บทนำเรื่อง
เรื่องโอวาทกระสัตรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๖๐ ว่า “หนังสือโอวาทกระสัตรี ผู้ใดแต่งหาทราบไม่ ปรากฏบอกไว้ข้างท้ายแต่ว่าแต่งเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เสียดายอยู่ที่สำนวนแต่งไม่สู้จะดีนัก แต่นับว่าควรพิมพ์ด้วยเป็นหนังสือเก่า”[๑]
โอวาทกระสัตรีแต่งเป็นกลอนสุภาพไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้แต่ง เนื้อเรื่องเป็นคำสอนและข้อควรประพฤติปฏิบัติของกุลสตรีให้รู้จักหน้าที่ของการเป็นภรรยาที่ดี รู้จักปรนนิบัติสามีทั้งในเรื่องการบ้านการเรือน การครองตน สอนในเรื่องของอิริยาบถต่าง ๆ ทั้ง นั่ง นอน ยืน เดิน การรู้จักเลือกใช้แต่คำพูดที่ดี ซึ่งหากหญิงใดนำคำสอนเหล่านี้ไปปฏิบัติ ชีวิตครอบครัวจะพบแต่ความสุข เกิดสิริมงคลแก่ครอบครัว เนื้อเรื่องของโอวาทกระสัตรีนี้ ผู้แต่งได้กล่าวถึงลักษณะของสตรีไว้ ดังนี้
ลักษณะของหญิงที่ดี มี ๔ จำพวก คือ
มาตาภิริยา เป็นลักษณะของหญิงที่เคารพรัก และคอยดูแลปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดียิ่ง เสมือนมารดารักบุตร
ภคินีภิริยา เป็นหญิงที่เชื่อฟัง เคารพนบนอบต่อสามี เสมือนพี่กับน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ทาสีภิริยา เป็นหญิงที่เคารพยำเกรงสามี เสมือนบ่าวกับนายจ้าง
สหายิกาภิริยา เป็นหญิงที่เคารพรักสามี เสมือนเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข
ลักษณะของหญิงที่ประพฤติไม่ดี มี ๓ จำพวก คือ
วัฒกาภริยา เป็นหญิงที่ชอบแต่งตัวใช้มารยาหญิง แสร้งให้ชายหรือสามีหลงเสน่ห์ในเรื่องของกามารมณ์ หญิงเช่นนี้มิได้มีความจริงใจต่อสามี หากชายใดหลงเสน่ห์ก็จะพบแต่ความหายนะ
อาชญาภริยา เป็นหญิงที่ชอบขมขู่ ดุด่าว่าสามีต่อหน้าผู้อื่นให้เป็นที่อับอายแก่คนทั่วไป
โจรีภริยา เป็นหญิงที่ชอบใช้เสน่ห์มารยาหลอกล่อให้บุรุษผู้มีฐานะลุ่มหลง หญิงเช่นนี้มุ่งหวังแต่เพียงทรัพย์สมบัติของสามีเท่านั้น
ผู้แต่งได้กล่าวถึงลักษณะของหญิงที่ประพฤติไม่ดีทั้งสามแบบ ซึ่งบุรุษทั้งหลายควรพิจารณาสตรีเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน เพราะไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่จะทำหน้าที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้
ผู้แต่งยังได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นเรื่องเล่าให้เห็นถึงลักษณะของหญิงที่ดีที่มีความเป็นแม่ศรีเรือน หมั่นคอยดูแลปรนนิบัติสามี เอาใจใส่ในงานบ้านงานเรือน สตรีเหล่านี้แม้จะมีสามีที่ประพฤติไม่ดี แต่ด้วยคุณงามความดีของการปฏิบัติตนในการทำหน้าที่ภรรยาที่ดี ก็จะส่งเสริมให้สามีและครอบครัวพบแต่ความสุข ความเจริญได้ และ
