๓๐๗ ประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยามที่ ๔ ในกรุงเทพมหานครณประเทศบางกอกนี้ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสสั่งเจ้าพระยารวิวงศ์ มหาโกษาธิบดี ผู้ว่าราชการฝ่ายกรมท่าว่าการต่างประเทศ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระราชนิพนธ์นี้ ประกาศแก่ผู้ซึ่งเปนกงสุลแลขุนนางผู้ว่าการกงสุลนั้นด้วย ฤๅกงสุลต่างเมืองทั้งหลาย บรรดาที่มีหนังสือสัญญารักษาทางพระราชไมตรีอยู่กับแผ่นดินสยามนั้น ที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ บัดนี้แล้วก็ดีแลซึ่งจะมาในเบื้องหน้าก็ดี อนึ่งให้ประกาศแก่กงสุลฝ่ายสยาม แลผู้ช่วยราชการกงสุลซึ่งไปตั้งรักษาทางพระราชไมตรีอยู่ที่เมืองต่างๆ ห่างแลชิดนั้น ในบัดนี้ก็ดีฤๅเบื้อหน้าก็ดี ให้ทราบพระราชดำรัสดังนี้ทั่วกัน ว่าถึงการรับพระราชสาส์นทั้งหลายแลแห่แหนต่างๆ ฤๅรับเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งเปนของทรงยินดีของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายก็ดี ฤๅผู้ครองฝ่ายสยามได้ส่งพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ เปนสิ่งของทรงยินดีไปแต่พระเจ้าแผ่นดินสยามเก่าใหม่ส่งไปยังประเทศต่างๆ ทั้งหลายนั้น ซึ่งเปนทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามนั้นก็มีมามากนัก ฤๅการรับทูตผู้ถือรับสั่งแห่งพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายนั้นก็ดี แลการที่พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งทูตไทยไปต่างประเทศทั้งหลายก็มีหลายหนหลายครั้ง มีเยี่ยงอย่างแบบแผนมาตั้งแต่โบราณ แลการใหม่ๆ ก็มีอยู่เปนตัวอย่างแล้วหลายครั้ง แต่การในโบราณนั้น ว่าด้วยการรับทูตฤๅส่งทูตรับราชสาส์นแลส่ง ทั้งนี้ได้พบจดหมายใจความของโบราณนั้นหลายฉบับเปนแบบมา บัดนี้จะขอตัดว่าแต่สั้นๆ ว่าด้วยการรับพระราชสาส์นแลส่งพระราชสาส์นแลรับส่งเครื่องราชบรรณาการ ฤๅรับทูตที่มาแต่ต่างประเทศนั้น แลส่งทูตไปในต่างประเทศทั้งปวงนั้น เมื่อพิเคราะห์ไปตามการต่างๆ ในประเทศทั้งหลายนั้น จะได้มีหนังสือสัญญากันว่าจะทำด้วยการสำแดงยศอย่างนี้อย่างนั้นในหนังสือสัญญาก็ไม่มี ก็การเปนแต่ตกลงตามใจเจ้าของแผ่นดินๆ เห็นควรจะทำอย่างไรก็ทำไปตามน้ำใจอย่างนั้นๆ อนึ่งการที่เจ้าแผ่นดินรับส่งราชสาส์นราชทูตนั้นด้วยอาการเอิกเกริก เพราะประสงค์เหตุที่ทำไปนั้น มีที่มุ่งหมายของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายนั้นๆ อยู่ ๒ อย่าง ประการหนึ่งเพื่อจะอวดยศอวดสมบัติของตัว ให้แขกเห็นตามประเทศนั้นๆ อีกประการหนึ่งจะแสดงความต้อนรับนับถือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย แลยกย่องพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ให้เปนการสมควรเสมอกับเกียรติยศของตัว ไม่ดูถูกดูแคลนว่าเปนน้อยต่ำกว่าตัว การอันนี้เมื่อพิเคราะห์ไปแล้วก็เห็นชัดว่าเปนแต่การยอมตกลงตามใจของผู้เจ้าของแผ่นดิน จะทำอย่างไรก็ทำได้อย่างนั้นแต่ที่ในการรับส่งราชทูตราชสาส์น ก็การอื่นๆ ซึ่งมีเกิดขึ้นในภายหลังนั้นขอยกไว้ จะขอว่าแต่การรับแลการส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีน เปนต้นเหตุเดิมมาหลายร้อยปีแล้ว เดิมแต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายสยามกับพระเจ้าแผ่นดินจีนก็ยังไม่ได้รู้จักเปนทางไมตรีฤๅทางค้าขายนั้นก็เปล่า อนึ่งในเวลาล่วงไปก่อนนั้นหลายร้อยปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาก่อนนั้นโง่งมนัก ปราศจากวิริยะปัญญาไม่รู้การอะไรๆ ไกลๆ ในต่างประเทศบ้างเลย ครั้งหนึ่งพวกจีนเมืองกวางตุ้งเข้ามาค้าขายในประเทศญวน แล้วก็เลยแวะเข้ามาขายของที่ประเทศไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินโง่ เสนาบดีเซอะ ราษฎรโซ ชวนกันยินดีซื้อสินค้าของจีนในสำเภานั้นไว้ใช้สรอยชมเชย จีนหลอกขายได้แพงมีกำไรมาก จีนในสำเภามีความยินดีที่สุด ฝ่ายไทยในเวลาก่อนนั้น ก็มีความยินดีลุ่มหลงซื้อของจีนรับไว้ใช้ในบ้านในเมืองไทยนี้ ครั้นภายหลังจีนทั้งหลายในเมืองต่างๆ ก็มาค้าขายในแผ่นดินประเทศไทยเนืองๆ จีนบางพวกมีความปราถนาใหญ่ เพื่อจะอยู่อาศรัยในเมืองไทยนี้ เพราะประสงค์จะเก็บสินค้าของป่าต่างๆ ส่งไปขายในประเทศจีนโน้น จีนพวกที่คิดจะอยู่ในที่แผ่นดินไทยนั้น จึงให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีผู้ว่าราชการในกรมท่านั้น กราบทูลแด่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ว่าจะขออาศรัยอยู่ในเมืองไทยนั้นเพื่อจะเก็บสินค้าของป่าต่างๆ บรรทุกสำเภาไปขายในเมืองจีน แล้วจะได้เก็บเงินค่าปากเรือสำเภาส่งถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินไทยด้วย ครั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทราบการดังนั้นก็มีพระทัยยินดี จึงโปรดให้จีนพวกนั้นได้อยู่อาศรัยในเมืองไทย เพราะเข้าใจว่าคบจีนจะมีประโยชน์ใหญ่ยิ่งรุ่งเรืองนัก ครั้นภายหลังพวกเมืองนอกก็โดยสารสำเภาเข้ามาอาศรัยทำมาหากินในเมืองไทยนี้เปนอันมาก ๆ ขึ้นทุกครั้งทุกปี แลฝ่ายไทยในเวลานั้น สำคัญคิดเข้าใจว่า จีนเปนประเทศอันประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหลาย แล้วเข้าใจว่าเมืองจีนอยู่ห่างไกล จะเปนข้าศึกกับไทยไม่ได้ เพราะเขตรแดนมิได้ใกล้ชิดติดต่อกัน

