พิเภกสอนบุตร
[๑]พิ ลาปเล่าลูกแล้ว | แลโฉม |
เภก พักตร์หนักทรวงโทรม | โศกแส้ |
สอน สาวสั่งสองโลม | ลาญสวาสดิ์ |
บุตร เบญกายหมายแหม้ | ไม่ม้วยมาเมือง ฯ |
๏ โอ้สงสารมารซื่อชื่อพิเภก[๒] | |
โหรารู้ดูดีคัมภีร์เอก | เลิศในเลขไตรเพทวิเศษยา |
เมื่อทำนายทายสุบินทศพักตร์ | พระยายักษ์เคืองคิดจะเข่นฆ่า |
กุมภกรรณอินทรชิตคิดเมตตา | ทูลขอโทษาพระยายักษ์ |
สั่งให้ไล่ขับเสียจากเมือง | ได้แค้นเคืองวิตกเพียงอกหัก[๓] |
มาปราสาทโศกสุดบุตรเมียรัก | ซบพักตร์โศกาน้ำตานอง[๔] |
สร่างสะอื้นกลืนกลั้นที่กันแสง | จึ่งชี้แจงสอนสั่งเจ้าทั้งสอง |
จงสงวนนวลนางอยู่ปรางค์ทอง | เป็นกรรมของพี่แล้วจะขอลา |
เจ้าอยู่หลังฟังคำแล้วจำไว้ | อย่าถือใจเลยว่าเจ้ามีวงศา |
ทุกเช้าเย็นเขาเห็นกับภรรดา[๕] | คราวชะตาตกอับนับจะอาย |
เคยสำอางอย่างแต่ก่อนจงผ่อนผัน | แป้งน้ำมันเขม่าขมิ้นสิ้นทั้งหลาย |
ให้รู้จักรักเจียมเสงี่ยมกาย | แม้นมิตายคงจะพบประสบกัน |
ตรีชฎาอาดูรพูนเทวษ | ชลเนตรนองปรางนางกระศัลย์ |
เข้ากราบบาทภรรดาแล้วจาบัลย์ | อภิวันท์วอนทูลมูลคดี |
จะอยู่ไยได้ทุกข์ขอทุกข์ด้วย | อยู่คงม้วยแม้นไปไม่บัดศรี |
พระเคยโปรดสุขเกษมเปรมปรีดิ์ | โอ้ครั้งนี้จะเห็นใครขอไปตาม |
สงสารแต่เบญกายสายสวาท | ดังนางนาฏในสวรรค์ชั้นสาม |
วิไลลักษณ์พักตร์ผิวดั่งเพ็ญงาม | พยายามเยาวรุ่นจำเริญทรง |
สงวนไว้ในปรางค์เหมือนนางแก้ว | เป็นกรรมแล้วลูกน้อยจะพลอยผง |
โอ้ครั้งนี้ที่ไหนจะเป็นองค์ | นางโศกทรงสองทุกข์เข้าทับทรวง |
พระยายักษ์ยอหัตถ์สัมผัสปลอบ | เจ้าว่าชอบเชิงหญิงทุกสิ่งหวง |
จงอยู่เลี้ยงลูกยาธิดาดวง | อย่าเป็นห่วงกับพี่เจ้าตรีชฎา |
อันครั้งนี้พี่จะไปไกลแล้ว | น้องแก้วอยู่หลังระวังหน้า |
สงวนองค์จงดีมีอัชฌา | เลี้ยงลูกยายังเยาว์อย่าเบาความ |
อนึ่งนางสาวใช้ในปราสาท | จะพลั้งพลาดเล็กน้อยค่อยไต่ถาม |
จงไว้หูฟังหูอย่าวู่วาม | พูดให้งามไพร่ผู้ดีมีเมตตา |
อย่าถือผิดเป็นชอบประกอบสัตย์ | ระวังไว้ในสวัสดิรักษา |
เป็นสตรีที่ชั่วทั่วนินทา | เหมือนนางกากีกลกับคนธรรพ์ |
ที่กรุงพาณสอนอุษาธิดาท้าว | เธอว่ากล่าวควรจะชมคมสัน |
กฤษณาสอนน้องของสำคัญ | คงผ่อนผันเลือกใช้ที่ได้การ |
พิศโฉมเบญกายเสียดายนัก | โอ้ลูกรักเป็นกำพร้าน่าสงสาร |
อันสตรีดีด้วยชายหมายประมาณ | หญิงข้าวสารชายข้าวเปลือกเกลือกสุธา |
