บทนำเรื่อง
พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สำนวนนี้แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ปนกาพย์ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจารึกแผ่นศิลาประดับที่ผนังบริเวณด้านในศาลาหลังเหนือหน้าพระมหาเจดีย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อครั้งที่ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔ – พ.ศ. ๒๓๗๗
เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระเจ้าพรหมทัต มีพระมเหสีนามว่านางบุษบา มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ชื่อว่า นางกฤษณา และนางจิรประภา ท้าวพรหมทัตจัดให้มีพิธีสยุมพร นางกฤษณา ผู้เป็นพี่เลือกพระภัสดาได้ ๕ พระองค์ นางจิรประภาเลือกได้พระองค์เดียว แต่นางกฤษณาสามารถปรนนิบัติพระสวามีได้เป็นอย่างดี และไม่ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ของภรรยาที่ดี จึงเป็นที่รักใคร่ของพระสวามีทั้งยังไม่เคยเกิดการทะเลาะวิวาทกันในระหว่างพระสวามีทั้ง ๕ พระองค์ ส่วนนางจิรประภามีพระสวามีเพียงพระองค์เดียวกลับไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์โศกชอกช้ำใจ ผิวพรรณหม่นหมองและพระสวามีมักขึ้งโกรธอยู่เสมอ นางจิรประภาจึงไปปรึกษานางกฤษณา และถามถึงสาเหตุที่นางกฤษณาเป็นที่รักใคร่สนิทเสน่หาและเป็นที่เกรงพระทัยของพระสวามี และเข้าใจว่าพระพี่นางกฤษณามีเวทมนตร์ผูกใจพระภัสดาทั้ง ๕ ชีวิตการกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ครองคู่จึงมีแต่ความสุข จึงจะมาขอเรียนวิชาเวทมนตร์นั้นบ้าง นางกฤษณาจึงได้อธิบาย ชี้แจงความจริงให้ทราบว่า นางหาได้มีเวทมนตร์อันใดผูกใจพระภัสดาไม่ แต่ที่พระภัสดาทุก ๆ พระองค์รักใคร่ในนางนั้น เพราะนางรู้จักหน้าที่ของภรรยาและอยู่ในโอวาทของพระภัสดาตลอดมา นางกฤษณาจึงได้สอนนางจิรประภาถึงหน้าที่ต่าง ๆ ของการปฏิบัติตนเป็นภรรยาที่ดีว่า ควรมีกิริยามารยาท การประพฤติปฏิบัติตนที่ดี พูดจาอ่อนหวาน สอนให้รู้จักอัธยาศัยและรู้ใจพระสวามี มีความซื่อสัตย์สุจริต ควรปรนนิบัติพระสวามีในหน้าที่การงานต่าง ๆ เช่น ควรตื่นก่อนนอนทีหลัง ดูแลเรื่องอาหารการกิน การแต่งกาย น้ำสรงน้ำเสวย พัดวีเมื่อยามร้อน คอยปัดปูที่นอน การรักนวลสงวนตัว และนางกฤษณายังได้สั่งสอนในเรื่องของศีลธรรมจรรยา กิริยามารยาทในอิริยาบถทั้ง ๔ ได้แก่ การนั่ง นอน ยืน เดิน การรับประทานอาหาร การมีมนุษยสัมพันธ์ และการผูกมิตรไมตรี เป็นต้น ดังตัวอย่าง
การสอนให้รู้จักกิริยามารยาทที่ดี
เดินนั่งจงยั้งองค์ | ดำรงกายระไวระวัง |
ซวดซวนก็ชวนชัง | ชนผองจะซร้องสรวล |
อย่าด่วนครรไลแล่น | กรกรีดแหวนบรางควร |
ทอดตาลิลาจวน | สดุดบาทจักพลาดพลำ |
อย่าเดินทัดมาลา | เสยเกศาบควรทำ |
จีบพกพลางขานคำ | สะกิดเพื่อนสำรวลพลาง |
ยุรยาตรโยกย้าย | กรกรีดกรายสไบบาง |
ยอหัตถ์สำผัสปราง | จักเสื่อมสวัสดิสัตรี |
หรือ
หนึ่งสถิตที่บันใด | อีกร่มไม้แลตากกาย |
นอนนั่งยังชานชาย | สถลท้องวิถีทาง |
จักจามบงามแรง | แสดงอรรถอย่าตรัสหลาย |
นอนนานมักคร้านกาย | ป่วยการกิจคิดการงาน |
น้อยภักษ์ก็ผอมซูบ | สริรรูปก็บันดาล |
มากภักษ์ก็พี่พาน | จะหนักเนื้อแลเทื้อองค์ |
นางกฤษณายังได้สอนให้นางจิรประภารู้จักการผูกมิตรไมตรี การมีอัธยาศัย และการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และให้นำไปปฏิบัติซึ่งหากปฏิบัติได้ก็จะเป็นคุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่จะผูกใจพระสวามีได้โดยที่ไม่ต้องใช้เวทมนตร์คาถามาทำให้พระสวามีรักใคร่
ผูกชนด้วยไมตรี | จิตรปรีดีหฤาหรรษ์ |
รักคุ้งชีวาวัน | มรณาศฤาหน่ายแหนง |
คำสอนสมรมาลย์ | ประสาทสารสุนทรแสดง |
จงจำอย่าเคลือบแคลง | ประพฤติเพื่อผดุงตน |
เปนที่เสน่หา | แต่ภรรดาเจริญผล |
กว่าเล่ห์เสน่ห์มนต์ | ตรมายาอันอาธรรม์ |
