นารีศรีสวัสดิ์ ธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขา
๏ คำโคลง
๏ นารีศรีสวัสดิ์สร้อย | สมญา สารเอย |
สอนยอดยุพาพะงา | เลิศแล้ว |
วรนุชวนิดา | ดูด่วน เทอญแม่ |
สารพี่สอนท่อนแก้ว | ก่ำฟ้าเฟือนศรี |
๏ เศรษฐีมีชื่อแจ้ง | ธนญไชย |
สอนธิดาดวงใจ | จากห้อง |
ลูกรักพ่อจักไป | เคียงคู่ ฤาแม่ |
ยามวิโยคพ่อพ้อง | เพื่อนผู้พิสมัย |
๏ นารีศรีสวัสดิ์
๏ ลิขิตข้อก่อกลอนวอนแถลง | |
ยกลำนำคำบาลีขึ้นชี้แจง | ให้แจ่มแจ้งเห็นกระจ่างทางวาที |
สอนอนงค์กานดายุพาพักตร์ | เมื่อร่วมรักเชยชมภิรมย์ศรี |
อยู่เหย้าเรือนเคหากับสามี | รู้วิธีปฏิบัติภัสดา |
ธนญไชยเศรษฐีผู้มีศักดิ์ | สอนลูกรักโฉมศรีวิสาขา |
เชิญมานี่ร่วมจิตของบิดา | จำวาจาพ่อสอนสมรเมือง |
เจ้าจะไปมีคู่แม่หนูจ๋า | จงฟังคำพ่อว่าเถิดเนื้อเหลือง |
เป็นนารีนี้ยากวิบากเคือง | จะยาตรเยื้องเดินนั่งระวังกาย |
จำนรรจาพาทีมีจังหวะ | อย่าเอะอะอึกกระทึกตรองตรึกหมาย |
สามีสอนร้อยชั่งฟังภิปราย | อย่าวุ่นวายเง้างอดยอดยุพิน |
การที่ชั่วกลัวไว้ให้มากมาก | จะได้ยากอัปยศหมดทรัพย์สิน |
ทั้งเรือนเหย้าข้าวน้ำจะทำกิน | ค่อยประคินคิดดูอย่าวู่วาม |
ควรจะหมดฤาจะยังจงสังเกต | ทั้งเครื่องเทศจุกจิกพริกมะขาม |
กะปิเกลือเนื้อปลาอย่าซาทราม | อีกถ้วยชามเก็บกวาดสะอาดตา |
ทั้งเครื่องใช้ไม้สอยน้อยแลใหญ่ | จงจัดไว้ตามทำเลในเคหา |
เครื่องจอกน้อยขันน้ำประจำตรา | ถาดกระยาขัดเกลาให้เพราพราย |
อย่าทอดทิ้งให้สนิมขึ้นริมขอบ | ผิดระบอบแบบนางวางกฎหมาย |
ตุ่มน้ำนั้นหมั่นชำระอย่าละดาย | เข็มแลด้ายหาสำหรับไว้กับเรือน |
ทั้งฟืนตองกองไว้ไต้เสม็ด | ดูให้เสร็จจัดไว้อย่าให้เกลื่อน |
ระวังตัวอย่าให้ผัวต้องตักเตือน | อันการเรือนดูให้รอบจึ่งชอบที |
๏ ผ้านุ่งห่มพรมเจียมเอี่ยมสะอาด | ทั้งเสื่อสาดเมาะหมอนที่นอนศรี |
มุ้งแลม่านพานหมากบุหรี่ดี | ฝ้ายสำลีพันพลูนั้นคู่กัน |
ขี้ผึ้งดีสีปากหากหาไว้ | ประทีปไขโคมขัดเร่งจัดสรร |
จงประหยัดตัดไส้ใส่น้ำมัน | เครื่องกลางวันแลกลางคืนให้ชื่นตา |
