- คำนำ
- ๒๘๗ ประกาศขนานนามพระพุทธปฏิมากรประจำรัชกาล
- ๒๘๘ ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามไม่ให้บวชกุลบุตรอายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร
- ๒๘๙ ประกาศเรื่องให้สึกพระสงฆ์สามเณรที่สูบฝิ่น
- ๒๙๐ ประกาศให้เรียกชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ให้เรียกว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
- ๒๙๑ ประกาศให้ทำบาญชีพระสงฆ์สามเณรที่เปนช่างทองและช่างอื่นๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๒๙๒ ประกาศให้พระสงฆ์บูชาพระแก้วมรกฎในเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ
- ๒๙๓ ประกาศเรื่องภิกษุสามเณรรักใคร่ผู้หญิงจนถึงเปนปาราชิก ให้มาลุกะโทษ จะยกโทษให้
- ๒๙๔ ประกาศห้ามไม่ให้เอาแผงไม้ไผ่ จาก, มาทำเปนพะเพิงในพระอารามหลวง
- ๒๙๕ ประกาศห้ามไม่ให้ชักสื่อแลชวนภิกษุสามเณรประพฤติอนาจาร
- ๒๙๖ ประกาศให้ใช้คำว่าฉศกแทนฉ้อศก
- ๒๙๗ ประกาศห้ามมิให้ภิกษุสามเณรคบผู้หญิงมาพูดที่กุฎี
- ๒๙๘ ประกาศเรื่องพระราชาคณะ ถานา เปรียญ สึกมากเกินไป จะต้องเข้าเดือนทำการพิมพ์
- ๒๙๙ ประกาศเรื่องให้สำรวจคฤหัสถ์อาศรัยวัด
- ๓๐๐ ประกาศว่าด้วยวิธีคิดอธิกมาศ
- ๓๐๑ ว่าด้วยวันธรรมสวนะ
- ๓๐๒ ประกาศวิธีบอกศักราช
- ๓๐๓ คำประกาศเรื่องปวารณา
- ๓๐๔ พระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา
- ๓๐๕ ประกาศว่าด้วยพระอาทิตย์ถึงดาวฤกษ์อัสยุชก็เปนมหาสงกรานต์
- ๓๐๖ ประกาศเรื่องพัชวาลวิชนี
- ๓๐๗ ประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี
- ๓๐๘ ประกาศใช้คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์
- ๓๐๙ ประกาศให้ใช้คำต่อแลคำตาย
- ๓๑๐ ประกาศให้คงใช้คำที่เรียกภูษามาลาแลวัดพนัญเชิง
- ๓๑๑ ประกาศให้เรียกคลองผดุงกรุงเกษมแลถนนเจริญกรุง
- ๓๑๒ ประกาศให้ใช้คำว่าใส่ในที่ควร
๓๐๘ ประกาศใช้คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์
มีพระบรมราชโองการ ให้กราบทูลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ให้ทรงพระดำริห์รำพึงโดยเลอียดต่อไปว่า คำว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ พี่นางเธอ น้องยาเธอ น้องนางเธอ ลูกเธอ หลานเธอ ๖ คำนี้ ฤๅเปน ๗ ทั้งคำว่าพระเจ้าลูกยาเธอ ตามพระดำริห์ในกรมฤๅทั้งเปนคำว่า พระนางเธอ ที่ทรงพระราชดำริห์ให้ใช้ขึ้นใหม่โดยอนุโลมนั้น ล้วนเห็นว่าเปนคำในโวหารภาษาไทยลาวแท้ แลคำว่า ยาที่เพิ่มเข้าเปนคำกัมพุชเขมรบ้าง ไม่เจือด้วยคำสังสกฤต ฤๅมาคธิกาเลย ถึงมีธรรมเนียมอย่างอื่นว่าจะกราบทูลว่าลูกไม่ได้ ลูกคนต้องว่าบุตร ลูกสัตว์ว่าโปฎกบ้าง ลูกไม้ว่าผลก็ดี ในคำว่าพระเจ้าลูกยาเธอนี้ก็มิได้ห้ามคำว่าลูกเปนสำคัญ แลในมหาชาติกัณฑ์มัทรีแลที่อื่นก็มักมีว่าพระลูกเอยพระลูกเจ้าดังนี้บ้าง ฟังพระเทศนาก็นวนหูอยู่ดูหากีดขวางไม่ แต่คำที่เปนคำสังสกฤต เรียกพระราชวงศานุวงศ์ในพระราชกำหนดเก่า คือตำแหน่งศักดินาแลกฎมณเฑียรบาล แลพงศาวดารก็มี ว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช พระอนุชา พระราชบุตร พระราชโอรส พระราชเอารส พระราชบุตรี พระราชธิดา พระราชนัดดา พระอัยกาธิราช พระอัยกาธิบดี พระอัยกี (ถ้าเปนพระอัยยิกา จะดี) แลตำแหน่งเจ้าข้างในว่า พระบรมอรรคชายา พระราชเทวี พระมเหษี แลอื่นๆ ฤๅตามคำพระเทศนาว่า พระภาคิไนย พระราชบิดา พระราชมารดา พระชนก พระชนนี พระมาตุลาธิบดี พระปิตุจฉา พระมาตุจฉา แลอื่นๆ อีกมากนัก ตามแต่จะว่าไปตามความรู้นั้นก็มีมาก คำเช่นนั้นก็ย่อมเอามาใช้ในบัตร์หมายอยู่บ้าง เหมือนอย่างว่าสมเด็จพระอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่โดยมากเรียกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่เรียกโดยมากว่าพระพันปีหลวง