เช่นเดียวกันหากบุรุษใดแม้จะประพฤติตนเป็นคนดี แต่มีภรรยาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่มีความเป็นแม่บ้านแม่เรือน ชอบดุด่าว่าสามี ชีวิตครอบครัวนั้นจะพบแต่ความอัปมงคล หาความเจริญใส่ตัวเองและครอบครัวมิได้ จะเห็นได้ว่าผู้แต่งได้ชี้ให้เห็นถึงข้อควรปฏิบัติของสตรีในการเป็นภรรยาที่ดี ซึ่งสังคมไทยถือเป็นคุณสมบัติของหญิงไทย
เรื่องโอวาทกระสัตรีมีคำสอนที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมของวัฒนธรรมไทยที่สตรีสมัยนั้น พึงปฏิบัติในการทำหน้าที่ภรรยาที่ดี ดังคำสอนว่า
จะปรนนิบัติสามีเป็นที่รัก | สามิภักดิ์โดยเที่ยงไม่เดียงสา |
มิให้เคืองขืนขัดเรื่องอัชฌา | ถึงเพลายามนอนผ่อนเอาใจ |
กราบบาทสามีเป็นที่ยิ่ง | สรรสิ่งที่ชอบประกอบให้ |
ตื่นก่อนนอนหลังระวังระไว | ตักน้ำไว้คอยท่าซึ่งสามี |
จะได้ชำระพักตราเพลาเช้า | นวลเจ้าจำไว้เป็นศักดิ์ศรี |
หาหมากพันพลูบุหรี่ดี | มาตั้งที่ตามตำแหน่งที่แห่งเคย |
และ
สตรีดีย่อมมีมารยาท | จะทำการก็สะอาดไม่ผลีผลำ |
สิ่งใดดีที่ไหนสนใจจำ | ปากคำไม่กระเดื่องให้เคืองใจ |
จัดแจงการเรือนดูรอบคอบ | ถึงทำชอบผัวว่าชั่วก็นิ่งได้ |
รักษาตัวกลัวผิดระวังระไว | ตั้งจิตคิดไว้ให้คนชม |
นอกจากนี้ยังปรากฏคตินิยมเรื่องของการมีครอบครัวในสมัยนั้น บิดามารดาของหญิงสาวโดยทั่วไป มักจะจัดการให้ลูกสาวได้แต่งงานมีครอบครัวไปตามประเพณีนิยม สตรีจึงต้องแต่งงานมีครอบครัวเพราะถือว่าการมีสามีเป็นเกียรติยศเชิดหน้าชูตาแก่ครอบครัว สังคมไทยจึงให้ความสำคัญและความเป็นใหญ่ในบ้านแก่สามี ดังคำสอนที่ว่า
ใช่จะแกล้งแต่งไว้ให้ปรนนิบัติ | พระบัญญัติสอนไว้เรื่องเมียผัว |
อันสามีเป็นราศีของตัว | เหมือนแหวนหัวจะงามเพราะทองรอง |
ถึงรูปดีมีทรัพย์ศฤงคาร | ยศศักดิ์บริวารไม่บกพร่อง |
แม้นสามีหน่ายหนีไม่ครอบครอง | ก็มัวหมองเหมือนไม่มีความดีเลย |
คำสอนเกี่ยวกับความประพฤติและกิริยามารยาท เช่น
หญิงดีจงมีจิตคิดอดสู | พิเคราะห์ดูคำสอนไม่เสกสรร |
ถ้าทำดีดีจะมีขึ้นทุกวัน | ทำชั่วชั่วนั้นจะพูนมา |
งามอื่นหมื่นแสนสักเท่าใด | ไม่งามเหมือนงามใจไม่แกล้งว่า |
หญิงดีย่อมมีซึ่งอัชฌา | กิริยานั้นเป็นใหญ่ตั้งใจจำ |
ถึงผัวเคียดอย่าได้สุมคุมตอบ | ผิดชอบจงมีจิตคิดกลืนกล้ำ |
อดเสียได้ไม่อดสูมีผู้ยำ | อย่าขืนคำทุ่มเถียงขึ้นเสียงดัง |