ที่นอนใหญ่ไรเรือดกินเลือดผัว | แม่โฉมตรูดูให้ทั่วเถิดลูกหนา |
หมากดิบเจียนเสี้ยนอ่อนผ่อนซื้อมา | จัดไว้ท่าผัวขวัญทุกวันไป |
จะบ้ายปูนจีบพลูดูประหยัด | อย่าใช้หวัดเลยแม่หนูดูไม่ได้ |
ถ้าปูนมากกัดปากลำบากใจ | ผัวจะได้ความแค้นแสนทวี |
๏ เมื่อเวลาเจียนจีบจงรีบจำ | พลูจุ่มน้ำล้างชำระประสะศรี |
แล้วปูผ้ารองรับพับให้ดี | เจียนไว้ทีแล้วจึ่งจีบอย่ารีบรน |
อย่าเอาพลูเช็ดผ้านุ่งให้ยุ่งหยาบ | คนจะจาบจ้วงได้ไม่เป็นผล |
อย่ากินหมากซีกใหญ่แพ้ภัยตน | อย่าเอาก้นพลูทัดขัดนัยน์ตา |
หนึ่งเชี่ยนหมากอย่าให้รกพึงตกแต่ง | อันเต้าปูนอย่าให้แห้งนะลูกหนา |
การบูรกานพลูคู่กับยา | จงจัดหาไว้ให้พร้อมเถิดจอมใจ |
๏ ผ้านุ่งห่มร่มเสื้อหมวกสานซับ | จงเก็บพับแขวนเรียงเคียงไสว |
การในเรือนอย่าต้องเตือนกันร่ำไร | เห็นสิ่งใดรกชัฏพึงจัดแจง |
อย่าให้ทันภัสดาต้องว่ากล่าว | จะเป็นคาวราคีขี้แขนง |
อย่าบิดเบือนเชือนกายเสียดายแรง | ผัวจะแคลงเคลื่อนคลาดสวาดินวล |
มีผู้คนข้าไทเคยใช้สอย | จะพลั้งนิดผิดหน่อยอย่าหุนหวน |
เพ่งพินิจพิศดูให้คู่ควร | ค่อยสอบสวนเสียให้แน่กระแสความ |
จะเฆี่ยนด่าข้าไทอย่าให้เถียง | บรรทัดเที่ยงวางกระทู้อย่าผลูผลาม |
ถ้าจะอยู่หรือจะไปให้งดงาม | คนผิดตามผิดทำให้หนำใจ |
อย่าก้าวก่ายร้ายดีตีขนาบ | จะเป็นบาปเป็นกรรมฟังคำไข |
มันจะแกล้งกล่าวประจานทั่วบ้านไป | เพราะนายไม่รู้บังคับจะอับอาย |
๏ จะเลือกคัดจัดกลอนมาสอนสั่ง | แม่ร้อยชั่งของบิดาอุตส่าห์หมาย |
ธุระผัวแล้วแม่หนูอย่าดูดาย | อย่ากรีดกรายเลินเล่อจนเผลอเพลิน |
เมื่อคราวผัวเจ็บไข้อย่าไปห่าง | นั่งเคียงข้างอยู่ใกล้ใกล้อย่าได้เขิน |
ผัวจะอยากข้าวน้ำแม่จำเริญ | อุตส่าห์เชิญชื่นชวนให้ยวนใจ |
ถ้าไข้น้อยถ้อยคลายวายลำบาก | ถ้าไข้มากบางเบาบรรเทาได้ |
คนอื่นอื่นก็จะเสริญเจริญใจ | จะอวยชัยพูนเพิ่มเฉลิมพร |
แม้นผัวรักชักชวนในการผิด | จงเตือนจิตสามีเหมือนที่สอน |
ค่อยเลียบเคียงสนทนาแล้วว่าวอน | กล่าวสุนทรห้ามขัดภัสดา |
ไฟฝ่ายในงามขำอย่านำออก | พ่อจะบอกแม่จงจำคำพ่อว่า |
