บทนำเรื่อง

เรื่อง แม่สอนลูก เป็นวรรณกรรมคำสอนที่แต่งเป็นกาพย์ ๒ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑ บท และกาพย์สุรางคนางค์ จำนวน ๓๖ บท ปรากฏอยู่ตอนท้ายของเรื่องโสวัตกลอนสวด จากเอกสารสมุดไทย เลขที่ ๖๐๔ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวดซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ

คำสอนเรื่องแม่สอนลูกเริ่มต้นด้วยบทประณามพจน์ผู้แต่งกราบขอพรพระรัตนตรัยในการแต่งและบอกจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่าแต่งเป็นคำสอนของมารดาเพื่อสั่งสอนบุตรสาว ดังความว่า

  ๏ ข้าไหว้พระธรรม ประเสริฐเลิศล้ำ ทั่วทั้งโลกี
ข้าไหว้พระสงฆ์ ยอกรชุลี ขอพระชินศรี ตราบท้าวเข้านิพพาน
  ๏ ข้อขอผูกไว้ สั่งสอนทรามวัย กระสัตรีนารี
ผูกพระคาถา ออกจากกำภีร์ สั่งสอนกระสัตรี จำไว้ใส่ตัว
  ๏ ข้าเรียนเขียนผูก คำแม่สอนลูก แต่แรกเป็นสาว
เป็นกลอนสอนสู่ ให้รู้เรื่องราว ถ้าใครมีลูกสาว สืบสืบกันไป

เนื้อหาของคำสอนเรื่องแม่สอนลูกเป็นการอบรมสั่งสอนของมารดาให้บุตรสาวรู้จักหน้าที่ของการปฏิบัติตนในเรื่องของการแสดงกิริยามารยาท การครองตน การรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสม รู้จักฝึกหัดการบ้านการเรือน เย็บปักถักร้อย การแต่งกาย เป็นต้น

คำสอนเกี่ยวกับกิริยามารยาท เช่น ให้ระมัดระวังในการลุกนั่งอย่างสงบเสงี่ยม ระวังการพูดจาให้เหมาะสมไม่พูดจาหยาบคาย อย่าหัวเราะเสียงดัง อย่าเถียงและทะเลาะกับญาติพี่น้อง

  ๏ ค่อยเล่นค่อยหัว ค่อยเสงี่ยมเจียมตัว อย่าทำสาละวน
แขกไปไทยมา ลุกนั่งเจียมตน อตส่าห์ขวายขวน ระวังฟังเสียง
  ๏ อย่าชิงพูดจา นั่งกลางขวางหน้า อย่ามานั่งเคียง
เร้นอยู่แต่ลับ ค่อยสดับฟังเสียง อย่าล้อต่อเถียง พี่น้องข้าไท
  ๏ อย่าหัวเสียงดัง ทองดีร้อยชั่ง แม่จะสอนเจ้าไว้
อย่าเล่นมี่ฉาว ผิดอย่างสาวไป ดูเอาใจใส่ การเหย้าเรือนตน

และคำสอนว่า

  ๏ ปกงามทำชอบ คิดไว้ให้ประกอบ บ่ได้สำหาว
หญิงอย่างนี้แล ที่แท้ว่าสาว เจ้าอย่าสำหาว อย่างสาวที่ดี

สอนให้รู้จักฝึกหัดงานฝีมือสำหรับสตรี เช่น การทอผ้าไว้เป็นวิชาประดับตนเพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้

  ๏ ไม่เหมือนหนึ่งชาย การหูกการฝ้าย จ้าเร่งขวายขวน
เรียนร่ำทำไว้ จะได้เลี้ยงตน นุ่งห่มเทียมคน เพราะสีมือเอง

อย่าคบเพื่อนชาย และพาเข้าบ้าน ดังคำสอน

  ๏ อย่าคบชายมาเรือน อย่าเอาเป็นเพื่อน ลูกรักทรามวัย
อย่าดูเยี่ยงมัน หญิงร้ายจังไร ทองย้อยร้อยชั่ง ฟังคำแม่รา

ให้รู้จักขยันทำงาน และคอยดูแลบ้าน ดังคำสอน

  ๏ ลูกรักเจ้าแม่ หญิงอย่างนี้แล การงานอตส่าห์
อยู่เหย้าเฝ้าเรือน เป็นเพื่อนมารดา ทองคำกำพร้า ลูกรักเจ้าแม่เอย

ให้รู้จักคิดและใช้สติปัญญา มีความระวังรอบคอบเรื่องการใช้จ่าย ดังคำสอน

  ๏ ลางตนคนดี หมั่นมักพาที ไม่มีติเตือน
ความคิดความอ่าน ใครเลยจะเหมือน บ่ห่อนฟั่นเฟือน พลั้งพลาดขาดไป
  ๏ ซื้อจ่ายขายการ นับนับอ่านอ่าน คิดเฟื้องคิดไพ
วันละเบี้ยละเบี้ย มิให้เสียไป ต้นทุนกำไร คิดไว้ทุกคราว

และผู้แต่งได้กล่าวถึงสตรีที่ไม่เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอน ประพฤติตนไม่เหมาะสมเอาแต่แต่งตัวให้ผู้ชายสนใจ สตรีเหล่านี้ไม่ควรนำมาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะจะทำให้เป็นที่อับอายแก่วงศ์ตระกูล

  ๏ ลางคนใจไร้ สอนค่ำเช้าหาย ให้เถิงโบยตี
เพราะใจแห่งเจ้า เป็นคนกระลี อาภัพอัปรีย์ เสียวงศ์พงศ์พันธุ์
  ๏ ฟังคำแม่ว่า หญิงอย่างนั้นหนา อย่าดูเยี่ยงมัน
อับอายขายหน้า พี่น้องพงศ์พันธุ์ หญิงร้ายฉกรรจ์ ไม่อายอดสู
  ๏ แต่งแง่กรุยกราย นุ่งลายห่มลาย หวังจะให้ชายดู
แสนงอนข้อนแต่ง ผัดแป้งเป็นครู่ (ต้นฉบับหาย) อย่าดูเยี่ยงมัน
  ๏ เข้าใกล้ผู้ชาย เหม็นสาบเหม็นอาย บ่ได้ปราศรัย
เขาชังน้ำหน้า เขาไม่พอใจ คนชั่วนี้ไซร้ น่าอายบัดศรี

ตอนท้ายของเรื่องเป็นการสั่งสอนให้บุตรสาวหรือสตรีทั่วไปได้ทราบว่าคำสอนของมารดานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติตนให้พร้อมสำหรับการเป็นแม่บ้านแม่เรือน ให้จดจำและนำไปใช้เพื่อเสริมคุณค่าความดีงามในตนเอง ดังความว่า

  ๏ แม่สั่งสอนเจ้า ทุกวันค่ำเช้า บ่ได้คลาคลาย
เจ้าอย่าลวนลาม เช้าค่ำจำไว้ จงเอาใจใส่ การเหย้าเรือนตน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