อนึ่งพวกจีนที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยนั้น มาทางทะเลเปนทางกันดารนัก ไปมาด้วยยากเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม เพราะเหตุดังนี้ไทยจึงสำคัญรู้ ไม่รังเกียจว่าจีนเปนศัตรูได้ ครั้นพวกจีนทั้งหลายบางคนทำมาหากินจนมั่งมีเงินทองขึ้นมากแล้ว จึงลงทุนต่อสำเภา บรรทุกสินค้าต่างๆ ในเมืองไทยไปขายเมืองจีนได้กำไรโดยมากที่สุด จึงเลือกซื้อสิ่งของที่ประหลาดๆ ต่างๆ ในเมืองกวางตุ้ง เลือกเอาแต่ที่ดีๆ เข้ามาเปนของถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม แล้วกราบทูลสรรเสริญฝีมือช่างต่างๆ ในเมืองกวางตุ้งด้วย ขณะนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยได้รับของถวายแลเสนาบดีไทยได้รับกำนัลของพวกจีนนั้นๆ ก็มีความยินดีโสมนัสมากเพราะหลงโลภ ในเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระราชประสงค์จะแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายที่เมืองจีนบ้าง เพื่อจะเก็บเลือกสรรจัดซื้อสิ่งของที่ประหลาดมาใช้ในเมืองไทยบ้าง พวกจีนเหล่านั้นจึงมีอุบายกราบทูลว่า ไทยจะไปค้าขายในเมืองจีนนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินไทย ยังไม่ได้รู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินจีน ถ้าเรือสำเภาไทยจะไปค้าขายที่เมืองจีนเมื่อใดแล้ว พวกจีนนายด่านเขาจะจับเอาเรือนั้นไว้แล้วจะริบเอาของทั้งสิ้น เพราะไม่ได้เคยไปค้าขาย เขาจะสำคัญคิดผิดไปว่าเปนเรือข้าศึกต่างประเทศ ด้วยจีนยังไม่รู้จักคนไทยเลย ถ้าพระองค์จะอยากไปค้าขายที่เมืองจีนแล้ว จะต้องมีพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการพอสมควร ให้ทูตไทยออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ผูกพันธ์สันทะวะมิตรกับพระเจ้าแผ่นดินจีนเสียก่อน ให้รู้จักชอบอัชฌาศรัยแล้วจึงจะได้ใช้สำเภาไทยไปค้าขายในประเทศจีนได้โดยสดวก พวกจีนเหล่านั้นกราบทูลเปนกลอุบายฬ่อลวงยุยงพระเจ้าแผ่นดินไทยให้หลงเชื่อ แล้วจึงกราบทูลขอรับอาสาว่า จะนำพาทูตไทยไปให้ถึงกรุงปักกิ่งคือเมืองหลวงของจีนทั้งปวง ขณะนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ทรงเชื่อถ้อยคำพวกจีนยุยง จึงโปรดให้เจ้าพนักงานแต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่งเปนอักษรไทยมีความว่า ขอเปนทางพระราชไมตรีต่อกรุงปักกิ่ง เพื่อประโยชน์จะไปมาค้าขาย พระราชสาส์นนั้นให้จานลงในแผ่นทองคำ แล้วม้วนไว้ในกล่องทองคำ ประดับพลอยต่างๆ สี แล้วโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือฉบับหนึ่งไปถึงลิปูตาทั่ง คือเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงปักกิ่ง เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงต๋งตก คือเจ้าเมืองกวางตุ้งเปนเมืองท่าสำเภา ต้นทางบกจะขึ้นไปกรุงปักกิ่งนั้น ครั้งนั้นพวกจีนเหล่านั้นจึงกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า ในเมืองจีนนั้น ล่ามจีนที่จะแปลภาษาไทยได้ก็ไม่มี แลคนที่จะแปลพระราชสาส์นไทยนั้นก็ไม่มี อนึ่งพวกข้าพเจ้าเหล่านี้เปนผู้นำไทยไปจากเมืองไทยนั้น ครั้นจะแปลเองก็ดูเหมือนว่าไปแกล้งพูดเล่นตามชอบใจไม่มีหลักหลาย เพราะเปนจีนอยู่ที่เมืองไทยนี้ เกลือกว่าจีนที่เมืองจีนเขาจะไม่เชื่อแน่ เขาจะกลับสำคัญคิดผิดๆ ไปต่างๆ แลธรรมเนียมจีน พระเจ้าแผ่นดินจีนก็ทรงพระราชสาส์นด้วยพระองค์เอง ลิปูตาทั่งแลต๋งตกก็อ่านหนังสือเอง จะได้ให้ล่ามแปลก็หามิได้ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นหลงไหล เชื่อคำพวกจีนเหล่านั้นกราบทูลหลอกลวงต่างๆ ช่างโง่เง่าทั้งพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดี จึงยอมให้จีนพวกเหล่านั้น แต่งพระราชสาส์นเปนหนังสือจีน แต่ว่ารับสั่งว่าให้ล่ามจีนพวกนั้นแต่งตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์นซึ่งเปนอักษรไทยแลความไทย ฝ่ายพวกจีนทั้งนั้นก็แต่งย้ายเสียใหม่ตามชอบใจของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้นแต่งเปนหนังสือจีน ก็กลับความเสียอย่างอื่น เขียนใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่ง ขออ่อนน้อมยอมตัวถวาย เปนข้าขอบขัณธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แลขอถวายเมืองเปนเมืองก้อง ๓ ปีครั้งหนึ่ง พอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งเปนเอกอุดมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงทั่วโลก จะขอให้พระเจ้ากรุงปักกิ่งทรงพระมหากรุณาอนุญาตให้สำเภาของพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ไปมาค้าขายที่เมืองจีน เหมือนได้โปรดให้ซื้อสิ่งของบนสวรรค์มาใช้ในเมืองไทยไกลทะเลกันดารนั้นเถิด