ไฟข้างในใช่อื่นนะลูกยา | อันวาจาผัวขวัญนั้นคือไฟ |
๏ สามีเจ้าเล่าความลับสดับแล้ว | แม่ดวงแก้วอย่าไปแจ้งแถลงไข |
จงสงวนคำผัวของตัวไว้ | อย่าให้ใครจาบจ้วงมาล้วงคอ |
อันไฟนอกอย่านำเข้าเยาวเรศ | จงสังเกตจดจำฟังคำพ่อ |
พึงตั้งจิตยับยั้งคิดรั้งรอ | แม้นโทษพ่อแม่ผัวของตัวมี |
อย่าได้เล่ากล่าวขวัญครหา | จงอุตส่าห์อดออมถนอมศรี |
ถึงหนักหน่อยเบาหน่อยค่อยพาที | อย่าจู้จี้สาระวอนจะร้อนใจ |
๏ หนึ่งเพื่อนบ้านร้านถิ่นสิ้นทั้งหลาย | เขาแจกจ่ายข้าวของมากองให้ |
แม่งามสรรพรับรองให้ต้องใจ | แล้วพึงให้ตอบบ้างเหมือนอย่างเคย |
หนึ่งเราให้เขาไม่ตอบประกอบก่อ | งามลอออย่าให้ซ้ำเร่งทำเฉย |
ถ้าหมูไปไก่มาอย่าละเลย | ควรจะเต๊ยตอบตามให้งามตา |
ถึงไม่มีสิ่งใดจะให้ปัน | ของกำนัลปากเรานะเจ้าหนา |
พึงกล่าวคำขอบใจใช้ปัญญา | เมื่อเวลาหาได้แล้วให้แทน |
หนึ่งเราให้แต่ไม่ตอบพึงชอบให้ | มิหาไม่ข้อนี้นี่ดีแสน |
งามละอองตรองให้เห็นเป็นคะแนน | คือคนแค้นขัดข้องต้องขอทาน |
กับภิกษุสมณะผู้ละโทษ | จงปราโมทย์ตั้งจิตคิดสมาน |
พึงคิดหวังตั้งใจให้เป็นทาน | อย่าให้ท่านตอบแทนเลยแสนงอน |
แสวงบุญจุนเจือเผื่อชาติหน้า | ฟังพ่อว่าโฉมงามทรามสมร |
พึงกำหนดจดจำคำสุนทร | พะงางอนจะไปอยู่กับคู่เชย |
๏ หนึ่งร้อยชั่งพึงนั่งให้เป็นสุข | คอยปลื้มปลูกใจจำคำเฉลย |
อันพ่อผัวแม่ผัวของตัวเคย | จะอ้างเอ่ยสนทนาอย่าให้เกิน |
จะลุกนั่งระวังระไวให้บังควร | อย่าลอยนวลตีเสมอให้เก้อเขิน |
เสียจริตนางงามทรามเจริญ | จะนั่งเดินดูระบอบค่อยยอบกาย |
หนึ่งยามกินให้เป็นสุขนะลูกรัก | แม่งามพักตร์แม้นเหมือนดั่งเดือนหงาย |
อย่าเสพโภชน์ก่อนผัวเร่งกลัวอาย | ถึงเย็นสายอดออมถนอมใจ |
หนึ่งพึงนอนให้เป็นสุขอย่าทุกข์ร้อน | พ่อจะสอนร่วมจิตพิสมัย |
พึงปูปัดฟูกหมอนที่นอนใน | ให้ชื่นใจผัวขวัญนั้นนิทรา |
ถ้าผัวนอนก่อนนาฏจงคลาดเคลื่อน | ประตูเรือนน้อยใหญ่ในเคหา |
จงใส่จีมลิ่มกลอนทวารา | แล้วตรวจตราโคมไฟจะไหม้ลาม |
เมื่อเสร็จสรรพกลับเข้าเคหาห้อง | ค่อยเยื้องย่องบทศรีอย่าผลีผลาม |
เสงี่ยมกายกายาสง่างาม | ให้ต้องตามน้องนางสำอางองค์ |