คำสอนในเรื่องของการรู้จักใช้วาจา คำพูดที่เหมาะสม ดังคำสอน
จะพูดจาว่าไรให้พิจารณ์ | ว่าขานอย่าให้ช้ำระส่ำระสาย |
เขาจะค่อนนินทาเป็นท่าอาย | ว่าหญิงร้ายวาจาไม่น่าฟัง |
จะด่าทอล่อเรียกลูกหญิงชาย | จงดูซ้ายดูขวาข้างหน้าหลัง |
อย่าแปร๋แปร้นแล่นไล่ขึ้นเสียงดัง | ดูน่าชังสามานย์ประจานตัว |
วาจานั้นเป็นใหญ่จงได้คิด | จะชอบผิดจงไตรตราปรึกษาผัว |
วาจาดีย่อมจะมีคนเกรงกลัว | วาจาชั่วก็จะมีแต่คนชัง |
เรื่องโอวาทกระสัตรีนี้ได้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของสตรีในสมัยนั้น ซึ่งคำสอนและคตินิยมต่อแบบแผนและการปฏิบัติตนให้เหมาะสมดีงามของสตรีนั้น ยังคงนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน ดังที่ผู้แต่งได้กล่าวถึงค่านิยมของการเลือกสตรีเป็นคู่ครองไว้ว่า ควรจะพิจารณาจากมารดา ดังคำสอนที่ว่า
สังเขปคำผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้ | เลือกนางให้ดูแม่เป็นแน่นอน |
ที่ปึกแผ่นแน่นหนามารยาท | ที่เสงี่ยมเอี่ยมสะอาดชะอ้อนอ่อน |
จึงควรชมสมสู่เป็นคู่คอน | เลือกกุญชรดูหางสำอางตา |
เรื่องโอวาทกระสัตรีมีเรื่องเล่าแทรกเป็นนิทานสอนใจไว้หลายเรื่อง ดังตัวอย่างเช่นเรื่อง พระโพธิสัตว์กับอำมาตย์รับใช้ ๕ นายได้พลัดพรากจากบ้านเมืองมารอนแรมอยู่กลางป่าเดินทางมาถึงเขตแดนของยักขินี ซึ่งแปลงร่างเป็นสตรีสวยงาม มีกลิ่นกายอันหอมละมุน ด้วยหวังว่าหากชายใดเข้ามาในป่านี้และหลงใหลในความสวยงามของสตรีก็จะหลอกล่อให้ตายใจด้วยเสน่ห์มารยา พระโพธิสัตว์ทรงรู้เท่าทัน มิได้หลงใหลในความสวยงามของยักขินีแปลง จึงตักเตือนให้อำมาตย์ทั้งห้านายทราบว่าเป็นกลลวง แต่อำมาตย์เหล่านั้นไม่เชื่อในคำเตือนด้วยหลงเสน่ห์ในความงามของยักขินีแปลง จึงถูกยักขินีเหล่านั้นจับกินเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์ทรงรอดพ้นมาได้ด้วยมิได้หลงใหลในเสน่ห์มารยาหญิง และได้รับอัญเชิญจากเหล่าเสนาประชาราษฎรให้เป็นผู้ครองกรุงพาราณสีสืบต่อไป
ผู้แต่งได้ยกเรื่องเล่านี้เป็นเชิงสั่งสอนให้เห็นว่า หากชายใดที่หลงใหลแต่ความงามสตรีที่ใช้เสน่ห์เล่ห์กลหลอกลวงชีวิตก็จะพบกับความหายนะได้
นิทานสุภาษิตที่ผู้แต่งได้ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ สุนัขตัวหนึ่งได้ตามนายพรานเข้าไปในป่า และหลงทางกับนายพราน ฤาษีพบเจอเข้าจึงนำไปเลี้ยงดู วันหนึ่งสุนัขหนีไปเที่ยวเล่นในป่าได้พบกับราชสีห์ ด้วยความตกใจกลัวจึงหนีไปหาพระฤาษี ด้วยความเมตตาฤาษีจึงทำพิธีแปลงร่างของสุนัขให้กลายเป็นราชสีห์ ฤาษีได้เลี้ยงดูสุนัขแปลงด้วยความรัก ความเมตตาแต่สุนัขแปลงในร่างของราชสีห์เกิดความฮึกเหิม ว่าตนมีพละกำลังเหนือกว่าผู้อื่นอีกทั้งมิได้มีสัมมาคารวะ จึงเที่ยวไประรานผู้อื่นอยู่เสมอ