แลสมเด็จพระบรมอรรคชายา ฤๅพระบรมราชเทวี ที่เรียกโดยมากว่าสมเด็จพระพันพรรษาใหญ่แลน้อยนั้นก็มีตัวอย่างเก่าอยู่ต่างๆ ในคำคนเรียกแลหนังสือเขียน แลคำนำชื่อเจ้านายที่ตั้งเปนบัญญัติขึ้นใหม่ในรัชกาลปัตยุบันนี้ คือพระบรมวงศเธอ พระราชวรวงศเธอ พระบวรวงศเธอ พระวรวงศเธอ พระสัมพันธวงศเธอ พระวงศเธอ คำเหล่านี้ เอามานำชื่อก็ต้องใส่เธอเข้าก็ฟังกีดหูอยู่ แต่จนใจไม่รู้ที่จะใช้อย่างไร ด้วยเจ้านายซึ่งเปนพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ (ภาคิไนยหลานข้างเคียง) ในแผ่นดินที่ ๑ ครั้นถึงแผ่นดินที่ ๒ ก็เลื่อนเปนน้องยาเธอศักดินาสูงขึ้น หลานเธอตรงๆ ในแผ่นดินที่ ๑ ครั้นมาในแผ่นดินที่ ๒ บางพวกก็เลื่อนเปนลูกเธอ มีศักดินาสูงขึ้น บางพวกก็คงเปนหลานเธออยู่ อย่างพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นธิเบศรบวร แลอื่นๆ หลานเธอห่างๆ ก็คงเรียกว่าหลานเธออยู่ อย่างพระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นนราเทเวศร นเรศรโยธี เสนีบริรักษ แลบางพวกกรายเปนน้องเธอ อย่างกรมหลวงพิทักษมนตรี กรมขุนอิศรานุรักษ แลกรมหมื่นนรินทรเทพ (ฉิม) กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ (เจ่ง) แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ (มุข) ๑ กรมขุนสุนทรภูเบศร (เรือง) ๑ ไม่ได้ยินใครเรียกคำนำหน้าว่ากระไรเลยมาแต่เดิม ก็เปนอันเห็นปรากฎว่า ต่างกรมที่ไม่มีคำนำหน้านั้น เปนคนต่ำศักดิ์แลห่างเหินนักเปนอย่างมาแล้ว แลกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ ในแผ่นดินขุนหลวงสรศักดิ ๑ ในแผ่นดินขุนหลวงเอกทัต ๑ ในแผ่นดินเจ้าตาก ๑ แลกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แลกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ๓ พระนามนี้ ถึงไม่มีคำนำก็บางแห่งเห็นเขียนว่า กรมสมเด็จพระเทพามาตย์พระพันปีหลวงห้อยท้ายเปนสำคัญก็มี
อนึ่งชื่อกรมเจ้าข้างในว่า กรมหลวงประชาบดี ในแผ่นดินทรงปลา แลกรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ในแผ่นดินบรมโกษฐ แลกรมหลวงบาทบริจาริก ในแผ่นดินเจ้าตากไม่มีคำนำนาม ก็ยังเห็นคำห้อยท้ายบางแห่งในพงศาวดารว่า กรมหลวงอภัยนุชิต สมเด็จพระพันพรรษาใหญ่ กรมหลวงพิพิธมนตรี สมเด็จพระพันพรรษาน้อยดังนี้บ้าง ก็เห็นเปนอย่างได้ว่าใช้คำนำห้อยแทน คำนำกรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเปนพระเจ้าน้องนางเธอแลพระเจ้าลูกเธอ ในแผ่นดินพระนารายน์นั้น เมื่อมาถึงแผ่นดินพระเพธราชา ก็หาได้ยินเรียกว่าสมเด็จพระพันพรรษาไม่ ครั้นมาถึงแผ่นดินขุนหลวงเอกทัตนั้น ได้เห็นจดหมายเหตุว่าสมเด็จพระอัยกี กรมหลวงโยธาเทพดังนี้เปนแน่
ครั้นมาถึงแผ่นดินที่ ๓ เจ้านายซึ่งเปนพระเจ้าลูกเธอแลหลานเธอในแผ่นดินที่ ๑ แลเลื่อนเปนน้องยาเธอน้องนางเธอในแผ่นดินที่ ๒ นั้นก็ดี เจ้าเปนหลานเธอห่างๆ มาทั้งสองแผ่นดิน คือกรมนราเทเวศรนเรศรโยธี เสนีบริรักษก็ดี ก็ลงเปนผู้ที่ใครจะใช้คำนำว่ากระไรก็ใช้ชื่อนำตามบันดาศักดิ์นั้นก็เปนอันหายไป ไม่ใช้ว่ากระไรเลยหายไปหมดเหมือนกับเจ้านายห่างเหินไป เพราะถึงคำว่าพระเจ้าพี่ยาเธอดังนี้ ในพระบรมราชวงศ์นี้ เมื่อ ๓ แผ่นดินที่ล่วงแล้วมาบัดนี้ไม่มี ก็ยังได้อย่างแต่คำบัตร์หมายจดหมายซึ่งมีแล้วในแผ่นดินที่ ๑ ว่าสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษนั้นเปนอย่าง จึงได้ใช้ในครั้งนี้โดยอนุโลม
แลจะเรียกเจ้านายที่เปนเจ้าลุงเจ้าป้าเจ้าอาว์เจ้าน้า ว่าพระเจ้าลุงเธอ พระเจ้าป้าเธอ พระเจ้าอาว์เธอ พระเจ้าน้าเธอดังนี้ เพราะไม่มีคำเคยเรียกเคยเขียน ครั้นจะให้เรียกก็จะกระดากปาก จะฟังก็กระดากหู จะดูคำเขียนก็จะไม่งามแก่ตา เพราะคำว่าลุงว่าป้าว่าอาว์ว่าน้านั้นเปนคำไทยไพร่ใช้เรียกกันอยู่