น้ำล้างหน้าหาไว้ให้ผัวเจ้า | เมื่อตื่นเช้าจะได้สมอารมณ์ประสงค์ |
จงหยิบยื่นส่งให้ดังใจจง | ให้ผัวสรงพักตร์สนานสำราญใจ |
หวีกระจกยกมาตั้งที่โต๊ะน้อย | ผ้าเช็ดหน้าหาคอยไว้ส่งให้ |
ที่นอนน้อยคอยพับประดับไว้ | ที่นอนใหญ่ปัดปูดูให้ดี |
กระโถนน้อยร้อยชั่งจัดตั้งไว้ | เผื่อผัวไอจะได้บ้วนให้ถ้วนถี่ |
ยามนิทราฝ่าซ้ายฝ่ายนารี | เมื่อราตรีแขไขจะไสยา |
๏ แม่งามชื่นตื่นก่อนอย่านอนสาย | จงขวนขวายแจงจัดปัดเคหา |
แม้นผู้คนแขกไทยเขาไปมา | ดูกิริยาใกล้ไกลไพร่ผู้ดี |
ธุระใดไถ่ถามความให้แจ้ง | บ้านตำแหน่งชื่อนามตามวิถี |
พลเรือนฤาไพร่ไปรษณีย์ | ดูท่วงทีท่าทางจะอย่างไร |
ควรจะปลุกภัสดาฤาว่านิ่ง | จงตรึกติงตามปัญญาอัชฌาสัย |
จะคู่ควรตอบขานประการใด | ตามแต่ใจขวัญเจ้าเยาวมาลย์ |
ฟังเต็มหูรู้เต็มใจจำให้แน่ | อย่าผันแปรลืมคำที่ร่ำสาร |
ผัวตื่นนอนเล่าความตามวิจารณ์ | ให้สิ้นสารสุดคำอย่าอำไว้ |
หนึ่งแขกไปไทยมาดูหน้าก่อน | จะรีบร้อนฤาว่าเย็นเป็นไฉน |
ถ้ามาห่างต่างบ้านสถานไกล | จงติดไฟหุงต้มระดมพลัน |
ครั้นเสร็จสรรพยกสำรับออกมาเทียบ | จัดให้เรียบงามถนอมแม่จอมขวัญ |
แล้วเชิญให้รับประทานทั้งหวานมัน | นี่แลขวัญนัยนาอุตส่าห์จำ |
พ่อคุ้ยคัดจัดกลอนมาสอนสั่ง | แม่ร้อยชั่งรูปหล่อล้วนข้อขำ |
จะเป็นศรีสูงส่งอนงค์นำ | ให้เลิศล้ำแลกระจ่างสำอางองค์ |
หนึ่งพึงบำเรอกองไฟให้จำรัส | ศรีสวัสดิ์งามสงวนนวลหงส์ |
นัยนาเยาวยอดทอดจำนง | อย่าแลตรงตอบตากับสามี |
แม้นบิดามารดรของหล่อนเจ้า | อย่าดูเบาเล็งแลจนแพ้หนี |
เมื่อจะมองแลชะม้อยคอยดูที | มองด้วยสีเนตรนวลสงวนงอน |
๏ บำเรอไฟได้แก่บำเรอผัว | เป็นเรียวรั้วกั้นกายสายสมร |
พ่อสอนแล้วแก้วตาพะงางอน | จงจำสอนพ่อสั่งระวังตน |
อีกข้อหนึ่งพึงไหว้เทพเจ้า | โฉมเฉลาจำวาจาอย่าฉงน |
ไหว้ชนกชนนีสามีตน | จะเกิดผลพูนพัฒน์สวัสดี |
อย่าให้ขาดทุกวันหมั่นเคารพ | จะเลิศลบแหล่งหล้าทั่วราศรี |
พ่อสอนแม่รูปหล่อย่อวาที | เสาวนีลูกน้อยกลอยฤทัย |
จงจำคำบิดาที่ว่ากล่าว | เจ้าเป็นสาวแสนแท้ดั่งแขไข |