ถึงหนังสือฉบับเจ้าพระยาพระคลังนั้น ไปถึงลิปูตาทั่งแลต๋งตกทั้ง ๒ ฉบับนั้น ล่ามจีนเหล่านั้นกลับเอาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินไทยเปนเจ้าของหนังสืออ่อนน้อมไปถึงต๋งตกแลลิปูตาทั่งไปหมดสิ้น ครั้นแต่งแล้วทั้ง ๓ ฉบับ จึงเอาฉบับของพระเจ้าแผ่นดินไทยมาถวายให้ทรงประทับตราตามธรรมเนียมพระราชสาส์น แลหนังสือ ๒ ฉบับซึ่งเปนของเจ้าพระยาพระคลัง เอามาให้เจ้าพระยาพระคลังประทับตราไปตามซึ่งการเปนไปโดยในหนังสือสำเนาไทย ข้อความในพระราชสาส์นดังนี้ ไทยได้ทราบต่อภายหลังล่วงกาลนานมากว่า ๒๐๐ ปีเศษ คำว่ากุ๋ยนั้นแปลว่าถวายบังคมฤๅคำนับ คำว่าก้องนั้นแปลว่า ขึ้นเปนเมืองขึ้นในบังคับ พระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นโง่มักง่ายนัก ไม่หาผู้อื่นมาอ่านแปลสอบสวนให้ฟังให้แน่แท้ก่อน ด่วนประทับตราในหนังสือจีนให้ง่ายๆ หลับตานักแล้วก็แต่งทูตานุทูตไทยผู้มีบันดาศักดิ์ ให้ออกไปกับพวกจีนเหล่านั้นด้วย ยังซ้ำทรงตั้งจีนพวกเหล่านั้นให้เปนขุนท่องซือใหญ่ แลขุนท่องซือน้อยเปนผู้พาพวกไทยไปถึงเมืองจีน คำท่องซือนั้นแปลว่า เปนผู้ซึ่งนำข่าวสาส์นต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินไทยแลเสนาบดีไทยเวลานั้น พอใจถนัดไปแต่การข้างจะอวดยศของตัวว่า ดีกว่ามนุษย์ทั้งหลาย พระราชสาส์นนั้น เชิญเข้าไว้ในลุ้ง เขียนลายรดน้ำทอง แล้วยังตั้งบนพานทองคำ ๒ ชั้น คือพานแว่นฟ้า แล้วก็เชิญพานพระราชสาส์นตั้งบนบุษบกปิดทองมีคานหาม แต่พวกทูตานุทูตไทยที่จะไปนั้น ก็แต่งตัวจนเกินงามในเวลานี้ แต่ในเวลาก่อนนั้นเขาจะเข้าใจว่าเปนการดีแท้ แต่งตัวสรวมชะฎาทองคำ ชนิดชะฎาอินทร์พรหม มีท้ายเชิด แล้วประดับสายสร้อยมะยมทองคำพัวพันคอรุงรัง เขาคิดเพลิดเพลินไปแต่ฝ่ายสำแดงยศอวดเจ๊ก แลพระราชสาส์นเมื่อจะออกจากพระราชวังกรุงเก่านั้น ก็มีแห่แหนอื้ออึง พานพระราชสาส์นนั้นเชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ แลมีเครื่องสูงเทวะดาแห่หน้าหลัง มีแตรสังข์กลองชนะพิณพาทย์ พลถือธงต่างๆ บางสิ่งแห่หน้าหลังโห่ร้องอื้ออึงมาลงเรือเอกไชย เรือรูปสัตว์ต่างๆ ยังมีเรือแห่เปนขบวนแห่หน้าหลังคั่งคับ ตามลงมาส่งจนถึงเมืองสมุทปราการ แล้วส่งขึ้นเรือใบน้อยๆ เปนเรือลำเลียง แต่ลงไปในเรือแล้วยังมิหนำซ้ำให้มีกลองชนะแตรสังข์ตามไปประโคม เพื่อจะให้เปนการสำหรับยศพระราชสาส์น ประโคม ๓ เวลาเช้าค่ำแลกลางวันเสมอไป เวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยแลเสนาบดี ก็มีแต่การขวนขวายแต่จะแสดงยศจะอวดอำนาจแก่เจ๊ก ไม่คิดถึงอายอดสูแก่ประเทศอื่นเลย การนี้ก็เพราะไม่พิจารณาด้วยปัญญาอันละเอียด ครั้นไปถึงเมืองจีนแล้ว พวกจีนซึ่งเปนที่ท่องซือก็พูดกลับความเสียอย่างอื่นหมด พูดว่าธรรมเนียมไทยซึ่งแต่งตัวอย่างธรรมดานั้นอย่างหนึ่งดังนี้ แต่แต่งตัวไปอย่างทูตไทยนั้นเปนการแต่งโดยความเคารพต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ถึงพระราชสาส์นแลการแห่แหนโห่ร้องดังนั้นก็เปนการดี โดยความเคารพต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งทั้งสิ้น ขณะพระราชสาส์นถึงเมืองจีนนั้น พวกจีนที่เปนผู้ดูแลบ้านเมืองเจ้าท่านั้น จะได้แห่รับไทยก็หามิได้ ไทยก็ต้องแห่หามบุษบกที่รับพระราชสาส์นประโคมของตัวไปเองไม่อดสูใจเลย แลครั้งนั้นพวกจีนล่ามที่เปนท่องซือใหญ่แลท่องซือน้อยนั้น จะรู้เห็นเปนใจนัดหมายกับขุนนางจีนอย่างไรก็หาทราบไม่ เพราะหาได้มีในจดหมายเหตุโบราณนั้นไม่ ได้พบหนังสือมีความแต่ว่าเปนเรื่องราวว่า พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีรับสั่งโปรดให้ขุนนางหัวเมืองจีน รับทูตไทยแลพระราชสาส์นไทยกับทั้งเครื่องราชบรรณาการรวมกัน ส่งไปให้ถึงกรุงปักกิ่งโดยการดี อย่าให้มีเหตุร้ายได้เลย ก็ครั้งนั้นพวกทูตไทยได้ขึ้นบกแต่เมืองกวางตุ้งไปจนถึงกรุงปักกิ่ง รอนแรมไปถึง ๓ เดือนกับ ๑๕ วันจึงถึงกรุงปักกิ่งโดยความยากนัก พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็เสด็จออกรับพระราชสาส์นแลทูตไทย รับเมืองไทยเปนเมืองก้อง คือรับอย่างหัวเมืองขึ้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งพระราชทานหองตั้งพระเจ้าแผ่นดินไทยเปนเมืองก้องจีนมา คือตั้งเมืองไทยเปนเมืองขึ้นแก่กรุงปักกิ่ง คำว่าหองนั้นเปรียบเหมือนว่าสัญญาบัตร์ตั้งหัวเมืองทั้งหลาย อนึ่งเครื่องมงคลราชบรรณาการของไทยไปถวายพระเจ้ากรุงปักกิ่งนั้นรวมหมดเปนราคาเพียงสัก ๕๐ ชั่ง ฝ่ายข้างพระเจ้ากรุงปักกิ่งก็รักยศจะอวดสมบัติแลอำนาจแก่ไทย จนสู้เสียเงินค่าจ้างจีนราษฎรขนบรรณาการไทย ตั้งแต่เมืองกวางตุ้งส่งขึ้นไปถึงกรุงปักกิ่ง คิดดูค่าจ้างขนนั้นเปนเงินมากกว่าราคาเครื่องราชบรรณาการของไทยที่ออกไปนั้นหลายเท่า ไม่คุ้มค่าจ้าง พระราชสาส์นไทยนั้นก็โปรดให้หามไปทั้งบุษบกรับพาน ทูตานุทูตไทยก็ขึ้นเกี้ยวขึ้นรถไปทุกคน คนที่หามพระราชสาส์นแลหามทูตนั้นพระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ต้องจ้างจีนหาม สิ้นราคาค่าจ้างมาก เพราะจะแสดงยศแก่ประเทศจีนทั้งปวง ครั้นเมื่อกาลล่วงมา พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ทรงตอบแทนเครื่องบรรณาการมาให้แก่กรุงไทยนั้น สิ่งของตอบแทนแต่ล้วนเปนของมีราคาทั้งนั้น คือแพรอย่างดีสีต่างๆ ราคาก็มากกว่าเครื่องบรรณาการของไทยที่ไปนั้นหลายเท่า คิดราคาของตอบแทนกรุงปักกิ่ง ๒ ส่วนข้างหน้าข้างใน ประมาณ ๖๐ ชั่งเศษใกล้ ๗๐ ชั่ง ทั้งนี้พระเจ้ากรุงปักกิ่งขาดทุนเปล่าไม่มีกำไร แต่ว่าต้องจำเปนจำทำ เพราะว่าจะแสดงยศอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย

ฝ่ายลิปูตาทั่งคือเสนาบดีในกรุงปักกิ่งนั้น แลต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง ทั้ง ๒ แห่งเขาก็มีหนังสือฝากมาถึงพระเจ้าแผ่นดินไทย เปนหนังสือตอบตามหนังสือของไทยที่มีไปเปนอักษรจีนนั้น แต่พวกจีนล่ามที่เปนท่องซือก็พูดกลับแก้ความเสียใหม่ว่า ตราที่ไทยประทับพระราชสาส์นนั้นดวงหนึ่งเพื่อสำหรับถวายแก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งพระองค์เดียวเท่านั้นต้องใช้ดวงนี้ต่างหาก แต่ดวงที่ประทับในหนังสือลิปูตาทั่งแลต๋งตกนั้น ต้องใช้ตราดวงหนึ่งต่างหาก ฝ่ายจีนก็เชื่อเอาแต่ในหนังสือของไทยที่เปนอักษรจีนเปนใหญ่ หาได้สอบบัตราไม่

อนึ่งพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งนั้น เปนหนังสือตาดท่อนหนึ่ง แล้วม้วนเข้าไว้ในกลักไม้ไผ่ทาสีเหลือง เขียนเปนรูปตัวมังกร ๕ เล็บ หนังสือหองนั้น เขียนเปนกระดาดสีเสนประทองเปนเม็ดๆ ม้วนมีดูกไม้อยู่กลาง มีหยกติดท้ายไม้ดูก ๒ ข้าง แล้วมีสายรัดผูกรอบสลักทำด้วยหยกเจียระไน มอบส่งให้ทูตานุทูตไทยไปตามการ เหมือนเช่นหนังสือฝากกันตามเมืองต่างๆ ทั้งหลาย เช่นกันกับท้องตราบังคับไปยังหัวเมืองขึ้นของพวกจีน จีนไม่ได้ยกย่องขึ้นนับถือเปนพระราชสาส์นสนองตอบแทนในทางไมตรีนั้นเลย

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยกับเสนาบดีในเวลานั้นไซ้ไม่รู้เหตุการห่างๆ ไกลๆ ก็เข้าใจสำคัญคิดผิดๆ ไปต่างๆ จึงปฤกษากันว่า พระราชสาส์นของเราเมื่อส่งให้ทูตไทยไปนั้น ก็มีการแห่แหนมากมายหลายอย่างต่างๆ ก็เมื่อพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาถึงแขวงกรุงไทยนี้แล้ว ถ้าเราจะไม่มีการรับด้วยกระบวนแห่แหนต่างๆ นั้น พวกจีนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองเรา เขาก็จะมีความน้อยใจว่า เราไม่นับถือพระราชไมตรีของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แล้วก็จะมีคำติเตียนว่าเราชาวไทยไม่ยกย่องพระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงปักกิ่งให้เสมอกับตัวเรา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยแลท่านเสนาบดีไทย คิดพร้อมใจกันเปนการตกลงด้วยดังนี้แล้ว จึงได้จัดกระบวนแห่แหนทั้งทางบกทางเรือพร้อมมูลตามธรรมเนียมไทย ไปรับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งตอบส่งมากับทูตไทยนั้น พวกทูตไทยกับพวกจีนที่เปนล่ามท่องซือใหญ่ท่องซือน้อย พร้อมกันก็รับเชิญพระราชสาส์นของจีนมาเองนั้น การแห่แหนนั้นก็มีดุจดังการคล้ายกันกับเมื่อแห่ส่งพระราชสาส์นของไทยไปนั้น ครั้นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาถึงในกรุงไทยแล้ว เมื่อแปลนั้นพวกจีนท่องซือที่เปนล่ามก็กลับแปลความกลับเอาชั่วเปนดีไปเสียหมด แปลกลับว่าเปนทางไมตรีแก่กรุงไทย กรุงปักกิ่งยอมรับกรุงไทยเปนเมืองพี่น้องกันสนิท ล่ามแปลเปนคำของจีนตอบมาให้สมควรกับพระราชสาส์นไทยที่ส่งไปนั้น แลหนังสือลิปูตาทั่ง แลหนังสือต๋งตกนั้นทั้ง ๒ ฉบับก็กลับแปลแก้ไขเปนว่ามาถึงเจ้าพระยาพระคลัง ให้สมกับหนังสือฉบับไทยของเจ้าพระยาพระคลังที่ส่งไปนั้น อันที่จริงนั้นต๋งตกแลลิปูตาทั่ง เขามีมาถึงพระเจ้าแผ่นดินไทยตามความในหนังสือของไทยที่เปนฉบับหนังสือจีนลงไปนั้น หนังสือหองคือหนังสือของกรุงปักกิ่งตั้งไทยให้เปนเมืองขึ้นนั้น พวกล่ามก็กลับความแปลว่าเปนหนังสือพระเจ้ากรุงปักกิ่งอวยไชยให้พรแก่กรุงไทยทั้งสิ้น ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามในเวลาแล้วนั้น ก็เชื่อถือพวกท่องซือจีนไม่สงสัย เพราะว่าได้เครื่องบรรณาการตอบแทนของจีนกรุงปักกิ่งมามาก มีกำไรมากกว่าเครื่องบรรณาการที่ส่งออกไปนั้น มีกำไรราคาสูงขึ้นไปกว่าบรรณาการที่ส่งไปกรุงปักกิ่งนั้นหลายสิบชั่ง ฝ่ายเสนาบดีในเวลานั้นก็พลอยนิยมไปสิ้นไม่ขัดขวาง เพราะว่าได้ของตอบแทนแก่พวกจีนล่ามท่องซือนั้นบ้างเล็กน้อย แลพวกทูตานุทูตไทยไปครั้งแรกนั้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดยอมให้เรือสำเภาไทยไปค้าขายที่เมืองกวางตุ้งแห่งเดียว แต่ปีละ ๒ ลำเท่านั้น แล้วพระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งจัดที่แห่งหนึ่งให้แก่ไทย พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดพระราชทานที่แผ่นดินแห่งหนึ่งที่เมืองกวางตุ้งนั้นเรียกว่ากงกวนเปนที่ของไทย สำหรับทูตไทยไปจะได้พักอาศรัยจัดซื้อของต่างๆ ตามประสงค์ แล้วได้ตึกใหญ่ ๔ หลังเปนที่พัก ครั้นปีที่ ๒ จวนปีก้อง