บทนำเรื่อง
พิเภกสอนบุตรแต่งเป็นคำกลอนสุภาษิต ผู้แต่ง คือ พระธรรมศาสตร์ (สุข) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์ครั้งนี้ใช้ต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนสุภาษิตและคำสอน จำนวน ๓ เล่มสมุดไทย คือ เลขที่ ๓ เลขที่ ๖ และเลขที่ ๗ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๕/๓ มัดที่ ๒ ทั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ในตอนต้นเรื่องมีโคลงเป็นบทนำเรื่องว่า
พิ ลาปเล่าลูกแล้ว | แลโฉม |
เภก พักตร์หนักทรวงโทรม | โศกแส้ |
สอน สาวสั่งสองโลม | ลานสวาสดิ์ |
บุตร เบญกายหมายแม้ | ไม่ม้วยมาเมือง |
พิเภกสอนบุตรมาจากเรื่องรามเกียรติ์วรรณกรรมเอกของไทย มีเนื้อเรื่องกล่าวถึงตอนที่พิเภกได้ถวายพยากรณ์ให้ทศกัณฐ์ ด้วยเหตุที่ทศกัณฐ์ทรงสุบินในลางบอกเหตุว่าทศกัณฐ์จะถึงคราวมรณสัญญา และได้ขอให้พิเภกทำนายฝันและบอกพิธีสะเดาะพระเคราะห์ แต่พิเภกแนะนำให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนกลับไปให้พระราม ทศกัณฐ์กริ้ว ไม่พอใจคำทำนายและคำแนะนำของพิเภกจึงให้ริบราชบาทว์แล้วเนรเทศพิเภกให้ออกไปจากกรุงลงกา แต่ก่อนที่จะจากไปพิเภกได้เรียกนางตรีชฎาผู้เป็นชายาและนางเบญกายธิดามาให้โอวาทและสั่งสอนในหลักการประพฤติปฏิบัติ ให้รู้จักหน้าที่ของตนที่พึงปฏิบัติทั้งต่อเจ้านาย สามี ข้าทาส บริวาร เรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านาย ให้รู้จักปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความขยันขันแข็ง รู้จักแต่งกายที่เหมาะสม ให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย และรู้จักการเลือกใช้คำพูดที่ดีงาม โอวาทและคำสั่งสอนของพิเภกเหล่านี้ ได้ให้ข้อคิดและแนวทางการปฏิบัติตนของการเป็นกุลสตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นค่านิยมในสังคมไทยและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน
คำสอนของพิเภกที่สอนแก่เบญกายให้ปฏิบัติตนเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และฝึกฝนการทำอาหารทั้งของคาวของหวาน และการช่างฝีมือ
ตัวเป็นหญิงสิ่งไรไม่สันทัด | ให้เจนจัดในทำนองของคาวหวาน |
ถึงจะเป็นเจ้าจอมหม่อมพนักงาน | จงโปรดปรานได้ชื่อเป็นมือดี |
สารพัดหัดให้เห็นเป็นวิชา | เขาย่อมว่าชาววังช่างบายศรี |
รู้ไว้เผื่อเมื่อหน้าได้สามี | ถึงเป็นที่ท่านผู้หญิงอย่าทิ้งครัว |
ดูจัดแจงแต่งหาโภชาหาร | พนักงานของสตรีแม้นมีผัว |
ให้เกรงกราบสามีเป็นที่กลัว | รู้ฝากตัวรักกายเสียดายงาม |
สอนให้มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย แต่งกายให้เหมาะสมและรู้จักบำรุงรักษาร่างกาย
เจ้าเป็นบุตรสุดรักของบิตุเรศ | ดั่งดวงเนตรควรเมืองเบื้องขวา |
เจ้าจงจำคำคิดถึงบิดา | จะเจรจาลุกนั่งแลนอนเดิน |
อิริยาบถสี่เป็นที่ยิ่ง | รักษาสิ่งสัตย์สุดสรรเสริญ |