จงรักนวลสงวนงามเถิดทรามวัย | จำใส่ใจสอนจิตวนิดา |
งามละมุนอุ่นเหย้าเยาวเรศ | แม่ดวงเนตรอุตส่าห์จำคำพ่อว่า |
อย่าเหลาะแหละไหลเล่อเผลอกายา | สุมณฑาสอดสีมณีนิล |
เมื่อจากไปไกลตาบิดาแล้ว | ถนอมใจผัวแก้วอย่าดูหมิ่น |
สามีแม้นเหมือนบิดาอย่าราคิน | ทั้งการกินการอยู่ดูให้ดี |
นางจะงามก็เพราะความปรนนิบัติ | สารพัดทุกกระบวนให้ถ้วนถี่ |
ถ้าสิ่งใดไม่ชอบใจของสามี | แม่โฉมศรีอย่าได้ทำให้ช้ำใจ |
อันรักรูปรักสมบัติเขาตัดขาด | มารยาทผูกมัดตัดไม่ไหว |
เหมือนพระราชนิพนธ์พจน์กำหนดไว้ | สำเนาในความดำริวชิรญาณ[๑] |
จะชักมาให้เห็นเป็นที่อ้าง | ความกระจ่างจริงใจท่านไขสาร |
ออกตีแผ่แบให้เป็นพยาน | พระวิจารณ์ทรงตรึกนึกไตรตรา |
๏ พี่รักนุชนาฏด้วย | เห็นใจ จริงแฮ[๒] |
ใช่จะรักรูปวิไล | เลิศล้ำ |
ชื่นจิตแต่เรียมไข | คำซื่อ |
อีกสิ่งปฏิบัติซ้ำ | ส่งให้รักแรง |
๏ ข้าพเจ้าอ่านจำนั่งร่ำบ่น | ตามนิพนธ์สารเสนาะเพราะหนักหนา |
ตั้งใจจำรำพันทุกวันมา | พระปรีชาทรงนิยมเห็นสมจริง |
ขนิษฐนางนารีผู้ดีไพร่ | พิสมัยจำทำนองเถิดน้องหญิง |
แม้นมีคู่อยู่แนบแล้วแอบอิง | อย่าทอดทิ้งแบบฉบับตำหรับครู |
ธนญไชยสอนลูกสาวเมื่อคราวจาก | จะพลัดพรากจำไกลไปมีคู่ |
โฉมเฉลาเยาวมาลย์เชิญอ่านดู | จะได้รู้แยบยลคนบูราณ |
หนังสือชื่อนารีศรีสวัสดิ์ | ฉันคิดคัดคำกลอนสุนทรสาร |
ให้ยุพินยินยลวิมลมาลย์ | รู้จักการปรนนิบัติภัสดา |
ถ้านางใดจำได้ดั่งคำสอน | ตามที่วอนว่าไว้ในเลขา |
เปรียบสมรจรจากฟากเมฆา | ครรไลลาสู่แดนแผ่นชมพู |
บุรุษใดได้ชมภิรมย์ถนอม | ไม่แปลกปลอมหมองหมายนึกหน่ายหนู |
นิยมยวนชวนโลมแม่โฉมตรู | จนตราบสู่สิ้นชาติไม่คลาดคลา |
รักสงวนนวลไว้อย่าให้หมอง | ดั่งหนึ่งน้องโฉมตรูจากคูหา |
ถนอมใจผัวขวัญกัลยา | ถึงโกรธาอุตส่าห์ปลอบให้ชอบที |
ใจบุรุษสุดแสนจะรักษา | เมื่อเสียท่าคิดปลีกหลีกตัวหนี |
จะว้าเหว่เอกาทั้งตาปี | นั่งโศกีกอดเข่าเศร้าฤทัย |
ทั้งเจ็บแค้นแสนเคืองด้วยเรื่องรัก | อกจะหักคิดมาน้ำตาไหล |
เพราะความชั่วผัวเคืองกระเดื่องใจ | ตัดอาลัยนวลน้องให้หมองมัว |