ฝ่ายต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งมีหนังสือมาถึงกรุงไทย ใจความว่าในปีหน้าให้พระเจ้ากรุงไทยแต่งขุนนางไปก้องกรุงปักกิ่ง คำว่าก้องนั้นคือว่าอ่อนน้อม ครั้นพวกจีนท่องซือล่ามก็กลับแปลคำก้องกลับเสียว่า เปนเจริญทางพระราชไมตรี ล่ามกลับแปลความว่า พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีความระฦกถึงทางพระราชไมตรีกรุงไทย ๓ ปีให้ไทยไปเฝ้าครั้งหนึ่งอย่าให้ขาด ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น คิดเพลิดเพลินเกินนัก ด้วยว่าการค้าขายสำเภามีกำไรมากมาย แลส่งเครื่องบรรณาการไปครั้งหนึ่งครั้งใดก็มีกำไรมากกว่าบรรณาการของที่ส่งไป แล้วพวกทูตานุทูตไทยที่ออกไปเมืองจีนก็ได้เบี้ยเลี้ยงแต่หัวเมืองจีนต่างๆ นั้นๆ ก็จัดซื้อของที่ดีๆ ประหลาดๆ เอามาเปนของถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย แล้วกำนัลเสนาบดีไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระดากกระเดื่องว่าพวกจีนฬ่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งซิ่ว ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอดลงมาหลายชั่วอายุคน ความโง่เปนไปทั้งนี้ ต้นเหตุใหญ่เพราะว่าหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลายพอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือจีนก็ไม่มี ก็เมื่องมงายโง่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งหลายในเวลาก่อนนั้น แลเสนาบดีไทยก็โง่งมมาด้วยหลายชั่วแผ่นดินนั้น เพราะความมักง่าย ครั้นทูตเก่าแลล่ามเก่าตายไปหมดแล้ว ได้ยินว่าคราวหนึ่งมีล่ามจีนเปนคนซื่อ แปลความตามฉบับหนังสือจีนที่จริง แจ้งความจริงให้ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ในเวลาที่ล่วงแล้วเปนลำดับมานั้น ให้รู้แท้แน่ว่า จีนกวางตุ้งดูหมิ่นดูแคลนมีหนังสือมาสั่งให้ไปก้อง คือให้ไปอ่อนน้อม ฝ่ายเสนาบดีไทยในเวลาหลังนั้น ก็นำความกราบทูลต่อพระเจ้ากรุงไทยในเวลาลำดับ ครั้นภายหลังพระเจ้าแผ่นดินไทย จะแต่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่งอีก จึงโปรดให้จัดหาล่ามจีนที่ซื่อตรง มาแปลพระราชสาส์นไทย แลหนังสือเจ้าพระยาพระคลังตามความในสำนวนไทย เขียนเปนอักษรจีนส่งออกไปกับทูตานุทูตไทย ฝ่ายพวกจีนที่เปนท่องซือใหม่ๆ นั้น ครั้นออกไปถึงเมืองกวางตุ้งก็ไม่ไว้ใจ จึงเอาความไปแจ้งแก่ต๋งตกตามสำเนาพระราชสาส์นที่ส่งไปนั้น ฝ่ายต๋งตกเขาก็โกรธทูตไทย ต๋งตกเขาไม่รับรอง เขาไล่ขับทูตไทยกลับมา โดยการขู่เข็ญว่า ถ้าจะขืนใช้หนังสือเปนอย่างใหม่นี้ ไม่ใช้เหมือนอย่างเก่าแต่ก่อนนั้น สำเภาไทยไปมาค้าขายสืบได้ความแน่แล้ว เขาจะริบเอาไว้เสียสิ้น สำเภาเมืองจีนก็จะห้ามไม่ให้ไปมาค้าขายที่เมืองไทยสืบต่อไป ครั้นพวกทูตานุทูตไทยได้ถูกขู่เข็ญดังนี้แล้ว ก็ต้องกลับมากรุงไทย แจ้งความกับเสนาบดีไทยทุกประการ ฝ่ายพวกพ่อค้าสำเภาจีนทั้งหลายในเมืองไทยนั้น บ้างมีญาติเคยไปมาค้าขายที่เมืองจีน ก็ร้องทุกข์กระสับกระส่ายขึ้นว่า ขอพระเจ้าแผ่นดินได้โปรดการเปนดังนี้

ฝ่ายเมืองไทยในเวลานั้น ไม่มีทางค้าขายกับเมืองต่างประเทศ ฝ่ายทางทะเลมีแต่เมืองจีนแห่งเดียว จึงยอมกันทำหนังสือไปตามเคย แต่ฝ่ายฉบับเปนพระราชสาส์นแท้อักษรไทยนั้น ก็ยังคงเขียนเปนอักษรไทยไปเปนทางไมตรีอย่างเดิม หนังสือสำเนาก็ต้องแขงใจข่มขืนเขียนไปเปนหนังสือจีน ข้อความนั้นก็ต้องเก็บเอาความเก่าที่ล่ามจีนหลอกลวงเขียนไว้แต่ก่อนนั้น เขียนไปให้เปนที่ชอบอัชฌาศรัยพวกจีนปักกิ่ง พระราชสาส์นแลหนังสือเสนาบดีจีนที่มีมาแต่เมืองปักกิ่งนั้น ครั้นมาถึงเมืองไทยแล้วก็เขียนอ่านให้ชอบหูไทยอย่างเช่นแปลมาแต่ก่อนนั้นเปนตัวอย่างแล้วๆ ก็เอาออกอวดกันเล่นในท้องพระโรงหลวง อ่านตามชอบใจไทย ให้เพราะหูไทยเท่านั้น คนที่โง่เง่าไม่สืบรู้เท่านั้น ก็เชื่อเอาเปนแน่แท้จริง ผู้ที่สืบรู้ก็กลั้นหัวเราะไม่ใคร่จะได้ พลอยอดสูใจไปด้วย แต่เปนการจำเปนต้องนิ่งงุบงิบเสีย เพราะไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ ธรรมเนียมนี้จึงเสียสืบมาแต่โบราณมิใช่การใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้ใครๆ อย่าพาโลทึกเอาไม่ได้

ว่าด้วยเรื่องเมืองจีนนี้ ว่าให้เห็นเปนการเดิมเสียมาแต่เดิมดังนี้ ในธรรมเนียมที่แห่รับพระราชสาส์น ก็ทูตจีนนั้นจะมาส่งพระราชสาส์นแก่เมืองไทยสักครั้งหนึ่งก็ไม่มีเลย ไม่ได้ยินว่าจีนมาส่งบรรณาการไทยบ้างเหมือนเช่นอย่างเมืองอื่นๆ ยังว่าได้ยินบ้างตามเวลาสมควรไปมาหากันตามที่เหตุนั้น อาการที่ไทยไปส่งบรรณาการแก่จีนให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาก่อนนั้น ความจริงเรื่องนี้ ไทยจะได้ถูกรบถูกตีด้วยกองทัพเมืองจีนนั้นหามิได้เลย เปนเหตุเพราะในเวลานั้น ล่วงแล้วกว่า ๕๐๐ ปีเศษ ด้วยต้นเดิมเสียธรรมเนียมเพราะไทยถูกฬ่อลวง จึงเปนธรรมเนียมเสียไปตามการเก่านั้นเอง ฤๅว่าไทยจะหมายพึ่งพาอาศรัยกับจีน ให้อำนาจจีนคุ้มเกรงปกปักรักษาอะไรได้ก็ไม่มีเหตุเลยสักอย่างหนึ่ง เปนแต่ในเวลาล่วงลับไปแล้วนั้น