คำนำ

ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของกรมศิลปากร คือ งานด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่หนังสือวรรณกรรมของชาติ มรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ในการดำเนินวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมไทยในอดีต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งที่กวีเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมเป็นรายละเอียดของสังคมไทยในอดีตที่ไม่ปรากฏในเอกสารประเภทอื่น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของสังคมตามยุคสมัยที่แต่ง และเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจรากฐานของความเป็นไทยได้ดียิ่งขึ้น

หนังสือประชุมสุภาษิตสอนหญิงนี้เป็นการรวบรวมต้นฉบับสุภาษิตคำสอนที่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติของสตรีตามค่านิยมของสังคมไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์รวม ๑๑ เรื่อง เรียงตามระยะเวลา ดังนี้

แม่สอนลูก แต่งเป็นคำมารดาสั่งสอนบุตรสาว ปรากฏอยู่ตอนท้ายเรื่องโสวัตกลอนสวด วรรณคดีสมัยอยุธยา

สุภาษิตสอนหญิง ปรากฏอยู่ตอนปลายสมุดไทยเรื่องโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งสุภาษิตสอนหญิงสำนวนนี้ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ฉบับกรุงธนบุรี พระยาราชสุภาวดี และพระภิกษุอินท์ ร่วมกันแต่งซ่อมสำนวนเก่าที่สูญหาย

สุภาษิตสอนสาว แต่งเป็นกลอนสุภาพและยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ ต้นฉบับการตรวจสอบชำระจากเอกสารสมุดไทย เลขที่ ๑๓ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสุภาษิตและคำสอน สำนักหอสมุดแห่งชาติ

คำฉันท์สอนหญิง เป็นหนังสือเก่า ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ตรวจสอบชำระโดยใช้ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๕

คำกลอนสอนหญิง ไม่ปรากฏนามผู้แต่งแต่พิจารณาจากสำนวนกลอนแล้วน่าจะแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจารึกลงแผ่นศิลาเมื่อครั้งที่ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔ - ๒๓๗๗

สุภาษิตสอนสตรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า สุนทรภู่แต่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๘๐ - ๒๓๘๓

โอวาทกระสัตรี ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่ง ระบุแต่ตอนท้ายเรื่องว่าแต่งเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๓

นารีศรีสวัสดิ์ ธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง หอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓

พิเภกสอนบุตร พระธรรมศาสตร์ (สุข) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้แต่ง

ในการจัดทำต้นฉบับหนังสือประชุมสุภาษิตสอนหญิงเพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้มอบให้นางสาวศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม ตรวจสอบชำระต้นฉบับจากเอกสารสมุดไทย และหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือประชุมสุภาษิตสอนหญิงจะอำนวยประโยชน์ต่อครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

มีนาคม ๒๕๕๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