เจ้าเป็นบุตรสุดรักของบิตุเรศ | ดั่งดวงเนตรควรเมืองเบื้องขวา |
เจ้าจงจำคำคิดถึงบิดา[๖] | จะเจรจาลุกนั่งแลนอนเดิน |
อิริยาบถสี่เป็นที่ยิ่ง | รักษาสิ่งสัตย์สุดสรรเสริญ |
สำรวมเนตรสังเกตใจอย่าได้เมิน[๗] | นุ่งประเชินห่มเจียมเสงี่ยมจน |
สงวนงามยามอับอาภัพญาติ | อย่าหมายมาดพึ่งผู้ใดไม่เป็นผล |
เห็นหน้าแต่แม่ลูกกันสองคน | จะขัดสนไปข้างหน้าสารพัน |
เบญกายกอดบาทอนาถแน่ | ก็โศกแซ่ส่งเสียงต่างกระศัลย์ |
พร้อมพี่เลี้ยงสุรางค์นางกำนัล | สะอื้นอั้นโอดเสียงสำเนียงครวญ |
ตรีชฎาว่าโอ้พระโพธิ์สวรรค์ | ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าเวหาหวน |
พระจรพรากจากไกลใจรัญจวน | จะสงวนชีพไว้ทำไมมี |
เบญกายว่าพระจอมกระหม่อมแก้ว | พระลับแล้วลูกขอลาไปเมืองผี |
จะอยู่ไยให้ยักษาทำยายี | ไม่ถึงที่แต่เป็นกรรมต้องจำตาย |
นางสาวใช้ว่าพระเฉกเศวตฉัตร | สารพัดเที่ยงธรรม์มั่นหมาย |
รู้ทุกสิ่งจริงประจักษ์ทักทาย | ได้สบายพึ่งบุญพระคุณเย็น |
พระทัยเหมือนน้ำในอโนดาต | จากปราสาทแล้วที่ไหนจะได้เห็น |
จะอาดูรพูนเทวษน้ำเนตรกระเด็น | ไม่วายเว้นโศกศัลย์ถึงพันปี ฯ |
พระยายักษ์หักห้ามที่ความโศก | อย่าวิโยคร่ำร้องไม่ต้องที่ |
ประโลมปลอบวรนุชบุตรี | จำเริญศรีรุ่นทรงเจ้าจงจำ |
จะเป็นสาวคราวโศกรักษาศักดิ์ | ให้รู้จักชอบผิดคิดข้อขำ |
จะเจรจาอย่าให้คนเขาเคืองคำ | ถ้าจะทำสิ่งไรให้พินิจ |
จะนุ่งผ้าทาแป้งแต่งองค์ | พอสมทรงสารพัดอย่าดัดจริต |
งามยศมารยาททั้งผาดพิศ | อย่าคบคิดคนพาลสันดานโกง |
ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลุงของเจ้า | เป็นคนเมาราคะจะตายโหง |
ทำโมโหโกรธาบ้าลำโพง | โป้งโหยงหยาบช้าทำสาธารณ์ |
ทูลเธอตามซื่อมาถือโกรธ[๘] | พิฆาตโทษถึงชีวิตคิดผลาญ |
จะอยู่ไยไล่ขับให้อัประมาณ | ไปเป็นข้าพระอวตารเต็มพระทัย |
แม่ศรีวังฟังสอนบิดรสั่ง | เจ้าอยู่หลังลุงอาอัชฌาสัย |
อย่าประจบคบหามาไป | อยู่แต่ในปรางค์มาศราชวัง |
อย่ารู้เห็นเป็นใจได้อาสา | ตรีชฎาเบญกายอยู่ภายหลัง |
จงขอดคำจำไว้ให้ระวัง | เชิงเขาชังลุงป้าบิดาดู |
จำเจ็บอกตกยากลำบากแล้ว | โอ้ลูกแก้วรักตัวกลัวอดสู |
จงตรองเกรงตรึกกริ่งสิ่งศัตรู | เจ้าเร่งรู้ระวังองค์ให้จงควร |
เป็นสตรีมีศักดิ์ให้บริสุทธิ์ | แม่เป็นบุตรองค์เดียวบิดาสงวน |
อยู่ปรางค์มาศราชวังเปล่งปลั่งนวล | จะรัญจวนเจ็บจิตเพราะบิดา |