ไทยหูสั้นตาสั้นจึงถูกฬ่อถูกหลอกลวงอย่างว่ามาแต่หลังนั้น จึงได้ทำให้เสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินไทยไปต่างๆ รู้ว่าถูกหลอกถูกลวงแน่แล้วก็เพราะเมื่อการถลำไปเสียมากแล้ว ก็เปนแต่ว่าตกลงแต่ดูอย่างเมืองที่ใกล้เคียงต่างๆ ห่างแลชิดทั้งปวงคือ เมืองมอญ เมืองพม่า เมืองลาว เชียงรุ้ง แลเมืองลาวลานช้าง เมืองลาวหลวงพระบาง เมืองญี่ปุ่น เมืองลังกา แลเมืองแขก พราหมณ์ต่างๆ นั้น เมืองเหล่านี้ พวกทูตไทยมีความยืนยันว่า ได้พบปะทูตเมืองต่างๆ นี้ ไปส่งบรรณาการกรุงปักกิ่งทั้งสิ้น แล้วมีอีกหลายเมืองต่างๆ คือเมืองที่เสียงไทยเรียกว่าลิ่วขิวหุ้ยหุย แลเมืองไซรต้อง เมืองคำตี เมืองพราห์โซม ยังอีกหลายเมือง หลายชาติต่างๆ ทั้งนี้ ต้องไปส่งบรรณาการกรุงปักกิ่งทั้งสิ้น เมืองที่กล่าวมานี้ ได้ยินทูตไทยว่า ต้องไปขอหองไปซิ่วกรุงปักกิ่งหมดทั้งสิ้น ก็เมืองใกล้เคียงเหล่านี้เขาทำอย่างไร ไทยก็ขืนใจทำไปคล้ายๆ กัน ด้วยเพศภาษาไม่ห่างกัน ใกล้เคียงประเทศจึงต้องจำใจทำไปตามกันดังนั้น เพราะแต่ก่อนนั้นไทยหูลีบตาแคบ รู้จักแต่เมืองจีนเท่านั้นเอง ไม่รู้จักคบหาในประเทศต่างๆ ที่ห่างไกลกับนาๆ ประเทศ แลการแห่พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามเมื่อเวลาไปก็ดี แลการซึ่งแห่รับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงปักกิ่งเมื่อเวลามาก็ดี การทั้งนี้ก็เปนการที่ไทยทำไปเอง เมืองจีนแลกรุงปักกิ่งจะได้สั่งบังคับมาก็หามิได้ ฤๅพระเจ้ากรุงปักกิ่งจะได้มีอำนาจบังคับสั่งมาก็หาไม่ เมื่อพระราชสาส์นของไทยไปถึงเมืองจีน แต่ว่ายังอยู่ในมือทูตไทย ทูตไทยก็กระทำการประดับยศของไทยเอง คือประโคมแตรสังข์กลองชนะบูชาพระราชสาส์นทุกเวลา ทุกค่ำทุกเช้าแลกลางวันด้วย คือแสดงพระเกียรติยศให้ปรากฎแก่ชาวจีนทั้งหลาย ก็เมื่อทูตไทยได้ส่งมอบพระราชสาส์นไทยให้แก่เจ้าพนักงานจีนๆ รับไปนั้น พวกจีนเขาก็หามไปทั้งบุษบกที่รับพระราชสาส์นไทยนั้น เครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น จีนก็บรรทุกต่างฤๅเกวียนไปตามลำดับทางบก รอนแรมไปตามหัวเมืองทั้งหลายจนตราบเท่าลุถึงเมืองหลวงของจีน คือกรุงปักกิ่ง ทูตไทยทั้งหลายนั้น พวกจีนหัวเมืองก็รับขึ้นเกี้ยวขึ้นแคร่หามตองแต่งโตงเตงไปตามทางใหญ่ จีนรับส่งกันต่อๆ ไปตามหัวเมืองต่างๆ จนถึงกรุงปักกิ่ง แลการที่พวกจีนรับพระราชสาส์นแลทูตานุทูตไทยไปตามทางนั้น จีนเหล่านั้นคิดเอาค่าจ้างรับส่งทูตไทย เปนการรายทางตามหัวเมืองต่างๆ แต่ค่าจ้างทั้งนี้พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดเสียใช้ให้แทนทูตไทย เพราะจะไว้เกียรติยศแก่ไทย จึงสู้ขาดทุนมากมาย เพราะการเสียค่าจ้างรับส่งทูตไทยนั้น แต่การซึ่งแห่แหนตามธรรมเนียมรับพระราชสาส์นต่างประเทศ ซึ่งมีเปนธรรมเนียมสำหรับบ้านเมืองนั้น จีนกรุงปักกิ่งไม่ได้แต่งการกระบวนแห่ให้รับพระราชสาส์นของไทยเลย เปนแต่รับส่งไปมาโดยการไม่มีแห่แหน เหมือนกับเช่นพ่อค้าขนสินค้าไปมาตามทางนั้น ฤๅลางคราวพระเจ้ากรุงปักกิ่งมีหนังสือรับสั่งลงมาให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง รับทูตไทยไว้แต่ที่เมืองกวางตุ้งนั้นเอง ด้วยที่เมืองปักกิ่งเกิดเหตุร้ายจลาจลขึ้นในเมือง ฤๅมีกิจอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่ควรจะรับทูตไทยได้ในครั้งนั้น ลางทีพระเจ้ากรุงปักกิ่งไม่สบายพระไทยด้วยอาการต่างๆ ดังนี้ มีขึ้นในกรุงปักกิ่งแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ไม่ยอมรับทูตไทยให้ขึ้นไปกรุงปักกิ่งก็มีบ้างบางครั้งบางคราว ถ้าครั้งใดคราวใดไม่ยอมรับทูตไทยดังนั้นแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็มีหนังสือรับสั่งลงมาถึงเมืองกวางตุ้ง รับสั่งบังคับให้ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้ง รับเครื่องมงคลราชบรรณาการของไทยไว้ที่เมืองกวางตุ้ง แต่พระราชสาส์นไทยนั้นโปรดให้กรมการที่เมืองกวางตุ้งรับส่งขึ้นไปให้ถึงกรุงปักกิ่งโดยเร็ว เมื่อการเปนดังนี้นั้น กรมการเมืองกวางตุ้งก็รับเชิญพระราชสาส์นไทยขึ้นผูกไว้บนหลังม้าเร็ว บังคับให้จีนพวกม้าเร็วรับพระราชสาส์นไทยเดินส่งกันต่อๆ ขึ้นไปเปนลำดับตามหัวเมืองของจีนจนถึงกรุงปักกิ่ง แต่บุษบกหรือพานทองที่รองรับพระราชสาส์นนั้น ก็ตกอยู่ที่เมืองกวางตุ้งนั้นเอง พวกทูตานุทูตไทยก็ต้องรออยู่ที่เมืองกวางตุ้ง คอยฟังกระแสรับสั่งพระเจ้ากรุงปักกิ่งจะโปรดประการใด เมื่อพระราชสาส์นไทยที่พวกเจ้าพนักงานจีนรับเชิญไป สถิตย์อยู่บนหลังม้านั้นติดอยู่กับอานม้า ก็ไม่มีการประโคมแตรสังข์กลองชนะอะไร พระราชสาส์นเสด็จไปองค์เดียวน่าเปลี่ยวใจไม่มียศ พวกทูตไทยก็ไม่ได้ไปสำแดงกับจีนปักกิ่ง ครั้นการเปนลำดับเวลามานั้นไม่ช้า พวกจีนพนักงานจีนม้าเร็ว ก็รับพระราชสาส์นตอบมาแต่กรุงปักกิ่ง อนึ่งพระราชสาส์นกรุงปักกิ่งนั้น ม้วนอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ทาสีเหลืองผูกมาหลังม้าของพวกจีนม้าเร็ว มาถึงเมืองกวางตุ้งแล้ว ต๋งตกเจ้าเมืองกวางตุ้งเขาก็เรียกพวกทูตไทยมาที่เรือนบ้านเจ้าเมือง