูญ นับต้นตั้งแต่เดือน ๙ ปีนั้นไป ถ้าเศษไม่สูญก็นับปีถอยหลังแต่ปีนั้นเข้าไปหาปีที่มีเศษสูญ แล้วนับแต่หน้าเดือน ๙ ต้นปีนั้นไป ๓๔ เดือน เอาเดือนที่ ๓๔ เปนอธิกมาศ แล้วนับแต่หน้าเดือนนั้นไปอีก ๓๔ เดือน ผสมเปน ๖๘ เดือนแต่แรกนับ เดือนที่ ๖๘ เปนอธิกมาศ แล้วนับแต่หน้าเดือนนั้นไปอีก ๓๓ เดือน เปน ๑๐๑ เดือน เดือนที่ ๑๐๑ เปนอธิกมาศ แล้วนับแต่หน้าเดือนนั้นไปอีก ๓๔ เดือน รวมแต่แรกนับมาเปน ๑๓๕ เดือน เดือนที่ ๑๓๕ เปนอธิกมาศ แล้วนับต่อไปอีก ๓๓ เดือน รวมเปน ๑๖๘ เดือน เดือนที่ ๑๖๘ เปนอธิกมาศ แล้วนับต่อไปอีก ๓๔ เดือน เปน ๒๐๒ เดือนแต่ต้นมา เดือนที่ ๒๐๒ เปนอธิกมาศ แล้วนับต่อไปอีก ๓๓ เดือนเปน ๒๓๕ เดือน เดือนที่ ๒๓๕ ก็เปนอธิกมาศ ว่าอย่างนี้ก็เหมือนกับที่ว่าก่อนเดือนท้ายระยะนี้ เปนเดือน ๘ สองหน ต่อไปเปนเดือน ๕ สองหน ต่อไปเปนเดือนยี่ ๒ หน ต่อไปเปนเดือน ๑๐ สองหน ต่อไปเปนเดือน ๗ สองหน ต่อไปเปนเดือน ๓ สองหน ต่อไปเปนเดือน ๑๒ สองหน ต่อไปก็กลับเปนเดือน ๘ สองหนอีก เมื่อนับอย่างนี้ก็ให้เล่าว่า ๓๔, ๓๔, ๓๓, ๓๔, ๓๓, ๓๔, ๓๓ นับอย่างนี้มากไปกว่าก่อนเพราะนับเอาเดือนอธิกมาศเข้าด้วย พึงรู้ว่าในระยะ ๑๙ ปี เปน ๒๓๕ เดือนทุกเมื่อ คือเปนเดือนอธิกมาศ ๗ เดือน เดือนสำหรับปีๆ ละ ๑๒ ใน ๑๙ ปี เปน ๒๒๙ ผสมกับอธิกมาศ ๗ เดือนเปน ๒๓๕ คนงมๆ เฟือนๆ ว่าสามปีจึงจะมีอธิกมาศเสมอไป เมื่อถึงปีที่มีอธิกมาศเร็วในปีที่ ๒ ก็ถามเอะอะหือหาไป ไม่ใคร่จะเชื่อ เปนทั้งนี้ก็เพราะไม่จำหน้าจำหลัง แลเปนเพราะงมงาย วิชานี้ใครๆ เขารู้มีอยู่ถมไป ไม่เรียนให้รู้แล้วมิหนำซ้ำไม่เชื่อด้วย ฤๅลางคนเปนผู้เรียนหนังสืออรรถกถาวินัย จะเห็นในคัมภีร์ตติยสามนต์ว่า สามปีมีอธิกมาศ อนึ่ง ๑๙ ปีมีอธิกมาส ๖ หน แล้วก็หยิบเอาอรรถกถานั้นเปนประมาณมาเถียง ถึงจะเอาคำอรรถกถามาเถียง ก็เถียงเสียเปล่าๆ จะมาคำณวนคิดทางพระอาทิตย์พระจันทร์ แลทางนักษัตรฤกษ์ก็ทำไม่ถูก เจ้าอังวะบาดงชื่อพม่าเรียกว่ามินตอราชีตื่นฟังคำอรรถกถานี้แล้ว เชิดชูคำนั้นเปนประมาณ แล้วก็คิดการจะให้อธิกมาศมีในปีที่ ๓ รวดไปให้ได้ แซมวันแซกเพิ่มเดือนนั้นเดือนนี้ ที่เปนเดือนขาดแก้ไขเข้าให้เปนเดือนถ้วน คือชักเอาเดือนอธิกมาศเดือนหนึ่งถึง ๓๐ วัน มาเที่ยวแจกเดือนขาดเสีย ทำเลอะไปอย่างอรรถกถาว่า ครั้นใช้ไปตามเจ้าอังวะบาดงรับสั่งว่า วันเพ็ญก็เร็วเข้ามาจนถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำเปนวันเพ็ญ แรม ๗ ค่ำ แรม ๘ ค่ำเปนวันดับ แรม ๙ ค่ำ แรม ๑๐ ค่ำ พระจันทร์ขึ้นข้างตวันตก คนเปนอันมากเขาก็ว่าเจ้าอังวะบาดงชรา ไหลหลงแลเสียจริตไป ถ้าจะมีผู้ยังถืออรรถกถาว่า ถ้าแต่ก่อนไม่อย่างนั้น อรรถกถาท่านจะว่าอย่างนั้นทำไม อรรถกถาเปนถึงพระคัมภีร์เชื่อไม่ได้ฤๅ เมื่อมีอยู่ชัดอย่างนี้ ก็จะขอตอบตามความคิดเห็นว่า อรรถกถาจารย์นั้น ท่านก็เปนชาววัดมิใช่ชาวบ้าน แต่ท่านดีกว่าชาววัดทุกวันในบ้านเมืองเรา ด้วยแต่งภาษามคธได้คล่อง พูดถูกต้องลักษณบังคับ แลหมั่นหมักภักดี แต่งในภาษาที่ร่วมกับบาลีดีกว่าพระสงฆ์ในบ้านเมืองเราหลายสิบเท่า การนั้นเปนวิชาของท่านแท้ แต่ในการคำณวนคติพระอาทิตย์คติพระจันทร์ เปนต้นบัญญัติปีเดือนคืนวันที่ถูกแท้นั้นไม่เปนวิชาของท่าน เห็นท่านจะไม่เข้าใจว่าถึงวิชาคำณวนทางพระอาทิตย์พระจันทร์ปีเดือนคืนวัน แล้วเห็นท่านก็จะงมจะไหลเหมือนพระสงฆ์ในบ้านเราเมืองเรา แลคฤหัสถ์แก่วัดงมอยู่เช่นคนเมืองเรานี้เอง จำไม่ได้ก็สำคัญว่าจำได้ จึงว่าลงไว้ผิดๆ เมื่อจะเอาคำนั้นมาเชิดชูก็เชิดชูเสียเปล่าใช้อะไรไม่ได้

อย่างหนึ่งตำราว่าไว้อีก ว่าเดือนไรมีอาทิตย์ยกข้ามราษี เปนวันดับสองหนในราษีเดียว เดือนนั้นโหรเรียกว่าปาปะมาศ เปนเดือนร้ายไม่มีฤกษ์ เดือนปาปะมาศนั้นคือเดือนอธิกมาศ เมื่อว่าอย่างนี้ก็ถูกอยู่ไม่ผิด แต่ว่าไม่ได้ใช้แล้ว อย่าว่ามากไปเลย ระยะก็ไม่เสมอ เมื่อเปนอย่างนั้น อธิกมาศในกาลบัดนี้ คงจะตกแต่ในเดือน ๔ เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เพราะพระอาทิตย์โคจรช้า ราษีหนึ่งถึง ๓๑ วัน ๓๒ วัน ตั้งแต่เดือน ๑๑ ไปจนเดือน ๓ นั้น พระอาทิตย์โคจรเร็วแต่เดือนละ ๓๐ วัน แล ๒๙ วัน พระอาทิตย์ยกร่วมดิถีเดียวกันทุกราษี จะมีดับสองหนในราษีเดียวกันไม่ได้

กล่าวด้วยลักษณะอธิกมาศนี้ก็ดี วิสาขบูชาก็ดี ฤๅวันพระเลื่อนตามลักษณปักขคณนาก็ดี ให้ผู้อ่านรู้ว่าพูดกับคนที่พอใจจะถืออะไรๆ ให้ถูก ไม่บังคับบัญชาใครให้ถือผิดธรรมเนียมบ้านเมืองดอก ว่าด้วยธรรมเนียมบ้านธรรมเนียมเมืองแล้ว ก็อ่านแต่ข้างต้นเถิด การวิเศษอีกอย่างหนึ่ง ตามธรรมเนียมบ้านธรรมเนียมเมืองก็เคยมี คือลางปีโหรเขาเห็นว่าเข้าพรรษา ดิถียังไม่เต็มเปน ๑๕ ฤๅพึงเต็มนาทีอ่อน ฤๅฤกษ์วันเข้าพรรษาไม่ถึง ๒๐ แล้ว เขามักเพิ่มเดือน ๗ เปนเดือนถ้วน เรียกอธิกวาร ๆ นี้ มีในระยะ ๕ ปี ๖ ปีฤๅถ้าล่วงมาถึง ๗ ปีจึงมีต่อไปอีก ๓ ปี เขาก็วาง การที่โหรทำนั้น ก็พาลจะวุ่นๆ อยู่ ดูในสมุดปูมฉบับเก่าๆ อธิกวารติดกัน ๒ ปีก็มี เปนทั้งนี้ก็เพราะหลงไหล ไม่วางอธิกวารมาแต่หลังทำให้เลื่อนเปื้อนไว้ ไม่เอาใจใส่จนเลอะเข้ามากถึงสองวัน ถึงโหรทุกวันนี้ก็ไม่ใคร่จะแน่ เปนแต่ดูสมผุดอาทิตย์สมผุดจันทร์ลบกันเปนเพียนแล้วทำเปนฤกษ์แลดิถี เปนแต่ความปลายไม่มีลักษณะซึ่งเปนพื้น สมผุดนั้นแปรปรวนสั้นๆ ยาวๆ เพราะอุจพระจันทร์โคจรไปทุกราษี ก็ทำให้พระจันทร์เดินเร็วเดินช้าหาเสมอไม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีอธิกวารเดือน ๗ เปนเดือนถ้วน เมื่อปีขาลฉศก ศักราช ๑๒๑๖ ครั้งหนึ่ง แล้วมามีในปีวอกโทศก ศักราช ๑๒๒๒ ครั้งหนึ่ง แล้วมามีเมื่อปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ ครั้งหนึ่ง แลต่อไปข้างหน้าโหรว่าจะมีในปีมะแมตรีศก ศักราช ๑๒๓๓ อีกครั้งหนึ่ง แล้วจะไปมีในปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ อีกครั้งหนึ่ง จะพูดถึงอธิกวารเช่นนี้คนแก่ๆ ที่ได้เกิดพบอธิกวาร ๙ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ๑๑ ครั้ง ๑๒ ครั้งแล้ว ก็มักจำไม่ได้ มีคราวไรก็มักบ่นว่าเดือน ๗ เปนเดือนขาด จะเปนเดือนถ้วนอย่างไรได้ ไม่เคยพบเคยเห็นแลอื่นๆ ไป เปนทั้งนี้ก็เพราะไม่สังเกตสังกา แต่การอธิกวารโหรหมายนี้ก็ดี การวางอธิกมาศเช่นว่ามาแต่หลังนั้นก็ดี จะถูกกันทุกเมืองทุกบ้านก็หาไม่ เมืองที่ถือลัทธิอื่นถือสาสนาอื่น อย่างแขกอย่างฝรั่งยกเสียเถิด เพราะเขาถือสาสนาอย่างอื่น ธรรมเนียมใช้ปีเดือนวันคืนก็จำจะมีต่างหาก ก็ที่ถือพระพุทธสาสนาเดียวกัน พระสงฆ์ก็ไปมาถึงกัน ร่วมอาสนชุมนุมในสังฆกรรมแลการนิมนต์ด้วยการถือวันพระ ๘ ค่ำ วันพระ ๑๕ ค่ำ แลเข้าพรรษาออกพรรษาในเมืองต่างๆ เหล่านั้น คือ เมืองเขมร เมืองลาว เมืองมอญ เมืองพม่า เมืองลังกา ลางทีก็ต้องกันลางทีก็เลื่อนวันกันไปเหมือนกับแขกเจ้าเซน แลแขกสุหนี่ที่ถือตัวพม่าเข้ารีดแขก เรียกว่าแขกในเมืองนี้ กับแขกจริงๆ ในเมืองอาหรับ เมืองตุรเก เมืองปารสี ถือวันคืนลางทีก็ถูกกัน แขกเมืองนี้ก็งมเต็มที ไม่มีวิชาเปนเค้ามูลที่จะให้คิดคืนวันเปนแต่เงี่ยหูฟังข้างไทย วันไรไทยว่าขึ้นค่ำหนึ่ง ก็ว่าสองค่ำหน้าวันนั้นไปเปนค่ำหนึ่งของตัวทุกเมื่อ ไม่มีหลักหลายในวิชาข้างแขกเลย