เธอตรัสสั่งบุตรสาวเมื่อคราวส่าง | กำนัลนางแน่นน้อมอยู่พร้อมหน้า |
แกล้งสั่งสอนผ่อนผันเป็นชั้นมา | ทั้งทาสีทาสาแลสาวใช้ |
เมื่อคราวดีมีสุขทุกข์โศก[๙] | สำหรับโลกทั่วหล้าอัชฌาสัย |
คราวเคราะห์ร้ายนายโกรธจะโทษใคร[๑๐] | โทษเอาใจตัวเองไม่เกรงนาย |
จงฝากตัวกลัวผิดคิดชอบ | ตามระบอบโบราณประมาณหมาย |
ข้าดีเพราะรักเจ้าบ่าวรักนาย | อันเรื่องร้ายนอกในระไวระวัง |
จงสัตย์ซื่อสวามิภักดิ์รักนาย[๑๑] | อย่ามองหมายถมทับลับหลัง |
ให้รู้เก็บรู้กินสิ้นหรือยัง | นายสั่งทำการอย่าคร้านแช[๑๒] |
แม้นนายทุกข์เจ้าอย่าสุขเกษมเสียง | จงคอยเคียงนิ่งนั่งฟังกระแส |
ถ้าอยู่ไกลไม่ทันจะผันแปร | แม้นายใช้อย่าได้แชให้ช้าเชือน |
ตัวเป็นข้าอย่าให้ผ้าเหม็นสาบได้ | ระวังไว้นุ่งเจียมพอเทียมเพื่อน |
ไพร่ผู้ดีมีจนพลเรือน | ก็แม้นเหมือนกันสิ้นกินกับการ |
ตัวเป็นหญิงสิ่งไรไม่สันทัด | ให้เจนจัดในทำนองของคาวหวาน |
ถึงจะเป็นเจ้าจอมหม่อมพนักงาน | คงโปรดปรานได้ชื่อเป็นมือดี |
สารพัดหัดให้เห็นเป็นวิชา | เขาย่อมว่าชาววังช่างบายศรี |
รู้ไว้เผื่อเมื่อหน้าได้สามี | ถึงเป็นที่ท่านผู้หญิงอย่าทิ้งครัว |
ดูจัดแจงแต่งหาโภชาหาร | พนักงานของสตรีแม้นมีผัว |
ให้เกรงกราบสามีเป็นที่กลัว | รู้ฝากตัวรักกายเสียดายงาม |
ธรรมเนียมนางวางไหนให้เป็นหนึ่ง | อย่ารำพึงตรึกตรองเป็นสองสาม[๑๓] |
อย่าถือใจใหลหลงว่าทรงงาม | เมื่อยามสาวก็ยังสวยสำรวยทรง |
เหมือนสายหยุดสุดสายก็หายหอม | พวงพยอมมะลิลามหาหงส์ |
เมื่อยามแย้มภุมเรศเจตน์ประจง | พิศวงอยู่ด้วยกลิ่นถวิลวอน |
ครั้นโรยร่วงพวงผกาก็คลาคลาด | แรมนิราศร่ายเร่หาเกสร[๑๔] |
มีดื่นดงทรงช่ออรชร | หมู่ภมรเหมือนชายที่หมายเชย |
เป็นหญิงดีมีอัชฌารักษาผัว | รู้ฝากตัวชายไม่ร้างนะนางเอ๋ย |
แม้นสตรีดีจริงไม่ทิ้งเลย | เราก็เคยรู้เช่นได้เห็นเชิง |
สอนสิ่งดีที่ชั่วไว้ผัวสอน | จงผันผ่อนเช้าค่ำอย่าทำเหลิง |
ตกลำบากยากจนจะปนเปิง | แตกกระเจิงจากผัวเพราะตัวทำ |
อย่าโทษชายลายชั่วอยู่ตัวหญิง | แม้นดีจริงชายคงชุบอุปถัมภ์ |
คบชายชั่วพาตัวยับระยำ | ถ้าชอกช้ำบุบสลายไม่หายเลย[๑๕] |
เป็นนารีที่จำเริญบำรุงร่าง | จงสำอางเอี่ยมสะอาดฉลาดเฉลย |
ให้หอมหวนชวนชื่นรื่นรำเพย | ชอบชายเชยชมเชิงละเลิงโลม |
สัมผัสสี่มีรูปรสแลกลิ่นเสียง | นี้แท้เที่ยงเครื่องประดับสำหรับโฉม[๑๖] |
เป็นที่ชื่นหมื่นชายหมายประโลม | จะน้อมโน้มนำเสน่ห์สนิทนาน |
ถ้าทำดีมีอัชฌาสวามิภักดิ์ | ถึงมิรักก็คงจะสงสาร[๑๗] |
อย่ารู้มากปากกล้าทำสามานย์ | เหมือนผจานหน้าตัวให้มัวมอม |
แม้นทำดีมีชื่อบรรลือยศ | อยู่ปรากฏตัวตายไม่หายหอม |
ถ้าทำร้ายชายร้างต้องหมางตรอม | จะพาผอมเผือดซูบรูปทรง |
ทำเล่นตัวจนผัวมีเมียน้อย | นั่งตะบอยบ่นบ้าว่าลุ่มหลง |
ถูกเสน่ห์เล่ห์ลมงมงง | พาโลลงโทษชายแต่ฝ่ายเดียว |
อันจิตชายได้หนึ่งรำพึงสอง | ตามทำนองนอนนึกตรึกเที่ยว |
น้ำมากปลาไม่ตายว่ายกลมเกลียว | สายน้ำเชี่ยวชอบมัจฉาในสาชล |
เป็นเมียหลวงหวงหึงเสน่หา | เหมือนพาลพาภัยรำพึงไม่มีผล[๑๘] |
สารพัดป่วยงานการของตน | ผู้คนทาสด่าว่ากระทบ[๑๙] |
เขาย่อมว่าสามานย์ประจานผัว | ไม่ไว้ตัวเมียน้อยจะพลอยตบ |
รู้ไกล่เกลี่ยเมียน้อยคอยนอบนบ | จงปรารภรักผัวของตัวเดิม |
ถึงเสียทองเท่าตัวผัวอย่าเสีย | ทำไมกับเมียน้อยน้อยปล่อยให้เหิม |
ใครพลั้งพลาดขาดเหลือช่วยเจือเติม | ส่งเสริมสอนให้ชอบปลอบใช้[๒๐] |
อันแม่เรือนเหมือนแมวเมียน้อยหนู | ศิษย์กับครูธรรมดาอัชฌาสัย |
เขาก็จิตคิดดูเจ้าเราก็ใจ[๒๑] | รักกันไว้ดีกว่าชังระวังรัก |
ถ้าเขาซื่อเราซื่ออย่าถือยศ | แม้นใครคดเราคมอยู่ในฝัก[๒๒] |
ชอบจะใช้ได้เชือดเลือดจึงชัก[๒๓] | ให้รู้จักแข็งอ่อนผ่อนปัญญา |
แม้นมีกรรมต่ำต้องเป็นเมียน้อย | เมียหลวงคอยหยิบผิดด้วยอิจฉา |
ถึงทำดีก็เป็นร้ายหมายนินทา | จงอุตส่าห์ฝากตัวเจ้าผัวไว้ |
ทำให้ชอบมอบตัวเช่นทาสี | ให้ท่านมีเมตตาอัชฌาสัย |
จงตั้งจิตคิดประจบให้สบใจ | ตัวเป็นไทก็เหมือนทาสชาติเมียน้อย[๒๔] |
มันเจ็บใจไม่ชั่วผัวของเขา | เหมือนแกล้งเอาไฟจี้เข้าที่ฝอย |
ทั้งเมียหลวงล่วงว่าขี้ข้าพลอย | แต่เห็นมากกว่าร้อยย่อมเรื้อรัง |
เป็นสตรีมีศัตรูรู้ตรองตรึก | คะเนนึกอยู่เป็นนิตย์จิตหวัง |
แม้นเมินหมิ่นประมาทพลาดพลั้ง | ชายจะชิงหญิงจะชังชวนเป็นเชิง |
ถ้ายากจนไปข้างหน้าคิดค้าขาย | อย่าเสียดายลมล่อยอให้เหลิง |
ซื้อก็ง่ายขายก็คล่องด้วยต้องเชิง | ปลูกเป็นเพิงหน้าถังนั่งร้านชำ |
หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อง้อให้ซื้อ | ผู้ใดหรือจะไม่ชมว่าคมขำ |
ถ้าปากร้ายขายค้าว่าระยำ | ฟังน้ำคำคนก็คิดเคืองระคาย |
อันวาจาอัชฌาไม่ลงทุน | แต่มีคุณเป็นประโยชน์ไม่โหดหาย |
ถ้าพูดผิดคิดเข้าติดลอบตาย | ทั้งหญิงชายเหมือนกันสำคัญลิ้น |
อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก | ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน |
จะเป็นต้นก็แต่กลกันการกิน | ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา |
จะร่ำสอนอ่อนเสียงแต่เพียงสั่ง | เจ้าจงฟังเริ่มเรื่องไปเบื้องหน้า |
อันองค์ท้าวทศพักตร์หลักลงกา | พระชันษากิ่วกึ่งจะถึงกาล |
โอ้เกาะแก้วลงกาเคยผาสุก | แสนสนุกดังดาวดึงส์สถาน |
ปราสาทมุขสุกแม้นเมืองวิมาน | ส่งแสงพานโอภาสในอัมพร |
ตั้งแต่นี้มีแต่นับจะลับแล้ว | โอแท่นแก้วที่บรรทมบรรจถรณ์ |
พระยี่ภู่ปูเคยเขนยนอน | ช่องบัญชรฉากชั้นกั้นลับแล |
แลลับนับเวไลจะไกลแล้ว | โอ้ลูกแก้วเบญกายอยู่กับแม่ |
จงฝากตัวทาสไทให้ดูแล | พวกสาวแส้เคยอยู่รู้ฝากตัว |
เจ้าจงจำทำนายไปภายหน้า | เมืองลงกาเพลิงใหญ่จะไหม้ทั่ว |
พระยายักษ์ไม่รู้สึกสำนึกกลัว | นิมิตชั่วในตำราท่านว่าร้าย |
ท้าวถามทูลตามซื่อถือตำรับ | เธอแกล้งกลับดุเดือดไม่เหือดหาย |
หวงหึงนางสีดาว่าวุ่นวาย | ตัดตายตัดเป็นไม่เห็นกัน |
ชาวลงกาจะเป็นข้าอยุธเยศ | เจ้าสังเกตจงจำคำมั่น |
องค์พระรามฤาษีพ่อชีนั้น | นารายณ์ภาคจากสวรรค์แสวงนาง |
อันองค์พระลักษมีสีดาแม่ | องค์นี้แน่เจ้าอย่านึกอางขนาง |
จงฝากตัวท่านไว้ใช้พลางพลาง | จะได้อ้างภายหน้าข้าหลวงเดิม |
นางใช้สอยอัชฌาสัยให้สนิท | สุจริตสองกษัตริย์เป็นฉัตรเฉลิม |
สีดาตกเสด็จตามสงครามเติม | มารอเริ่มแรมรั้งอยู่ฝั่งชล |
ไปถวายกายเป็นข้าสวามิภักดิ์ | ทูลทรงศักดิ์ให้ท้าวทราบนุสนธิ์ |
เสด็จด้วยโยธีกระบี่พล | จองถนนถมสมุทรรีบรุดมา |
ได้ฤกษ์ดีตีสิบเอ็ดพอเสร็จสอน | เผยบัญชรดูในห้องพระเวหา |
ดาวเลื่อนเดือนลับบรรพตา | ได้เวลาเพชรฤกษ์จำเริญยาม |
ท้าวจัดแจงแต่งตัวตามเพศ | ร่ายพระเวทพระมนตร์จบคำรบสาม |
ประนมหัตถ์มนัสน้อมนึกพระนาม | เดชะความธิษฐานบันดาลดล |
อำนาจพระบารมีบรเมศร์ | สยองเกศแสยงกายทุกขุมขน |
ให้หอมหวนล้วนทิพย์สุคนธ์ | มาเอิบอาบซาบสกนธ์สำราญกาย |
ให้เหตุเห็นเป็นมหัศอัศจรรย์ | แสงฉ้อชั้นโชติช่วงวิเชียรฉาย |
บันดาลให้ตัวลอยพลอยพระพาย | หอบเหาะหายข้ามมหาสาคร |
กุมกระบองล่องฟ้าสามารถ | โดยอำนาจบุญฤทธิ์มหิศร |
น้อมเกศมนัสการพระสี่กร | ลอยร่อนตั้งหน้าพระพลาเอย ๚ |
[๑] ถ่ายถอดจากต้นฉบับสมุดไทยดำ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสุภาษิตและคำสอน เลขที่ ๖ ตู้ ๑๑๕ ชั้น ๕/๓ มัดที่ ๒