โฉมยุพินยินคำที่ร่ำแล้ว | เชิญน้องแก้วรักนวลสงวนผัว |
เสียเงินทองของกินจนสิ้นตัว | อย่าให้ผัวเสียได้เลยไฉยา |
ใช่จะแกล้งกล่าวกลอนมาข้อนขอด | เยาวยอดมิ่งมิตรขนิษฐา |
คำบูราณก่อนกี้ก็มีมา | พรรณนาความไข้ใจอนงค์ |
นางกษัตริย์มัทรีนารีแก้ว | อันเลิศแล้วสุดสำอางเหมือนนางหงส์ |
บังคมทูลทรงฤทธิ์บิตุรงค์ | ขอตามองค์ภัสดาสวามี |
จะอยู่ในเวียงไชยไฉนเล่า | โอ้ร่มเกล้าเหลือล้นพ้นเกศี |
ลูกกลัวอายขายหน้าชาวธานี | จะเสียดสีแสร้งว่าสาระวอน |
จะนินทาว่าได้ว่าใจชั่ว | ช่างทิ้งผัวเสียได้ใจสมร |
เวลาสุขชื่นใจในนคร | เวลาร้อนแรมร้างคิดหมางเมิน |
๏ ถึงยากเย็นเข็ญใจขอไปด้วย | จะสู้ม้วยตามเจ้าในเขาเขิน |
ไม่ขออยู่สู้กรรมที่ก้ำเกิน | จะด้นเดินแดนป่าพนาวัน |
เป็นโฉมตรูอยู่เดียวเปลี่ยวถนอม | มีแต่ตรอมตรมจิตคิดกระศัลย์ |
มีเงินทองกองดื่นสักหมื่นพัน | ไม่เฉิดฉันชูหน้าเหมือนสามี |
จะนอนเรียงเตียงทองตระกองแก้ว | อันวาวแววผ่องผัดจรัสศรี |
แต่ไร้คู่อยู่ชมไม่สมประดี | จะทวีครวญคร่ำทุกค่ำคืน |
แสนสงสารกัลยากำพร้ามิตร | ต้องจำจิตตรอมตรมระทมฝืน |
รักก็แสนแค้นก็ซ้ำต้องกล้ำกลืน | คิดยามชื่นแล้วก็ช้ำระกำกาย |
จะผดุงกายินประทินแป้ง | กลัวแสลงเล่าลือออกชื่อหมาย |
ต้องเสงี่ยมเจียมองค์อนงค์นาย | ดูร่างกายผ่องพิศจิตลำเค็ญ |
ทุกข์เช่นนี้มีมากหลากขนิษฐ์ | สุดจะคิดเล่าให้ผู้ใดเห็น |
ทุกข์กระหน่ำซ้ำซ้อนสังหรณ์เป็น | มาว่างเว้นความกำหนัดรัชนี |
๏ ถ้าจะเปรียบโฉมนางสำอางพักตร์ | วิไลลักษณ์เล่ห์จันทร์อันฉวี |
ต้องอับเมฆเมฆาเป็นราคี | ดวงชีวีแทบจะขาดสวาทวอน |
ท่านเปรียบไว้ว่านทีไม่มีน้ำ | ก็สมคำกับฤดีศรีสมร |
ราชรถไม่มีธงอลงกรณ์ | ถึงจะงอนก็ไม่งามยังทรามตา |
เหมือนนารีไร้คู่เชิดชูพักตร์ | ย่อมเสื่อมศักดิ์ลดอำนาจวาสนา |
นครใหญ่ไร้สมบัติกระษัตรา | ไม่สง่าเฉิดฉันพรรณราย |
ชื่อว่าไฟไร้ควันกระศัลย์สลด | นิลบดไร้ราคาน่าใจหาย |
อุทยาแล้วไฉนดอกไม้วาย | กระสินธุ์สายไร้มัจฉาไม่น่าเชย |
เป็นสระแก้วแล้วไฉนไร้บัวแก้ว | นามถ้ำแล้วราชสีห์ไม่มีเอ่ย |
