๓๐๕ ประกาศว่าด้วยพระอาทิตย์ถึงดาวฤกษ์อัสยุชก็เปนมหาสงกรานต์

เมื่อพระอาทิตย์ถึงดาวอัสยุชฤกษ์เมื่อใด ก็เปนมหาสงกรานต์เมื่อนั้น ก็ดาวฤกษ์ทั้งปวงนั้นเดินเลื่อนๆ ไปจากสถานที่เปนยันต์สงกรานต์ทุกปี ๖๑-๖๒ ปีไปได้องศาหนึ่ง แต่เดิมถึงว่ามีพร้อมกันกับสามัญสงกรานต์ ขาเข้าก็เลื่อนถอยมา บัดนี้ตกอยู่เดือน ๕ แลเดือน ๖ บ้าง แต่ชื่อเดือนที่นับอ้ายยี่สามนั้น คงนับตามใกล้ต้นสี่สิ้นฤดู อธิบายเท่านี้ผู้ที่เปนโหรจงอ่านให้เข้าใจ ถ้าอยากรู้ให้เลอียดจะขอเรียนคำณวนก็จะบอกให้ได้ คนนักปราชญ์ชาววัดไม่เข้าใจอะไร ไม่รู้แล้วอย่ามาขัดเกะกะไป การที่ว่านี้มิใช่วิชาข้างสาสนาเปนวิชาโหร ก็ฤดูเช่นที่รู้กันอึงๆ นั้น เปนฤดูทางจันทร์สังเกตด้วยพระจันทร์ เมื่อใดพระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์กฤติกาตฤดู เมื่อพระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์บุรพคุณีเมื่อนั้นชื่อว่าเข้าคิมหฤดู (อย่าว่าคิมหันตอย่างบอกศักราชผิดๆ) เมื่อใดพระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์บุรพาสาฒฤๅอุตราสาฒ เมื่อนั้นชื่อว่าเข้าวัสสานฤดู(อย่าว่าวัสสันตอย่างบอกศักราชผิดๆ) ก็ฤดู ๓ นี้ฤดูหนาวที่เรียกว่าเหมันตะเปนเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเปนต้นปี ฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดู (อย่าว่าคิมหันตะ) เปนเวลาสว่างร้อนเหมือนเวลากลางวัน คนโบราณจึงได้คิดว่าเปนกลางปี ฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะ(อย่าว่าวัสสันตะพ้องฤดูอาทิตย์ไป) เปนเวลาเมื่อกลุ้มโดยมาก แลฝนพร่ำเที่ยวไปไหนไม่ได้คนโบราณจึงได้คิดว่าเปนเหมือนกลางคืน ก็คนเปนอันมากถือว่าเวลาเช้าเปนต้นวัน เวลากลางคืนเปนปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดว่าฤดูเหมันต์เปนต้นปี ฤดูวัสสานะเปนปลายปีฉันนั้น เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเปนหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย แลแต่ก่อนคนโบราณนับเอาข้างแรมเปนต้นเดือน เขานับเดือนอ้ายตั้งแต่แรมค่ำเดือนสิบสองเปนเหมือนวันตรุษสุดปี ภายหลังมีผู้ตั้งธรรมเนียมเสียใหม่ ให้เอาเวลาตัวสว่างไว้เปนต้น เวลาสว่างมากเปนกลาง เวลามืดเปนปลาย คล้ายกันกับต้นวันปลายวันแลปีดังกล่าวแล้ว แต่บังคับวินัยในพุทธสาสนาก็ยังคงอยู่เหมือนอย่างเดือนๆ ภายในพรรษาก็ดีเดือนกฐินก็ดี เดือนอานิสงส์กฐิน ๔ เดือนก็ดี เดือนแสวงหาวัสสิกสาฏิกาเดือนหนึ่งนั้นก็ดี ก็ย่อมนับเอาแรมค่ำหนึ่งเปนต้นวันเพ็ญเปนปลายหมด ในคำบอกฤดูเมื่อทวนถามอุโบสถว่า (อุตูนิธ ปนสาสเน เหมนฺตคิมฺหวสฺสานานํ วเสนตีณิ โหนฺติ) ดังนี้ ออกชื่อเหมันต์เปนต้น คิมหะเปนกลาง วัสสานะเปนปลายต้องกับตำราที่ว่ามานี้หมด เพราะในพระพุทธสาสนา ตรุษสารทสงกรานต์เช่นถืออยู่ว่าเปนวันทำบุญให้ทานทุกวันนี้ไม่มี เปนแต่ของข้างโหรข้างพราหมณ์มากลับกลายเจือปนไป

อธิบายเท่านี้ ถ้าผู้อ่านตริตรองก็พอจะเข้าใจแล้ว จงอ่านกำหนดวิเศษในปีฉลูสัปตศกนี้ ตามชื่อสงกรานต์สามประการดังที่ว่านั้นเถิด

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