วันหนึ่ง มันไปเที่ยวเล่นในป่าได้พบกับนางราชสีห์และหมายปองเป็นคู่ครอง นางราชสีห์จึงให้สุนัขแปลงไปพบบิดามารดาของนาง โดยบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่รับทราบจึงเป็นการถูกต้องตามประเพณี สุนัขแปลงจึงไปขอนางราชสีห์และเมื่อบิดามารดาของนางได้ถามถึงชาติตระกูล ด้วยความไม่ทราบในชาติกำเนิดของตน และไม่กล้าที่จะเปิดเผยความจริงว่าตนเคยเป็นสุนัขมาก่อน และกลับคิดว่าถ้าบิดามารดาของนางราชสีห์ไปถามเรื่องชาติกำเนิดของตน ฤาษีจะบอกความจริง จึงคิดจะฆ่าฤาษีผู้มีพระคุณ แต่พระฤาษีได้ทราบด้วยฌานว่า สุนัขนี้คิดเนรคุณ จึงทำให้ราชสีห์แปลงกลับเป็นสุนัขตามชาติกำเนิดเดิม
ผู้แต่งได้ยกเรื่องเล่านี้ โดยเปรียบเทียบกับการปฏิบัติตนของสตรีว่า หากสตรีใดที่สามีรักให้เกียรติและยกย่อง แต่สตรีนั้นกลับไม่ให้เกียรติหรือคิดไม่ดีต่อสามีตน ก็เปรียบเสมือนสุนัขตามนิทานที่กล่าวไว้ที่คิดเนรคุณต่อผู้มีพระคุณของตน เปรียบเป็นคำพังเพยเสมือนให้ทุกข์แก่ผู้อื่น ทุกข์นั้นจะกลับย้อนมาหาตนเอง แต่ถ้าหากมอบความสุขความดีงามให้ ความสุขเหล่านี้ก็จะกลับมาหาตนเช่นกัน
นอกจากจะเป็นคำสอนหลักการปฏิบัติตนสำหรับสตรีที่ดีแล้ว ผู้แต่งยังกล่าวถึงลักษณะของหญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ได้แก่หญิงที่เอาแต่แต่งตัวไม่ทำงานบ้านการเรือน ชอบออกนอกบ้าน ดูแต่โขนละคร นอนตื่นสาย ชอบเล่นไพ่ หญิงที่พูดจาใช้คำหยาบ และมักใช้เงินทองสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น หญิงเหล่านี้มีแต่ทำให้สามีพบแต่ความทุกข์ และตอนท้ายเรื่องผู้แต่งได้กล่าวว่าคำสอนในหลักการปฏิบัติดีนี้จะเป็นสิริมงคลทั้งหญิงและชาย หากนำไปปฏิบัติจะประสบความสุขความเจริญในชีวิต ทั้งชื่อเสียง เงินทอง และยศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นที่เคารพแก่คนทั่วไป หญิงที่ดีจึงต้องรู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้ดีงาม หมั่นปรนนิบัติให้สามีรัก ให้เป็นคนดีทั้งการกระทำและความคิดจะเป็นที่รักและเกรงใจแก่สามี สิ่งเหล่านี้จะเกิดมงคลแก่ชีวิต เสริมคุณค่าในตนเองและเป็นความภาคภูมิของวงศ์ตระกูลสืบต่อไป
[๑] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. โอวาทกระสัตรี, พิมพ์แจกในงานศพ เพิ้ง ผลพันธิน. (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๐), หน้าคำนำ.