เป็นนางแก้วแล้วไฉนไร้คู่เชย | นิจจาเอ๋ยคิดไปให้อาทร |
จะประเทืองเครื่องปรุงบำรุงร่าง | ให้สำอางเอี่ยมองค์อนงค์สมร |
กลัวชายชั่วต่ำช้าจะว่าวอน | แกล้งขอดข้อนแค่นแค้นแสนระคาย |
พจนำคำเหน็บนี้เจ็บเหลือ | เจ็บทั้งเนื้อเจ็บทั้งใจไม่รู้หาย |
เจ็บเท่านั้นแล้วมิหนำยังซ้ำอาย | ไม่วางวายครวญถวิลกินน้ำตา |
ต้องอยู่เดียวเปลี่ยวอกวิตกแสน | ดั่งหนึ่งแหวนเพชรพลัดจากหัตถา |
อกสะท้อนร้อนใจเมื่อไสยา | เวทนาน้องหญิงสัจจริงจัง |
พระมัทรีพร่ำพร้องสนองทูล | นเรนทร์สูรกรุงสญไชยเหมือนใจหวัง |
หยิบเอาทุกข์ปลุกเอาชมที่ตรมตรัง | เล่าให้ฟังตามสำเนาเค้าคดี |
๏ ขอเชิญนวลครวญนึกตรึกสงวน | ตามสำนวนกล่าวกลอนอักษรศรี |
ใช่เพ้อเจ้อลวงหลอกนอกบาลี | กล่าวตามมีในตำหรับฉบับครู |
อย่าผินหลังนั่งเสียคอยเงี่ยโสต | ฟังโฉนดคำฟ้องทั้งสองหู |
เชิญสาวสวยงามฉวีสีชมพู | สงวนคู่อย่าให้ร้างไปห่างไกล |
ดีก็ผัวชั่วก็เพื่อนร่วมเรือนแล้ว | อย่าให้แคล้วจันทร์แจ่มแรมสมัย |
แม้นล่มหัวจมท้ายช่วยพายไป | ถึงร้อยใหม่หนึ่งเก่าไม่เท่ากัน |
พอเห็นแกงเทพริกทำพลิกท่า | เสียมารยายศอย่างนางสวรรค์ |
พอได้แจวลืมพายร้ายไม่บัน | แม่แจ่มจันทร์อุตส่าห์จำอย่าทำเลย |
พอได้เสื้อลืมผ้าขาวม้าน้อย | ระย้าสร้อยอย่าปองเลยน้องเอ๋ย |
เหมือนลูกยางห่างต้นเที่ยวหล่นเลย | คนจะเย้ยเยาะหยามงามละออง |
งามเสงี่ยมเจียมใจเอาไว้นิด | รักษาจิตภรรดาอย่าให้หมอง |
หญิงจะงามทรามเสน่ห์เล่ห์จำลอง | ก็เพราะครองสัจจาเป็นอาภรณ์ |
ยามจะเยื้องเอื้อนสารให้หวานฉ่ำ | เสนาะล้ำลมลิ้นกลิ่นเกสร |
ให้หอมหวนยวนอุราประชากร | ดั่งสาครเสาวคนธ์วิมลมาลย์ |
โลกระคนปนทำนำเสนอ | อย่าพลั้งเผลองามปลอดยอดสงสาร |
จบเท่านี้แลนะเจ้าลำเพาพาล | กลับหน้าหลังสั่งสารสุดเสียงเอย ฯ |
๏ จบความงามพักตร์ผู้ | เพ็ญศรี |
จำจดพจน์พาที | ที่พร้อง |
สบสรรพ์กลั่นวจี | แจกนุช ถนอมแม่ |
ยามเมื่อจักสู่ห้อง | หากรู้เรียมสงวน |
[๑] ต้นฉบับเขียนว่า “ชิริญาณ”
[๒] โคลงสุภาษิตบางปะอิน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๒๐