นอกจากนางกฤษณาจะสอนให้นางจิรประภารู้จักวิธีปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีตามแบบฉบับของกุลสตรีที่พึงปรนนิบัติสามีให้การครองชีวิตคู่มีความสุขแล้ว นางยังได้อบรมสั่งสอนให้นางจิรประภาเข้าใจสัจธรรมในการทำคุณงามความดี ซึ่งจะเป็นคุณค่าของมนุษย์ ดังตัวอย่างของคำประพันธ์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ไว้ เป็นบทเปรียบเทียบให้เห็นคุณค่าของการกระทำความดี ซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีคือ
พฤษภกาษร | อีกกุญชรอันปลดปลง |
โททนต์เสน่งคง | สำคัญหมายในกายมี |
นรชาติวางวาย | มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ |
สถิตทั่วแต่ชั่วดี | ประดับไว้ในโลกา |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์และมีพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ว่า
“…คิดเห็นว่าเรื่องต้นของกฤษณาสอนน้องคงจะมาจากที่อื่นเป็นแต่ชื่อเสียงจะขาดวิ่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตจะทรงแต่งให้บริบูรณ์ดี จึงได้เก็บชื่อในบาลีมาซ่อมแซมลงดีร้ายจะมีมาแต่หนังสือมหาภารตะซึ่งเป็นเรื่องรวบรวมนิทานเก่าและลัทธิต่าง ๆ ที่ถือกันอยู่ในมัชฌิมประเทศ ก่อนเวลาพุทธกาล จึงได้อ่านหนังสือมหาภารตะเสาะแสวงหาความจริงอันนี้ จนบัดนี้มาพบเรื่องนั้นสมประสงค์แล้ว จะขอยืนยันได้ว่ากฤษณาสอนน้องที่มาแต่งเป็นคำฉันท์นั้นไม่ได้มาจากบาลี เราคงจะได้มาจากพราหมณ์ ซึ่งมาเป็นครูบาอาจารย์ของเราแต่ก่อน เหมือนเรื่องรามเกียรติ์เป็นแน่”[๑]
จากพระบรมราชวินิจฉัยนี้ทำให้ทราบว่าเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์มาจากมหากาพย์ภารตะ กล่าวถึงนางกฤษณาผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้าทฺรปาท แห่งนครปัญจาละ นางกฤษณาเป็นมเหสีของกษัตริย์ปาณฑพ ๕ พระองค์ นางสามารถดูแลและปรนนิบัติพระสวามีทั้ง ๕ ได้อย่างมิขาดตกบกพร่อง และประพฤติปฏิบัติตนเป็นกุลสตรีที่ดีงาม ทำให้พระสวามีทุกพระองค์รักใคร่ เคารพนับถือนาง และนางยังได้ตอบข้อซักถามของนางสัตยภามามเหสีของพระกฤษณะ เมื่อครั้งเสด็จมาเยี่ยม นางกฤษณาจึงอธิบายและสอนนางสัตยภามาให้รู้จักข้อปฏิบัติอันดีงามในการครองตน และการปฏิบัติตนในการทำหน้าที่ภรรยาที่ดีให้หมั่นดูแลเอาใจใส่ ปรนนิบัติสามีและสอนให้เข้าใจสัจธรรมในการประกอบคุณงามความดี เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในมหาภารตะวนบรรพวรรคที่ ๒๓๒ และ ๒๓๓
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สำนวนนี้มีสำนวนโวหารไพเราะ งดงาม มีการใช้ศัพท์สูงกว่ากฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับกรุงธนบุรี ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในคำนำดังนี้
“...ว่าโดยทางสำนวนโวหาร นับว่าเป็นหนังสือชั้นเอกในกวีนิพนธ์เรื่อง ๑ ว่าโดยเนื้อความเป็นโอวาทานุสาสนีสำหรับสตรีจะพึงปฏิบัติต่อสามี ล้วนเป็นเนื้อความที่ทรงเลือกค้นสิ่งที่เป็นสารประโยชน์มาทรงนิพนธ์ไว้ เป็นทิฏฐานุคติของกุลสตรี ผู้หวังเป็นประโยชน์เป็นอัตสัมมาปณิธิจะพึงปฏิบัติโดยทางจรรยา และเป็นแบบแผนทางศึกษาของกวีนิพนธ์ในชั้นหลัง...”[๒]
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าที่ให้ความรู้และรูปแบบการแต่งคำฉันท์ที่ประณีตด้วยการใช้ภาษาที่งดงาม และให้ข้อคิดคติธรรมที่ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี และรวมถึงการสอนเรื่องกิริยามารยาทที่สตรีโดยทั่วไปควรปฏิบัติ และยังเป็นแบบฉบับของกวีนิพนธ์ในสมัยต่อมาได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
สุภัคลักขณา (นามแฝง). กฤษณาสอนน้อง. กรุงเทพฯ : ป. พิศนาคะการพิมพ์, ๒๕๑๘.
[๑] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ฉบับกรุงธนบุรี กฤษณาสอนน้องคำฉันท์พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและวินิจฉัยเรื่อง กฤษณาสอนน้อง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (สารศึกษาการพิมพ์, ๒๕๑๖). หน้า ๖๑ - ๖๒
[๒] พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส. (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๖) หน้า ก.