บทนำเรื่อง

เรื่องคำฉันท์สอนหญิงนี้ เป็นหนังสือเก่าไม่ปรากฏนามผู้แต่งได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ในหนังสือวชิรญาณ และต่อมาได้พิมพ์เป็นเล่ม ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อแจกในงานทอดกฐินของคณะสามัคคีวัดพิกุลโสคันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพิมพ์ครั้งที่ ๓ ในงานฌาปนกิจศพนางปุ่น สำเนียงพิน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในการจัดพิมพ์เรื่องคำฉันท์สอนหญิงครั้งนี้ได้ตรวจสอบชำระโดยใช้ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นหลัก โดยปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

เรื่องคำฉันท์สอนหญิงแต่งด้วยคำประพันธ์ ๓ ชนิด คืออินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ จำนวน ๕๖ บท กาพย์ฉบัง ๑๖ จำนวน ๗๘ บท และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ จำนวน ๓๖ บท เนื้อเรื่องเป็นสุภาษิตสำหรับสตรีทุกชนชั้น กล่าวถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติของกุลสตรี

เนื้อหาตอนต้นของคำฉันท์สอนหญิงบอกจุดมุ่งหมายในการแต่งไว้ว่า

๏ ข้าขอเผด็จแสดง ผจงแต่งซึ่งคำสอน
ไว้เป็นสุนทรกลอน คดีโลกลำดับความ
๏ ไว้ให้แก่นาเรศ เฉลิมเกศอนงค์งาม
รุ่นสาวเจริญทราม พิศวาสแสวงชาย
๏ นารีอันมีศักดิ์ วรพักตร์ดั่งเดือนฉาย
สงวนตัวไม่มัวระคาย จะระคนด้วยมลทิน
๏ เสมือนดังวิเชียรรัต นะลือระบือระบิน
เป็นอรรคนาริน รจนาวราโฉม
๏ ควรเป็นมงคลขวัญ นัยเนตรวิเศษโสม
นัสนาฎสวาทโลม ฤดีชายให้ ถวิล

เนื้อหาของคำสอนนี้กล่าวถึงข้อที่ควรปฏิบัติและข้อห้ามที่สตรีไม่ควรกระทำ และมีตัวอย่างของผลดีจากการปฏิบัติตามคำสอนและผลร้ายเมื่อไม่ปฏิบัติตาม ดังตัวอย่าง

สอนให้ระมัดระวังตนในเรื่องการเดิน การยืนและการลุกนั่ง

๏ เดินเหินอย่าเมินพักตร์ แลชำลักชำเลืองยล
เห็นชายทำอายฉงน ระริกร่านัยน์ตามัน
๏ ยามเดินอย่าเมินประมาท ให้พลั้งพลาดล้มเซซวน
ยามยืนอย่ายืนยวน กมลขึงตะลึงแล
๏ ยามเดินอย่าเดินเหย่า ระเหยาะย่างเหมือนอย่างกา
อย่าเดินเอาศิรา ชะโงกเงื้อมไปก่อนกาย
๏ ลุกนั่งระวังตน อย่าลุกลนทะลึ่งไป
ภูษาแลผ้าสไบ จงปกปิดให้มิดกาย

และสอนให้รู้จักวิธีการเดินที่ถูกต้องผึ่งผายและสง่างามเสมือนท่าทางของช้างทรง

๏ ให้เดินผจงบาท ด้วยลีลาศชำเลืองชาย
แอ่นอกให้ผึ่งผาย เหมือนดังเป็ดวิเศษดี
๏ เดินเหมือนคชาทรง มงคลราชหัสดี
จะเป็นเฉลิมศรี ศุภสุนทรานาน

สอนการแต่งกายให้งามอย่างพอดี เหมาะสมกับฐานะและการรู้จักเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับลักษณะของตนเอง

๏ แต่งกายให้สมศักดิ์ วรพักตร์วิไลวรรณ
คนดำห่มแดงฉัน ไม่ฉายเฉิดประเสริฐศรี
๏ คนขาวจะนุ่งห่ม อันใดใดก็งามดี
คนดำต้องห่มสี แต่หม่นหมองแลเขียวคราม
๏ ห่มแดงแลสีนวล บมิควรจะเห็นงาม
ชายเห็นจะเย้ยหยาม บริภาษให้บาดใจ