สำรวมเนตรสังเกตใจอย่าได้เมิน | นุ่งประเชินห่มเจียมเสงี่ยมจน |
และ
เป็นนารีที่จำเริญบำรุงร่าง | จงสำอางเอี่ยมสะอาดฉลาดเฉลย |
ให้หอมหวนชวนชื่นรื่นรำเพย | ชอบชายเชยชมเชิงละเลิงโลม |
สัมผัสสี่มีรูปรสแลกลิ่นเสียง | นี้แท้เที่ยงเครื่องประดับสำหรับโฉม |
เป็นที่ชื่นหมื่นชายหมายประโลม | จะน้อมโน้มนำเสน่ห์สนิทนาน |
สอนให้รู้จักระมัดระวังในการใช้คำพูด ถ้าพูดดีมีแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะเกิดคุณแก่ตนเอง แต่ถ้าพูดในสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้องคำพูดนั้นก็จะกลับมาทำลายตนเอง
อันวาจาอัชฌาไม่ลงทุน | แต่มีคุณเป็นประโยชน์ไม่โหดหาย |
ถ้าพูดผิดคิดเข้าติดลอบตาย | ทั้งหญิงชายเหมือนกันสำคัญลิ้น |
อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก | ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน |
จะเป็นต้นก็แต่กลกันการกิน | ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา |
นอกจากคำสอนที่ให้รู้จักปฏิบัติตนเป็นกุลสตรีที่ดีงามแล้ว พิเภกยังให้โอวาทและสอนให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านาย และให้ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความขยันขันแข็ง
จงสัตย์ซื่อสวามิภักดิ์รักนาย | อย่ามองหมายถมทับลับหลัง |
ให้รู้เก็บรู้กินสิ้นหรือยัง | นายสั่งทำการอย่าคร้านแช |
แม้นนายทุกข์เจ้าอย่าสุขเกษมเสียง | จงคอยเคียงนิ่งนั่งฟังกระแส |
ถ้าอยู่ไกลไม่ทันจะผันแปร | แม้นายใช้อย่าได้แชให้ช้าเชือน |
เรื่องพิเภกสอนบุตรนี้ นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดการปฏิบัติตนที่เป็นคติสอนใจแล้วยังมีการอ้างถึงวรรณกรรมไทยหลายเรื่องที่กวีผู้แต่งหยิบยกนำมาเปรียบเทียบให้เห็นในเรื่องของหลักการปฏิบัติตนของสตรี เช่น เรื่องกากี อุณรุท และกฤษณาสอนน้อง เช่น
อนึ่งนางสาวใช้ในปราสาท | จะพลั้งพลาดเล็กน้อยค่อยไต่ถาม |
จงไว้หูฟังหูอย่าวู่วาม | พูดให้งามไพร่ผู้ดีมีเมตตา |
อย่าถือผิดเป็นชอบประกอบสัตย์ | ระวังไว้ในสวัสดิรักษา |
เป็นสตรีที่ชั่วทั่วนินทา | เหมือนนางกากีกลกับคนธรรพ์ |
ที่กรุงพาณสอนอุษาธิดาท้าว | เธอว่ากล่าวควรจะชมคมสัน |
กฤษณาสอนน้องของสำคัญ | คงผ่อนผันเลือกใช้ที่ได้การ |
เรื่องพิเภกสอนบุตรของพระธรรมศาสตร์ (ศุข) นี้มุ่งจะเสนอคติสอนใจมากกว่าความไพเราะของสำนวนโวหาร ซึ่งคติสอนใจเหล่านี้ยังคงเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากหากเลือกที่จะนำมาปรับใช้ในวิถีชีวิตสังคมไทยปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร, กรม. ประชุมสุภาษิตฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร: ผ่านฟ้าวิทยา, ๒๕๐๘.
นาคะประทีป (นามแฝง). สมญาภิธานรามเกียรติ์. พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕.