บทนำเรื่อง
เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์นี้มีปรากฏอยู่ ๒ ฉบับคือ ฉบับกรุงธนบุรีและฉบับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับกรุงธนบุรี ตามที่ปรากฏต้นฉบับในหนังสือสมุดไทยมี ๖ เล่ม ตั้งแต่เลขที่ ๗๓ – ๗๘ ผู้แต่งคือ “พระยาราชสุภาวดี” และ “พระภิกษุอินท์” ได้ร่วมกันแต่งซ่อมสำนวนเก่าที่ลบเลือนสูญหาย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสำนวนสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยระบุไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า
เริ่มกลอนบพิตรท่าน | พระยาราชสุภา - |
วดีลิขิตตรา | แสดงนามโดยมี |
ผู้ช่วยบริรักษ์ | นราโลกพราหมณ์ชี |
ในกรุงนครศรี | ธรรมราชบุรินทร์ |
ทุกกาลผดุงการ | ประกอบชอบ บ เว้นถวิล |
ซึ่งเป็นฉบับจิน - | ตนาท่าน บ ให้สูญ |
นางกฤษณานาถ | ก็มีเรื่องบริบูรณ์ |
สมุดเดิมก็เศร้าสูญ | สลายลบ บ เป็นผล |
เชิญเราชิโนรส | พระนามอินทนิพนธ์ |
พจนารถอนุสนธิ์ | จำหลักฉันทจองกลอน |
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับกรุงธนบุรีเป็นวรรณคดีคำฉันท์ชั้นครูเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า ท้าวพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี มีพระมเหสีชื่อ บุษบา มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชธิดาองค์ใหญ่ชื่อว่า นางกฤษณา และพระราชธิดาองค์เล็กชื่อว่า จรับประภา (มีสมุดไทยบางเล่มชื่อว่า นางจันทรประภา หรือ จิรประภา) ท้าวพรหมทัต พระบิดาจัดให้มีการสยุมพร โดยนางกฤษณาได้อภิเษกสมรส มีพระสวามีในคราวเดียวกันถึง ๕ พระองค์ ส่วนนางจรับประภามีพระสวามีเพียงพระองค์เดียว แต่นางกลับมีปัญหาในการครองคู่ พระสวามีไม่ทรงโปรดและไม่เป็นที่สนิทเสน่หา นางจึงมีแต่ความทุกข์โศกตรอมใจ และมีพระวรกายซูบผอม หมดสง่าราศี แต่การณ์กลับตรงกันข้ามกับนางกฤษณาซึ่งครองสุขกับพระภัสดาทั้ง ๕ เป็นที่รักใคร่และยำเกรงพระทัยของพระภัสดาทุกพระองค์ นางจรับประภาจึงไปทูลถามถึงเหตุแห่งความสุข ความปรองดองในการครองชีวิตคู่ว่านางกฤษณามีวิธีการ เคล็ดลับหรือใช้เวทมนตร์คุณไสยวิเศษใดถึงสามารถครองคู่กับพระภัสดาทั้ง ๕ พระองค์ได้อย่างราบรื่น โดยปราศจากฉันทาคติ นางกฤษณาจึงอธิบายและสอนนางจรับประภาว่า เพราะนางวางองค์ได้อย่างเหมาะสมในการเป็นพระชายา นางประพฤติปฏิบัติตนด้วยการผูกไมตรี รู้จักการครองตน มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระสวามี รู้จักอุปนิสัยและจิตใจของพระสวามี ไม่ข่มเหงดูถูกผู้ที่ต่ำต้อยกว่า รู้จักรักษากิริยามารยาท นางมิได้กระทำมนตร์เสน่ห์ให้พระสวามีหลงใหลแต่ประการใด เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ก่อให้เกิดโทษมากกว่าที่จะเป็นคุณ เป็นการกระทำของหญิงชั่วที่ไม่พึงยึดเป็นแบบอย่าง นางกฤษณาจึงสั่งสอนนางจรับประภาให้รู้จักหลักการครองชีวิตคู่ว่าสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดไม่ควรกระทำ ให้รู้จักหน้าที่ของภรรยา ทั้งยังสอนในเรื่องศีลธรรม จรรยา การทำความดี และเมื่อนางจรับประภานำคำสอนของนางกฤษณาไปปฏิบัติตาม นางก็สามารถครองชีวิตคู่กับพระสวามีได้อย่างมีความสุขเช่นกัน
เนื้อหาของเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์เป็นคำสอนที่แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของไทยในอดีตที่สอนความประพฤติข้อควรปฏิบัติของสตรีและหน้าที่ของการเป็นภรรยาที่ดี คำสอนและข้อปฏิบัติกิริยาอาการบางอย่างของสตรีในกฤษณาสอนน้องคำฉันท์นี้ยังคงเป็นแบบอย่างและเป็นแนวทางการปฏิบัติที่สังคมไทยในปัจจุบันยอมรับและถือเป็นคุณสมบัติของผู้หญิงไทย ตัวอย่างคำสอนเรื่องของความสัตย์และการมีกิริยามารยาท เป็นสิ่งที่สตรีที่ดีควรมีความซื่อสัตย์ ความภักดีต่อสามี มีกิริยา วาจา และมารยาทที่เรียบร้อย อ่อนหวาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีงาม หญิงใดนำไปประพฤติปฏิบัติจะมีแต่ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตผู้นั้น
ความสัตย์เป็นสัตย์เสน่หา | อัชฌากิริยา |
เป็นสัตย์สวัสดิ์วรกาย |
หรือ
ทูลถ้อยอ่อนหวานขานไข | จงชอบอัชฌาสัย |
สมเด็จบพิตรนเรนทรสูร |
การสอนให้รู้จักพระคุณของบิดามารดา
หนึ่งจงบริรักษ์ราชี | พระชนกชนนี |
พระญาติวงศ์ทรงชรา |
และ
หนึ่งโสดคุณบิตุมาดา | เกิดเกล้าเรามา |
ประเสริฐยิ่งภพไตร |
นางกฤษณายังสอนนางจรับประภาให้รู้ในสิ่งที่สตรีไม่ควรปฏิบัติ
อย่าเยี่ยงหญิงชั่ว | ไม่รู้คุณผัว | ไม่สงวนน้ำใจ | |
ลิ้นลมข่มเหง | ล้อเลียนไยไพ | ต่อหน้าปราศรัย | ลับหลังนินทา |
คอยข้อผัวผิด | เก็บไว้จำจิต | พูดเล่นเจรจา | |
ประมาทไม่กลัว | หัวร่อระรา | ไม่เป็นนำพา | การกินการนอน |
ว่ากล่าวไม่ฟัง | เมิดเมินผินหลัง | บ่ยินคำสอน | |
ว่าใดว่าด้วย | ไม่ท้อง้องอน | เป็นหญิงสาระวอน | ผิดจริตทำนอง |
ตัวอย่างคำสอนที่ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของหญิงไม่ดี คบชู้สู่ชาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ เช่น
อย่าเยี่ยงหญิงบาป | เห็นแต่โลภลาภ | โลกียวิสัย | |
ความอายไม่คิด | คิดแต่สนุกใจ | ไม่เกรงโพยภัย | อาชญาสวามี |
เสงี่ยมตัวต่อหน้า | ครั้นเมื่อลับตา | ทำการอัปรีย์ | |
แม่นั่งหั่นลอด | สอดตาดูที | วางระวังจับหวี | หวังหาแต่สบาย |
กระทบหูฉับฉับ | ตีนเหยียบหูตรับ | ฟังเสียงผู้ชาย | |
ตามุ่งพุ่งกระสวย | หลุดหล่อนลงทราย | ไม่กลัวความอาย | ปากคนเย้ยหยัน |
หรือลักษณะกิริยามารยาทที่สตรีไม่ควรปฏิบัติ ตัวอย่างคำสอนว่า
อย่าเดินทัดพวงมาลา | เสยผมห่มผ้า |
จีบพกแทบทางกลางคน | |
อย่าเดินยิ้มย่องยักตน | หัวร่อริมถนน |
สะกิดเพื่อนพูดไปพลาง | |
อย่าเดินเฟ็ด[๑]ผ้านุ่งนาง | กรลูบแก้มคาง |
เหลือบเหลียวดูซ้ายแลขวา |
นอกจากนี้ยังมีบทเปรียบเทียบให้เข้าใจสัจธรรม เช่น ความดี ซึ่งเป็นคุณค่าของมนุษย์ ดังตัวอย่าง
คชสารแม้ม้วยมีงา | โคกระบือมรณา |
เขาหนังก็เป็นสำคัญ | |
บุคคลถึงกาลอาสัญ | สูญสิ้นสารพัน |
คงแต่ความชั่วกับดี |