และหากสตรีแต่งกายมากเกินไปดูไม่สมควรก็จะได้รับการติเตียน

๏ ทาแป้งแต่งเกินสกนธ์ สำหรับคำคน
จักเคาะจักข้อนนินทา  

สอนให้รู้จักการใช้วาจาที่ไพเราะ อ่อนหวาน ไม่ใช้คำพูดที่นินทาว่าร้าย หรือการพูดจาหยาบคาย และไม่พูดยกตนข่มผู้อื่น

๏ นารีอันมียศ มธุรสย่อมแจ่มใส
เยื้อนยิ้มพริ้มละไม พจนารถสวาทหวาน
๏ อย่ากล่าวยุบลบ่อน สบถล่อนให้เกินการ
อวดโอ้พูดโวหาร ยกตัวตั้งอวดมั่งมี
๏ อย่าค่อนนินทาท่าน มิใช่การกระสัตรี
ความชั่วแลความดี ย่อมมีทั่วทุกตัวคน
๏ อย่าหยิ่งเผยอผยอง ลำพองตนกระมลทิน
ปากร้ายผูกไพริน แก่เพื่อนมิตรสนิทนาง
๏ จงเจียมเสงี่ยมจิตต์ แต่งจริตให้สำอาง
พูดจาอย่าราญทาง แก่เพื่อนรักสมัครตน
๏ เป็นหญิงอย่าใจบาป วาจาหยาบพูดสามานย์
กล่าวโลนตลกพาน เหมือนเช่นชายบ่อายใจ
๏ พูดจาอย่าให้เคืองระคาย เอาใจไว้พลาง
กันคนติฉินนินทา  

สอนให้ระมัดระวังตนในเรื่องรับประทานอาหาร เช่น อย่าทำกิริยาหันหน้าหันหลังยามรับประทานอาหาร อย่าเปิบข้าวคำใหญ่ หรือเคี้ยวอาหารและซดน้ำแกงด้วยเสียงที่ดัง

๏ ยามกินอย่าผินพักตร์ บริโภคกระยาหาร
แสนทรัพย์ศฤงคาร จะเนืองนองดั่งน้ำไหล
๏ ประจิมจักมียศ เป็นยอดอย่างสุรางค์ใน
อุดรจักมีภัย อย่าผินพักตร์รับอาหาร
๏ ยามกินอย่ากินเติบ ค่อยป้อนเปิบให้สบาย
ข้าวตกลงเรี่ยราย ไม่สู้ดีอัปรีย์ตน
๏ เคี้ยวข้าวดังจับจับ จะอาภัพวิบัติคน
ซดแกงเหมือนเสียงกรน ดังโฮกโฮกกระโชกลม

สอนให้ระวังตนในเรื่องกิริยาการนอน เช่น อย่านอนหงาย อย่านอนก่ายหน้าผาก หรือนอนกอดอกและหากนอนไม่ระวังหรือนอนไม่ถูกทิศทาง อาจจะทำให้เจ็บป่วยได้ แต่ถ้าหากนอนในท่าที่ถูกต้อง ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะมีสุขภาพที่ดี

๏ ยามนอนอย่านอนหงาย เอากรก่ายวิลาศแปร
กอดอกอดูรแด ฤดีดิ้นถวิลชาย
๏ ยามกินอย่ากินเติบ ค่อยป้อนเปิบให้สบาย
ข้าวตกลงเรี่ยราย ไม่สู้ดีอัปรีย์ตน
๏ เคี้ยวข้าวดังจับจับ จะอาภัพวิบัติคน
ซดแกงเหมือนเสียงกรน ดังโฮกโฮกกระโชกลม
๏ นอนหลับละเมอฝัน บ้างเคี้ยวฟันสยายผม
ครางครวญรัญจวนตรม กลสะอื้นไม่ฟื้นตัว
๏ บ้างนอนน้ำลายไหล บ้างถอนใจดูน่ากลัว
เสียงกรนเหมือนเสียงวัว ดูอนาถประหลาดใจ
๏ บ้างนอนเป็นท่ายักษ์ ย่อมชั่วนักคนจัญไร
มือสอดเข้าไว้ใน ระหว่างขาท่าอัปรีย์
๏ ระมัดระวังตัว อย่านอนชั่วมักไม่ดี
โรคาจักยายี อายุน้อยจักถอยแรง
๏ นอนดีจะมีทรัพย์ กิติศัพท์เป็นศักดิ์แสง
คำสอนให้นอนตะแคง เอาแขนพาดไปตามสกนธ์
๏ เหยียดเท้าลำดับบาท เอากรพาดหนุนเศียรตน
เป็นสวัสดิมงคล ชื่อสีหไสยา

