๓๐๖ ประกาศเรื่องพัชวาลวิชนี

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้เล่าความหลังให้ท่านทั้งปวงฟัง แลเตือนสติให้ท่านทั้งปวงรำพึงดู แต่ก่อนมาคุมบัดนี้ ก็เปนอย่างประเพณีผู้มียศในพระสงฆ์ ท่านองค์ใดรูปใดเปนราชาคณะถานานุกรมแลเจ้าอธิการก็ไม่ได้ถือตาลิปัตรใบลานตามธรรมเนียม ถือพัชนีแทนตาลิปัตรทุกแห่งทุกตำบลสืบๆ มา ก็ฝ่ายคฤหัสถ์นั้น แต่ก่อนนับถือพัชนีเปนเครื่องยศ แม้นในหลวงอยู่งานในที่พระบันธม แลที่ทรงเครื่องแลที่เสวย ฤๅมหาดเล็กอยู่งานข้างหน้าก็ใช้พัชนีทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อเสด็จออกแขกเมือง ฤๅออกพลับพลาจึงอยู่งานพัดโบก ว่าด้วยเจ้านายทั้งปวงก็ใช้พัชนีเปนเครื่องยศอยู่งานทุกหนทุกแห่ง ขุนนางแห่สระสนาน แลแห่ยืนชิงช้าก็มีทนายแบกพัชนีตามสองเล่ม เมื่อลงจากชิงช้าไปแคร่แล้วทนายก็ถือพัชนีพัดไปทั้งสองข้าง เพราะแต่เดิมชาวบ้านใช้พัชนีเปนเครื่องยศอย่างนี้แล้ว บางทีผู้มียศเปนเจ้าของพัชนีล้มตายหายจากไป ก็เก็บเอาพัชนีใช้เปนเครื่องยศนั้น ถวายพระสงฆ์ไปใช้เปนตาลิปัตร ฝ่ายพระสงฆ์ได้เครื่องยศของคนคฤหัสถ์ไปใช้ก็ดีใจว่าได้ของผู้ดี ก็ให้ลูกศิษย์ถือพัดวีปฏิบัติตัวตามยศบ้าง ถือเปนตาลิปัตรบ้าง นับถือกันว่าเปนพระสงฆ์มีบันดาศักดิ์จึงใช้พัชนี ความนี้เปรียบเหมือนเครื่องลำยองฉ้อฟ้าใบรกา นาคเหมือนนาคเสี้ยวหางหงษ์ เครื่องประดับหลังคาแลซุ้มจรนำคูหา เครื่องเหล่านี้เดิมก็เปนเครื่องประดับสำหรับราชอิศริยยศ คือทำในพระที่นั่งน้อยใหญ่ในพระราชวัง แลตำหนักเจ้านายในพระราชวังแลวังต่างๆ ภายหลังในหลวงทรงพระราชศรัทธาให้ไปทำถวายในพระสาสนา คือทำในพระวิหารพระอุโบสถหอไตรโรงธรรมกุฎีที่อยู่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ฝ่ายพระสงฆ์เมื่อได้ของอย่างเช่นพระราชวังแลวังเจ้า พระเจ้าแผ่นดินให้มีขึ้นในวัด ก็ชอบใจดีใจ ก็ผู้ที่จะปฏิบัติพระสงฆ์ให้ชอบใจ แลจะทำบุญให้มากก็ทำถวายขึ้น สร้างขึ้นชุกชุมมากทั้งหัวเมืองแลในกรุง อย่างพัชนีแม้นไม่มีเจ้าของเสียหายล้มตาย ผู้ที่จะทำบุญเห็นว่าพระสงฆ์ชอบใจมากอยากถืออยากจะใช้ ก็ทำขึ้นถวายเปนการบุญไป จนถึงมีผู้ทำพัชนีเจ็ดก้านเจ็ดซี่ไม่ครบเก้าอย่างธรรมเนียมหลวง ปิดโหมดปิดแพรปักขายเปนเครื่องสำหรับผู้ซื้อไปทำบุญให้ทาน ครั้นกาลนานมาพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ก็รู้จัดชัด ว่าพัดเก้าซี่เก้าเส้นเปนพัดอย่างเครื่องยศแท้ ก็พัดเจ็ดซี่นั้นเปนแต่ของคนทำขายโดยความมักง่าย หามีท่านองค์ใดใช้ไม่ ยังหลงใช้แต่พระสงฆ์บ้านนอกขอกนา ไม่สังเกตสังกาจึงยังใช้อยู่ แต่การข้างบ้านนานมาแล้วก็ผันแปรไป แต่ฝ่ายพระสงฆ์ยังไม่หันเหียนตามไปเลย เปรียบเหมือนอย่างเครื่องลำยองฉ้อฟ้าใบรกาซุ้มจรนำ เมื่อมีผู้ทำที่วัดมากมายหลายแห่งหลายตำบล มากไปกว่าพระราชมณเฑียรแลตำหนักเจ้านาย ตาคนทั้งหลายที่เห็นของอย่างนี้มีในวัดโดยมาก ก็สำคัญเสียว่าของอย่างนี้เปนของวัดไม่ใช่ของบ้าน คนไปมาต่างๆ ก็มักว่าพระราชมณเฑียรเหมือนพระวิหารแลพระอุโบสถ แต่แรกเห็นนึกว่าวัดเล่า ตำหนักเจ้าก็ว่าเหมือนโรงธรรมกุฏิวัด เมื่อแรกเห็นนึกว่าวัดเล่า เพราะการเปนดังนี้เจ้านายทั้งปวงก็อายไป ถึงสร้างวังสร้างตำหนักก็ยักย้ายเปนตึกเปนเก๋งไปต่างๆ ไม่ใคร่จะทำลำยองฉ้อฟ้าใบรกา จนในหลวงก็ทนไม่ได้ พระที่นั่งใหม่ๆ ก็ยักย้ายเปนตึกมีลายปั้นประหลาดๆ ไป ยังคงเปนลำยองฉ้อฟ้าใบรกาอยู่แต่ของเก่าๆ แลที่ไว้พระพุทธรูป ซุ้มจรนำนั้นลางแห่งก็แปลงของเก่าเสีย เปนซุ้มลายปั้นต่างๆ ไปก็มี เพราะรังเกียจที่คนไปมาว่าเหมือนวัดนั้นเปนเหตุฉันใด ถึงพัชนีข้างชาวบ้านก็เกลียดอายหายนับถือมานานแล้ว เพราะเหตุเห็นพระสงฆ์ผู้มียศเอาไปถือเปนตาลิปัตรทุกหนทุกแห่งไป มากกว่าผู้ที่ใช้ในบ้าน แต่ครั้งปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้านายเปนอันมากหลายแห่งด้วยกันเลิกพัชนีเสียไม่ใช้ ใช้พัดขนนกเปนเครื่องอยู่งาน ยังคงใช้อยู่แต่ในหลวง ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพัดอยู่งานก็ใช้พัดขนนกสิ้นทั้งข้างหน้าข้างใน พัชนีของเก่าที่มีด้ำเปนทอง เปนแต่สำหรับเชิญตามเสด็จฤๅปักหน้ากัญญาเรือที่นั่งไปตามเคยอย่างแต่ก่อน มาถึงแผ่นดินปัตยุบันนี้พัชนีเลิกลุทีเดียว ถึงพัดด้ำทองก็ด้ำทองต่อเข้ากับขนนกไม่ได้ใช้พัชนีหุ้มโหมดหุ้มตาดเลย พัชนียังเหลือใช้ในข้างบ้านบัดนี้อยู่สองอย่าง คือสำหรับอยู่งานเจ้านายเล็กๆ เมื่อไปนั่งฟังสวดฤๅสมโภชโสกันต์อย่างหนึ่ง สำหรับเล่นลครมีนางไปนั่งพัดตัวยืนเครื่องเมื่อทำบทรำลงสรงทรงเครื่องอย่างหนึ่ง ก็การเล่นลครนั้นเอาการโบราณมาแสดง เหมือนกับผู้หญิงโบราณไว้ผมยาว ลครก็รัดช้องทำผมยาวเหมือนคนโบราณ แลอยู่งานโสกันต์เจ้านั้น เพราะการโสกันต์คล้ายกับเล่นลคร อย่างมยุรฉัตรแลเชิญเครื่องใกล้การเล่นลครทีเดียว พัชนีใช้ข้างบ้านยังเหลืออยู่แต่เท่านี้ นอกนั้นถึงพัชนีทำขึ้นก็เปนแต่สำหรับถวายพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ยังคงชอบใจว่าเปนเครื่องประดับสำหรับยศผู้ใหญ่ ไม่กระดิกเลยจนเท่าทุกวันนี้ ก็แต่ยังได้ยินพระสงฆ์รูปหนึ่งว่าประหลาดอยู่ด้วยพัชนี แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หามีผู้ใดเอาใจตามไม่ ท่านผู้นั้นคือพระญาณสมโพธิ (ด้วง) วัดนาคกลาง ท่านนั้นแม้นเปนพระราชาคณะแล้ว ไม่ถือพัชนีเลย คงถืออยู่แต่ตาลิปัตรใบตาล แต่ตัดด้ำเสียให้สั้นผิดกันกับพระสงฆ์อนุจรน่อยหนึ่ง เพื่อจะได้ถือพัดโบกลมเองโดยสดวกด้วย เมื่อมีผู้ทักถามท่านว่าทำไมเจ้าคุณจึงไม่ถือพัชนีอย่างท่านทั้งปวงที่มีบันดาศักดิ์ ท่านตอบว่าพัชนีนั้นท่านคิดไปดูรูปร่างเห็นเปนหน้าบัดสี ใครคิดอ่านทำขึ้นเมื่อไร ให้เปนรูปอย่างนี้ ผู้นั้นจะไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดเลย ทำขึ้นโดยใจมักง่าย ท่านทั้งหลายที่รับใช้ก็ดีใจใช้ไปไม่มีสตินึกได้บ้างเลย ว่ารูปร่างไม่ดีไม่เปนมงคลเลย เอามาถือบังหน้าบังตาครอบหัวครอบหูอย่างไรมิรู้อยู่หน้ารำคาญใจ คิดดูเถิดบ้านอื่นเมืองอื่น พระสงฆ์ที่มีตาลิปัตรยักอย่างไปต่างๆ อย่างตาลิปัตรพม่าก็เปนใบตาลก้านขด อย่างลังกาก็เปนพัดด้ำงา วงพัดดังรูปไข่มนๆ พัดจีนเปนอันมากหลายอย่าง ทั้งของเลว ที่ง้อมมาข้างหน้าก็มีที่ขึงอยู่ก็มี ก็ไม่มีเปนเช่นพัชนีของไทยเลย พัชนีของไทยนี้รูปร่างน่ารังเกียจหน้าบัดสีนัก ผู้ที่ทำที่ใช้ไม่คิดดูบ้างเลย ว่ารูปร่างไม่สู้ชอบกล แล้วท่านจึงว่าไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเครื่องมือของไทยอิกอย่างหนึ่ง รูปร่างก็คล้ายพัชนี คือจวักที่เรียกว่าจ่าหวักก็ดี คนใช้ก็ดีนั้นรูปร่างที่ทำใช้ในไทยก็ไม่ชอบกลเหมือนพัชนี ก็เครื่องจ่าหวักของเมืองอื่นเช่นเห็นอยู่กลุ้มๆ อย่างของจีนทำหมี่เขาก็ทำด้วยเหล็กเปนดังปากจอบปากเสียมมีบ้องเข้าด้ำ เขาไม่ทำอย่างจวักของไทย ก็จวักของไทยนั้นชาวไทยถือลัทธิแลใช้ก็เถียงกันอยู่เอง ก็เมื่อยามใช้เอามาใช้ตักเข้ากวนแกง ซึ่งจะขึ้นถ้วยขึ้นชามขึ้นสำรับ เปนของดีของมงคลที่กลืนกินเข้าไป แต่ชื่อแห่งจวักนั้นเปนของหยาบสำหรับไว้ด่าไว้ว่าท้าว่าจะสับเสี่ยงอะไรเล่า ฤๅถ้าเจ้าขุนมูลนายเอาสิ่งนั้นสับโขกตีรันบ่าวไพร่ ก็ถือว่าเปนอัปมงคลใหญ่ ฟ้องร้องจนถึงหลุดค่าตัวทาสเล่า การอันนี้ก็เถียงกันอยู่ ซึ่งท่านว่าดังนี้ก็จริงของท่าน พัชนีสิ่งหนึ่งจวักสิ่งหนึ่ง ของสองอย่างนี้ เฉภาะมีอยู่แต่เมืองไทย ก็เครื่องตักเข้าตักแกงก็ดีพัดก็ดี ที่เขาใช้ในประเทศต่างๆ อย่างที่เราเห็นอยู่บัดนี้ทั้งของจีนแลของฝรั่ง รูปร่างไม่เช่นพัชนีแลจวักของไทยเลย แลซึ่งพระญาณสมโพธิ (ด้วง) ว่าด้วยการใช้จวักตักเข้าตักแกงไม่เปนมงคลนั้น ท่านว่าถูกแต่การข้างนอก แต่การในเครื่องต้น แลเครื่องเจ้านายที่มีบันดาศักดิ์สูง เขาไม่ใช้มานานแล้ว เขามีทับพีทองเหลือง ทำรูปเหมือนช้อน ต้นใหญ่ปลายย่อม ใช้ทำเครื่องมานานแล้วแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบต้นเลย ก็ครั้งนี้ทรงพระราชดำริห์จะใคร่ให้พระสงฆ์เลิกใช้พัชนีเสีย จะกลับทำพัดโครงไม้ไผ่ขึงๆ ปิดแพรปิดโหมด ถวายใช้เปนอย่างพระสงฆ์จะยอมฤๅไม่ยอมไม่ทราบเลย การก็เคยมานานแล้ว ถ้าพระสงฆ์ยังชอบใจจะคงใช้อยู่ก็ตาม

บัดนี้ทรงพระราชดำริห์รำคาญขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ด้วยการหวีผมมหาดไทยของข้าราชการฝ่ายหน้า เมื่อเวลาตัดผมใหม่ เรือนผมข้างบนของคนที่เรียกว่าศีร์ษะฉอกๆ ฤๅขยับจะฉอกนั้น ข้างหน้าก็เสี้ยวเล็ก ข้างท้ายก็กางออกไป แล้วหวีโหย่งโป่งขึ้นไปตามรูปศีร์ษะ ก็ดูคล้ายเหมือนรูปพัชนีไปปกอยู่แล้ว มิหนำซ้ำหวีให้เปนแสกแหวกร่องตรงกลาง แตกขึ้นไปอยู่ครึ่งเรือนผมใกล้กลางกระหม่อมนั้นจะดีงามอย่างไร เรือนผมพวกที่หวีอย่างนั้นเช่นนี้ การหวีผมเปนแสกเช่นนี้ ในเรือนผมเช่นนี้ดูไม่ชอบกลเลย ฝรั่งอังกฤษผู้ชายที่เขาหวีผมเปนแสก เขาไม่ไว้แสกตรงกลาง เขาไว้แสกเยื้องข้างๆ โดยมากนั้นเขากระดากอย่างไรจงคิดดู ผมรัดช้องนางลครมีแสกตรงกลางก็หุ้มไปทั้งศีร์ษะแล้วก็รัดเกล้าครอบ ผู้หญิงอังกฤษถึงเกล้าผมมีแสกกลาง ก็ผมเขามีทั้งศีร์ษะ เขาถักเปียห้อยปอยบ้าง เกล้าให้พองด้านข้างบ้าง ศีร์ษะเขาก็ไม่เปนเรือนผมอย่างรูปพัชนี ก็เรือนผมมหาดไทยของไทยนี้ เคยเปนอย่างนี้มานานแล้ว จะให้เลิกถอนเสียไม่ได้ แต่จะขอเสียอย่าให้หวีเปนแสกแยกกลาง ยกเปนพูเปนแคมสองข้างอย่างเช่นเขียนมานั้นจะได้ฤๅไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่สู้ชอบกลเลย ฤๅกลัวคุณมารดาจะไม่อยู่บนศีร์ษะเล่า สังเกตดูใจผู้ชายฝ่ายไทยที่ไปเที่ยวไกลๆ ก็ไม่สู้พอใจตัดผมอย่างไทยก็มีมากอยู่ดอก แต่อยู่กับบ้านกับเมืองก็ต้องทำเหมือนๆ กันนั้นดีแล้ว แต่การที่หวีเปนแสกอย่างเช่นเขียนมานี้ ก็ไม่เปนธรรมเนียมไทยตั้งมั่นดังเรือนผมดอก อยากจะขอยกเสีย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