เหมือนอย่างที่เมืองเขมรเดี๋ยวนี้ ก็นับวันเดือนเยื้องกับวันในกรุงเทพ ฯ อยู่ ตั้งแต่ปีฉลูสัปตศกมาหาได้วางอธิกวารไม่ วันในกรุงเทพฯ เปน ๗ ค่ำก็ว่า ๘ ค่ำ วันอื่นๆ ก็เลื่อนไปวันหนึ่งหมด เมืองทั้งปวงที่มีพระพุทธสาสนา ถือวันคืนลางทีก็ตรงกัน ลางทีก็เยื้องกันดังนี้ ผู้ที่จะปฏิบัติพระพุทธสาสนาจำศีล แลฟังพระธรรมในวันอุโบสถ ฤๅเปนพระสงฆ์จะถือกำหนดต่างๆ ที่มีในวินัย ถือวัสสิกสาฏิกาปริเยสนะเขตร แลวัสสิกสาฏิกากรณนิวาสนเขตร แลวันเข้าปุริมพรรษาปัจฉิมพรรษา แลอัจเจกจีวรเขตร แลวันมหาปวารณาเตมาสินี จาตุมาสินีแลกฐินุพารสมัย ฤๅอุโบสถในปักษ์ทั้งปวง แลธรรมสวนะกรณะกาลให้ถูกต้อง จะถือวันคืนอย่างไรเมืองไหน จึงจะเปนบุญเปนกุศลมาก แลจะไม่เปนอาบัติเพราะคลาดกำหนดไปฤๅไม่ถึงกำหนดนั้นๆ ถ้ามีผู้ถามอย่างนี้ ก็เห็นจะมีผู้ตอบหยาบๆ บ้าง ฤๅเลอียดขอดก้นหม้อมาหาหยาบบ้าง ก็ที่ตอบหยาบๆ นั้นก็จะตอบว่าอยู่เมืองไหนก็ต้องถือตามเมืองนั้น จะผิดก็ตามจะถูกก็ตาม เหมือนกับเขาทั้งหลายมากๆ ด้วยกันแล้วเปนดี ที่จะตอบเลอียดขอดก้นหม้อหันมาหาหยาบนั้น ก็จะว่าเพราะมีพระบาลีในวัสสูปนายิกขันธ์ ว่าให้ประพฤติตามพระเจ้าแผ่นดิน ในหลวงบาดหมายให้ทำอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้น ให้ถืออย่างไรก็ต้องถืออย่างนั้น ซึ่งว่าอย่างนี้ก็ถือว่าตามใจคน ที่จะไม่ขัดเพื่อนบ้านเมืองเดียวกัน แลจะไม่ขัดอำนาจผู้มีบรรดาศักดิ์ คำที่ว่าอย่างนี้ คือจะจดหมายวันคืนในที่ทอดโฉนดบาดหมาย แลสุภมาศวันคืนในกรมธรรมบริคนต่างๆ ตามกฎหมายนั้นก็ดี ตามพระราชกำหนดวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยา แลวันตรุษวันสงกรานต์สารทเปนการเล่นนักษัตรฤกษ์ แลวันวิเศษกำหนดพระราชพิธีมงคลการ อวะมงคลการต่างๆ ก็ดี ตามธรรมเนียมบ้านเมืองไม่เกี่ยวข้องด้วยการพระพุทธสาสนานั้นควรแท้แล้ว แต่การที่จะมาเกี่ยวข้องแก่พระพุทธสาสนา จะต้องสืบหาที่แท้ที่จริงจึงจะได้ แลคำที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ทำตามพระเจ้าแผ่นดินนั้น คือผู้ที่จะว่าอย่างนั้นไปฉวยเอาบาลีที่ว่าด้วยวัสสุกัฑฒดังว่าก่อนนั้นมาว่า ฤๅอย่างหนึ่งก็เพราะเอาคำอรรถกถาที่ว่าวิสุงคามสิมา ซึ่งเปนของไม่มีในบาลีนั้นมาพูดมากไป อย่าให้ว่ามากไปเลย จะขอว่าเอาแต่ความประสงค์ ว่าโลกบัญญัติทุกบ้านทุกเมือง ตั้งชื่อสืบกันมา ว่าปี ว่าฤดู ว่าเดือน ว่าปักษ์ขึ้น ว่าปักษ์แรม แลว่ากี่ค่ำๆ ทั้งปวงนี้ใครไม่ได้ชี้ ใครไม่ได้บังคับ พระอาทิตย์ พระจันทร์ส่องดวงโคจรในจักรราษี ถึงที่นั้นๆ ทิศนั้นๆ ก็เห็นด้วยอาการต่างๆ ในนักษัตรฤกษ์นั้นๆ เปนดิถีในปักษ์นั้นขึ้นเอง ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน เวียนไปครบสามแล้วจึงเปนปี เมื่อพระจันทร์ดวงเต็มอยู่กับดาวกฤติกาฤๅโรหินีคือฤกษ์ ๒ แก่นาทีฤๅ ๓ อ่อนนาทีจึงเข้าฤดูหนาว เมื่อพระจันทร์ดวงเต็มอยู่กับดาวฤกษ์บุรพคุณีฤๅอุตรคุณี คือฤกษ์ ๑๑ ฤกษ์ ๑๒ ฤๅใกล้ ๑๓ จึงเข้าฤดูร้อน เมื่อพระจันทร์ดวงเต็มอยู่กับดาวฤกษ์ บุรพสาฒ ฤๅอุตราสาฒ คือ ฤกษ์ ๒๐ ฤๅ ๒๑ จึงเข้าฤดูฝน ต่อฤดูประจวบกันจึงจะว่าเปนปีได้ แต่ตามธรรมเนียมที่ใช้ในต้นสาสนา เอาเหมันตฤดูเปนต้น วัสสานะฤดูเปนปลาย เพราะฤดูหนาว สมมติว่าเปนเช้า ฤดูร้อนสมมติว่าเปนกลางวัน ฤดูฝนเวลาที่คนจะพักจะหยุด สมมตว่าเปนกลางคืน เพราะฉนั้นธรรมเนียมนับอ้ายยี่สามสี่ จึงตั้งต้นแต่หน้าเดือน ๑๒ เปนธรรมเนียมมา ก็อธิกมาศมีแทรกทั้งสามฤดู ทำให้ฤดูหนึ่งเปน ๕ เดือนไปลางครั้งลางคราว ก็เพราะกำหนดพระจันทร์เพ็ญไม่ถึงฤกษ์ที่เปนที่เปลี่ยนฤดูดังว่า จึงต้องมีอธิกมาศ ฤดูจะมาบอกกันเอาเปล่าๆ ไม่แลดูนักษัตรฤกษ์ในท้องฟ้าจะว่าเปนถูกไม่ได้ ถ้าพระจันทร์เพ็ญไม่ถึงฤกษ์อาสาฒแล้ว ถึงเจ้าแผ่นดินจะมาบังคับให้พระสงฆ์เข้าพรรษา แต่เดือน ๖ ก็ดี เดือน ๗ ก็ดีก็ไม่เปนพรรษาได้ฉันใด ถึงว่าการเลอียดลงไปในวันดับวันเพ็ญ แลวัน ๘ ค่ำทุกเดือนก็เหมือนกัน เมื่อมิใช่วันดับแท้วันเพ็ญแท้ แลมิใช่วันที่ ๘ แต่หน้าวันดับแท้วันเพ็ญแท้ ถึงเจ้าแผ่นดินจะมาบังคับให้เปนวันพระ ให้เปนวันอุโบสถ ก็ไม่เปนเหมือนกันตามพระพุทธสาสนา เพราะบัญญัติในพระพุทธสาสนา เอาจาตุทสีฤๅปัณรสี ที่เปนวันดับแท้วันเพ็ญแท้ แลวันที่ ๘ แต่หน้าวันดับแท้วันเพ็ญแท้นั้นไป เปนวันพระเปนวันอุโบสถ ถ้าจะทำตามสาสนาแล้ว ก็ต้องถือสาสนาอย่างเดียว พระจันทร์ที่เพ็ญแลดับนั้น เปนผู้ชี้วันพระแก่คนทั้งปวง

ก็การสังเกตว่า พระจันทร์เพ็ญเมื่อไรดับเมื่อไร พระจันทร์เพ็ญนั้นสังเกตง่าย คือวันไรเห็นพระจันทร์ดวงกลมแท้ ไม่ร่อยหน้าร่อยหลังวันนั้นเปนวันเพ็ญ แต่เมื่อพิเคราะห์เข้าโดยเลอียด เวลาที่จะเห็นพระจันทร์เต็มดวงอยู่นั้นเห็นอยู่ ๑๒ ชั่วโมง คือก่อนเวลาเพ็ญแท้ ๖ ชั่วโมง แลทีหลังเวลาเพ็ญแท้ ๖ ชั่วโมง กาลคติแลพระจันทร์เลงกับพระอาทิตย เปนมัธยมเสมอไปสมมตว่าเท่ากัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