สอนให้รู้จักทำครัว และมีความละเอียดรอบคอบดูแลความเรียบร้อยเรื่องงานในครัว เช่น คอยหมั่นล้างถ้วยชาม อย่าให้ข้าวคาหม้อ คอยดูแลครัวไฟให้เรียบร้อยสะอาดตา เมื่อหุงข้าวทำครัวเสร็จแล้วต้องดับไฟ

  ๏ ด้วยตัวเป็นหญิง กับข้าวทุกสิ่ง ให้รู้จักทำ
รู้ต้มรู้แกง ของแห้งของน้ำ ผักพล่าปลายำ ทำให้ดีดี

และ

๏ ข้าวปลาอย่าคาหม้อ ไว้เหลือหลอให้บูดรา
ถ้วยชามอย่าให้คา หมั่นล้างคว่ำทำให้ดี
๏ ครัวไฟอย่าให้รก สกปรกมักอัปรีย์
หม้อข้าวฝาละมี อย่าเปลี่ยนผลัดพลัดกันไป
๏ หุงข้าวอย่าผินหลัง หมั่นระวังทั้งฟืนไฟ
เสร็จสรรพดับให้ได้ อย่าทิ้งไว้จักไหม้เรือน
๏ กินแล้วอย่าฉุยแฉ่ ให้พ่อแม่ต้องตักเตือน
อย่าทิ้งไว้ให้กลาดเกลื่อน เปื้อนครัวไฟนั้นไม่ดี

สอนให้รู้จักปรนนิบัติดูแลสามี เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวปลาอาหารต้องดูแลให้สามีรับประทานก่อน จนเมื่อสามีรับประทานเสร็จตนจึงค่อยรับประทาน จัดเตรียมที่นอนให้สะอาดเรียบร้อย เตรียมน้ำสำหรับล้างหน้า คอยพัดวีเมื่อยามร้อน เป็นต้น

๏ อนึ่งให้นอบน้อมจอมสกนธ์ ปรนนิบัติผัวตน
โดยสุจริตพิสมัย  
๏ ถึงมีทาสาข้าไทย อย่าได้ไว้ใจ
ให้หุงให้หาอาหาร  
๏ ตาดูหูใส่ในการ กลัวคนสามานย์
ใส่ยาจักฆ่าสามี  

และ

๏ จวนใกล้ไขแสงสุริยง ตื่นจัดบรรจง
น้ำสรงชำระพักตรา  
๏ เสร็จสรรพแล้วกลับออกมา หุงหาโภชนา
บรรจงอย่าให้ใครทำ  
๏ แต่งให้ผัวกินอิ่มหนำ ยกมาล้างคว่ำ
แล้วตัวจึงค่อยหากิน  
๏ วัตถาอาภรณ์อันดี สำหรับสามี
จงจีบประดับพับวาง  
๏ เย็นค่ำย่ำแสงสุริยน นั่งนอบมอบสกนธ์
เข้าปรนนิบัติพัดวี  
๏ ผจงปัดปูที่นอน เลือดไรในหมอน
จงหาอย่าได้คายคัน  

และเมื่อสามีมีจิตปฏิพัทธ์ด้วย ภรรยาต้องพร้อมใจอย่าทำท่าทางรังเกียจเดียดฉันท์

๏ อนึ่งสามีมีใจ รักร่วมพิสมัย
สังวาสสวาทหฤหรรษ์  
๏ จงมีปรีดาเสมอกัน อย่าทำเดียดฉันท์
ให้ขัดให้ข้องขุ่นเคือง  
๏ ไฟลุกฝอยลุกรุ่งเรือง ไฟดับฝอยประเทือง
ให้ดับระงับตามกัน  

และ

๏ หญิงใดสามีผูกพันธ์ มีจิตคิดกระสัน
ประสงค์จำนงในนาง  
๏ แม้รู้อย่าทำราญทาง กล่าวคำให้ระคาง
ระบัดระเบียดเสียดสี  

สอนให้มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อสามี แม้สามีจะได้รับความลำบาก ภรรยาจะไม่ทอดทิ้งสามี

  ๏ ถึงผัวตกไร้ ยากเย็นเข็ญใจ อย่าเอาตัวหนี
ผัวยากเมียยาก ลำบากแสนทวี ผัวมีเมียมี ภักดีต่อกัน

สอนให้มีความเคารพนบนอบต่อบิดามารดาสามีเสมือนบิดามารดาตน และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติวงศ์

๏ บิดรมารดาสวามิน อย่าให้ติฉิน
รังเกียจรังกนหม่นหมาง  
๏ ไปลามาไหว้ให้สำอาง คิดเหมือนพ่อนาง
แม่บังเกิดเกล้าเกศี  
๏ พี่น้องญาติกาสามี เจรจาพาที
โอบอ้อมถนอมใจกัน  
๏ ไปมาหาของกำนัล ใส่โตกเชี่ยนขัน
คำนับให้สมพักตรา  
๏ พี่น้องไปมาหา นั่งพูดจาอย่าทำอาย
พบปะเข้าทักทาย ปากเราะรายพูดให้ดี
๏ ลุงอาแลตาปู่ ไปมาสู่ด้วยไมตรี
ข้าวปลาหาหุงจี่ ตามยากมีให้ท่านกิน
  ๏ จงมีศรัทธา ได้ของอะไรมา เปรี้ยวเค็มหวานมัน
จงแบ่งทำบุญ เพิ่มพูนสมสรรค์ กรวดน้ำรำพรรณ ให้แก่ญาติกา

สอนให้ไม่นำเรื่องในบ้านหรือความลับของสามีไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง และหากสามีโกรธขึ้ง ภรรยาต้องระงับอารมณ์ไม่เถียงทะเลาะกันให้เป็นที่ติฉินของชาวบ้าน

๏ ความลับผัวแจ้งกิจจา ไว้ในอุรา
อย่าได้แถลงแพร่งพราย  
๏ ปากบอนข้อนกล่าวบรรยาย ผัวจักได้อาย
ให้ควรสงวนภัสดา  
๏ แม้ว่าสามีโกรธา อย่าตอบวัจนา
อดออมถนอมน้ำใจ  
๏ หายโกรธจึงค่อยเฉลยไข เล่าความตามนัย
ยุบลแต่ต้นเหตุมี  

สอนให้ประพฤติตนเป็นคนดี รู้จักรักนวลสงวนตัว เมื่อเวลาค่ำไม่ออกนอกบ้าน และหากจะออกจากบ้านต้องมีเพื่อนไปด้วย

  ๏ แม้ผู้มีศักดิ์ อย่าทำทรลักษณ์ เหมือนน้ำใจหญิง
รักนวลสงวนหน้า วงศาอย่าประวิง จักงามเพริศพริ้ง เป็นภูมิผู้ดี
๏ แดดออกดูตากของ ฝนตกรองแต่วารี
เย็นย่ำค่ำราตรี อย่าจรลีจากเคหา

หรือ

๏ หญิงสาวจักไปไหน มีเพื่อนไปจงไคลคลา
คนเดียวอย่าลีลา เขานินทาว่าสามานย์

สอนให้ไม่เข้าบ่อนเล่นการพนัน หรือเล่นละครฟ้อนรำ ควรประกอบอาชีพอยู่กับบ้านเพื่อระวังรักษาตน

  ๏ อย่าเข้าบ่อนใหญ่ เล่นโปชนไก่ ทำใจสามานย์
เป็นหญิงนักเลง เล่นเพลงเสงการ ปากกล้าหน้าด้าน ประจานกายตน
  ๏ อย่าเป็นละคร เที่ยวเล่นเที่ยวฟ้อน ทุกแห่งทุกหน
เป็นหญิงไม่อาย ผู้ชายเข้าปน จับจูบลูบสกนธ์ ให้หม่นหมองศรี
  ๏ อย่าร้องสักวา ดอกสร้อยมาลา ทับโทนมโหรี
หากินกับบ้าน งานการจงดี รักษาอินทรีย์ อย่าได้ไปไกล

สอนให้เรียนรู้วิชาการช่างฝีมือในงานเย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของการเป็นกุลสตรีไทย

  ๏ รู้เย็บผ้าสงฆ์ จีวรสบง กระทงใบศรี
รู้ปักรู้พวง สร้อยสรวงมาลี จีบพลูบุหรี่ ฟั่นธูปฟั่นเทียน
  ๏ ให้รู้ทอผ้า บัวดอกเมล็ดงา ม่วงไหมให้เนียน
แกะประจำกัน สารพรรณวาดเขียน ให้นางมีเพียร เรียนรู้วิชา

