๓๐๔ พระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา

มีพระราชกำหนดบังคับไว้เปนแน่แก่กรมพระโหรหน้าโหรหลังในพระบรมมหาราชวัง ในพระบวรราชวัง แลชาวพนักงานรักษานาฬิกาตีทุ่มยามในที่ทุกแห่ง ให้รู้แน่ในลักษณที่จะหมุนนาฬิกาผ่อนทุ่มยามให้เปนไปตามเทศจารีต แลฤดูพระอาทิตย์ที่ยักย้ายไปสมควรแก่ประเทศนี้ให้พึงรู้ความชี้แจงก่อนว่า แต่เดิมทีคนโบราณในประเทศนี้ มีสติที่จะสังเกตแลปัญญาที่จะรู้เหตุผลในที่จะกำหนดกาลเวลาทุ่มโมงให้เรียบร้อยแน่นอนนั้นยังหยาบนัก รู้จักแต่ว่ามืดเปนกลางคืน สว่างเปนกลางวัน แลว่ากลางคืนก็ ๑๒ ทุ่ม แลกลางวันก็ ๑๒ โมงเท่ากันเปนนิจ จึงได้ตั้งแบบอย่างเปนตำรารู้ทั่วกันเปนอันขาดมาเสีย ให้ตีกลางคืน ๑๒ ทุ่ม กลางวัน ๑๒ โมงเสมอไป สว่างเมื่อไรจึงย่ำรุ่ง ต่อมืดเมื่อไรจึงย่ำค่ำได้ จนวันไรมืดฝนเวลาเย็นก็ด่วนย่ำค่ำเร็วไป มืดฝนเวลาจวนรุ่งก็ย่ำรุ่งสายไปบ้างไม่แน่นอน ว่าที่แท้กลางคืนกลางวันไม่เท่ากันทุกฤดูผ่อนไปผ่อนมาอยู่ เพราะพระอาทิตย์เมื่อเวลาเที่ยงจะตั้งตรงศีร์ษะคนยืนในประเทศนี้เปนนิจทุกวันก็หามิได้ ย่อมปัดขึ้นเหนือทุกวัน แล้วกลับปัดมาข้างใต้ทุกวันตามฤดูตลอดปี การที่เปนอย่างนี้ผู้จะสังเกตดูให้รู้ก็น้อยตัวนัก เปนแต่สำคัญกันโดยมาก ว่าเวลาเที่ยงแล้วแดดก็ตรงศีร์ษะคนยืนกลางแจ้งทุกวัน ผู้ที่จะรู้การที่พระอาทิตย์เที่ยงผันไปเหนือใต้ดังนี้นั้น จะมีอยู่บ้างก็แต่โหรที่เรียนรู้มาศฉายา ฤๅชาววัดที่มีคติอาจารย์ถือตำราเหยียบชั้นฉันเพนบ้าง ฤๅชาวบ้านที่มักสังเกตเล็กน้อย สังเกตแดดที่เข้าไปทางหน้าต่างผันไปผันมา ฤๅเงาเย่าเรือนเมื่อเวลาเที่ยงร่มไปข้างเหนือมากในฤดูหนาว ร่มไปข้างใต้ในฤดูร้อน ที่ต่อกับฤดูฝนก็ว่ากันอยู่บ้าง ว่าพระอาทิตย์เที่ยงผันเหนือผันใต้ ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครสำคัญตลอดไปว่ากลางคืนกลางวันไม่เท่ากันทุกฤดูดังว่านี้เลย เพราะลงใจเชื่อเปนหนึ่งว่านาฬิกาตี ๑๒ ทุ่ม ๑๒ โมงอยู่เปนนิจมิได้ผิดเลย ฝ่ายชาวนาฬิกาที่ใช้นาฬิกาขันลอยน้ำเฝ้าดูอยู่เปนนิจนั้น เห็นเข้าใจได้บ้างว่าลางฤดูกลางวันมากไปกลางคืนน้อย ลางฤดูทุ่มโมงกลางวันกลางคืนจึงเสมอเท่ากันทุกขัน ถึงกระนั้นจะยักย้ายธรรมเนียมใหม่คือให้เอากลางวันเปน ๑๓ โมง๑๔ โมง กลางคืนเปน ๑๐ โมง ๑๑ โมง ฤๅจะย่ำค่ำต่อวันย่ำรุ่งต่อสายตามขณะขันจมเปนจริงนั้นก็ไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อกลับติเตียนว่าตีนาฬิกาไม่ถูก ชาวนาฬิกาก็ต้องหนุนๆ ล่มๆ ผิดๆ ถูกๆ ไป จะจัดแจงให้เรียบร้อยเสมอกันก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักลักษณพระอาทิตย์โคจรตามฤดูเปนเที่ยงได้ ไม่มีใครวางกำหนดให้ตามฤดู เพราะฉนั้นทุ่มโมงหลายแห่งก็ตีไม่ถูกกัน ผิดกันหลายบาทนาฬิกา แต่คนทั้งปวงในพระนครโดยมาก ก็เชื่อว่าทุ่มโมงในพระบรมมหาราชวัง ในพระบวรราชวังถูกต้องแน่นอนเปนนิจ เพราะมีผู้พนักงานผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอยู่แลตรวจตรา แลมีพระโหราจารย์กำกับดูแลอยู่ ฝ่ายพนักงานเมื่อจะบอกบาทนาฬิกาตามฤกษ์ยามที่โหรให้ในกาลใดๆ เมื่อฤดูต้องหนุน ต้องล่ม ก็คเนบอกบาทขาดๆ เกินๆ ผิดๆ ไป คงให้ได้ความแต่ว่าโมงละ ๑๐ บาทอยู่นั้นเอง ดูการฟั่นเฟือนเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะนัก หน้าเปนที่อัปรยศอดสูแก่แขกเมืองคนนอกประเทศที่เขาใช้นาฬิกากลใส่พกติดตัวเที่ยวมาเที่ยวไป เขาจะได้ยินทุ่มโมงที่ตีสั้นๆ ยาวๆ ผิดไปกว่าทุ่มโมงที่จริงนั้น จะเปนเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ ว่าเมืองเราใช้เครื่องมือนับทุ่มโมงเวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำณวนความดำเนินพระอาทิตย์ในฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกาที่ดีมาหลายปี ทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการแจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