เขาจึงมอบพระราชสาส์นตอบของพระเจ้ากรุงปักกิ่งส่งให้แก่ทูตไทยเท่านั้นเอง ไม่มีการแห่แหนรับส่งพระราชสาส์นอะไรเลย ฤๅการเคารพรับส่งพระราชสาส์นนั้น ก็ไม่มีเลยแต่สักอย่างหนึ่ง การแห่แหนรับส่งพระราชสาส์นนั้นไทยทำเอิกเกริกไปเอง ไทยทำการเคารพนับถือจีนข้างเดียว จีนไม่เคารพนับถือตอบแทนบ้างเลย จีนรับเอาไปเปล่าๆ แลส่งให้ง่ายๆ ไม่มีการเคารพนับถือไทยเลย ไทยมีแห่ส่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่งนั้น มีการแห่แต่ที่กรุงสยามนั้นแล้ว ยังมิหนำซ้ำมีการประโคมต่างๆ ไปตามทางเรือมีแห่ด้วยเมื่อขึ้นบกนั้น ที่เมืองจีนไทยอยากอวดยศแก่จีนก็ทำตามใจไทยเอง จีนไม่นำภาเอาใจใส่ในการรับพระราชสาส์นของไทยนั้น ในเวลาก่อนที่ล่วงไปแล้วนั้น ไทยหูตื่นตามัวจึงเสียยศเพราะการเปนดังนั้น สำแดงด้วยเรื่องส่งแลรับพระราชสาส์นไปมาที่เมืองจีนกรุงปักกิ่งนั้นสิ้นข้อความแต่เท่านี้

ว่าด้วยการพระราชสาส์น ที่ไปมาโดยเมืองต่างๆ มีเปนครั้งเปนคราว ไม่มีเปนนิจเสมอเหมือนเช่นพระราชสาส์นส่งไปกรุงปักกิ่งประเทศจีนที่กล่าวมาแต่หลังนั้น ฤๅว่าเมืองใกล้เคียงเนื่องแนวแถวเดียวไปมาถึงกันแลกันตามสมควร ครั้งหนึ่งเปนอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งเปนอย่างอื่น ตามเหตุการที่เปนไปโดยเวลาควรกับเหตุนั้นๆ คือว่าแต่เดิมเมื่อครั้งเมืองหลวงพระบางยังเปนเอกราชธานีใหญ่ในเวลาโน้นนั้น ฤๅเมืองลานช้าง คือเวียงจันทร์ก็เปนเอกราชใหญ่ในฝ่ายทิศเหนือตวันออกอีกตำบลหนึ่ง เมืองกำโพชาคือเมืองเขมรก็เปนเอกราชใหญ่ตำบลหนึ่งข้างทิศใต้ เมืองหงสาวดีก็เปนเอกราชใหญ่โต มีอาณาจักรกว้างขวางอำนาจมากในเวลานั้น ก็เมื่อในเวลานั้นมีเรื่องเกิดเหตุกับเมืองทั้ง ๔ นี้เปนครั้งเปนคราว ถึงว่าพระราชสาส์นของไทยกับเมืองทั้ง ๔ นั้น ได้ใช้ไปมาถึงกันก็มีอยู่ปรากฎอยู่เปนหลายครั้งหลายคราว ในการไมตรีบ้าง การศึกสงครามบ้างตามเวลา สำเนาพระราชสาส์นเก่าที่เหลือมาก็มีอยู่บ้าง ก็เปนแต่จดหมายใจความไว้ในพระราชพงศาวดารมีบ้างเล็กน้อย จะเอาแน่แท้ชัดว่าเปนฉบับเดิมไม่ได้ แต่ใจความในจดหมายเหตุนั้น พระราชสาส์นที่ไปมาถึงกันกับเมืองหงษาวดี โวหารทั้ง ๒ ฝ่ายใช้ว่าพี่ท่านน้องท่าน ตามข้างไหนชนมายุมากแลชนมายุน้อย แต่ยศศักดิ์ก็คงสำแดงเปนพระเจ้าแผ่นดินเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีความหมิ่นประมาทกัน ไม่เหมือนกรุงปักกิ่งดูถูกไทย ครั้นกาลล่วงมาภายหลัง กรุงหงษาวดีมีชัยชำนะแก่กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้ากรุงหงษาวดี ทรงตั้งพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิศณุโลก ให้เปนเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม แต่บังคับให้ขึ้นอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจกรุงหงษาวดี ครั้งนั้นพระราชสาส์นที่มีธุระต้องใช้ไปมาถึงกันแลกันนั้น ก็ยังคงใช้ว่าเปนพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดิน ถึงกันแลกันทั้ง ๒ ฝ่ายเสมออยู่ไม่ลดหย่อนยศซึ่งกันแลกัน แต่ฝ่ายไทยว่าเปนการอ่อนน้อม ข้างฝ่ายกรุงหงษาวดีว่ายกตัวสูงศักดิ์โตใหญ่ไป ถึงกระนั้นก็ยังคงเปนพระราชสาส์นออกพระนามว่าพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นภายหลังเมื่อเวลาล่วงแล้วต่อมา พระเจ้ากรุงหงษาวดีมีอำนาจใหญ่นั้นล่วงลับพระชนมายุ ฝ่ายไทยกลับแขงเมืองกระด้างกระเดื่องไป ไม่มีความอ่อนน้อมยอมขึ้นอยู่ในอำนาจกรุงหงษาวดีดุจแต่ก่อน กลับมีการศึกสงครามกันต่อเนื่องไปอีก ในระหว่างนั้นไทยแลมอญได้เขียนหนังสือไปแขวนไปทิ้งให้กันในระหว่างศึกสงครามทั้ง ๒ ฝ่าย สำนวนไทยใช้ว่าพี่ท่านน้องท่านใช้ดังอย่างเก่า แต่สำนวนกรุงหงษาวดีนั้นว่าสูงศักดิ์เกินไป แต่ยังคงเปนพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ได้ดูถูกดูแคลนเหมือนอย่างเจ๊กปักกิ่งดูถูกไทยว่าต่ำกว่าจีนปักกิ่งดังกล่าวมานั้น

แต่ฝ่ายเขมรนั้นเมื่อเวลาเปนใหญ่แท้ ก็มีแต่การศึกสงครามกับไทยไม่หยุดหย่อน พระราชสาส์นไปมาถึงกันในระหว่างศึกนั้น จะมีความว่ากันเปนประการใดก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เห็นจดหมายใจความต้นฉบับ ครั้นภายหลังเวลาล่วงไปแล้ว ฝ่ายไทยได้ไปครอบงำทำอำนาจให้เขมรพ่ายแพ้แก่ไทยแล้ว แล้วเขมรกลับกระด้างกระเดื่องแขงเมืองขึ้นอีกเปนหลายครั้ง ไทยต้องไปปราบปรามอีกทุกครั้งทุกที ภายหลังอีกนั้นเขมรกลับกระด้างกระเดื่องกับไทยอีกเล่า เมื่อทัพหงษาวดีมีมาติดกรุงไทยอีกครั้งใดคราวใด เขมรก็มาซ้ำเติมไทยทุกครั้งตามเวลาที่เปนเหตุใหญ่กับมอญพม่า ครั้นไทยวายศึกสงครามกับหงษาวดี กรุงไทยสงบอยู่ ฝ่ายเขมรก็มาอ่อนน้อมกับไทยดังนี้เปนหลายหนหลายครั้ง ครั้นภายหลังพระเจ้ากรุงกำโพชาคือเมืองเขมรนั้นแต่งให้ทูตเข้ามาขอทำความสัญญาเปนทางพระราชไมตรีกับไทย ว่าจะไม่ทำร้ายแก่กัน ถ้ามีการศึกมาติดเมืองแล้วจะต้องช่วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เปนเมืองไมตรีกัน แล้วขอแบ่งปันเขตร์แดนลงเปนเด็ดขาด ครั้นไทยยอมพร้อมกันกับเขมรทำสัญญาเสร็จแล้วไม่ช้าไม่นาน ฝ่ายกรุงหงษาวดียกกองทัพมาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าแผ่นดินเขมรโปรดให้พระอนุชาธิราชอุปราช ยกทัพเข้ามาช่วยฝ่ายไทยในราชการศึกหงษาวดีนั้น อุปราชเขมรมาถึงถวายบังคมแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ฝ่ายไทยเท่านั้น ไม่ได้คำนับพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ฤๅพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ อุปราชเขมรยกตัวตีเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒-๓ ซึ่งเปนพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ ฝ่ายไทยในเวลานั้น ฝ่ายพระราชบุตรทั้ง ๒ องค์ก็มีความขุ่นเคืองพระทัย จึงได้สำแดงอาการให้อุปราชเขมรรู้ว่าดูหมิ่น อุปราชเขมรก็มีความพิโรธในใจ แต่ในเมืองไทยนี้ไม่ว่าประการใด ครั้นกลับไปกรุงกำโพชานั้นจึงกราบทูลยุยงพระเจ้าแผ่นดินกำโพชาพระองค์ใหญ่ ให้ทำลายล้างทางพระราชไมตรีกับไทยเสีย ครั้นปีใหม่รู้ว่าไทยมีการศึกกับกรุงหงษาวดีอีก ฝ่ายเขมรก็ยกทัพมาตีบ้านเมืองปลายเขตรแดนของไทยที่อยู่ใกล้กับเขตรแดนเขมรนั้น ฝ่ายไทยครั้นสงบการศึกหงษาวดีแล้ว รู้ว่าเขมรขาดความสัตย์ จึงได้โอกาศยกทัพไปปราบปรามเมืองเขมรครั้งนี้นั้นเขมรยับเยินมากจนเขมรตั้งตัวขึ้นตีเสมอไม่ได้ ตั้งแต่ครั้งนั้นมาเขมรยับเยินมาก ครั้นภายหลังเขมรมีใจเปนแต่แปรไปปรวนมา เมื่อขุ่นเคืองข้างไทยก็ไปพึ่งญวน เมื่อขุ่นเคืองข้างญวนก็มาพึ่งไทย ฤๅลางทีขุ่นเคืองกันขึ้นเอง ฝ่ายไหนใกล้ข้างไทยก็ไปพึ่งไทย ฝ่ายไหนใกล้ญวนก็ไปพึ่งญวน การเปนแต่เช่นนี้มาจนสิ้นแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ในระหว่างนั้นได้เห็นหนังสือฉบับเก่าๆ ก็ยังคงเปนพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินต่อพระเจ้าแผ่นดินถึงกันอยู่ ไม่ได้ลดยศศักดิ์กันเช่นจีนกรุงปักกิ่ง ในเวลานั้นเขมรว่าในพระราชสาส์นพูดตกต่ำอ่อนน้อม ฝ่ายไทยในขณะนั้นมีแต่สำนวนยกตัวเปนใหญ่เพราะมีอำนาจแท้ในเวลานั้น

อนึ่งเมืองเวียงจันท์นั้น ฤๅหลวงพระบางทั้ง ๒ นคร แต่ก่อนเขาก็ไม่ได้ขึ้นแก่ไทย เขาก็เปนเอกราชใหญ่ ดูทีเหมือนเขาจะรู้ตัวว่าเปนเมืองมีอำนาจน้อย ถึงเขาจะมีพระราชสาส์นไปมาถึงไทย ก็มีแต่ว่าอ่อนน้อมตกต่ำแก่ไทยไม่กระด้างกระเดื่อง ฝ่ายไทยก็มีพระราชสาส์นไปถึงเขาอยู่เนืองๆ ก็เปนแต่คำปราสัยไม่ให้ขัดเคืองเลย ยกย่องพระเกียรติยศของลาวไว้ให้เสมอกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นเหมือนจีนปักกิ่ง

ครั้นภายหลังกรุงหงษาวดีเสียแก่พม่า พระเจ้ากรุงอังวะแต่งพระราชสาส์น โปรดให้ทูตานุทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงไทย พระราชสาส์นของพม่าเขาก็ยกย่องไทยให้เสมอกับเขา เขาไม่ได้หมิ่นเลย ดังเช่นจีนปักกิ่งนั้น แต่ทูตพม่าที่มานั้นมักกระด้างกระเดื่อง ก่อความให้ขุ่นเคืองจนขาดทางพระราชไมตรีไปด้วยเหตุต่างๆ นั้น เพราะว่าทูตพม่าลางทีก็ไม่กินของที่เลี้ยงบ้าง ลางทีไม่อ่อนน้อมกับท่านเสนาบดีไทยบ้าง เปนเหตุดังนี้เนืองๆ ว่ามาทั้งนี้ด้วยธรรมเนียมพระราชสาส์นไปมาที่เมืองใกล้เคียงกันตามสมควร แต่พระราชสาส์นที่ส่งไปส่งมานั้นลางทีไม่มีเหตุร้ายแรงก็มีแห่แหนบ้าง ถ้ามีเหตุเกิดด้วยอาการไม่สมควรแล้วก็ไม่มีแห่แหนเปนแต่ส่งไปกับทูตนั้น ว่าถึงกาลก่อนซึ่งพระราชสาส์นกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ได้ส่งไปมากับเมืองใกล้เคียงนั้นเปนเหตุอย่างไรก็ว่ามาแล้ว ลำดับนี้จะว่าด้วยธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยา ส่งพระราชสาส์นไปมากับเมืองไกลๆ ห่างก็มีบ้าง คือได้ส่งแลรับพระราชสาส์นกับเมืองวิลันดาก็มีบ้างหลายครั้งแล้ว กับเมืองฝรั่งเศสก็มีบ้าง กับเมืองละบาเนียก็มีบ้าง ได้รับสมณอักษรสาส์นของโป๊บก็มีบ้าง จนภายหลังเมื่อจวนจะเลิกร้างแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่านั้น ได้รับแลส่งพระราชสาส์นกับพระเจ้าลังกาทวีป ทรงพระนามว่าพระเจ้ากิติศิริ ครองเมืองกันดิ เปนเมืองหลวงแห่งเกาะลังกาทวีป ก็การรับแลส่งพระราชสาส์นกับเมืองไกลห่างอย่างว่ามานี้นั้น ได้จาฤกอักษรลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ เปนพระราชสาส์นแผ่นทองคำทั้งสิ้น เมื่อได้รับพระราชสาส์นตอบของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายนั้น ก็ยังคงเปนพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่าย แลมีแห่แหนส่งรับทั้ง ๒ ฝ่ายเสมอกัน แล้วบางครั้งบางคราวก็มีทูตไปมาส่งพระราชสาส์นตอบกันตามเวลาควรนั้นบ้าง ไม่เหมือนจีนอย่างกรุงปักกิ่งดูหมิ่นไทยไม่รับไทยไว้เปนไมตรี การทั้งนี้ต้นเหตุใหญ่เพราะไทยถูกหลอกถูกลวงจึงเสียพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินไทยตลอดลงมาถึงกรุงเทพมหานครนี้ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบการนี้แล้วก็กลับพระทัยหาได้ไปส่งบรรณาการแก่กรุงปักกิ่งอีกไม่

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