[๒] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า แสนสงสารมารซื่อชื่อพิเภก
[๓] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า โอ้แค้นเคืองสุดวิตกเพียงอกหัก
[๔] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า พระยายักษ์อำลาน้ำตานอง
[๕] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า ทุกเช้าเย็นเขาเห็นแก่ภัสดา
[๖] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า เจ้าจงจำคำคิดของบิดา
[๗] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า สำรวมเนตรสังเกตใจอย่าได้เพลิน
[๘] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า พ่อทูลเธอตามซื่อมาถือโกรธ
[๙] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า เมื่อคราวดีมีสุขฤาทุกข์โศก
[๑๐] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า เพราะเราร้ายนายโกรธอย่าโทษใคร
[๑๑] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า จงสัตย์ซื่อสวามิภักดิ์รักเจ้านาย
[๑๒] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า นายท่านสั่งทำการอย่าคร้านแช
[๑๓] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า อย่าคนึงตรึกตรองเป็นสองสาม
[๑๔] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า แรมนิราศร่ายเร่ซึ่งเกสร
[๑๕] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า จะชอกช้ำบุบสลายไม่หายเลย
[๑๖] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า นี้แท้เที่ยงเครื่องประดับโฉม
[๑๗] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า แม้นมิรักแล้วก็คงจะสงสาร
[๑๘] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า เหมือนพาลพาภัยไม่รำพึงผล
[๑๙] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า มีผู้คนทาสด่าว่ากระทบ
[๒๐] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า ประสงค์เสริมชวนให้ชอบค่อยปลอบใช้
[๒๑] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ
[๒๒] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า แม้นใครคดเราก็คมอยู่ในฝัก
[๒๓] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า ชอบเชิงใช้ได้เชือดเลือดจึงชัก
[๒๔] สมุดไทยดำ เลขที่ ๗ ว่า ถึงเป็นไทก็เหมือนทาสชาติเมียน้อย