ให้ศึกษาและเรียนรู้หนังสือเพื่อเป็นวิชาประดับตน

  ๏ รู้หนังสือไทย ขัดเข้าจักได้ อ่านตำรายา
ได้อ่านสวดมนต์ เล่าบ่นคาถา ตามแต่ปัญญา เป็นทางนิพพาน

ผู้แต่งได้เปรียบเทียบสตรีเสมือนดอกไม้และแหวนประดับที่งดงามหากรู้จักระวังรักษาตนจะมีคุณค่า แต่ถ้าสตรีนั้นชอกช้ำบุบสลาย จะไม่เป็นที่ปรารถนาของบุรุษ

๏ เปรียบเหมือนกับดอกไม้ ม้วนแทรกใส่ในอาจม
ผู้ใดใครจักชม ดอกโสมมไม่นำพา
๏ ถ้าว่าสุมาลี เกสรมีงามรจนา
เป็นที่เสน่หา จิตเมตตาทุกตัวคน
๏ ตัวดีมีคนรัก ทำทรลักษณ์จักได้อาย
หัวแหวนแสนเสียดาย ตกแตกทะลายหายราคา
๏ เปรียบเหมือนกับหญิงสาว ทำราญร้าวใส่กายา
ชายดีมีปรีชา ไม่ปรารถนาจักเชยชม

นอกจากคำสอนให้สตรีรู้จักการประพฤติและปฏิบัติตนให้เป็นกุลสตรีที่ดีงามแล้ว ยังเปรียบเทียบคุณค่าความดีของสตรีในลักษณะต่าง ๆ เช่น

- หญิงที่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อสามีและตนเอง เสมือนมีสร้อยสังวาลที่มีค่าไว้ประดับกาย

๏ ความสัตย์กตัญญูยุพิน เป็นสายเกาบิล
สังวาลแลสร้อยสวมทรง  

- หญิงที่มีอัธยาศัยไมตรีดี เสมือนมีแหวนทองอันมีค่าประดับนิ้วมือ

๏ อัธยาอาศัยในอนงค์ จัดเป็นธำมรงค์
สุวรรณวลัยใส่กร  

- หญิงที่รู้จักคิดและมีสติปัญญา เสมือนมีเครื่องแต่งกายอันงดงามวิจิตรไว้ประดับตน

๏ สติปัญญาถาวร จัดเป็นอาภรณ์
ภูษิตวิเศษเจษฎา  

- หญิงที่ปฏิบัติตนตามหลักพรหมวิหาร ๔ เสมือนมีอาภรณ์อันมีคุณค่าไว้ประดับกาย และเป็นศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูล

๏ หนึ่งจิตเมตตากรุณา มุทิตาอุเบกขา
เป็นผ้าสไบใส่สี  
๏ สำหรับประดับกระสัตรี ให้เอี่ยมองค์ฉวี
สมศักดิ์ตระกูลกัลป์ยางค์  

นอกจากนี้ผู้แต่งยังชี้ให้เห็นถึงคตินิยมของสังคมไทยสมัยก่อนที่สตรีจะต้องแต่งงานมีคู่ครองและให้สามีเป็นผู้ปกป้องดูแลเสมือนมีแหวนวงอันล้ำค่ามาประดับนิ้วมือและเป็นความภาคภูมิใจประการหนึ่งของสตรีที่ตนมีเจ้าของแล้ว มิต้องห่วงใยที่บุรุษใดจะมาหมายปองอีก

๏ นารีมีคู่สู่แสวง คนย่อมยำแยง
บห่อนจักเย้ยไยไพ  

และ

๏ แหวนดีจักมีราคา เพราะหัวจินดา
ประดับสำหรับธำมรงค์  

และเช่นเดียวกันหากหญิงใดไม่มีคู่ครองก็เหมือนด้อยศักดิ์ศรีความเป็นสตรีเปรียบประดุจดอกไม้ที่ไม่มีใครเด็ดดอมจะมีแต่ร่วงโรยไป

๏ หญิงใดแรมร้างสามี เปรียบเหมือนมาลี
ไม่มีเจ้าของหวงแหน  
๏ สำหรับผึ้งต่อตัวแตน เบียนบ่อนซ้อนแกน
ก็โรยไปรื่นรสสุคนธ์  

คตินิยมอีกประการหนึ่งคือ การพิจารณาเลือกสตรีเป็นคู่ครอง บิดามารดาฝ่ายชายจะต้องเลือกสตรีที่มีมารดาประพฤติปฏิบัติดีและได้อบรมเลี้ยงดูบุตรสาวให้เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี

  ๏ เขาจักขอสู่ เขาย่อมแลดู พงศ์พันธุ์ผู้ใหญ่
ดูช้างดูหาง เยี่ยงอย่างกวัดไกว ดูนางเล่าไซ้ ให้ดูมารดา

และ

  ๏ ถ้าว่าตัวดี แม้มีบุตรี เอี่ยมองค์นงคราญ
จักได้สั่งสอน ให้อ่อนพจมาน กิริยาอาการ เหมือนดังมารดา

เรื่องคำฉันท์สอนหญิงยกตัวอย่างลักษณะสตรีไว้ ๓ แบบ คือสตรีที่ได้แต่งงานด้วยการสู่ขอถูกต้องตามประเพณี สตรีที่ติดตามชายคนรักไปอยู่ด้วยกัน และสตรีที่คบชายมากหน้า ซึ่งสตรีทั้ง ๓ แบบนี้ใครเลือกที่จะประพฤติตามแบบที่ถูกต้อง ชีวิตจะประสบแต่สิ่งที่ดี แต่หากเลือกในสิ่งที่ผิดระบอบประเพณีจะเป็นที่ครหาทั่วไป และกล่าวถึงลักษณะของหญิงที่ประพฤติไม่ดีซึ่งมารดาไม่ได้อบรมสั่งสอน หญิงเหล่านี้แม้จะมีรูปลักษณ์งดงามเพียงใด บุรุษก็ไม่มีความปรารถนาที่จะเลือกเป็นคู่ชีวิต หญิงที่ชอบแต่งตัว ชอบเที่ยวกลางคืนกับผู้ชาย หญิงที่พูดมาก หญิงเหล่านี้ชีวิตจะประสบความหายนะ ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย และไม่มีใครคบเพราะไม่เชื่อใจ

ตอนท้ายของเรื่องผู้แต่งได้ชี้แจงว่า ให้สตรีรู้จักพิจารณาเลือกปฏิบัติตนและกระทำในสิ่งที่ดีเป็นบุญกุศลแก่ชีวิต เมื่อมีครอบครัวจะได้พบกับบุรุษที่ดีมีชาติตระกูลและเมื่อนำคำสอนเหล่านี้ไปปฏิบัติในการครองชีวิต เพื่อทำหน้าที่ภรรยาที่ดี หมั่นคอยปรนนิบัติดูแลสามีจะทำให้สามีรักเกิดความเกรงใจ และผลจากการปฏิบัติดีจะเกิดความเป็นสิริมงคลเป็นที่กล่าวขานชื่นชม และชีวิตการครองคู่จะพบกับความสุขความเจริญแก่วงศ์ตระกูลสืบต่อไปได้

๏ ปรนนิบัติไว้องค์อินทรีย์ เสมือนดังดวงมณี
มีสีประเสริฐเฉิดโฉม  
๏ ร้อนใจอะไรชายจักประโลม ใครเห็นแล้วโสม
นัสเสน่ห์น่าถนอม  

และ

๏ แม้ผู้เสาวภาคย์สุนทร ฟังวัจนาคำสอน
ที่พี่ร่ำพรรณนา  
๏ จักมียศเลื่องเดชา กฎทั่วชาวชวา
ว่ากำภุญชัยสยาม  

เรื่องคำฉันท์สอนหญิงเป็นคำสอนที่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติสำหรับสตรี เพื่อนำไปใช้กับชีวิตครอบครัวและสังคมให้สตรีรู้จักการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งการใช้กิริยาวาจา มารยาทการแต่งกาย และการรู้จักปรนนิบัติ ดูแลเอาใจใส่ต่อสามีเพื่อทำหน้าที่ภรรยาที่ดี คำสอนและข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นค่านิยมประการหนึ่งของสังคมไทยที่มุ่งหวังให้สตรีรู้จักทำหน้าที่และปฏิบัติตนเป็นคนดี แม้ว่าข้อห้ามบางประการของสตรีในสมัยนั้นในเรื่องของการเล่นละครฟ้อนรำจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมไทยในปัจจุบันแต่คำสอนและข้อควรปฏิบัตินี้ยังคงเป็นประโยชน์สำหรับสตรีในสังคมไทยเลือกนำไปใช้เพื่อเสริมคุณค่าในตนเอง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