บทนำเรื่อง

พิเภกสอนบุตรแต่งเป็นคำกลอนสุภาษิต ผู้แต่ง คือ พระธรรมศาสตร์ (สุข) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์ครั้งนี้ใช้ต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนสุภาษิตและคำสอน จำนวน ๓ เล่มสมุดไทย คือ เลขที่ ๓ เลขที่ ๖ และเลขที่ ๗ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๕/๓ มัดที่ ๒ ทั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ในตอนต้นเรื่องมีโคลงเป็นบทนำเรื่องว่า

พิ ลาปเล่าลูกแล้ว แลโฉม
เภก พักตร์หนักทรวงโทรม โศกแส้
สอน สาวสั่งสองโลม ลานสวาสดิ์
บุตร เบญกายหมายแม้ ไม่ม้วยมาเมือง

พิเภกสอนบุตรมาจากเรื่องรามเกียรติ์วรรณกรรมเอกของไทย มีเนื้อเรื่องกล่าวถึงตอนที่พิเภกได้ถวายพยากรณ์ให้ทศกัณฐ์ ด้วยเหตุที่ทศกัณฐ์ทรงสุบินในลางบอกเหตุว่าทศกัณฐ์จะถึงคราวมรณสัญญา และได้ขอให้พิเภกทำนายฝันและบอกพิธีสะเดาะพระเคราะห์ แต่พิเภกแนะนำให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนกลับไปให้พระราม ทศกัณฐ์กริ้ว ไม่พอใจคำทำนายและคำแนะนำของพิเภกจึงให้ริบราชบาทว์แล้วเนรเทศพิเภกให้ออกไปจากกรุงลงกา แต่ก่อนที่จะจากไปพิเภกได้เรียกนางตรีชฎาผู้เป็นชายาและนางเบญกายธิดามาให้โอวาทและสั่งสอนในหลักการประพฤติปฏิบัติ ให้รู้จักหน้าที่ของตนที่พึงปฏิบัติทั้งต่อเจ้านาย สามี ข้าทาส บริวาร เรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านาย ให้รู้จักปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความขยันขันแข็ง รู้จักแต่งกายที่เหมาะสม ให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย และรู้จักการเลือกใช้คำพูดที่ดีงาม โอวาทและคำสั่งสอนของพิเภกเหล่านี้ ได้ให้ข้อคิดและแนวทางการปฏิบัติตนของการเป็นกุลสตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นค่านิยมในสังคมไทยและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน

คำสอนของพิเภกที่สอนแก่เบญกายให้ปฏิบัติตนเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และฝึกฝนการทำอาหารทั้งของคาวของหวาน และการช่างฝีมือ

ตัวเป็นหญิงสิ่งไรไม่สันทัด ให้เจนจัดในทำนองของคาวหวาน
ถึงจะเป็นเจ้าจอมหม่อมพนักงาน จงโปรดปรานได้ชื่อเป็นมือดี
สารพัดหัดให้เห็นเป็นวิชา เขาย่อมว่าชาววังช่างบายศรี
รู้ไว้เผื่อเมื่อหน้าได้สามี ถึงเป็นที่ท่านผู้หญิงอย่าทิ้งครัว
ดูจัดแจงแต่งหาโภชาหาร พนักงานของสตรีแม้นมีผัว
ให้เกรงกราบสามีเป็นที่กลัว รู้ฝากตัวรักกายเสียดายงาม

สอนให้มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย แต่งกายให้เหมาะสมและรู้จักบำรุงรักษาร่างกาย

เจ้าเป็นบุตรสุดรักของบิตุเรศ ดั่งดวงเนตรควรเมืองเบื้องขวา
เจ้าจงจำคำคิดถึงบิดา จะเจรจาลุกนั่งแลนอนเดิน
อิริยาบถสี่เป็นที่ยิ่ง รักษาสิ่งสัตย์สุดสรรเสริญ
สำรวมเนตรสังเกตใจอย่าได้เมิน นุ่งประเชินห่มเจียมเสงี่ยมจน

และ

เป็นนารีที่จำเริญบำรุงร่าง จงสำอางเอี่ยมสะอาดฉลาดเฉลย
ให้หอมหวนชวนชื่นรื่นรำเพย ชอบชายเชยชมเชิงละเลิงโลม
สัมผัสสี่มีรูปรสแลกลิ่นเสียง นี้แท้เที่ยงเครื่องประดับสำหรับโฉม
เป็นที่ชื่นหมื่นชายหมายประโลม จะน้อมโน้มนำเสน่ห์สนิทนาน

สอนให้รู้จักระมัดระวังในการใช้คำพูด ถ้าพูดดีมีแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะเกิดคุณแก่ตนเอง แต่ถ้าพูดในสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้องคำพูดนั้นก็จะกลับมาทำลายตนเอง

อันวาจาอัชฌาไม่ลงทุน แต่มีคุณเป็นประโยชน์ไม่โหดหาย
ถ้าพูดผิดคิดเข้าติดลอบตาย ทั้งหญิงชายเหมือนกันสำคัญลิ้น
อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน
จะเป็นต้นก็แต่กลกันการกิน ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา

นอกจากคำสอนที่ให้รู้จักปฏิบัติตนเป็นกุลสตรีที่ดีงามแล้ว พิเภกยังให้โอวาทและสอนให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้านาย และให้ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความขยันขันแข็ง

จงสัตย์ซื่อสวามิภักดิ์รักนาย อย่ามองหมายถมทับลับหลัง
ให้รู้เก็บรู้กินสิ้นหรือยัง นายสั่งทำการอย่าคร้านแช
แม้นนายทุกข์เจ้าอย่าสุขเกษมเสียง จงคอยเคียงนิ่งนั่งฟังกระแส
ถ้าอยู่ไกลไม่ทันจะผันแปร แม้นายใช้อย่าได้แชให้ช้าเชือน

เรื่องพิเภกสอนบุตรนี้ นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดการปฏิบัติตนที่เป็นคติสอนใจแล้วยังมีการอ้างถึงวรรณกรรมไทยหลายเรื่องที่กวีผู้แต่งหยิบยกนำมาเปรียบเทียบให้เห็นในเรื่องของหลักการปฏิบัติตนของสตรี เช่น เรื่องกากี อุณรุท และกฤษณาสอนน้อง เช่น

อนึ่งนางสาวใช้ในปราสาท จะพลั้งพลาดเล็กน้อยค่อยไต่ถาม
จงไว้หูฟังหูอย่าวู่วาม พูดให้งามไพร่ผู้ดีมีเมตตา
อย่าถือผิดเป็นชอบประกอบสัตย์ ระวังไว้ในสวัสดิรักษา
เป็นสตรีที่ชั่วทั่วนินทา เหมือนนางกากีกลกับคนธรรพ์
ที่กรุงพาณสอนอุษาธิดาท้าว เธอว่ากล่าวควรจะชมคมสัน
กฤษณาสอนน้องของสำคัญ คงผ่อนผันเลือกใช้ที่ได้การ

เรื่องพิเภกสอนบุตรของพระธรรมศาสตร์ (ศุข) นี้มุ่งจะเสนอคติสอนใจมากกว่าความไพเราะของสำนวนโวหาร ซึ่งคติสอนใจเหล่านี้ยังคงเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากหากเลือกที่จะนำมาปรับใช้ในวิถีชีวิตสังคมไทยปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

ศิลปากร, กรม. ประชุมสุภาษิตฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร: ผ่านฟ้าวิทยา, ๒๕๐๘.

นาคะประทีป (นามแฝง). สมญาภิธานรามเกียรติ์. พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